หลวงพ่อเงิน บางคลาน พิจิตร พระอาจารย์ผู้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอมตะ

ภาพและเรื่องโดย ชัยรัตน์ โมไนยพงศ์

หลวงพ่อเงิน บางคลาน
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “ หลวงพ่อเงิน บางคลาน ” แล้ว นักสะสมพระเครื่องในปัจจุบันต่างยกย่องให้เป็นเอก หรือเป็น “ เพชรน้ำหนึ่ง ” ของวงการได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะไม่ว่าด้านอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลของท่านก็ไม่เป็นสองรองใคร ราคาค่างวดในการเช่าหาก็แพงติดอันดับ จนคนเบี้ยน้อยหอยน้อยหากันเป็นเจ้าของได้ยาก ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้หมายถึงวัตถุมงคลรุ่นเก่าสมัยที่สร้างกันขึ้นในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ส่วนวัตถุมงคลรุ่นใหม่ๆ ก็ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน โดยเฉพาะพระเครื่องรูปของท่านที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2515 นั้นมีชื่อเสียงมาก แม้จะเป็นของที่ผลิตขึ้นใหม่ไม่กี่ปีมานี้เอง แต่ก็เป็นของที่หาได้ยากเสียแล้ว

ถ้าพูดกันว่า หลวงพ่อเงิน บางคลาน คนทั่วไปก็จะรู้จัก แต่ความจริงวัดที่ท่านเคยอยู่ไม่ได้เรียก วัดบางคลาน แล้ว ปัจจุบันเรียก วัดหิรัญญาราม หรือ วัดวังตะโก เดิมนั่นเอง วัดนี้ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร แต่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ” ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง หลวงพ่อเงิน องค์นั้น องค์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอมตะนั่นแหละ

เดิม ตำบลบางคลาน มีฐานะเป็นอำเภอ เนื่องจากตัวอำเภออยู่ห่างจากเส้นทางคมนาคมหลักมาก ทางราชการจึงได้ย้ายที่ทำการไปตั้งใหม่ที่โพทะเล และเรียกชื่ออำเภอว่า อำเภอโพทะเล ส่วน อำเภอบางคลาน เดิมก็ลดฐานะลงเป็น ตำบลบางคลาน ให้ขึ้นอยู่กับ อำเภอโพทะเล การเปลี่ยนชื่อนี้ได้ทำเมื่อปี พ.ศ.2480 แต่คนทั่วไปก็ยังเรียก หลวงพ่อเงิน ว่า หลวงพ่อเงิน บางคลาน มาโดยตลอด


รูปหล่อหลวงพ่อเงิน ประดิษฐานอยู่ที่วัดบางคลาน

ชื่อ หลวงพ่อเงิน โด่งดังยิ่งกว่าชื่อของวัด

ประวัติของ หลวงพ่อเงิน นั้น เมื่อฟังผู้เฒ่าเล่าให้ฟังแล้วจะเห็นว่ามีความพิสดารมาก บางอย่างก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ จะเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ ไม่มีใครทราบ เพราะเป็นเพียงคำบอกกล่าวเท่านั้น การที่ข้าพเจ้าจะนำมาเขียนก็ต้องพิจารณากลั่นกรอง สิ่งที่เหลือเชื่อก็นำมาเขียนไม่ได้ แทนที่จะเป็นผลดีต่อท่านก็กลับจะเป็นผลเสีย เพราะไม่มีใครเชื่อ

เราต้องยอมรับกันไว้ประการหนึ่งก็คือ ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านโด่งดังยิ่งกว่าชื่อของวัด ถ้าใครเอ่ยชื่อ วัดหิรัญญาราม ก็คงมีคนรู้จักน้อย ถ้าเอ่ยชื่อ หลวงพ่อเงิน บางคลาน คนจะรู้จักทันที อย่างนี้จะไม่ยอมรับอีกหรือว่าชื่อของท่านโด่งดังกว่าชื่อของวัดที่ท่านสร้างและอาศัยอยู่


ประวัติ หลวงพ่อเงิน

หลวงพ่อเงิน เป็นชาวบ้าน บางคลาน อำเภอบางคลาน ( ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น อำเภอโพทะเล ) จังหวัดพิจิตร เป็นบุตรคนที่ 4 ของ นายอู๋ นางฟัก เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 10 ปีฉลู มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 6 คนด้วยกัน ดังนี้ 

1. ตาพรหม เป็นพีี่ชายคนโต
2. ยายทับ ( ไม่ทราบนามสกุล )
3. ตาทอง หรือตาภุมรา เป็นนายกองส่วยรัชชูปการ และเป็นหมอใหญ่ที่เชี่ยวชาญในวิชาแพทย์แผนโบราณ ในสมัยนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก การที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางหมอ และเก็บส่วยน้ำผึ้งนี้ จึงได้มีชื่อใหม่ว่า “ ภุมรา ”
4. หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ
5. ตาหลำ
6. ยายรอด ( ไม่ทราบนามสกุล )

เมื่อ หลวงพ่อเงิน อายุได้ 3 ขวบ ตาช้าง ซึ่งเป็นลุงของหลวงพ่อได้นำเอาหลวงพ่อไปเลี้ยงไว้ที่กรุงเทพฯด้วย ต่อมาเป็นวันเดือนปีใดไม่ทราบ หลวงพ่อเงิน ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดตองปุ ( ปัจจุบันคือ วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ) เมื่ออายุได้ 12 ขวบ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ พออายุได้ 20 ปี บิดา-มารดาและบรรดาญาติพี่น้องมีความประสงค์จะให้หลวงพ่ออุปสมบท แต่หลวงพ่อไม่ยอมบวช เพราะเกรงว่าอายุของท่านจะไม่ครบบริบูรณ์จริง บรรดาญาติก็อนุโลมตามจนกระทั่งหลวงพ่ออายุได้ 22 ปี ตรงกับ พ.ศ.2373 และได้กำหนดวันอุปสมบทในปีนี้

จากปีที่อุปสมบทดังกล่าวนี่เอง ทำให้ค่อนข้างจะแน่ใจว่า ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2351 ซึ่งเชื่อถือได้มากกว่าปีอื่นๆ


รูปหล่อลอยองค์ พิมพ์ขี้ตา

อุปสมบท

ก่อนที่ หลวงพ่อเงิน จะบวชเป็นพระ ท่านได้สึกจากการเป็นสามเณรเมื่ออายุครบ 20 ปี และได้เดินทางกลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอน คือที่ จังหวัดพิจิตร ระหว่างที่สึกออกมานี้ด้วยความที่เป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์ ท่านได้ไปชอบพอกับสาวชาวบ้านชื่อ เงิน เช่นเดียวกัน แต่ด้วยมิใช่เนื้อคู่จึงทำให้ต้องแคล้วคลาดจากกัน มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่ท่านไปมาหาสู่ที่บ้านสาว ตอนขึ้นบ้านขั้นบันไดเกิดหักขึ้นมาทำให้ท่านตกบันได หลวงพ่อจึงเกิดความอายและไม่ได้ไปหาสาวคนนั้นอีกเลย


รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตาจีวร 3 เส้น
การอุปสมบทของหลวงพ่อนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าทำกันที่กรุงเทพฯหรือที่ อำเภอบางคลาน ปกติจะอุปสมบทใกล้บ้านในหมู่เครือญาติ ( แต่มีข้อเขียนของ คุณภราดร รัตนกุล ในหนังสือพระเครื่องประยุกต์ เล่มที่ 180 ปีที่ 7 กล่าวไว้ว่า ท่านอุปสมบทที่กรุงเทพฯ โดยคาดการณ์เอาไว้ในปีนั้น หม่อมเจ้าพระศิลวราลัยการ ( พระองค์สอน ) เจ้าอาวาสวัดตองปุในขณะนั้นเป็นผู้อุปสมบทให้ แต่ก็ไม่ทราบว่ามีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรใดยืนยันคำกล่าวอ้างนี้หรือไม่ ) โดยหลักการปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อน่าจะอุปสมบทที่บ้านเกิดมากกว่าเข้าไปอุปสมบทในกรุงเทพฯ ซึ่งไกลจากบิดา-มารดาและญาติพี่น้อง
ระหว่างที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีจนแตกฉานพอสมควร เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้เดินทางกลับไปศึกษาเพิ่มเติมอีก รวมทั้งด้านวิปัสสนาธุระด้วยประมาณ 3-4 ปี พอดีคุณปู่ป่วยหนักถึงถูกตามตัวกลับ อำเภอโพทะเล หลังจากนั้นไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า ท่านได้เดินทางกลับไปกรุงเทพฯเพื่อศึกษาเพิ่มเติมอีกหรือไม่


รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์เล็ก

ชีวประวัติที่คลุมเครือ

เมื่อท่านกลับไปอำเภอ บางคลาน แล้ว ขณะนั้นคงมีอายุราว 25-26 ปี ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดคงคารามเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งอุปนิสัยของท่านเข้ากับ อาจารย์โห้ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดคงคารามในขณะนั้นไม่ได้ เพราะอาจารย์โห้เป็นพระที่พูดเสียงดังเอะอะโวยวาย ไม่เหมือนกับท่านที่เป็นพระสันโดษใฝ่วิปัสสนา จึงแยกตัวออกไปจากวัดคงคาราม ตอนนี้แหละที่ประวัติของท่านสับสน บางท่านก็ว่า หลวงพ่อเงิน นย้ายไปอยู่ที่ วัดบางคลาน หรือ วังตะโก เลยหักเอากิ่งโพธิ์จากวัดคงคารามไปด้วย เป็นกิ่งโพธิ์เสี่ยงทายนำไปปลูกที่วัดวังตะโก


แต่จากการสอบถามผู้สูงอายุที่ยังมีชีวิตอยู่ที่บ้านท้ายน้ำหลายท่าน ในขณะที่สัมภาษณ์นั้น เช่น ลุงเลียบ พูลชัยนาท อายุ 87 ปี และ ลุงโพธิ์ สุจริต อายุ 87 ปี ท่านยืนยันว่าในบั้นปลายชีวิต หลวงพ่อเงิน ท่านมาอยู่ที่วัดท้ายน้ำ ก่อนไปอยู่ที่ วัดบางคลาน แน่นอน ท่านมาอยู่ที่วัดท้ายน้ำเป็นเวลานานมาก ก่อนที่จะย้ายไปวัดวังตะโก หรือ วัดบางคลาน ในปัจจุบัน

วัดวังตะโก หรือ วัดบางคลาน นั้น หลวงพ่อเงิน ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายของท่านที่นี่ ก่อนหน้านี้ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดท้ายน้ำ ได้อยู่ร่วมกับ หลวงพ่อเขียว ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส วัดท้ายน้ำ ในขณะนั้น หลวงพ่อเขียวเป็นคนแถบอยุธยา เป็นผู้ที่เรืองวิชาอาคมเช่นเดียวกับ หลวงพ่อเงิน เดิมท่านอาศัยอยู่ที่แพริมน้ำใต้ต้นโพธิ์หน้าวัด เมื่อ หลวงพ่อเงิน มาอยู่ด้วยใหม่ๆ ก็ลงไปอยู่ที่แพแต่อยู่กันคนละห้อง ต่อมาเมื่ออาคารถาวรของวัดท้ายน้ำเสร็จ ท่านจึงได้ขึ้นมาอยู่ในบริเวณวัด


รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตาจีวร 4 ชาย
บางท่านอาจเรียกจีวร 4 ชายริ้วคว่ำ โปรดสังเกต
ริ้วจีวรด้านแขนซ้ายจะโค้งคว่ำเข้าหาสังฆาฏิ
หลวงพ่อเงิน ได้สร้างถาวรวัตถุไว้ในบริเวณวัดท้ายน้ำมากมาย เช่น ศาลา โบสถ์ หอระฆัง สิ่งก่อสร้างของท่านทำด้วยไม้ แต่กาลเวลาทำให้ชำรุดทรุดโทรมลงไป ตอนสร้างโบสถ์มีหลวงพ่อองค์ที่มีชื่อเสียงมาร่วมด้วยมากมาย เช่น หลวงพ่ออินทร์ วัดพังน้อย หลวงพ่อเทียน วัดหนองดง หลวงพ่อเทียนนี้เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กับ หลวงพ่อเงิน คือไปเรียนวิชามาจาก หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า ด้วยกัน หลวงพ่อโพธิ์เป็นพระมอญ เดิมอยู่ที่บ้านเนินมะขวิด จังหวัดปทุมธานี ได้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านบางคลาน เป็นพระสันโดษปลูกกุฏิหลังคามุงจากอยู่องค์เดียว เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากด้านไสยเวท

หลวงพ่อเงิน ขณะอยู่ที่ วัดท้ายน้ำ ท่านไม่ต้องการตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น คือเพียงมาอาศัยอยู่ในฐานะลูกวัด แต่ก็มีผู้เลื่อมใสท่านมากกว่าพระองค์อื่นๆ ในวัด ท่านสนิทสนมกับหลวงพ่อเขียวมาก ผู้เฒ่าในหมู่บ้านท้ายน้ำหลายท่านซึ่งมีชีวิตอยู่ในขณะนี้สามารถยืนยันเหตุการณ์ในอดีตได้เป็นอย่างดี


ลุงเลียบ พูลชัยนาท อายุ 87 ปี (พ.ศ.2527)
ที่ว่าประวัติคลุมเครือก็เพราะ หลวงพ่อเงิน มีอายุยืนยาวมาก ถ้าท่านออกจากวัดคงคารามเมื่ออายุก่อน 30 ปี แล้วท่านจะไปอยู่ที่ใดจึงมาอยู่ที่วัดท้ายน้ำเอาเมื่ออายุเกือบ 80 ปี ลุงเลียบ พูลชัยนาท บอกว่า  หลวงพ่อเงิน มาอยู่วัดท้ายน้ำเมื่อท่านยังเป็นเด็ก และจากไปอยู่ วัดบางคลาน แสดงว่า หลวงพ่อเงิน จากวัดท้ายน้ำไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.2457 นั่นเอง และได้อยู่ วัดบางคลาน อีกไม่กี่ปีก็สิ้นบุญ ท่านยืนยันอย่างนั้น


รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตาจีวร 5 ชาย
บางท่านอาจเรียกพิมพ์ 4 ชาย จีวรเฉียงก็มี
พระองค์นี้แม้เส้นจีวรจะเลอะเทอะ
แต่ก็ดูออก เพราะเส้นจีวรจะใหญ่
เมื่อประมวลเหตุการณ์ดูแล้ว ถ้า หลวงพ่อเงิน นำกิ่งโพธิ์เสี่ยงทายไปปลูกที่ วัดบางคลาน จริงๆ แสดงว่าท่านไปอยู่ที่ วัดบางคลาน องค์เดียวก่อน ตามประวัติเก่านั้นท่านได้ไปสร้างอยู่เล็กๆ อยู่องค์เดียวเท่านั้น อาจจะเป็นเพราะความไม่สะดวกนานาประการในสมัยนั้น ท่านจึงได้ย้ายไปอยู่ร่วมกับอาจารย์เขียวในภายหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าท่านจะต้องอยู่ที่นี่ถึง 50 ปี ก่อนไปอยู่วัดท้ายน้ำ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่ท่านจะจากถิ่นของท่านที่อยู่มาแล้วถึง 50 ปี ไปอยู่ที่อื่น

มีทัศนะเดียวที่เป็นไปได้ก็คือ เมื่อท่านจากวัดคงคารามนำต้นโพธิ์มาปลูกแล้ว อาจจำพรรษาอยู่ที่นี่สักระยะหนึ่ง แล้วจึงออกธุดงค์ไปที่อื่นนานถึง 50 ปี แล้วจึงกลับมาอยู่ที่ วัดบางคลาน ที่ท่านริเริ่มสร้างไว้ ที่ท่านอยู่ วัดบางคลาน ไม่กี่ปีนั้นอาจเป็นความจริงก็ได้ เพราะถาวรวัตถุที่ วัดบางคลาน ที่ท่านสร้างไว้มีน้อยมาก เปรียบเทียบแล้วสู้วัดท้ายน้ำไม่ได้ ข้าวของเครื่องใช้ของท่านก็มีหลงเหลืออยู่ที่วัดท้ายน้ำมาก วัดบางคลาน ถูกทิ้งร้างมานาน มาได้รับการบูรณะให้เจริญในสมัย หลวงพ่อเปรื่อง นี่เอง


พระรูปหล่อพิมพ์จอบใหญ่
พระรูปหล่อพิมพ์จอบใหญ่
เมื่อ หลวงพ่อเงิน ย้ายกลับไปอยู่ วัดบางคลาน ในระยะสุดท้ายของชีวิตท่านไม่ได้ทอดทิ้งวัดท้ายน้ำและวัดคงคาราม ท่านยังกลับมาช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ด้วย เมื่อ อาจารย์โห้ เจ้าอาวาส วัดบางคลาน สิ้นแล้ว ท่านก็ยังกลับไปสร้างศาลาให้วัดคงคารามอีก นอกจากนี้ท่านยังเดินทางไปวัดท้ายน้ำบ่อยๆ สมัยก่อนไม่มีหนทางสะดวกอย่างทุกวันนี้ มีข่าวเล่ากันว่า บางครั้ง หลวงพ่อเงิน เดินทางจากวัดท้ายน้ำกลับไป วัดบางคลาน ท่านยังหลงอยู่ในป่าเป็นเวลานาน เพราะสมัยก่อนเป็นป่าดงดิบจริงๆ ไม่ใช่ทุ่งนาอย่างในสมัยนี้ ระยะทางระหว่าง 2 วัดนี้ ถ้าหากวัดระยะทางเป็นเส้นตรงก็จะได้ประมาณ 10 กิโลเมตร

พระพิมพ์จอบเล็ก

หลวงพ่อเงิน อายุล่วงเข้าวัยชราภาพ

หลวงพ่อเงิน ได้มรณภาพด้วยโรคชรา อายุของ หลวงพ่อเงิน เมื่อได้ประมวลดูแล้ว อายุประมาณ 111 ปี ท่านได้มรณภาพเมื่อวันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม เวลา 05.00 น. ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2462 ณ วัดวังตะโก ตำบลบางคลาน อำเภอบางคลาน ( โพทะเล ) จังหวัดพิจิตร ส่วนทาง คุณลุงแปลก สุขนวล เล่าว่า หลวงพ่อมรณภาพเมื่อวันศุกร์ ปีมะเมีย เดือน 10 ท่านพระครูวิจิตรวุฒิกร อดีตเจ้าอาวาสวัดท้ายน้ำ ได้เขียนแสดงความเห็นไว้ว่า

“อาตมาเทียบปฏิทินแล้วไม่ตรง คุณหมอแปลกบอกว่า หลวงพ่ออายุ 107 ปี แต่ทางอื่นได้สอบสวนแล้วว่า หลวงพ่อเงิน มีอายุประมาณ 111 ปี มีพรรษา 90 ฉะนั้น อาตมาจึงสืบหาเหตุผลมาพิจารณา ถ้าใครรู้แน่นอนแล้วก็ให้นำมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่”


ศาลาหลังเก่าสร้างด้วยไม้ที่หลวงพ่อเงินสร้างไว้
สมัยท่านอยู่วัดท้ายน้ำ
ส่วนการมรณภาพของ หลวงพ่อเงิน นั้นนำความเสียใจมาสู่บรรดาญาติโยมและลูกศิษย์ของหลวงพ่อเป็นอย่างมาก ศพของหลวงพ่อบรรจุไว้ในหีบเก็บรักษาไว้เป็นเวลา 1 ปี พอครบกำหนด 1 ปี บรรดาทายกและคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดให้มีงานปลงศพอย่างมโหฬาร ขณะเริ่มประชุมเพลิงศพยังไม่ทันจะไหม้ดี บรรดาลูกศิษย์และญาติๆ ได้เก็บอัฐิของหลวงพ่อไปไว้สักการบูชา แม้แต่จีวรและสบงก็เก็บไปกันจนหมด เพราะเหตุว่าอัฐิหรือส่วนต่างๆ ในร่างกายของหลวงพ่อ ตลอดจนวัตถุของ หลวงพ่อเงิน นั้น อยู่ยงคงกระพันดีนักแล

ถ้าหลวงพ่อมีอายุยืนยาวถึง 111 ปีจริง ท่านก็จะมีอายุอ่อนกว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์โตอยู่เพียง 20 ปีเท่านั้น คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์สิ้นชีพิตักษัยเมื่อปี พ.ศ.2415 นั้น หลวงพ่อเงินจะต้องมีอายุถึง 60 ปีแล้ว และหลวงพ่อก็มีอายุยืนยาวต่อมาอีก 47 ปี จึงมรณภาพ นับว่าท่านอายุยืนยาวมาก วิทยาคมจึงแก่กล้าเป็นธรรมดา จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทำไมชาวบางคลานจึงยกย่องท่านเป็นเทพเจ้าผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์เป็นอมตะแห่งอำเภอโพทะเล ( สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ชาตะ พ.ศ.2331 สิ้นชีพิตักษัย พ.ศ.2451 )


เรื่องราว ประวัติชีวิต และวัตถุมงคล หลวงพ่อเงิน บางคลาน เทพเจ้าแห่งโพทะเล พิจิตร ได้รวบรวมนำมาเสนอเป็นรูปเล่ม ฉบับที่เรียกว่า มาตรฐานสูงสุดในวงการก็ว่าได้ เพราะเป็นฝีมือการเขียนค้นคว้าระดับคุณภาพคับแก้วของผู้มีนามว่า ชัยรัตน์ โมไนยพงศ์ ผลงานของท่านเป็นที่ยอมรับในวงการว่า ข้อมูลเนื้อหา ที่นำมาเสนอ ถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน หนังสือเล่มนี้ ลานโพธิ์ เคยพิมพ์เผยแพร่ไปนานนับสิบปีมาแล้ว เป็นหนังสือดี หนังสือหายากในปัจจุบัน หลายวันมานี้ ลานโพธิ์ ได้พบหนังสือดังกล่าวตกค้างอยู่พอสมควร ท่านผู้ใดอยากได้ก็ต้องรีบติดต่อขอซื้อเข้าไปที่ สำนักงานนิตยสาร ลานโพธิ์ โอกาสดีของท่านในวันนี้ จะได้อ่านหนังสือดีข้อมูลชัดเจนที่หาได้ยากในปัจจุบัน


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  799 หลวงพ่อเงิน บางคลาน พิจิตร พระอาจารย์ผู้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอมตะ ตอนที่ 1 ภาพและเรื่องโดย ชัยรัตน์ โมไนยพงศ์ ปักษ์หลัง เดือน มกราคม พ.ศ. 2543 ราคาปก 40 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 







Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อเงิน #วัดบางคลาน #จ.พิจิตร