หลวงพ่ออ่ำ อินฺทปญฺโญ ( พระพุทธวิหารโสภณ ) วัดวงษ์ฆ้อง พระนครศรีอยุธยา พระเกจิผู้เก่งกล้าทั้งเรื่องไสยศาสตร์และแพทยศาสตร์

ภาพและเรื่องโดย..เมธี ไทยนิกร

“หลวงพ่ออ่ำ” ที่มีพัดยศ ถ่ายขณะเป็น
พระราชาคณะที่ “พระพุทธวิหารโสภณ”
เจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุ (พระอารามหลวง)
คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ พระนครศรีอยุธยา ” เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งอุดมไปด้วยพระสงฆ์เรืองวิชามาแต่โบราณกาล เท่าที่พอจะนึกออกบอกได้ในตอนนี้ก็มี อาทิ “ สมเด็จพระวันรัตน์ ” วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของ “ พระนเรศวรฯ ” อย่างมาก หลังจากยุคนั้นก็มี “ พระอาจารย์พรหม ” ( หรือ “ พระพรหมมุนี ” ) วัดปากน้ำประสบ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของ “ พระนารายณ์ฯ ” ( และเชื้อพระวงศ์ ) ส่วนอีกองค์ที่ร่วมสมัยได้แก่ “ พระพิมลธรรม ” วัดระฆัง ซึ่งเก่งในทาง “ ยามสามตา ” อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะในคราวที่ “ พระยาสีหราชเดโช ” ข้าศึกจับแต่สามารถแก้รอดมาได้ ท่านทำนายเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยกระนั้น

นอกจากประเภทสามัญชนคนธรรมดา ยังมีพระระดับ “ เจ้าฟ้า ” อยู่อีกบางองค์ที่ทรงคุณวิเศษ จนได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัตศาสตร์ไทย อย่างเช่น “ เจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ” ( โอรส “พระเจ้าท้ายสระ” ) ที่ถูก “ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ” ( โอรส “ พระเจ้าบรมโกศ ” ) ดักฟันในพระราชวังอย่างอุกอาจ แต่กลับเพียงแค่จีวรขาดหาเข้าไม่ ยิ่ง “ เจ้าพระวัดพุทไธฯ ” ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “ เจ้าฟ้าตรัสน้อย ” ( โอรส “ พระเพทราชา ” กับ “ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ” ) ด้วยแล้ว ยิ่งเรืองวิชาถึงขนาดกล้ารุดไปปราบโจรจีนที่บุกปล้นพระราชวัง ทั้งที่ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตเพียง “ หนึ่งเดียว ” แท้ๆ แต่พวกโจร “ ห้าร้อย ” กลับเป็นฝ่ายต้องเผ่นหนี


“หลวงพ่ออ่ำ” กับ “หลวงพ่อขัน” ถ่ายในงานบำเพ็ญ
กุศลศพโยมบิดา “หลวงพ่อขัน” ที่วัดนกกระจาบ
แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ก็กล่าวได้ว่า มี “ พระดีศรีอยุธยา ” อยู่อึดตะปือนัง อย่างเช่น “ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ” วัดพลับ นั่น ก็ต้องถือว่าท่านเป็น “ พระดีศรีอยุธยา ” เพราะเคยจำพรรษาอยู่ วัดท่าหอย ซึ่งเป็นวัดบริวารของ วัดพุทไธศวรรย์ ( นอกจากท่านจะเป็นอาจารย์ของ “ พระพุทธยอดฟ้าฯ ” ยังว่ากันว่า “ พระอินทรรักษา ( เสม ) ” พี่เขย ก็เคยบวชที่วัดนี้ )

โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 และที่ 6 นั้นแน่นอนว่า มีพระที่เรืองวิชาจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ และหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ “ หลวงพ่ออ่ำ ” หรือ “ พระพุทธวิหารโสภณ ” แห่งวัดวงษ์ฆ้อง เนื่องจากท่านเป็นพระที่เก่งกล้าเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านไสยศาสตร์และแพทยศาสตร์ ขนาดแพทย์แผนปัจจุบันยังศรัทธาเลื่อมใส เพราะทำนายทายทักอาการป่วยต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยไม่ต้องนำตัวคนไข้มาหา แต่สามารถให้ญาติจดชื่อยาไปเจียดจากร้านซินแสได้เลย 


พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ ซึ่ง “หลวงพ่ออ่ำ”
เคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ระยะหนึ่ง
(พ.ศ.2456-พ.ศ.2474)
สำหรับประวัติสังเขปมีอยู่ว่า ท่านเกิดในตระกูลชาวนา เมื่อปีกุน พ.ศ.2406 ณ บ้านสวนพริก แขวงรอบกรุง เมืองกรุงเก่า ( ปัจจุบันคือ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ) โยมบิดาชื่อ นายหอม ภักดีวงศ์ โยมมารดาชื่อ นางห่อ ภักดีวงศ์ มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 7 คน ประกอบด้วย

1. นายนิ่ม ภักดีวงศ์
2. นางเชื่อม สุคันธกุล
3. หลวงพ่ออ่ำ ภักดีวงศ์
4. นางปี ( ไม่ทราบนามสกุลใหม่ )
5. นางขำ ธารีศรี
6. นายไว ภักดีวงศ์
7. นายวอน ภักดีวงศ์


รูปหล่อ “หลวงพ่ออ่ำ” ซึ่งตั้งอยู่ภายใน
มณฑปวัดวงษ์ฆ้อง (ภาพรูปหล่อสีทอง)
มณฑปรูปหล่อ “หลวงพ่ออ่ำ”
ภายในวัดวงษ์ฆ้อง
ส่วนเรื่องราวในช่วงเยาว์วัยไม่ปรากฏชัด เพราะเป็นที่รู้ในหมู่ญาติรุ่นหลังๆ เพียงว่า ท่านเข้ามาศึกษาเล่าเรียนอยู่กับ “ หลวงพ่อฟัก ” ( หรือ “ พระครูธรรมิกาจารคุณ ” ) วัดธรรมิกราช ( หน้าพระราชวังโบราณ ) ตั้งแต่อายุประมาณ 10 ปีเศษ และต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนี้กระทั่งบวชพระ ไม่เคยสึกหาลาเพศไปเป็นฆราวาส แต่ไม่อาจยืนยันเกี่ยวเรื่องพระอุปัชฌาย์และคู่สวดตอนที่อุปสมบทได้ เพราะบางกระแสก็ว่า “ หลวงพ่อฟัก ” เป็นอุปัชฌาย์ แต่บางกระแสก็ว่าเป็น “ หลวงพ่อศรี ” วัดประดู่ทรงธรรม จึงทำให้ยังเคลือบแคลงสับสนมาจนบัดนี้ คงมีที่จำได้แม่นยำก็คือฉายาของท่าน ที่ได้รับการขนานเป็นภาษามคธว่า “ อินฺทปญฺโญ ”

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะกล่าวประวัติของท่านเป็นลำดับไป ใคร่ขอแทรก ประวัติวัดธรรมิกราช เอาไว้เสียเลยตรงนี้ เนื่องจากเป็นวัดที่เก่าแก่และมีความสำคัญมาแต่ไหนแต่ไร โดยในตำนานได้กล่าวไว้แค่เพียงว่า  “ พระยาธรรมิกราช ” โอรสของ “ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ” ได้ทรงสร้างขึ้นใน “ สมัยอโยธยา ” ( ก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ) เดิมเรียกกันว่า “ วัดมุขราช ” ส่วนจะสร้างในปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏหลักฐาน ได้แต่อนุมานหรือคาดเดากันว่า น่าจะเป็นสมัยเดียวกับ “ วัดพนัญเชิง ” ซึ่งสร้างโดยพระบิดา  เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ “ พระนางสร้อยดอกหมาก ” ที่สิ้นพระชนม์บนเรือสำเภา ซึ่งจอดทอดสมออยู่ในแม่น้ำบริเวณนั้น )

ต่อมาวัดนี้มีชื่อปรากฏในพงศาวดารว่า “ พระมหาจักรพรรดิ์ ” ( พระสวามี “ พระสุริโยทัย ” ) ได้โปรดฯให้นำ “ พระศรีศิลป์ ” ( โอรส “ พระชัยราชา ” ซึ่งทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่วัดราชประดิษฐาน ) มาควบคุมไว้ที่นี่เพื่อให้ใกล้พระเนตรพระกรรณ เนื่องจาก “ เจ้าเณร ” องค์นั้นซ่องสุมผู้คนเพื่อก่อการกบฏ ครั้นมีอายุครบกำหนดทรงผนวชพระ “ พระเจ้าอา ” ดำริจะทรงรับเป็นเจ้าภาพให้ แต่พระนัดดากลับหลบหนีไปโดยไม่บอกกล่าวร่ำลา และต่อมาได้ยกไพร่พลเข้าปล้นพระราชวังเพื่อหวังยึดอำนาจ แต่พระชะตาขาดถูกยิงด้วยปืนสิ้นพระชนม์คาที่

วัดนี้มีปูชนียสถานและวัตถุสำคัญคือ พระวิหารหลวง ซึ่ง “ พระเจ้าทรงธรรม ” โปรดฯให้สร้างขึ้น  สำหรับสดับพระธรรมเทศนาในวันพระ ทั้งยังสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นที่ประดิษฐานเศียรพระพุทธรูปหล่อสำริด ( สมัยอู่ทอง ) ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้เชิญไปตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา ส่วนวิหารพระพุทธไสยาสน์นั้นนัยว่า พระมเหสีของพระองค์ทรงสร้างถวาย หลังจากพระธิดาทรงหายจากอาการประชวรตามที่ทรงบนบาน


“หลวงพ่ออ่ำ” ที่ไม่มีพัดยศ ถ่ายในช่วงที่
กลับมาจำพรรษาบั้นปลายชีวิตที่วัดวงษ์ฆ้อง
(ซึ่งท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสมาก่อน)
โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่า “ พระพุทธเจ้าหลวง ” มักเสด็จฯมาที่วัดนี้อยู่เนืองๆ  เนื่องจากทรงศรัทธาเลื่อมใสในวิชาอาคมของ “ หลวงพ่อฟัก ” ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น และมีเกร็ดที่เล่าขานกันสืบมาในหมู่ลูกศิษย์ว่า ในโอกาสที่เสด็จฯมาวัดธรรมิกราชคราวหนึ่ง ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จฯขึ้นไปทอดพระเนตรภายพระวิหารหลวง ซึ่งตั้งอยู่บนโคกสูงกว่าเสนาสนะทั่วไป ขณะที่ทรงพระดำเนินขึ้นบันไดได้ทรงจูงมือ “หลวงพ่อฟัก” ซึ่งชะรอยจะทรงเห็นว่าค่อนข้างชราและเดินเหินไม่สันทัด แต่หลังเสด็จฯออกจากวัดไปได้ครู่เดียวเท่านั้น “ พระญาณไตรโลก ( อาจ ) ” วัดศาลาปูน ซึ่งเป็นเจ้าคณะเมืองกรุงเก่า ได้เรียกให้เข้าไปหาและต่อว่าต่อขานทำนองว่า ท่านละลาบละล้วงจ้วงจาบจับพระกรพระเจ้าแผ่นดิน และได้สั่งลงทัณฑกรรมให้ตักน้ำจากตีนท่ามารดโคนโพธิ์ในวัดจำนวน 100 บาตร โดยเริ่มเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ยังไม่ทันที่ท่านจะปฏิบัติตาม ความได้ทราบถึงพระกรรณ “ พระพุทธเจ้าหลวง ” เสียก่อน จึงได้โปรดฯให้สังฆการีมาแจ้งแก่ “ เจ้าคุณญาณฯ ” ว่า “หลวงพ่อฟัก” หาได้ทำผิดตามที่สั่งลงทัณฑ์ไม่ แต่เป็นพระองค์เป็นฝ่ายจูงมือท่านเอง

ถามว่า “ หลวงพ่อฟัก ” องค์นี้มีดีอะไร จึงได้เป็นที่โปรดปรานถึงเพียงนั้น ก็ต้องตอบว่าท่านเก่งทางด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะ “ นะหน้าทอง ” ที่เพียงเขียน “ ยันต์เฑาะว์ ” ลงบนฝ่ามือแล้วลูบหน้า แม้ตัวท่านเจ้าของตำราเองก็ทำแบบเดียวกัน โดยบุคคลที่รู้ไม่ทันมักเข้าใจว่า ท่านคงจะลูบหน้าเพื่อให้หูตาสว่างเหมือนผู้สูงอายุทั่วๆ ไป ( เนื่องจากอายุเกินวัยที่จะใช้ตำรานี้ จึงจำคาถาที่เคยท่องขึ้นใจไม่ได้ตลอดบท และที่จดเอาไว้ในสมุดก็ยังหาไม่พบ ทั้งๆ ที่ใจจริงอยากบอกให้เป็นวิทยาทาน เพราะอาจจะมีบางท่านที่ยึดภาษิต “ ไม่ลองไม่รู้ ” )
                
ป้ายวัดธรรมิกราช ซึ่ง “หลวงพ่ออ่ำ” เคยพำนักอยู่
ตั้งแต่สมัยเป็นสามเณรกระทั่งอุปสมบทเป็นพระ
สำหรับประวัติของท่านนั้น แม้จะค่อนข้างมืดมนคลุมเครืออยู่มาก หากแต่ก็ยังพอมีเค้ามีเงาให้คลำได้บ้าง กล่าวคือว่ากันว่าบ้านโยมบิดา-มารดาอยู่บริเวณปากคลองตะเคียน ( หรือที่เดิมเรียกคลองขุนนครชัย ) และเคยเป็นครองวัดพุทไธศวรรย์อยู่ก่อนหน้า ที่จะได้รับนิมนต์มาครองวัดธรรมิกราช สาเหตุที่ยอมย้ายวัดก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากคุณหญิงท่านหนึ่งซึ่งอุปถัมภ์บำรุงวัดนี้อยู่ กำลังดำเนินเรื่องขอยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงเหมือนเดิม ( โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาวัดนี้มีพระราชาคณะที่ “ พระธรรมโคดม ” เป็นเจ้าอาวาส )

อนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ พระพุทธเจ้าหลวง ” กับ “ หลวงพ่อฟัก ” นอกจากคำบอกเล่าแบบ “ มุขปาฐะ ” ที่สืบทอดต่อกันมาแล้ว ยังพบใน “ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ” (ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2431) ว่า “ เวลาค่ำแล้วพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯออกท้องพระโรง (ในพระราชวังบางปะอิน)  เจ้าอธิการฟัก วัดธรรมิกราช เฝ้าถวายป้าน  พระราชทานเงิน 1 ชั่ง...” และหลังจากวันนั้นหลักฐานเล่มเดียวกันยังบันทึกไว้ทำนองว่า โปรดฯให้ “เจ้าอธิการฟัก” เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์หลวงที่พระที่นั่งวโรภาศพิมาน ( วันเดียวกับที่ “ พระมหาหนู ” วัดศาลาปูน ( ซึ่งต่อมาเป็น “ พระสุวรรณวิมลศีล ” ) เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ของพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี )

และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ในคราวที่พระองค์ทรงตั้ง “หลวงพ่อฟัก” เป็นพระครูสัญญาบัตร ถือเป็นเกียรติประวัติที่ทรงตั้งแบบองค์เดียวโดดๆ โดยไม่มีองค์ใดวัดไหนเข้าไปสมทบด้วย ดังปรากฏอยู่ใน “ ราชกิจจานุเบกษา ” เล่ม 6 แผ่นที่ 43 ( วันที่ 26 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 108 หรือ พ.ศ.2432 ) ความว่า “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกปฏิบัติพระสงฆ์ ที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว พระราชทานสัญญาบัตรให้เจ้าอธิการฟัก วัดธรรมิกราช แขวงกรุงเก่า เป็นพระครูธรรมิกาจารคุณ ขึ้นคณะกรุงเก่า พระราชทานตาลิปัตพุดตานทองแผ่ลวดเป็นเครื่องยศ กับของนอกจากนี้อีกคือ ผ้าไตร 1 พัดรองโหมด 1 บาตรย่ามสักระหลาด 1 กาน้ำแลกระโถนลายครามสำรับ 1 ร่ม 1 รองเท้า 1 ผ้าขาวพับ 1 เทียนมัด 1 ”
      
ป้ายวัดวงษ์ฆ้อง ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา
 จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่ง “หลวงพ่ออ่ำ”
เคยเป็นเจ้าอาวาส (ก่อนที่จะย้ายไปเป็น
ครองวัดธรรมิกราช และวัดหน้าพระเมรุตามลำดับ)
ก็แหละเข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงหลังจากที่ “หลวงพ่อฟัก” เป็นพระครูสัญญาบัตรแล้วนี่เอง ที่ท่านได้แต่งตั้งฐานานุกรมขึ้น 2 องค์ คือ “ พระสมุห์อ่ำ ” และ “ พระใบฎีกามี ” ( สำหรับองค์หลังนี้ไม่ทราบประวัติแน่ชัด )  ครั้นเจ้าอาวาสวัดวงษ์ฆ้องซึ่งอยู่ในปกครองว่างลง ท่านได้ส่ง “พระสมุห์อ่ำ” ไปครองวัดดังกล่าวสืบมาจนกระทั่ง “ หลวงพ่อฟัก ” ถึงมรณภาพ จึงได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมิกราชสืบต่อตามคำสั่งของคณะสงฆ์  และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “ พระครูธรรมิกาจารคุณ ” เช่นเดียวกับบูรพาจารย์ ( แต่ไม่พบหลักฐานเหมือนคราวทรงตั้ง “ หลวงพ่อฟัก ” เพียงเป็นคำบอกเล่าของ “ พระครูพิทักษ์พรหมธรรม ” หรือ “ หลวงพ่อหลี ” อดีตเจ้าอาวาสเมื่อ 20 ปีที่แล้ว )

ย้อนกลับไปที่ “ วัดวงษ์ฆ้อง ” อีกครั้ง ว่ากันว่า “ หลวงพ่ออ่ำ ” หรือ “ พระสมุห์อ่ำ ” ท่านเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่มาครองวัดนี้ โดย “ พระอธิการประสิทธิ์  ธารีศรี ” อายุ 92 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดป้อมรามัญ ( ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว ) ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ได้เข้ามาเป็นลูกศิษย์ “ หลวงลุงอ่ำ ” ( ซึ่งเป็นพี่ชายของมารดา ) ที่ วัดวงษ์ฆ้อง ตั้งแต่อายุประมาณ 10 ปี โดยมีเด็กวัดอายุรุ่นราวคราวเดียวกันและรับใช้ใกล้ชิดท่านอีกคนหนึ่งซึ่งก็คือ “ เด็กชายแช่ม ” ( หรือที่ต่อมามีบรรดาศักดิ์และยศทหารเป็น “ นายพันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ ” บิดาของ “ ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ” ) ซึ่งทั้งคู่นี้มักต้องติดสอยห้อยตามไป “ งานหลวง ” ทุกนัด โดยผลัดกันถือพัดถือย่ามตามอัธยาศัย โดยเฉพาะพิธีบวงสรวงสังเวยอดีตกษัตริย์ฯ ที่พระราชวังโบราณทั้งในรัชกาลที่ 5 และที่ 6 นั้น พระซึ่งเป็นหลานท่านองค์นี้เล่าว่า น่าตื่นตาตื่นใจอย่างมาก เนื่องจากดาษดื่นไปด้วยเจ้านายขุนนางและราษฎรทั่วไป ทั้งยังมีพลุตะไลไฟพะเนียงและการแสดงต่างๆ ให้ชมในตอนกลางคืนอีกต่างหาก

ส่วนเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านนั้น “ พระอธิการประสิทธิ์ ” กล่าวว่า หากใครไม่เห็นกับตาก็ต้องว่าโกหกพกลม อย่างเช่น กรณีที่ท่านสั่งให้เด็กไปตักน้ำมากรอกใส่ขวดโหล 2 ใบ ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน จากนั้นท่านได้ใช้มีดโกนตัดใบจากเป็นรูปปลา แล้วทิ้งลงไปในขวดโหลนั้นที่ละใบ พลันก็กลายเป็นปลากัดสีฉูดฉาดว่ายเข้าหากัน ราวกับจะกัดอีกตัวให้ตายไปข้าง แต่ท่านได้สั่งกำชับว่า “ ขอให้ดูแต่ตาอย่าเอานิ้วไปแหย่มันเป็นอันขาด มีเด็กบางคนที่ค่อนข้างทะเล้นบอกกับท่านว่า ปลาดุๆ แบบนี้อยากขอเอาไปกัดที่บ่อน แต่ท่านกลับสั่งสอนว่าเป็นการทรมานสัตว์ และอาจนำไปสู่การพนันขันต่อ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องบาปกรรมและอบายมุขไม่ควรประพฤติ เพราะที่อุตส่าห์ทำให้ดูนี้ก็เพื่อแก้เหงาเท่านั้น ไม่ได้ต้องการยั่วยุให้ผิดศีลผิดธรรมอะไรเลย ”


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1032 ปักษ์แรก เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2552 : หลวงพ่ออ่ำ อินฺทปญฺโญ ( พระพุทธวิหารโสภณ ) วัดวงษ์ฆ้อง พระนครศรีอยุธยา พระเกจิผู้เก่งกล้าทั้งเรื่องไสยศาสตร์และแพทยศาสตร์ ตอน 1 ภาพและเรื่องโดย เมธี ไทยนิกร ราคาปก 50 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 








Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #หลวงพ่ออ่ำ #วัดวงษ์ฆ้อง #จ.พระนครศรีอยุธยา