ผู้สืบทอด เบี้ยแก้วัดนายโรง “ พระอาจารย์สุรัฐ สิริปุญโญ ”

ภาพและเรื่องโดย สุธน ศรีหิรัญ

เบี้ยแก้ วัดนายโรง
เบี้ยแก้ วัดนายโรง
เบี้ยแก้ ที่โด่งดัง ” มีสองสำนักคือ วัดนายโรง บางกอกน้อย กรุงเทพฯ และ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม นับว่าทั้งสองสำนักนี้มีวิชาเหมือนกัน สืบทอดมาจากแหล่งต้นกำเนิดเดียวกัน ทางสาย วัดนายโรง นั้นสืบค้นไปจนถึงที่สุด ยุติอยู่ที่ “ หลวงปู่แขก ” วัดบางบำหรุ บางกอกน้อย บริเวณวัดอยู่ติดกับ วัดนายโรง ส่วนสายวัดกลางบางแก้ว ไปยุติอยู่ที่ “ หลวงปู่ทอง ” วัดคงคาราม ( วัดกลางบางแก้ว ) แต่หลักฐานทางวัตถุคือ “ ตัว เบี้ยแก้ ของทั้งสององค์นี้ไม่มีใครได้พูดถึง สืบค้นไปไม่ได้ว่าท่านสร้างไว้หรือไม่ มีเพียงคำเล่ากันมาว่า “ มี ” แต่น้อย และไม่รู้จะดูอย่างไร คนที่มีชีวิตทันก็ล่วงหายตายจากไปหมดแล้ว พูดง่ายๆ ว่า ไม่รู้แน่ชัด เอาแค่ว่า “ มี ” เท่านั้น

หลวงปู่รอด วัดนายโรง
องค์ที่สืบทอดต่อมาและโด่งดังเป็นที่รู้จักกันในสาย วัดนายโรง ก็คือ “หลวงปู่รอด” ส่วนทางสาย วัดกลางบางแก้ว ก็คือ “หลวงปู่บุญ” ทั้งสองนี้เป็นเกจิอาจารย์ร่วมสมัย อ่อนแก่กว่ากันคงไม่มาก เพราะประวัติวันเดือนปีเกิดและตายของ “ หลวงปู่รอด ” นั้นไม่มีใครรู้ แม้ที่วัดก็มีเพียงภาพถ่ายให้เห็น สองภาพ ส่วน “ หลวงปู่บุญ ” นั้นเกิดเมื่อปี พ.ศ.2391 ( ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ) และมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2478 อายุได้ 87 ปี คนแก่คนเก่าแถว วัดนายโรง บอกเพียงว่า “ หลวงปู่รอด ” มรณภาพเมื่ออายุได้ 85 ปี ดังนั้นคงอ่อนแก่กว่ากันไม่มากนัก ลักษณะ เบี้ยแก้ ของทั้งสองสำนักนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน แต่ “ เบี้ยแก้วัดนายโรง ” นั้นโด่งดังมาก อาจเป็นเพราะสมัยนั้นท่านอยู่ใกล้เมืองหลวง ผู้คนลูกศิษย์ลูกหามาก แต่ เบี้ยแก้ วัดกลางบางแก้ว ” อยู่ไกลไปถึงนครปฐม การคมนาคมคงลำบากมีคนไปมาหาสู่ไม่ได้ ความแพร่หลายย่อมน้อยกว่า เพิ่งมาดังในภายหลังที่ผู้เขียนนำมาเผยแพร่หลายปีมาแล้ว


เบี้ยแก้ วัดนายโรง
เบี้ยแก้ วัดนายโรง
เครื่องรางซึ่งเรียกว่า “ เบี้ยแก้ ” ของหลวงปู่รอดและหลวงปู่บุญ นับว่ามีความเข้มขลังเหลือประมาณ และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ “ หลวงปู่รอด ” และ “ หลวงปู่บุญ ” สิ่งแรกที่คนทั่วไปนึกถึงมักจะเป็น “ เบี้ยแก้ ” ถึงแม้ เบี้ยแก้ จะสร้างกันหลายสำนักก็ตาม แต่ เบี้ยแก้ ของหลวงปู่รอดและหลวงปู่บุญก็โดดเด่นขจรขจายกิตติคุณเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป เพราะ เบี้ยแก้ ของหลวงปู่มีอานุภาพการใช้ประสิทธิ์เกรียงไกร ยิ่งใหญ่มหาศาล ประสบการณ์ลือชาปรากฏยิ่งนัก คนรู้จักตั้งแต่อดีต ศิษย์หลวงปู่รอดและหลวงปู่บุญหากไม่มี เบี้ยแก้ ของหลวงปู่ก็ดูจะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่าเป็นศิษย์ของท่านอย่างแท้จริง

ผู้เขียนได้ติดตามศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงมาเป็นเวลายาวนานพอสมควร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความสัตย์จริง เพื่อนำมาเผยแพร่ให้ผู้อ่านได้ทราบนั้น ผู้เขียนขอนำความเรื่อง “ เบี้ยแก้ ” ซึ่งท่านบูรพาจารย์ที่ผู้เขียนมีความเคารพนับถือท่าน ได้เคยเขียนไว้มาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบความเป็นมาเบื้องต้น คือข้อเขียนของ “ อาจารย์ตรียัมปวาย ” ซึ่งท่านได้พรรณนาเรื่อง เบี้ยแก้ ไว้ในอีกทัศนะหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจยิ่ง


โบสถ์วัดนายโรง
คำว่า “ เบี้ยแก้ ” นอกจากจะแสดงว่าเป็นเครื่องรางป้องกันสรรพอันตรายต่างๆ แล้ว ยังมีความหมายถึงว่าเป็นวัตถุเครื่องป้องกัน และแก้การกระทำทางคุณไสย ตลอดจนยาสั่งและไข้ป่า เป็นอิทธิวัตถุที่มีลักษณะท้าทายอย่างเปิดเผยต่อการปล่อยคุณไสย และการกระทำย่ำยีในฝ่ายกาฬไสยทั้งปวง ดังนี้จึงเป็นสิ่งที่ประกาศกิตติคุณแก่ผู้สร้างไปในตัว เพราะถ้าหากว่าผู้ที่ใช้ เบี้ยแก้ ติดตัวอยู่แล้วไปถูกคุณไสยหรือของที่เขาปล่อยมาเข้า ก็จะนำความเสื่อมศรัทธามาสู่ผู้สร้าง เบี้ยแก้ โดยตรง แต่การณ์ปรากฏว่า นับตั้งแต่หลวงปู่รอดและหลวงปู่บุญยังมีชีวิตอยู่ได้สร้าง เบี้ยแก้ และประสิทธิ์ประสาทแก่ผู้คนไปแล้วก็ไม่น้อยนัก ซึ่งได้ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นช่วงระยะกาลเกินกึ่งศตวรรษแล้วยังไม่เคยมีผู้ใดที่ใช้ “ เบี้ยแก้ ” ของหลวงปู่ทั้งสองแล้วไปต้องคุณไสยเลย แม้สักรายเดียว


ตำนานการอิทธิวัตถุ เบี้ยแก้ นั้น นับว่ามีพื้นฐานที่มาลึกซึ้งพอสมควร ชาวไทยเรามีความนิยมนับถือ  เบี้ย หรือ “ จั่น ” กันมาแต่ครั้งกาลนานแล้ว คนไทยโบราณนับถือเบี้ยว่าเป็นเครื่องหมายของ “ เทพเจ้า ” นิยมเอามาห้อยคอเด็ก เป็นมงคลวัตถุเครื่องรางส่งต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้คนไทยในครั้งกระโน้นยังเคยเอา เบี้ย หรือจั่นมาใช้เป็นเงินตราอีกด้วย


เบี้ยแก้ วัดนายโรง
“ กาญจนานาคพันธุ์ ” ได้ค้นคว้าและอธิบายเรื่อง เบี้ย หรือจั่นเอาไว้ ความว่า นอกจากการนับถือพระคเณศเป็นเทวดาสำคัญตามลัทธิพราหมณ์ในสยาม ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นคติพราหมณ์องคราษฎร์ ก็ยังมีจารีตประเพณีอื่นๆ อีกที่เข้าใจว่าไทยเราได้พราหมณ์องคราษฎร์มาเป็นครู ท่านผู้อ่านคงเคยรู้จัก  เบี้ย จั่น” ตัวเล็กๆ ที่ไทยเอาใช้แทนเงินตราในสมัยก่อน เบี้ย นี้ส่วนมากมาจาก เกาะมัลดีฟ ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ถัดเกาะลังกาไปทางทิศตะวันตก ในสมัยโบราณปรากฏว่าแคว้นองคราษฎร์ใช้ เบี้ย จั่นเป็นเงินตราในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ชาวองคราษฎร์ไปแลกเบี้ยจากชาวเกาะสำหรับมาใช้เป็นเงินในแคว้น


เบี้ยแก้ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
การใช้ เบี้ย ต่างเงินตราของไทยในสมัยโบราณ จึงอาจจะเป็นประเพณีมาจากแคว้นองคราษฎร์ มีข้อถืออันหนึ่งที่พอจะนับว่าเป็นเครื่องสนับสนุนการสันนิษฐานข้อนี้ก็คือ ความคล้ายกันใน เรื่องนับถือ เบี้ย  ชาวองคราษฎร์ถือว่า เบี้ย นั้นเป็น พระลักษมี เขาบูชา เบี้ย ด้วย ส่วนไทยโบราณก็นับถือ เบี้ย คล้ายกับเป็นเทวดาองค์หนึ่ง ตามปกติมักจะ  นิยมเอา เบี้ย มาห้อยคอเด็ก นับถือว่าเป็น เครื่องราง อันหนึ่งในทาง โชคลาภ และ คุ้มกันสรรพอันตรายต่างๆ

ในวรรณคดีเก่าของไทยกล่าวถึงการบน เบี้ย อันเป็นการแสดงว่าไทยนับถือ เบี้ย เป็นเทวดาศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนนางเทพทองเจ็บท้องจะคลอดขุนช้าง มีกลอนว่า

“บ้างก็เสกมงคลปรายข้าวสาร
เอา เบี้ย บนลนลานเหน็บฝาเกลื่อน”

และในเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาลอยไปหาจินตะหรา ก็มีคำประสันตาว่า
“ จะแต่งเครื่องสังเวยให้มากมาย
ข้าจะกินถวายเทวัญ
ว่าพลางทางแกว่งเบี้ยบน
ทำตามเล่ห์กลคนขยัน ”


จิตรกรรมหลังองค์พระประธาน ช่างเขียนแห่งวัดนายโรง บรรจุเรื่องราวในพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์
ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ที่ไตรโลกถูกเปิดให้สรรพสัตว์ในสามโลกแลเห็นซึ่งกันและกัน
ภาพที่วาดจึงเป็นภาพเล่าเรื่องไตรภูมิที่สมบูรณ์แบบและงดงามอย่างมีชั้นเชิง โดยกำหนดภาพนรกภูมิทางมุมซ้ายล่าง
ศูนย์กลางคือภาพพระพุทธองค์ขณะเสด็จลงจากดาวดึงส์ทางบันไดแก้ว รายรอบด้วยหมู่เทวดา อินทร์ พรหม
นำสายตาด้วยมวลเมฆขนาดใหญ่ที่พุ่งเข้าหาศูนย์กลาง โดยมีหมู่เทวดาวางตัวอยู่หลังมวลเมฆอย่างงดงาม
เชื่อมโยงโลกทั้งสามด้วยมนุษย์ที่รอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และพากันชี้ชวนดูปรากฏการณ์สำคัญ
ของการเปิดไตรโลกให้เห็นประจักษ์แก่กันและกัน
การนับถือ เบี้ย เป็นของศักดิ์สิทธิ์นี้ น่าจะเชื่อได้ว่าไทยเราจะต้องถือตามพราหมณ์องคราษฎร์ก็เป็นได้
หลักฐานกฎหมายไทยโบราณ ที่แสดงถึงความนิยมนับถือ เบี้ย จั่นของไทยแต่โบราณว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระลักษมีนั้น ก็ได้มีปรากฏอยู่โดยของพระลักษมีนั้นไปอยู่ในกฎหมายโบราณ ซึ่งใช้คำเรียก เบี้ย จั่นว่า “ ภควจั่น ” ดังกล่าวความตอนหนึ่งว่า

“ จะแต่งบุตรและหลาน ก็ให้ใส่แต่ จี้เสมาภควจั่นจำหลัก ประดับพลอยแดงเขียวเท่านั้น อย่าได้ประดับเพชรถมยาราชาวดี ลูกประหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยงเกี้ยว อย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ แลอย่าให้ใส่กระจับปิ้ง พริกเทศทองคำ กำไลทองใส่เท้า และห้ามอย่าให้ช่างหล่อทั้งปวงรับจ้างทำ จี้เสมาภควจั่นประดับเพชรถมยาราชาวดี และกระจับปิ้ง พริกเทศทองคำ กำไลเท้าและแหวนถมยาราชาวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยแลอาณาประชาราษฎร์ ช่างทองกระทำผิดถ้อยอย่างธรรมเนียม แต่ก่อนจะเป็นโทษอย่างหนัก.. ”

คำว่า “ ภควจั่น ” นี้ แยกออกเป็น 2 คำด้วยกัน คือ “ ภคว ” คำหนึ่ง ซึ่งเป็นคำย่อของ “ ภควดี ” อันมีความหมายถึงสมญานามของ “ พระลักษมี ” และ “ จั่น ” นี้นะเป็นอีกคำหนึ่ง ซึ่งเป็นคำสามัญหมายถึง “เบี้ยจั่น ” ดังกล่าวนั่นเอง ฉะนั้นคำว่า “ ภควจั่น ” จึงมีความหมายว่า เบี้ย จั่นอันเป็นเครื่องหมายของพระลักษมี ”


อนึ่ง กฎหมายโบราณฉบับนี้ แสดงถึงระบบการแบ่งชั้นวรรณะของไทยในสมัยโบราณ ไม่ยอมให้สามัญชนห้อยเสมาภควจั่นประดับเพชรและลงยาราชาวดี เพื่อสงวนไว้สำหรับลูกเจ้าหรือลูกขุนนางชั้นสูงเท่านั้น อนุญาตให้ห้อยได้เพียงจี้ภควจั่นที่เลี่ยมทองจำหลักฝังพลอยธรรมดาๆ  เท่านั้น

เมื่อยุคนี้เป็นยุคประชาธิปไตย ซึ่งกฎหมายโบราณที่ไร้สาระดังกล่าวได้เลิกราไปช้านานแล้ว ฉะนั้นถ้าใครมี “ เบี้ยแก้ ” ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ก็ควรจะทำตลับทองคำลงยาราชาวดี สวมใส่เสีย หรือผู้มีฐานะดีก็อาจจะประดับเพชรเสียด้วย ก็ไม่เห็นว่าจะมีอุปสรรคอันใดมาขัดข้อง และ เบี้ยแก้ ก็คือ “ ภควจั่นวิเศษสุดที่ได้รับการบรรจุด้วยปรอทสำเร็จพุทธคุณแล้ว ” นั่นเอง

การสร้าง เบี้ยแก้  ก็คือการบรรจุปรอทที่ปลุกเสกแล้วเข้าไปในตัว เบี้ย จั่นแล้วหาวิธีอุดเอาไว้มิให้ปรอทหนีหายหรือออกมาข้างนอกได้ ฉะนั้นเกี่ยวกับการใช้ปรอทสร้าง เบี้ยแก้ จึงมีลักษณะตรงกันข้ามกับการทำ ลูกอมปรอท ลูกสะกดปรอท พระปรอท หรือ เมฆสิทธิ์ ลักษณะต่างๆ เช่น ทองแดง เงิน ตะกั่ว และ ทองคำ เป็นต้น บางทีก็เรียกว่า “ ปรอทที่ฆ่าตายแล้ว ” ซึ่งจะมีความหมายลึกซึ้งประการใดก็ยังไม่แน่ชัดนัก ส่วนปรอทที่ใช้บรรจุในตัว เบี้ย จั่นนั้นเป็น ปรอทเป็น หรือ ปรอทดิน เวลาเขย่า เบี้ยแก้ ใกล้ๆ หูจะได้ยินเสียงปรอทกระฉอกไปมาเสียงดัง “ ขลุกๆ ” ซึ่งเรียกกันว่า “ เสียงขลุก ” ของปรอท  ดังชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณของปรอทที่บรรจุเอาไว้ ปริมาตรของโรงในท้อง เบี้ย  และอุณหภูมิของฤดูกาลในขณะนั้นๆ ถ้าหากการสร้าง เบี้ยแก้ กระทำในฤดูร้อน บรรจุปรอทมากจนเต็มปริมาณของปริมาตร และเขย่าฟังเสียงในฤดูร้อนจะฟังเสียงไม่ค่อยได้ยิน แต่ เบี้ยแก้ ตัวนั้นลองเขย่าและฟังเสียงในฤดูหนาวที่อากาศเย็นๆ จะได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น


เมื่อนำปรอทมาปลุกเสกเรียบร้อยแล้ว ก็กรอกปรอทลงไปในท้อง เบี้ย จั่นพอประมาณ เอา ชันโรง ใต้ดินที่ปลุกเสกแล้วอุดยาบริเวณปากร่องใต้ท้อง เบี้ย ให้สนิทเรียบร้อย แล้วจึงหุ้มตะกั่วแล้วลงอักขระ จากนั้นจึงหุ้มด้วยผ้าสีแดงที่ลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกแล้ว เสร็จจากนั้นจึงเอาด้ายถักหุ้มเป็นลวดลายงดงาม แล้วลงรักปิดทอง เบี้ย ตอนหัวของ เบี้ย มักจะเอาลวดลายทองแดงขดเป็นห่วงเพื่อให้ใช้คล้องสร้อยแขวนคอหรือทำเป็น 2 ห่วง ไว้ใต้ท้อง เบี้ย โดยฝังไว้ใต้ลายของด้ายถักสำหรับร้อยเชือกคาดเอวก็มี

เบี้ยแก้ ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ต่างกับ เบี้ยแก้ ของ หลวงปู่รอด วัดนายโรง ตรงที่ หุ้มผ้าแดงลงอักขระ เพราะของหลวงปู่รอด ใช้ตะกั่วหุ้ม แล้วจึงลงอักขระบนพื้นตะกั่วรอบตัวเบี้ย แต่ของหลวงปู่บุญนอกจากจะหุ้มตะกั่วและลงอักขระแล้ว ส่วนใหญ่จะหุ้มผ้าแดงลงอักขระห่อหุ้มอีกครั้งหนึ่งก่อนถักทับ การที่ทราบเช่นนี้ได้ก็เพราะมีผู้อุตริสอดรู้สอดเห็นบางคนเคยผ่า เบี้ยแก้ ของทั้ง 2 สำนักนี้ดู ยังได้ปรากฏหลักฐานการห่อหุ้มอิทธิวัตถุชั้นในภายใต้ด้ายถักลงรักซึ่งเป็นเปลือกหุ้มด้านนอกออกดูดังกล่าว


หลวงปู่รอด วัดนายโรง
ลักษณะการถักด้ายหุ้มด้านนอกเท่าที่สังเกตดู ถ้าเป็น เบี้ยแก้ ของหลวงปู่บุญจะมีการ ถักด้ายหุ้มตลอดตัวเบี้ย และเป็นลายถักเรียบๆ สม่ำเสมอกัน ตลอดตัวเบี้ย ส่วน เบี้ยแก้ ของหลวงปู่รอดจะปรากฏทั้งแบบที่ถักหุ้มตลอดตัว เบี้ย และถักเว้นวงว่างกลมๆ ไว้บริเวณกลางหลัง เบี้ย และลายถักก็มีทั้งแบบลายเรียบสม่ำเสมอกัน กับ แบบลายสอง แต่ข้อสังเกตอันนี้จะถือเป็นข้อยุติแน่ชัดตายตัวนักคงจะไม่ได้ เพราะยังมีลักษณะอื่นๆ ละเอียดอีกหลายประการ

เสียง “ ขลุก ” ของปรอทจากการสังเกต “ เสียงขลุก ” ของปรอทในขณะที่เขย่า เบี้ยแก้ ที่ริมหูจะได้ยินเสียงกระฉอกไปมาของปรอทภายในท้อง เบี้ย สำหรับของทั้งสองสำนักดังกล่าวจะมีเสียงขลุกคล้ายคลึงกันมาก กล่าวคือจะมีลักษณะเป็น เสียงกระฉอกของปรอท ซึ่งสะท้อนไปสะท้อนมาหลายทอด หรือหลายจังหวะ ชะรอยการบรรจุปรอทจะต้องมีเทคนิค หรือกรรมวิธีที่แยบคายบางประการ เช่น การบรรจุปรอทในปริมาณที่พอดีกับปริมาตรภายในท้อง เบี้ย คือให้เหลือช่องว่างไว้พอสมควร ให้ปรอทได้มีโอกาสกระฉอกไปมาได้สะดวกและแน่นอนเป็นการบรรจุปรอทที่มีจำนวนใกล้เคียงกันกับขนาดของเบี้ย

เบี้ยแก้ บางตัวจะมีเสียงขลุกไพเราะมาก เป็นเสียงขลุกที่มีหลายจังหวะ และหลายแบบ คือมีทั้งเสียงหนักและเสียงเบาสลับกันไป อุปมาเหมือนกับชั้นเสียง ส่วน เบี้ยแก้ บางตัวที่บรรจุปรอทน้อยเนื่องจากขนาดตัว เบี้ย ใหญ่ การกระฉอกของปรอทคล่องแคล่วดี แต่เสียงขลุกขาดความหนักแน่น ไม่เหมือนกับที่มีขนาดพอดี

กรรมวิธีในการทำ เบี้ยแก้ ทั้งของ วัดนายโรง และ วัดกลางบางแก้ว เหมือนกัน ผู้ที่ต้องการ เบี้ยแก้ จะต้องหาของที่ใช้ในการสร้างไปให้ครบ ดังนี้คือ
- ปรอทหนัก 1 บาท
- เบี้ย ( หอย ) บางรายจะนับให้ได้ฟัน 32 ซี่
- ชันโรงใต้ดิน



จิตรกรรมผนังด้านข้างองค์พระประธาน เบื้องสูงของผนังทั้งสองข้าง
เป็นเรื่องราวสอดรับกับพระประธานปางสมาธิ อันหมายถึงการบรรลุพระโพธิญาณ
 เป็นเวลาเดียวกับที่ทวยเทพทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันแซ่ซ้องสรรเสริญ

รวมทั้งเหล่าอดีตพระพุทธเจ้าร่วมกันสาธุการ ภาพอดีตพระพุทธเจ้า
ถูกช่างเขียนวาดเรียงวางระยะอยู่บนสุด มีอัครสาวกซ้ายขวานั่งอภิวาท
คั่นด้วยฉัตรที่มีพวงอุบะดอกไม้ทิพย์สะบัดไหว เหนือขึ้นไปมีเหล่าเทวดาเหาะ
นำเครื่องสักการะมาน้อมบูชา ท่ามกลางหมู่เมฆลอยล่อง
บอกถึงความสูงสุดของระยะอย่างมีนัยสำคัญ น่าสนใจยิ่ง
ด้วยจินตนาการของช่างเขียน ได้วาดเทวดาจีนนำอาหารคาว
เป็นกระต่ายทั้งตัวหรือแพะมาถวาย และอีกมือหนึ่งถือขวดเหล้าฝรั่ง
มาเส้นสังเวยตามธรรมเนียมจีน
เบี้ยแก้ ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง ขนาดโดยทั่วไปจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ประมาณโตกว่าหัวแม่มือเล็กน้อย และมักจะถักหุ้มด้วยเชือกซึ่งมีอยู่สองแบบคือ ถักหุ้มเต็มตัว และถักหุ้มเปิดหลัง เส้นด้ายและลายถักมีทั้งการถักด้วยด้ายเส้นละเอียดและเส้นหยาบใหญ่ ลวดลายที่ใช้เป็นลายสองคู่ขนานเรียบๆ ไม่มีการเล่นเส้นแบบยกขอบ บางครั้งลายที่ถักแลดูเป็นสายแน่น บางอันที่พบอาจเป็นลายหลวมก็มี สำหรับที่ร้อยเชือกด้านท้อง เบี้ย มีสองลักษณะเช่นกันคือ แบบใช้ห่วงทองแดงใส่ไว้ในลายถักห่วงเดียวก็มี สองห่วงคู่ก็มี ห่วงดังกล่าวนี้เป็นห่วงอิสระแยกจากกัน แตกต่างจากของหลวงปู่บุญซึ่งเป็นห่วงคู่แนบแกนติดต่อกัน นอกจากนี้ที่เป็นห่วงเชือกที่ถักขึ้นต่อเนื่องกับลายก็มีทั้งเดี่ยวและคู่ ส่วนอีกแบบหนึ่งคือใช้หลอดคล้ายตะกรุดทองแดงฝังไว้ในลายถัก โดยใช้ถักหุ้มไว้แล้วเปิดช่องสองข้างสำหรับร้อยเชือก

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การลงรักของ วัดนายโรง มักจะลงน้ำเกลี้ยงค่อนข้างบาง ไม่เคยพบชนิดหนามาก่อน บางอันใช้ด้ายสีเหลืองอ่อนถักโดยไม่ลงรักก็มี บางอันที่ใช้ย้อมยางมะพลับก็มีแต่เป็นส่วนน้อย

“ วิชาการทำ เบี้ยแก้ วัดนายโรง  ได้เว้นช่วงไปหลังจาก “ หลวงปู่รอด ” มรณภาพ จะมีก็เพียง “ หลวงพ่อทัศ วัดคฤหบดี ” ศิษย์ของท่านที่สร้างไว้บ้างแต่ไม่แพร่หลายมากนัก ส่วน “ หลวงพ่อฉาย วัดบางบำหรุ ” ก็มีสร้างบ้างแต่น้อยมาก ผู้ที่เรียนไว้อีกองค์หนึ่งคือ  “ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ” แต่ก็ไม่เคยได้สร้างไว้เลย มีเพียงครั้งหนึ่งผู้เขียนและคุณแล่ม จันทพิศาโล ไปขอให้สร้าง แต่ก็ไม่ได้มา  บางคนว่า “ หลวงพ่อรัตน์ วัดบางบำหรุ ” เคยสร้างไว้น้อยมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นและทราบแน่ชัด จน เบี้ยแก้ สาย วัดนายโรง เกือบจะสิ้นสูญไปแล้ว

ประวัติ วัดนายโรง สร้างโดย “ เจ้ากรับ ” เป็นสามัญชน แต่ที่ถูกเรียกขานเป็นถึงเจ้านั้น อาจด้วยบทบาทการแสดงที่โดดเด่นในฐานะเป็นตัวพระ ซึ่งตามท้องเรื่องในละครต้องเล่นเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เจ้ากรับแม้ว่าจะเป็นเพียงสามัญชน แต่ก็มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ทางการละครของกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงขนาดที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สืบค้นเรื่องราวของเจ้ากรับ และบันทึกไว้ในส่วนหนึ่งของหนังสือ ตำนานเรื่องอิเหนา ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เจ้ากรับ เกิดในรัชกาลที่ 1 เมื่อปีขาล พ.ศ.2349 บ้านเดิมอยู่หลังวัดระฆัง เดิมมีพี่ชายคนหนึ่ง ตกน้ำหายไปขณะที่แม่พาลงเรือพายขายขนม สร้างความเสียใจจนต้องร้องไห้ทุกครั้งที่พายเรือผ่านจุดที่ลูกจมน้ำ ต่อมาหญิงเฒ่าชาวมอญรับทำวิทยาคมให้ได้ลูกคืนมา เมื่อแม่ตั้งครรภ์คลอดได้ทารกเพศชาย จึงตั้งชื่อว่า กลับ สมตามคำของยายมอญรับว่าจะได้ลูกคืนกลับมา

เด็กชายกลับ ได้เรียนรู้การละครจาก ครูทองอยู่ ตัวละครเอกในวังเจ้ากรมหลวงเทพบริรักษ์ ครูทองอยู่มีความชำนาญด้านแต่งกลอนและขับเสภา และยังเป็นผู้ร่วมประดิษฐ์ท่ารำทำบทถวายตามท้องเรื่องบทละครพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 เด็กชายกลับจึงน่าจะเคยผ่านการฝึกฝนท่ารำที่ครูได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ และต้องรำถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ทอดพระเนตรเพื่อทรงแก้ไข นับเป็นโอกาสดีที่เด็กชายกลับได้ร่ายรำและเรียนรู้ถึงขั้นตอนการคิดค้นสร้างต้นแบบแห่งลีลานาฏกรรมชั้นครู

ต่อมา เด็กชายกลับ ได้เข้าร่วมงานเป็นตัว ละครโรงของครูบุญยัง ( เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ ) ซึ่งเป็นครูละครนอกผู้โด่งดังตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1 ครูบุญยัง ตามประวัติคือผู้สร้างวัดละครทำ บ้านขมิ้น ( บริเวณสี่แยกพรานนก ) ด้วยเหตุนี้ จากท่วงท่าลีลาอันงามสง่าของละครหลวงที่เติบโตมา เด็กชายกลับต้องปรับเปลี่ยนวิถีนาฏกรรมเป็นแบบของละครนอกที่รวดเร็วเร้าใจในแบบพื้นบ้าน และสามารถพัฒนฝีมือจนประสบความสำเร็จ มีผู้คน ติด เพิ่มมากขึ้น จากเด็กชายกลับถึงวันนั้นก็ถูกเรียกขานนามใหม่ว่า เจ้ากรับ จนติดปากผู้คนสืบมา

เมื่อครูบุญยังถึงแก่กรรม เจ้ากรับได้รวบรวมและก่อตั้งคณะละครของตนขึ้น จึงมีฐานะเป็น นายโรง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้ทรงอรรถาธิบายความหมายของ นายโรง ไว้ดังนี้


“ ละครนอกที่เล่นกันอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก่อนมาต่างกันเป็น 2 อย่าง คือ เป็นละครมีเจ้าของอย่าง 1 เป็นละครประสมโรงอย่าง 1 ผู้เป็นเจ้าของละครมักเป็นโขนหรือเป็นละครของผู้อื่นอยู่ก่อน ครั้นเล่นดีมีชื่อเสียงแล้ว จึงแยกมารวบรวมพวกพ้องฝึกหัดเล่นเป็นละครขึ้นโรงหนึ่งต่างหาก ดังเช่นนายบุญยังเมื่อรัชกาลที่ 1 และเจ้ากรับเมื่อรัชกาลที่ 3 เป็นตัวอย่าง ตัวเจ้าของละครเป็นครูด้วย และเป็นตัวสำคัญในโรงนั้นด้วย คงมาแต่เหตุนี้จึงเรียกกันว่า นายโรง 

เจ้ากรับได้ย้ายจากบ้านเดิมที่หลังวัดระฆัง ไปอยู่ที่ริมคลองบางกอกน้อย บริเวณปากคลองบางบำหรุ พร้อมๆ กับสมาชิกในคณะละคร มีผู้มาร่วมฝึกหัดเพิมเติมจนสามารถก่อตั้งละครโรงใหญ่ รับงานที่มีผู้มาหาไปเล่น ทั้งงานฉาก งานปลีก แต่ไม่รับงานเหมา

เจ้ากรับขยายกิจการละครของตนให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีผู้คนที่มาฝึกฝนมากขึ้น สะสมเครื่องละครและปี่พาทย์ครบครัน จนสามารถรับงานละครได้ถึง 3 โรงพร้อมๆ กัน เจ้ากรับจึงมีฐานะร่ำรวย จนมีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้ทั่วกรุงในยุคนั้น

ในปี พ.ศ.2397 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชฉลองเปิดคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งทรงโปรดฯให้ขุดเพื่อขยายรัศมีเพิ่มพื้นที่เมืองหลวงออกโดยรอบ งานสมโภชคลองผดุงฯซึ่งมีตลอด 3 วัน เจ้ากรับรับอาสาจัดละครร่วมการฉลองพร้อมกันถึง 7 โรง ตั้งกระจายตลอดความยาวของคลอง 137 เส้น ( ป5.5 กม.ป ) ซึ่งแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองถึงขีดสุดในกิจกรรมละครนอกของเจ้ากรับ ในยุคสมัยที่ละครนอกคือสันทนาการที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชีวิตชาวพระนคร

เจ้ากรับยังได้ผลักดันวัตกรรมการละคร จากเดิมละครนอกใช้นักแสดงทั้งหมดเป็นชาย เจ้ากรับได้พยายามฝึกผู้หญิงมาร่วมแสดงในละครนอกเป็นครั้งแรก แต่งานนี้มีอุปสรรค เพราะตัวละครหญิงที่ฝึกฝนจนมีฝีมือสามารถลงโรง ก็มักถูกผู้มีบรรดาศักดิ์ตัดหน้าขอเอาไปเป็นภรรยา ด้วยเหตุนี้งานละครที่ผสมโรงร่วมระหว่างนักแสดงชายจริงและหญิงแท้ จึงไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเจ้ากรับ


จิตรกรรมฝาผนังที่วัดนายโรง
ปี พ.ศ.2403 เจ้ากรับได้นำทรัพย์สินที่ได้จากละคร สร้างพระอารามขึ้นมาที่บริเวณบ้านที่ปากคลองบางบำหรุ เป็นการทุ่มเทสร้างพระอารามให้ได้อย่างงาม ทั้งนี้เพื่อเตรียมถวายเป็นพระอารามหลวงแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แม้เจ้ากรับจะได้ทันเห็นความสำเร็จของวัดที่สร้าง แต่ก็ไม่ทันที่จะน้อมถวายพระอารามแห่งนี้แก่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 แต่อย่างใด

เจ้ากรับถึงแก่กรรมในปีขาล พ.ศ.2409 รวมสิริอายุได้ 61 ปี

พระอารามที่เจ้ากรับสร้างขึ้นนี้ ถูกเรียกขานกันในหลากชื่อหลายนาม อาทิ วัดละครทำ วัดละครธรรม วัดนายโรง เจ้ากรับ และยังมีนามพระราชทานจากล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 ว่า วัดสัมมัชชผล ซึ่งแปลได้ว่า อารามที่เป็นผลผลิตจากการประกอบสัมมาชีพ อย่างไรก็ตาม นามพระราชทานก็ไม่ติดปากผู้คนในชุมชน วัดของเจ้ากรับรู้จักกันต่อมาและถูกจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในนาม วัดนายโรง

บันทึกการเปลี่ยนแปลงชื่อเสียงเรียงนามแห่ง วัดนายโรง
กว่าที่วัดที่เจ้ากรับสร้าง ณ ปากคลองบางบำหรุ จะได้ชื่อว่า วัดนายโรง ได้ผ่านการเรียกขานอย่างสับสน ดังมีหลักฐานดังนี้

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีบันทึกการตั้งและแปลงนามวัดต่างๆ ดังนี้
วัดเงิน แปลงว่า วัดรัชฎาธิฐาน
วัดดอกไม้  แปลงว่า วัดบุปผาราม
วัดตะเคียน แปลงว่า วัดมหาพฤฒาราม
วัดชีปะขาว แปลงว่า วัดศรีสุดาราม
วัดนายกรับลคร แปลงว่า วัดสัมมัชชผล
วัดอำแดงแฟง แปลงว่า วัดคณิกาผล

เจ้ากรับเป็นผู้มากบารมีและกำลังทรัพย์ มีความตั้งใจสร้างวัดให้งดงาม จึงจ้างช่างมาวาดจิตรกรรมไว้ในโบสถ์ โดยกลุ่มช่างเขียนโบสถ์จึงทุ่มเทสุดฝีมือสนองตอบ บวกกับความได้เปรียบที่ไม่ต้องติดในกรอบประเพณีเชิงช่างเช่นวัดหลวง ช่างเขียนมีอิสระที่จะคิดค้น สร้างสรรค์ นำรูปแบบศิลปะตะวันตกมาปรับใช้อย่างแนบเนียนและน่าสนใจ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้


พระอาจารย์สุรัฐ สิริปุญโญ
ทัศนียวิทยาแบบตะวันตก หรือ Perpective ช่างเขียนภาพแห่ง วัดนายโรง ได้ใช้เทคนิค Perspective ด้วยหลากหลายวิธี เช่น ขนาดของวัตถุเพื่อบอกระยะใกล้ไกล ระยะคมชัดของทิวทัศน์ กำหนดองค์ประกอบเป็นเส้นนำสายตา เพื่อเพิ่มมิติเสมือนจริง

แสงเงา จากจิตรกรรมไทยที่ไม่เน้นแสงเงา ภาพปราสาทราชวังมักแบนราบขาดมิติ ในขณะที่จิตรกรรม วัดนายโรง มีการใช้แสงเงาเข้าจับตัวอาคาร ป้อมค่าย ก่อเกิดปริมาตรที่ชัดเจน สร้างมิติในจินตภาพ ช่วยให้สามารถแยกแยะพื้นที่จำเพาะ จนรู้สึกได้ถึงขนาดของเมืองที่ถูกโอบจากกำแพงป้อมค่ายที่ถูกฉาบแสงเงา

ลีลาท่วงท่าของผู้คน จากจิตรกรรมจารีตนิยม ที่รูปบุคคลหยุดนิ่งหรือมีลีลาคงที่ ช่างเขียนแห่ง วัดนายโรง ได้นำเสนอลีลาท่วงท่าใหม่ สอดแทรกอย่างมีชั้นเชิง นับเป็นปรากฏการณ์ที่แหวกกฎเกณฑ์

ปุยเมฆ จากเมฆที่คล้ายก้อนวัตถุในจิตรกรรมจารีต วัดนายโรง ได้นำเสนอปุยเมฆที่บางเบาล่องลอย ปุยเมฆช่วยผลักภาพและเรื่องราวไปอยู่สุดขอบฟ้า เป็นวิธีสร้างมิติของระยะที่ล้ำยุคสมัย


ภูมิทัศน์โดยรวมอย่างตะวันตก ในพื้นที่ว่างของงานจิตรกรรม ช่างเขียนมีอิสระที่จะสอดแทรกจินตภาพของตน ที่วัดนายโรงปรากฏภาพภูมิทัศน์ในกลิ่นอายตะวันตก ด้วยกลุ่มแมกไม้ที่ซ้อนตัวอย่างมีชั้นเชิง คั่นพื้นที่ด้วยสายน้ำ เพิ่มจุดเด่นด้วยอาคารเสริมด้วยเทคนิคแสงเงาและเฉดสีที่กลมกลืน โดยเติมรายละเอียดของผู้คน นกกา สถาปัตยกรรมที่สอดรับกระจายน้ำหนักอย่างได้ดุลยภาพ ดูสงบและเอิบอิ่มในสุนทรียรส

อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมแห่ง วัดนายโรง ยังรักษารูปแบบและเนื้อหาหลักของงานจิตรกรรมดั้งเดิมไว้ครบถ้วน แต่ได้เปิดพื้นที่สอดแทรก โดยดูดซับเอาเทคนิคและวิธีการทางศิลปะจากตะวันตกเข้าผสมผสาน โดยภาพรวมของวิถีจิตรกรรมแห่งงานช่างเขียนโบราณไม่ตกหล่นเสียหาย

จิตรกรรมแห่ง วัดนายโรง เป็นหลักฐานสำคัญของวิวัฒนาการช่างเขียนไทย ที่ได้คิดค้น ทดลอง และสร้างผลงานจริงอย่างเต็มภาคภูมิ โดยสามารถสื่อทั้งเนื้อหาและความงามได้เต็มประสิทธิภาพ ในงานศิลปะบนพื้นที่จิตรกรรมภายในพระอารามอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน และเต็มรูปแบบ


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1143 ผู้สืบทอด เบี้ยแก้วัดนายโรง “ พระอาจารย์สุรัฐ สิริปุญโญ ” ปักษ์หลัง เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2557 ราคาปก 99 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 








Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #ผู้สืบทอด #เบี้ยแก้ #วัดนายโรง #พระอาจารย์สุรัฐ