วัดแห่งพระกริ่ง วัดสุทัศนเทพวราาม กรุงเทพฯ (1)

ภาพและเรื่องโดย อภิวัฒน์ โควินทรานนท์

พระศรีศากยมุนี ซึ่งพระบาทสมเด็จ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โปรดฯให้อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ สุโขทัย
มาประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง
ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะรู้จักพระกริ่งวัดสุทัศน์ : ที่จับต้องได้ ” ผู้เขียนจะขอนำท่านผู้อ่านให้รู้จัก “ วัดสุทัศนเทพวราราม : วัดแห่งพระกริ่ง ” เสียก่อน โดยจะนำเสนอเรื่อง วัดสุทัศนเทพวราราม ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล ตลอดจนศาสนพิธี เป็นข้อๆ ดังนี้คือ

( 1 ) ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยกย่อง วัดสุทัศน์ ว่า “ เป็นวัดที่มีผังวัดสวยที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ ” เพราะผัง วัดสุทัศน์ นั้นเป็นผังที่สมมาตร ( Symmetry ) โดยมีพระวิหารหลวงเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยพระระเบียง วางพระอุโบสถเป็นฉากหลัง หลังพระอุโบสถเป็นเขตสังฆาวาส หมู่กุฏิเป็นแถวเป็นแนวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีวัดใดเหมือน

( 2 ) ประวัติการสร้าง วัดสุทัศน์ นั้น เริ่มในปลายรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริให้อัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์ใหญ่จากวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้กลางกรุงเทพมหานคร ให้เหมือนพระมงคลบพิตรพระพุทธรูปองค์ใหญ่อันประดิษฐานไว้กลางกรุงศรีอยุธยา เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาถึงกรุงเทพมหานคร โปรดฯให้ประดิษฐานไว้หน้าเสาชิงช้า อันเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครเมื่อแรกสร้าง โปรดฯให้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดมหาสถานสุทธาวาส แต่ชาวบ้านเรียก “ วัดเสาชิงช้า ” บ้าง “ วัดพระใหญ่ ” บ้าง “ วัดพระโต ” บ้าง


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยกย่องวัดสุทัศน์ว่า “เป็นวัดที่มีผังวัดสวยที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์”
โดยมีพระวิหารหลวงเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยพระระเบียง วางพระอุโบสถเป็นฉากหลัง
พระใหญ่หรือพระโตนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนามว่า พระศรีศากยมุนี ( ลานโพธิ์ฉบับที่ 1117 )

เมื่อยกพระศรีศากยมุนีขึ้นประดิษฐานบนฐานที่ตั้งเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ออกพระโอษฐ์ว่า “ สิ้นธุระแต่เพียงเท่านี้ ” เพราะในเวลานั้นพระพุทธยอดฟ้าฯทรงพระชรามากแล้ว จึงไม่ทรงหวังที่ได้ทันเห็นการสร้างพระวิหารให้สำเร็จ และภายในปีนั้นเองก็เสด็จสวรรคต

พระวิหารพระศรีศากยมุนีสร้างตลอดรัชกาลที่ 2 เป็นเวลา 16 ปี ก็ยังสร้างไม่เสร็จ จนถึงรัชกาลที่ 3 จึงสร้างพระวิหารพร้อมทั้งพระอารามเสร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯพระราชทานนามวัดใหม่เป็น วัดสุทัศนเทพธาราม แต่ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดฯให้แก้เป็น วัดสุทัศนเทพวราราม

( 3 ) พระวิหารพระศรีศากยมุนี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ นั้นมีขนาดใหญ่โตมาก ดังนั้นช่อฟ้าจึงมีขนาดใหญ่มากด้วย โดยช่อฟ้าพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ มีขนาด 4.2 เมตร นับเป็นช่อฟ้าที่ใหญ่เป็นที่ 2 ในสถาปัตยกรรมไทย รองจากช่อฟ้าพระมหาวิหารวัดกัลยาณมิตร ซึ่งมีขนาด 5.6 เมตร ( ช่อฟ้าขนาด 5.2 เมตรนี้ สูงกว่าคน 2 เท่าครึ่งทีเดียว! )

( 4 ) เนื่องจากพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ สูงใหญ่มาก ดังนั้นจึงมี แผ่นยันต์มหาโสฬสมงคล ของ สมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นแผ่นยันต์ทองแดง ขนาด 1x1 ฟุต ติดไว้ที่อกไก่พระวิหารหลวง เพื่อป้องกันฟ้าผ่า! ( เป็นสุดยอดภูมิปัญญาไทยก่อนที่ฝรั่งจะมีสายล่อฟ้าเสียอีก )

( 5 ) พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก ดังนั้นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่กั้นถวายพระศรีศากยมุนี จึงเป็นพระมหาเศวตฉัตรองค์ใหญ่ที่สุด


Add caption
Add caption
Add caption
(6) บานประตูพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ เป็นบานประตูจำหลักไม้ที่งามยอดเยี่ยมที่สุด ถือเป็นศิลปกรรมชั้นเอกของชาติไทย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงตรัสไว้ว่า “ บานทวารวิหารพระศรีศากยมุนีเป็นลายสลักซับซ้อนกันหลายชั้น งามวิจิตรน่าพิศวงอย่างยิ่ง ” แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า เมื่อราว 50 ปีก่อน ได้มีญาติโยมจุดธูปไหว้พระ แล้วปักธูปไว้กับลายสลักไม้ของบานประตูกลาง ธูปได้ลามไหม้บานประตูไปเสีย 1 บาน จึงได้ถอดบานประตูหลังมาใส่แทนบานประตูหน้าที่ถูกไฟไหม้ แล้วทำบานประตูหลังใหม่เขียนลายรดน้ำติดตั้งไว้แทน ส่วนบานประตูหน้าที่ถูกไฟไหม้ นำไปตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

อนึ่ง บานประตูพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ ที่ถูกไฟไหม้นี้ เป็นบานประตูฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย! รัชกาลที่ 2 นอกจากจะทรงเป็นกวีเอกอุแล้ว ยังเป็นช่างฝีมือดี ได้ฝากฝีพระหัตถ์ไว้ในการปั้นหุ่นพระพักตร์พระประธานพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม และการแกะสลักบานประตูกลางพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
( 7 ) พระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยองค์ใหญ่ที่สุด องค์สำคัญที่สุด ความสำคัญของ พระศรีศากยมุนี เมื่อเปรียบเทียบกับพระพุทธชินราชแล้ว จะเป็นดังนี้

ก. พระศรีศากยมุนี เก่ากว่า พระพุทธชินราช เพราะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 หน้า 2 บรรทัดที่ 23-26 ว่า “ กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม ” พระพุทธรูปอันใหญ่กลางเมืองสุโขทัยก็คือ พระศรีศากยมุนี ส่วนพระพุทธชินราชสร้างโดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) หลังพระศรีศากยมุนีหลายสิบปี
ข. พระศรีศากยมุนี ใหญ่กว่า พระพุทธชินราช พระศรีศากยมุนีหน้าตักกว้าง 6.25 เมตร ส่วนพระพุทธชินราชหน้าตักกว้าง 2.90 เมตร พระศรีศากยมุนีจึงมีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธชินราชถึงกว่าเท่าตัว

ค. พระศรีศากยมุนี สำคัญกว่า พระพุทธชินราช โดยเป็นพระประธานวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย ส่วนพระพุทธชินราชเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก กรุงสุโขทัยเป็นเมืองหลวง ส่วนเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง


Add caption
ง. พระพุทธชินราชได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุด ดังนั้น พระพุทธชินราชจึงน่าจะ งามกว่า พระศรีศากยมุนี แต่ความงามของพระพุทธชินราชมาจาก “ ตัวช่วย ” 2 ประการ คือ 1. มีเรือนแก้ว 2. ประดิษฐานในพระวิหารบนทุนที่สูงในระดับสายตา มีเสาในประทุน 2 แถว เป็นเส้นนำสายตา โดยมีผนังด้านหลังสีดำขลับองค์พระให้เด่นที่สุด
(8) พระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ (หมวดคลาสสิก) นิ้วพระหัตถ์ไม่เสมอกัน ดังนั้นเมื่ออัญเชิญลงมากรุงเทพมหานคร และทำการปฏิสังขรณ์ เพราะพระศรีศากยมุนีนั่งตากแดดกรำฝนมาหลายร้อยปี ก็ได้หล่อแก้นิ้วพระหัตถ์ให้เสมอกัน ตามคำประกาศเทวดาในการนี้ว่า


Add caption
...พระลักขณะอันใดมิได้ต้องด้วยพระพุทธลักขณะผิดจากพระบาลีและพระอรรถกถานั้น ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นให้ต้องด้วยพระอรรถกถาพระบาลี...

ดังนั้น พระศรีศากยมุนี จึงเป็นพระสุโขทัยหมวดใหญ่ (อาจจะองค์เดียว) ที่นิ้วพระหัตถ์เสมอกัน

(9) ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี มีภาพสลักหินนูนต่ำแผ่นใหญ่สมัยทวาราวดี เป็น เรื่องโปรดพุทธมารดา และ เรื่องยมกปาฏิหาริย์ ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นศิลปกรรมชิ้นเยี่ยม Masterpiece สมัยทวาราวดี มีขนาดใหญ่มาก คือสูงถึง 2.40 เมตร เก่าแก่กว่า 1,000 ปี เสียดายไม่รู้ที่มา แต่รู้ว่าความวิเศษของภาพสลักหินนี้ “ ชนะใจ ” พระมหากษัตริย์ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ( ไม่ทราบว่าเป็นรัชกาลที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ) จึงโปรดฯให้นำมาประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี แต่ความมหัศจรรย์ของภาพสลักหินนี้อยู่ที่ขนาดที่พอเหมาะพอดีกับฐานชุกชี ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ราวกับเป็นภาพสลักหินคู่พระบารมีพระศรีศากยมุนีอย่างน่าอัศจรรย์


Add caption
( 10 ) ที่ด้านหน้าภาพสลักหินทวาราวดี เป็นแท่นประดิษฐานรูปพระปัญจวัคคีย์ เป็นพระปัญจวัคคีย์ทั้งคณะ 5 องค์ หล่อด้วยทองแดงในสมัยรัชกาลที่ 3 ในอิริยาบถ “ เมิน ” เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดภายหลังตรัสรู้ พระปัญจวัคคีย์ชุดนี้ให้อารมณ์ความรู้สึกดีมาก โดยเฉพาะพระอัญญาโกณทัญญะ ถึงกับนั่งเอกเขนกไขว่ห้างจิบน้ำชา แสดงอาการเมินสุดๆ และมีอยู่ชุดเดียวไม่เห็นที่ไหนอีก ( ปัจจุบันทางวัดได้หล่อจำลองอีกชุดหนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่บริเวณสัตตมหาสถานภายในวัด )

( 11 ) จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวงย่อมมีภาพ “อีโรติก-Erotic” คือภาพสัปดนทางเพศต่างๆ นานา เป็นธรรมดาเป็นธรรมเนียม แต่ที่ไม่ธรรมดาคือ จิตรกรรมฝาผนังที่เสาต้นด้านหน้าขวามือของพระศรีศากยมุนี ซึ่งเขียนภาพ โลกย์สันถานเขาสุทัศน์ นั้น ภาพเขียนตอนล่างนอกจากภาพสุมทุมพุ่มไม้ มีคนเปลือยกายอยู่เป็นคู่ๆ ภาพสิงสาราสัตว์ที่สมสู่กันอยู่เป็นคู่ๆ แล้ว มีภาพที่ไม่ธรรมดาคือ ภาพลิง 2 ตัว จับกระต่ายมาข่มขืน ลิงตัวหนึ่งทำ ลิงตัวหนึ่งดู

( 12 ) คำพูดที่ว่า “ แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ ” นั้น สำหรับเปรต วัดสุทัศน์ โดยทั่วไปคงหมายถึง เปรตที่มาขอส่วนบุญที่ วัดสุทัศน์ นับเป็นเกียรติสำหรับ วัดสุทัศน์ เพราะแสดงว่าพระสงฆ์ วัดสุทัศน์ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีบุญกุศลมาก เปรตจึงมาชุมนุมกันมากที่ วัดสุทัศน์ เพื่อขอส่วนบุญ

แต่อย่างไรก็ตาม วัดสุทัศน์ ก็มีภาพเปรตให้ดูได้จริงๆ โดยเสาต้นหลังด้านขวามือของพระศรีศากยมุนี เขียนภาพ กัญจิกาสุรเปรต ยาวได้ 12 โยชน์ นอนอยู่กับปฐพีแถบฝั่งสมุทรดุจแผ่นศิลา อดข้าวอดน้ำมาถึงพุทธันดรหนึ่ง เป็นภาพเปรตตัวโตตัวยาวนอนอยู่ชายหาด มีพระภิกษุนำบาตรใส่น้ำมากรอกปาก
ทั้งนี้ ธรรมชาติของเปรตคือ ตัวสูงใหญ่ แต่ปากเท่ารูเข็ม จึงกินอาหารไม่อิ่ม ต้องหิวโหยทรมานอยู่ตลอดเวลา เป็นผลกรรมของคนโลก ที่ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ

( 13 ) ในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ มีประติมากรรมรูปเทพธิดาถือลูกแก้ว เรียก พระสุนทรีวาณี พระภิกษุสงฆ์วัดสุทัศน์ เมื่อจะเริ่มศึกษาปริยัติธรรมและปฏิบัติพระกรรมฐาน จะสวดพระคาถาบูชาพระสุนทรีวาณีว่า

มุนินทะ วะทะนัมพุชะ
คัพภะสัมภะวะ สุนทะรี
ปาณีนัง สะระณัง วาณี
มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง

พระสุนทรีวาณี เป็นพระที่เกิดจากนิมิตในคัมภีร์สัททาวิเสส มีมาในสมัย สมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นภาพเขียนใส่กรอบไว้บูชาในตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) แต่ปัจจุบันได้หล่อเป็นรูปเทพธิดาอยู่ในพระวิหารหลวงองค์ 1 และที่การเปรียญองค์ 1 พระสุนทรีวาณีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำนักวัดสุทัศนเทพวราราม ( มีเหรียญพระสุนทรีวาณี เจ้าคุณศรี ( สนธิ์ ) สร้าง และในปัจจุบันก็มีเหรียญพระสุนทรีวาณีอีกหลายรุ่น )

( 14 ) ที่ศาลาลอยด้านหน้าพระวิหาร ทั้งซ้ายและขวา มีเครื่องศิลาจากเมืองจีนเป็นเตียงศิลา เตียงศิลาคู่นี้ฝีมือประณีตงดงาม และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งเครื่องศิลาจากเมืองจีนที่ประดับพระอารามหลวงส่วนใหญ่จะแตกหักไม่สมบูรณ์ ( เตียงศิลานี้ ทำให้นึกถึงเตียงศิลาหยกเย็น สำหรับฝึกกำลังภายในของเสี่ยวเล้งนึ้งในสุสานโบราณ จากหนังสือมังกรหยกภาค 2 )

( 15 ) ศาลาลอยด้านหน้าพระวิหารหลวง หลังทิศเหนือ ( หลังขวามือ ) ที่หน้าเตียงศิลา มีพระพุทธรูปสมัยอู่ทองปางลีลา เป็นพระลีลาสมัยอู่ทององค์เดียวที่พบเห็นในประเทศไทย

( 16 ) ที่พนักกำแพงแก้วฐานประทักษิณชั้นล่างของพระวิหารหลวง ตั้งถะศิลาโดยรอบ 28 ถะ ( ถะ คือเจดีย์แบบจีน ) ถะศิลานี้สลักเป็นเจดีย์ 6 เหลี่ยมโปร่ง สูง 6 ชั้น เป็นทิวถะเสมือนทิวฉัตร สวยงามมาก และเป็นหนึ่งเดียวไม่มีที่ไหนอีก

( 17 ) พระวิหาร วัดสุทัศน์ เน้นความสูง ( ความสูงเป็นที่ 2 รองจากพระมหาวัดกัลยาณมิตร ) ส่วนพระอุโบสถ วัดสุทัศน์ นั้นเน้นความยาว โดยมีความยาวถึง 13 ห้อง โบสถ์วิหารขนาดใหญ่ มีขนาด 9 ห้อง เช่น “ โบสถ์พระแก้ว ” แต่พระอุโบสถ วัดสุทัศน์ มีขนาดใหญ่เกินกว่า 9 ห้อง ข้าม 11 ห้องไปถึง 13 ห้อง เพื่อให้ยาวเท่าความกว้างของพระระเบียงพระวิหารหลวงพระอุโบสถขนาด 13 ห้องของ วัดสุทัศน์ นี้ จึงเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในสมัยโบราณ ( ในสมัยปัจจุบันจะมีโบสถ์ที่ยาวกว่า 13 ห้องหรือไม่ ไม่ทราบและไม่นับ )

( 18 ) พระศรีศากยมุนีพระประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะสมัยสุโขทัยองค์ใหญ่ที่สุด คือมีหน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ ( 6.25 เมตร ) เพื่อไม่ให้เป็นการข่มกัน พระตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถจึงมีหน้าตักกว้าง 3 วา 14 นิ้ว ( 6.35 เมตร ) ก็เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะองค์ใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นกัน


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1143 เส้นทางแห่งศรัทธาแสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัดพระกริ่ง วัดสุทัศนเทพวราาม กรุงเทพฯ ตอนที่ 1 ปักษ์หลัง เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2557 ราคาปก 99 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 



Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #วัดแห่งพระกริ่ง #วัดสุทัศนเทพวราราม #กรุงเทพฯ