สุดยอดเกจิอาจารย์ “ ผู้เจนจบศาสตร์แห่งธุดงควัตร ” หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม

ภาพและเรื่องโดย ทวน ทวาราวดี

หลวงพ่ออุตตมะ
หากจะถามว่า ทำไม หลวงพ่ออุตตมะ แห่งวัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี จึงเข้มขลังพลังพลานุภาพสุดยอด ก็ต้องตอบอย่างกว้างๆ ว่า ท่านเป็นผู้เลิศด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างเอกอุ อะไรคือแนวทางปฏิบัติธรรมอย่างเอกอุ ก็ต้องตอบต่อไปว่า ท่านเปี่ยมล้นไปด้วยแนวทางแห่งวิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ ซึ่งทั้งสิ้นทั้งปวงเกิดการใช้ชีวิตแต่วัยหนุ่มพรรษาน้อยๆ ด้วยการถือธุดงควัตรเป็นชีวิตตราบจนสิ้นลมปราณทีเดียว เป้าหมายของท่านคือ การล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง นั่นก็คือ “ การเกิด ” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ หากไม่เกิดก็ไม่ทุกข์ การไม่กลับมาเกิดอีกคือเป้าหมายอันแน่วแน่ของหลวงพ่ออุตตมะ

รู้ได้อย่างไรว่า หลวงพ่ออุตตมะ คือพระเถระหนึ่งเดียวที่เจนจบศาสตร์แห่งธุดงควัตร เพื่อเป็นเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์โดยแท้ ก็ จากคำกล่าวของท่าน หากจะฟังหรืออ่านอย่างพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ก็จะต้องบอกได้คำเดียวว่า “ สุดยอด ” ในโอกาสที่ “ นิตยสารลานโพธิ์ ” ได้รวบรวมชีวิตประวัติและมงคลวัตถุของท่าน พิมพ์เป็นเล่มออกเผยแพร่และวางตลาดอยู่ในขณะนี้ จึงขอนำเอาแนวทางธุดงควัตรของท่านซึ่งเป็นเรื่องมีคุณค่าและลึกซึ้งยิ่ง สำคัญที่ว่าเป็นเรื่องจากคำอธิบาย ( โดยย่อ ) ของท่านเองโดยตรง มาฝากท่านผู้อ่าน โดยท่านได้บันทึกไว้ในหนังสือ อุตตมะ 84 ปี ” ดังนี้

หลวงพ่ออุตตมะ ได้กล่าวว่า “ ธุดงค์ ” ตามที่เราปฏิบัติมา เริ่มแรกเราได้ไปเรียนศึกษามาแล้วเราก็ปฏิบัติ ตามที่พระโบราณาจารย์ท่านให้ปฏิบัติ ท่านให้ปฏิบัติ กสิณ เราปฏิบัติกสิณมาก่อน แล้วจึงออกธุดงค์ เราปฏิบัติกสิณเริ่มตั้งแต่ ปฐวีกสิณ ( กสิณที่ใช้ดินเป็นอารมณ์ ) เป็นต้นไป


เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่ออุตตมะ พ.ศ.2511
ปฐวีกสิณ นั้น สมัยก่อนเขาเอาดินมาทำเป็นกสิณ เราก็นั่งเพ่งกสิณนี้ว่า ปฐวีๆ นั่งไปให้ปรากฏ ให้เกิดขึ้นเป็นนิมิต แล้วปฏิบัติ อาโปกสิณ ( กสิณที่ใช้น้ำเป็นอารมณ์ ) อาโปกสิณนี้ เขาเอาน้ำเป็นหลักภาวนา ให้นิมิตปรากฏขึ้นในขณะที่เรานั่งเพ่งกสิณ ปฏิบัติ เตโชกสิณ ( กสิณที่ใช้ไฟเป็นอารมณ์ ) เตโชนั้นมีหลายประการ เตโชในตัวเราบ้าง เตโชในภายนอกบ้าง เราเอาเตโชภายนอกมาทำเป็นกสิณ เริ่มแรกจุดเทียนไว้ แล้ว เพ่งแสงเทียน จนนิมิตปรากฏขึ้น เห็นนิมิตแม่นอยู่ในใจ ปฏิบัติ วาโยกสิณ (กสิณที่ใช้ลมเป็นอารมณ์ ) และปฏิบัติ นีลกสิณ ( กสิณที่ใช้สีเขียวเป็นอารมณ์ ) ปีตกสิณ ( กสิณที่ใช้สีเหลืองเป็นอารมณ์) โอทาตกสิณ ( กสิณที่ใช้สีขาวเป็นอารมณ์ ) โลหิตกสิณ ( กสิณที่ใช้สีแดงเป็นอารมณ์ ) อากาสกสิณ ( กสิณที่ใช้ที่ว่างหรือช่องว่างเป็นอารมณ์ ) อาโลกกสิณ ( กสิณที่ใช้แสงสว่างเป็นอารมณ์ ) กสิณทั้งหมดนี้ เรานั่งเพ่งจนนิมิตปรากฏขึ้น เรานึกกำหนดไป ปฐวี เตโช อาโป วาโย นีละ ปีตะ โอทาตะ โลหิตะ อากาสะ อาโลกะ กสิณทั้งหมดเราก็รวมมา ประมวลมา เราจะรวมกสิณ อารมณ์กสิณนั้น เป็นสีเขียว สีเหลือง สีขาว สีแดง เป็นสีต่างๆ


งบน้ำอ้อย รุ่นแรก หลวงพ่ออุตตมะ
ตามหลักการปฏิบัติกสิณ จริงๆ นั้น ปฐวีกสิณ ก็เป็นสีเหมือนกับสีดิน เป็นสีฝาดๆ เราก็เพ่งสีนั้นเป็นอารมณ์ เมื่อเราเพ่งกสิณทั้งหมดจนนิมิตปรากฏขึ้นมาทั้งหมด เราก็มารวมกสิณ รวมเข้ามาๆ ให้ปฐวีกสิณเป็นหลัก ปฐวีกสิณ กสิณดินที่เราเห็นอยู่นั้น เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ แต่สีดินยังปรากฏอยู่ เปลี่ยนสีไปๆ เป็นดวงกสิณ อากาสกสิณ อาโลกกสิณ เป็นนิมิตปรากฏขึ้นมา กสิณทั้งหมดก็เบาขึ้นๆ เป็นดวงแก้วดวงหนึ่งปรากฏขึ้นมา กสิณนี้เรานั่งที่ไหนก็ต้องเห็น พอเราตั้งสมาธิ ตั้งอธิษฐานจิต ดวงกสิณก็จะปรากฏขึ้น กสิณนี้เราคิดว่าเป็นดวงใจ เรารวมเข้ามาๆ ให้มาอยู่ในดวงใจเรา กสิณ 10 ประการ นี้ เราปฏิบัติมาแต่เดิม ทำกสิณนี้ให้เป็นตบะ เมื่อนิมิต คือ อุคคหนิมิต ( นิมิตติดตา ) ก็ดี ปฏิภาคนิมิต ( นิมิตเทียบเคียง ) ก็ดี ปรากฏขึ้นมาแล้วก็เป็นดวงกสิณ และเราก็มองเห็นอยู่ตลอดเวลา เราจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็มองเห็น พอเราเข้าสมาธิดวงกสิณก็จะปรากฏขึ้นมาทันที

กสิณนี้ เราเอามาให้มาอยู่ในร่างกาย เราจะมองจิตข้างใน รูปจิตเราเป็นอย่างไร ให้มาอยู่ในกสิณที่เราปฏิบัติอยู่ เราพิจารณากสิณเป็นหลัก พอกสิณปรากฏขึ้นมา เราจะเอา อสุภะ ( ซากศพอันไม่งามในสภาพต่างๆ ) ก็ได้ เราจะมองเห็นอสุภะ เพราะกสิณ กสิณนี้เขาคุม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตวิตกเกิดขึ้นก็จะดับถีนมิทธะ ( ความง่วงเหงาหาวนอน ) วิจารเกิดขึ้นก็จะดับวิจิกิจฉา ( ความสงสัย ) ปีติเกิดขึ้น ก็จะดับพยาบาท ( ความอาฆาต จองเวร ) สุขเกิดขึ้นก็จะดับอุทธัจจกุกกุจจะ ( ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ) เอกัคคตาเกิดขึ้นก็จะดับกามฉันทะ ( ความติดใจในกามคุณ )

เมื่อกสิณปรากฏขึ้นมา เราจะมองเห็นในจิตของเรา เราพิจารณากสิณไป จิตโลภะ โทสะ โมหะ อยู่ที่ไหน และอกุศลจิตอยู่ที่ไหน แล้วก็พิจารณาด้วย กามาวจรกุศล พิจารณาด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา พิจารณาอยู่ในกสิณนี้ กสิณก็จะปรากฏชัดขึ้นมากขึ้นๆ จนบรรลุถึง ฌาน คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับ

ปฐมฌาน ประกอบด้วย องค์ฌาน 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน ประกอบด้วย องค์ฌาน 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน ประกอบด้วย องค์ฌาน 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
จตุตฌาน ประกอบด้วย องค์ฌาน 2 คือ สุข เอกัคคตา

แล้วจิตทั้งหมดนี้ก็ลอยไปลอยมา แต่เราต้องจับจิตไว้ให้รู้ว่า จิตนี้ลอยอยู่หนไหน วิตกเขาเป็นศัตรูกับจิตอะไร วิจารเขาเป็นศัตรูกับจิตอะไร ปีติเขาเป็นศัตรูกับจิตอะไร สุขเขาเป็นศัตรูกับจิตอะไร เอกัคคตาเขาเป็นศัตรูกับจิตอะไร เราต้องรู้จิตนี้ด้วย



วิตก เกิดขึ้นมา ถีนมิทธะ หมดไป ถีนมิทธะ คือ จิตที่ง่วงเหงาหาวนอน
วิจาร เกิดขึ้น วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยต่างๆ ก็หมดไป
ปีติ เกิดขึ้น พยาบาท ความคิดอาฆาตบ้าง ความคิดจองเวรจองกรรมบ้าง ก็หมดไป
สุข เกิดขึ้น อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็หมดไป
เอกัคคตา เกิดขึ้น กามฉันทะ ความติดใจในกามคุณก็หมดไป



นิวรณ์ทั้ง 5 ก็จะดับไป แล้วเราก็ทำกสิณให้แข็งอยู่ จิตเราก็จะหมุนอยู่ในดวงกสิณนี้ จิตที่สกปรก จิตที่ไม่สะอาด อะไรต่างๆ ก็หมุนอยู่ในจิตของเรานี้ เราก็เพ่งกสิณของเราไป อย่าให้เสียขณะที่เราเพ่งกสิณนั้น บางทีถีนมิทธะเกิดขึ้น บางทีวิจิกิจฉาเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาด้วยอนุโลมและปฏิโลม เกิดขึ้นทุกระยะทุกขณะ บางทีกามฉันทะเกิดขึ้น เราจะต้องตั้งกสิณ ให้เป็นสมาธิด้วยญาณสัมปยุต อสังขาริกจิตให้ญาณปัญญาเกิดขึ้น นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ เขาจะดับลงไปด้วยกสิณ เพราะเรามองเห็นด้วยกสิณ พอกสิณว่างขึ้นมาเราก็จะมองเห็นเหมือนอากาศ โปร่งใสทะลุไป

กสิณ ที่เราปฏิบัตินี้เป็นของสะอาด สะอาดใสเหมือนรูปไปอยู่ข้างใน รูปอะไร คือ จิตทั้งหลาย อารมณ์ทั้งหลายที่ประกอบด้วย กามราคะสังโยชน์ รูปราคะสังโยชน์ อรูปราคะสังโยชน์ ปฏิฆะสังโยชน์ มานะสังโยชน์ ทิฏฐิสังโยชน์ สีลิพพตปรามาสสังโยชน์  วิจิกิจฉาสังโยชน์ อุทธัจจะสังโยชน์ อวิชชาสังโยชน์ มารวมกันอยู่เราก็มองเห็น จิตที่ไม่ดีต่างๆ นี้ ด้วยญาณสัมปยุตจิต เขาเรียกว่าญาณ เป็นปัญญาสมาธิเกิดขึ้นด้วยปัญญา เราก็พิจารณาด้วยปัญญาว่า จิตนี้ไม่ดี ให้รู้ความเป็นจริงในกิเลสทั้งหลายที่เราเห็นอยู่ เช่น กามราคะ ภวราคะ เรามองเห็นอยู่ในกสิณนี้ แล้วเราก็จะดับกิเลสเหล่านี้ด้วยปัญญาจิต ปัญญานี้คืออะไร คือสมาธิปัญญา กสิณของเราแน่วแน่ จิตที่อยู่ในกสิณก็แน่วแน่ด้วย แล้วเราก็จะแยกจิตที่ไม่ดีต่างๆ ออกไป ด้วยสมาธิปัญญา


พระยอดขุนพล บุเรงนอง
(หลวงพ่ออุตตมะ สร้าง)
อาจารย์บางรูปเขาใช้กสิณเดียว พอกสิณปรากฏขึ้นมาเขาก็จะรวมกสิณมาทั้งหมด บางอาจารย์ใช้กสิณทั้ง 10 โดยทำปฐวีกสิณให้ปรากฏ จนถึง อาโลกกสิณ พอรวมกสิณทั้งหมดเข้าด้วยกัน กสิณก็จะแข็งขึ้น พอกสิณแข็งขึ้นมาแล้ว เราก็จะมองเห็นนิวรณ์บ้าง สังโยชน์ 10 ประการบ้าง กิเลส 10 ประการบ้าง เราก็รวมให้มาอยู่ในกสิณนี้ ให้มาอยู่ในหะทะยะนี้ มองเห็นหมด เมื่อเราเปิดกสิณ เราก็จะมองเห็นจิตเรา จิตที่เป็น โลภะ โทสะ โมหะ เราก็ตัดลงๆ ตั้งจิตให้เป็นเอกัคคตา ให้อยู่กับที่ อยู่กับกสิณ กสิณนี้ใช้ได้หลายอย่าง เราอยู่ที่ไหนก็ให้เรามองเห็น ( กิเลส ) หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น ให้มาอยู่ในดวงแก้วในดวงกสิณนี้


พระยอดขุนพล บุเรงนอง
(พบในถ้ำ)
อสุภะ 10 ประการ นับตั้งแต่ อุทธุมาตกะ ( ซากศพที่พองอืดขึ้น ) จนถึง อัฏฐิ ( กระดูก ) เขาก็รวมอยู่ในกสิณ เราจะมองเห็นอสุภะทั้งหมดอยู่ในตัวเรา เราจะมองเห็นอสุภะที่เขาตัดเป็นท่อนๆ ทิ้งไว้บ้าง ที่สุนัขกินอยู่บ้าง มีเลือดอาบเต็มอยู่บ้าง พองขึ้นอืดอยู่บ้าง ก็มาอยู่ในกสิณนี้ เป็นกรรมฐานกสิณ เพราะกสิณเป็นหลัก เราจะรวมไว้ใน หะทะยะ ( หัวใจ ) ของเรานี้หมด เราก็จะรู้จิตเราเป็นไปอย่างไร เป็นไปขณะจิตเดียว หรือหลายขณะจิต หรือจิตเราตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เราก็จะรู้จิตเรา เราจะมองเห็นรูปปรากฏขึ้นมาก็ด้วยจักขุปสาท ด้วย จักขุวิญญาณ ด้วยสมาธิจิตประกอบด้วยปัญญา และ ปสาททั้ง 5 คือ จักขุปสาท ( ประสาททางตา ) โสตประสาท ( ประสาททางหู ) ฆานประสาท ( ประสาททางกาย ) ชิวหาปสาท ( ประสาททางลิ้ น) กายปสาท ( ประสาททางกาย ) ทั้งหมดก็มารวมอยู่ในกสิณ เราเข้ากสิณมองเห็นกสิณนี้เหมือนกับเราลืมตา เราลืมตาอยู่เห็นเป็นดวงแก้ว หลับตาอยู่ก็เห็นเป็นดวงแก้ว รูปทั้งหมด อารมณ์ทั้งหมดที่ไม่ดี ก็มาอยู่ในนี้ ในกสิณ กสิณจะปรากฏมาได้ จะรวมมาได้ก็ด้วยสมาธิจิต เราต้องพยายามปฏิบัติกันหนักเหลือเกิน บางทีทำไปโดยไม่มีนิมิต จิตก็ฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา ตัวสำคัญที่สุด คือ นิวรณ์ ทำให้จิตสมาธิของเราเสียไปทำให้อารมณ์สมาธิเสีย ชวนจิตเสีย ทำให้จิตไม่ตกภวังค์

เพราะฉะนั้น เราต้องเพ่งกสิณ จนกว่าดวงกสิณจะปรากฏขึ้นมา แล้วเราก็รวมกสิณจับจิตทั้งหมดให้มาอยู่ในดวงกสิณ เราไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะจิตเราอยู่ในดวงกสิณ เป็นสมาธิเป็นกุศลจิตอย่างเดียว ด้วยอานุภาพของกสิณ กสิณเราก็จะแข็งขึ้นๆ เราก็พยายามไป ทุกวัน ทุกเวลา ให้กสิณเราแข็งขึ้น ไม่ให้แตกออกไป เราจับไว้ด้วยสมาธิ แล้วเราก็รวมอารมณ์ทั้งหลาย จิตทั้งหลายทั้งที่เป็น อิฏฐารมณ์ ( อารมณ์ที่น่าปรารถนา ) และ อนิฏฐารมณ์ ( อารมณ์อันไม่น่าปรารถน า) ให้มาอยู่ในกสิณ เราก็จะแยกจิตเหล่านี้ที่ไม่ดีต่างๆ เราจะดับจิตที่ไม่ดีต่างๆ ลงไป ด้วยอานุภาพของกสิณ กสิณนี้ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ หรือเป็น ฤาษี เขาก็ปฏิบัติกัน กสิณนี้เป็นสมถะ เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดเราต้องจับกสิณ 10 ประการให้ได้ เมื่อกสิณปรากฏแล้ว เราก็ดึงกรรมฐานอย่างอื่นเข้ามา เช่น กายคตาสติ ( สติอันไปในร่างกาย ) อานาปานสติ ( สติกำหนดลมหายใจ ) เราก็รวมให้มาอยู่ในกสิณ แต่กสิณนี้ทำได้ยากเหลือเกินที่จะทำให้ดวงกสิณปรากฏขึ้นมาเป็นดวงแก้วขึ้นมา ให้มาอยู่ในตัวเรา เราต้องอุตสาหะพยายามกันมากเหลือเกิน ต้องทำกันเป็นปีๆ ไม่ใช่แค่เดือนสองเดือน


หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม
และหลวงพ่อสาย วัดท่าขนุน
การปฏิบัติกสิณ ก็จัดเป็นสมถกรรมฐาน เริ่มตั้งแต่เราจะปฏิบัติกสิณ เราก็นั่งสมาธิ สมาธิเป็นสมถะ สมาธิจิตเกิดขึ้นก็จะดับนิวรณ์ทั้งหลาย กสิณจึงจะเกิดขึ้น เมื่อกสิณเกิดขึ้น ด้วยอานุภาพกสิณโลภะจะเกิดขึ้น โทสะจะเกิดขึ้น โมหะจะเกิดขึ้น ก็ดับได้ด้วยกสิณ นิวรณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นก็ดับด้วยกสิณ กสิณเกิดขึ้นแล้วมีอานุภาพ สามารถดับกิเลสทั้งหลายเพราะเรามองเห็น มองเห็นจิตที่ไม่ดีต่างๆ โดยมองในดวงกสิณเราจะมองเห็นทะลุ จิตดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อารมณ์ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มองเห็นในดวงกสิณ กสิณนี้แหละทำให้สมาธิเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีสมาธิ กสิณก็ไม่รวม

บางทีนั่งเป็นวันสมาธิไม่ตั้งมั่น ไม่แน่วแน่ ถ้าสมาธิแน่วแน่ ก็จะมองเห็นกสิณ รวมได้ทันที พอรวมได้จิตใจก็เบาลงไปๆ ก็เกิดเป็นดวงกสิณ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นเขาปฏิบัติกสิณมีปฐวีกสิณเป็นต้น และเราจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร ในคัมภีร์อัฏฐกถาท่านระบุไว้ว่า ตอนแรกต้องแต่งทำเป็นนิมิตเสียก่อน แล้วเพ่งดูจนเห็นนิมิตติดตา จดจำนิมิตนั้นได้แม่นยำ หลับตาก็มองเห็น ต่อไปก็ไม่ต้องไปแต่งนิมิตแล้ว พอนั่งเข้าสมาธิ นิมิตจะปรากฏขึ้นทันทีเป็น อุคคหนิมิต ( นิมิตติดตา ) ปฏิภาคนิมิต ( นิมิตเทียบเคียง ) เกิดเป็นดวงกสิณขึ้นมา แต่บางทีปฏิบัติเป็นปีๆ ดวงกสิณก็แตกออก รวมเป็นดวงกสิณไม่ได้ ต้องพยายามปฏิบัติกันมากเหลือเกิน

กสิณนั้นเขาถือว่า เป็นหลัก และเป็นตบะของฌาน ฌานทั้งหมดเราจะเข้าด้วยกสิณ โบราณาจารย์ท่านปฏิบัติกันมา ต้องเข้าฌานด้วยกสิณ พอกสิณเราแข็งขึ้นมา เราเปิด กายคตาสติ ( สติอันไปในกาย คือกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้มิให้หลงใหลมัวเมา ) เกิดขึ้นในดวงกสิณ เราจะมองเห็นร่างกายเราทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ เกศา ( ผม ) โลมา ( ขน ) เป็นต้น ปรากฏอยู่ในกสิณ เพราะกสิณเขาสว่างอยู่ เราก็สว่างตามไปด้วยมองเห็นหมด หรือเราจะเข้า อานาปานสติ เราก็จะมองเห็นลมหายใจ ลมหายใจแรง ลมหายใจเบา ลมหายใจหนัก ลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น เพราะปรากฏอยู่ในกสิณ เมื่อเราเข้ากสิณ กสิณเขามีอานุภาพ ทำให้เรามองเห็นร่างกายเรา มองเห็นตัวของเรา มองเห็นรูปในหทยสัณฐานสุขุมรูป ที่รวมเส้นทั้งหลาย เอ็นทั้งหลายให้อยู่ติดต่อกันในสุขุมรูป เมื่อเรามองเห็นร่างกายเราทั้งหมด มองเห็นรูปเราทั้งหมด เราก็หมดความยินดีหรือความยินร้ายใน อิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ เราตัดหมดแล้ว นิวรณ์เราก็ตัดออกไป สังโยชน์เราก็ตัดออกไป เราก็เอากสิณนี้เป็นตบะในการเข้าฌาน


ประคำกรามช้าง
ฌาน คือ รูปาวจรฌาน 5 ( ฌานอันเป็นไปรูปภูมิ ) เราจะเข้าฌานนี้ด้วยกสิณเป็นต้น ฌานนี้ต้องมาอยู่ในกสิณ เราต้องมองเห็นว่าเป็นฌาน ฌานนี้รูปร่างเป็นอย่างไร ฌานนั้นต้องประกอบด้วย องค์ฌาน 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ประกอบด้วยองค์ฌาน 5 นี้ จัดเป็นปฐมฌานกุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิตๆ นี้อยู่ในรูปาวจรภูมิ เราปฏิบัติกสิณก็เพื่อเข้าฌานนี้ แต่ยังเข้าไม่ได้ กสิณเรายังไม่แข็ง เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวดับ เราต้องปฏิบัติกสิณ จนเกิดอัปปนาสมาธิ จิตจึงจะตกภวังค์ ถ้ากสิณไม่แข็ง จิตก็ไม่ตกภวังค์ แต่เรารู้แล้ว องค์ฌาน 5 วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตวิตกเป็นอย่างไร จิตวิจารเป็นอย่างไร จิตปีติเป็นอย่างไร จิตสุขเป็นอย่างไร จิตเอกัคคตาเป็นอย่างไร เราจะรู้จิตวิตกเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะมาปรากฏในกสิณ รูปต่างๆ จิตต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ดี ไม่ดี ให้มาปรากฏในดวงกสิณ ดวงกสิณ นี้เรามองเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าเราจับดวงกสิณอยู่ กิเลสต่างๆ ก็จะดับไปในขณะที่เราเพ่งกสิณ ถ้ากิเลสทั้งหลายไม่ดับกสิณก็ไม่ปรากฏ เราก็รวมกสิณไม่ได้ กสิณก็ไม่สว่าง เพราะเราไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราต้องจับกสิณให้อยู่ เราต้องพยายามเพ่งกสิณให้จิตเป็นสมาธิ ให้ดวงกสิณปรากฏขึ้นไม่ให้หายไป ไม่ให้แตกไปขณะที่เราเพ่งกสิณอยู่ จิตเป็นสมาธิ ปัญญาเกิดขึ้น เราก็จะแยกของที่ไม่ดีต่างๆ ในจิตออกไป นิวรณ์ทั้งหมด สังโยชน์ทั้งหมด กิเลสทั้งหมด เราแยกออกไปด้วยญาณปัญญา เราก็จะชนะกิเลสทั้งหลาย เพราะกสิณ นิวรณ์ก็ชนะ สังโยชน์ก็ชนะ เราจะรวมอะไรให้มาอยู่ในดวงกสิณ ก็ย่อมจะรวมมาได้ เพราะกสิณอยู่ในหะทะยะ อยู่ในหัวใจของเรานี้ ถ้ากสิณไม่แข็ง เราก็รวมกิเลสทั้งหลายเข้ามาไม่ได้ และดับกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ เพราะกิเลสเหล่านี้เขาดื้ออยู่ เขาดุอยู่ สมาธิของเราก็ไม่ตั้งมั่น เมื่อสมาธิไม่ตั้งมั่น เรารู้เลย กสิณไม่รวม ไม่ปรากฏขึ้น


ประคำไม้
เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามทำดวงกสิณไม่ให้ละลาย ไม่ให้แตกออกไป จิตเราก็จะเป็นสมาธิ อย่างที่เราไปธุดงค์ ตอนที่เราจะเข้ากสิณนั้น ศัตรูทุกชนิดที่จะมาเป็นอันตรายต่อเรา ก็จะพ่ายแพ้ต่อเรา เพราะเราอยู่ก่อน ด้วยมาปรากฏในดวงกสิณ เราตั้งจิตให้เป็นสมาธิ เราไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น เจ็บก็ไม่กลัว ตายก็ไม่กลัว ศัตรูทั้งหลาย และความร้อน ความเย็น เราไม่ต้องเอาใจใส่ทั้งสิ้น เราไม่ต้องคิด เพราะเราใส่ใจแต่ดวงกสิณที่เพ่งอยู่ ขณะที่เราเข้าสมาธิอยู่นั้น เจ็บก็ไม่เจ็บ ป่วยก็ไม่ป่วย ไข้ก็ไม่ไข้ เพราะสมาธิเราแข็งอยู่ ไม่มีอุปาทานทั้งสิ้น กสิณนี้เหมือนกะคุ้มครองตัวเราไว้ไม่ให้อันตรายทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น นี่แหละกสิณ

กสิณนี้มีอานุภาพมาก ถ้าจิตใจเราสับสนไม่สงบ เราต้องมานั่งกสิณ เช่น เราจะจับ อานาปานสติ ( สติกำหนดลมหายใจ ) ปัสสาสะ อัสสาสะ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เรารู้ แต่เราจับไม่ทัน หายใจยาวหรือสั้น หนักหรือเบา เราก็มานั่งกสิณให้กสิณช่วยจับ พอเราเข้ากสิณ จิตก็จะเป็นสมาธิ เราก็สามารถกำหนดจับลมหายใจได้ ลมหายใจยาวเราก็รู้ ลมหายใจสั้นเราก็รู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเราก็รู้ เรารู้ด้วยสมาธิจิตในกสิณ กสิณนี้เป็นเหมือนดวงแก้วใส ใจเราไม่ไปไหน เป็นสมาธิตั้งมั่นอยู่ เราจะกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกก็ง่าย เราจะแยกตัวเราออกไปก็ง่าย เพราะเรามองเห็นอยู่ในดวงกสิณ เกิดปัญญาสว่างขึ้นตามลำดับ เราก็จะรู้ความจริง อะไรเป็นของจริง อะไรไม่จริง อารมณ์ไหนดี อารมณ์ไหนไม่ดี ปรากฏอยู่ในกสิณ

เพราะฉะนั้น สมถกรรมฐานทั้งหมด กสิณนี้เป็นตัวสำคัญ ถ้าเราจับกสิณอยู่ จิตก็จะมีอารมณ์ดี อารมณ์เย็นเป็นสมาธิ พอเราจับกสิณเป็นสมาธิน้อมเอาพุทธานุสติเข้ามา ก็เหมือนกับพระพุทธองค์มาประทับนั่งต่อหน้าด้วยพุทธนิมิต ก็จะเกิดสมาธิโดยมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ แต่เป็นสมาธิที่ไม่แน่นหนา ไม่มั่นคง เพราะฉะนั้น สมถกรรมฐาน เขาจึงเอากสิณเป็นใหญ่ จะน้อมเอาพุทธานุสติมาเป็นอารมณ์ ก็จะเห็นรูปพระพุทธองค์มาปรากฏในดวงกสิณ ไม่ต้องลืมตา เรามองเห็นด้วยกสิณ บางทีเขาเรียกกันว่า ดวงแก้ว 

แต่ปัจจุบันนี้เขาไปซื้อลูกแก้วกลมๆ มา ให้มาเป็นดวงแล้ว แต่ความจริงไม่ต้องไปซื้อ เราต้องแต่งดวงกสิณทำขึ้น ให้กสิณรวมมาให้กลมขึ้น เราก็เพ่งกสิณติดต่อกันไป กสิณก็จะใสขึ้นมากๆ เป็นดวงแก้ว สะอาดไม่รู้จะสะอาดอย่างไร เป็นดวงแก้วใส อะไรผ่านเข้ามาไม่ได้ จิตที่เรามองไม่เห็น พอเราทำกสิณไป เราก็จะมองเห็น โลภะ โทสะ โมหะ เรามองเห็น มองเห็นด้วยดวงแก้วกสิณนี้ ร่างกายเราก็มองเห็น อสุภะ สิ่งไม่งามต่างๆ อุจจาระอยู่ที่ไหน น้ำมูก น้ำเสลดอยู่ที่ไหน ของไม่ดีต่างๆ อยู่ที่ไหน เราเพ่งกสิณดู ก็จะปรากฏขึ้นมา และนิมิตซึ่งเป็นรูปของพระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่ต่อหน้า ก็ปรากฏใน ดวงกสิณ เราไม่ต้องไปซื้อลูกแก้ว เอาดวงกสิณนี้ให้เป็น “ ดวงแก้ว ”

ถึงตอนนี้ขอจบเอาไว้ตอนแรกก่อน เอาไว้ไปต่อเอาตอนสอง แต่แค่ตอนแรกตอนเดียวแค่นี้ท่านผู้อ่านก็พอจะมองเห็นแล้วว่า หลวงพ่ออุตตมะ มิใช่พระเถระธรรมดาเหนือกว่านั้นด้วยความแตกฉาน ทั้งการปฏิบัติและปริยัติที่โชติช่วงของท่าน ทำให้ท่านเป็นพระเถระที่ทรงไว้ด้วยภูมิธรรมสูงส่งยิ่ง โปรดติดตามอ่านตอนจบตอนหน้า ท่านจะรู้ว่า หลวงพ่ออุตตมะ เป็น “ สุดยอดมหาเถระ ” ระดับที่สุดจริงๆ


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1029 พระอุปัชฌาย์กลั่น  ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม จ.อยุธยา สุดยอดพระเกจิแห่งเมืองกรุงเก่า ตอนที่ 1 ภาพและเรื่องโดย ทวน ทวาราวดี ปักษ์หลัง เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2552 ราคาปก 50 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 






Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #หลวงพ่ออุตตมะ #วัดวังก์วิเวการาม #จ.กาญจนบุรี