พระครูภาวนาภิรัต ( หลวงปู่ทิม อิสริโก ) วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

ภาพและเรื่องโดย..เพียรวิทย์ จารุสถิติ, สิทธานต์ อุปริสัจกุล และคณะศิษย์


หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
ก่อนที่จะเริ่มประวัติและเกียรติคุณของ หลวงปู่ทิม อิสริโก แห่งวัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นั้น ผู้เขียนใคร่ขอนำข้อความที่กล่าวถึง หลวงปู่ทิม อิสริโก โดยพระเถระผู้ใหญ่ของ จังหวัดระยอง ซึ่งก็คือท่านเจ้าคุณ พระราชวิมลมุนี อดีตเจ้าคณะ จังหวัดระยอง ที่ได้กล่าวถึง หลวงปู่ทิม ไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ทิม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ไว้ว่า

พระครูภาวนาภิรัต หรือ หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีอายุพรรษาอยู่ในเกณฑ์สูง ก่อนจะถึงมรณภาพแทบจะกล่าวได้ว่า เป็นพระเถระที่มีอายุพรรษามากเป็นอันดับหนึ่งในเขต จังหวัดระยอง เป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตร น่าเคารพเลื่อมใสเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นพระมีระเบียบแบบแผน จิตใจสะอาดสมกับภาวะของพระ พูดน้อย และเป็นพระเถระขมังเวทย์ ก่อนถึงมรณภาพประมาณ ๒๐ ปี มีผู้นิยมเลื่อมใสในวัตถุมงคลของท่านมาก มีชื่อเสียงกระฉ่อนไปไกลในเรื่องวัตถุมงคล ถ้ามีงานพุทธาภิเษกในวัดใด ทั้งในจังหวัดหรือต่างจังหวัด โดยมากจะได้รับอาราธนาให้เข้าร่วมในพิธีเกือบทุกแห่ง

ผ้ายันต์พัดโบก ออกงาน
ฉลองอายุครบ 8 รอบ พ.ศ.2518
เมื่อข้าพเจ้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดตอนนั้นอายุของหลวงปู่เกือบจะถึง ๙๐ ปี แล้ว ต้องบอกกับพระ วัดละหารไร่ และญาติโยมใกล้ๆ วัดที่ปฏิบัติหลวงปู่ว่า ถ้ามีผู้มาอาราธนาหลวงปู่ไปนั่งปรกต่างจังหวัด หรือไกลเกินไป ขออย่าให้หลวงปู่ไป เพราะท่านอายุมากแล้ว และท่านก็มักจะเกรงใจหรือตามใจผู้ที่มาอาราธนารับไปทำธุระให้เขาเป็นส่วนมาก จึงต้องมีการขอร้องว่าอย่าให้รับ เกรงว่าอาจมีอันตรายในการเดินทาง หลวงปู่ทิม ได้ก่อสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุไว้ใน วัดละหารไร่ เป็นหลักฐานมั่นคงหลายอย่าง ก่อนถึงมรณภาพไม่เกิน ๑๐ ปี ได้สร้างอุโบสถหลังใหม่เสร็จเรียบร้อย พร้อมทั้งศาลาการเปรียญหลังใหญ่ หอฉัน แบบทันสมัย นับเป็นพระเถระนักพัฒนารูปหนึ่ง ถึงแม้อายุจะมากก็ไม่ท้อถอยในการก่อสร้างวัดให้เจริญรุ่งเรือง ท่านได้ถึงมรณภาพตามกาลเวลาแห่งอายุขัย ซึ่งไม่มีผู้ใดในโลกนี้จะฝืนกฎธรรมดาไปได้ ด้วยอาการอันสงบ


ผ้ายันต์พัดโบก จารมือดินสอยุคแรก
ซึ่งข้อความดังกล่าวข้างต้นสามารถบ่งบอกถึงเกียรติคุณของ หลวงปู่ทิม อิสริโก ได้เป็นอย่างดีว่า หลวงปู่ท่านครองสมณเพศตลอดชีวิตของบรรพชิตด้วยศีลาจารวัตรงดงามเพียงใด ส่วนอีกท่านหนึ่งที่เป็นผู้อาวุโสในวงการตุลาการที่เป็นลูกศิษย์ หลวงปู่ทิม ก็ได้กล่าวไว้ในหนังสืองานดังกล่าวด้วยก็คือ ท่านกำพล ภู่สุดแสวง อดีตรองประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ดังนี้

ผู้เขียนบันทึกนี้เพิ่งจะได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของ พระครูภาวนาภิรัต หรือ หลวงปู่ทิม อิสริโก เมื่อผู้เขียนย้ายมารับราชการที่ จังหวัดระยอง ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ แต่ครั้งแรกก็ไม่สู้จะสนใจนัก เพราะกิตติศัพท์ที่ได้ยินได้ฟังมักจะเป็นไปในทำนองอภินิหารหรืออิทธิวิธีแทบทั้งสิ้น ต่อเมื่อได้ศึกษาประวัติของท่านโดยละเอียดจึงทราบว่า แม้ท่านจะเคยฝักใฝ่ในทางไสยศาสตร์มาก่อน แต่ก็มิได้ลุ่มหลงในศาสตร์ดังกล่าว แม้แต่การใช้อิทธิวิธีในบางคราวบางโอกาส ท่านก็ทำเท่าที่จำเป็นเพื่อสงเคราะห์หมู่ชนจริงๆ มิได้หวังอามิสอันเป็นโลกธรรมแม้แต่น้อย


รูปปั้นหลวงปู่ทิม ประดิษฐาน
ในวิหารวัดละหารไร่
เฉพาะองค์ท่านมีข้อวัตรและปฏิปทาอย่างสันโดษ การขบฉัน นุ่งห่ม การพักผ่อนทุกอิริยาบถ มิได้ทำเพื่อความสะดวกสบายเลย หากแต่เพื่อความดำรงอยู่แห่งธาตุขันธ์เพื่อการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ธุดงควัตรบางข้อ เช่น การฉันมื้อเดียวท่านก็ปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงตลอดมาตราบเท่าถึงกาลอวสานแห่งชีวิต แม้เมื่อล่วงลับไปแล้วกุศลกรรมที่ท่านบำเพ็ญมาก็ยังก่อประโยชน์แก่สาธุชนผู้อยู่เบื้องหลังเป็นอเนกประการ ผู้เขียนตระหนักแน่แก่ใจว่าท่านเป็นสงฆ์ที่ควรกราบไหว้บูชา เป็นเนื้อนาบุญของโลก สมดังบทสรรเสริญสังฆคุณ ที่ว่า :

อาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขามานำมาบูชา
ปาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
ทักขิเนยโย เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
อัญชลี กรณีโย เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งมุมมองของคฤหัสถ์และฆราวาสที่มีต่อ หลวงปู่ทิม นั้น ท่านดำรงอยู่ในสถานะของพระภิกษุสงฆ์ที่สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ทำให้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า ทั้งเกียรติคุณ ชื่อเสียงของ หลวงปู่ทิม นับวันจึงมีแต่ความหอมขจรขจายไปมากถึงเพียงนี้ คราวนี้เราก็เริ่มมาเข้าประวัติของท่านกันเลย โดยเริ่มจากประวัติความเป็นมาของวัดก่อนเพื่อให้เห็นภาพโดยสมบูรณ์ เดิม วัดละหารไร่  มีชื่อเรียกเดิมของชาวบ้านละแวกนั้นว่า วัดไร่ (วารี) มีที่ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๘ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง


ประวัติความเป็นมา

วิหารวัดละหารไร่
วัดบ้านไร่ นี้ก่อตั้งขึ้นประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๕๔ หรือประมาณ ๑๖๐ ปี ( ถ้านับถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๔ ก็ประมาณ ๒๐๐ ปี : ผู้เขียน ) มาแล้ว เดิมเป็นเพียงสาขาของ วัดละหาร ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นโดย หลวงพ่อสังข์เฒ่า รองเจ้าอาวาสวัดละหาร เห็นว่าทางวัดละหารมีที่น้ำล้อมโดยรอบ ไม่มีที่เพาะปลูกพืชผักผลไม้ไว้ขบฉันเมื่อถึงฤดูแล้ง เห็นว่าทำเลที่ตั้งวัดไร่ปัจจุบันนี้เหมาะสม เพราะมีดินดีและมีน้ำตลอดปี จึงได้มาทำไร่ขึ้นเพื่อปลูกพืชผักผลไม้ และมีกุฏิอาศัยเพียงหลังเดียว เป็นเวลาหลายปีต่อมา ได้มีประชาชนมาถางป่าทำไร่บริเวณใกล้เคียงวัดมากขึ้น หลวงพ่อสังข์เฒ่าไม่ค่อยได้กลับไปวัดละหารเป็นเวลานาน นอกจากฤดูเข้าพรรษา ประชาชนเมื่อเห็นพระสงฆ์มาอยู่ พอถึงวันพระก็ทำภัตตาหารมาถวายเป็นประจำ ครั้นเวลาเข้าพรรษาหลวงพ่อสังข์เฒ่าก็กลับไปจำพรรษายังวัดละหารตามเดิม เป็นอยู่เช่นนี้หลายสิบปี เมื่อความเติบโตของหมู่บ้านมากขึ้น พอถึงฤดูเข้าพรรษาพระสงฆ์ที่อุปสมบทใหม่พอใจจะจำพรรษาอยู่ที่วัดไร่มีมากขึ้น

การก่อสร้างกุฏิวิหารก็เริ่มเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น วัดละหารไร่ แต่นั้นมา โดยมี หลวงพ่อสังข์เฒ่า เป็นเจ้าอาวาสเป็นองค์แรก เกี่ยวแก่อภินิหารของหลวงพ่อสังข์เฒ่านี้ พระครูภาวนาภิรัต ( หลวงพ่อทิม ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันซึ่งอายุ ๘๘ ปี ( เมื่อปี 2514 : ผู้เขียน ) เล่าว่า มีอภินิหารล่องหนหายตัวได้ ซึ่งสามารถไปบิณฑบาตยังเมืองบางปลาสร้อย ( ชลบุรี ) และกลับมาก่อนพระที่บิณฑบาตแถวข้างๆ วัดเสียอีก หรือแม้แต่ไพลซึ่งหลวงพ่อสังข์เฒ่าเสกด้วยคาถา เมื่อเอาไปพ่นเป่าโรคต่างๆ ตามความเชื่อถือในสมัยโบราณ ถ้าเหลือแล้วนำไปปลูกไว้เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นอีก เช่น เจ็บหัวปวดท้อง ก็ขุดนำมาพ่นเป่าได้อีกโดยมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่คนปัจจุบันเห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน แต่ขอให้นึกถึงเหตุการณ์สมัยโบราณ ซึ่งยังความเลื่อมใสเชื่อถือในไสยศาสตร์ต่างๆ อย่างมั่นคง ความเลื่อมใสและความเชื่อถือย่อมมีอิทธิพลมากอยู่ แม้ หลวงปู่ทิม เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ซึ่งได้รับมรดกตกทอดติดต่อกันมาในทางนี้ ก็ยังเป็นที่เลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ของเรื่องเครื่องรางของขลังของท่าน จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในภาคตะวันออกอยู่จนปัจจุบันนี้

ที่ดิน สำหรับที่ดิน คงเป็นที่ดินที่ทำไร่แต่เดิมมา โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของอยู่เดิมซึ่งมีประมาณ ๘ ไร่ เพิ่งมีผู้มาซื้ออุทิศถวายเพิ่มเติมอีกประมาณ ๒ ไร่ เมื่อปี ๒๕๐๙ นี้


โบสถ์วัดละหารไร่
ปูชนียวัตถุ แม้อายุของความเป็นวัดมานานปีก็ตาม แต่ไม่ปรากฏสิ่งของโบราณหรือปลูกสร้างศิลปะอันเก่าแก่แต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ห่างไกลความเจริญทุกประการ สิ่งก่อสร้างซึ่งทำด้วยไม้ย่อมผุพังไปตามธรรมชาติ จึงไม่มีปูชนียวัตถุอันมีคุณค่าในทางศึกษาหรือพอที่จะเชิดหน้าชูตาแก่ประชาชนแต่อย่างใด


โครงการพัฒนาของวัด

โครงการใหญ่ในเรื่องพัฒนาคือ การสร้างอุโบสถ เนื่องจากอุโบสถหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก เพราะสร้างด้วยไม้เป็นส่วนมาก มีโครงการจะสร้างขึ้นใหม่ในปีนี้เป็นอันดับแรก และโครงการต่อไปได้แก่การปรับปรุงบริเวณวัด เพราะเนื้อที่ของวัดมีบึงและที่ลุ่มหลายแห่ง จะได้ปรับปรุงในระยะต่อไป


ลำดับเจ้าอาวาส

เจ้าอาวาสที่มีแต่ต้นมาตามลำดับ ดังนี้
- หลวงพ่อสังข์เฒ่า
- หลวงพ่อแดง
- หลวงพ่อเกิด
- หลวงพ่อสิงห์
- หลวงพ่อจ๋วม ในสมัยหลวงพ่อจ๋วมเป็นเจ้าอาวาสและลาสิกขาบทไป ทำให้วัดไร่นี้ไม่มีพระสงฆ์อยู่เลย เป็นเวลา ๓ เดือน ทำให้เครื่องใช้ต่างๆ สูญหายไปมาก

หลวงพ่อทิม ( พระครูภาวนาภิรัต ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ( เมื่อปี 2514 : ผู้เขียน ) 
( แต่ปัจจุบันตั้งแต่ ปี 2518-2554 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ พระครูวิจิตรธรรมาภิรัต ( อาจารย์เชย ) : ผู้เขียน )

ที่มาของข้อความ ประวัติวัดไร่ ( วารี ) หรือ ละหารไร่ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้เขียนนำมาจากหนังสือ ประวัติวัดใน จังหวัดระยอง จัดทำโดย จังหวัดระยอง สมัย ท่านเจ้าคุณพระอมรเวที เป็นเจ้าคณะ จังหวัดระยอง และ นายวิทยา เกสรเสาวภาค เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๔ โดยเป็นดำริของท่านผู้ว่าฯวิทยา ที่ต้องการให้ประชาชนรู้จักวัดและพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงใน จังหวัดระยอง ซึ่งกำหนดให้แต่ละวัดใน จังหวัดระยอง ส่งข้อมูลมาให้สำนักงานจังหวัดรวบรวมพิมพ์ ใช้เวลาประมาณ ๔๕ วัน กำหนดวันสุดท้ายที่ส่งข้อมูลคือ วันที่  ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๔ ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจสั้นและขาดตกบกพร่องไปบ้างเพราะมีเวลาในการเตรียมงานน้อย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์โดยหน่วยงานราชการฉบับแรกที่กล่าวถึง หลวงปู่ทิม อิสริโก และ หลวงปู่สังข์เฒ่า ซึ่งเป็นทวดของ หลวงปู่ทิม โดยจะได้กล่าวถึงความสัมพันธ์และความเป็นมาได้อย่างเต็มที่และถูกต้องต่อไป ปัจจุบัน วัดละหารไร่ ได้มีเสนาสนะต่างๆ เพิ่มเติมมากมายจากปี ๒๕๑๔ เช่น พระอุโบสถหลังใหม่ทดแทนหลังเดิมที่เป็นไม้ ( ปี ๒๕๑๗ ) ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ( ปี ๒๕๑๘ ) หอฉันอุตตโม ( ๑๖ มิ.ย. ปี ๒๕๑๘ ) และเพิ่มเติมเป็นหอฉันใหม่หลังหลวงปู่มรณภาพในสมัย พระครูวิจิตรธรรมาภิรัต ( อาจารย์เชย ) เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ซื้อที่ดิน ๙ ไร่ถวาย วัดละหารไร่ เพิ่มเติม ซ่อมแซมสถานที่, ถมที่ และปรับถนนคราวน้ำท่วมใหญ่ภายในวัดละหารไร่


บริเวณวัดละหารไร่
ชาติกำเนิด หลวงปู่ทิม นามเดิมชื่อ ทิม นามสกุล งามศรี เป็นบุตรของ นายแจ้-นางอินทร์ งามศรี เป็นหลานของ หลวงปู่สังข์เฒ่า พระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งสมัยนั้น หลวงปู่สังข์เฒ่ารูปนี้เป็นผู้ก่อตั้ง วัดละหารไร่ ขึ้น เป็นพระที่เรืองวิทยาอาคมมาก น้ำลายที่ท่านถ่มถ้าถูกพื้นๆ จะแตก เมื่อทางจังหวัดทราบถึงความเก่งกล้าในวิทยาอาคมของท่าน จึงนิมนต์มาอยู่ที่วัดเก๋งจีน และได้สร้างเนื้อตะกั่ววัดเก๋งจีนขึ้น บรรดาตำราและวิทยาการต่างๆ หลวงปู่สังข์เฒ่าได้ทิ้งไว้ที่ วัดละหารไร่ และส่วนใหญ่ หลวงปู่ทิม ก็ได้ศึกษามาจากตำราของหลวงปู่สังข์เฒ่านี้ หลวงปู่ทิม เกิดที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ที่ ๒ ตำบลละหาร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่เหนือ วัดละหารไร่ ขึ้นไปเล็กน้อย หลวงปู่ทิม มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันเป็นชายทั้ง ๓ คน หลวงปู่ทิม เป็นคนที่ ๒ เกิดเมื่อปีมะแม วันศุกร์ เดือน ๗ ตรงกับวันที่ ๑๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๒

เมื่อ หลวงปู่ทิม มีอายุเจริญวัยได้ ๑๗ ปี นายแจ้ผู้เป็นบิดาได้ส่งเสียและนำ หลวงปู่ทิม ไปฝากไว้กับ ท่านพ่อสิงห์ ที่วัดละหารใหญ่ ได้เล่าเรียนหนังสือกับท่านพ่อสิงห์พระอาจารย์ เป็นเวลาประมาณ ๑ ปี และมีความสามารถเรียนรู้จนเข้าใจเขียนได้อ่านออกดี แล้วนายแจ้ผู้เป็นบิดาของท่านจึงได้ไปกราบนมัสการท่านพ่อสิงห์ ขอลา หลวงปู่ทิม กลับมาอยู่ที่บ้านเพื่อช่วยพ่อ-แม่ทำไร่ทำนา หลวงปู่ทิม ก็ได้ช่วยพ่อ-แม่ทำงานและหาเลี้ยงพ่อ-แม่ตามวิสัยลูกที่ดีและรู้จักความกตัญญูกตเวที รู้จักปฏิบัติพ่อ-แม่มาด้วยดีตลอดมา และในวัยนี้ท่านได้ประพฤติตัวเป็นพรานคะนองออกเที่ยวล่าสัตว์ แต่มิได้นำมาเพื่อเป็นการค้าโดยเลี้ยงชีวิตและครอบครัวเรื่อยๆ มา จนถึงอายุได้ ๑๙ ปี ท่านจึงถูกคัดเลือกเข้าเป็นลูกหมู่หรือทหารประจำการในสมัยนั้น อยู่ที่กรุงเทพฯถึง ๔ ปีเศษ จึงได้รับการปลดประจำการทหารกลับมาอยู่ที่บ้านตามเดิม


และเมื่อกลับมาอยู่บ้าน นายแจ้ผู้เป็นบิดาของท่านจึงได้ขออนุญาตและจัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๙ ตรงกับปีมะแม เดือน ๖ วันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ โดยมี พระคุณเจ้าท่านพระครูขาว วัดทับมา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ เป็นพระอนุกรรมวาจา และ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่ ได้ฉายานามสงฆ์ว่า อิสริโก เมื่อท่านบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านก็มาอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ วัดละหารใหญ่ ได้ ๑ พรรษา เมื่ออยู่ครบพรรษาแล้วท่านก็ได้ขออนุญาตและนมัสการกราบลาอาจารย์ออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา ๓ ปี ครั้นใกล้เทศกาลเข้าพรรษา ท่านก็กลับมาถึงจังหวัดชลบุรี และท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดนามะตูม เป็นเวลาถึง ๓ พรรษา และท่านได้เที่ยวร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกันที่เมืองชลบุรีเป็นเวลา ๒ ปีเศษ และต่อมาท่านจึงกลับมาอยู่ที่ วัดละหารไร่ หรือ ( วัดไร่วารี ) ตามเดิม และท่านก็ได้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐานกับ อาจารย์พระครูขาว และอื่นๆ อีกหลายอาจารย์ด้วยกัน ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ วัดละหารไร่ และในระหว่างนี้ ท่านก็ได้ก่อสร้างเสนาสนะบูรณะซ่อมแซมกุฏิและอื่นๆ อีกหลายอย่าง พร้อมด้วยญาติโยมทั้งหลายก็มีความเลื่อมใสต่อท่านมาก เพราะท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยสมบูรณ์พร้อมด้วยศีลาจารวัตรและเสขิยวัตรเป็นที่น่าเคารพนับถือมากของชาวบ้านละแวกวัด

ต่อมาท่านได้ชักชวนชาวบ้านและญาติโยมทั้งหลายได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น ๑ หลัง ประมาณ ๑ ปีเศษ จึงแล้วเสร็จ และผูกพัทธสีมาเรียบร้อยในระยะเวลาเพียง ๑ ปีเศษเท่านั้น และต่อมาท่านจึงได้ก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นอีก ๑ หลัง โดยทางอำเภอและจังหวัดร่วมด้วย โดยใช้เวลาการก่อสร้างเพียง ๘ เดือนก็แล้วเสร็จเรียบร้อย เปิดให้นักเรียนเข้าเล่าเรียนได้เรียบร้อย ต่อมาท่านก็ชักชวนชาวบ้านช่วยกันพัฒนาก่อสร้างสะพานข้ามคลองอีกหลายแห่ง งานของท่านก็ได้บรรลุถึงความสำเร็จโดยเรียบร้อยทุกประการ โดยมีชาวบ้านในละแวกนั้นรวมกับ หลวงปู่ทิม ซึ่งรับยศเป็น พระอธิการทิม อิสริโก เป็นผู้นำ ทั้งนี้จึงทำให้ญาติโยมและชาวบ้านทั้งหลายมีความเคารพเลื่อมใสต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงจัดว่าท่านเป็นพระที่มีเมตตาจิตอันสูง เป็นที่น่าเคารพและบูชาเป็นอย่างยิ่ง


ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ พระอธิการทิม อิสริโก จึงได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์จากทางการคณะสงฆ์ แต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวนโดยส่งหมายและตราตั้งมาไว้ทางเจ้าคณะจังหวัด แต่ หลวงปู่ทิม ก็ยังไม่ยอมไปเอาและไม่ยอมบอกให้ใครๆ รู้ อยู่เป็นเวลานาน จนถึงกับทางจังหวัดต้องมอบให้ทางคณะอำเภอเอามามอบให้ท่านเองที่วัด ท่านจึงได้รับเป็น พระครูทิม อิสริโก และได้รับเป็นพระคู่สวดอย่างเสียไม่ได้ อยู่มาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๗ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้ง พระครูทิม อิสริโก เลื่อนชั้นสมณศักดิ์ให้เป็น พระครูสัญญาบัตร ท่านก็ไม่ยอมบอกใครๆ และไม่ยินดียินร้ายในลาภยศชื่อเสียงที่ได้รับพระราชทานอยู่เป็นเวลานาน สัญญาบัตรพัดยศท่านก็ทำเฉยๆ ไม่สนใจไม่ไปรับ จนล่วงเวลามาเป็นเวลานาน ทางเจ้าคณะอำเภอจึงได้มีหนังสือส่งไปที่วัด จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านใกล้ชิดได้ทราบกัน นายสาย แก้วสว่าง ศิษย์ผู้ใกล้ชิดและเป็นไวยาวัจกรวัดในยุคนั้น จึงได้นำข่าวและเรื่องไปบอกแก่ชาวบ้าน และกรรมการ วัดละหารไร่ ให้ทราบ แล้วก็จัดขบวนแห่มารับกันที่วัด เจ้าคณะจังหวัดโดยได้อาราธนานิมนต์ หลวงปู่ทิม อยู่เป็นเวลานานเพื่อให้ท่านมารับสัญญาบัตรพัดยศเป็น พระครูภาวนาภิรัต ในวันที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๕๐๗ ” เมื่อ หลวงปู่ทิม ได้รับเลื่อนชั้นเป็น พระครูภาวนาภิรัต แล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์และชาวบ้านก็นัดประชุมกัน เพื่อจะจัดงานฉลองสมณศักดิ์ขึ้นที่ วัดละหารไร่ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีตอบสนองซึ่งคุณความดีของ หลวงปู่ทิม หลวงปู่ทิม ขัดไม่ได้จึงตกลง

นายสาย แก้วสว่าง หรือที่ หลวงปู่ทิม เรียกว่า สาย หรือ โยมสาย ในฐานะเป็นไวยาวัจกรและศิษย์ที่ใกล้ชิด จึงได้นัดประชุมกรรมการและชาวบ้านที่ปรึกษากันว่า จะจัดฉลองสมณศักดิ์และเพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างกุฏิและบูรณะซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุดหักพังในครั้งนี้ โดยขออนุญาต หลวงปู่ทิม จัดทำ เหรียญรูปเหมือน ซึ่งนับเป็น รุ่นแรก เอาไว้แจกกับญาติโยมและศิษย์เพื่อเป็นที่ระลึกและเก็บไว้บูชากันบ้าง เพราะท่านยังไม่เคยสร้างเหรียญรูปท่านมาก่อนเลย ขณะนั้นอายุก็ล่วงถึง ๘๕ ปี พรรษาที่ ๕๘ แล้ว


ผ้ายันต์พัดโบก จารมือดินสอ ยุคแรก
หลวงปู่ทิม เป็นพระที่น่าเคารพเลื่อมใสและน่าบูชาเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นถือมั่นในพระธรรมและพระวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด และเป็นพระมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในรูป รส กลิ่น เสียง นายสาย แก้วสว่าง ไวยาวัจกรและศิษย์ผู้ใกล้ชิดเล่าว่า “ ผมเป็นศิษย์ที่ปฏิบัติใกล้ชิด และเป็นไวยาวัจกรที่วัดมาก็ ๑๐ กว่าปีแล้ว ( โยมสาย แก้วสว่าง ได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๕๔๒ อายุ ๖๓ ปี : ผู้เขียน ) และเมื่อก่อนก็ได้บวชเป็นผู้ช่วยอยู่กับ หลวงปู่ทิม มาอีกก็นานหลายปี ผมไม่เคยเห็นหลวงปู่ทิมท่านฉันจังหันเพลเลย แม้แต่น้ำชาหรือน้ำเปล่าท่านก็ต้องฉันตามเวลา เท่าที่ผมได้สังเกตดูท่านฉันเช้า ประมาณ ๑ โมงเช้า และน้ำชาก็เวลา ๔ โมงเย็น ถ้าเลยเวลา หลวงปู่ทิม ไม่ยอมฉันแม้แต่น้ำชา ท่านฉันข้าวมื้อเดียวมาประมาณ ๕๐ ปี และเนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด ท่านไม่ยอมฉัน แม้แต่น้ำพริกปลาก็ไม่ฉัน อาหารที่ท่านฉันก็เป็นผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน ( วุ้นเส้น : ผู้เขียน ) น้ำพริกกับเกลือป่นอย่างนี้อยู่เป็นนิจตลอดมา แต่เนื้อหนังมังสาและผิวพรรณของท่านก็คงเป็นปกติอยู่ตามเดิม พละกำลังของท่านก็แข็งแรงดีและสมบูรณ์อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ คงจะอาศัยอำนาจและบุญบารมีที่เคยสร้างสมมาแต่ในชาติปางก่อน จึงทำให้ท่านเป็นพระที่เคร่งครัด และบริสุทธิ์ในธรรมวินัยดำรงคงชีวิตมาได้ถึงทุกวันนี้ ”


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1076 ปักษ์แรก เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2554 : พระครูภาวนาภิรัต ( หลวงปู่ทิม อิสริโก ) วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ตอน 1 ภาพและเรื่องโดย..เพียรวิทย์ จารุสถิติ, สิทธานต์ อุปริสัจกุล และคณะศิษย์ ราคาปก 60 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 





Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #หลวงปู่ทิม #วัดละหารไร่ #อ.บ้านค่าย #จ.ระยอง