ภาพและเรื่องโดย..แฉ่ง บางกระเบา
 |
หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี |
เมืองสมุทรสงคราม มีพระเกจิอาจารย์ที่เข้มขลังโด่งดังมาแต่อดีตมากมายหลายรูป เช่น หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย หลวงพ่อร้าย วัดเขายี่สาร หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ต่อมาที่กระเดื่องเลื่องลือนามก็คือ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี เพราะเป็นผู้มีฌานหยั่งรู้ “ ตัวเลขแห่งอนาคต ” ได้แม่นยำดุจตาเห็นจึงขอนำเรื่องราวที่พิสูจน์มาแล้ว ช่างน่าอัศจรรย์ใจให้ท่านผู้อ่านสัมผัส เพื่อจะได้รู้เกจิผู้เข้มขลังนั้นมีจริงในแผ่นดินไทย
เมื่อปี พ.ศ.2508 ที่ วัดจุฬามณี อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีงานประจำปี ซึ่งปีนั้นคึกคักกว่าปกติ เพราะมีวงดนตรีชื่อดังมาแสดงในงาน คือ วงดนตรีลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ ผู้คนจึงมาวัดมากกว่าปีก่อนๆ และหลังจากดนตรีแสดงจบ
 |
เหรียญรุ่น นะ สังฆาฏิ |
บรรดานักร้องนักดนตรีที่ทราบกิตติศัพท์ใน “ การให้ตัวเลขในอนาคตได้แม่นยำ ” ของ “ หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท ” ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ต่างก็ไปขอกราบนมัสการก่อนลากลับ แถมด้วยการ ขอเลขเด็ด จากหลวงพ่อที่มีเมตตาจึงบอกเลขไป โดยมีชาวบ้านที่อยู่ในกุฏิ ล้วนได้ยินกันทั่วหน้า วันรุ่งขึ้นจึงพากันนำเลขตัวนั้นไปแทงลอตเตอรี่กันทั้งเมือง ปรากฏว่าทั้งชาวบ้านและนักดนตรีต่างได้เงินกันทั่วถ้วน เมื่อเลขที่หลวงพ่อให้ออกแบบตรงๆ โดยไม่ต้องแปลงหรือแปลแต่อย่างใด เป็นผลให้ชื่อเสียงของ หลวงพ่อเนื่อง เลื่องลือกระฉ่อน ดังนั้นงวดต่อมาจึงมีผู้คนไปหาท่านเต็มวัด มากกว่าผู้ที่มาดูวงดนตรีเสียอีก
 |
พระประธานในโบสถ์วัดจุฬามณี |
ด้วยเหตุนี้ข่าวที่ผู้คนหลั่งไหลไป วัดจุฬามณี จึงโด่งดังไปถึงเจ้าคณะภาค 15 ซึ่งสมัยนั้นคือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี) เจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทร ( ต่อมาเป็น สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดปทุมคงคา ) จึงบัญชาให้ตั้งเจ้าคณะอำเภอคือ พระครูปัญญาสมุทรคุณ ( พจน์ ) เป็นประธานไปทำการสอบสวน เพราะเห็นว่า หลวงพ่อเนื่อง แสดงอวดอุตริไม่เหมาะแก่สมณวิสัย และในวันที่สอบสวนนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก วัดเพชรสมุทร ก็เดินทางร่วมสอบด้วยโดย หลวงพ่อเนื่อง ท่านบอกว่า ไม่ได้อวดอุตริ แต่อย่างใด เพียงแต่เห็นอะไรก็บอกไปอย่างนั้น ทำให้คณะกรรมการพากันสงสัยว่า จะเป็นจริงหรือไม่ จึงมีการพิสูจน์กันขึ้น ซึ่ง หลวงพ่อเนื่อง จึงเขียนตัวเลขของลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ที่จะออกในงวดนั้น แล้วใส่หีบไว้พร้อมมัดด้วยเชือกให้แน่นหนา แขวนไว้ตรงกลางศาลาที่ทำการสอบสวน จากนั้นท่านบอกว่า ในวันหวยออกให้มาเปิดดู แล้วค่อยสอบสวนต่อ ซึ่งคณะกรรมการก็ไม่ได้ไว้ใจ จึงจัดเวรยามทำการเฝ้ากล่องไม้ที่แขวนไว้ตลอด 24 ชั่วโมง
กระทั่งถึงวันลอตเตอรี่ออก หลังจากทราบตัวเลขที่ออกมาแล้ว คณะกรรมการจึงไปเปิดกล่องไม้แล้วดูตัวเลขในกระดาษที่ หลวงพ่อเนื่อง เขียนไว้ล่วงหน้า ปรากฏว่า ตัวเลขที่เขียนไว้หกตัวตรงกับรางวัลที่ 1 ของงวดนั้นแบบเรียงกันทุกตัวไม่มีสลับที่แม้แต่ตัวเดียว คณะกรรมการจึงสิ้นสงสัยก็ได้แต่บอกว่า หลวงพ่อเนื่อง จะอย่างไรก็ตามการบอกตัวเลข ( หวย ) ให้ชาวนั้นเป็นการประพฤติที่ ไม่เหมาะสมแก่สมณวิสัย จึงขอให้ หลวงพ่อเนื่อง ห้ามบอกอีกต่อไป
 |
รูปปั้นหลวงพ่อเนื่อง |
 |
รูปปั้นหลวงพ่อแช่ม โสฬส |
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อเนื่อง ท่านจึงยุติการบอกตัวเลขตามคำตักเตือนของคณะกรรมการสอบสวน แต่เมื่อชาวบ้านไปขอกันมากๆ ท่านจึงได้แต่บอกใบ้ไปบ้าง หรือชาวบ้านที่ไปเฝ้าดูพฤติกรรมของท่าน นำไปตีเป็นตัวเลขเอง และพอนำตัวเลขทั้งที่เป็นการใบ้ และตีความกันเองไปแทงลอตเตอรี่ก็ถูกกันตลอดมา พอถูกก็แบ่งเงินไปถวายท่านบ้างตามกำลังของแต่ละคน ซึ่ง หลวงพ่อเนื่อง ก็ไม่สนใจนัก เมื่อมีผู้คนนำเงินไปถวายท่าน ท่านก็ได้แต่เอายัดไว้ในตู้บ้าง ในโต๊ะบ้าง ซอกกุฏิบ้าง โดยไม่เคยไปนับดูหรือหยิบเอาใช้แต่อย่างใด กระทั่งท่านมรณภาพ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ ( อิฏฐ์ ภัทจาโร ) จึงไปเก็บของในกุฏิของหลวงพ่อ ปรากฏว่าพบเงินที่ท่านซุกๆ เอาไว้และอยู่ในซองเก่าตามที่ผู้คนนำมาถวาย ซึ่งล้วนแต่เป็น ธนบัตรเก่า จำนวนมาก นับแล้วได้เงินถึง ยี่สิบล้านบาท เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง
 |
พระอุโบสถจตุรมุข |
และเมื่อเร็วๆ นี้คือ วันที่ 28 สิงหาคม 2551 แม้ หลวงพ่อเนื่อง มรณภาพไปนานแล้ว แต่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันก็ยังคงจัดงานทำบุญ “ สลากภัต ” ตามประเพณีที่เคยทำต่อมา โดยเชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัด สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ในขณะนั้นไปเป็นประธานในพิธี และหลังจากพิธีเปิดงานผ่านไปแล้วทางวัดก็เชิญรองผู้ว่าฯทำการจับ “ สลากภัต ” ประเดิมเป็นคนแรก ปรากฏว่าเบอร์สลากภัตได้ กองสลากภัตของ หลวงพ่อเนื่อง ที่ทางวัดจัดไว้เป็นที่ระลึกถึงหลวงพ่อทุกปี และเบอร์ที่จับได้คือเบอร์ “ 666 ” โฆษกของวัดจึงประกาศให้ชาวบ้านทราบทั่วกัน ชาวบ้านที่นิยมแทงลอตเตอรี่จึงนำเลขเบอร์นั้นไปซื้อลอตเตอรี่ ปรากฏว่าเลขออก “ 666 ” ตรงตัวเป๊ะ และบางคนนำเลข แปลเป็น “ 36 ” ปรากฏว่าลอตเตอรี่เลขท้ายงวดนั้นออก “ 36 ” อีกด้วย ทำให้ชาวบ้านยิ้มกันไปทั่วหน้า
ต่อมารองผู้ว่าราชการจังหวัดสุทธิพงษ์ ไปบูชารูปหล่อบูชา หลวงพ่อเนื่อง เพื่อมอบเป็นที่ระลึกให้กับ พล.ต.ต.สถิตย์ นันทวิศิษฏ์ ซึ่งย้ายจาก สมุทรสงคราม ไปประจำกองนิติเวชสำนักงานตำรวจ ทางวัดจึงมอบให้ท่านรองผู้ว่าฯเป็นที่ระลึกอีก 1 องค์ ท่านรองฯจึงอาราธนาไปตั้งไว้ใน รถประจำตำแหน่ง ทะเบียน 789 สมุทรสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล บรรดาคนขับรถในศาลากลางจังหวัดเห็นรูปหล่อ หลวงพ่อเนื่อง ตั้งอยู่ จึงนำเลขท้ายทะเบียนรถของรองผู้ว่าฯคือ “ 89 ” ไปซื้อลอตเตอรี่ ปรากฏว่าถูกกันทั่วหน้า เป็นที่เลื่องลือกันทั้งศาลากลางจังหวัดว่า “ แม้ หลวงพ่อเนื่อง จะมรณภาพไปแล้วก็ยังมาให้หวยแม่นเหมือนเดิม ”
ในเรื่องความขลังของ หลวงพ่อเนื่อง นอกจากเรื่องของ “ ตัวเลข ” แล้ว “ วัตถุมงคล ” ของท่านก็ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีประสบการณ์มากมาย อย่างเช่น นายอดิศักดิ์ คุ้มแสง อยู่บ้านเลขที่ 37/3 หมู่ 6 ต.คลองเขิน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โทรศัพท์ 08-1917-4362 เจ้าของ ร้านอาหารและรีสอร์ทคุ้มแสงทอง อดีตเป็นมือกีตาร์เบสให้ “ วงดนตรีแหลมเมอริสัน ” มีฉายา “ อี๊ด เมอริสัน ” เล่าว่า เขานับถือหลวงพ่อเนื่องมาก ในคอแขวน เหรียญ หลวงพ่อเนื่อง รุ่นแรก ในรถมีธงยันต์ของ หลวงพ่อเนื่อง ติดไว้ในรถ เคยขับรถประสบอุบัติเหตุหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอันตรายเลย และอีกเหตุการณ์ที่ระทึกขวัญแบบลืมไม่ลงคือเหตุ “ รถแก๊สระเบิด ” ที่ถนนเพชรบุรีเมื่อหลายปีมาแล้ว เขาได้ขับรถเพื่อไปเล่นดนตรีที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งต้องผ่านบริเวณที่เกิดเหตุรถแก๊สระเบิด แต่พอขับมาถึงศูนย์การค้าเมโทรก็เกิดอยากสูบบุหรี่ แต่ปรากฏว่าบุหรี่หมดจึงเลี้ยวรถเข้าไปซื้อบุหรี่ในศูนย์การค้าเมโทร
จากนั้นจึงขับรถออกถนนเพชรบุรี แต่กลับมีรถเก๋งคันหนึ่งวิ่งตัดหน้ากระชั้นชิด อี๊ด เมอริสัน รีบเบรกรถอย่างกะทันหันทำให้เครื่องยนต์ดับลง และพอสตาร์ทรถติดเพื่อขับไปเล่นดนตรีก็เห็นลูกไฟพุ่งมาตามถนน จึงรีบเลี้ยวรถกลับไปทางศูนย์การค้าเมโทรแล้วขับออกไปทางแยกมักกะสัน กระทั่งไปถึงที่เล่นดนตรีจึงทราบว่าเกิดเหตุรถแก๊สพลิกคว่ำแล้วระเบิด ทำให้แก๊สไหลไปตามถนน ทำให้ผู้คนบนรถที่จอดติดกันอยู่บริเวณนั้นตายอย่างสยดสยองนับร้อยคน ส่วนที่เขารอดก็เพราะแวะซื้อบุหรี่ไม่งั้นก็คงอยู่ในจุดที่รถแก๊สระเบิดพอดี ดังนั้น อี๊ด เมอริสัน จึงเชื่อว่ารอดจากเหตุครั้งนั้นก็ด้วยบารมีของ “ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ” บันดาลให้เป็นไปแน่นอน
วัดจุฬามณี สถานที่พำนักของ หลวงพ่อเนื่อง นั้นเป็นวัดเก่าแก่มาแต่อดีต มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมาก มีความสำคัญในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชวงศ์จักรี ฝ่ายราชนิกุล ( ตระกูลบางช้าง ) วัดจุฬามณี เดิมมีชื่อเรียกว่า “ วัดแม่เจ้าทิพย์ ” ตามประวัติสืบมาได้ว่า วัดนี้สร้างมาแต่รัชสมัย พระเจ้าปราสาททอง มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามประวัติว่าท่าน ท้าวแก้วผลึก (น้อย) ธิดาคนหนึ่งของ ท่านพลาย ซึ่งเป็นนายตลาดบางช้าง มีหน้าที่เก็บภาษีอากรขนอนตลาด จึงมีทรัพย์และรายได้มากชั้นเศรษฐีผู้หนึ่ง จึงได้สร้าง วัดจุฬามณี ขึ้นมาใหม่ วัดจุฬามณี ได้รับความอุปถัมภ์ทำนุบำรุงจากมหาอุบาสก และมหาอุบาสิกาสำคัญ ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นต้นราชวงศ์จักรี โดยภูมิประเทศแห่งนี้เป็นที่ประสูติของเจ้าผู้ครองประเทศไทยสืบต่อกันมา
ข้อสำคัญก็คือ วงศ์ตระกูล ราชนิกุลบางช้าง นี้ มีต้นกำเนิดไปจากตำบลบางช้างนี้เอง นิวาสถานเดิมของ ท่านเศรษฐีทอง เศรษฐีสั้น เป็นพระชนกชนนีของ สมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ นั้นตั้งอยู่หลัง วัดจุฬามณี ซึ่งเดินไปราวสัก 5 เส้น ( หรือราวประมาณ 5 นาที ) บริเวณนิวาสถานนั้นมี ต้นจันทน์ใหญ่ อยู่ 3 ต้น แต่ละต้นวัดโดยรอบประมาณ 2 คนโอบ ระหว่างต้นห่างกันประมาณ 4 วา กล่าวกันว่าปลูกอยู่ข้างบ้านของท่านเศรษฐีทั้งสอง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าต้นจันทน์ได้ทิ้งซากล้มขอนไว้จนผุ ซากนี้ยังคงทิ้งขอนอยู่จนถึงปีพุทธศักราช 2510
 |
ศาลา |
ต่อมาได้ทราบว่าท่านศึกษาธิการ อำเภออัมพวา ในสมัยนั้น ท่านสนใจต้องการทราบประวัติและหลักฐาน ทั้งทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ อันเป็นนิวาสถานเดิมของต้นราชตระกูลแห่งราชวงศ์จักรี จึงได้เดินทางไปสำรวจ แต่ตัวผู้เช่าสวนหรือเจ้าของที่ดินรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้เอาไฟเผาซากตอที่ทิ้งซากล้มขอนนั้นไปจนหมดสิ้นไม่เหลือร่องรอยไว้เลย เข้าใจว่าผู้เช่าหรือเจ้าของที่ดินบริเวณนั้นเกรงว่าทางราชการจะมายึดที่ดินคืน คงสงวนไว้เพื่อเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ก็เป็นได้ ซึ่งที่ต้นจันทน์ 3 ต้นนี้ถูกปลูกขึ้น คงอยู่ใกล้นิวาสถานที่ประสูติ และเจริญพระชนมชันษา และประทับที่ตำหนักนี้ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ( นาค ) เป็นพระธิดารูปสวยงดงามของท่านเศรษฐีบางช้าง จนกิตติศัพท์เลื่องลือไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาซึ่งทรงแสวงหาสตรีรูปงามไปเป็นสนม ได้มีอำมาตย์ใกล้ชิดกราบบังคมทูลว่าธิดาเศรษฐีบางช้างรูปสวยนัก จึงได้จัดส่งคนมาสู่ขอ ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดา-มารดาทราบเข้า จึงชิงยกลูกสาวให้แต่งงานกับมหาดเล็กชื่อ ทองด้วง เสียก่อน มหาดเล็กทองด้วงนั้นภายหลังได้มาเป็น หลวงยกกระบัตร เมืองแม่กลอง แขวงราชบุรี เมื่อสมรสหรือแต่งงานกันแล้วได้มาอยู่กับศรีภรรยาที่ตำบลบางช้างนี้
ครั้นเมื่อเกิดศึกพม่ายกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรทองด้วงได้อพยพครอบครัวหลบภัยพม่าอยู่ในป่าทึบหลัง วัดจุฬามณี นั่นเอง ก่อนที่จะได้ไปฝากตัวเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ครองกรุงธนบุรี ต่อมาสิ้นแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลวงยกกระบัตรทองด้วงหรือ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งราชวงศ์จักรี สืบต่อมา
การหลบภัยพม่าครั้งนั้น ท่านนาค ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงครรภ์แก่จึงต้องพาเสด็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสถิตอยู่ในพระครรภ์ไปหลบซ่อนพม่าอยู่ในป่าทึบหลัง วัดจุฬามณี ด้วย และต่อมาได้ประสูติกาล ท่านฉิม ( พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310 ตรงกับวันพุธ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ ปีกุน สถานที่ประสูติก็ว่าในนิวาสสถานใกล้ต้นจันทน์อันเป็นนิวาสสถานหลังเก่าของ ท่านเศรษฐีทอง เศรษฐีสั้น นั่นเอง
และยิ่งไปกว่านั้น ในระหว่างที่หลบภัยพม่าอยู่หลัง วัดจุฬามณี นั้น กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางองค์ที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จหลบภัยพม่ามาอาศัยอยู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชด้วย กำลังอยู่ในระหว่างทรงพระครรภ์แก่ และได้ประสูติพระธิดาในป่าหลังวัดจุฬามณีด้วยเหมือนกัน เมื่อวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2310 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน พระธิดาพระองค์นี้ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ซึ่งถือนิมิตที่ว่าหนีพ้นพม่าข้าศึกมาได้ ภายหลังเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดได้อภิเษกสมรสเป็นมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ นับเป็นพระบรมราชินีองค์ที่ 2 ของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการประหลาดมากที่ได้มาถือกำเนิดที่ตำบลบางช้างในป่าหลัง วัดจุฬามณี เหมือนสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1
 |
พระอาจารย์อิฏฐ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน |
แผ่นดินตำบลบางช้าง เมืองสมุทรสงคราม บริเวณหลัง วัดจุฬามณี นี้ จึงนับว่าเป็นแผ่นดินที่เป็นมงคลยิ่ง เพราะเหตุ 5 ประการ คือ
1. เป็นสถานที่กำเนิดของพระชนก-ชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เท่ากับเป็นดินแดน ต้นกำเนิดของราชนิกุลบางช้าง
2. เป็นสถานที่ประสูติของ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 และ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระราชินีในรัชกาลที่ 2 ซึ่งท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวสมุทรสงครามโดยตรง
3. เป็นสถานที่ประทับดับร้อนของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก่อนที่จะไปเป็นแม่ทัพใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี และต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตั้ง ราชวงศ์จักรี ได้เคยฝากดาบฝากแหวนไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากดินแดนแห่งนี้ ตำบลบางช้างจึงเป็นสถานที่ตั้งเนื้อตั้งตัวของพระองค์ท่านโดยแท้
4. เป็นสถานที่ได้รับทุกขเวทนาของ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ที่ต้องเสด็จหลบหนีภัยพม่าไปพักแรมอยู่ในป่าระหว่างทรงพระครรภ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
5. เป็นสถานที่ประสูติของ พระบาทมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษตริย์ รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2310 สถานที่ประสูติในป่าหลัง วัดจุฬามณี
 |
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อดีตรองผู้ว่า ราชการจังหวัดสมุทรสงคราม |
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่า ท่านเศรษฐีทองกับเศรษฐีสั้น เป็นเศรษฐีใจบุญชอบทำบุญฟังธรรมและถือศีลอุโบสถในวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำเสมอเป็นนิจ มาวันหนึ่งซึ่งวันนั้นเป็นวันพระ ท่านเศรษฐีสองสามี-ภรรยาได้ไปถือศีลอุโบสถอยู่ที่ วัดจุฬามณี ได้ปวารณาตนว่าจะยึดมั่นภาวนารักษาศีลเป็นเวลาคืนและวัน จะไม่ไปไหนหากยังไม่ย่างเข้าวันใหม่ จะไม่ออกจากวัดกลับบ้าน ซึ่งสมัยนั้นมีท่านเจ้าอาวาสของวัดจุฬามณีคือ ท่านพระอธิการอิน ซึ่งเป็นคนในตระกูลเศรษฐีบางช้างผู้หนึ่ง ได้มาอุปสมบทจนได้เป็นสมภารของ วัดจุฬามณี พอตกกลางคืนบ่าวไพร่มาแจ้งว่าอัคคีไฟกำลังไหม้บ้านขอให้รีบกลับไป แต่ด้วยว่าท่านเศรษฐีทั้งสองมีความมั่นคงในบวรพุทธศาสนา ไม่วอกแวกหวั่นไหวปลงใจตกว่า
อันทรัพย์สมบัติย่อมจะต้องมีวิบัติ แม้แต่ชีวิตร่างกายของคนเราก็ยังมีเกิด มีดับไปเป็นธรรมดา เมื่อทรัพย์ยังอยู่ ชีวิตยังอยู่ก็ได้ใช้ทรัพย์ไป เมื่อทรัพย์สูญไปหรือชีวิตดับไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทรัพย์จะเป็นของเราก็หาไม่ ทรัพย์สมบัติเป็นของนอกกาย เมื่อชีวิตยังอยู่ก็คงทำมาหาได้ เมื่อคิดดังนั้นแล้วได้สั่งบ่าวไพร่ว่า ให้ขนทรัพย์สินที่พอหยิบยกได้เอาโยนลงคลองขนัดสวนไป ได้เท่าไหร่ก็เอาขนใส่ลงไปเท่านั้น ส่วนตัวท่านทั้งสองทำใจยึดมั่นอยู่ในการเจริญภาวนาถือศีล รักษาอุโบสถ จวบจนกระทั่งรุ่งเช้าของวันใหม่ ท่านเศรษฐีทั้งสองก็กลับเคหาบ้านเรือนของท่าน ก็ปรากฏว่าอัคคีไฟไหม้บ้านเรือนของท่านไปหมดแล้ว
 |
อดิศักดิ์ คุ้มแสง เจ้าของร้านอาหารและรีสอร์ท คุ้มแสงทอง ฉายา "อี๊ด เมอริสัน" |
เรื่องนี้แสดงว่า วัดจุฬามณี มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ท้าวแก้วผลึก (น้อย) เศรษฐีในวงศ์ราชนิกุลบางช้างคงสร้าง วัดจุฬามณี นี้ขึ้นมาประมาณปีพุทธศักราช 2190 จะก่อนหรือหลังจากนี้ก็ไม่กี่ปี ท่านเศรษฐีสั้นพระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ที่เคยมาถือศีลรักษาอุโบสถที่ วัดจุฬามณี นี้นั้น ท่านได้มีอายุต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านสิ้นอายุขัยไปในราวปีพุทธศักราช 2344 อายุได้ 90 ปีเศษ ท่านคงเกิดในราวปีพุทธศักราช 2250 วัดจุฬามณี คงสร้างก่อนท่านเกิดราวประมาณ 70 ปี เพราะ ท่านท้าวแก้วผลึก (น้อย) ผู้สร้าง วัดจุฬามณี นี้เป็นคนในแผ่นดิน วัดจุฬามณี เป็นธิดา ท่านพลอย เป็นน้องสาวท่านชี ท่านชีเป็นมารดาของท่านเศรษฐีทอง
จะเป็นด้วยว่า วัดจุฬามณี ( วัดแม่เจ้าทิพย์ ) นั้นเป็นวัดเก่าแก่จริงๆ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้าแต่ก็คงยากพอสมควร เพราะว่าสภาพเก่าแก่ของวัดได้ถูกธรรมชาติรบกวนทำลายปรักหักพังไปเกือบหมดสิ้นแล้ว พระอุโบสถเก่าแก่ที่เชื่อว่าท่านเศรษฐีทอง เศรษฐีสั้นมาถือศีลรักษาอุโบสถได้ถูกรื้อทิ้งลงไป เพราะธรรมชาติได้ทำลายจนใช้การไม่ได้แล้ว ทางวัดในสมัย ท่านพระครูโกวิทสมุทรคุณ ( เนื่อง ) จึงทำการสร้างอุโบสถในบริเวณที่ตรงนั้นด้วยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอุโบสถหลังเก่าพังยุบลงมาเหลือแต่ฐานล่างแล้ว จึงต้องรื้อไป
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1013 ปักษ์หลัง เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2551 : “ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ” อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตอน 1 ภาพและเรื่องโดย แฉ่ง บางกระเบา ราคาปก 50 บาท )
วันนี้! อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้
สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า..
Available Now! You can read whenever, wherever with any device.
#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อเนื่อง #วัดจุฬามณี #อ.อัมพวา #จ.สมุทรสงคราม