ภาพและเรื่องโดย ลายทอง คงคาพยนต์
“ หลวงพ่อจืด นิมฺมโล ” เป็นเกจิอาจารย์อีกองค์หนึ่งของเมือง นครปฐม ท่านเป็นศิษย์ผู้สืบทอดพุทธาคมมาจาก หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา ต่อมาไปจำพรรษาอยู่วัดศีรษะทอง แล้วจึงมาสร้างวัดขึ้นใหม่ ณ ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้ชื่อว่า “ วัดโพธิ์เศรษฐีวนาราม ” วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อของท่านคือ “ ต่อเงิน ต่อทอง ”
หลวงพ่อจืด นิมฺมโล อายุ 78 ปี พรรษา 58 ปี วิทยฐานะ นักธรรม ชั้นเอก วัดโพธิ์เศรษฐีวนาราม ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสรูปแรกของ วัดโพธิ์เศรษฐีวนาราม แต่เดิมมีนามว่า พนม นามสกุล บางแก้ว เกิดวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2481 ที่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
 |
พระสมเด็จ หูบายศรี เนื้อผงขาว พิมพ์ใหญ่ |
บิดาชื่อ นายอ่ำ มารดาชื่อ นางเนย บางแก้ว มีพี่น้อง 6 คน ชาย 4 คน หญิง 2 คน ประกอบอาชีพทำสวน ศึกษาจบมัธยม 6 จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย บรรพชาสามเณร “ พนม ” ฉายา นิมฺมโล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2504 อายุ 20 ปี ณ วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยมี พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ( หลวงพ่อฉอย ) เป็นพระอุปัชฌาย์
 |
หลวงพ่อจืด นิมฺมโล รับมอบตำราวิชาอาคม
จากหลวงพ่อน้อย ปรมาจารย์ ต.ธรรมศาลา
แห่งวัดธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม
|
อุปสมบท อายุ 20 ปี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2504 เวลา 14.00 น. วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยมี พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ( หลวงพ่อฉอย ) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อน้อย ( พระครูภาวนากิตติคุณ ) วัดธรรมศาลา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญช่วย ปนฺฑิโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระพนม นิมฺมโล จำพรรษาอยู่วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อยู่กับพระอธิการน้อย เป็นเจ้าอาวาส อยู่ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2504 ถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2506
 |
พระผงสีขาวชนะมาร พิมพ์ใหญ่ เศียรแหลม |
 |
พระผงสีขาวชนะมาร พิมพ์ใหญ่ เศียรโล้น |
ต่อมาได้ย้ายสำนักไปอยู่ วัดมงคลจินดาราม ไร่ขิง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2506 เพื่อศึกษาเล่าเรียน โดยมีหนังสือรับรองจาก พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมือง เป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2506
หลังจากนั้นได้ไปอยู่ที่ เขาพ่อปู่ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำพระราหูแจก จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ พระจืด นิมฺมโล ”
23 กรกฎาคม พ.ศ.2520 ได้ย้ายสำนักไปอยู่ที่ วัดนิโครธาราม ตำบลไร่เก่า อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ สำนักสงฆ์ธรรมจักรคีรีวง ( หนองเอื้อง ) จังหวัดเพชรบุรี
10 ธันวาคม พ.ศ.2526 จึงย้ายสำนักไปอยู่ที่ วัดศีรษะทอง ตำบลศีรษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เหตุที่ย้ายเนื่องจากประชาชนชาวศีรษะทองนิมนต์มาอยู่เพื่อเป็นอาจารย์ ทางวัดศีรษะทองรับเข้าสำนักเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2526 และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศีรษะทองอยู่ได้ระยะหนึ่ง
ต่อมา สำนักโอภาสี หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดย พระณรงค์ศักดิ์ ได้นิมนต์ให้มาช่วยสร้างวัดระยะหนึ่ง และได้สร้างเหรียญเสมาหล่อโบราณรุ่นแรก ชื่อว่า หน้าการ์ตูน และ ถุงเงิน-ถุงทอง แม่นางกวัก 8 ทิศ
 |
ทำพิธีอธิษฐานจิต และปลุกเสกวัตถุมงคลของท่านเอง ด้วยความเชื่อมั่น และทุกครั้งท่านจะต้องระลึกถึง ครูบาอาจารย์ของท่านเสมอ ทำให้วัตถุมงคลของ หลวงพ่อจืดเป็นที่นิยมและเชื่อถือของประชาชนทั่วไป |
การศึกษาอบรม
พ.ศ.2504 สอบนักธรรมชั้นตรี ได้ในสนามหลวง วัดโพรงมะเดื่อ สำนักเรียนวัดธรรมศาลา
พ.ศ.2506 สอบนักธรรมชั้นโท ได้ในสนามหลวง วัดสรรเพชญ์ สำนักเรียนวัดมงคลจินดาราม ( ไร่ขิง )
พ.ศ.2507 สอบนักธรรมชั้นเอก ได้ในสนามหลวง วัดสรรเพชญ์ สำนักเรียนวัดมงคลจินดาราม ( ไร่ขิง )
 |
พิธีไหว้ครู |
การศึกษาพุทธาคม ในระหว่างที่อุปสมบทอยู่วัดธรรมศาลา ได้มีโอกาสศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและอยู่ใกล้ชิดกับ หลวงพ่อน้อย อินฺทสโร เจ้าอาวาสวัดธรรมศาลา ทำให้ซึมซับคำสั่งสอนจากหลวงพ่อน้อย และเห็นปฏิปทาศีลวัตรสัจคุณงดงาม แนวทางปฏิบัติธรรมจึงมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เชื่อมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น จึงไม่ลาสิกขาบท ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียน สอบได้นักธรรมตรี โท เอก ตามลำดับ ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน วิชาอาคมจาก หลวงพ่อน้อย อินฺทสโร ทั้งได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้เขียนยันต์จารอักขระ เลขยันต์ต่างๆ ไปด้วย
นอกจากการศึกษาพุทธาคมจากครูบาอาจารย์แล้ว หลวงพ่อจืด นิมฺมโล มีความสนใจในการศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคม จากครูบาอาจารย์หลายรูปที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยนั้น
 |
เหรียญเสมา หน้าพระราหู-หลังหลวงพ่อน้อย (ออกวัดศีรษะทอง หลวงพ่อจืดสร้าง) |
 |
พระราหู กะลาตาเดียว หลังจารยันต์ พิมพ์เสมา |
หลวงพ่อจืด นิมฺมโล ได้ตัดสินใจออกจาริกแสวงหาความสงบวิเวกตามป่าเขา ได้มีโอกาสพบกับครูบาอาจารย์ที่เก่งๆ หลายรูป ต่อมาท่านได้รับนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่วัดศีรษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก พระอาจารย์สม ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อน้อย นาวารัตน์ วิชาการสร้าง พระราหู ด้วยกะลาตาเดียว หรือ กะลามหาอุด ตามตำรับ โดยเฉพาะการจารอักขระขอม ลาว เป็นพระคาถาสุริยะประภา และ จันทรประภา ลงกะลาตาเดียว และเป็นรูปพระราหูอมจันทร์ หรือราหูอมพระอาทิตย์
 |
พระราหู กะลาตาเดียว หลังจารยันต์ |
นอกจากนี้ หลวงพ่อจืด นิมฺมโล ยังได้รับการถ่ายทอดวิชาการสร้าง พญาต่อเงิน พญาต่อทอง จากตำราของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เมืองชัยนาท ซึ่งท่านใช้วิชาปลุกเสกพญาต่อเงิน พญาต่อทอง จนมีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น
- ศึกษาตำราของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
- ศึกษาตำราของ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก
- ศึกษาวิชาอาคมของ หลวงปู่นาต เสือสมิง จากหลวงพ่อไข่
- ศึกษาตำราของ หลวงพ่อจ้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ศึกษาตำราจากอาจารย์เขมร ( จำชื่อไม่ได้ ) แก้โรคถูกกระทำ
- ศึกษาตำราย่างหุ่น แทงหุ่น รักษาโรค จากพระครูแช่ม วัดเกาะหลัก
- ศึกษาตำรายาจาก อาจารย์ชุบ และตำราอาบน้ำว่านและฝังเข็ม
- ศึกษาการลงน้ำมัน 7 เสาร์ 7 อังคาร ตับทองแดง จากอาจารย์น้อย ( เป็นฆราวาส )
จะเห็นได้ว่า การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อจืด นิมฺมโล ทุกครั้ง ท่านมีความตั้งใจใช้สมาธิจิตอย่างมุ่งมั่น ตามตำรับตำราโบราณของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ศึกษามา เช่น การสร้าง พระพิมพ์ชนะมาร รุ่นแรก ของท่าน ท่านชักผงพุทธคุณและว่านต่างๆ โดยท่านไปหาเก็บว่านเองที่เขาตาธี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในสมัยนั้นได้ทำตามตำรับสร้างพระของหลวงปู่ทวด
หลวงพ่อจืด นิมฺมโล กับการสร้างสวนปฏิบัติธรรมโพธิเศรษฐี จากที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ความนำ ก่อนที่จะมีสวนปฏิบัติธรรม โพธิเศรษฐี นั้น หลวงพ่อได้รับนิมนต์ให้มาอบรมการปฏิบัติธรรมให้กับชาวตำบลบ่อพลับหลายครั้ง เดินมาบิณฑบาตกับพระลูกศิษย์ พระอาทิตย์ ( จ้อน ) ฉิมพาลี พากันไปสำรวจบริเวณทุ่งนาและสวนมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่กลางทุ่งนา ต่อมาชาวบ้านต้องการให้สร้างวัดขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจในทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากตำบลบ่อพลับไม่มีวัด ท่านจึงพิจารณาว่า “ เป็นภาระที่หนัก ” โดยเฉพาะวัดที่จะสร้างใหม่จากจุดเริ่มต้นที่เป็นศูนย์ ไม่มีอะไรเลย
 |
พญาต่อ เนื้อทองเหลือง พ.ศ.2540 |
 |
พญาต่อ เนื้อทองเหลือง พ.ศ.2541 |
 |
พญาต่อ เนื้อทองเหลือง พิมพ์จัมโบ้ พ.ศ.2544 |
 |
พญาต่อ เนื้อโลหะผสม พ.ศ.2545 |
“ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานขอบารมีจากหลวงพ่อน้อย อินฺทสโร, หลวงพ่อน้อย นาวารัตน์ และหมอสม ผู้เป็นครูบาอาจารย์ ขอใช้วิชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งเป็นการสืบทอดวิชาความรู้พุทธาคม และการปฏิบัติธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนาต่อไป ”
 |
อาจารย์จืด นิมฺมโล ศิษย์หลวงพ่อน้อย อินทสโร |
บุคคลแรกที่ท่านไปขอคำปรึกษา คือ อาจารย์ทินกร ศศิโรจน์ อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีบูรณะ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ปี พ.ศ.2499 ท่านเป็นคนตำบลบ่อพลับ โดยเดินทางไปกับ พระอาทิตย์ ( จ้อน ) ฉิมพาลี ที่บ้านของท่านอาจารย์ทินกร ศศิโรจน์ โดยมีวัตถุประสงค์จะสร้างวัดขึ้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อพลับ ซึ่งได้ดูสถานที่และบริเวณมาแล้ว ต่างฝ่ายเห็นดีด้วย หลังจากนั้น อาจารย์ทินกร ศศิโรจน์ จึงไปขอคำปรึกษาจาก นายพิณ กันตะเพ็ง อดีตศึกษาธิการอำเภอกำแพงแสน และ นายเจรียง สัตยาพันธุ์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนศาลเจ้าวัดกลาง ( โรงเรียนบ้านบ่อพลับในปัจจุบัน ) ทั้งสองท่านเป็นชาวบ่อพลับเช่นเดียวกัน เห็นดีด้วยจึงเริ่มบริจาคทรัพย์คนละ 10,000 บาท รวมเป็น 20,000 บาท โดยเปิดบัญชีเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างวัด จะให้ใช้ชื่อว่า “ วัดกลางโพธิเศรษฐี ” จากจุดเริ่มต้นครั้งนี้ การสร้างสวนปฏิบัติธรรม โพธิเศรษฐี จึงเริ่มขึ้น บนพื้นที่ดินบริเวณนี้ทั้งหมดซึ่งเดิมเป็นที่ดินของบรรพบุรุษ ผู้ตั้งนามสกุล มณฑาสุวรรณ เจ้าของเดิมคือ นายทอง ต้นตระกูล มณฑาสุวรรณ ต่อมาได้มอบมรดกให้ นายไป๋ มณฑาสุวรรณ จนมาเป็นสมบัติของลูกหลานเหลน จึงได้ขายให้เพื่อสร้างวัด
 |
อาจารย์จืด นิมฺมโล |
ในระหว่างที่ดำเนินการพัฒนาสร้างสวนปฏิบัติธรรมอยู่นั้น มีพระลูกศิษย์มาคอยดูแลอยู่ใกล้ชิด ช่วยเหลือหลวงปู่อยู่เป็นประจำ ได้แก่ พระมหาเกรียงศักดิ์ ฉนฺทยตฺโต พระปณิต ฐิติสํวโร พระอาทิตย์ ( จ้อน ) ฉิมพาลี และได้มีการทำบุญเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2536
ต่อมาจัดสร้างศาลามุงจากให้หลวงพ่ออยู่กับพระลูกศิษย์ และวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2537 ตรงกับวันออกพรรษา ตักบาตรเทโวโรหนะ แรม 1 ค่ำ จึงเป็นวันแรกที่เริ่มก่อตั้งสวนปฏิบัติธรรมโพธิเศรษฐี นับเป็นวันแรกของการสร้างวัด มีการพัฒนาขึ้น มีศาสนสถาน ศาสนวัตถุ จัดสวน ร่มไม้ไพรพฤกษ์ ร่มเย็นเขียวขจี สวยสะอาดเป็นธรรมชาติ สงบเหมาะสมในการปฏิบัติธรรม
ต่อมาได้รับประกาศตั้งเป็น วัดโพธิ์เศรษฐีวนาราม สังกัด คณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2558 และ หลวงพ่อจืด นิมฺมโล ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น เจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นมา ท่านจึงเป็นปฐมเจ้าอาวาสของ วัดโพธิ์เศรษฐีวนาราม
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1199 “ หลวงพ่อจืด ” วัดโพธิ์เศรษฐีวนาราม อ.เมือง จ.นครปฐม ปักษ์หลัง เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2559 ราคาปก 60 บาท )
วันนี้! อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้
สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า..
Available Now! You can read whenever, wherever with any device.
#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อจืด #วัดโพธิ์เศรษฐีวนาราม #จ.นครปฐม