พระอุปัชฌาย์กลั่น ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม จ.อยุธยา สุดยอดพระเกจิแห่งเมืองกรุงเก่า

ภาพและเรื่องโดย..เมธี  ไทยนิกร

ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลายนั้น แน่นอนว่า “ หลวงพ่อกลั่น ” ก็เป็นอีกองค์หนึ่ง ซึ่งไม่เพียงได้รับความเคารพนับถือจากชาว อยุธยา และปริมณฑลเท่านั้น แต่กิตติคุณของท่านยังกล่าวขวัญกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศอีกต่างหาก สังเกตได้จากกรณีที่นิตยสารพระเครื่องแทบทุกสำนัก  มักจะนำประวัติหรือเรื่องราวเกี่ยวกับท่านมาเสนอกันอย่างค่อนข้างถี่หรือบ่อยกว่าพระเกจิอาจารย์องค์ไหนๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ที่สำคัญก็คือ เหรียญ ( รุ่นแรก ) ของท่าน ยังเป็นที่นิยมกันอย่างเอิกเกริกกว้างขวางตลอดมา โดยมูลค่าในการเช่าหามีแต่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างพุ่งพรวดพราด ขนาดนับเป็นตัวเลขถึง 5-6 หลักเข้าไปแล้วก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่สามารถนำไปถอยรถใหม่ป้ายแดงได้คันหนึ่ง โดยไม่ต้องพรั่นพรึงหรือนอนสะดุ้งผวากับเรื่องดอกเบี้ยที่บานสะพรั่งแบบตลอดกาล ดังนั้นจึงมิพักต้องสงสัยในความ “ เจ๋ง ” ให้เสียเวลา เพราะราคาที่ว่าถือเป็นคำตอบสุดท้ายได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

เหรียญหลวงพ่อกลั่น พิมพ์ขอเบ็ด
ก็และหากจะว่าไป น่าจะมีเหตุปัจจัยสืบเนื่องมาจากการที่เหรียญรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นมาแบบครบองค์ประกอบ ชนิดไม่ขาดตกบกพร่องตรงไหน ซึ่งหมายถึงทั้งในส่วนของตัวผู้สร้าง เจตนาในการสร้าง และการปลุกเสกหรืออธิษฐานจิต เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังตามคติความเชื่อที่ยึดถือกันมาแต่โบราณ
โดยเฉพาะในส่วนของ “ หลวงพ่อกลั่น ” เองนั้นอย่าลืมว่า นอกจากท่านจะเก่งกล้าในเรื่องวิชาอาคมสมกับชื่อของท่านแล้ว ยังเป็นผู้ใฝ่ใจในวิปัสสนาธุระ และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่งยวดตลอดชีวิต อีกทั้งยังมีเมตตาจิตแบบเสมอต้นเสมอปลายไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันดีโดยเฉพาะในช่วงที่ท่านยังไม่มรณภาพ ประกอบกับวัตถุประสงค์ในการสร้างยังเชื่อได้ว่า มีเจตนาอันบริสุทธิ์และเป็นกุศลอย่างแท้จริง จึงยิ่งทำให้เหรียญของท่านรุ่นนี้มีอิทธิคุณเป็นที่เล่าลือกันสืบมาตราบปัจจุบัน ส่วนเรื่องการปลุกสกนั้นก็มิพักจะต้องพิศวงสงสัยอะไรทั้งสิ้น เพราะตามที่เคยได้ยินได้ฟังมากว่าเหรียญนี้จะถือกำเนิดเป็นรูปเป็นร่าง อย่างที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ “ หลวงพ่อกลั่น ” ต้องใช้เวลานิ่งนึกตรึกตรองอยู่นาน  ก่อนจะตัดสินใจให้ทำ “ ตามที่แกขอมา ”


เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อกลั่น
ของหลวงพ่อเฉลิม วัดพระญาติ
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อราว พ.ศ.2464-65 โดยประมาณนั้น “ หลวงพ่อกลั่น ” ท่านเห็นว่าโบสถ์หลังเก่าซึ่งอยู่คู่กับมาวัด ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ-สามเณรและญาติโยมทั่วไป จึงได้ตัดสินใจรื้อลงสร้างใหม่ โดยขยายให้ใหญ่และกว้างกว่าเดิมอีกพอสมควร ส่วนเรื่องช่างนั้นท่านได้ตกลงจ้าง “ เจ๊กตั๊น ” ให้เป็นผู้รับเหมาดำเนินการ แต่ทว่าหลังจากเสร็จได้ไม่ช้าไม่นานเท่าไหร่ก็เกิดปัญหา โบสถ์ทรุดและแตกร้าวไปทั้งหลัง เนื่องจากท่านหลงเชื่อช่างที่ยืนยันเป็นว่า สามารถใช้ซอไม้ไผ่วางเรียงเป็นคลองรากได้ กระทั่งมาแน่ใจว่า “ ข้าถูกหลอก ” เอาก็ต่อเมื่อโบสถ์หลังดังกล่าวใกล้จะพังอยู่ครามครัน  แต่ก็ต้องปล่อยเอาไว้อย่างนั้นเพราะว่า  ท่านไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรดี ในเมื่อโบสถ์หลังนี้เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ จึงรู้สึกกระดากกระเดื่องใจ ในการเรี่ยไรหรือบอกบุญชาวบ้านอีกหน

จนบรรลุ พ.ศ.2469 ถึงได้ฤกษ์อย่างเหนือคาดฝัน กล่าวคือ “ หลวงพ่ออั้น ” ( ซึ่งขณะนั้นบวชได้ประมาณ 12-13 พรรษา และปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิด “ หลวงพ่อกลั่น ”มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัด ) ทนอึดอัดกับสภาพของโบสถ์ “เจ๊กตั๊น” ต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจกราบเรียนปรึกษาปรารภกับ “ หลวงพ่อกลั่น ” ว่า ตัวท่านขอรับอาสาเป็นแม่งานในการสร้างโบสถ์ใหม่เอง โดย “ หลวงพ่อกลั่น ” ไม่ต้องออกแรงออกปากให้เหนื่อยยากเหมือนครั้งก่อน แต่เนื่องจากเป็นการบอกบุญเรี่ยไรถึง 2 หนซ้อนติดๆ กัน จึงเห็นว่าน่าจะต้องทำเหรียญขึ้นมาสักชุดหนึ่ง เพื่อเป็นตอบแทนหรือเป็นสินน้ำใจให้แก่ผู้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างครั้งนี้ และถ้าจะให้ดีควรจะมีรูปของ “ หลวงพ่อกลั่น ” อยู่ด้านหน้า เพราะเชื่อว่ามีคนที่อยากจะได้กันเป็นจำนวนมาก หากเห็นชอบด้วยก็จะทำมาให้ท่านปลุกเสกให้


รูปปั้นหลวงพ่อกลั่น
(หล่อโดยหลวงพ่ออั้น)
ในวิหารที่วัดพระญาติ
ที่น่าสนใจก็คือ ทีแรก “ หลวงพ่อกลั่น ”” ก็พยักพเยิดเออออห่อหมกด้วยดี เพราะตัวท่านเองก็คิดที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่เหมือนกัน แต่พอได้ยินว่า “ ควรมีรูปหลวงพ่อ ” เข้าเท่านั้น ท่านถึงกับสะอึกนิ่งอึ้งไปชั่วครู่ ก่อนจะหลุดโพล่งออกมาห้วนๆ เพียงว่า “ ข้าไม่เคยขายรูปกิน ” กระนั้น “ หลวงพ่ออั้น ” ก็ไม่ยอมท้อถอยหรือเสียกำลังใจ แต่กลับพยายามพูดให้ท่านหายตะขิดตะขวงทำนองว่า เรื่องนี้ไม่ถือเป็นการค้าหรือซื้อขายอย่างที่ท่านวิตกกังวล เพราะเป็นการมอบให้คนที่เต็มใจร่วมทำบุญ เพื่อเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหรืออนุสรณ์เท่านั้น และที่สำคัญถ้าบอกบุญแบบปากเปล่ามือเปล่าเหมือนเดิมอีกก็คงจะดูกระไรๆ เพราะเป็นการสร้างโบสถ์ใหม่แทนหลังก่อนที่เพิ่งจะเสร็จไม่นาน หลังจากนั่งฟัง “ หลวงพ่ออั้น ” ชี้แจงเชิงอ้อนวอนอยู่พักใหญ่ๆ ถึงได้พูดเสียงอ่อนออกมาว่า “ ถ้างั้นก็ตามใจแก ”


หลวงพ่ออั้น คันธาโร วัดพระญาติ
ผู้ให้ข้อมูลเรื่องการสร้างเหรียญรุ่นแรก
กับสมเด็จมหาธีราจารย์
ครั้นได้รับอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว “ หลวงพ่ออั้น ” ( พร้อมทายกและลูกศิษย์ผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง ) ได้รีบเดินทางลงมาที่ร้านรับทำวัตถุมงคลในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง ( ซึ่งถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะชื่อร้าน “ ฮั่งเตียนเซ้ง ” ) เพื่อสั่งจ้างให้ทำเหรียญรุ่นที่ว่านี้ให้ โดยในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวลักษณะพอสังเขปเพียงว่า เหรียญนี้เป็นรูปเสมา ด้านหน้าของเหรียญมีรูป “ หลวงพ่อกลั่น ” เต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่ รัดประคดอก พาดสังฆาฏิ นั่งในท่าบำเพ็ญสมาธิอยู่บนตั่งขาสิงห์ ประกอบด้วยข้อความอักษรไทยซึ่งมีคำว่า “ หลวงพ่ออุปัชฌาย์ ( กลั่น ) วัดพระญาติ ” และ “ พ.ศ.2469 ” กับอักษรขอมคำว่า “ นะ โม พุท ธา ยะ ” ส่วนด้านหลังมีรูปยันต์ “ เฑาะว์ขัดสมาธิ์ ” และอักษรขอมคำว่า “ พุท ธะ สัง มิ ”  กับอักษรไทยคำว่า “ ที่รฤกในการปฏิสังขรณ์อุโบสถ ”

อนึ่ง สำหรับเรื่องชนิดและจำนวนนั้น “ หลวงพ่ออั้น ” ท่านเคยเล่าให้ “ พระมหานิยม ฐานิสฺสโร ” วัดราชบูรณะ  กรุงเทพฯ ( ปัจจุบันคือ “ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ” เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ) ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวแท้ๆ ฟังว่า เหรียญที่สร้างขึ้นมาในคราวเดียวกันนี้มีทั้งหมด 4 ชนิด ด้วยกัน กล่าวคือ

ชนิดแรก ได้แก่ ( ตัว ) เหรียญ ( เป็น ) เนื้อเงิน ( แต่ ) องค์ (“ หลวงพ่อกลั่น ” เป็น ) ทองคำ สร้างจำนวน 12 เหรียญ สำหรับมอบให้ผู้บริจาคปัจจัยเป็นมูลค่า 15 บาท

ชนิดที่สอง ได้แก่ ( ตัว ) เหรียญ ( เป็น ) เนื้อเงิน ( แต่ ) องค์ ( “ หลวงพ่อกลั่น ” เป็น ) นาก สร้างจำนวน 25 เหรียญ สำหรับมอบให้ผู้บริจาคปัจจัยเป็นมูลค่า 10 บาท

ชนิดที่สาม ได้แก่ ( ตัว ) เหรียญ ( และองค์ “ หลวงพ่อกลั่น ”เป็น ) เนื้อเงิน ( ล้วน ) สร้างจำนวน 100 เหรียญ สำหรับมอบให้ผู้บริจาคปัจจัยเป็นมูลค่า 5 บาท

ชนิดที่สี่ ได้แก่ ( ตัว ) เหรียญ ( และองค์ “ หลวงพ่อกลั่น ” เป็น ) เนื้อทองแดง ( ล้วน ) สร้างจำนวน 3,000 เหรียญ สำหรับมอบให้ผู้บริจาคปัจจัยมูลค่า 1 บาท


หลวงพ่อกลั่นถ่ายร่วมกับ (องค์ขวามือของหลวงพ่อกลั่น)
หลวงพ่อเรื่อง วัดประดู่ทรงธรรม (พระวิสุทธาจาร)
อย่างไรก็ดี การสร้างเหรียญชุดนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามเกินคาดหมายอย่างมาก เนื่องจากรวบรวมปัจจัยได้ทั้งสิ้นเป็นจำนวนกว่า 5,000 บาท ทำให้สามารถดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ได้อย่างเรียบร้อยและรวดเร็ว สมกับที่ “ หลวงพ่ออั้น ” ได้ยืนยันเอาไว้ แต่กระนั้น “ หลวงพ่อกลั่น ” ก็ยังไม่วายที่จะถูกญาติโยมบางคนพูดล้อเลียนเชิงสัพยอกทำนองว่า  สาเหตุที่หลงเชื่อ “ เจ๊กตั๊น ” เพราะนำอาหารดีๆ มาถวายบ่อยกระมัง แต่หลังจากได้ฟังแทนที่ท่านจะแสดงอาการเคืองขุ่นหรือไม่พอใจ กลับได้แต่หัวเราะหึๆ อย่างอารมณ์ดี ก่อนจะตอบว่า “ ข้าได้กินต้มหมูของมันชามเดียวเอง ”

อนึ่ง อย่าลืมว่าค่าของเงินในสมัย 80 ปีก่อนนั้นสูงกว่าในปัจจุบันนับเป็น 100 เท่าก็ว่าได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เหรียญ “ หลวงพ่อกลั่น ” ทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวมา จะมีราคาเริ่มต้นเพียงแค่ 1 บาทเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในสมัยที่ว่า สามารถแตกเงิน 1 บาท ออกเป็นเหรียญย่อยได้ถึง 100 สตางค์ ทั้งยังนำไปซื้อของกินของใช้ได้สารพัดชนิด ต่างจากทุกวันนี้ที่แทบจะหาค่าอะไรไม่ได้ ขนาดให้คนขอทานยังถูกมองหน้า ประหนึ่งว่าดูถูกดูแคลนเขากระนั้น


เพราะฉะนั้นเงินจำนวน 5,000 บาท ( เศษๆ ) ซึ่งได้จากการบริจาค ( เพราะอยากได้เหรียญรุ่นนี้ ) ของชาวบ้านในครั้งนี้จึงมีมูลค่าพอที่จะบันดาลให้โบสถ์ทั้งหลังสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยมี “ หลวงพ่ออั้น ” เป็น “ หัวเรือใหญ่ ” ทั้งในเรื่องการหาปัจจัยและดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหา “ ข้าถูกหลอก ” เหมือนครั้งก่อน โดยในขั้นตอนแรกเลยนั้นท่านได้ขอแรงชาวบ้านให้มาช่วยกระทุ้งพื้นดินจนอัดแน่น แล้วก่อครองรากขึ้นมารับหน้าต่างและเครื่องบนอย่างมั่นคงแน่นหนา สำหรับฝาผนังก่ออิฐถือปูน ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดิน มีประตู 4 ช่อง หน้าต่าง 10 ช่อง

ทำให้ทั้งพระภิกษุ-สามเณรและญาติโยมทั่วไป สามารถใช้ประกอบสังฆกรรมหรือบำเพ็ญศาสนกิจสืบมาอย่างปลอดโปร่งโล่งใจ เพราะไม่ต้องนั่งสวดมนต์พลาง แหงนมองหลังคาพลางอย่างเมื่อก่อน ทั้งโบสถ์หลังนี้ยังสถาวรตลอดมาจนถึงสมัย “ หลวงพ่ออั้น ”  ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจาก “ หลวงพ่อกลั่น ” ที่มรณภาพด้วยโรคชรา เพิ่งจะมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน ก็เมื่อราวกึ่งพุทธกาลหรือ พ.ศ.2500 นี่เอง


หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม
อย่างไรก็ดี สำหรับ “ หลวงพ่ออั้น ” องค์นี้ นอกจากจะเป็น “ ลูกศิษย์คู่บารมี ” ของ “ หลวงพ่อกลั่น ” อย่างแท้จริงแล้ว ยังมีความกตัญญูต่อ “ ครูบาอาจารย์ ” อย่างมั่นคงเหนียวแน่น ชนิดไม่ยอมทิ้งห่างท่านไปไหน ขนาด “ หลวงพ่อฉาย ” ( หรือ “ พระญาณไตรโลก ” ) เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเป็นญาติสนิทออกปากชวนให้ไปอยู่วัดพนัญเชิงด้วยกัน ท่านยังกล้าปฏิเสธแบบไม่กลัวเสียน้ำใจ โดยอ้างว่าไม่อาจหนี “ พระอุปัชฌาย์ ” ไปอยู่แบบสุขสบายได้  เพราะห่วงใย “ หลวงพ่อกลั่น ” ซึ่งค่อนข้างชราภาพจะต้องลำบาก เนื่องจากไม่มีลูกศิษย์องค์ใดคอยรับใช้ใกล้ชิดเหมือนท่าน ทำให้ “ หลวงพ่อฉาย ” ต้องยอมจำนนต่อเหตุผล และไม่กล้าคะยั้นคะยออีกต่อไป


พระญาณไตรโลก (อาจ)
วัดศาลาปูน
นอกเหนือจากความห่วงใยใน “ หลวงพ่อกลั่น ” ดังกล่าวมา ยังน่าจะเป็นเพราะว่า “ หลวงพ่ออั้น ” ไม่ได้สนใจในเรื่องตำแหน่งหน้าที่หรือยศฐาบรรดาศักดิ์ เช่นเดียวกับ “ พระอุปัชฌาย์ ” ของท่าน ซึ่งหากต้องการจะมียศหรือตำแหน่งสูงกว่า “ เจ้าอธิการ ” หรือ “ เจ้าคณะหมวด ” ซึ่งท่านครองอยู่ ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไร เพราะค่อนข้างเชื่อได้อย่างมากทีเดียวว่า “ หลวงพ่อกลั่น ” นั้นน่าจะต้องรู้จักกับ “ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ” อยู่บ้าง อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ถึงขั้นสนิทสนมคุ้นเคยเหมือนพระเกจิ “ เมืองกรุงเก่า ” องค์อื่นๆ อย่างเช่น “ หลวงพ่อฟัก ” ( พระครูธรรมิกาจารคุณ ) วัดธรรมิกราช “ หลวงพ่อเมฆ ”  พระครูวิเวกาภิราม ) วัดวิเวกวายุพัด ( หรือที่ “ พระปิยมหาราช ” ตรัสเรียก “ ขรัวเมฆ ” ) เพราะแน่นอนว่า “ สมเด็จพระบรมบพิตรฯ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ” พระองค์นี้  ทรงสามารถจะพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ หรือทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ( สำหรับทั้งสององค์ดังกล่าว ก็ทรงให้นิมนต์ไปรับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และเครื่องประกอบสมณศักดิ์ที่พระราชวังบางปะอิน แต่เป็นคนละวาระกัน โดยเฉพาะ “ ขรัวเมฆ ” นั้น  มีเกร็ดเล่าสืบต่อกันมาว่า หลังจากที่ “ พระพุทธเจ้าหลวง ” ทรงประเคนสัญญาบัตร พัดยศ และเครื่องประกอบสมณศักดิ์ เสร็จ ได้ตรัสออกมาแบบกลั้วพระสรวลว่า “ งานนี้ให้พระครูใหม่ที่นั่งท้ายตั้ง “ ยถา ” เอง หัวแถวคอยรับสัพพีแล้วกัน ” ทำให้เจ้าตัวตะครั่นตะครอเหงื่อกาฬไหลเพราะประหม่า ว่า “ ยถา ” แบบตะกุกตะกักทุลักทุเลเต็มที แต่แทนที่จะทรงพระพิโรธโกรธขึ้ง เพราะทำให้ขายพระพักตร์ กลับทรงพระสรวลคิกคักด้วยความขบขัน กระทั่งพระสงฆ์ทั้งนั้นถวายอนุโมทนาจบ )


สมเด็จมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม
(นิยม ฐานิสสโร) หลานหลวงพ่ออั้น
วัดพระญาติ
สิ่งที่ถือเป็นพยานยืนยันได้ว่า “ หลวงพ่อกลั่น ” จะต้องรู้จักกับ “ รัชกาลที่ 5 ” ก็คือ “ พัดรอง ” 2 ด้าม ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปถ่ายของท่านที่มองเห็นได้อย่างชัดๆ สำหรับ ด้ามแรก เป็นพัดที่ระลึกในงาน “ สมโภชพระพุทธนรสีห์และผูกพัทธสีมา  วัดเบญจมบพิตร รัตนโกสินทร์ศก 118 ”  ซึ่ง “ หลวงพ่อกลั่น ” ก็เป็น 1 ในจำนวน 354 องค์ ที่ได้รับอาราธนาไปร่วมพิธีนี้ โดยมีข้อน่าสังเกตตรงที่ ท่านเป็น 1 เดียวในบรรดาพระเถระหรือพระเกจิอาจารย์ “ เมืองกรุงเก่า ”  ทั้งหมด 7 องค์ ที่มีสมณศักดิ์เพียงแค่ “ เจ้าอธิการ ” เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นชั้นพระราชาคณะ หรือพระครูสัญญาบัตร อันประกอบด้วย

1. พระญาณไตรโลก ( อาจ ) วัดศาลาปูน ( ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็น “ ชั้นเทพ ” ในนามเดิม แล้วเลื่อนเป็น พระธรรมราชานุวัตร ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ “ เมืองกรุงเก่า ” และเจ้าคณะมณฑลฯ ตามลำดับ )
พระครูสังฆรักษ์เฉลิม เขมทัสสี
เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม
องค์ปัจจุบัน
2. พระปริยัติวงศาจารย์ ( วิญญู ) วัดบรมวงศ์ฯ ( ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็น พระโพธิวงศาจารย์ )
3. พระสุวรรณวิมลศีล ( หนู ) วัดสุวรรณดาราราม
4. พระครูนิเทศธรรมกถา ( พัน ) วัดบ้านสร้าง
5. พระครูพุทธวิหารโสภณ ( อ่ำ ) วัดหน้าพระเมรุฯ ( ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะในนามเดิม แต่ได้ภายหลังลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว กลับมาจำพรรษาที่วัดวงฆ้องซึ่ง พระครูธรรมิกาจารคุณ หรือ “ หลวงพ่อฟัก ” ส่งไปอยู่ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นฐานานุกรมที่ “ พระสมุห์ ” )
6. พระครูอุเทศธรรมวินัย ( ชม ) วัดพุทไธศวรรย์ ( องค์นี้ก็เคยอยู่วัดธรรมิกราช และเป็นลูกศิษย์ “ หลวงพ่อฟัก ” เช่นกัน )

ส่วน พัดรองอีกด้ามหนึ่ง ซึ่งตั้งคู่กันนั้น ก็น่าจะได้รับพระราชทานในงานหรือพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่อาจระบุให้แน่นอนชัดเจนตรงนี้ได้ แต่ตรงใจกลางพัดซึ่งประกอบด้วยอักษร 2 ตัว อันได้แก่ “ ส ” กับ “ น ” ( และสระ “ อุ ” ) ซึ่งอาจจะหมายถึง “ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี ” หรือ “ พระอัครชายาเธอ กรมขุนสุทธาสินีนาถ ” ( ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาถ ปิยมหาราปดิวรัดา ) ก็ได้  เพราะ “ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ” ได้บันทึกไว้ว่า “ รัชกาลที่ 5 ” ได้จัดงานพระราชทานทั้งสององค์นี้ ที่พระราชวังบางปะอินเหมือนกัน และพระองค์ท่านได้โปรดฯให้อาราธนา “ พระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ และเจ้าอธิการในกรุงเก่า ไปสวดพระพุทธมนต์ถวายพระธรรมเทศนา และรับพระราชทานฉัน ” และที่สำคัญในงานดังกล่าวนี้ นอกเหนือจากจะมีจตุปัจจัยไทยธรรมเหมือนทั่วไป ยังได้พระราชทาน “ พัดรอง ” ที่ระลึกแก่บรรดาพระสงฆ์อีกต่างหากด้วย

หนังสือ รวมเล่ม ประวัติ ชีวิต อภินิหาร และ มงคลวัตถุ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ สุดยอดเกจิแห่งกรุงเก่า เขียนโดย เมธี ไทยนิกร และ สุธน ศรีหิรัญ เป็นบรรณาธิการ เปิดเผย ประวัติ ชีวิต อภินิหาร และการสร้าง มงคลวัตถุ ของ หลวงพ่อกลั่น ชนิดถูกต้อง ชัดเจน และสมบูรณ์แบบ เผยเคล็ดลับ จับสังเกต เหรียญรุ่นแรก ตลอดจน เครื่องรางของขลัง ที่ท่านสร้าง และเปิดเผยคาถา เก้าเฮ ที่ถูกต้อง ทั้งฉบับไทยและแขก ซึ่งเป็นความลับสุดยอด ที่มีเคล็ดการใช้ซึ่ง ไม่เคยเปิดเผยให้ใครรู้มาก่อน
นอกจากนี้ยังรวม วัตถุมงคล ที่มีรูป หลวงพ่อกลั่น ซึ่งสร้างในรุ่นหลังๆ ทั้งของ วัดพระญาติ และวัดอื่นๆ มากมาย มารวมไว้ในเล่มนี้


พระเกจิอาจารย์ ร่วมสมัย หลวงพ่อกลั่น ที่มีความสัมพันธ์กันมีกี่องค์นำมารวมไว้ทั้งหมด อ่านเล่มเดียว รู้เรื่องเกจิอาจารย์ อยุธยา ชั้นยอดเกือบทั่วเมือง พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม เย็บกี่อย่างดี ปกอ่อนราคา 399 บาท 
ป้องกันการพลาดหวัง สั่งซื้อได้ที่ นิตยสาร ลานโพธิ์ 912/2 ซอยพระรามหกที่ 21 ถนนพระรามหก แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร.0-2613-7140-8 ธนาณัติสั่งจ่าย ไปรษณีย์อุรุพงษ์ 10405 ระบุชื่อผู้รับเงิน นิตยสาร ลานโพธิ์ 
อ่านแล้วคุ้มค่า คุ้มราคา ไม่เสียเวลาอ่าน 



( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1029 พระอุปัชฌาย์กลั่น  ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม จ.อยุธยา สุดยอดพระเกจิแห่งเมืองกรุงเก่า ตอนที่ 1 ภาพและเรื่องโดย..เมธี  ไทยนิกร ปักษ์หลัง เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2552 ราคาปก 50 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 








Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อกลั่น #วัดพระญาติการาม #จ.อยุธยา