หลวงปู่อ่ำ ( ท่านพระครูเทพสิทธิการ ) วัดหนองกะบอก จ.ระยอง กับการสร้างแพะมหาเสน่ห์

โดย ประเจียด คงศาสตรา 
                                                                                                         
หลวงพ่ออ่ำ (เรือเก่า)
อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกะบอก
ชาตะพ.ศ. 2408 มรณภาพ พ.ศ. 2495
แพะสาลิกา ฝีมือลุงพลับ ตัวเมีย
(ไม่มีเครา)

คำบูชาบูรพาจารย์

การเขียนเรื่องราวแห่ง หลวงปู่อ่ำ วัดหนองกะบอก ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ขออุทิศถวายองค์พระคเณศฯมหาเทวะผู้ประทานความสำเร็จ, ลวงปู่อ่ำ วัดหนองกะบอก, ท่านพลตรีประจน กิตติประวัติ ( ตรียัมปวาย ), ครูผล ประดิษศิริผล และ ปลัดเจริญ เพชรนครสอง ผู้แกะ แพะมหาเสน่ห์ พิมพ์มาตรฐานให้กับ หลวงปู่อ่ำ วัดหนองกะบอก จนเป็นที่ยอมรับของนักเล่นเครื่องราง ทั้งที่เป็นชาว ระยอง และต่างถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แลครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทั้งปวง จนผู้เขียนมีความรู้ความสามารถในการเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์มาจนทุกวันนี้.

เกริ่นกล่าวก่อนเล่าเรื่อง

นับเป็นความโชคดีของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสได้พบปะสนทนากับ คุณสุชิน ขำสุนทร ประธานชมรมอนุรักษ์ แพะหลวงพ่ออ่ำ นักธุรกิจผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำส่งเป็นสินค้าออกไปต่างประเทศ คุณสุชินเป็นผู้ที่พูดน้อยและไม่เคยเอ่ยปากว่าท่านเชี่ยวชาญด้านการดู แพะหลวงพ่ออ่ำ ทุกรุ่นทุกฝีมือ ท่านเพียงแต่นำ แพะ ศิลปะต่างๆ ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงรุ่นก่อนที่ หลวงปู่อ่ำ จะมรณภาพในปี พ.ศ.2495 อันเป็นการสิ้นสุดยุคการสร้าง แพะมหาเสน่ห์ ในยุคของ หลวงปู่อ่ำ มาวางให้ดู ท่านได้อธิบายให้เข้าใจถึงศิลปะการแกะ แพะมหาเสน่ห์ ของผู้ทำหน้าที่แกะ แพะถวายหลวงปู่อ่ำ ทั้งฝีมือ ครูผล ประดิษศิริผล และของ ปลัดเจริญ เพชรนคร สองช่างแกะ แพะ คู่บารมี หลวงปู่อ่ำ เมื่อผู้เขียนถามว่า เคยทำประวัติของ หลวงปู่อ่ำ และช่างแกะคู่บุญของท่านไว้หรือไม่

แพะสาลิกา ฝีมือลุงพลับ ตัวผู้ (มีเครา)
คุณสุชินท่านอ้ำอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง ผู้เขียนจึงบอกชื่อและนามปากกาให้ท่านรู้ และบอกกับท่านว่าเป็นนักเขียนเรื่องพระเกจิอาจารย์ประจำนิตยสาร “ ลานโพธิ์ ” ต้องการขอข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับ หลวงปู่อ่ำ วัดหนองกะบอก ไปเรียบเรียงเทิดพระกิตติคุณของ หลวงปู่อ่ำ และ แพะ ที่ท่านปลุกเสกให้เป็นที่รู้จักของวงการเครื่องรางว่า แพะ ในรูปแบบที่ชาว ระยอง ยุคเก่าสมัยเมื่อ หลวงปู่อ่ำ ยังมีชีวิตอยู่ยอมรับ และถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์การดู เก๊-แท้ แพะมหาเสน่ห์ ของ หลวงปู่อ่ำ ตลอดจนศิลปะการแกะว่าเป็นฝีมือช่างคนใดระหว่างครูพลับกับปลัดวิเชียร ไปจนถึงลักษณะรูปแบบที่เป็นสากลนิยมมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน

คุณสุชินท่านคงชั่งใจอยู่ว่าควรจะมอบให้กับผู้เขียนหรือไม่อยู่ครู่ใหญ่ๆ คุณสุชินจึงเปิดคอมพิวเตอร์ให้ผู้เขียนได้ชมเรื่องราวของ หลวงปู่อ่ำ และช่างแกะ แพะ คู่บารมี และภาพ แพะ รูปแบบและศิลปะของ แพะ ที่ท่านได้รวบรวมไว้ทั้งหมด ท่านกล่าวกับผู้เขียนว่า


วิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่อ่ำ
และหลวงพ่อลัด อดีตเจ้าอาวาส
วัดหนองกะบอก
“ ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมใช้เวลากว่า 4 ปี ขับรถตระเวนไปตามหมู่บ้าน ตามวัด และตามแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ วัดหนองกะบอก, หลวงปู่อ่ำ วัดหนองกะบอก ไปจนถึงประวัติอภินิหารต่างๆ บางวันออกแต่เช้ากลับมาจนดึก เพราะต้องไปนั่งคอยผู้ที่มีข้อมูลที่ต้องการ หลายท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว หลายท่านยังมีชีวิตอยู่ ผมหวังอย่างเดียวว่าจะต้องทำความกระจ่างให้เกิดแก่ แพะ ของ หลวงพ่ออ่ำ ที่เป็นมาตรฐาน ที่เล่นกันมาแต่ครั้ง หลวงปู่อ่ำ ยังมีชีวิตอยู่จนมรณภาพให้เป็นแบบแผนของชาว ระยอง ท้องถิ่น มิใช่มาตรฐานจากคนนอกถิ่นที่มิได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ ที่แม้แต่ชื่อวัดยังสะกดผิด จาก หนองกะบอก เป็น หนองกระบอก เป็นอันขาด ”

ณ วินาทีนั้นคุณสุชินกดคีย์คอมพิวเตอร์เชื่อมเข้ากับปริ๊นเตอร์แล้วออกคำสั่งพิมพ์จนหมดข้อมูล จึงจัดเรียงให้เป็นระเบียบมอบให้กับผู้เขียน พร้อมกับกำชับว่า


รูปปั้นแพะในวัดเป็นเครื่องระลึกถึงแพะแกะ
จากเขาควายเผือกโดนฟ้าผ่าตายของ
หลวงพ่ออ่ำที่โด่งดังไปทั่วประเทศ
“ ด้วยความเป็นมืออาชีพของคุณ ผมหวังว่าสิ่งที่ผมทุ่มเท ทั้งเวลา แรงกาย และแรงใจ ตลอดระยะเวลาสี่ปี จะทำให้นักเลงพระ-นักเลงเครื่องรางทั่วประเทศไทย ได้ประจักษ์ความจริงเกี่ยวกับ หลวงปู่อ่ำ และ แพะมหาเสน่ห์ ที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานท้องถิ่น จ.ระยอง ที่เป็นต้นกำเนิดของ แพะมหาเสน่ห์ ”

ผู้เขียนรับมอบข้อมูลและภาพถ่ายทั้งหมดไว้ และให้คำมั่นก่อนลากลับว่า

“ นามปากกา ประเจียด คงศาสตรา จะไม่ทำให้คุณสุชินผิดหวัง ผมจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้สิ่งที่คุณสุชินได้มอบให้ผมไปเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้”


ความเป็นมาของวัดหนองกะบอก

ถนนสายหนองสะพาน-ละหารไร่ตัดผ่าน
หน้าวัดหนองกะบอกการคมนาคมสะดวก
วัดหนองกะบอก เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่เลขที่ 109/1 หมู่ที่ 4 บ้านหนองละลอก ริมถนนสายหนองสะพาน-ละหารไร่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 21120 การคมนาคมสะดวกถนนตัดผ่านหน้าวัด หากท่านผู้อ่านๆ เรื่องนี้แล้วต้องการจะเดินทางไปนมัสการ หลวงปู่อ่ำ วัดหนองกะบอก หากไปไม่ถูกให้สอบถามทางวัดได้ที่ โทร.038-641152

วัดหนองกะบอก เดิมมิได้อยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน แต่อยู่ที่บ้านกะซัง บ้านกะซังเป็นที่ตั้งของซากวัดเก่าแก่แต่สมัยไหนไม่มีใครรู้ แต่ในเวลานั้นใน จ.ระยอง มีวัดเก่าแก่อยู่ด้วยกัน 4 วัด ได้แก่
1. วัดละหารใหญ่
2. วัดกะซัง ( เหลือแต่ซากวัด )
3. วัดบ้านค่าย
4. วัดบ้านเก่า


วัดกำลังหาทุนสร้างกำแพงแก้วด้านหน้าวัด
แทนของเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม
ชาวบ้านได้สร้างวัดกะซังขึ้นมาในที่ดินที่เคยเป็นอดีตวัดกะซังร้าง หักร้างถางพงเกิดเป็นชุมชนชาวบ้านกะซังได้ สร้างวัดให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน นิมนต์ หลวงพ่อตาล เป็นเจ้าอาวาส อยู่เหนือที่ตั้ง วัดหนองกะบอก ปัจจุบันขึ้นไปประมาณ 1 กม. แต่แล้วต่อมาเกิดภัยธรรมชาติคุกคามวัดกะซังด้วยการเกิดน้ำป่าไหลหลากจากคลองท่วมวัดที่อยู่ริมคลองเป็นประจำทุกปี พระสงฆ์องค์เณรได้รับความลำบากเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดหลวงพ่อตาลจึงปรารภว่า วัดกะซังของเรานั้นไม่เป็นที่เจริญ ดังที่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า “ ปฏิรูปเทศ ” ( สถานที่อันเจริญ ) เสียแล้ว แต่กลับเป็น “ อปฏิรูปปเทศ ” ( สถานที่อันไม่เจริญ ) ไม่เหมาะกับการกระทำสมณกิจ

พระอาจารย์คำ พระลูกวัดได้กราบเรียนหลวงพ่อตาลที่เป็นเจ้าอาวาสว่า

“ หลวงพ่อที่เคารพ ผมมีที่ดินมรดกอยู่ผืนหนึ่งอยู่บนที่ดอน มีหนองน้ำ มีตาน้ำ ทำให้มีน้ำผุดขึ้นตลอดปี แม้หน้าแล้งน้ำก็ไม่เคยแห้ง ที่ ต.หนองกะบอก เหมาะแก่การอุปโภคและบริโภค กระผมขอถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์เพื่อสร้างวัดใหม่ขึ้นที่นั่น หากหลวงพ่อไม่รังเกียจผมจะยกให้อย่างเป็นทางการ ”


วิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่อ่ำ
และหลวงพ่อลัด อดีตเจ้าอาวาส
วัดหนองกะบอก
จะขอกล่าวถึงชื่อ ต.หนองกะบอก ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เดิมที่ตรงหนองน้ำนั้นยังไม่มีชื่อ แต่มีคนไปทอดแหปลาไปติดเอากะโหลกศีรษะมนุษย์โบราณ เล่าลือกันว่า กระบอกตาใหญ่ขนาดกำปั้นคนลอดเข้าไปได้ จึงพากันเรียกชื่อตำบลตามที่ได้เจอกะโหลกศีรษะมนุษย์โบราณว่า “ หนองกะบอก ” อันมาจากคำว่าหนองที่เจอกะโหลกศีรษะคนโบราณกระบอกตาใหญ่เท่ากำปั้น ผู้เขียนตั้งสมมติฐานว่า สันนิษฐานว่าคงเรียกกันครั้งแรกว่า “ หนองกะบอกตาโต ” แต่ต่อมาหดสั้นเหลือเพียง “ หนองกะบอก ” ผิดถูกอย่างไรขออภัยท่านผู้รู้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

หลวงพ่อตาล จึงเดินทางไปดูทำเลที่ดินสร้างวัดใหม่ เห็นว่าเหมาะกับการสร้างวัด จึงให้ พระอาจารย์คำ พระลูกวัดทำหลักฐานมอบที่ดินมรดกทั้งหมดให้เป็นธรณีสงฆ์ จากนั้นได้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตสร้างวัด จากหลักฐานที่ทางวัดหนองกะบอกได้เก็บไว้ระบุว่า “ หลวงพ่อตาลได้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตสร้างวัดต่อทางการเมื่อปี พ.ศ.2348 ได้รับการประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2400 ”


ท่านพระอาจารย์สุรสิทธิ์ อัคควโร
เจ้าอาวาสวัดหนองกะบอกรูปปัจจุบัน
พระอาจารย์คำ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายกลั่น ช่างก่อสร้างชาวบ้านกะซังเป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายกลั่น กับลูกมือที่เป็นชาวบ้านมาช่วยกันปรับที่ดินแผ้วถางพื้นที่ในเนื้อที่มรดกของพระอาจารย์คำ จำนวน 14 ไร่เศษ โดยเริ่มจากสร้างกุฏิสองหลังให้พระจำพรรษา หอสวดมนต์หนึ่งหลังพออาศัยทำศาสนกิจ แต่วัดยังไม่ทันสำเร็จหลวงพ่อตาลได้มรณภาพลงเสียก่อนที่จะได้เห็นวัดใหม่ ชาวบ้านกะซังจึงนิมนต์ หลวงพ่อคำ ให้เป็นเจ้าอาวาส วัดหนองกะบอก รูปแรก โดยตั้งชื่อวัดตามชื่อตำบลว่า “ วัดหนองกะบอก ” พอจะลำดับเจ้าอาวาสแต่แรกสร้างวัดจนถึงปัจจุบันได้ 9 รูป

1. หลวงพ่อคำ พ.ศ. 2400-2405
2. พระด้อม พ.ศ. 2406-2409
3. หลวงพ่อจัน พ.ศ. 2410-2419
4. หลวงพ่อห่วง พ.ศ. 2420-2434
5. หลวงพ่อยอด พ.ศ. 2435-2439
6. หลวงปู่อ่ำ ( เรือเก่า ) ท่านพระครูเทพสิทธิกาพ.ศ. 2439-2495
7. พระครูวิจิตรธรรมานุวัต (ลัด) พ.ศ. 2495-2531
8. พระสมุห์ผ่อน ภูริจิตโต พ.ศ. 2531-2551
9. พระอาจารย์สุรสิทธิ อัคควโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา 

ยังมีเรื่องราวของ หลวงปู่อ่ำ ตลอดจนการสร้าง แพะมหาเสน่ห์ ที่จะนำเสนอเป็นลำดับต่อไปในฉบับหน้า โปรดติดตาม


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1101 ปักษ์หลัง เดือน กันยายน พ.ศ. 2555 : หลวงปู่อ่ำ  ( ท่านพระครูเทพสิทธิการ ) วัดหนองกะบอก จ.ระยอง กับการสร้างแพะมหาเสน่ห์  ตอน 1 โดย ประเจียด คงศาสตรา ราคาปก 60 บาท)


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 







Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #หลวงปู่อ่ำ  #วัดหนองกะบอก #จ.ระยอง #แพะมหาเสน่ห์