ชี้ช่อง มองของดี พระหลวงพ่อเนียม ที่พบใหม่

พระกริ่งคลองตะเคียน (หน้าใหญ่ สองหน้า)
“ หลวงพ่อเนียม ”  เป็นชาวบ้านวัดป่าพฤกษ์  ตำบลตะค่า  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  บิดาเป็นชาวบ้านส้อง  ตำบลมดแดง  อำเภอศรีประจันต์  สุพรรณบุรี  มารดาเป็นชาวบ้านป่าพฤกษ์ฯ
หลวงพ่อเกิดเมื่อ พ.ศ.2372  เมื่อเด็กไปอยู่วัดในกรุงเทพฯ  ไม่มีใครรู้ชัดว่าท่านไปอยู่วัดไหน  ผู้ใหญ่รุ่นหลังไม่มีใครเกิดทัน  คุณทองหยด  จิตตวีระ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี  อดีต รมว.กระทรวงสาธารณสุข  ให้ข้อสันนิษฐานว่า

พระกริ่งคลองตะเคียน
หลังอูม
หลวงพ่อเนียม น่าจะไปบวชอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม บิดาของคุณทองหยดเมื่อตอนเป็นเด็ก หลวงพ่อเนียม ส่งไปเรียนหนังสือที่วัดระฆัง  โดยให้เหตุผลว่าถ้า หลวงพ่อเนียม ไม่ได้ไปอยู่ที่วัดระฆัง เหตุไฉนจะมีความสนิทชิดชอบกับพระที่วัดระฆัง  และถ้า หลวงพ่อเนียม ไปอยู่วัดระฆังจริง หลวงพ่อเนียม ก็น่าจะเป็นลูกศิษย์ของ สมเด็จพุฒาจารย์ ( โต )  พรหมรังสี  เพราะความสามารถในเชิงวิปัสสนากรรมฐานของ หลวงพ่อเนียม ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประดาพระเกจิอาจารย์ของเมืองไทย

การสร้างพระของท่าน  สร้างไปแจกไป  ไม่มีใครรู้ชัดว่าพระที่หลวงพ่อเนียมสร้างมีพิมพ์อะไรบ้าง  หากเราท่านจะอยากรู้ก็ต้องศึกษาหาความจริง  โดยสร้างเป็นทฤษฎีขึ้นแล้ววินิจฉัยด้วยเหตุและผล

ประการแรก  ควรทราบว่าหลวงพ่อเอาโลหะอะไรบ้างมาสร้างพระของท่านข้าพเจ้าใช้เวลาฟั่นเฝือศึกษามาเป็นเวลานาน 35-40 ปี  พร้อมๆ กับสะสมพระของ หลวงพ่อเนียม ไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อนำเอามาศึกษาและเปรียบเทียบ  ไม่ใช่ศึกษาลอยๆ แล้วผ่านเลยไป ไม่มีการวิเคราะห์ วินิจฉัย  เพียงดูว่าพระแท้หรือปลอมเท่านั้น  ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

1. เนื้อพระ  เมื่อราว 40 กว่าปีมาแล้ว  คุณบดินทร์  ลุประสงค์  อดีตผู้พิพากษาจังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นนักนิยมพระเครื่องผู้หนึ่ง  ถาม  ลุงคำ  มณีอินทร์  ทายกวัดน้อย  เล่าว่า หลวงพ่อเนียม เอา  ตะกั่วมาผสมกับปรอท  พอเดือนห้า  หรือราวเดือนเมษายน หลวงพ่อเนียม ออกไปเดินเก็บใบแตงหนู  ( มีชื่อทางวิทยาศาสตร์  Melothrie  offinis  ซึ่งเป็นแตงชนิดหนึ่ง  มีผลเล็ก )  กลางทุ่งนา  เอามาสกัดเป็นปรอท  นำมาผสมกับตะกั่ว  สร้างพระของท่านขึ้น


พระเศียรโล้น หลังงบน้ำอ้อย
2. สนิม  เรารู้ลักษณะเนื้อพระของ หลวงพ่อเนียม แล้วว่ามีส่วนผสม  “ ตะกั่วกับปรอท ”  เมื่อเทออกมาใหม่ๆ ผิวของพระขาวเหมือนปรอทหรือขาวเป็นสีเงินยวง  พระที่นำเอาไปใช้ผิวปรอทขาวจะหายไป  กลายเป็นผิวดำฉ่ำ  หรือที่เรียกกันว่า  “ สนิมตีนกา ”  หากไม่ได้ใช้เลย  วางอยู่ในพานหรือห่อผ้าห่อกระดาษไว้  จะเกิดสนิมไขเกาะติดเป็นขุม  บางองค์เกิดสนิมสีน้ำตาลเคลือบ  หรือเป็นสนิมแดง  พระที่ไม่ได้ใช้นี้เชื่อว่าน้อยคนจะได้เคยพบเห็น  แม้ข้าพเจ้าเองก็เพิ่งพบเห็นเมื่อไม่นานมานี้

สนิมดำ หรือ สนิมตีนกา  ถูกใช้  ถูกเสียดสี เกิดการสึกหรอ  ปรากฏเนื้อในขาวผ่องเป็นยองใยคล้ายสีเงินยวง  เพราะอิทธิพลของปรอท  หากเป็นพระปลอมไม่มีส่วนผสมของปรอท  ส่วนที่สึกปรากฏสีขาวเช่นกัน  แต่ขาวหม่นปนเทา  คล้ายกับเนื้อตะกั่วตัด  หรือสีนกพิราบ  อันเป็นเนื้อของตะกั่วโดยตรง

พระของ หลวงพ่อเนียม ขีดกระดาษติดเหมือนดินสอดำ  ส่วนที่สึกเหมือนสีเงินยวง  พระปลอมทำด้วยตะกั่วก็ขีดติดเช่นกัน  แต่ส่วนที่สึกขาวหม่นปนเทา

3. คราบ  เหนือสนิมดำ  มีคราบขาวเกาะติดแน่นเป็นบางองค์  เรามักจะเรียกว่า  สนิมไข  บางทีก็มีคราบสีน้ำตาลเคลือบอยู่กับคราบขาว  แห้งสนิท  ไม่หลุดออกง่ายๆ  เว้นไว้แต่จะเอาของมีคมขูด  แต่ไม่ควรกระทำ  รักษาเอาไว้  ดูง่ายดี

พอสรุปได้ว่า  พระหลวงพ่อเนียม  วัดน้อย  ใช้ตะกั่วผสมกับปรอท  สร้างมานานราว 100 กว่าปี  เกิดสนิมดำเกาะติดผิวพระ  เมื่อใช้ไปๆ สนิมดำสึกหรอจากการถูกเสียดสี  สนิมดำหลุดออกไป  เนื้อในขาวผ่องดุจเงินยวง  และมีคราบสนิมไขขาวอมน้ำตาลเกาะติดตามซอกขององค์พระ  บางองค์อาจจะไม่มี

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า  พระขอ หลวงพ่อเนียม สร้างมานาน 100 กว่าปี  จึงไม่มีใครรู้จักว่าท่านสร้างพระอะไรไว้บ้าง  รู้แต่รุ่นหลัง เช่น พระงบน้ำอ้อย  เศียรโล้น  เศียรแหลม  และอีกบางพิมพ์  ตามทางสันนิษฐานของข้าพเจ้าคาดว่า  ท่านคงสร้างพระมาไม่น้อยกว่า 50 พิมพ์  สร้างไปแจกไป  แม่พิมพ์เป็นดินเผาแตกหักง่ายทำขึ้นใหม่  รู้ได้ด้วยการสันนิษฐานจากหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้  พระที่พบใหม่ควรเชื่อว่าเป็นพระของ หลวงพ่อเนียม มีดังนี้


พระเศียรโล้น (ย่อม)
1. พระกริ่งคลองตะเคียน  ถอดพิมพ์มาจากพระกริ่งคลองตะเคียนของอยุธยาโดยตรง  ด้านหลังอูม  ปลายยอดแหลม  ปางมารวิชัย
2. กริ่งคลองตะเคียน ( สองหน้า )  ถอดพิมพ์มาจากพระกริ่งคลองตะเคียนพิมพ์หน้าใหญ่  สองหน้าคล้ายคลึงกัน  ปางมารวิชัย
3. พระเศียรโล้น  มีขนาดย่อมกว่าพระเศียรโล้น  สันนิษฐานว่าคงเป็นต้นแบบของพระเศียรโล้นที่รู้จักกัน  มีความชัดเจนมาก  เพราะเมื่อเทไปๆ  แม่พิมพ์ค่อยๆ ขยายใหญ่  จนมาเป็นพิมพ์เศียรโล้นที่รู้จักกัน
4. พระเศียรโล้น  หลังงบฯ  ด้านหน้าเป็นพระเศียรโล้น  แต่ด้านหลังเป็นพระงบน้ำอ้อย  เป็นพิมพ์พิเศษ  มีจำนวนน้อย  ใบโพธิ์ 15 เม็ด
5. พระเศียรโล้น  หลังยันต์  เช่นเดียวกันกับพระเศียรโล้นหลังงบฯ  แต่เป็นพิมพ์ใบโพธิ์ 7 เม็ด  ด้านหลังนูนเหมือนกริ่งคลองตะเคียน ( 1 )  แต่มียันต์อยู่ 1 ตัว

พระทั้งหมดนี้เป็นเนื้อชินตะกั่ว  สนิมดำนิลกาฬ  ขีดกระดาษติดทุกองค์  ส่วนที่สนิมดำหลุด  เนื้อในขาวผ่องดุจเงินยวง  หากเนื้อในขาวหม่นปนเทาคล้ายสีนกพิราบเป็นของปลอม


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 858 ชี้ช่องมองของดี พระหลวงพ่อเนียมที่พบใหม่ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ราคาปก 40 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 





Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #ชี้ช่อง #มองของดี #พระหลวงพ่อเนียม #จ.สุพรรณบุรี