ของดีวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

หลวงพ่อโต พระประธาน
ในพระวิหารหลวง
พระรอด พิมพ์ใหญ่ พระประธาน
เนื้อเขียวหินครก วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด “ วรมหาวิหาร ” ตั้งอยู่ ณ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอารามสำคัญของเมือง เชียงใหม่ ที่มีประวัติยาวนานยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่ประดิษฐาน “ พระพุทธสิหิงค์ ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเมือง เชียงใหม่ อีกด้วย ณ วัดแห่งนี้ย้อนไปในอดีตนานนับ 463 ปี ตั้งแต่มีการสร้างมา ล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในส่วนเฉพาะการสร้างมงคลวัตถุของ วัดพระสิงห์ หากย้อนไปเพียง 58 ปีที่แล้ว มีการสร้าง “ พระรอดวัดพระสิงห์ ” ขึ้นมา เป็นพระรอดที่มีคุณความศักดิ์สิทธิ์ ที่นับว่าใช้แทน “ พระรอดลำพูน ” ที่หาได้ยากเกินไขว่คว้าได้ หลังจากนั้นก็มีของดีอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น ณ พระอารามแห่งนี้คือ “ พระกริ่งนเรศวรเมืองงาย ” เป็นลำดับต่อมา จนถึง “ พระหลวงพ่อทวด ” และ “ พระชุดหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ” ซึ่งนำขึ้นมาเผยแพร่ ณ วัดแห่งนี้ เรื่องราว “ ของดีวัดพระสิงห์ ” จะเป็นอย่างไรลองติดตามกันดู

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง
ซึ่งจะอัญเชิญออกแห่ให้ประชาชน
ได้สรงน้ำและสักการบูชาในช่วงเทศกาลทุกปี
พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่
ผู้เฒ่าผู้แก่จะเรียกว่า “พระสิงห์น้อย”
จากหนังสือ “ วัดพระสิงห์วรมหา วิหาร ” จัดทำโดย “ พระสิงหวิชัย ” ได้บันทึกประวัติ วัดพระสิงห์ เอาไว้ว่า ตำนานมูลสาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า พญาผายู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายอันดับที่ 5 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1879-1898 เป็นผู้สร้าง วัดพระสิงห์ ขึ้นในปี พ.ศ.1887 พร้อมกับตั้งชื่อวัดในสมัยนั้นว่า “ วัดลีเชียงพระ ” วัดตลาดเมือง เนื่องจากวัดนั้นอยู่ใกล้ตลาดลีเชียง

พญาผายู เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ มังราย เสวยราชสมบัติเมืองนคร เชียงใหม่ เป็นพระราชโอรสของ พญาคำฟู เมื่อพญาคำฟูได้รับราชสมบัติครองเมืองนคร เชียงใหม่ ได้น้อมบ้านเวนเมืองไว้แด่พญาผายูพระโอรส ส่วนพระองค์เสด็จไปประทับ ณ เมืองเชียงแสน เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพญาผายูได้เสวยราชสมบัติแทนพระองค์ เมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา


พระวิหารลายคำ
เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา
พญาผายู ไม่ได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองเชียงแสนเหมือนดั่งบูรพมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อนๆ พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ เมือง เชียงใหม่ ตามเดิม เนื่องด้วยเหตุว่าอาณาจักรล้านนาตอนบนมีความสมบูรณ์มั่นคงดีแล้ว คือมีเมืองเชียงแสนหลวง เป็นประดุจดั่งป้อมปราการที่สำคัญ ซึ่งสามารถป้องกันข้าศึกจากเมืองฮ่อได้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้ผนวกเอาเมืองพะเยาไว้เป็นส่วนหนึ่งของล้านนาแล้ว

ประกอบกับพระองค์ท่านได้สร้างความสัมพันธไมตรีอันดีงามระหว่างเครือญาติ โดยได้ประกอบพิธีอภิเษกสมรสกับ พระนางเจ้าจิตนามหาเทวี พระราชธิดาของเจ้าผู้ครองเชียงของ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีที่ดีงามต่อกัน พญาผายูครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรม มีพระราชหฤทัยฝักใฝ่ในบวรพระพุทธศาสนา ได้สละพระราชทรัพย์สร้าง วัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร) เพื่ออุทิศถวายเป็นส่วนพระราชกุศลแด่พญาคำฟู พระราชบิดา พร้อมทั้งได้สร้างสถูปที่บรรจุพระอัฐิของพญาคำฟูไว้ ณ วัดแห่งนี้ด้วย


พระกริ่งนเรศวร เมืองงาย
เมื่อสร้างวัดลีเชียงพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้อาราธนาเอา “ พระอัคญะจุฬเถระ ” จากวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และสถาปนาสมณศักดิ์ให้เป็นสังฆราชเมืองนคร เชียงใหม่ การส่งเสริมบวรพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระองค์ เป็นเหตุให้บังเกิดความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนาทั้งในฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายพุทธจักรในสมัยต่อมา


 พระรอด พิมพ์ใหญ่ ก้นจารหลวงพ่อเงิน
เนื้อแดง วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
สมัยของ พระเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย ก่อนที่จะเสียเอกราชให้แก่พม่าในปี พ.ศ.2101 มีการค้นพบข้อความว่า พระเมกุฏิ ได้อาราธนา “ สมเด็จเจ้าศรีนันทะ ” แห่ง วัดพระสิงห์ พระมหาสังฆราช วัดไชยพระเกียรติ และ พระรัตนปัญญา วัดแม่กิ ออกถวายการต้อนรับ พญาหงสาวดีบุเรงนอง และหลังจากนี้ เชียงใหม่ ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าถึงสองร้อยกว่าปี

พญาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย เสวยราชสมบัติ ณ เมืองนคร ประมาณ พ.ศ.2094-2107 ทรงเป็นเจ้านายในราชวงศ์มังรายสืบเนื่องมาจาก เจ้าขุนเครือ พระราชโอรสของพญามังรายมหาราชเจ้า ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการ จากพระบิดาให้ไปเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนาย อันเป็นหัวเมืองไทยใหญ่ และมีการสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครมาหลายพระองค์ จนกระทั่งมาถึงพญาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์

พระรอด พิมพ์กลาง เนื้อแดง
วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พญาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ มีพระนามที่กล่าวถึงในตำนานเมืองเชียงใหม่ว่า “ ท้าวแม่กุ ” หรือ เจ้าขนานแม่กุ ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่าท่านเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนายที่มีน้ำแม่กุไหลผ่าน เมื่อพญาไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับไปครองเมืองล้านช้างแล้ว ทำให้เชียงใหม่ว่างกษัตริย์ ขุนนางเมือง เชียงใหม่ กลุ่มหนึ่งจึงได้พากันทูลเชิญเสด็จท้าวแม่กุเจ้าฟ้าเมืองนายมาเป็นกษัตริย์ ราชาภิเษกแล้วเฉลิมพระนามว่า “ พระเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ ” พระองค์มาจากเมืองนายพร้อมกับขุนนางที่ติดตามมานั้นใช้จารีตของชาวไทยใหญ่ในราชการงานเมือง ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในกลุ่มขุนนางทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก แต่พระเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ก็ประคองเมืองมาได้ จนกระทั่งมาถึง พ.ศ.2101 เจ้าฟ้าเปิงภวะมังทราบุเรงนอง กษัตริย์แห่งเมืองพม่า ซึ่งมีพระราชสมัญญาว่า “ ผู้ชนะสิบทิศ ” ได้ยกทัพเข้ามาตีเมือง เชียงใหม่ ล้อมเอาเมืองได้เพียงแค่สามวันสามคืนก็ยึดเอาเชียงใหม่ไว้ได้ การสูญเสียเอกราชในสมัยพญาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์นี้นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของล้านนา เนื่องด้วยว่าเป็นการสูญเสียตลอดไป ไม่สามารถที่จะกลับฟื้นคืนอาณาจักรให้เป็นอิสระได้เหมือนดั่งพญามังรายมหาราชได้สร้างไว้


พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณ
ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารทันใจ
เมื่อ “ พญาบุเรงนอง ” ยึดล้านนาได้แล้ว พระองค์ได้อนุโลมให้ใช้ระบบการปกครองบ้านเมืองแบบเดิมที่เคยปฏิบัติมา โดยอยู่ภายใต้พระราชบัญชาของพระองค์ และมีกองทัพพม่าคอยกำกับดูแลเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับได้สั่งให้ข้าหลวงต่างพระองค์ถวายเกียรติปฏิบัติตนต่อพญาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ด้วยความเคารพในฐานะกษัตริย์ ต่อมา พญาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ คิดต่อต้านอำนาจพม่าจึงถูกเชิญตัวไปไว้ที่เมืองหงสาวดี

พญากาวิละ มีพระนามตามปรากฏในพระสุพรรณบัตรว่า “ พระบรมราชาธิบดี ศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรสุรศักดิ์สมญา มหาขัติยาราช ชาติราชาไชสวรรค์ เจ้าขันฑเสมาพระนครเชียงใหม่ ราชธานีศรีสวัสดีฑียายุสมอุดม ” เป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าเมืองนครลำปาง ประสูติแต่แม่เจ้าจันทามหาเทวี ได้เสด็จขึ้นครองเมืองเป็นเจ้าหลวงพระนคร เชียงใหม่ องค์ที่ 1


หอพระไตรปิฎก เป็นที่เก็บคัมภีร์เก่าแก่
และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
เมื่อ พ.ศ.2324-2358 ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ได้ขึ้นมามีบทบาททางการเมือง สืบต่อจาก “ พญาสุลวฤาชัยสงคราม ” พระอัยยิกา และ เจ้าฟ้าชายแก้วสิงหราชธานี พระบิดา มีแต่การศึกสงคราม เพราะว่าบ้านเมืองอยู่ในช่วงฟื้นม่านต่อต้านอำนาจของพม่าที่เข้ามาครอบครองล้านนาทั้งหมด พระองค์ได้ร่วมกันกับ “ พญาจ่าบ้านบุญมา ” เมือง เชียงใหม่ ต่อต้านพม่า และได้พากันเข้าไปสวามิภักดิ์ต่อ “ สมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช ” เมื่อกระทำการขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองลำปาง ในระหว่างนี้ก็ปรากฏว่ามีศึกพม่าเข้ามาประชิดเมืองอยู่หลายครั้ง พระองค์ได้สู้รบกับพม่าอย่างเข้มแข็งเต็มความสามารถ รักษาเมืองนครลำปางอันเป็นฐานที่มั่นคงของฝ่ายล้านนาได้โดยตลอด

เมื่อ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ได้พาเอาเจ้านายพี่น้องในราชตระกูลทิพจักราธิวงศ์ลงไปเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดฯเป็นอันมาก และได้พระราชทานยศให้เป็น “ พญามังราวชิรปราการ เจ้าเมือง เชียงใหม่ พระองค์ได้รวบรวมเอาผู้คนยกไปตั้งเมืองเวฬคาม เวียงป่าซาง สะสมไพร่พลทหารสร้างบ้านแปลงเมือง และสู้รบกับพม่าจนกระทั่งสามารถเข้าไปตั้งอยู่ในเมือง เชียงใหม่ ได้สำเร็จ


พระรอด หน้าหนู พิมพ์ใหญ่ เนื้อเขียวหินครก
วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พระรอด พิมพ์เล็ก โพธิ์ซ้อน เนื้อเหลือง
วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พระรอด หน้าหนู พิมพ์เล็ก เนื้อเขียว
วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
เมื่อพญากาวิละได้เข้าทำการกอบกู้บ้านเมือง เชียงใหม่ ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 วัดพระสิงห์ ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา คือในปี พ.ศ.2360 พญาธัมมลังการ หรือ เจ้าช้างเผือก อนุชาของพระเจ้าเจ็ดตน โปรดฯให้บูรณะพระอุโบสถและพระเจดีย์ขึ้นดังปรากฏในตำนานพื้นเมือง เชียงใหม่ ว่า “ อยู่มาในสกราช ๑๑๗๙ นั้นองค์พระเปนเจ้ามหาเสตหัตถิสุวัณณปทุมาเจ้าช้างเผือกดอกบัวคำ มีพระราชเจตนาบุญญาภิสังขาร...พระเปนเจ้ามีอาชญากล่าวเตือนเจ้านายลูกหลานเสนา อามาจจ์ไพร่ราษฎอรทั้งหลายตัดฟันยังไม้เสาขื่อแปเครื่องพร้อมแล้ว เถิงเดือน ๖ ออก ๑๓ ค่ำ เมงวัน ๕ ไท ร้วงไส้ ยามตูดเช้าลคนาเถิงมีนอาโปราสีค็ปกวิหารหลวงจอมทองยามนั้น ยกมัณ ฑัปปะหออินทขีลและแรกก่อเจติยธาตุเจ้า ยังวัดพระสิงห์ตั้งกลางโรงพระอุโบสถภิกขุนีค็วันเดียวยามเดียวนั้น ” ในปีต่อมาทรงโปรดฯให้ บรรจุพระบรมธาตุในเจดีย์ของวัดพระสิงห์ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่นั้น ดังข้อความที่ปรากฏในเรื่องเดียวกันว่า “ เถิงสกราช ๑๑๘๐ ปลีเปิกยี พระเปนเจ้าค็เอาพระชินธาตุเข้าประจุในเจติยะส้างใหม่ที่ วัดพระสิงห์ ในวัน ๕ เดือน ๘ ออก ๑๐ ค่ำ... ”


พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่
ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอน
สำหรับ พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองล้านนามาแต่โบราณ องค์ที่ขณะนี้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารลายคำของ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพุทธลักษณะอยู่ในสกุลช่างเชียงแสนนั้น คือเป็นพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่ หน้าตักกว้างประมาณ 1 เมตร องค์พระอวบอ้วน พระอุระใหญ่ นั่งแบบขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ในท่ามารวิชัย พระสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระถัน พระพักตร์กลม พระหนุเป็นรอยหยักกลม เม็ดพระศกใหญ่ พระรัศมีเป็นต่อมกลมแบบบัวตูม พระกรข้างขวาวางอยู่เหนือพระชานุตอนเข่า เล่นนิ้วพระหัตถ์ พระกรด้านซ้ายส่วนมากคล้ายๆ หักศอก


เหรียญพระนเรศวร เมืองงาย
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐานใน วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ นั้น มีมาตั้งแต่สมัย พญาแสนเมืองมานคร เชียงใหม่ ต่อจาก พญากือนา พ.ศ.1953 ท้าวมหาพรหม พระเจ้าอาซึ่งครองเมืองเชียงราย ก่อการกบฏยกมาตีเมือง เชียงใหม่ แต่ถูกตีแตกหนีไปอาศัยเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่อยู่ได้ไม่นานก็ได้อพยพกลับ เชียงใหม่ และขอพระราชทานอภัยโทษ ดังความที่ปรากฏในเรื่องพระแก้วมรกตแล้วนั้น

พญาแสนเมืองมา โปรดพระราชทานอภัยโทษ และให้ไปครองเชียงรายตามเดิม ในการกลับจากกำแพงเพชรครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมได้นำพระพุทธสิหิงค์ จากกำแพงเพชรมาถวายพระเจ้าแสนเมืองมาด้วย แต่ก่อนที่พระเจ้าแสนเมืองมาจะเอาพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานที่ใด ท้าวมหาพรหมก็ขอยืมเอาไปจำลองแบบที่เมืองเชียงรายก่อน เมื่อเสร็จถึงเชิญลงเรือล่องมาตามลำน้ำปิงและเชิญขึ้นที่ท่าวังสิงห์คำ ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ขององค์พระ ปรากฏว่าขณะเชิญขึ้นประดิษฐานบนบุษบกนั้น รัศมีขององค์พระได้เรืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลำยาวประมาณ 2,000 วา จึงโปรดฯให้สร้างขึ้น ณ ที่นั้น เรียกว่า วัดฟ้าฮ่าม ( ฟ้าอร่าม )


พระหลวงพ่อทวด
วัดพระสิงห์ พิมพ์ใหญ่
พระหลวงพ่อทวด
วัดพระสิงห์ พิมพ์กลาง
พระหลวงพ่อทวด
วัดพระสิงห์ พิมพ์เล็ก
พญาแสนเมืองมาทรงโปรดฯให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานเหนือราชรถบุษบก แล้วโปรดฯให้ลากตรงไปยัง วัดบุปผาราม ( สวนดอกไม้ ) ซึ่งอยู่นอกเวียงไปทางทิศตะวันตก แต่เมื่อลากรถบุษบกไปถึงบริเวณวัดลีเชียงพระ รถบุษบกเกิดติดขัด พญาแสนเมืองมา ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นจึงทรงถือเป็นศุภนิมิตว่าเป็นความประสงค์ของพระพุทธรูปองค์นี้ที่จะสถิตอยู่ ณ วัดดังกล่าว จึงโปรดฯให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เข้าประดิษฐานในพระวิหารของวัดลีเชียงพระและให้มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน แต่นั้นมาวัดนั้นจึงชื่อว่า วัดพระสิงห์ ของเมือง เชียงใหม่ ( ในเอกสารโบราณบางฉบับเรียกว่า วัดพระสีหฬาราม )

นอกจากนี้ในหนังสือ ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร และ ตำนานวัดสวนดอก ปรากฏชื่อของ พระพุทธสิหิงค์ ดังมีใจความว่า “ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จเทศนาธรรมแก่สัตว์โลก ณ เมืองน้อยใหญ่ จนกระทั่งมาถึงเมืองพิงค์ ( เชียงใหม่ ) ซึ่งขณะนั้นเป็นที่อยู่ของชาวลวะ มีชาวลวะคนหนึ่งนำผ้าทำเป็นช่อบูชาพระพุทธองค์ ซ้ำยังมีมารเฒ่าคนหนึ่งอายุได้ 120 ปี นำเอาผ้าสังฆาฏิแห่งตนชุบน้ำมันงาเจาะ ( ในที่นี้แปลว่า “ จุด ” ) ตามบูชาด้วยใจศรัทธา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า พระตถาคตมาเถิงที่นี้ทมิฬลวะผู้นี้เอาผ้ามาแปลงช่อบูชาซี ท่านก็เอาผ้าสังฆาฏิชุบน้ำมันงามาเจาะตามบูชาพระตถาคต ภายหน้าฐานะ
ที่นี้จักเป็นมหานครอันใหญ่เป็นที่อยู่แห่งแก้วทั้ง 3 จักรุ่งเรืองงามมากนัก สารูปพระตถาคตชื่อ พระแก้วมรกต และ พระสิงห์ จักมาสถิตอยู่ในเมืองนี้ จักเป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย... ”


พระอุโบสถสองสงฆ์ เป็นพระอุโบสถมีแห่งเดียว
ในประเทศไทย ที่สร้างจำลองไว้เพื่อจำลองการทำ
สังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ และพระภิกษุณีสงฆ์
สำหรับพระพุทธสิหิงค์ซึ่งประดิษ ฐานที่ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ทุกปีจะได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานบนรถบุษบกและแห่รอบเมือง เชียงใหม่ ในวันสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำตามประเพณีโบราณ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ส่วน ครูบาศรีวิชัย นั้น เมื่อท่านสถิตอยู่ที่ วัดพระสิงห์ ในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๗ จนเถิงพุทธศักราช ๒๔๗๑ ท่านได้จัดซ่อมแซมปฏิสังขรณ์หอธรรมที่ วัดพระสิงห์ หลังหนึ่ง เป็นหอธรรมบัวราณมาหลายแผ่นดิน เป็นที่งดงามมากนัก แล้วได้สร้างรสธรรมเทศนาไว้ค้ำชูโชตกะพุทธศาสนา ดังจักแจงตามจำนวนมัดและผูก ซึ่งเป็นพุทธชาดกทั้งหลาย และสูตรธรรมทั้งหลาย ในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๙ จนเถิงพุทธศักราช ๒๔๗๑ นั้น ท่านได้มอบหื้อพระชินาภิกขุ ตนเป็นลูกศิษย์เป็นผู้จัดการรวบรวม จ้างท่านเขียนและเข้ากัปปิดทอง เซิ่งเป็นธรรมเทศน์พุทธชาดก และสูตรธรรมทั้งมวลซึ่งมีในกัปในหีบ ตามตำบลวัดวาอารามแห่งใดๆ เก็บมารวบรวมสร้างขึ้นใหม่ เป็นจำนวนธรรมหลายมัดหลายผูกมากนัก


พระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
 มีทั้งโบราณวัตถุและโบราณสถานที่สำคัญ คือ
1. เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ ( พระสิงห์ ) พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งจะอัญเชิญออกแห่ให้ประชาชนได้สรงน้ำและสักการบูชาในช่วงเทศกาลทุกปี
2. เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ และมีความสำคัญอีกองค์หนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่จะเรียกว่า “ พระสิงห์น้อย ”
3. พระพุทธไสยาสน์ ( พระนอน ) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอน เป็นพระประจำวันเกิดวันอังคาร
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
4. พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณประดิษฐานอยู่ในพระวิหารทันใจ หลังสำนักงาน วัดพระสิงห์ ( หอสมุดเดิม )
5. หลวงพ่อโต พระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง
6. พระวิหารลายคำ เป็นโบราณสถานที่มีความสวยงามและมีคุณค่า เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ได้รับการเลือกจากสมาคมสยามสถาปนิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่น
7. หอพระไตรปิฎก เป็นโบราณสถานที่สวยงาม เป็นที่เก็บคัมภีร์เก่าแก่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
8. พระอุโบสถสองสงฆ์ เป็นพระอุโบสถมีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่สร้างจำลองไว้เพื่อ จำลองการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ และพระภิกษุณีสงฆ์ เป็นพระอุโบสถเก่ามีอายุหลายร้อยปี
9. เป็นที่ประดิษฐานอัฐิของ พญาคำฟู กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์มังราย ราชบิดาของ พญาผายู ผู้สร้างวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
10. มีพระธาตุหลวง ( พระมหาเจดีย์ ) เป็นพระธาตุหลวง ประจำปีมะโรง

โบราณสถานและโบราณวัตถุดังกล่าว มีคุณค่าควรแก่การเดินทางไปกราบไหว้ และศึกษาอย่างยิ่ง


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  1082 ของดีวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ตอน 1 ปักษ์หลัง เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ราคาปก 99 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 





Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #ของดี #วัดพระสิงห์ #เชียงใหม่