หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์หมวดแจง ธมฺมโชโต วัดเกาะแก้ว ปากโทก ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก สุดยอดตะกรุดดังเมืองพิษณุโลก

เรื่องโดย ขวัญทอง สอนศิริ (โจ้ พิษณุโลก) “ คนดีศรีพิษณุโลก 
ภาพโดย ธนากร บุญสุวรรณโณ และ ปัญญา จูจันทร์


พิษณุโลก หรือ เมืองสองแคว แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์  ดินแดนประวัติ ศาสตร์ ราชธานีสองแผ่นดิน ชาวพิษณุโลกมีวิถีชีวิตอันดีงามที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำ 6 สาย คือ สายน้ำน่าน หรือเรียกกันว่า แควใหญ่, แม่น้ำยม, แม่น้ำวังทอง (ลำน้ำเข็ก แม่น้ำ สายน้ำตกงาม 7 แห่ง), แม่น้ำชมพู ( คลองวังชมพู ), แม่น้ำเหือง ( พรมแดนไทยกับลาว ที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก และ อ.นาแห้ว จ.เลย ) และ แม่น้ำแควน้อย หรือเรียกว่า แม่น้ำน้อย ปรากฏความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) ว่า “ ในเดือนยี่ ปี พ.ศ.๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จนมัสการและทรงเปลื้องพระภูษาจากพระองค์ทรงพระชินราชเจ้า แล้วเสด็จประทับแรม 9 ราตรี ทรงรับสั่งให้ทัพบกพระยายมราชยกไปตีไปปราบ ชุมนุมเจ้าพระฝาง ( เรือน ) เมืองพระฝางสวางคบุรี ( ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ ) แล้วทรงตัดว่าเราจะยกทัพเรือขึ้นไป บัดนี้น้ำยังน้อยตลิ่งสูงยังอยู่สูง อ้ายพวกเหล่าร้ายจะได้ท่วงทีลอบยิงเอา แต่ว่าไม่ช้าดอก แล้วพอทัพบกข้ามแม่น้ำน้อยเสียได้ สามวันน้ำก็เกิดขึ้น เดชะบารมีบรมโพธิสมภาร ครั้นถึงสามวันน้ำก็เกิดมากเสมอตลิ่งบ้าง ล้นตลิ่งประดุจตรัสไว้นั้น ”

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว
พ.ศ.2493 (1 อุด)
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว
พ.ศ.2493 (2 อุด พิมพ์นิยม)
หรือเรียกว่า แม่น้ำโทก ใน ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมัยรัชกาลที่ 3 ในแผ่นที่ 77 ได้กล่าวถึงทำเนียบเมือง 194 เมืองว่า  ทิศเหนือ “ ...เมืองชาตกาล เมืองนครไทย และเมืองด่านซ้าย สุดน้ำโทก... ” หรือใน นิราศเมืองหลวงพระบาง ซึ่ง นายร้อยเอกหลวงทวยหาญรักษา ( เพิ่ม ) แต่งขึ้น เมื่อคราวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ( เจิม แสง-ชูโต ) เมื่อครั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ แม่ทัพใหญ่ ไปปราบฮ่อเมืองหลวงพระบาง รัตนโกสินทร์ศก 104 พุทธศักราช 2428 แต่งเป็นคำกลอนกล่าวถึงการเดินทัพพรรณนาสถานที่ เหตุการณ์ต่างๆ ปรากฏความตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ปากโทก ว่า “ ... ถึงปากโทกมีทางลัดท้องนที ไปธานีนครไทยได้ดังจง... ” แม่น้ำแควน้อย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวงพระบาง และเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอนครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเชื่อกันว่าคือ เมืองบางยาง ของ พ่อขุนบางกลางท่าว ภายหลังอ่านใหม่ ในปี พ.ศ.2519 ว่า พ่อขุนบางกลางหาว หรือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระปฐมกษัตริย์ผู้สร้างอาณาจักรสุโขทัย สถาปนาความเป็นไทยอย่างเป็นทางการ

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว
พ.ศ.2493 (3 อุด)
รูปหล่อโบราณเปียกทอง หลวงพ่อแจง
วัดเกาะแก้ว พ.ศ.2493 ไม่มีอุด
ในปี พ.ศ.1792 ไหลมาบรรจบกับ แควใหญ่ หรือในภายหลังเรียกว่า แม่น้ำน่าน ที่ ปากโทก บริเวณ หน้าวัดเกาะ ซึ่งมีบุ่งน้ำ หรือแนวคลอง ลำรางธรรมชาติ ที่เกิดจากร่องที่ชาวบ้านต้อนฝูงวัว ฝูงควายลงไปกินน้ำที่ท่าเหนือวัด จนเกิดเป็นร่องยาวขนาดใหญ่ ยามน้ำหลากก็เอ่อล้นเข้ามาในร่อง หรือฝนตกชุกก็จะมีน้ำขังจนลึก เป็นเสมือนคลองล้อมเกือบรอบวัด บริเวณวัดจึงมีลักษณะคล้ายเป็นเกาะ จึงเรียกว่า วัดเกาะ ภายหลังเรียกเป็น วัดเกาะแก้ว หมู่ 4 บ้านปากโทก ต.จอมทอง ( ดนตรีพื้นบ้าน วงมังคละ ลือชื่อ ) อ.เมืองพิษณุโลก แล้วไหลรวมกันกลายเป็น แม่น้ำน่าน ไหลผ่านใจกลางเมือง พิษณุโลก แบ่งตัวเมืองออกเป็นสองฟากฝั่ง จึงเป็นภูมินามของเมือง พิษณุโลก อีกนามว่า “ เมืองอกแตก ” มาจนทุกวันนี้


บานประตู หน้าต่าง ลายรดน้ำ
และปูนปั้น ซุ้มประตูรูปพญานาค
และวิหคสกุณา อันงดงาม
เมืองพิษณุโลก เคยเป็นราชธานีของสยามประเทศถึง 2 สมัย กล่าวคือ ในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พระยาลิไท กรุงสุโขทัย เสด็จมาประทับที่ เมืองสรลวงสองแคว เพื่อป้องกันมิให้อาณาจักรทางตอนใต้ ( อยุธยา ) มารุกรานกรุงสุโขทัย  เป็นเวลา 7 ปี ( พ.ศ.1905-1912 ) และในรัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จมาประทับ ณ เมืองพิษณุโลก นาน 25 ปี (พ.ศ.2006 ถึง 2031) เพื่อป้องกันศึกจาก พระเจ้าติโลกราช ล้านนา มารุกรานเมืองเชียงชื่น ( หรือ เมืองเชลียง หรือ เมืองศรีสัชนาลัย ) และทรงเปลี่ยนชื่อเมืองจาก สรลวงสองแคว ตามจารึกสุโขทัย เป็น เมืองพระพิศณุโลก พิษณุโลก เป็น ถิ่นพระราชสมภพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ ในปี พ.ศ.2098 พิษณุโลกเป็นเมืองนักรบกล้ามาแต่โบราณกาล ความดำรงอยู่ของ พิษณุโลก คือ ความมั่นคงปลอดภัยของกรุงศรีอยุธยามาแต่อดีต พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ และพระบรมรูปพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า 100 กว่าแห่ง พิษณุโลก เป็นดินแดนต้นกำเนิดสกุลพระกริ่งนเรศวรของประเทศไทย พิษณุโลก เป็นเมืองที่มีธรรมชาติอันงดงามของป่า เขา ถ้ำ และน้ำตกอันหลายหลาก รวมทั้งชาว พิษณุโลก มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมานับแต่ยุคทวาราวดีสืบมา


ภาพเก่าแม่น้ำน่านไหลผ่านใจกลางเมืองพิษณุโลก
มีเรือ และเรือนแพจอดเรียงรายสองฟากฝั่ง
จวบจนปัจจุบันกาล พิษณุโลก จึงเป็นเมืองที่มีโบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปวัตถุ อันได้แก่ พระเครื่อง พระพิมพ์ อันเป็น อุเทสิกเจดีย์ในพระพุทธศาสนา บรรจุกรุอยู่ในพุทธสถาน อารามต่างๆ กว่า 30 กรุ ที่ขึ้นชื่อลือชา คือ พระพิมพ์นางพญา พระพุทธชินราชใบเสมา พระลีลาอัฏฐารส เป็นต้น และ พิษณุโลก เป็นเมืองที่มี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป รวม 9 อำเภอ กว่า 108 อาราม โดยเฉพาะ พระพุทธชินราช สุดยอดพระพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์ที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นหนึ่งในสยาม รวมทั้งพิษณุโลกยังเป็นเมืองที่มี พระเกจิอาจารย์ พระเถราจารย์ ผู้ทรงวิทยาคุณ ผู้เป็นรัตตัญญู เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทนีย ของพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาแต่อดีต สืบต่อกันมาจวบจนปัจจุบันหลายรูป ตลอดจนมีพระเครื่อง อันเป็นรัตนมงคล และมงคลวัตถุที่พระเถราจารย์เมืองพิษณุโลกสร้างและเสกไว้เป็น ศิลปวัตถุสำคัญ ในพระพุทธศาสนา อันเป็นมรดกวัฒนธรรมของเมืองที่น่าภาคภูมิใจเป็นยิ่งนัก อันบ่งบอกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมอันดีงามในวิถีชีวิตไทยอีกวิถีทางหนึ่ง


ปากน้ำแควน้อยไหลบรรจบแม่น้ำน่าน
หน้าวัดเกาะแก้ว
แม่น้ำแควน้อย (สีขุ่น) ไหลบรรจบแม่น้ำน่าน (สีใส)
ที่หน้าวัดเกาะแก้ว

หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ หมวดแจง ธมฺมโชโต วัดเกาะแก้ว ปากโทก พิษณุโลก

หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์หมวดแจง ธมฺมโชโต เป็นพระอมตเถราจารย์ผู้มีบุญฤทธิ์จิตตานุภาพยิ่งรูปหนึ่งของเมือง พิษณุโลก เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในย่านสองลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำน่าน และ ลุ่มน้ำแควน้อย ทั้งเขต จังหวัดพิษณุโลก และใกล้เคียงเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตะกรุดพวงสาม ที่หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์แจง ธมฺมโชโต ท่านได้สร้างและเสกขึ้น มีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่ปรากฏกล่าวขานเลื่องลือในความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเวลายาวนานกว่า 90 ปี ถือ ว่าเป็นสุดยอดตะกรุดดังของเมือง พิษณุโลก ที่มากด้วยประสบการณ์ พุทธคุณเป็นที่ประจักษ์ในด้านแคล้วคลาดคงกระพันเป็นยิ่งนัก มีอัตลักษณ์เฉพาะตนโดยเฉพาะ จึงเป็นที่นิยมแสวงหาและหวงแหนกันมากของผู้มีไว้สักการบูชาเป็นยิ่งนัก จึงมีตะกรุดพวงสามของฝีมือออกแพร่ระบาดกันมากในเมือง พิษณุโลก มายาวนาน และ  หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์หมวดแจง ธมฺมโชโต มีศิษย์ผู้สืบทอดพุทธาคมเป็นพระเกจิอาจารย์มีชื่อเสียงทั้งในเขต จังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัยจำนวนหลายองค์


ตะกรุดพวงสาม หลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว (บุรุษ)
หลวงพ่อแจง ธมฺมโชโต เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2425 ( เกิดปีเดียวกับ หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มรณภาพ พ.ศ.2507  และ พระสุเมธีวรคุณ หลวงพ่อเปี่ยม จนฺทโชโต วัดเกาะหลัก จ.ประจวบคีรีขันธ์ มรณภาพ พ.ศ.2492 ) เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของ นายเทียน นางเรียบ ทองถื่อน ภูมิลำเนาเดิม บ้านปากโทก หมู่ 4 ต.จอมทอง อ.เมืองพิษณุโลก ( ซึ่งแต่เดิม บ้านปากโทก ขึ้นกับ ตำบลบ้านปากโทก เนื่องจากอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ในภายหลัง พระราชรัตนรังษี ( ทองปลิว โสรโต ) เจ้าคณะ จังหวัดพิษณุโลก และเจ้าอาวาสวัดจอมทอง จึงเดินเรื่องขอโอนย้าย บ้านปากโทก และ บ้านท่าตะเคียน ( แสงดาวตะวันตก ) ให้มาขึ้นอยู่ในเขต ตำบลจอมทอง


ตะกรุดพวงสาม หลวงพ่อแจง
วัดเกาะแก้ว พิษณุโลก
มหากระดอนพวงสาม
หลวงพ่อแจง เทียบกับ
พวงสาม หลวงพ่อเทพ (ศิษย์)
ส่วน ตำบลบ้านปากโทก ปัจจุบันคงเหลือแค่ ตำบลปากโทก ( ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ) ซึ่งเป็นบริเวณปากทางสามแยกของ แม่น้ำแควน้อย ไหลมาบรรจบกับ แม่น้ำแควใหญ่ หรือ แม่น้ำน่าน ก่อให้เกิดเป็น ตำนานเมืองสองแคว เป็นชุมทางเส้นทางคมนาคมทางน้ำจาก พิษณุโลก ไปตามแม่น้ำน่านขึ้นเหนือไปสู่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ หรือแยกไปตามแม่น้ำแควน้อยไปสู่บ้านไผ่ค่อม ( หลวงพ่อเขียน มธุรส ) บ้านทองหลาง ต.มะขามสูง บ้านแควน้อย ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม อ.วัดโบสถ์ ถึงเขตพื้นที่ตำบลคันโช้ง ก่อนถึงที่ตั้งเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน แล้วต้องขึ้นบกเดินเท้าต่อ เนื่องจากเป็นเขาสูงมีแก่งหินขวาง เรือเดินต่อไปไม่ได้ อาทิ แก่งเจ็ดแคว แก่งคันนา แก่งเดาเหล็ก เป็นต้น จนพ้นเขาสูงจึงลงสู่ที่ราบจึงไปลงเรือ หรือเดินเท้าต่อไปยังอำเภอชาติตระการ-อำเภอนครไทย หรือเมืองบางยาง โยมบิดา-มารดาของหลวงพ่อแจงมีเรือมอญ ค้าขายพืชผลการเกษตรและทำนา คาดว่าบรรพชนของท่านน่าจะย้ายมาจากลุ่มน้ำภาคกลาง มาตั้งรกรากใหม่ที่ปากโทก เนื่องจากเป็นปากน้ำชุมทางการสัญจรของคน 2 ลุ่มน้ำมาแต่โบราณกาล จึงมีเรือมอญมาจอดซื้อข้าวเปลือกกันเป็นจำนวนมาก ยาวไปจนเกือบถึงบ้านจอมทอง ซึ่งมีโรงสี 1 แห่ง และมีคนจีนอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมี กุลี หรือ กรรมกร แบกข้าวขึ้นเรือในย่านนั้นมาก


อุโบสถวัดเกาะแก้ว ที่หลวงพ่อแจงสร้างขึ้น
และได้รับการบูรณะใหม่คู่กับวิหารและเจดีย์ 4 ทิศ
มณฑปรูปหล่อหลวงพ่อแจง
วัดเกาะแก้ว พิษณุโลก

สามเณรแจง เหล่ากอของสมณะ

ในปฐมวัย โยมบิดา-มารดาได้พาไปบรรพชาเป็นสามเณรศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้นที่สำนัก พระครูเลี่ยม วัดแสงดาว ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ต.บ้านปากโทก เมืองพิษณุโลก ( ภายหลังปรับเป็น ต.ปากโทก จนปัจจุบัน ) จริงแล้ว พระครูเลี่ยม ตามคำเรียกขานของชาวบ้านสืบต่อกันมา มีสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร 1 ใน 4 รูปของเมืองพิษณุโลก ปรากฏนามพระสมณศักดิ์ใน หนังสือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ( พระชินราช ) ของ พระราชมุนี ( เข้ม ธมฺมสโร ป.ธ.6 ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์กรุงเทพฯ ลงวันที่ 8 สิงหาคม ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) ถึง เจ้าคุณพระยาวุฒิการบดี ศรีสุทธิสาสนวโรประการอธิบดีกรมสังฆการี แลปลัดทูลฉลอง กระทรงธรรมการ

กล่าวถึงรายนามพระสงฆ์สมณศักดิ์เมืองพิษณุโลก 28 รูป ที่ พระราชมุนี (เข้ม พุทธสโร) มาตุภูมิเดิม บ้านโรงช้าง พิจิตร ในพระราชปรารภ รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวว่า


หลวงพ่อสำริด พระประธาน
อุโบสถเก่าวัดแสงดาว
ที่หลวงพ่อแจงอุปสมบท
พ.ศ.2445
“ ...ได้นิมนต์ พระราชมุนี ( เข้ม ) เป็นประธานดำเนินการฝ่ายสงฆ์ที่เมืองพิษณุโลกในการปั้นหุ่นและถ่ายแบบหล่อพระพุทธชินราชจำลองนั้น ทั้งนี้ให้ขึ้นมาอยู่จำพรรษาที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก พร้อมพระเปรียญ 3 รูป พระพิธีธรรม 1 รูป รวมเป็น 5 รูป และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐาน ถวายเทียนชนวนให้ พระราชมุนี ( เข้ม ) จุดเทียนไชย ในวันที่ 17 ตุลาคม ร.ศ.120 ( พ.ศ.2444 ) เวลาเช้า ย่ำรุ่ง 52 นาที ) และ พระปรากรมุนี ( เปลี่ยน ) เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ( วัดใหญ่ ) และเจ้าคณะใหญ่เมืองพิษณุโลก ได้ร่วมกันคัดเลือก และซักซ้อม พระสงฆ์สมณศักดิ์ ที่จะเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญท้องภาณ ในการพระราชพิธีหล่อพระพุทธชินราช ( จำลอง ) จำนวน 28 รูป ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธี เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่พระอุโบสถหินอ่อน วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ


หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปเสี่ยงทายศักดิ์สิทธิ์
สมัยอยุธยา คู่วัดแสงดาว
ในระหว่างวันที่ 16 ถึง 20 ตุลาคม พ.ศ.2444 ดังนี้ คือ ลำดับที่ 1 คือ พระครูสังฆปาโมกข์ ( พ่วง ) วัดน้อย ลำดับที่ 2 พระครูสังฆานัติกพิษณุโลกาจารย์ ( ตุ้ม ) เป็น เจ้าอาวาสวัดราชบูรณ ( ภายหลังเขียน วัดราชบูรณะ ) ลำดับที่ 3 พระครูอักษรเนติพิสัย ( อ่อน ) วัดนางพระยา ( พระครูอ่อน สำนักเดิมอยู่ วัดอนงคาราม ธนบุรี เป็นพระเชี่ยวชาญในการสอนภาษาไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นิมนต์พระครูอ่อนขึ้นมาตั้งโรงเรียนภาษาไทยที่มณฑลพิศณุโลก ในปี พ.ศ.2438 เรียกว่า โรงเรียน ก ข นะโม ตั้งครั้งแรกที่วัดนางพระยา และยกฐานะเป็น โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพิศณุโลก ในปี พ.ศ.2442 และพัฒนามาเป็น โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ในปัจจุบัน และในภายหลังได้สมณศักดิ์ที่ พระครูโลภเชษฐชินราชบริบาล คณาจารย์พิษณุโลก ที่สังฆปาโมกข์ เป็น เจ้าคณะใหญ่เมืองพิศณุโลก  ต่อจาก พระปรากรมมุนี ( เปลี่ยน ) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ( ปรากฏในเอกสารหนังสือตำนานพระอาราม และ ทำเนียบสมณศักดิ์ พิมพ์แจกในงานศพ เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรฯ ( ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์ ) องค์มนตรี และรัฐมนตรี พ.ศ.2457 ) 
และลำดับที่ 4 พระครูพรหมพิรามพิทักษ์ ( เลี่ยม ) วัดแสงดาว

รูปหล่อหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว พิษณุโลก
หล่อก่อนมรณภาพ
 รูปหล่อหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว
ที่หลวงพ่อลงแผ่นเงินและแผ่นทองเหลือง
รวม 5 แผ่น ให้เจ้าคุณพระราชรัตนรังษี
นำไปหล่อที่โรงหล่อกรุงเทพฯ
ก่อนมรณภาพในปี พ.ศ.2493
ชุมชนแสงดาว ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ใต้บ้านปากโทกมาในราว 1 กิโลเมตร เป็นชุมชนโบราณและรกร้างไป เนื่องจากเป็นเส้นทางเคลื่อนทัพจากเมืองเหนือมาตีเมือง พิษณุโลก มาแต่อดีต อาทิ พ.ศ.2310 ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) หรือ พระยากุลเถร เมืองพระฝางสว่างคบุรี ยกทัพมาล้อมตีเมือง พิษณุโลก ( พระอินทร์อากร น้องชาย พระยาพิษณุโลก ( เรือง ) เจ้าชุมนุมพิษณุโลก ) นาน 7 เดือน และยกทัพมาตีครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2312 เป็นต้น จึงทำให้วัดและชุมชนโบราณริมน้ำน่านตอนเหนือเมืองพิษณุโลกได้รับผลกระทบ ชุมชนเบาบางรกร้างไปในบางห้วงเวลา

ความงดงามของปูนปั้น ลงสีฝุ่นประดับเครื่องถ้วย
รูปวิหคสกุณา และนาค ที่วิหารวัดเกาะแก้ว
ปูนปั้นลงสีฝุ่นประดับกระเบื้องสี
ตอน พระพุทธเจ้าเปิดโลก
ที่หน้าบันวิหารโบราณ
ที่หลวงพ่อแจงสร้าง
ต่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมี ชาวเวียงจันทน์ อพยพผ่าน เมืองนครไทย หรือ เมืองบางยาง ( ตามจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 หรือจารึกวัดศรีชุม บรรทัดที่ 22 ) ซึ่งเป็นชุมชนโบราณที่ปรากฏร่องรอยความเจริญของมนุษย์สืบต่อกันมานับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ยุคหิน ปรากฏพบ ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด ( ขวานฟ้า ) จำนวนมาก และปรากฏพบ ศิลปะผนังถ้ำ ยุคโลหะ ในเขตอำเภอนครไทย-ชาติตระการ มากถึง 4 แห่ง ซึ่งเป็นการพบ ศิลปะผนังถ้ำมากที่สุดในประเทศไทย และพบหลักฐานทางโบราณคดีร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนยุคทวารวดี ยุคลพบุรี และยุคก่อนสถาปนากรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ.1791 มีคูน้ำคันดินสามชั้น เป็น ตรีบูร บนพื้นที่ 142 ไร่ ริมแม่น้ำแควน้อยมีป่ายางอุดมสมบูรณ์ มี น้ำมันยาง, ไต้ และ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากต้นยาง เป็นสินค้าพื้นเมืองมาแต่โบราณ ) เมืองนครไทย เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญระหว่าง กรุงศรีอยุธยา กับ กรุงศรีสัตนาคนหุต ( สปป.ลาว ) มานับแต่โบราณกาล


พระบรมราชานุสาวรีย์
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
พระบรมรูป พระมหาธรรมราชาที่ 1
(ลิไท) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ
พิษณุโลก
พระบรมราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระราชวังจันทน์ พิษณุโลก
ภาพหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว
สมัยบรรพชาเป็น สามเณร
ชาวเวียงจันทน์ได้อพยพลงมาตามลำน้ำแควน้อย มาตั้งชุมชนที่บริเวณวัดร้างชุมชนโบราณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำน่านแห่งนี้ ซึ่งเป็นบริเวณสามารถมองเห็นแสงดาวในยามราตรีได้แจ่มชัด เห็นดวงดาวสุกสกาวสว่างแจ่มใสสวยงามยิ่ง เสมือนอยู่ใกล้จนแทบจะสามารถเอามือไขว่คว้าดวงดาวได้ จึงเรียกกันว่า บ้านแสงดาว มาจนทุกวันนี้ และมีการบูรณะสร้างวัดประจำชุมชนขึ้น ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่านเรียกว่า วัดแสงดาว กับ วัดแสงดาวตะวันตก ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดท่าตะเคียน จนปัจจุบัน


ภาพปากโทก ปากน้ำหน้าวัดเกาะแก้ว
ในปี พ.ศ.2500 ยังปรากฏมีเรือจอดเรียงราย
และมีการพบพระพุทธรูปโบราณลักษณะ พระศรีอริยเมตไตรย ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว หนักประมาณ 16 กิโลกรัม เนื้อโลหะสำริด มีคราบรักสีดำตลอดทั้งองค์ จึงนิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อดำ มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นยิ่งนัก ( ภายหลังพัด หรือตาลปัตรในมือ ขวาสูญหายไป ) มีมุขปาฐะ ที่คนแต่โบราณเล่าขานว่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อธิษฐานยกเสี่ยงทายความสำเร็จมาแต่ครั้งสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระอุปราชครองเมือง พิษณุโลก นับแต่ปี พ.ศ.2114 และหลวงพ่อดำได้ถูกขโมยไปจากวัดแสงดาวถึง 5 ครั้ง แต่ให้มีเหตุอาถรรพ์ให้โจรนำมาทิ้งคืน และได้คืนทุกครั้งไป เป็นที่อัศจรรย์เป็นยิ่งนัก จึงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปมาสักการบูชาได้ลาภยศกันเป็นนิจ และพบ พระพิมพ์ยอดธงพุทธศิลป์สกุลอยุธยา เนื้อทองคำ เนื้อเงิน จำนวนหนึ่งที่เนินอิฐเจดีย์เก่าวัดแสงดาว ในราวปี พ.ศ.2520

ในปฐมวัยหลวงพ่อแจงได้ตามบิดา-มารดา ซึ่งมี เรือมอญ ซื้อข้าวหรือพืชผลการเกษตรล่องไปที่ปากน้ำโพ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วบรรทุก โอ่ง อ่าง และสินค้าอื่นๆ กลับมาขาย นับแต่ก่อนบรรพชาเป็นสามเณร และขณะเป็นสามเณร ท่านจึงได้มีโอกาสแวะกราบขอพร หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ แห่งสำนัก วัดบางคลาน อำเภอบางคลาน เมืองพิจิตร ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณยิ่งในลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยมในย่านนั้น ในสมัยนั้นหลวงพ่อเงิน บางคลาน น่าจะมีอายุในราวๆ 70 ถึง 80 ปีเศษๆ จึงนับว่าเป็นบุญของหลวงพ่อแจงที่ได้มีโอกาสกราบนมัสการขอพรหลวงพ่อเงิน บางคลาน สุดยอดพระอมตเถราจารย์แห่งยุค เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของความเจริญรุ่งเรืองในธรรมสมณเพศมาแต่ครั้งปฐมวัย


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  1152 ปักษ์แรก เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 :  หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์หมวดแจง ธมฺมโชโต วัดเกาะแก้ว ปากโทก ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก เรื่องโดย ขวัญทอง สอนศิริ (โจ้ พิษณุโลก) “ คนดีศรีพิษณุโลก ” ภาพโดย ธนากร บุญสุวรรณโณ และ ปัญญา จูจันทร์ )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 






Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์  #หลวงพ่อแจง #วัดเกาะแก้ว #อ.เมือง #จ.พิษณุโลก