ภาพและเรื่องโดย..ศักดิ์ อโยธยา
 |
ภาพหลวงพ่อชม ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะถ่ายในช่วง ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวดรองแขวงกรุงเก่า |
พระเกจิเมืองกรุงเก่าอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้นิยมสะสมวัตถุมงคลส่วนใหญ่ ได้แก่ หลวงพ่อชม พรฺหมฺโชติ หรือ พระครูอุเทศธรรมวินัย วัดพุทไธศวรรย์ ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา และหากจะว่าไปเหตุปัจจัยสำคัญมาจากเหรียญของท่านซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในอยุธยาและต่างจังหวัด หรือพูดให้ชัดก็คือถือเป็นเหรียญดังระดับประเทศด้วยซ้ำ
สิ่งที่ทำให้เหรียญดังกล่าวเป็นที่ต้องการของใครต่อใคร ไม่ใช่เพราะเป็นรุ่นแรก ( และรุ่นเดียว ) หรือสร้างมานาน แต่ความสำคัญของเหรียญนี้อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์หรืออภินิหารมากกว่า เพราะแน่นอนว่าผู้สร้าง (และปลุกเสก) ซึ่งก็คือหลวงพ่อชมนั้นเก่งกล้าถึงขั้นเป็นผู้สร้างตำนาน “ อีโต้ลอยน้ำ ” องค์ที่สอง ( รองจาก “ ขรัว ” ที่สร้างพระบรรจุไว้ในเจดีย์วัดเลียบ ) ทีเดียว
 |
หมู่พระพุทธรูปภายในพระระเบียง ซึ่งผู้เขียนถ่ายไว้ในช่วงกำลังบูรณะ |
เพียงเกริ่นกล่าวมาเท่านี้ คนที่สนใจเรื่องอภินิหารอยู่คงอยากรู้ไปตามๆ กัน แต่ก่อนที่จะอ่านรายละเอียดเรื่องนี้รวมทั้งชีวประวัติของท่าน ขอกล่าวถึง วัดพุทไธศวรรย์ เป็นลำดับแรก เพราะเห็นว่าน่าจะเหมาะกว่าเล่าเรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อชมไปก่อน แล้วย้อนกลับมาเล่าประวัติของวัดปิดท้าย
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรี อยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) กล่าวว่า “ศักราช ๗๑๕ ปีมะเส็งเบญจศก ( พ.ศ.๑๘๙๖ ) วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เพลา ๒ นาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้น ให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นพระอาราม แล้วให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์ ”
 |
พระสังกัจจายน์ของเก่า (องค์ใหญ่) ซึ่งลงรักปิดทองและประดับกระจก ที่ฐานใหม่ ในสมัยเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน |
ความที่คัดมาข้างต้นนี้คนที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์คงเข้าใจได้ดีว่า พระมหากษัตริย์ที่โปรดฯให้สร้างวัดดังกล่าวขึ้นในบริเวณที่เป็นพระตำหนักเดิมคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือที่นิยมเรียกขานกันว่า พระเจ้าอู่ทอง องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงศรี อยุธยา ด้วยทรงเห็นว่าเมื่อสถาปนาราชธานีใหม่สำเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยดี ก็ควรที่จะยก “ เวียงเหล็ก ” ( หรือ เวียงเล็ก ) ซึ่งเคยประทับอยู่ก่อนหน้าให้เป็นพระอาราม ด้วยความที่ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างเปลี่ยมล้น ส่วนอีกเหตุผลดูเหมือนจะทรงต้องการให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งพระองค์ก็ว่าได้
ไหนๆ ก็เอ่ยถึงพระองค์ขึ้นมา เห็นควรว่าน่าจะเสริมพระราชประวัติเอาไว้สักเล็กน้อยด้วยเป็นไร เพราะไม่เพียงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อคน อยุธยา เพียงเมืองเดียวเท่านั้น แต่คุณูปการของพระองค์ยังแผ่ไปถึงอาณาประชาราษฎร์ทุกเขตคาม สร้างความร่มเย็นและความเป็นปึกแผ่นแน่นหนามาตราบเท่าทุกวันนี้ หากไม่มีพระองค์ก็ไม่แน่ว่าจะปรากฏชื่อหรือดินแดนของประเทศไทยอยู่ในแผนที่โลกหรือเปล่า
 |
พระอุโบสถวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งได้รับการบูรณะ ครั้งใหญ่ในสมัยหลวงพ่อชมเป็นเจ้าอาวาส |
กล่าวสำหรับพระราชประวัติอาจสรุปได้ว่า พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ.๑๘๕๓ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตอนที่สร้างกรุงศรี อยุธยา ทรงมีพระชนมายุได้ ๔๐ ปี แต่พระชนกชนนีและพระชาติภูมิยังคลุมเครืออยู่ตราบปัจจุบัน เพราะขัดแย้งกันทั้งเรื่องหลักฐานและความเห็นของนักประวัติศาสตร์จนไม่อาจหาข้อยุติได้ คือ บางคนบางฝ่ายเชื่อว่าทรงอพยพหนีห่ามาจากเมืองอู่ทอง ( ปัจจุบันเป็นเพียงอำเภอหนึ่งซึ่งขึ้นกับสุพรรณบุรี ) แต่ก็มีบางคนบางฝ่ายที่เชื่อว่าทรงเป็นโอรสของกษัตริย์รัฐละโว้ ( ซึ่งหมายรวมถึงเมืองอโยธยา ) ส่วนบางคนบางฝ่ายเชื่อว่าก่อนหน้าที่จะเสด็จมาสร้างราชธานีใหม่ ทรงอยู่ในฐานะเจ้าเมืองเพชรบุรีต่างหาก
นอกจาก ๓ พวก ๓ ฝ่ายนี้ ยังมีที่เชื่อว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จมาจากที่ไหน แต่ในช่วงก่อนที่จะทรงสร้าง “ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรี อยุธยา ” ขึ้นนั้น ทรงดำรงฐานะพระมหากษัตริย์แห่งเมืองอโยธยา ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งกับตัวเมืองปัจจุบัน ( ด้านทิศตะวันออก ) นี่เอง หรือหากจะว่าไปความเชื่อของฝ่ายหลังสุดนี้ที่จริงก็สอดคล้องหรือเจือสมกับ ๒ ฝ่ายก่อนหน้า ( ที่เชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองทรงเป็นโอรสของผู้ครองกรุงละโว้ และทรงเคยเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี )
 |
พระวิหาร (ด้านใต้พระอุโบสถ) หลังหนึ่ง ซึ่งถ่ายเมื่อครั้งยังไม่ได้รับการบูรณะ |
 |
ลายปูนปั้นที่หน้าบันพระวิหารหลังหนึ่ง ซึ่งยัง หลงเหลือเค้าของความประณีตสวยงามให้เห็น |
เพราะเท่าที่ผู้เขียนศึกษาค้นคว้ามานั้นชวนให้สันนิษฐานได้ว่า พระองค์ทรงเป็นโอรสของพระบรมราชากษัตริย์เมืองอโยธยา ( ซึ่งต่อมามีฐานะเป็นเมืองหลวงของรัฐละโว้ ) ที่ครองราชย์ในราว พ.ศ.๑๘๕๓-๑๘๘๗ หลังเสด็จสวรรคตแล้ว พระวรเชษฐ์ ซึ่งเป็นพระโอรสที่ถูกส่งไปครองเมืองเพชรบุรีอยู่ก่อนหน้า ได้เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์สืบแทนพระชนก ( จนถึง พ.ศ.๑๘๙๐ หรือประมาณ ๓ ปี จึงทรงอพยพมาตั้งที่ “ เวียงเหล็ก ” เพราะนัยว่า เพื่อหนีโรคห่าระบาดเหมือนกัน )
เหตุผลสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เชื่อว่า พระองค์น่าจะครองเมืองอโยธยาอยู่ก่อนทรงอพยพข้ามมาสร้างราชธานีใหม่ ได้แก่ กฎหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านั้น อย่างเช่น กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ( พ.ศ.๑๘๘๖ ) กฎหมายลักษณะทาส ( พ.ศ.๑๘๙๐ ) และ กฎหมายลักษณะกู้หนี้ (พ.ศ.๑๘๙๑) เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นกฎหมายเหล่านี้ยังมีการเอ่ยพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีฯ โปรดฯให้ตราขึ้นเช่นเดียวกับโองการแช่งน้ำ ( ซึ่งไม่ได้แก้พระนาม แม้จะนำมาใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อยู่หลายรัชกาล )
 |
พระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งสูงเด่นเป็นสง่ามองเห็นแต่ไกล |
 |
ปูชนียวัตถุในเขตพุทธาวาส ซึ่งผู้เขียนถ่ายไว้ในช่วงก่อนบูรณะ |
เค้าเงื่อนสำคัญดังกล่าวนี้ผู้ที่อุตสาหะสืบค้นมาเผยแพร่หรือเปิดประเด็นเอาไว้ เท่าที่นึกได้ตอนนี้ก็มี อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ( อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร) และ จิตร ภูมิศักดิ์ (นักคิดนักเขียนอิสระ ) เป็นต้น โดยเฉพาะในส่วนของอาจารย์มานิตนั้นท่านได้เสนอเอาไว้ในหนังสือ “ ที่ระลึกเฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว ” ซึ่งคณะกรมการจังหวัดพระนครศรี อยุธยา จัดพิมพ์ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์ ( เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓ ) ที่นำมาบอกกล่าวเอาไว้ เพราะอาจมีผู้สนใจคิดเสาะหามาอ่านกัน
 |
หมู่เจดีย์น้อยใหญ่ในเขตพุทธาวาส |
ก่อนจะหันเข้าสู่ประวัติของ วัดพุทไธฯ ใคร่เสริมเอาไว้ตรงนี้อีกสักเล็กน้อยด้วยว่า ข้อที่น่าสังเกตอย่างมากก็คือ หลังจากสร้างกรุงศรี อยุธยา ได้ไม่นานเท่าไร แต่ทำไมในพระราชพงศาวดารจึงกล่าวว่า “ ครั้งนั้นพระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทรบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร ( และ ) เมืองนครสวรรค์ ”
 |
ประตูกำแพงเขตพุทธวาสด้านเหนือ
(ริมแม่น้ำเจ้าพระยา)
|
โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกนั้นปรากฏหลักฐานอยู่ใน “ ชินกาลมาลีปกรณ์ ” ตอนหนึ่งว่า “ ครั้งหนึ่งเมืองชัยนาท ( ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายท่านสันนิษฐานว่าคือเมืองพิษณุโลก ) เกิดทุพภิกขภัย พระเจ้ารามาธิบดีกษัตริย์อโยชชปุระเสด็จมาจากแคว้นกัมโพช ( ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายท่านสันนิษฐานว่าคือ ละโว้ ซึ่งหมายรวมถึงอโยธยา ) ทรงยึดเมืองนั้นได้โดยทำทีว่าเอาข้าวมาขาย
ครั้นยึดได้แล้วทรงตั้งอำมาตย์ชื่อ วัตติเดช ( ซึ่งนักประวัติศาสตร์ หลายท่านสันนิษฐานว่าคือ พระบรมราชา หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ) ซึ่งครองเมืองสุพรรณภูมิให้มาครองเมืองชัยนาท ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปอโยชชปุระ ต่อแต่นั้นมา พระเจ้าธรรมราชา ( ลิไท ) ก็ส่งบรรณาการเป็นอันมาก ไปถวายพระเจ้ารามาธิบดีทูลขอเมืองนั้นคืน ฝ่ายพระเจ้ารามาธิบดีก็ทรงประทานคืนแก่พระเจ้าธรรมราชา วัตติเดชอำมาตย์ก็กลับไปเมืองสุพรรณภูมิ ”
 |
ฝาผนังพระระเบียงด้านนอก ซึ่งเข้าใจว่า
น่าจะได้รับการบูรณะในสมัยหลวงพ่อชมเช่นกัน |
อีกข้อหนึ่งที่น่าสังเกตไม่แพ้กันก็คือเรื่อง “ ขอมแปรพักตร์ ” โดยโปรดฯให้พระราเมศวร ( และพระศรีสวัสดิ์ ) ออกไปทรงปราบปราม ( หรือ “ กระทำเสีย ” ตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร ) ซึ่งไม่น่าจะสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากประเทศที่ว่ามีฐานะเมืองออกหรือเมืองขึ้นของไทย หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นเมืองที่มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน การที่ทรงหุนหันพลันแล่นถึงขนาดโปรดฯให้พระโอรสออกไปปราบปราม ย่อมหมายความว่าต้องทรงมั่นพระทัยในความพร้อมของไพร่พลอย่างมาก หากเพิ่งจะทรงอพยพมาจากบ้านอื่นเมืองไกลได้ไม่นาน คงไม่ทรงอาจหาญกระทำถึงขั้นที่ว่ากระมัง
 |
ศาลาโถงหลังหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนถ่ายไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน |
อย่างไรก็ดี ขอหันกลับมาที่ วัดพุทไธศวรรย์ กันดีกว่า เพราะเท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็คงจะพอเป็นพื้นฐานให้ผู้อ่านนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็พอจะทราบประวัติของวัดนี้โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นมาพอประมาณ
ปูชนียวัตถุสำคัญที่ใคร่กล่าวถึงเป็นสิ่งแรกก็คือ พระปรางค์ ( หรือที่ในพงศาวดารเรียกว่า พระมหาธาตุ ) ด้วยถือเป็นหลักของวัดมาแต่ครั้งโบราณกาล ความสูงจากฐานถึงยอดวัดได้ ๓๒ เมตร กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร หมายถึง ฐานไพที ) ที่สำคัญก็คือเรือนธาตุด้านเหนือและใต้เป็นซุ้มจรนำ ( ซึ่งยื่นออกมาจากองค์พระปรางค์ทั้งสองด้าน ) โดยเฉพาะด้านเหนือนั้นปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเรียกกันว่า พระเจ้าอู่ทอง ( ส่วนด้านใต้เข้าใจว่าเดิมประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นกัน แต่ปัจจุบันว่างเปล่าปราศจากปูชนียวัตถุใดๆ )
 |
ศาลาการเปรียญ (หลังใหม่) ซึ่งออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างโดยหลวงพ่อหวล |
ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือซุ้มด้านเหนือนี้ เดิมทีเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระเจ้าอู่ทองหรือที่เรียกกันว่า พระเชษฐบิดร บ้าง พระเทพบิดร บ้าง แต่ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้เชิญลงไปกรุงเทพฯ โดยปั้นองค์ใหม่แทนที่ไว้แต่แปลงเป็นพระพุทธรูป ( ทรงเครื่อง ) ซึ่งเรื่องของเรื่องจะเนื่องมาจากอะไรนั้น ขอให้อ่านจากลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ( ฉบับลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๑ ) ซึ่งทรงมีถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กันเองดีกว่า เพราะอยากจะคงเนื้อหาสาระและอรรถรสเอาไว้ตามเดิม ดังนี้
“ นานมาแล้วหม่อมฉันไปเที่ยว วัดพุทไธศวรรย์ เมื่อเดินดูองค์พระปรางค์ไปตามทางฐานประทักษิณถึงมุขหน้าข้างซ้าย เห็นมีบายศรีตองกับเครื่องสักการะทิ้งอยู่ หม่อมฉันถามพระยาโบราณกับพวกกรุงเก่าที่ไปด้วยว่านี่เขาบูชาอะไรกัน เขาบอกว่าคนชอบมาบูชาพระเทพบิดรที่อยู่ในคูหาฝามุขพระปรางค์นั้น แลขึ้นไปดูเห็นเป็นซุ้มจรนำมีประตูบานไม้อย่างมีอกเลาปิดอยู่ หม่อมฉันให้เปิดประตูดูองค์พระเทพบิดรเป็นพระพุทธรูปยืน ( ดูเหมือนจะเป็นมุทร ยกพระหัตถ์ข้างขวาประทานพร ) สูงขนาดสักเท่าคน ปั้นติดไว้กับฝาผนังข้างใน ดูฝีมือที่ทำไม่งดงามเป็นแต่ปิดทองไว้อร่ามทั้งองค์
 |
หลวงพ่อหวล (หรือพระพุทไธศวรรย์วรคุณ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ซึ่งถ่ายเมื่อครั้ง ยังเป็นที่พระครูภัทรกิจโสภณ |
พระยาโบราณเล่าเรื่องตามคำบอกเล่าของชาวกรุงเก่าให้หม่อมฉันฟังว่า พระเทพบิดรองค์นั้นเดิมเป็นเทวรูป พวกกรุงเก่าเรียกกันว่า พระเจ้าอู่ทอง ศักดิ์สิทธิ์นัก ผู้คนจึงชอบบนบานเซ่นสรวงเสมอไม่ขาด แต่อยู่มาพระเจ้าอู่ทององค์นี้เกิดดุร้ายจนชาวกรุงเก่าพากันหวาดหวั่นครั่นคร้ามทั่วไป พระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงเทพพลภักดิ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมช้าง เสด็จขึ้นไปบัญชาการซ่อมแซมเพนียดทรงทราบ จึงโปรดฯให้ปั้นแปลงรูปพระเจ้าอู่ทองเป็นพระพุทธรูปแต่นั้นก็หายดุร้าย ถึงกระนั้นคนก็ยังนับถือกลัวเกรงพากันไปบนบวงสรวงอยู่เสมอ บายศรีที่หม่อมฉันเห็นๆ จะเป็นของสินบนถวายเมื่อกลางคืนที่ล่วงมาจึงยังทิ้งอยู่
เวลานั้นหม่อมฉันไม่ได้เอาใจใส่ไต่สวน เมื่ออ่านลายพระหัตถ์คิดถึงศักราชขึ้นจึงแลเห็นวินิจฉัยกว้างขวางออกไป คือ เมื่อสมัยกรุงศรี อยุธยา หอพระเทพบิดรอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในการพิธีถือน้ำประจำปีบรรดาข้าราชการต้องไปบูชาพระเทพบิดรเสมอเป็นนิจ มาจนเสียกรุงในปีกุนพุทธศักราช ๒๓๑๐ และเมื่อเสียกรุงนั้นไฟไหม้วัดพระศรีสรรเพชญ์หมดทั้งวัด ของที่หล่อด้วยโลหะ เช่น พระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นต้น ตลอดจน รูปพระโพธิสัตว์ ต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้าง บรรดาที่อยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ถูกไฟไหม้ละลายเหลืออยู่แต่ซากเป็นท่อนๆ แทบทั้งนั้น พระเทพบิดรก็คงเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน... ”
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1099 ปักษ์หลัง เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2555 : หลวงพ่อชม วัดพุทไธศวรรย์ ผู้สร้างตำนาน “ อีโต้ลอยน้ำ ” องค์ที่สอง ตอน 1 ภาพและเรื่องโดย ศักดิ์ อโยธยา ราคาปก 99 บาท)
วันนี้! อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้
สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า..
Available Now! You can read whenever, wherever with any device.
#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อชม #วัดพุทไธศวรรย์ #จ.อยุธยา