พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ที่อัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระวิหาร พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร

ภาพและเรื่องโดย อภิวัฒน์ โควินทรานนท์


“ สมัยสุโขทัย เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุด ดังนั้นจึงเป็นยุคทองของพุทธศิลป์ พระมหากษัตริย์แห่งกรุง สุโขทัย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า พระร่วง ตลอดจนชาว สุโขทัย มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม ได้สร้างสรรค์ศาสนวัตถุ ศาสนสถานอย่างมากมาย ทั้งวิหารเจดีย์คือ วัดอันเป็นศาสนสถาน และ พระพุทธรูป อันเป็นศาสนาวัตถุ

อาณาจักร สุโขทัย มีวัดที่ใหญ่โตและสวยงามหลายสิบวัด วัดที่สำคัญเช่น วัดมหาธาตุ วัดตระพังเงิน วัดตระพังทอง วัดศรีสวาย วัดสระศรี วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม วัดสรศักดิ์ วัดเชตุพน วัดช้างล้อม วัดตระพังทองหลาง วัดเขาพระบาทน้อย วัดเขาอินทร์ ฯลฯ ส่วน พระพุทธรูป นั้น ในสมัย สุโขทัย ได้สร้าง พระพุทธรูป จำนวนมากมายอย่างน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่ พระพุทธรูป ขนาดพระบูชา คือขนาดหน้าตักไม่กี่นิ้ว จนถึง พระพุทธรูป พระประธานในโบสถ์วิหาร ที่มีขนาดตั้งแต่เท่าคนจริง จนถึงขนาดใหญ่กว่าคนจริง 2 เท่า 3 เท่า 4 เท่า จนถึง 8 เท่า! คือขนาดหน้าตักกว่า 3 วา หรือ 6 เมตร มีทั้งพระอิฐ พระปูน พระหล่อสัมฤทธิ์ พระนาก จนถึงพระทองคำ ( ยกเว้นพระหินและพระไม้ ที่ไม่พบในศิลปะ สุโขทัย )

พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย นั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็น พระพุทธรูป ที่มีความงามที่สุดของไทย เหนือกว่า พระพุทธรูป สมัยใดๆ ไม่ว่าสมัยทวาราวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยล้านนา สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ความจริง พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย นอกจากจะเป็น พระพุทธรูป ที่งามที่สุดของไทยแล้ว ยังน่าจะเป็น พระพุทธรูป ที่งามที่สุดในโลก เพราะไม่ว่า พระพุทธรูป ฝ่ายเถรวาทของพม่า ลาว เขมร ศรีลังกา หรือ พระพุทธรูป ฝ่ายมหายานอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ธิเบต เนปาล เวียดนาม ล้วนไม่มีความงามเท่า พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะ พระพุทธรูปสุโขทัย องค์งามยอดเยี่ยมอย่าง พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศากยมุนี พระนอนวัดบวรนิเวศวิหาร พระลีลาวัดเบญจมบพิตร มีความงามเป็นเลิศเหนือกว่า พระพุทธรูป ของชาติใดทั้งสิ้น


เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดฯให้เชิญพระพุทธรูป โบราณตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก ลพบุรี จนถึงอยุธยา ลงมากรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,248 องค์ มูลเหตุที่เชิญ พระพุทธรูป ลงมากรุงเทพฯนั้น เนื่องจากเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าตามหัวเมืองมี พระพุทธรูป หล่อของโบราณทั้งตากแดดกรำฝนอยู่ตามวัดร้างมากกว่ามาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดฯให้เชิญ พระพุทธรูป หล่อโบราณมาปฏิสังขรณ์ให้คืนดีแล้วรักษาไว้ที่พระเชตุพน และพระราชทานไปประดิษฐานในพระอารามหลวงต่างๆ เช่น วัดมหาธาตุ วัดสระเกศ วัดสุวรรณาราม วัดสุทัศนเทพวราราม ฯลฯ


ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างที่สุด โปรดฯการสร้างวัดหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัดโบราณทั้งในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เชิญพระอัฏฐารสจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ลงมาสร้างพระวิหารประดิษฐานไว้ที่วัดสระเกศ ตามอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่โปรดฯให้เชิญพระศรีศากยมุนีมาประดิษฐานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม และทรงตรัสแนะนำเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่สร้างวัด ให้หา พระพุทธรูป โบราณซึ่งตากแดดกรำฝนอยู่ในวัดร้างตามหัวเมืองมาบูรณปฏิสังขรณ์ทำเป็นพระประธาน จนเกิดเป็นแฟชั่นหา พระพุทธรูป โบราณตามหัวเมืองมาเป็นพระประธาน พระพุทธรูป โบราณเกือบทั้งหมดล้วนเป็น พระพุทธรูปสุโขทัย ดังนั้นมี พระพุทธรูปสุโขทัย มาเป็นพระประธานพระอุโบสถพระวิหาร พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานครนับสิบองค์ พระพุทธรูปสุโขทัย ที่เชิญลงมานี้ล้วนเป็น พระพุทธรูป หล่อสัมฤทธิ์ ( ยกเว้นวัดไตรมิตร ) เป็น พระพุทธรูป ขนาดใหญ่ เป็น พระพุทธรูป องค์งาม และบางองค์ก็เป็น พระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์


พระประธานพระอุโบสถพระวิหารพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ที่เป็น พระพุทธรูปสุโขทัย มีกว่า 30 องค์ แต่จะนำเสนอเพียง 28 องค์ เท่าจำนวนอดีตพระพุทธเจ้า ทั้งนี้จะนำเสนอเรียงลำดับตั้งแต่ พระพุทธรูป ที่เชิญลงมาในรัชกาลที่ 1 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชาเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้ารัชกาลที่ 1 พระพุทธรูป ที่เชิญลงมาในรัชกาลที่ 3 โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ วังหน้ารัชกาลที่ 3 พระพุทธรูป ที่เชิญลงมาโดยเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 3 และ พระพุทธรูป ที่เชิญลงมาโดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นที่สุด


พระพุทธรูปสุโขทัย ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เชิญลงมากรุงเทพมหานคร เป็นพระประธานในพระอุโบสถพระวิหาร มี 5 องค์ คือ

1. พระพุทธมารวิชัย พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
2. พระพุทธชินราช พระประธานในพระวิหารทิศใต้มุขหน้า วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม
3. พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม
4. พระศาสดา พระประธานในพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม
5. พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม

ลานโพธิ์ จะได้นำท่านผู้อ่านไปสักการบูชา ( ในฐานะปูชนียวัตถุ ) ไปชื่นชมยินดี ( ในฐานะศิลปะวัตถุ ) และไปศึกษาประวัติความเป็นมา ( ในฐานะโบราณวัตถุ ) ตามลำดับ ”


พระพุทธมารวิชัย

พระพุทธมารวิชัย อภัยปรปักษ์ อัครพฤกษ์โพธิภิรมย์ อภิสัมพุทธบพิตร พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

พระพุทธมารวิชัย ( เป็นนามโดยเฉพาะของพระพุทธรูปองค์นี้ ไม่ใช่หมายถึงปาง พระพุทธรูป โดยทั่วไป ) องค์นี้ เป็น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เชิญมาจากเมืองสวรรคโลก มาบูรณปฏิสังขรณ์แล้วประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า ( พระวิหารทิศวัดพระเชตุพนกั้นห้องเป็นมุขหน้าและมุขหลัง ) เมื่อครั้งทรงสถาปนาวัดพระเชตุพน พ.ศ.2332

พระพุทธมารวิชัย เป็น พระสุโขทัย ปางมารวิชัย หล่อด้วยนาก ขนาดหน้าตัก 3 ศอก 1 คืบ ( 1.75 เมตร ) มีประวัติปรากฏใน จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1 ว่า

“ ... พระพุทธรูป วัดเขาอินเมืองสวรรคโลกหล่อด้วยนากน่าตักสามศอกคืบหาพระกรมิได้ เชิญลงมาบุณะปติสังขรณด้วยนากเสรจ์ แล้วประดิษถานไว้เปนพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกบันจุพระบรมธาตุ์ ถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์มีต้นพระมหาโพธิ์ด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องมารพะจล... ”

( อักขรวิธีตามจารึกในศิลาจารึกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้จารึกและประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระโลกนาถ วัดพระเชตุพน )
ประวัติพระพุทธมารวิชัยที่ปรากฏในศิลาจารึกนี้ มีข้อมูลสำคัญ 3 ประการ คือ
1. เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาอินทร์ เมืองสวรรคโลก
2. หล่อด้วยนาก
3. ชำรุดหาพระกรมิได้


พระพุทธมารวิไชย อไภยปรปักษ์
อัคพฤกษโพธิภิรมย์ อภิสมพุทธบพิตร
พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก
มุขหน้า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ราชวรมหาวิหาร

 ในประการที่ 1 เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาอินทร์ เมืองสวรรคโลก



วัดเขาอินทร์ เป็นวัดโบราณตั้งอยู่บนยอดเขาอินทร์ นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยบนฝั่งแม่น้ำยมฟากตะวันออก วัดเขาอินทร์เป็นวัดสำคัญ มีปรากฏในพงศาวดารเหนือกล่าวถึงที่กัลปนาของวัดเขาอินทร์ และตำแหน่งพระครูธรรมไตรโลก วัดเขาอินทร์แล้ว วัดเขาอินทร์เป็นวัดร้างมาหลายร้อยปี ในปลายรัชกาลที่ 5 คือเมื่อ พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสถานหัวเมือง สุโขทัย ได้เสด็จไปวัดเขาอินทร์ด้วย ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง ทรงพรรณนาถึงวัดเขาอินทร์อย่างละเอียดถึง 2 หน้ากระดาษ โดยทรงขึ้นต้นว่า “ แต่วัดเขาอินทร์เป็นที่ควรไปดู........และจบลงที่........วัดนี้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง สมควรจะรักษาไว้ต่อไป นับเป็นวัดที่ 2 รองวัดมหาธาตุได้ ” ในสมัยปัจจุบันวัดเขาอินทร์ได้กลับฟื้นคืนชีพเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งวัดร้างที่เหลือเป็นซากโบราณสถานได้กลับคืนเป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่อาศัยจำพรรษาลักษณะนี้ยังมีอีกหลายๆ วัด โดยเฉพาะที่อยุธยา เช่น วัดใหญ่ชัยมงคล วัดมเหยงคณ์ วัดภูเขาทอง วัดเชิงท่า วัดธรรมิกราช วัดสมณโกฏฐาราม ฯลฯ


ส่วน เมืองสวรรคโลก นั้น เป็นเมืองสำคัญคู่ประวัติศาสตร์ชาติไทยมาตลอด เมืองสวรรคโลกเป็นเมืองเก่า เริ่มแรกชื่อ เมืองเชลียง ถึงยุคสุโขทัยรุ่งเรือง เมืองเชลียงเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองศรีสัชนาลัย เป็นเมืองราชธานีคู่แฝดกับเมืองสุโขทัย ( ในปัจจุบันได้เป็นเมืองมรดกโลก คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ) สิ้นยุค สุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัยตกเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้เรียกเมืองศรีสัชนาลัยว่า เมืองสวรรคโลก



ดังนั้น เมืองเชลียง เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสวรรคโลก คือเมืองเดียวกัน ความจริงเมืองนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่ง ทางล้านนาเรียกเมืองศรีสัชนาลัยว่า เมืองเชียงมั่น

ในประการที่ 2 เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยนาก

พระพุทธรูป หล่อด้วยนากนั้น ต้องถือว่าเป็นพ พระพุทธรูป พิเศษ หล่อด้วยนากอันเป็นโลหะที่มีค่า รองก็แต่เพียงทองคำเท่านั้น ดังนั้น พระพุทธรูป องค์นี้จึงคงจะเกินกำลังที่ราษฎรทั่วไปจะสร้าง จึงควรจะเป็น พระพุทธรูป ที่กษัตริย์สร้าง แม้กระนั้นก็ยังเป็น พระพุทธรูป ขนาดเล็กกว่าปกติ คือมีหน้าตักเพียง 3 ศอก 1 คืบ ในขณะที่พระประธาน สุโขทัย มักมีขนาดหน้าตักประมาณ 5 ศอก 6 ศอก และเนื่องจาก พระพุทธรูป นี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองสวรรคโลก พระพุทธมารวิชัยนี้จึงน่าจะสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย (คือเมืองสวรรคโลก)

ในประการที่ 3 ชำรุดหาพระกรมิได้

พระกรคือแขนในส่วนข้อศอกถึงข้อมือ ( ถ้าเป็นพระพาหาคือแขนตั้งแต่ไหล่ถึงข้อศอก ) ดังนั้นแขนของพระพุทธมารวิชัยจึงขาดหายไปตั้งแต่ข้อศอกลงมา แต่ไม่ทราบว่าเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวา หรือทั้ง 2 ข้าง แต่น่าจะเป็นเฉพาะแขนขวา เพราะเป็นส่วนที่หล่อรอยแยกออกจากลำตัว จึงมีโอกาสชำรุดหักหายได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงต้องซ่อมหล่อพระกรใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 และเนื่องจากเป็นพระนากก็หล่อพระกรใหม่ด้วยนากเช่นกัน ตรงนี้มีประเด็นว่า เมื่อพระกรขาดหายไป ผู้ที่ได้พระกรไปย่อมต้องรู้ว่าพระกรเป็นนาก องค์พระก็ต้องหล่อด้วยนากอันมีค่าด้วย ทำไมจึงยังคงปล่อยทิ้งไม่นำไปเป็นประโยชน์เสีย พูดง่ายๆ คือองค์ พระพุทธรูป อยู่รอดมาได้ยังไง และมีประเด็นที่อธิบายยากยิ่งกว่าคือ เมื่อหล่อซ่อมพระกรใหม่แล้ว ทำไมจึงทำพระหัตถ์มีนิ้วไม่เสมอกันอย่าง พระสุโขทัย “ หมวดใหญ่ ” อันเป็น พระสุโขทัย ตอนต้น ซึ่งเมื่อ พระสุโขทัย ตอนปลายคือ “ หมวดพระพุทธชินราช ” ทำนิ้วพระหัตถ์เสมอกัน ก็ “ โดนใจ ” โดยทั่วกัน ตั้งแต่นั้นมา พระพุทธรูป น้อยใหญ่ล้วนทำนิ้วพระหัตถ์เสมอกัน โดยเฉพาะ พระพุทธรูป สมัยรัตนโกสินทร์ ทำนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทุกองค์ แต่พระพุทธมารวิชัยนี้ พระกรซึ่งรวมทั้งพระหัตถ์อันหล่อขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 กลับทำนิ้วพระหัตถ์ไม่เสมอกัน




เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูป นี้แล้ว รัชกาลที่ 1 โปรดฯให้เชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โปรดฯให้ทำต้นพระมหาโพธิ์ประกอบองค์พระ และถวายพระนามว่า พระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์

ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระนามใหม่ และโปรดฯให้จารึกในแผ่นศิลาประดับที่ฐานพระว่า

พระพุทธมารวิไชย อไภยปรปักษ์ อัคพฤกษโพธิภิรมย์ อภิสมพุทธบพิตร ฯ

(อักขรวิธีตามจารึก ในรัชกาลที่ 4)

ดังนั้นพระพุทธรูปนี้จึงอาจเรียกได้ 2 ชื่อ

เรียกตามพระนามเดิมที่รัชกาลที่ 1 ถวายคือ พระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์

เรียกตามพระนามใหม่ที่รัชกาลที่ 4 ถวายคือ พระพุทธมารวิชัย

แต่ควรเรียกพระพุทธมารวิชัย เพราะเป็นพระนามที่จารึกปรากฏอยู่ที่ฐานองค์พระ

วัดพระเชตุพนได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ (เป็นเวลาถึง 16 ปี 7 เดือน!) ในรัชกาลที่ 3 และโปรดฯให้จารึกเรื่องควรปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน เรียก โคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์ กล่าวถึงพระพุทธมารวิชัยว่า

ประฏิมานากเนื้อหมด       มุลทิน
เถกองวิหารปราจิน      ทิศด้าว
เดิมสถิตย์วัดเขาอิน      สวรรคโลกย์
เชอญประเวศเวียงท้าว     ท่านไว้เปนเฉลอมฯ


หมู่พระวิหารและหอไตร วัดพระเชตุพนฯ
(หอไตรด้านหลังเป็นอาคารทรงมณฑป
ย่อไม้สิบสอง หลังคาชั้นลด
ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ)
ความสำคัญของพระพุทธมารวิชัยนั้น ท่านเป็นพระประธานในพระวิหารทิศมุขหน้า ซึ่งอยู่หน้าสุดของวัดพระเชตุพน เปรียบประดุจแม่ทัพหน้า ดังนั้นย่อมต้องเป็น พระพุทธรูป ที่พิเศษสุดยอด ความพิเศษสุดยอดของพระพุทธมารวิชัยคือเป็น พระพุทธรูป หล่อด้วยนาก ซึ่งรองจากหล่อด้วยทองคำเท่านั้น ทั้งนี้ พระพุทธรูป โบราณในวัดพระเชตุ 872 องค์ มีพระพุทธมารวิชัยเพียงองค์เดียวที่เป็นพระนาก และความพิเศษสุดยอดประการหนึ่งคือ พระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้านี้ มีจิตรกรรมฝาผนังภาพมารผจญที่เขียนในรัชกาลที่ 1 เป็นภาพมารผจญที่ถือว่างามวิเศษล้ำเลิศที่สุด แต่น่าเสียดายที่จิตรกรรมฝาผนังนี้ถูกลบไปจนหมดสิ้นแล้ว ด้วยการปล่อยปละละเลยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตเป็นพิเศษประการหนึ่งว่า ในบรรดา พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ที่เชิญมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถพระวิหารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่ ลานโพธิ์ จะนำเสนอรวม 28 องค์นั้น พระพุทธมารวิชัยดูจะเป็น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ที่มีพุทธศิลป์ สุโขทัย น้อยที่สุด กล่าวคือ “ พระพักตร์ไม่สู้เป็นรูปไข่หรือผลมะตูมอย่าง พระสุโขทัย มาตรฐาน เม็ดพระศกก็เล็กกว่า พระสุโขทัย ทั่วไป แต่สังฆาฏิกลับใหญ่ปกติ ” แต่อย่างไรก็ตามพระพุทธมารวิชัยเป็น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อย่างแน่นอน เพราะมีประวัติและจารึกเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนที่สุด


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1113 ปักษ์หลัง เดือน มีนาคม พ.ศ. 2556 : พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ที่อัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระวิหาร พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ตอน 1  ภาพและเรื่องโดย อภิวัฒน์ โควินทรานนท์ ราคาปก 60 บาท)


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 







Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #พระพุทธรูป #สมัยสุโขทัย