หลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก พระเกจิอาจารย์เมืองกำแพงแสน นครปฐม “ หนามแหลมไม่ต้องเสี้ยม มะนาวกลมเกลี้ยงไม่ต้องกลึง ”

ภาพและเรื่องโดย อ.ยุทธ โตอดิเทพย์


หลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก
ศาลาตึก เป็นซากโบราณสถาน ตั้งอยู่ในเขต ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม บริเวณใกล้เคียงกับชุมชนตำบลสนามแย้ อำเภอท่ามะกา  จังหวัดกาญจนบุรี และชุมชนตำบลห้วยกระบอก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี “ ศาลาตึก ” สันนิษฐานว่าเรียกตามประวัติทางโบราณคดีโดยมีหลักฐานที่เหลือร่องรอยไว้เป็นซากอิฐโบราณสร้างเป็นรูปตึกแถว มีประวัติความเป็นมาว่า ศาลาตึก เก่าหลังนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระพุทธพันปี ( ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน ) สำหรับให้คนเดินทางมาพักแรมหลบภัยอันตรายจากสัตว์ร้ายต่างๆ ในยามค่ำคืน เช่น เสือ ช้าง งู ฯลฯ 

สมัยโบราณเส้นทาง ศาลาตึก จะเป็นทางผ่านสำหรับผู้คนที่ไปนมัสการพระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ศาลาตึก สร้างเป็นตึกสองชั้น ชั้นล่างเป็นที่พักช้างพักม้า ชั้นบนสำหรับเป็นที่พักคนเดินทาง ปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานตึก ซึ่งทางวัดได้อนุรักษ์ไว้นับเป็นโบราณสถานสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ วัดศาลาตึก ชุมชนบ้านห้วยกระบอก โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา ได้เรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ตามนามของโบราณสถานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจวบจนถึงทุกวันนี้

เหรียญหน้าตรง รุ่นแรก
แบบ 1 พ.ศ.2524 
เหรียญหน้าตรง
แบบ 2 พ.ศ.2524 
อำเภอกำแพงแสน ตามประวัติศาสตร์และหลักฐานที่ค้นพบเป็นเมืองโบราณที่สร้างในสมัยทวาราวดี  ตามตำนานเล่าว่า ท้าวแสนปมเป็นผู้สร้างเมือง กำแพงแสน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าท้าวแสนปมคือ เจ้าชินเสน ราชโอรสของพระเจ้าศิริชัย หรือศรีวิไชยแห่งเมือง นครปฐม  เมือง กำแพงแสน เดิมชื่อ เมืองเทพนคร หรือ เทพนครศิริไชย เจ้าชินเสนขึ้นครองเมืองทรงพระนามว่า “ พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน ” ครองราชย์ได้ 25 ปี ก็สวรรคตชาวเมืองจึงอัญเชิญ พระเจ้าอู่ทอง หรือ พระเจ้ารามราช โอรสของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ครองเมืองเทพนครต่อมา  ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีฯ ต่อมาพระองค์ไปสร้างเมืองใหม่ขึ้น ทำให้ กำแพงแสน เป็นเมืองร้างประชาชนก็ยังเรียกเมืองเทพนครว่า “ เมืองกำแพงแสน ” ตามนามผู้สร้างเมือง คือ “ พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ” หรือ “ ท้าวแสนปม ” 


เหรียญหน้าเอียง รุ่นแรก
แบบ 1 พ.ศ.2524 
เหรียญหน้าเอียง รุ่นแรก
แบบ 2 พ.ศ.2524 
อำเภอกำแพงแสน เป็นเมืองเก่า เป็นดินแดนขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีโบราณวัตถุที่สำคัญ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมากมาย เมืองเก่า กำแพงแสน เป็นเมืองเก่าสมัยทวาราวดี ประมาณอายุอยู่ราว พ.ศ.1150-1400 ตั้งอยู่ด้านใต้ของลำน้ำห้วยยาง ( คลองท่าสาร-บางปลา ) ไหลจากทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่อำเภอบางเลน ตัวเมืองเป็นรูปหกเหลี่ยมมุมบน สันนิษฐานว่าเมืองเก่า กำแพงแสน น่าจะมีชุมชนหลายชุมชนในอดีต มีการขุดพบโบราณสถานมากมาย เช่น ซากฐานวิหาร เจดีย์ธรรมจักรศิลา หอยสังข์ ลายปูนปั้น เครื่องปั้นดินเผา หินบดยา ระฆังหิน และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังพบคูน้ำ คันดิน ที่คาดว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์มากในภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งยังมีร่องรอยที่แสดงให้เห็นภาพเดิมควรที่จะอนุรักษ์เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และควรที่จะพัฒนาส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป สมัยรัตนโกสินทร์ อำเภอกำแพงแสน ก่อตั้ง พ.ศ.2449 มีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ เมืองเก่าโบราณ สถานผลิตนักบินประเทศ แหล่งบัณฑิตการเกษตร เขตพื้นดินเนื้อดี อนุสาวรีย์อินทรศักดิ์ศจี ปฐพีแห่งความร่มเย็น ”


เหรียญหน้าเอียง รุ่นแรก
แบบ 3 พ.ศ.2524 
เหรียญหน้าเอียง รุ่นแรก
แบบ 4 พ.ศ.2524 
เหรียญหน้าเอียง รุ่นแรก
แบบ 5 พ.ศ.2524 
ด้านพระเถรานุเถระ พระเกจิอาจารย์  กำแพงแสน ก็นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมพระเกจิอาจารย์เรืองนามหลายรูปตั้งแต่อดีตไม่ขาดสายทายาทพุทธาคม นับตั้งแต่ หลวงพ่อหว่าง วัด กำแพงแสน หลวงพ่อปาน วัดหนองปลาไหล หลวงพ่อปลั่ง วัดหนองกระทุ่ม หลวงพ่อเบี้ยว วัดทะเลบก หลวงพ่อสิงห์โต วัดลาดหญ้าไทร หลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง หลวงพ่อภา วัดสองห้อง หลวงพ่อรอด วัดวังน้ำเขียว หลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก และพระเกจิอาจารย์ในยุคปัจจุบันที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีคือ หลวงพ่อสมพงษ์ วัดใหม่ปิ่นเกลียว ( อดีตเจ้าคณะอำเภอกำแพงแสนปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะ จังหวัดนครปฐม ) หลวงปู่แผ้ว วัด กำแพงแสน พระเกจิอาจารย์ เมืองกำแพงแสน ที่เก่งกล้าสามารถในทางพุทธาคม เป็นสุดยอดของพระเกจิอาจารย์ที่มีความเข้มขลังด้วยพลังศักดิ์สิทธิ์ บุญฤทธิ์อิทธิฤทธิ์ไม่เป็นรองใคร


โบสถ์

แต่เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ไม่ยอมให้สื่อมวลชนสาขาใดนำประวัติของท่านไปเผยแพร่ให้เป็นที่เอิกเกริก ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างสูง เป็นที่เคารพนับถือและยกย่องของคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยปฏิปทาอันสูงส่งทำให้มีผู้คนเคารพนับถือทั่วทุกทิศ ท่านเป็นพระใจดีมีเมตตาธรรม พูดตรงไปตรงมา จึงดูเหมือนว่าท่านดุ แต่ความจริงท่านไม่ดุ ความเที่ยงตรงของท่านทำให้ผู้คนเกรงกลัวในบุญญาบารมีเป็นอย่างยิ่ง เป็นเจ้าของวัตถุมงคลเรื่องชื่อลือชา เช่น หวายเชือกคาดเอว ตะกรุดลูกอม พระเครื่อง เหรียญรูปเหมือน ทุกรุ่นที่ท่านจัดสร้าง มีพุทธคุณลึกล้ำพิสดาร ประจักษ์ใจของบรรดาพุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ นามของท่านก็คือ หลวงพ่อลำเจียก ติสสวโร หรือ พระครูสิทธิชัยวิศาล อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาตึก ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม


หวายคาดเอว
ประคำคอ
หลวงพ่อลำเจียก มีนามเดิมว่า ลำเจียก อ่อนปาน เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2464 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา เป็นบุตรของ นายพัน และ นางทองหล่อ อ่อนปาน มีพี่น้องรวม 5 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 3 คน หลวงพ่อลำเจียก เป็นบุตรคนที่ 4 ภูมิลำเนาอยู่ในเขต ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน บิดา-มารดาประกอบอาชีพทำนา จบการศึกษาเบื้องต้นระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านสนามแย้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ในวัยหนุ่มได้ช่วยบิดา-มารดาประกอบอาชีพทำนา สมัยที่เป็นหนุ่มวัยรุ่นอยู่นั้นชอบศึกษาหาความรู้เรื่องวิชาอาคม ตำรับตำราไสยเวทวิทยาคม จึงฝากตัวเป็นศิษย์ของพระเกจิอาจารย์อาคมขลังคือ หลวงพ่อหว่าง หรือ พระครูสุกิจธรรมสร อดีตพระเกจิอาจารย์แห่งวัด กำแพงแสน หลวงพ่อหว่าง ธมมฺสโร เป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมจาก หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก และ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เป็นสหธรรมิกกับ หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม และ หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด


หลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก
หลวงพ่อหว่างมีวิชาที่ขึ้นชื่อลือชาคือการขับพิษสุนัขบ้า พิษงู และพิษเขี้ยวงาต่างๆ ด้วยคาถา อาคมและยาสมุนไพร ถ้าใครถูกสุนัขบ้ากัดในสมัยนั้นจะพาไปที่หลวงพ่อหว่างให้ท่านใช้คาถาอาคมปัดเป่า วัตถุมงคลของหลวงพ่อหว่าง วัด กำแพงแสน ที่นิยมกันก็คือ เหรียญรูปไข่ รุ่น 1 เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ในวงการพระเครื่องเมือง นครปฐม จัดว่าเป็นเหรียญพระเกจิอาจารย์ที่อยู่ในทำเนียบเหรียญดังของเมืองเจดีย์ใหญ่และค่อนข้างจะหายาก เนื่องจากเป็นที่หวงแหนเพราะเหรียญรุ่นนี้มีประสบประสบการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ


กะลาตาเดียว
นอกจากนี้ยังมีวัตถุมงคลของ หลวงพ่อหว่าง ที่ท่านสร้างไว้ก็คือ เหรียญใบขี้เหล็ก มีประสบการณ์มากราคาค่านิยมในการบูชาจะค่อนข้างสูง พระพิมพ์โมคคัลลาน์สารีบุตร เนื้อดินเผา พระประจำวันเกิด เนื้อโลหะ และเนื้อผง หลวงพ่อหว่างจะมีของดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสักยันต์ เป็นจุดตามร่างกาย 7 จุด ได้แก่ บริเวณกระหม่อม  ลูกคาง ข้อมือ ไหล่ ข้อมือ ต้นแขน และหน้าอก โดยจะสักในวันอังคาร วันพฤหัสบดี ต้องสักให้ครบ 7 วัน จึงจะเสร็จพิธี ผู้ใดได้สักยันต์กับหลวงพ่อหว่างครบถ้วนตามพิธีกรรมที่กำหนดรับประกันได้ว่าสุดยอดในเรื่องคงกระพันชาตรี และแคล้วคลาด มีฤทธิ์อำนาจปรากฏมานับครั้งไม่ถ้วน นักเลงลูกทุ่งในยุคนั้นจะนิยมสักยันต์กับหลวงพ่อหว่าง วัด กำแพงแสน เพราะเชื่อมั่นในความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในนักเลงลูกทุ่งก็คือ หลวงพ่อลำเจียก ในสมัยที่เป็นฆราวาสเป็นหนุ่มเลือดนักสู้มีชื่อเสียงในเชิงนักเลงพอสมควร ขนาดที่เรียกว่าเมื่ออายุครบบรรพชาอุปสมบทไม่กล้าไปขอบวชกับหลวงพ่อหว่าง วัด กำแพงแสน ทั้งๆ ที่ท่านมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงพ่อหว่าง เนื่องจากเกรงว่าหลวงพ่อหว่างจะไม่ยอมบวชให้


ศาลาอเนกประสงค์
ดังนั้นเมื่ออายุ 21 ปี จึงบรรพชาอุปสมบทที่วัดบ้านยาง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ( ภายหลังแบ่งเขตการปกครองใหม่วัดบ้านยางจึงมาอยู่ในเขตอำเภอเมืองนครปฐม ) โดย พระครูธรรมสุนทร หรือ หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้วจำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง เป็นเวลา 2 พรรษา หลวงพ่อจันทร์เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นสงครามอินโดจีน เป็นพระสหธรรมิกรุ่นเดียวกับ  หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง วัดบ้านยางสมัยนั้นมีพระเกจิดัง 2 องค์ คือ หลวงพ่อดี และ หลวงพ่อจันทร์ หลวงพ่อดีเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อจันทร์ ตอนที่หลวงพ่อจันทร์บวชขณะนั้นหลวงพ่อดีเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดบ้านยางและท่านจึงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อจันทร์



หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งในปี พ.ศ.2481 ท่านเป็นพระคณาจารย์รูปหนึ่งที่ได้รับอาราธนานิมนต์เข้าร่วมพิธีปลุกเสกครั้งประวัติศาสตร์ ณ วัดราชบพิธ พิธีมหาพุทธาภิเษกอันยิ่งใหญ่ที่วัดราชบพิธ มีพระเกจิอาจารย์ดังจากจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรไปร่วมพิธี ไม่เคยมีพิธีใดที่จะมีพระเกจิอาจารย์เก่งๆ มาร่วมกันได้มากขนาดนั้น พระเกจิอาจารย์ที่มาแต่ละรูปนั้นเป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์ หลวงพ่อจันทร์มีวิชาอาคมแกร่งกล้ามากได้สร้างวัตถุมงคล มีชื่อเสียงในทำเนียบวัตถุมงคลของเมืองไทย ได้แก่ เหรียญรุ่น 1 สร้างประมาณปี 2481 เป็นเหรียญที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์พระครูธรรมสุนทร มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงิน และ ทองแดง วัตถุมงคลหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง ที่โด่งดังมากที่สุดคือ พระปิดตามหาอุดหนึ่งในเบญจภาคี พระมหาอุด เนื้อเมฆพัด ของเมืองไทย ได้แก่ พระปิดตามหาอุด หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ พระปิดตามหาอุด หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พระปิดตามหาอุด หลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน พระปิดตามหาอุด หลวงพ่อชม วัดบางปลา และ พระปิดตามหาอุด หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง ที่มีเอกลักษณ์เรียกว่า พระปิดตา พิมพ์มัดข้าวต้ม

ซุ้มประคำวัดศาลาตึก
นอกจาก พระปิดตา เนื้อเมฆพัด แล้วยังพบว่ามี พระปิดตา เนื้อตะกั่ว และ พระปิดตา เนื้อดินเผา บางคนเรียกว่า พระปิดตา เนื้อดินขุยปู หลวงพ่อลำเจียก ได้ศึกษาถ่ายทอดวิชาอาคม และแนวทางการเจริญสมาธิภาวนาจากหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง เป็นเวลา 2 พรรษา หลังจากนั้นจึงย้ายกลับไปจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อหว่าง วัด กำแพงแสน สาเหตุสำคัญที่หลวงพ่อลำเจียกมาจำพรรษาอยู่ที่วัด กำแพงแสน เนื่องจากท่านสงสารโยมบิดา-มารดาซึ่งชราภาพมากแล้ว แต่ต้องเดินด้วยเท้าเปล่าเพื่อไปทำบุญที่วัดบ้านยางใช้เวลาไป-กลับหนึ่งวันเต็มๆ และสาเหตุอีกประการหนึ่งเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากหลวงพ่อหว่าง วัด กำแพงแสน ทำให้ท่านเกิดความรอบรู้เชี่ยวชาญในไสยเวทวิทยาคม วิชาโหราศาสตร์แบบโบราณ และวิชาแพทย์แผนโบราณ


หลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก นครปฐม
ในบรรดาสรรพศาสตร์ที่ หลวงพ่อลำเจียก ได้ศึกษาเล่าเรียนนั้นมีวิชาโหราศาสตร์ไทยแบบโบราณ ถือว่าเป็นสุดยอดวิชาที่สร้างชื่อเสียงให้ หลวงพ่อลำเจียก มาก ท่านทำนายทายทักแม่นยำเหมือนตาเห็นดุจมีตาทิพย์ จึงมีผู้มาพึ่งพาอาศัยวิชาความรู้ของท่านในด้านดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสถานที่ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ก่อนลงมือสร้างมักจะมาขอให้ หลวงพ่อลำเจียก ใช้วิชาความรู้ช่วยสำรวจตรวจสอบให้ หลวงพ่อลำเจียก ก็สงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือทุกรายไป

แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นอาถรรพณ์เร้นลับฝังอยู่ใต้ผืนดิน หลวงพ่อลำเจียก ใช้พลังสมาธิหลับตาเพ่งดูรู้ได้หาวิธีช่วยเหลือป้องกันแก้ไขจนเป็นที่ศรัทธาของผู้คนทั่วไป วัดวาอารามหลายแห่งใน จังหวัดนครปฐม เคยนิมนต์ หลวงพ่อลำเจียก ไปนั่งสมาธิใช้พลังจิตตรวจสอบความเหมาะสมในการสร้างศาสนสถาน แสดงให้เห็นว่า หลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก เป็นที่ยอมรับและเป็นที่เชื่อถือในด้านความเชี่ยวชาญศาสตร์สาขาดังกล่าวเป็นอย่างมาก


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1032 ปักษ์แรก เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 : หลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก พระเกจิอาจารย์เมืองกำแพงแสน นครปฐม “ หนามแหลมไม่ต้องเสี้ยม มะนาวกลมเกลี้ยงไม่ต้องกลึง ”ตอน 1 ภาพและเรื่องโดย อ.ยุทธ โตอดิเทพย์ ราคาปก 50 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 







Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อลำเจียก #วัดศาลาตึก #จ.นครปฐม