วัดแห่งพระกริ่ง วัดสุทัศนเทพวราราม ตำนานพระกริ่ง (4)

ภาพและเรื่องโดย อภิวัฒน์ โควินทรานนท์

พระกริ่งใหญ่ : พระกริ่งนอก

ประวัติการสร้าง พระกริ่ง

ประวัติการสร้าง พระกริ่ง ต้องแยกศึกษาเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือการสร้าง พระกริ่ง ในต่างประเทศ ซึ่งมีหนึ่งเดียวคือจีน และเรียกกันทั่วไปว่า “ พระกริ่งนอก ” หรือ “ กริ่งนอก ”

ส่วนหลัง คือการสร้าง พระกริ่ง ในประเทศไทย ซึ่งมีประวัติเริ่มต้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่มารุ่งเรืองที่สุดที่ วัดสุทัศนเทพวราราม อาจเรียกได้ว่าเป็น “ พระกริ่งใน ” หรือ “ กริ่งใน ”

สรุปคือ พระกริ่ง ที่สร้างนอกประเทศ และ พระกริ่ง ที่สร้างในประเทศ

สำหรับ พระกริ่งนอก นั้น บางท่านอาจแย้งว่ายังมีเขมรอีกประเทศนึ่ง พระกริ่งเขมรที่รู้จักกันว่า “ กริ่งตั๊กแตน ” นั้นมีสารพัดเนื้อ ทั้งเนื้อสำริดเงิน สำริดทอง สำริดลงหิน มี “ หลายรูปแบบ ” หรือความจริงอาจจะ “ ไร้รูปแบบ ” ผู้เขียนเห็นว่า พระกริ่ง เขมรนั้น น่าจะสร้างโดยพระเกจิอาจารย์ท้องถิ่น รูปแบบ พระกริ่ง เขมรนั้นจึงหาความงามมิได้ หาแบบแผนมิได้ อารยธรรมขอมอันยิ่งใหญ่ สร้างปราสาทหินที่วิเศษงดงามระดับโลก เทวรูปขอมทั้งเทวรูปศิลา เทวรูปสำริด ต่างก็เป็นศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าระดับสากล จะสร้างกริ่งตั๊กแตนหน้าตาน่าเกลียดอย่างนี้ได้อย่างไร ต้องเป็นฝีมือชาวบ้านเขมร ในยุคหลังราชอาณาจักรขอมหลายร้อยปี เป็นฝีมือพื้นบ้านมากๆ จึงขอเว้นไว้ไม่พิจารณาครับ

พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งจีนที่เป็นต้นแบบ
พระกริ่งไทย
แต่เมื่อพูดถึง พระกริ่ง เขมร ยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็น พระกริ่ง จีนที่พบในประเทศเขมร ซึ่งไม่ใช่ พระกริ่ง ที่เขมรสร้าง พระกริ่ง จีนที่พบในเขมรนี้ สมัยก่อนยังไม่รู้ความจริง จึงเรียก “ พระกริ่งพระปทุม ” หรือ “ พระกริ่งปทุม ” หรือ “ กริ่งปทุม ” เพราะเข้าใจว่าเป็น พระกริ่ง ที่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ขอมเป็นผู้สร้าง แต่ในปัจจุบันเรารู้ความจริงแล้วว่า “ พระกริ่งพระปทุม ” คือ พระกริ่งบาเก็ง ซึ่งเป็น พระกริ่ง จีนแต่พบในเขมร จึงเป็น พระกริ่ง ชื่อเขมร

เรื่องนี้จะได้กล่าวถึงโดยละเอียด ในเรื่อง พระกริ่ง บาเก็ง
ประวัติการสร้าง พระกริ่ง จีนนั้น เป็นที่น่าเสียใจที่ไม่มีใครรู้ประวัติว่า พระกริ่งจีน นั้นใครเป็นผู้สร้าง สร้างตั้งแต่เมื่อไหร่ สร้างที่ไหน สร้างจำนวนเท่าไร  พระกริ่ง จีนที่ได้พบในประเทศไทยและประเทศเขมร เดิมมีเพียง 3 แบบ คือ พระกริ่งจีน พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งหนองแส ในภายหลังราว 30 ปีมานี้ จึงมีการนำ พระกริ่ง จีนเข้ามาสู่ประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่ง เป็น พระกริ่ง จีนกะไหล่ทอง มีทั้งพระกริ่งจีนกะไหล่ทอง พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก


พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งจีนที่เป็นต้นแบบ
พระกริ่งไทย

พระกริ่งใหญ่ : พระกริ่งนอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

เหตุที่เรีย พระกริ่ง ใหญ่ เพราะเป็น พระกริ่ง ที่มีพุทธลักษณะยิ่งใหญ่อลังการ เป็นพุทธศิลป์ที่งดงามสมบูรณ์แบบ บ่งบอกว่าต้องสร้างโดยช่างหลวง ทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่า พระกริ่ง นอกแบบอื่น ( เพียงเล็กน้อย ) จึงเรียก พระกริ่งใหญ่

ด้วยพุทธศิลป์ที่งดงามอลังการของ พระกริ่ง ใหญ่ จึงเป็นต้นแบบ พระกริ่ง ของสมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) วัดสุทัศน์ พระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) รุ่นสำคัญๆ คือ  พระกริ่ง พรหมมุนี  พระกริ่ง สมเด็จพุฒาจารย์  พระกริ่ง สมเด็จพระวันรัต  พระกริ่ง รุ่นฉลองพระชนมายุ  พระกริ่ง รุ่นเชียงตุง ได้ถอดพิมพ์มาจาก พระกริ่ง ใหญ่ จนดูเหมือนว่า พระกริ่ง ใหญ่ เป็นรูปแบบมาตรฐานของ พระกริ่ง หรือถ้าพูดถึง พระกริ่ง ก็ต้องนึกถึง พระกริ่ง ที่มีลักษณะ พระกริ่ง ใหญ่

ประวัติการพบ พระกริ่ง ใหญ่นั้น หากจะเรียงลำดับตามอายุการพบเห็นก็จะเป็นดังนี้
1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมี พระกริ่ง ใหญ่  พระกริ่ง ใหญ่องค์นี้ได้พระราชทานตกทอดมาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และตกทอดมาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และตกทอดมาที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และก่อนสิ้นพระชนม์ได้ทรงถวายพระกริ่งใหญ่องค์นี้แด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร

พระกริ่งใหญ่ : พระกริ่งนอก
2. ได้มีผู้พบ พระกริ่ง ใหญ่ 2 องค์ ในพระเจดีย์ของวัดร้างในอยุธยา ( แต่ไม่ทราบวัด ) และพบพระกริ่งใหญ่ 1 องค์ ในพระเจดีย์ในจังหวัดพิษณุโลก ( ไม่ทราบวัดเช่นกัน ) ไม่มีประวัติว่าได้พบเมื่อไหร่ แต่คงจะนานพอสมควร เพราะสมัยที่พบนี้ยังเรียก พระกริ่ง ใหญ่ว่า “ พระกริ่งหนองแสใหญ่ ” ก่อนที่จะมายุติว่าเรียก พระกริ่ง ใหญ่ในภายหลัง

3. เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปเขมรใน พ.ศ.2467 นักโบราณคดีฝรั่งเศสเพิ่งพบหม้อบรรจุ พระกริ่ง หลายองค์ในปราสาทบาแคงบนยอดเขาพนมบาแคง พระกริ่ง ที่พบบนยอดเขาพนมบาแคงนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อพระกริ่งบาเก็ง ( บาเก็งเรียกเพี้ยนมาจาก บาแคง ) มีผู้รู้ยืนยันกับผู้เขียนว่า  พระกริ่ง ที่พบครั้งนั้น มีทั้ง พระกริ่ง บาเก็ง และ พระกริ่ง ใหญ่!

4. ใน พ.ศ.2499 มีคนร้ายลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เป็นกรุเครื่องทอง กรุสมบัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ได้ค้นพบในประเทศไทย เจ้าสามพระยา รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา ( ครองราชย์ พ.ศ.1967-1991 ) ทรงสร้างวัดราชบูรณะในกรุงศรีอยุธยา เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา เจ้าพี่ 2 พระองค์ที่กระทำยุทธหัตถีสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ โดยทรงบรรจุเครื่องราชูปโภคของเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา เครื่องทองต่างๆ รวมทั้งพระพุทธรูปมากมายไว้ในกรุภายในพระปรางค์องค์ใหญ่เพื่อเป็นพุทธบูชา การเปิดกรุครั้งนั้นได้พบ พระกริ่ง ใหญ่ด้วย 1 องค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น ได้ขอพระกริ่งใหญ่นี้ไปบูชา ต่อมาเมื่อผู้ว่าฯท่านนี้ถึงแก่กรรม  ทายาทของผู้ว่าฯได้ส่งคืน พระกริ่ง ใหญ่องค์นี้แก่กรมศิลปากร ปัจจุบัน พระกริ่ง ใหญ่องค์นี้อยู่ในสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ไม่ได้นำออกแสดง เพราะนักโบราณคดีไม่สนใจและไม่มีความรู้เรื่อง พระกริ่ง

พระกริ่งปวเรศ ที่สร้างโดยมี
พระกริ่งใหญ่เป็นต้นแบบ
5. ใน พ.ศ.2525 ได้มีการพบ พระกริ่ง ในพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล ในพระบรมมหาราชวัง เป็น พระกริ่ง ใหญ่ 5 องค์  พระกริ่ง บาเก็ง 2 องค์ คงเป็น พระกริ่ง ที่ได้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4

พระกริ่ง ใหญ่ที่พอจะมีประวัติการพบ ก็มีเพียงเท่านี้ จำนวนพระกริ่งใหญ่ที่ได้พบทั้งหมดนั้น ผู้เชี่ยวชาญ พระกริ่ง ยืนยันว่าน่าจะมีจำนวนเพียง 30 องค์ ( น้อยพอๆ กับพระกริ่งปวเรศ! )

อนึ่ง ประวัติการสร้าง พระกริ่ง ใหญ่ ปรมาจารย์ พระกริ่ง แต่ก่อนบอกว่า สร้างในมณฑลไซซัวในสมัยราชวงศ์ถัง และพูดต่อๆ กันมา โดยไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มีความรู้ศิลปะโบราณวัตถุ ยืนยันว่า พระกริ่ง จีนนั้นไม่ได้เก่าถึงราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161-1448) น่าจะเก่าแค่ราชวงศ์หมิง ( พ.ศ.1911-2187 ) หรืออย่างมากก็ราชวงศ์ซ้อง ( พ.ศ.1503-1822 )

แต่ที่สำคัญ ในเอกสารหรือหนังสือเกี่ยวกับศิลปโบราณวัตถุของจีน ไม่มีปรากฏเรื่องหรือรูปของ พระกริ่ง ใดๆ เลย!

ความจริงยังมี พระกริ่ง ใหญ่อีกองค์หนึ่งที่ปรากฏมานานแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดพูดถึง อยู่ในหม้อน้ำมนต์ของวัดบวรนิเวศวิหาร ( ปรากฏในเรื่อง “ พระกริ่งปวเรศ ” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร ในตอนหน้า )

ความสำคัญประการหนึ่งของ พระกริ่งใหญ่ คือเป็นต้นแบบของ พระกริ่ง ปวเรศ ซึ่งเป็น พระกริ่ง แบบแรกของไทย เป็น “ พระกริ่งใน ” ที่เก่าที่สุด สูงส่งที่สุด และแพงที่สุด โดยอาจมีราคาสูงถึงองค์ละ 50 ล้านบาท!


พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 5
ภายในบรรจุพระกริ่งปวเรศ
พระกริ่งปวเรศ นั้นสร้างในรัชกาลที่ 4 โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อประทานเจ้านายที่ทรงคุ้นเคยและสนิทสนม และเจ้านายที่ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ มีจำนวนน้อยไม่เกิน 30 องค์ แต่ หลวงชำนาญเลขา ( หุ่น ) ซึ่งเป็นไวยาวัจกรวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ขอประทานพระอนุญาตนำแบบพิมพ์ไปสร้าง แต่ไม่รู้ว่าสร้างอีกเท่าไร

เรื่องประวัติ พระกริ่ง ปวเรศนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งเป็นพระสาสนโสภณ ได้นิมนต์ไว้เป็นภาคผนวกใน ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร  ดังนี้


พระกริ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

ทราบกันมาว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงสร้าง พระกริ่ง และหม้อน้ำมนต์  พระกริ่ง นั้น บัดนี้เรียกกันว่า “ พระกริ่งปวเรศ ” ทรงสร้างขึ้นเมื่อไร มีจำนวนเท่าไร ไม่พบหลักฐาน

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้เคยรับสั่งเล่า รวมใจความเท่าที่มีผู้กำหนดได้ว่า พระกริ่ง นั้นทรงสร้างขึ้นเอง เพื่อถวายเจ้านาย มีจำนวนน้อยไม่เกิน 30 องค์ แต่หลวงชำนาญเลขา ( หุ่น ) สมุห์บัญชีในกรมของพระองค์ ( ซึ่งเป็นไวยาวัจกรวัด ในสมัยที่ทรงครองวัด และสืบต่อมาจนถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองวัดในเบื้องต้น ) ได้ขอประทานพระอนุญาตนำแบบพิมพ์ไปสร้าง ได้ไปสร้างขึ้นอีกเท่าไรไม่ทราบ

พระกริ่งปวเรศ ที่สร้างโดยมี
พระกริ่งใหญ่เป็นต้นแบบ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ุยุคล ได้ประทานคำชี้แจงว่า ได้เคยทูลถามหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ท่านทรงเล่าว่า พระกริ่ง และหม้อน้ำมนต์นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และเพื่อประทานเจ้านายที่ทรงคุ้นเคยและสนิทสนม และเจ้านายที่ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ ส่วนหม้อน้ำมนต์นั้นประทานเฉพาะบางคนจริงๆ พระกริ่ง ทรงสร้างเอาแบบจากพระกริ่งเก่า แต่ ( หม่อมเจ้าพร้อม ) ไม่ทรงทราบว่ากริ่งอะไร เมื่อ ( พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ) ได้เสด็จมาทอดพระเนตรเห็นองค์ที่อยู่ในหม้อน้ำมนต์ของวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเอาแว่นขยายส่องดู จึงรู้แน่นอนว่าเป็น กริ่งเขมร ที่เรียกว่า ปทุมสุริยวงศ์ หรือที่เรียกว่า กริ่งใหญ่ เป็นองค์แบบแน่นอน ( มิใช่องค์ย่อมที่เรียกว่า พระกริ่ง เขาบาเก็ง ) และก็ปรากฏว่าตรงตามที่สมเด็จกรมพระยาฯรับสั่ง คือ กริ่งแบบนั้นมี 2 สี ดำกับเหลือง พระกริ่ง ที่ทรงสร้าง ได้ทอดพระเนตรองค์ที่แน่นอนหลายองค์

เมื่อเทียบกันดูปรากฏว่า องค์พระนั้นเหมือนกัน แต่แผ่นโลหะที่อุดก้นไม่เหมือนกัน คือ บางองค์ใช้แผ่นทองแดงอุด บางองค์ใช้แผ่นทองเหลืองอุด สืบหาเหตุยังไม่ได้ว่า ทำไมจึงแตกต่างกัน จะว่าองค์ที่ใช้แผ่นทองเหลืองอุดหล่อทีหลังก็ไม่ได้ เพราะว่าองค์ที่เสด็จทวดและทูลกระหม่อมตาทรงได้รับประทาน ใช้แผ่นทองเหลืองอุดทั้ง 2 องค์ จะว่าองค์ที่ใช้แผ่นทองแดงอุดทำทีหลังก็ไม่ได้ เพราะว่าองค์ของวัดบวรนิเวศวิหารเองใช้แผ่นทองแดงอุด เรื่องก้นทองเหลือง ทองแดง และเรื่องรุ่นใหม่ รุ่นเก่า จึงยังคงลึกลับอยู่ ส่วนรูปร่าง พระพักตร์ ถึงจะมีเค้าเหมือนกันก็จริง แต่ก็ยังคงแตกต่างกันบ้าง ทั้งนี้เพราะว่าเป็นพระมีคนแต่งและขัด ผู้แต่งแต่ละคนไม่สามารถจะทำให้พระทุกองค์เหมือนกันได้ เพราะเป็นพระเล็ก สิ่งที่จะดูและยึดถือเป็นเครื่องหมายที่แน่แท้นั้น คือรอยตอกเป็นรูปเมล็ดงาอยู่ข้างๆ กลีบบัวข้างหลัง ถึงแม้รอยเมล็ดงานี้จะอยู่ต่างที่กัน ข้างซ้ายกลีบบัวบ้าง ข้างขวาบ้างก็จริง แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ไม่เคยมีใครสามารถปลอมรอยนี้ให้เหมือนของจริงได้เลย

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1146 วัดแห่งพระกริ่ง วัดสุทัศนเทพวราาม กรุงเทพฯ ตอนที่ 4 ตำนานพระกริ่ง ปักษ์แรก เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557 ราคาปก 60 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 





Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #วัดแห่งพระกริ่ง #วัดสุทัศนเทพวราราม #ตำนานพระกริ่ง