![]() |
พระร่วงยืน กรุทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง |
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วๆ ไป เป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ป่าไม้ และแร่ธาตุ สภาพดินโดยทั่วไปเป็นตะกอน มีทั้งชนิดดูดซับน้ำได้ดี และชนิดที่ดูดซับน้ำได้ไม่ดี มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำน้อย โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านท้องที่อำเภอไชโย อำเภอเมือง และอำเภอป่าโมก ระยะทางยาวประมาณ 40 กม. ส่วนแม่น้ำน้อยเป็นแม่น้ำสายแขนงที่ไหลแยกออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ไหลผ่าน จังหวัดอ่างทอง ระยะทางประมาณ 50 กม. ผ่าน อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอวิเศษชัยชาญ
การปกครอง จังหวัดอ่างทอง แบ่ง การปกครองเป็น 7 อำเภอ คือ
1. อำเภอเมือง อ่างทอง
2. อำเภอโพธิ์ทอง
3. อำเภอป่าโมก
4. อำเภอไชโย
5. อำเภอแสวงหา
6. อำเภอวิเศษชัยชาญ
7. อำเภอสามโก้
มีเนื้อที่ประมาณ 981 ตารางกิโลเมตร ประชากรทั้งสิ้น 265,414 คน ( สถิติ พ.ศ.2530 )
อาณาเขตติดต่อ กับจังหวัดใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองลพบุรี อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
![]() |
พระร่วงยืน กรุทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง |
จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาไปทางทิศเหนือเพียง 35 กม. เท่านั้น จึงสามารถเดินทางท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจได้อย่างสะดวกสบาย ไป-กลับภายในวันเดียวโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถโดยสารประจำทาง ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ( หมอชิต ) สามารถไปได้หลายสาย เช่น
สายเอเชีย มีทั้งเส้นทางสายใหม่ ( สายเอเชียผ่านอำเภอบางปะหัน จังหวัดอยุธยา ) และเข้าเส้นทางสายอยุธยา-อ่างทอง อันเป็นเส้นทางสายเก่า มีระยะทางไม่แตกต่างกันนัก สายเอเชียเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด แต่ค่อนข้างจะจอแจสักเล็กน้อย
สายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี-อ่างทอง ไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า-ตลิ่งชัน เข้าทาง หลวงสาย 340 ระยะทาง 150 กม.
สายปทุมธานี-อยุธยา-อ่างทอง เข้าสายปากเกร็ดไปปทุมธานี เข้าทางหลวงสาย 3111 ถึงแยก อ.เสนา วิ่งเข้าอยุธยาแล้วไปตามทางหลวงสาย 309 ระยะทาง 140 กม.
สำหรับการคมนาคมภายในจังหวัดไปสู่อำเภอต่างๆ นั้น มีอำเภอวิเศษชัยชาญ 13 กม. อำเภอโพธิ์ทอง 10 กม. อำเภอไชโย 15 กม. อำเภอป่าโมก 12 กม. อำเภอแสวงหา 24 กม. และอำเภอสามโก้ 25 กม. มีรถสองแถวจอดรับส่งที่ตลาดสดในเมือง
สถานที่ท่องเที่ยว นั้นมีมากมายหลายแห่ง อาทิเช่น วัดไชโยวรวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นที่ประดิษฐานองค์พระมหาพุทธพิมพ์ ซึ่งชาวบ้านเรียกขานชื่อของท่านว่า หลวงพ่อโต เป็นที่เคารพ
สักการะของประชาชนโดยทั่วๆ ไป วัดนี้ตั้งอยู่ในตำบลไชโย อำเภอไชโย เดินทางตามเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ประมาณ 18 กม.
พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง ห่างจากจังหวัด 9 กม. สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ และยาวที่สุดในประเทศไทย วัดได้ 50 เมตร
พระตำหนักคำหยาด เป็นตำหนักหลวง ซึ่งเจ้าฟ้าอุทุมพร ( ขุนหลวงหาวัด ) เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310 และเป็นที่ประทับในขณะที่ทรงผนวช ตั้งอยู่ที่ตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง
วัดสี่ร้อย ตั้งอยู่ตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ มีพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ประดิษฐานกลางแจ้งริมฝั่งแม่น้ำน้อย ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยกรุงศรีอยุธยางดงามยิ่งวัดหนึ่งในสยาม
![]() |
พระร่วง กรุทางพระ เนื้อสำริดทองเหลือง |
อนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว... “นายดอก นายทองแก้ว เป็นบรรพบุรุษ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ สมัย พ.ศ.2309 ได้สละชีวิตเป็นชาติพลี เพื่อกอบกู้ความเป็นไทยให้แก่ชาติ จึงกระทำให้ชื่อเสียงเมืองวิเศษชัยชาญต้องจารึกไว้ในพงศาวดารตราบเท่าทุกวันนี้”...นี่คือข้อความตอนหนึ่งในจารึกที่ฐานอนุสารีย์ ปู่ดอก ปู่ทองแก้ว ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์วีรชนชาวเมืองวิเศษชัยชาญ ที่ร่วมสู้ศึกบางระจันก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตก ตั้งอยู่ที่วัดวิเศษชัยชาญ ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ
ผู้เขียนได้แนะนำให้ท่านที่เคารพทั้งหลายได้รับทราบประวัติความเป็นมาของจังหวัดอ่างทอง ตลอดจนสถานที่น่าศึกษาและสนใจพอสมควร ก็ขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องกรุพระเครื่องที่มีผู้เรียกชื่อหรือตั้งชื่อท่านว่า พระร่วงกรุทางพระ คำว่า ทางพระ นั้นเป็นชื่อของหมู่บ้าน ในเขตตำบลทางพระ หมู่ที่ 3 อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มีระยะห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กม. เป็นพื้นที่ที่เป็นท้องทุ่งนาอยู่รอบบริเวณ มีโคกเล็กๆ อยู่ในพื้นที่นั้น เป็นแหล่งสำหรับเด็กเลี้ยงวัวควายนำสัตว์มาเลี้ยงกันเป็นประจำ โคกที่ว่านี้ชาวบ้านเรียกว่า “ โคกวัดตาเงิน ” พื้นที่ตรงนั้นแทบจะไม่มีอะไรเหลือเป็นร่องรอยให้รู้ว่าเป็นวัด แต่จากก้อนอิฐก้อนโตซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วๆ ไปรอบบริเวณ ทำให้ผู้คนทั่วไปพอจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นโบสถ์เก่าที่ปรักหักพังไม่มีอะไรเหลือร่องรอยไว้เลย นอกเสียจากก้อนอิฐ
จากหลักฐานของทางราชการ ทำให้ได้ทราบว่าโคกนี้แต่เดิมเป็นวัดร้าง มีชื่อว่า “ วัดสระมะดัน ” อันเป็นที่มาที่สำคัญยิ่งของ พระร่วงทางพระ อันเป็นพระเครื่องชิ้นเอกของเมือง อ่างทอง ที่นักนิยมพระสมัยเก่าสรรหากันมาก แต่ในปัจจุบันนี้นักนิยมพระเกือบจะไม่รู้จักพระประเภทนี้ หรือรูปร่างลักษณะเช่นนี้เลย เหตุผลคือ พระมีค่อนข้างน้อย คนมีเงินเก็บเข้ารังหมด โอกาสที่จะอยู่ตามแผงพระมีน้อยมาก ผู้คนหรือนักสะสมพระรุ่นใหม่จึงหมดโอกาสได้รู้ได้เห็น วันนี้ผู้เขียนก็เสาะแสวงหาเรื่องมาเขียนให้ท่านได้รู้หลายอย่าง
โคกวัดตาเงิน แต่เดิมเป็นวัด แล้วร้างในภายหลัง เมื่อร้างแล้วก็ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นตกอยู่ในความครอบครองของผู้ที่จับจองเรื่อยมา คนที่มีชื่อว่า ตาเงิน นี่แหละคงครอบครองอยู่ ชาวบ้านแถบนั้นจึงเรียกโคกที่ว่านี้ว่า โคกวัดตาเงิน ความจริงแล้ววัดร้างดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกขานกันมาว่า วัดสระมะดัน วัดสระมะดันคือที่มาและที่พบ พระร่วงปางประทานพร ที่เด็กเลี้ยงควายพบ และเรียกพระที่พบนั้นว่า “ ตุ๊กตา ” ซึ่งความจริงนั้นเป็นพระ แต่มีรูปลักษณะมองดูคล้ายตุ๊กตา นั่นคือความเข้าใจของเด็ก
![]() |
พระร่วงยืน กรุทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง |
เมื่อพระหรือตุ๊กตาตกอยู่ในมือของเด็กๆ ราคาค่างวดขณะนั้นคงเล็กน้อยมากเพียงค่าขนม คือ 3 องค์ ต่อ 1 บาท ราคาค่างวดเริ่มสูงขึ้นเป็นระยะประมาณตั้งแต่ 3-5 บาท ถึง 700-800 บาท ถึงหลายพันบาท ( ถ้าสวยงามจับใจ ) ในปัจจุบันเป็นพระที่ค่อนข้างหายาก ไม่มีใครยอมปล่อยกัน พระร่วงกรุ นี้เชื่อกันว่ามีจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 200 องค์ เมื่อเด็กๆ ได้ไปแล้ว ก็มีชาวบ้านแถบนั้นไปขุดค้นกันอีก บางคนได้กันเป็นกะลาๆ ก็มี โดยเฉพาะตามชายโคกนั้น เมื่อฝนตกหนักดินทลายลง บางครั้งคนเดินไปพบโดยบังเอิญก็มี เรียกว่ายังพอหาได้ แต่ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็น
พุทธลักษณะ ดูสมลักษณะที่เรียกกันว่า ปากแมงดา ตาแมงดา จึงมีนักนิยมสะสมพระรุ่นเก่า เรียกพระพิมพ์นี้ว่า “ พิมพ์แมงดา ” มีอยู่ด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ต้อ และ พิมพ์แมงดา ( พิจารณาอย่างละเอียดน่าจะเป็นพิมพ์เดียวกัน )
พิมพ์แมงดา มีขนาดสูง 6 ซม. กว้าง 2 ซม. ส่วนยอดบนกลมโค้งมน ( ที่เราเรียกว่าประภามณฑล ) มีทั้ง เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง และ เนื้อชินเงิน สำหรับเนื้อตะกั่วสนิมแดงจะมีพบมากกว่าเนื้อชิน 10 ต่อ 1
พิมพ์ต้อ มีขนาดสูง 5 ซม. ส่วนความกว้างยึดถือแน่นอนไม่ได้ เพราะผู้สร้างตัดปีกออกเกือบชิดองค์ ตกแต่งให้สวยงามก่อนลงบรรจุกรุ บางองค์เจียนยอดแหลมตอนบน แลดูคล้ายจรวด บางคนเรียกว่า พิมพ์เศียรเล็ก
ด้านหลัง ของพระทุกองค์ ทุกขนาด ทุกพิมพ์ทรง เป็นแอ่งกระทะตามแนวโค้ง ที่หลังตันจริงๆ ก็มี ผู้เขียนเคยพบเห็นเป็นลายผ้าหยาบๆ ขึ้นรอยเป็นเม็ดนูนๆ ก็มี ( ของปลอมทำลายผ้าหรือแอ่งกระทะได้ไม่เหมือนของจริง )
พระพักตร์ ไม่คงรูปเดิมมากนัก ส่อแสดงว่าถูกบรรจุไว้อย่างยัดเยียดมากที่สุด และกดทับกัน จึงทำให้มีความสมบูรณ์น้อยไปหน่อย พระหนุ กลมมน พระโอษฐ์ เป็นรอยชัดเจน พระนาสิก เป็นสันกว้างและยาวเป็นแนวเชื่อมต่อกับพระขนง คล้ายนกบิน พระเกศ แหลมยาว พระกรรณ ทอดยาว ( หูช้าง ) พระกรรณขวาเป็นแนวยาวตรงลงมา พระกรรณซ้ายหักโค้งวาดน้อยๆ เป็นวงเล็ก ห่างออกจากพระพักตร์ พระศอ เป็นลำหนา มีแนวเล็กๆ โค้งกลมรอบพระศอ พระนาภี บุ๋มเป็นรอยกลม รัดประคด เป็นปื้นใหญ่ พระบาท แยกปลายพระบาทออกจากกันจนเป็นแนวตรง ( เท้าแฉก ) ประทับลอยอยู่เหนือฐาน จีวรห่มคลุม พระหัตถ์ขวา ยกเหนือพระอุระ หงายฝ่าพระหัตถ์ออกไปเบื้องหน้า พระกรซ้าย ปล่อยลงดูอ่อนช้อย อันเป็นลักษณะของปางประทานพร ( หรือบางคนเรียกปางนี้ว่า “ ปางห้ามพยาธิ ” บ้างก็ว่า ปางโปรดองคุลิมาลโจร บางคนก็เรียกว่า “ ปางสรงน้ำฝน ” ทั้งหมดนี้ต่างคนต่างเรียก เพราะถือว่ารูปร่างลักษณะของพระดังกล่าวมีส่วนสัดและองค์ประกอบใกล้เคียงกับเรื่องของพุทธประวัติแทบทั้งสิ้น แล้วแต่คนใดหรือใครจะคิดเรียกชื่อปางเหล่านั้น
![]() |
พระร่วงนั่ง กรุทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง |
พระร่วงทางพระ นี้ เป็นพระที่อยู่ใกล้กับเมืองสุพรรณบุรี จึงทำให้มีลักษณะส่วนสัดและสนิมผิวพระต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบมีส่วนคล้ายพระเมืองสุพรรณอีกหลายกรุ
เรื่องพุทธานุภาพและพุทธคุณ นักนิยมพระรุ่นเก่านับถือและยกย่อง โดยเชื่อมั่น ว่ามีพุทธานุภาพไม่แพ้พระร่วงกรุอื่นๆ ทั่วทั้งสยามเป็นแน่ จึงเป็นพระกรุหนึ่งของชาว อ่างทอง ที่ควรจะภาคภูมิใจยิ่งว่า “ เพชรเม็ดเอก ” ได้ประดับไว้กับหัวใจคน อ่างทอง ที่เพียบพร้อมไปด้วยอิทธิฤทธิ์ ด้วยอำนาจบุญบารมีของ พระร่วง ที่เราท่านทั้งหลายขนานนามท่านว่า “ พระร่วง ” ซึ่งเลิศไปด้วยฤทธิ์ เลิศไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เลิศไปด้วยอภินิหาร และเลิศไปด้วยคุณค่ามหาศาล ที่ชาว อ่างทอง ทุกคนไม่ควรมองข้าม น่าจะภาคภูมิใจเก็บรักษาไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกของท่านที่มีค่ายิ่งต่อไป
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1171 พระร่วงกรุทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ปักษ์หลัง เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ราคาปก 60 บาท )
วันนี้! อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้