หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ พระอริยสงฆ์แห่งวัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

ภาพและเรื่องโดย กรุงเก่า เล่าเรื่อง

กรุงศรี อยุธยา ไม่สิ้นคนดี บนผืนแผ่นดินแห่งประวัติศาสตร์อันยาวของชนชาติไทย แผ่นดินที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ล่วงมาแล้ว ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงศรีอโยธยาราชธานีไทย

ในระยะ 55 ปีที่ผ่านไปในไวๆ นี้ก็เช่นกัน ฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม ต่างมุ่งสู่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองที่สงบร่มเย็น มีวัดวาอารามที่ห่างไกลจากที่ชุมนุมชนเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม มีพระสงฆ์หลายรูปซึ่งสละแล้วซึ่ง ความโลภ โกรธ หลง จำศีลภาวนาอยู่แต่ในวัด จนสำเร็จพระธรรมขั้นสูง สามารถอบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจให้บุคคลซึ่งมาจากที่ต่างๆ ผ่อนคลายความร้อนรนในจิตใจ รักษาศีล ทำใจให้สงบมีความเย็น พร้อมที่จะรับพระธรรมในขั้นต่อไป

เหรียญรูปไข่ หลังยันต์ดวง
หลวงปู่ดู่ พ.ศ.2526
มีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย ขณะนั้นอายุชราภาพมากแล้วถึงกว่า 80 กว่าปี แต่มีใบหน้ามีความยิ้มแย้มแจ่มใส ดวงตาเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ทุกวันท่านจะออกมานั่งอยู่หน้ากุฏิของท่าน คอยรับแขกที่มาจากสถานที่ไกลๆ มาขอศีลบ้าง ขอพรบ้าง ขอวัตถุมงคลบ้าง ขอน้ำมนต์บ้าง ขอข้อแนะนำในการทำสมาธิให้จิตใจสงบบ้าง ซึ่งทุกคนก็จะได้รับสิ่งนั้นสมความประสงค์ มีความอิ่มอกอิ่มใจกลับไปบ้าน มีพลัง มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต อยู่เพื่อทำความดีให้แก่ประเทศชาติต่อไป


เหรียญหล่อพระพรหม พิมพ์สี่เหลี่ยม
หลวงปู่ดู่ พ.ศ.2523
จนกระทั่งเมื่อเช้า วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ.2533 เวลาประมาณ 05.00 น. หลวงปู่ดู่ ก็ละสังขาร จากพุทธบริษัททั้งหลายไปด้วยความชราภาพ หลังจากที่ท่านทำกิจวัตรในยามเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระ-เณรที่อยู่ห้องข้างเคียงได้ยินเสียงท่านล้างหน้า จากนั้นก็ได้ยินเสียงท่านเปิดกุฏิแล้วเสียงก็เงียบหายไป

เมื่อพระอุปัฏฐากได้เข้าไปดูพบว่าท่านครองจีวรเรียบร้อย หมอบคุกเข่าพนมมือต่อหน้าพระพุทธรูปในกุฏิ หมดลมหายใจละสังขารไปแล้ว

หลวงปู่ดู่ ท่านรู้ตัวท่านเองว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านจะอยู่ทะนุบำรุงวัดอีกได้ไม่นาน ท่านจึงบอกศิษย์ที่ใกล้ชิดอยู่เสมอเป็นนัยๆ ว่า ท่านจะละสังขารไปเมื่ออายุ 86 ปี อย่างเช่น มีศิษย์คณะหนึ่งขอหล่อรูปเหมือนขนาดบูชา ท่านก็แนะนำให้หล่อไว้ 86 องค์ หรือผู้ที่ไปบูชาวัตถุมงคลจากวัด ท่านจะบอกว่า “ เก็บรักษาไว้ให้ดี ต่อไปจะไม่มาเสกให้อีกแล้ว ”


หลวงปู่ทวดกลับชาติมาเกิด

หลวงปู่ดู่ ท่านเป็นบุรุษร่างสูงใหญ่ผิวขาวสมกับเป็นชาวกรุงศรี สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษผู้กล้า ผู้พิทักษ์ผืนแผ่นดินไทยมาในอดีต พูดจาเสียงดังกังวาน ฟังชัด พูดชัดถ้อยชัดคำ ไม่ต้องแปลอ้อมค้อม พูดแบบขวานผ่าซาก ออกจะนักเลงนิดๆ ตามแบบฉบับของลูกทุ่งชาวกรุงเก่า อีกทั้งมีรอยสักตามตัวทั้งแขนและขา หลังมือขวาเป็นรูปแมลงผึ้ง ทำให้ผู้ที่มารู้จักครั้งแรกคิดว่าหลวงปู่คงมีอดีตมาไม่เบา

ลักษณะของหลวงปู่ เป็นลักษณะของคนมีบุญตามตำรา โหงวเฮ้ง แขนขายาว นิ้วมือยาว นิ้วเท้ายาว หูยาน จมูกสิงโต นัยน์ตาเหยี่ยว ศีรษะเหมือนบาตรพระกลมทุยออกมาข้างหน้า คล้ายลักษณะของ พระโพธิสัตตหลวงปู่ทวด แห่งวัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี มีศิษย์หลายคนบอกท่านว่า หลวงปู่เหมือนหลวงปู่ทวด

ท่านก็หัวเราะหึๆ แล้วว่า “ ถ้านึกถึงฉัน นึกถึงหลวงปู่ทวดด้วย ”

ภาวนาคาถาของฉัน พุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิ แล้วภาวนาคาถาหลวงปู่ทวดด้วย นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติ ภะคะวา แล้วจะทำสมาธิหรือจะอธิษฐานสิ่งใดที่ดีๆ ก็สุดแท้จะนึกเอา


รูปหล่อบูชาทำด้วยปูนปลาสเตอร์ผสมผงพุทธคุณ, รูปหล่อเนื้อโลหะขนาดเล็กชนิดบูชาติดตัว, เหรียญ ท่านจะแนะนำให้ศิษย์ที่มาขออนุญาตสร้างๆ เป็น รูปหลวงปู่ทวด เป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นที่นิยมบูชาของมวลสานุศิษย์ ซึ่งมีความเชื่อว่ามี พระสังฆคุณยกกำลังสอง และบางครั้งคณะศิษย์ได้ไปขอผงเนื้อว่าน ดินกากยายักษ์ ที่เหลือจากการสร้าง หลวงปู่ทวด พ.ศ.2497 จาก พระอาจารย์ทิม เพื่อนำมาผสมทำ พระเครื่อง หลวงปู่ดู่ จะได้รับความสะดวกอย่างดียิ่ง

นับถือพระอริยสงฆ์องค์อื่น

รูปปั้นหลวงปู่ดู่
ประดิษฐานหน้าพิพิธภัณฑ์
รูปหล่อ “หลวงพ่อรอด”
(หรือ “หลวงพ่อเสือ”)
  อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของ
วัดประดู่ฯ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ซึ่งตั้งอยู่หน้าเจดีย์บรรจุอัฐิของท่าน
นอกจาก หลวงปู่ทวด แล้ว พระอริยสงฆ์องค์อื่นที่หลวงปู่นับถือก็คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี หลวงพ่อกลั่น ธัมมโชโต วัดพระญาติการาม พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ใหญ่ ( พระโบราณคณิสสร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสะแก พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อเภา หลวงพ่ออั้น วัดพระญาติการาม พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่สี ( ศิษย์ผู้พี่ ) วัดสะแก พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมสายอีสาน หลวงปู่บุดดา วัดกลางชูศรี สิงห์บุรี หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง และ หลวงปู่ชื้น พุทธสโร วัดญาณเสน พระนครศรีอยุธยา

พระเกจิอาจารย์และพระอริยสงฆ์ที่กล่าวนามมานี้ ศิษย์ที่ปฏิบัติธรรมจะได้ยิน หลวงปู่ดู่ กล่าวนามอยู่เสมอถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งผู้ฝึกฝนตนเองขั้นสูงเท่านั้นที่จะติดตามทัน หรือส่งกระแสจิตติดต่อสนทนาธรรมกันได้

นอกจากนี้ หลวงปู่ดู่ ท่านยังนับถือ พระพรหม ขอบารมีจาก พระพรหม มาประสิทธิ์ประสาท ปัญญา ความสำเร็จ และ คุ้มครองป้องกันเภทภัย แก่หมู่ศิษย์


หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

หลวงปู่ดู่ หรือ พระพรหมปัญโญ เกิดในตระกูล หนูศรี เดิมชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2447 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง วันวิสาขบูชา ณ บ้านข้าวเม่า ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนสุดท้ายในจำนวนพี่น้องสามคน


เหรียญหลวงปู่ทวดเปิดโลก
เนื้อท องคำ พ.ศ.2532
เหรียญหลวงปู่ทวด รุ่นดัง เนื้อเงินลงยา
พ.ศ.2532 หลวงปู่ดู่ปลุกเสก
โยมบิดาชื่อ “ พุด ” โยมมารดาชื่อ “ พุ่ม ” ชีวิตในวัยเด็ก กำพร้าบิดา-มารดาตั้งแต่ยังเยาว์วัย มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านเป็นทารก ต่อมาบิดาก็จากไปตั้งแต่ท่านอายุเพียง 4 ปี ท่านอาศัยอยู่กับยายโดยมีโยมพี่สาวชื่อ “ สุ่ม ” เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่และได้เข้าเรียนที่วัดกลาง คลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรมและวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

เมื่ออายุ 21 ปี เข้าบรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2468 ณ วัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นผู้อุปัชฌาย์ มี หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาส วัดสะแก ขณะนั้นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ พรหมปัญโญ ”

ในพรรษาแรกๆ นั้น ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า วัดประดู่โรงธรรม กับ เจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และ หลวงพ่อรอด ( เสือ ) เป็นต้น


เหรียญหลวงปู่ทวด พิมพ์บัวข้าง
พ.ศ.2510 หลวงปู่ดู่ปลุกเสก
ด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานกับ หลวงพ่อกลั่น และ หลวงพ่อเภา ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา รวมทั้งจากตำรับตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง และเดินทางไปหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่สุพรรณบุรี และสระบุรี

ประมาณพรรษาที่ 3 ก็เดินธุดงค์จากอยุธยามุ่งตรงสระบุรี กราบนมัสการพระพุทธฉายและรอยพระพุทธบาท จากนั้นไปยังสิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ใช้เวลา 3 เดือน กระทั่งอาพาธด้วยโรคเหน็บชาจึงพักธุดงค์

ทั้งที่ท่านได้ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัด ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 นับแต่นั้นมาถือข้อวัตร ฉันอาหารมื้อเดียว ต่อมาภายหลังปี พ.ศ.2525 ศิษย์กราบนิมนต์ให้ท่านฉันอาหารสองมื้อ

ปกติท่านจะนั่งประจำอยู่ที่หน้ากุฏิ จะออกลงอุโบสถเพียงปีละ 2 ครั้ง นั่นคือ วันเข้าพรรษา กับวันออกพรรษา


เหรียญกลมรุ่นเศรษฐี หลวงปู่ดู่ วัดสะแก พ.ศ.2531
ด้วยปณิธานที่ตั้งไว้ว่า “ สู้แค่ตาย ” ท่านใช้ความอดทนอย่างสูง รับแขกโปรดญาติโยมจนวันสุดท้าย ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2533 ยังพูดคุยกันอยู่กับญาติโยม ก่อนรุ่งเช้าของวันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ.2533 ท่านละสังขารมรณภาพด้วยโรคหัวใจ รวมอายุได้ 85 ปี 8 เดือน 65 พรรษา

หลวงปู่ดู่ เป็นแบบอย่างของผู้มักน้อย ใช้ชีวิตเรียบง่าย แม้สรงน้ำไม่เคยใช้สบู่แต่ก็ไม่มีกลิ่นตัว ข้าวของต่างๆ ที่เป็นสังฆทาน ท่านแจกจ่ายไปให้พระในวัดทันที ส่วนปัจจัยพอถึงตอนเย็น รวบรวมได้เท่าไร ท่านส่งมอบเข้าวัดทันที ท่านไม่เคยเก็บเงินไว้เอง

หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐาน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย จริงๆ แล้วท่านเป็นพระพูดน้อยไม่มากโวหาร แต่พูดแล้วแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งของหัวใจผู้ฟัง

เมื่อผู้ใดมาขอของดีจากท่าน ท่านจะพูดว่า “ ของดีอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธรรมมัง สังฆัง หมั่นทำ ( ปฏิบัติ ) เข้าไว้ ”

กุศโลบายธรรมของท่านนั้น ขัดเกลาจิตใจคนค่อยเป็นค่อยไป มิได้เร่งรัดเอาผล และให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ถึงกับเมตตาให้ห้องข้างเดียวส่วนตัวที่จำวัดเป็นที่รองรับสานุศิษย์ และผู้สนใจได้เป็นที่ปฏิบัติธรรม
ภาพนี้ว่ากันว่าถ่ายที่วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ในโอกาสที่หลวงพ่อกลั่นได้รับนิมนต์ไปในงานสำคัญงานหนึ่ง นับจากซ้าย (มือเรา) ไปทางขวา ปรากฏชื่อพระจากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าดังนี้ แถวหน้า (นั่ง) 1. ไม่แน่ใจว่าจะใช่หลวงพ่ออิ่ม วัดลาดชะโด หรือไม่ (สำหรับท่านที่เอ่ยชื่อนี้มาบวชที่วัดสะแกและจำพรรษาอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ภายหลังได้รับการนิมนต์ให้กลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวตราบจนมรณภาพ) 2. พระครูญาณอุทัย (หาญ) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง (อำเภอ) อุทัย สืบต่อจากพระครูญาณอุทัย (หร่าย) ที่มรณภาพ (เดิมอยู่วัดพระเชตุพนฯ ได้รับนิมนต์ให้มาอยู่วัดสะแกเพื่อทำหน้าที่เลขานุการเจ้าคณะแขวงเนื่องจากหนังสือดี ต่อมาถูกส่งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาดิน กระทั่งหลวงพ่อหร่ายมรณภาพจึงกลับมาอยู่วัดสะแก แต่เป็นแค่เจ้าคณะแขวงไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส) 3. พระอุปัชฌาย์กลั่น ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 80 ปีขึ้นไป หรืออาจจะถ่ายก่อนมรณภาพ (เมื่ออายุ 88) ไม่นานนัก (สังเกตจากพัดรองด้านหลังซึ่งระบุว่าทำเมื่อ พ.ศ.2467  ซึ่งปีดังกล่าวนี้ท่านมีอายุถึง 78 แล้ว) 4. พระอธิการแด่ (ไม่ทราบฉายา) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสะแก (แต่พระครูญาณอุทัย (หาญ) เป็นเจ้าคณะแขวง) 5. พระใหญ่ ติณฺณสุวณฺโณ (ลูกพี่ลูกน้องกับหลวงพ่ออั้น) ขณะนั้นยังเป็นพระอันดับหรือลูกวัด (ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากพระครูอุทัยวุฒิกร (รอด) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอุทัยคณะรักษ์และ พระโบราณคณิสสร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดฯ ตามลำดับ) แถวหลัง (ยืน) 1. นัยว่าชื่อพระผ่อง (ไม่ทราบฉายา ทราบเพียงว่าเป็นสัทธิวิหาริกองค์หนึ่งของหลวงพ่อกลั่น รุ่นไล่เลี่ยกับพระใหญ่ ติณฺณสุวณฺโณ พระสี พินฺทสุวณฺโณ พระหลาบ ธมฺมสุวณฺโณ และพระดู่  พรฺหมฺปญฺโญ) 2. พระสี พินฺทสุวณฺโณ ซึ่งภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นฐานาฯ ที่ปลัดของพระครูอุทัยคณารักษ์ (ใหญ่) ท่านผู้นี้มีความสนิทสนมกับอาจารย์เฮง ไพรวัลย์ ทั้งยังร่วมกันทำวัตถุมงคลบ่อยครั้ง 3. พระปลัดรอด (ไม่ทราบฉายา) ฐานานุกรมของพระครูญาณอุทัย (หาญ) ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากหลวงพ่อแด่ และเป็นเจ้าคณะแขวงสืบต่อจากเจ้าของฐานาฯ ต่อมาได้เป็นที่พระครูอุทัยวุฒิกร (ไม่ใช่พระครูญาณอุทัย) 4. ไม่ทราบชื่อ (ทราบเพียงว่าเป็นพระวัดสะแกเช่นกัน) อนึ่ง น่าสนใจว่าในภาพนี้มีพระที่เป็นสัทธิวิหาริกหรือหลวงพ่อกลั่นบวชให้ถึง 3 องค์ด้วยกัน ส่วนพระหลาบกับพระดู่นั้นไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงไม่ได้มาถ่ายภาพด้วย (สำหรับพระหลาบภายหลังได้เป็นพระใบฎีกาฐานาฯ ของพระครูอุทัยคณารักษ์ (ใหญ่) และได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากเจ้าของฐานาฯ (ต่อมาได้เป็นที่พระครูถาวรสีลาจารย์) แต่ไม่ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอเนื่องจากพลัดไปตกที่วัดอื่นแทน

วัตถุมงคลที่มากด้วยประสบการณ์ ก็เพราะเห็นประโยชน์เนื่องด้วยบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ และไว้แจกลูกศิษย์ลูกหาเมื่อมานั่งสมาธิที่วัดโดยเฉพาะพระพรหมที่เป็นผง มาทุกครั้งก็หยิบไปได้ทุกครั้ง เพราะกุศโลบายของท่านให้กำพระไว้เวลานั่งสมาธิ นั่งเสร็จเอากลับบ้านได้เลย ถึงวันนี้เป็นวัตถุมงคลที่มีค่ามหาศาล

พระเครื่องพระบูชาที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกให้แล้ว ปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ ผมยังไม่เคยเห็นว่า หลวงปู่ดู่ ได้รับปัจจัยในส่วนนี้เลย ท่านเมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกให้ด้วยความเต็มใจ ถึงแม้ว่ารูปเหมือนองค์ท่าน ถวายท่านยังไม่ยอมรับ ท่านจ่ายมาเท่าที่ผู้อื่นจ่าย


ซุ้่มประตูวัดสะแก
แม้ว่าท่านจะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิษฐานจิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือการปฏิบัติ ดังคำพูดที่ว่า “ เอาของจริงดีกว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นี่แหละของแท้ ”

ธรรมทั้งหลายที่ท่านพร่ำสอน เปรียบได้กับการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามบนดวงใจของศิษย์ที่ท่านทุ่มเทให้ทั้งชีวิตด้วยเมตตาธรรมยิ่ง ปัจจุบันสิ่งที่คงอยู่มิใช่สังขารธรรมของท่าน แต่เป็น หลวงปู่ดู่ องค์แท้ที่เป็นนามธรรมซึ่งคงอยู่ตลอดไป


วัตถุมงคล

วัตถุมงคลที่ หลวงปู่ดู่ อนุญาตให้ศิษย์คณะศิษย์ และกรรมการวัดจัดสร้างนั้นมีหลายอย่าง เช่น แหวน เหรียญ พระเนื้อผง เนื้อดิน พระปิดตา รูปหล่อฯ จะค่อยๆ ลำดับไป

หลวงปู่ดู่ ท่านรู้วาระจิตคน รู้เจตนาของคนสร้าง ท่านจะเน้นหนักไปทางให้สร้างแจกกันไปบูชา หรือทางคณะกรรมการวัดสร้างก็ให้บูชาในราคาพอสมควร ให้คนจนมีสิทธิ์นำไปบูชาได้บ้าง อย่างเหรียญบางรุ่นราคาออกจากวัดเพียงเหรียญละ 10 บาท พระบูชาหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ทาทองบรอนซ์ องค์ละ 20 บาท

ซึ่งในระยะ 10 ปีที่ท่านได้อนุญาตให้ศิษย์ คณะศิษย์และกรรมการวัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง หลายรุ่น สร้างไว้อย่างละจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดกัน ได้ปัจจัยมาทะนุบำรุงวัดให้เจริญก้าวหน้า สร้างเสนาสนะ กุฏิสงฆ์ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมรุเผาศพ กำแพงรอบวัด เขื่อนหลังวัด ศาลาท่าน้ำ หอสวดมนต์ ลานวัดเทราดด้วยซีเมนต์ทั้งหมด และปฏิสังขรณ์โรงเรียนประชาบาลประจำวัดอีกด้วย ล้วนเป็นถาวรวัตถุทั้งสิ้น จนได้รับ ป้ายวัดพัฒนาตัวอย่าง ล้วนได้มาจาก บารมีของ หลวงปู่ดู่ ทั้งสิ้น

วัดจึงเจริญก้าวหน้าแปลกหูแปลกตาไปกว่าเดิม แต่สถานที่ริมคลองบ้านธนูหลังวัดยังคงร่มรื่นด้วยหมู่มวลแมกไม้ใหญ่ชายน้ำเหมือนเดิม ในคลองอุดมไปด้วยปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาตะเพียน ฯลฯ ที่มาออกันอยู่คอยรับเศษข้าวก้นบาตรและเศษอาหารจากผู้ไปเยือน

ซึ่งวัตถุมงคลนี้ในครั้งก่อนท่านมิได้อนุญาตให้ศิษย์คณะใดสร้างได้ง่ายๆ เพราะในยุคก่อนท่านนั้นที่ วัดสะแก มี หลวงปู่ใหญ่ ( พระโบราณคณิสสร ) อดีตเจ้าอาวาส อาจารย์เฮง ไพรยวัล และอีกประการหนึ่งท่านบอกว่าท่านไม่อยากดัง แม้แต่การถ่ายภาพ ท่านก็ไม่อนุญาตให้ใครถ่ายมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว


แหวนหลวงปู่ดู่ รุ่น 3
เนื้อทองแดง พ.ศ.2524

แหวน

แหวนของ หลวงปู่ดู่ เป็นที่นิยมกันมากในหมู่ผู้ที่ศรัทธา เชื่อกันว่าคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่ผู้สวมใส่ บางท่านว่าสวมแล้วจิตใจสบายดี บางท่านว่าใช้แทนเครื่องประดับก็ได้ เพราะมีลวดลายเอกลักษณ์แบบไทย บางท่านว่าเพื่อจะให้รู้ว่าเป็น ลูกศิษย์ หลวงปู่ดู่ เหมือนกัน

ถ้าสังเกตชาวกรุงเก่าให้ดี หนึ่งในสิบคน ไม่หนุ่ม แก่ ผุ้สาว หรือคุณน้า จะสวม แหวน หลวงปู่ดู่ ไว้ที่นิ้ว โดยเฉพาะมักนิยมสวมไว้ที่นิ้วนางมือซ้าย หรือนักพระเครื่องชื่อดังหลายท่านก็นิยมสวมใส่ไว้เช่นกัน

1. แหวนรุ่นหนึ่ง พ.ศ.2519 สร้างจำนวนน้อย มี 2 แบบ คือ
ก. แหวนพระพุทธ มีลักษณะคล้ายแหวนรุ่นของสถาบันต่างๆ แต่รูปทรงเหลี่ยมแบนเป็นแหวนหล่อ แม่พิมพ์แกะสวยงามมี เอกลักษณ์ศิลปะไทย


แหวนหลวงปู่ดู่ รุ่น 7
เนื้อเงิน พ.ศ.2531
ด้านหน้า เป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถัดเข้ามาอีกชั้นหนึ่งเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขมวดมุมทั้ง 4 ด้าน ในกรอบที่มุมทั้ง 4 มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ เป็นหัวใจธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ตรงกลางเป็นรูป พระพุทธปางสมาธิ ประทับอยู่บนดอกบัว 2 ชั้น ศิลปะพระพุทธ พระเกศแหลม พระพักตร์รูปไข่ พระวรกายชะลูด พระเพลากว้าง คล้ายพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

ขอบแหวนด้านขวา แกะสลักเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือหันข้าง หันหน้าเข้าหาตัวเจ้าของแหวน แกะอ่อนช้อยคล้ายมีชีวิต ประหนึ่งกำลังจะก้มลงกราบ ผู้รู้ว่าเป็นรูปของ หลวงปู่ดู่ ใต้องค์พระสงฆ์มีอักษรไทยย่อ ว.ส.ก. หมายถึง วัดสะแก

ขอบด้านข้างและใต้ฐานแกะสลักลายกนก ขอบแหวนด้านซ้ายเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือคล้ายด้านขวาแต่หันหน้าออก ใต้องค์พระสงฆ์มีเลขไทยบอก พ.ศ. เขียนว่า ๒๕๑๙ สร้างเฉพาะเนื้อเงินเท่าจำนวนผู้สั่งจองไว้คือ 209 วง

วงแหวนด้านในตอกโค้ด ๑ ด และอักษร ภาษาขอมเอกลักษณ์ของหลวงปู่ และจากนั้น หลวงพี่ดำ จะใช้เหล็กจารๆ ยันต์นะมหาอุด ภายในอีก 2 วงยันต์


แหวนปลอกมีด หลวงปู่ดู่ พ.ศ.2532
ข. แหวนปลอกมีด หรือ แหวนเกลี้ยง รุ่นแรก หรือ รุ่นเกลียวปืนรถถัง มี 2 เนื้อ คือ

  • เนื้อทองสำริด ออกสีแดงอมดำ สร้างจำนวน 520 วง จากชนวนทองแดง และพระบูชาสมัยเก่าที่ชำรุดมีผู้นำมาวางทิ้งไว้ในวัด ผิวด้านนอกเกลี้ยง ภายในวงแหวนมีคลื่นเกลียว คล้ายเกลียวภายในลำกล้องปืน ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า แหวนรุ่นเกลียวปืนรถถัง เพื่อให้มีอานุภาพน่ากลัวเป็นที่เกรงขาม ในวงตอกโค้ดเลขหนึ่งไทย และ หลวงพี่ดำจารยันต์นะมหาอุด ไว้ 1 วง แหวนรุ่นนี้มีประสบการณ์ทางแคล้วคลาด เป็นที่นิยมเสาะหากัน


  • เนื้อทองเหลือง ออกสีเหลืองคล้ายทองดอกบวบ ช่างผู้ทำได้ผสมพระบูชาโบราณที่ชำรุดจากวัดสะแกลงไปเช่นกันเพื่อให้เกิดความขลัง ด้านนอกผิวเกลี้ยง ด้านในมีวงเกลียวปืนเฉียงๆ ตอกโค้ดและจารยันต์เช่นกัน สร้างจำนวน 520 วง เท่ากับเนื้อทองสำริดเป็นที่นิยมเสาะหาเช่นกัน


2. แหวนหลวงปู่ดู่ รุ่น 2 พ.ศ.2522
นิยมเรียกว่า แหวนพระพุทธหัวเหลี่ยม เป็นแหวนรูปพระพุทธปางสมาธิ ประทับบนดอกบัวบาน 2 ชั้น ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านข้างทั้งสองเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือ ใต้ฐานด้านหนึ่งมีเลขไทยบอก พ.ศ. ๒๕๒๒ อีกด้านหนึ่งบอกชื่อวัดเป็นอักษรย่อ ว.ส.ก. มี 3 เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างประมาณอย่างละ 3,000 วง รุ่นนี้ไม่มีแหวนปลอกมีด


แหวนหลวงปู่ดู่
3. แหวนหลวงปู่ดู่ รุ่น 3 พ.ศ.2524
เป็นแหวนหัวเหลี่ยมรูปพระพุทธปางสมาธินั่งบัว 2 ชั้น ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ อยู่ที่มุมกรอบทั้ง 4 ด้านข้างพระรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือ หันหน้าออกเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ด้านหน้าบอก พ.ศ. ๒๕๒๔ อีกด้านหนึ่งบอกอักษรย่อชื่อวัด ว.ส.ก. มีเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง สร้างประมาณเนื้อละ 3,000 วง มีเฉพาะหัวเหลี่ยม ไม่มีแหวนปลอกมีด

ประสบการณ์ แหวนรุ่นนี้มีประสบการณ์ มีนายแพทย์ท่านอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯเล่าว่า เพื่อนของท่านเคยไปกราบหลวงปู่ดู่และได้บูชาแหวนรุ่นนี้สวมไว้ที่นิ้ว ได้เดินทางไปธุรกิจทางเครื่องบิน เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุร่อนลงนอกทางวิ่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนเพื่อนผู้นั้นมิได้รับอันตรายอย่างใด มีแต่ แหวน หลวงปู่ดู่ ปี พ.ศ.2524 เป็นเครื่องรางของขลังเพียงอย่างเดียวที่สวมไว้ที่นิ้ว จึงทำให้รอดชีวิตมาได้

4. แหวน หลวงปู่ดู่ รุ่น 4 พ.ศ.2525
แหวนพระพุทธ หลวงปู่ดู่ พ.ศ.2532
เป็นแหวนหัวเหลี่ยมรูปพระพุทธปางสมาธิ ประทับบนดอกบัวบาน 2 ชั้น อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีอักขระขอม 4 มุม นะ มะ พะ ทะ ด้านข้างเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือ ใต้ฐานมีอักษรย่อ ว.ส.ก. ส่วนอีกด้านหนึ่งใต้ฐานเขียนว่า ร.ศ.๒๐๐ หมายถึง รัตนโกสินทร์ศักราช ปีที่ 200 หรือ พุทธศักราช 2525 แหวนรุ่นนี้มีเฉพาะเนื้อเงิน สร้างไว้ประมาณ 3,000 วง

5. แหวน หลวงปู่ดู่ รุ่น 5 พ.ศ.2527
เป็นแหวนหัวสี่เหลี่ยมจัตุรัส แม่พิมพ์แกะลึกเป็นพิเศษ ต่างกับแหวนรุ่นอื่นซึ่งแกะแม่พิมพ์ตื้น มีรูปพระพุทธปางสมาธิประทับบนดอกบัวบาน มีอักขระขอม 4 มุม นะ มะ พะ ทะ เช่นเดิม ถ้าสวมแหวนเอาเศียรพระพุทธเข้าหาตัว ด้านซ้ายเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือหันหน้าออก ใต้ฐานมีอักษรย่อ ว.ส.ก. ส่วนด้านขวาเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือหันหน้าเข้าตัวผู้สวมแหวน ใต้ฐานบอก พ.ศ. ๒๕๒๗ ภายในวงแหวนตอกโค้ด นะปิดล้อม เลขหนึ่งไทย และอักษรตัว ด เด็ก มีเหล็กจารอยู่ 2 วง มีเฉพาะเนื้อเงินประมาณ 3,000 วง และมีเฉพาะแหวนหัวเหลี่ยมเท่านั้น

6. แหวนหลวงปู่ดู่ รุ่น 6 พ.ศ.2530
เป็นแหวนพระพุทธหัวสี่เหลี่ยมผืนผ้าพิมพ์ตื้น อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 ชั้น แม่พิมพ์ตื้น มุมทั้ง 4 มีอักขระ นะ มะ พะ ทะ ด้านข้างแหวนทั้ง 2 เป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือหันหน้าออกไปทางเดียวกัน ด้านหนึ่งมีเลขไทยซ้อนกัน 1 ชั้น บอก พ.ศ. ๒๕๓๐ และเลขบอก พระชันษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 60 ปี ส่วนอีกด้านหนึ่งมีอักษรย่อ ว.ส.ก. และด้านใต้เขียนว่า ร.๙ ด้านในแหวนมีตอกโค้ด ๑ ด และมีเหล็กจารเป็นวงๆ อยู่ 3 วง

แหวนรุ่นนี้มีเฉพาะแหวนหัวเหลี่ยม เนื้อเงิน ไม่มีแหวนปลอกมีด


พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดู่ วัดสะแก จ.อยุธยา
7. แหวนหลวงปู่ดู่ รุ่น 7 พ.ศ.2531
เป็นแหวนหัวสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางเป็นรูปพระพุทธปางสมาธิประทับบนดอกบัวบาน 2 ชั้น มุมทั้ง 4 มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ แม่พิมพ์ตื้น ด้านข้างเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือ หันหน้าสลับกัน ด้านหนึ่งใต้ฐานมีอักษรย่อวัด ว.ส.ก. อีกด้านหนึ่งมีเลขไทยบอก พ.ศ. ๒๕๓๑ ด้านในวงแหวนตอกโค้ด นะปิดล้อม เลขหนึ่งไทย และ ด เด็ก มีเหล็กจารไว้ 2 วง

แหวนรุ่นนี้มีเฉพาะหัวสี่เหลี่ยม เนื้อเงิน สร้างไว้ประมาณ 3,000 วง ไม่มีแหวนปลอกมีด

8. แหวน หลวงปู่ดู่ รุ่น 8 พุทธนิมิต พ.ศ.2531
หลวงพ่อใหญ่ ติณฺณสุวณฺโณ
(หรือ พระโบราณคณิสสร) วัดสะแก
ลูกศิษย์องค์หนึ่ง
ของ หลวงพ่อกลั่น
 (ถ่ายเมื่อครั้งยังเป็นที่
พระครูอุทัยคณารักษ์)
แหวนรุ่นนี้ คณะศิษย์ กทม. จากวรจักร ขออนุญาตสร้าง ถวาย หลวงปู่ดู่ เป็นที่ระลึก เนื่องในโอกาสที่ หลวงปู่ดู่ มี อายุครบ 7 รอบ 84 ปี เป็นแหวนหัวสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางแม่พิมพ์แกะลึกภาพนูนสูง เป็นรูปพระพุทธปางประทานพร ประทับขัดสมาธิเพชรบนดอกบัวบาน 2 ชั้น พระหัตถ์ยกเสมอพระอุระแบออกไปทางด้านหน้า พระพักตร์รูปไข่ หลับพระเนตร พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์ยิ้มละไม พระศกเกล้าเป็นมุ่นเมาฬี มีประภามณฑลรอบพระเศียรเป็นวงกลม ครองจีวรลดไหล่พลิ้วอ่อนไหว ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสชั้นเดียว ที่มุมทั้ง 4 มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ ข้างแหวนแกะเป็นลายกนกพุ่มดอกไม้ 5 ช่อ ใต้ช่อดอกไม้ด้านหนึ่งมีอักษรย่อ ส.ธ.ว. และอีกด้านหนึ่งมีอักษรย่อ ว.ส.ก., อ.ย. ขอบแหวนใต้ฐานพระพุทธมีเลขอารบิกบอกวันที่และ พ.ศ. ส่วนเดือนเป็นอักษรไทยย่อ เขียนว่า 30 เม.ย. 31 หมายถึงวันเกิดของหลวงปู่ซึ่งตรงกับ วันวิสาขบูชา ในปีนั้น

มีเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง เนื้อเงินสร้างตามจำนวนที่สั่งจอง ส่วนเนื้อทองแดงผสมชนวนพระประทานพรองค์ประจำวัดสะแกที่หลวงปู่ดู่มอบให้


หลวงพ่ออั้น (พระครูศีลกิตติคุณ)
ถ่ายในวิหารวัดพระญาติฯ
ในช่วงก่อนถึงมรณภาพไม่นานนัก
หลวงพ่อดู่ พรหมฺปญฺโญ วัดสะแก
ซึ่ง หลวงพ่อกลั่น เป็นพระอุปัชฌาย์
แต่เรียนวิชากรรมฐานจาก หลวงพ่อเภา
หลวงพ่อสี พินฺทสุวณฺโณ
ซึ่ง หลวงพ่อกลั่น เป็นพระอุปัชฌาย์















9. แหวน หลวงปู่ดู่ รุ่น 9 พ.ศ.2532
เป็นแหวนหัวสี่เหลี่ยมผืนผ้าพิมพ์ตื้น รูปพระพุทธปางสมาธิ ประทับบนดอกบัวบาน 2 ชั้น ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น มุมทั้ง 4 มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ แหวนรุ่นนี้ทำพิเศษที่ข้างองค์พระทั้ง 2 ข้าง มีเลขหนึ่งไทย และ ด เด็ก นูนขึ้นเหมือนอักขระขอม และด้านข้างแหวนทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือ หันหน้าสวนกัน ด้านหนึ่งมีเลขไทย ๒๕๓๒ บอก พ.ศ. และอีกด้านหนึ่งมีอักษรย่อ ว.ส.ก. บอกชื่อวัด ภายในวงแหวนตอกโค้ด นะปิดล้อม มีเหล็กจารวงกลมๆ ไว้ 2 วง ขอบแหวนด้านนอกตอกโค้ดวัด

แหวนรุ่นนี้หัวสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเฉพาะ เนื้อเงิน สร้างประมาณ 3,000 วง และมี แหวนปลอกมีด ซึ่งสร้างเป็นรุ่นที่ 2 รุ่นสุดท้าย มี 3 เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อทองแดง และ เนื้อทองเหลือง สร้างไว้ประมาณเนื้อละ 3,000 วง วงแหวนด้านในมีโค้ด นะปิดล้อม นะ และจาร นะปิดล้อม ไว้อีก 2 วง แหวนรุ่นนี้ หลวงปู่ดู่เมตตาปลุกเสกให้ 1 ไตรมาส ในปี พ.ศ.2532


10. แหวน หลวงปู่ดู่ รุ่น 10 พ.ศ.2533 รุ่นสุดท้าย
เป็นแหวนหัวสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นรูปพระพุทธปางสมาธิ พิมพ์ตื้น ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 ชั้น กรอบชั้นในที่มุมมีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ ด้านข้างเป็นรูปพระสงฆ์นั่งคุกเข่าพนมมือ ด้านหนึ่งมีอักษรย่อชื่อวัด ว.ส.ก. อีกด้านหนึ่งมีเลขไทย ๒๕๓๓ บอก พ.ศ. มีเฉพาะหัวสี่เหลี่ยมเนื้อเงิน หลวงปู่ดู่ ทำพิธีปลุกเสกแหวนรุ่นนี้เป็นพิเศษ ตั้งแต่คืนวันเพ็ญเดือน 12 ปลายปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา สร้างไว้ประมาณ 3,000 วง

พระคาถาเสกแหวนของ หลวงปู่ดู่

แหวนทุกวงของ หลวงปู่ดู่ จะบรรจุไว้ในถุงพลาสติกใส มีกระดาษสีขาวพิมพ์คาถาด้วยตัวพิมพ์ดีดสีดำ พับหลายทบจนขนาดพอดีกับถุงบรรจุไว้ มีความว่าดังนี้

“ก่อนที่จะใช้แหวน ถือแหวนอยู่ในมือในท่าพนมมือ แล้วว่า นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 3 ครั้ง ( ตั้งใจระลึกถึงบารมีของพระพุทธเจ้า บารมีของพระธรรมคำสั่งสองของท่าน บารมีของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตาม ) แล้วกล่าวคำอาราธนาดังต่อไปนี้

พุทธัง อาราธะนัง กะโรมิ
ธัมมัง อาราธะนัง กะโรมิ
สังฆัง อาราธะนัง กะโรมิ
( เวลาสวมแหวนให้สวมหมุนขวา ) ว่าคาถานี้
ข้อที่ 1 ว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้อที่ 2 ว่า ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้อที่ 3 ว่า สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

พนมมือน้อมในระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อทวด หลวงปู่ดู่ ให้ช่วยปกปักรักษา ท่านจะอธิษฐานอย่างไรในทางที่ถูกที่ควร ท่านจงตั้งใจอธิษฐานเอาเถิด ”

ทั้งหมดนี้เป็น พระคาถาของ หลวงปู่ดู่ อยู่ในแผ่นกระดาษที่หลวงปู่ดู่มอบให้ผู้ที่ศรัทธาในแหวนของท่านนำไปปฏิบัติตาม



( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1196 หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ พระอริยสงฆ์แห่งวัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ปักษ์แรก เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ราคาปก 60 บาท )






วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #หลวงปู่ขาว #วัดถ้ำกลองเพล #อ.เมือง #จ.หนองบัวลำภู