พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน รุ่นแรก หลวงพ่อประยูร วัดไก่จ้น อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา “ ผู้สืบสายพุทธาคมหลวงปู่ลำภู ณ ถิ่นกำเนิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ”

ภาพและเรื่องโดย สุธน ศรีหิรัญ


พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน พิมพ์กรรมการ
หลวงพ่อประยูร ตำผงปฐมฤกษ์
ในโบสถ์วัดไก่จ้น
วัดไก่จ้น ถิ่นกำเนิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้าน ไก่จ้น หมู่ที่ 10 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา วัดตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควป่าสัก อาณาเขตทิศเหนือยาว 110 เมตร ติดต่อกับชลประทานท่าหลวง และแม่น้ำแควป่าสัก ทิศใต้ยาว 150 เมตร ติดต่อกับทางสาธารณะและที่ดินของเอกชน ทิศตะวันออกยาว 198 เมตร ติดต่อกับชลประทานท่าหลวงและทางสาธารณะ ทิศตะวันตกยาว 190 เมตร ติดต่อกับที่ดินของเอกชนและแม่น้ำแควป่าสัก พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมแม่น้ำแควป่าสัก

พระปาลิไลยก์ วัดไก่จ้น
วัดไก่จ้น เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัดว่าใครเป็นผู้สร้างตั้งขึ้นเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2375 เดิมเรียกว่า “ วัดบ้านไก่จ้น ” มีหลักฐานปรากฏอยู่ในใบพระราชทานวิสุงคามสีมาของอุโบสถหลังเก่า ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่ “ วัดบ้านไก่จ้น ” แควนครน้อย แขวงกรุงเก่า ซึ่งมี เจ้าอธิการดิส เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2431

เมื่อคราวพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดสะตือ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ วัดบ้านไก่จ้น เจ้าอธิการดิสได้แต่งซุ้มรับเสด็จฯที่หน้า วัดบ้านไก่จ้น โดยแต่งซุ้มเป็นรูปไก่ประดับไฟตะเกียง พร้อมทั้งเขียนโครงยอพระเกียรติไว้ 1 บท มีผู้จำได้เพียงตอนท้ายบทว่า “ ดับร้อนราษฎร์เกษม ” ทรงสนพระราชหฤทัยเจ้าอธิการดิส เจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น ที่เขียนคำโคลงยอพระเกียรติ แต่งซุ้มรับเสด็จฯ ประกอบทั้งคุณงามความดีของเจ้าอธิการดิสในด้านการศึกษาและการพัฒนาวัด จึงได้โปรดฯให้อาราธนาไปอยู่ วัดสุวรรณดาราราม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระสุวรรณวิมลศิล เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2445 จนถึงมรณภาพในปี พ.ศ.2464

ใบเสมา “ภปร.” วัดไก่จ้น
ศาลาการเปรียญ วัดไก่จ้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2463 โดย พระสุวรรณวิมลศิล ผู้ดำเนินการ เป็นอาคารไม้ไทย กว้าง 14.30 เมตร ยาว 32.20 เมตร เดิมยกพื้นสูง 1.50 เมตร เสาไม้กลม เครื่องบนของอาคารเป็นไม้สัก พื้นเป็นไม้เนื้อแข็งบางส่วน มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันทั้ง 2 ด้านเป็นไม้แกะสลักเป็น รูปราหูอมจันทร์ และ รูปพระนารายณ์ประทับนั่งทรงตรีศูล ปี พ.ศ.2511 สมัย พระครูวรดิตถ์คณารักษ์ เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้เปลี่ยนกระเบื้องของเดิมเป็นดินเผา เป็นกระเบื้องเคลือบ พร้อมทั้งเปลี่ยนช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ซึ่งเดิมเป็นไม้ เป็นปูนปั้นประดับกระจกสีทั้งหมด ปี พ.ศ.2545 พระครูประจักษ์จริยคุณ เจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยว่าจ้างช่างผู้ชำนาญการยกย้ายศาลาทั้งหลัง ได้ยกให้สูงจากเดิมเป็น 3.20 เมตร ย้ายถอยหลังจากที่เดิม 7 เมตร หน้าบันช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ กะเทาะกระจกของเดิมออกทั้งหมดเพื่อติดกระจกใหม่ ปรับพื้นชั้นล่างปูหินอ่อนทั้งหมด ผนังก่ออิฐถือปูน มีบานประตูหน้าต่างเปิด-ปิด

พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน พิมพ์ธรรมดา
วิหารหลวงพ่อปาลิไลยก์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2471 โดย พระครูวิเวกวุฒิคุณ ( เภา อินฺทสโร ) อดีตเจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น และเจ้าคณะตำบลท่าหลวง เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เดิมเป็นอาคารไม้มีเสา 4 ต้น ลักษณะอาคาร 4 เหลี่ยมโปร่ง หลังคามีหน้าจั่ว 2 ด้าน เมื่อปี พ.ศ.2537 พระครูประจักษ์จริยคุณ เจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น พร้อมด้วยทายกทายิกา ประชาชน ได้ทำการปรับปรุงใหม่โดยรื้อหลังเก่าออกทั้งหมด เพราะอาคารหลังเดิมทรุดตัว ไม้บางตัวหมดสภาพ แล้วสร้างใหม่แทนของเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะอาคารทรงจัตุรมุขมียอดคอระฆัง ลด 2 ชั้น หน้าบันเป็นลายกนกปูนปั้นทาทองล่องชาด ผนังด้านหลังองค์หลวงพ่อก่ออิฐถือปูนรับคานคอเสา พ.ศ.2546 นายสุภาพ โอภาสตระกูล ได้บริจาคหินอ่อนและค่าแรงงานปูหินอ่อนบริเวณพื้นวิหาร ทาสีทององค์หลวงพ่อพร้อมทั้งทาสีตัวอาคารใหม่ทั้งหมด

พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน พิมพ์ปรกโพธิ์
วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) สร้างเมื่อปี พ.ศ.2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2523 ลักษณะวิหารยกพื้นสูงทรงจัตุรมุขมียอดคอระฆัง ลด 3 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันลายกนกปูนปั้นประดับกระจกสี ด้านหน้าวิหารมีพระนามาภิไธยย่อ สธ. ผนังด้านข้างและด้านหลังก่ออิฐถือปูนรับคานคอเสา

วิหารคู่อุโบสถ 4 หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2518 ลักษณะอาคารทรงไทย โครงสร้างคอนกรีตเสริม กว้าง 4.80 เมตร ยาว 9.45 เมตร ฝาผนังก่ออิฐถือปูน หลังคากระเบื้องเคลือบกาบกล้วย ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันทั้งสองด้านเป็นลายกนกปูนปั้นทาทองล่องชาด วิหารหลังแรกซ้ายมือประดิษฐาน รูปเหมือนพระครูวิเวกวุฒิคุณ ( เภา อินฺทสโร ) อดีตเจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น และเจ้าคณะตำบลท่าหลวง หลังที่สองประดิษฐาน รูปเหมือนพระครูอมรคุณาจารย์ ( ลำภู คงฺคปญฺโญ ) อดีตรองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร

พระประธานอุโบสถมีนามว่า “ หลวงพ่อแสนสุข ” หน้าตักกว้าง 4 ศอก 9 นิ้ว ขัดสมาธิเพชร ลักษณะเชียงแสนสิงห์สาม เป็นพระพุทธรูปหล่อทองเหลืองลงรักปิดทอง ที่พระเกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และที่ผ้าทิพย์มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2516 สมัย พระครูวรดิตถ์คณารักษ์ อดีตเจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น และเจ้าคณะ อำเภอท่าเรือ

พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น หน้าตักกว้าง 1.40 เมตร สูงจากพระบาทถึงพระเกศ 8.25 เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2471 โดย พระครูวิเวกวุฒิคุณ อดีตเจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น และเจ้าคณะตำบลท่าหลวง เป็นผู้ดำเนินการสร้าง ทางวัดได้จัดงานนมัสการปีละ 2 ครั้ง คือ ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ กลางเดือน 12 และขึ้น 14 ขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 5 ของทุกปี

หลวงพี่กุ้ง วัดไก่จ้น กำลังตำผง
เพื่อพิมพ์พระสมเด็จ
ณ โบสถ์วัดไก่จ้น
เจ้าอาวาสปกครองวัด มีลำดับมา ดังนี้
รูปที่ 1 เจ้าอธิการดิส ถึง พ.ศ.2445
รูปที่ 2 พระอาจารย์จอน พ.ศ.2445
รูปที่ 3 พระอาจารย์พิน
รูปที่ 4 พระอาจารย์ฟัก
รูปที่ 5 พระอาจารย์วอน
รูปที่ 6 พระอาจารย์กลุ่ม
รูปที่ 7 พระครูวิเวกวุฒิคุณ ( เภา 
อินฺทสโร ) พ.ศ.2464-2503
รูปที่ 8 พระครูวรดิตถ์คณารักษ์ ( สนั่น พรหมฺสโร ) พ.ศ.2503-2523
รูปที่ 9 พระครูประจักษ์จริยคุณ ( สุนทร สุนฺทโร ) พ.ศ.2523-2545

 ผงพุทธคุณทั้งจากกรุบางขุนพรหม
และผงพุทธคุณหลวงพ่อลำภู ตลอดจน
ผงเก่าที่ตกทอดมาทั้งหมดนำมาสร้าง
พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน รุ่นแรก
ปัจจุบัน พระครูวิสุทธิธรรมากร ( ประยูร ปญฺญาภรโณ ) เป็นเจ้าอาวาสวัดไก่จ้น “ หลวงพ่อประยูร ” องค์นี้ไม่ธรรมดา ท่านเป็นหน่อเนื้อเชื้อสายพุทธาคมของ “ หลวงพ่อลำภู ” ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ขลังที่เก็บตัวเงียบๆ มานาน “ หลวงพ่อลำภู ” องค์นี้ท่านมีพุทธาคมสูง เป็นสหธรรมิกกับ “ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ” และ “ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ” เคยไปธุดงค์ร่วมกันมา จะขอเล่าเรื่องอาจารย์ของ “ หลวงพ่อลำภู ” ไว้ดังนี้

พระครูอมรคุณาจาร ( หลวงปู่ลำภู คังคะปัญโญ ) อดีตรองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร หลวงปู่ลำภูถือกำเนิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 ตรงกับวันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู ที่บ้าน ไก่จ้น ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีโยมพ่อ คง โยมแม่ ผิว “ เรืองรักเรียน ” เป็นผู้ให้กำเนิด มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน หลวงปู่เป็นคนที่ 4 อายุได้ 21 ปี ได้อุปสมบทที่ “ วัดไก่จ้น ” อันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2465 โดยมี พระอธิการบัติ อินทะโชติ เจ้าอาวาสวัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เอี่ยม วัดถลุงเหล็ก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองดี วัดบัวงาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ คังคะปัญโญ ”
แผ่นโมเสสจากองค์หลวงพ่อโต
วัดอินทร์ฯ เมื่อคราวซ่อมปี พ.ศ.2481

เมื่ออุปสมบทแล้วก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี ต่อมาได้เรียนกัมมัฏฐาน จาก พระอุปัชฌาย์บัติ พระอาจารย์เชื่อม วัดบ้านกลาง และ พระอาจารย์บุญ วัดช่างทอง เกาะเรียน อยุธยา แม้พระภาวนาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น หลวงปู่ท่านก็ได้เดินทางไปศึกษามาโดยลำดับ

เมื่อหลวงปู่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์ไปตามถ้ำ ป่า เขา อันเป็นสถานที่เงียบสงัด เพื่อเป็นการฝึกสมาธิจิตและทบทวนวิทยาคมที่ท่านได้ศึกษามา หลวงปู่ได้ปฏิบัติธุดงควัตรนี้เป็นนิตย์มิได้ขาด พระ-เณรที่เดินธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่ลำภู อาทิ พระอาจารย์บุญ วัดช่างทอง “ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ” และ “ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ” เป็นต้น

พระสมเด็จบางขุนพรหมหักชำรุด และพระสมเด็จ
หลวงพ่อลำภู หักชำรุด มาตำเป็นส่วนผสม
หลวงปู่ลำภู ท่านได้เข้ามาอยู่วัดใหม่ อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2477 เพื่อการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจในทางพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น เมื่อมีเวลาว่างท่านก็ออกเดินธุดงค์เหมือนเช่นเคย พร้อมทั้งไปศึกษาวิทยาคมจากสำนักพระภาวนาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายสำนัก เฉพาะที่พุทธศาสนิกชนรู้จักเป็นอย่างดีคือ “ หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร ” หลวงปู่ท่านก็ได้ถวายตัวเป็นศิษย์เช่นกัน

เมื่อ พ.ศ.2500 ทางวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ได้ทำการเปิดกรุพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) หลวงปู่ลำภูได้มีโอกาสร่วมเป็นผู้ดำเนินงานในครั้งนี้ด้วย จึงทำให้บรรดาพุทธศาสนิกชนได้รู้จักมักคุ้นกับหลวงปู่มากยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ.2502 หลวงปู่ลำภู คังคะปัญโญ ได้จัดสร้าง พระสมเด็จเนื้อผงพิมพ์ต่างๆ ขึ้นหลายพิมพ์ โดยอาศัยผงสมเด็จฯกรุวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม ที่ท่านรวบ รวมไว้ในคราวเปิดกรุเป็นหลัก แล้วมอบให้บรรดาศิษย์ของท่านและสาธุชนที่มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ไว้สักการบูชา

ด้วยความดีมีคุณธรรมเพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร เป็นพระสุปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต หลวงปู่ลำภู คังคะปัญโญ ท่านจึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนทั่วไปทั้งใกล้ ไกล ได้มีผู้ศรัทธาเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่จำนวนมากมาย

หลวงปู่ลำภู คังคะปัญโญ มรณภาพที่กุฏิของท่านที่วัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 เวลา 20.15 น. รวมอายุได้ 88 ปี 9 เดือน 4 วัน จากนั้นได้ย้ายสังขารของท่านไปบำเพ็ญกุศลไว้ที่วัดไก่จ้นในเวลาต่อมา

พระครูวิสุทธิธรรมากร
(ประยูร ปญฺญาภรโณ) วัดไก่จ้น
“ หลวงพ่อประยูร ” จึงนับได้ว่ามีอาจารย์ดีคอยอบรมสั่งสอนเป็นเวลานานถึง 20 ปี ที่ท่านอยู่กับ “ หลวงพ่อลำภู ” ช่วยหลวงพ่อสร้างพระเครื่องรุ่นต่างๆ ไว้มากมาย ได้วิชาพุทธาคมสำคัญต่างๆ ไว้มาก “ หลวงพ่อประยูร ” เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2485 ที่บ้านเลขที่ 31 หมู่ 8 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา เป็นบุตรของ นายบุตร นางทองคำ ในสกุล “ เบี้ยจรัส ” อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2505 โดยมี พระครูปัญญาวุฒิคุณ ( จ่าย ปัญญาวุฒโร ) วัดหัวหิน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวรดิตถ์คณารักษ์ ( สนั่น พรมสโร ) วัดไก่จ้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูพุทธไสยาภิบาล ( หมึก ) วัดสะตือ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ ปัญญาภรโณ ”

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาธรรมอยู่ วัดบ้านไก่จ้น จนถึงปี พ.ศ.2513 จึงย้ายเข้าไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดใหม่อมตรสกับ “ หลวงพ่อลำภู ” ในระหว่างปี พ.ศ.2513 ถึงปี พ.ศ.2533 ได้ปฏิบัติศาสนกิจโดยเป็น เลขาเจ้าคณะ อำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา พร้อม กับรับใช้งานของหลวงพ่อลำภูตลอดเวลาจนถึงปี พ.ศ.2533 หลวงพ่อลำภูได้มรณภาพลง ท่านก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ วัดใหม่อมตรส สถานที่บรรจุกรุพระสมเด็จบางขุนพรหม จนถึงปี พ.ศ.2546 จึงได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาส วัดบ้านไก่จ้น

อุโบสถ “ภปร.” วัดไก่จ้น
“ หลวงพ่อประยูร ” ได้รวบรวมผงพระสมเด็จจากกรุวัดใหม่อมตรสไว้จำนวนหนึ่ง ขณะที่จำพรรษาอยู่วัดใหม่อมตรส ซึ่งได้จากพระสมเด็จองค์ชำรุดจากกรุเมื่อคราวเปิดกรุปี พ.ศ.2500 พร้อมกับผงพุทธคุณของหลวงพ่อลำภูเป็นมรดกตกทอดมาอีกจำนวนมาก ผงเหล่านี้ หลวงพ่อประยูร ได้นำมาไว้  วัดบ้านไก่จ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ต่อมา คุณอานนท์ นนท์วัฒนกุล กรรมการวัดไก่จ้น ได้รับมรดกแผ่นโมเสสทองคำ 24 เค เมื่อครั้งบูรณะหลวงพ่อโต วัดอินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2481 มาจาก “ อาเล่าม้า ” หรือ “ ย่าทวด ” ชื่อ นางชิวบ๊วย แซ่เตียว ที่มีบ้านอยู่ติดกับวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม โดยได้ร่วมทำบุญบูรณะ 2,000 บาท ในสมัยนั้นก็มากโขอยู่ กรรมการวัดจึงมอบแผ่นแก้มพระพักตร์สมนาคุณมาส่วนหนึ่ง เก็บเป็นมรดกตกทอดมาถึงคุณอานนท์ นนท์วัฒนกุล

มาถึงวันนี้คุณอานนท์ก็อยากจะนำมาสร้างประโยชน์ จึงได้มอบให้ “ หลวงพ่อยูร ปัญญาปวโร ” เจ้าอาวาสวัดไก่จ้น อ.นครหลวง จ.อยุธยา ซึ่งเป็นวัดที่เป็นถิ่นกำเนิดของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) นำไปบดผสมกับผงเก่าพระสมเด็จบางขุนพรหม จากกรุวัดใหม่อมตรส และผงเก่าของ “ หลวงพ่อลำภู ” ซึ่งเป็นอาจารย์ของ “ หลวงพ่อยูร ” สร้างเป็น “ พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน ” รุ่นแรกของ หลวงพ่อประยูร ขึ้นมาจำนวน 20,000 องค์ ให้ทำบุญองค์ละ 300 บาท พระพิมพ์กรรมการ 1,000 องค์ ทำบุญ 1,000 บาท ( โรยโมเสสทองคำ ) แล้วปลุกเสกตลอดไตรมาสปี พ.ศ.2555 จะออกให้บูชาในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 เวลาฤกษ์งามยามดีที่ “ มหัทธโนฤกษ์ ” หรือ “ ฤกษ์เศรษฐี ” เวลา 07.30 น. เพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปสร้าง “ ศาลาอเนก ประสงค์ ” ของวัดไก่จ้น เพื่อ รำลึกถึงเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ณ ถิ่นกำเนิดบ้านเกิดของท่าน ณวัดไก่จ้น ต่อไป

มณฑปประดิษฐานรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พรหมรังสี) ณ วัดไก่จ้น
สำหรับแผ่นโมเสสทองคำ 24 เค เมื่อคราวบูรณะ ปี 2481 นั้น มีประวัติสำคัญ คือ หลวงพ่อโต หรือ พระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุและปูชนียสถานที่สำคัญของวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม เป็นพระ พุทธรูปปางยืนอุ้มบาตร สูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก พระวรกายประดับด้วยกระจกโมเสสทองคำ 24 เค สั่งทำจากอิตาลี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ.2410 โดยการริเริ่มของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งได้คำนึงว่าเป็นสถานที่ที่ท่านเคยอยู่อาศัย จึงได้ทำการสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ การก่อสร้างหลวงพ่อโต สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) เป็นผู้สร้างแต่ยังไม่เสร็จคงค้างไว้เพียงถึงพระนาภี ( สะดือ ) สูงประมาณ 9 วาเศษเท่านั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ได้มรณภาพลง ณ ศาลาการเปรียญของวัดแห่งนี้
ต่อมา พระครูจรรยานุกูล ( หลวงปู่ภู ) ได้ดำเนินการสร้างต่อแต่ก็ยังไม่เสร็จ ต่อมา พระครูสังฆบริบาล ( หลวงปู่แดง ) ได้สร้างต่อเพิ่มจนเกือบเสร็จ ขาดเพียงยอดพระเมาลีเท่านั้น ได้องค์พระสูงประมาณ 16 วา ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2467 พระครูสังฆรักษ์ ( หลวงปู่เงิน ) ได้ดำเนินการสร้างต่ออีก 4 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2470 สมัยที่หลวงพ่อเงินเป็นเจ้าอาวาส รวมระยะเวลาสร้างได้ 60 ปีพอดี จึงนับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นระยะเวลามาช้านาน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้จัดงานฉลองสมโภชขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2471 ปัจจุบันมีประชาชนและชาวต่างชาติได้พากันไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก และนิยมมาบนด้วยหัวปลาทูและไข่ต้มเป็นประจำ “ หลวงพ่อโตเป็นพระ พุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ก่อด้วยอิฐถือ ปูน และปิดด้วยโมเสสทองคำ 24 เค ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก ”

การบูรณะซ่อม แซมองค์หลวงพ่อโต มีด้วยกัน 3 ครั้ง
1. ปี พ.ศ.2481 เปลี่ยนกระเบื้องโมเสสทองคำ 24 เค ที่พระพักตร์ พระเศียร 
พระหัตถ์ และสร้างรัศมีช่อฉัตรด้านบน
2. ปี พ.ศ.2509 เปลี่ยนกระเบื้องโมเสสทองคำ 24 เค ที่พระพักตร์ พระเศียร พระหัตถ์ ด้วยของเดิมหมองไม่สวย
3. ปี พ.ศ.2525 เปลี่ยนกระเบื้องโมเสสทองคำ 24 เค ทั้งองค์หลวงพ่อโต เนื่องในงานฉลอง 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

หลวงพ่อประยูรกดพิมพ์ “
พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน ” รุ่นแรก
เป็นปฐมฤกษ์ในโบสถ์วัดไก่จ้น
ชิ้นส่วนจากโมเสสที่เปลี่ยนในปี พ.ศ.2481 รวมกับผงพระสมเด็จบางขุนพรหมจำนวนมาก และผงของหลวงปู่ลำภู ตลอดมวลสารสำคัญอีกมาก “ หลวงพ่อประยูร ” ได้นำมาผสมกันแล้วสร้าง “ พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน ” รุ่นแรกของท่านขึ้นมา ด้านหน้าเป็นพิมพ์สมเด็จ แบบพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ด้านหลังเป็นอักขระยันต์จมลึก มีด้วยกัน 3 แบบด้วยกัน คือ

1. พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน พิมพ์กรรมการ ด้านหลังโรยด้วย ผงสมเด็จบางขุนพรหมแท้ๆ ผสมกับโมเสสทองคำ แล้วฝังตะกรุด 1 ดอก ประทับอักขระยันต์จม มีรูป “ พญาไก่เถื่อน ” อยู่สองข้าง ด้านบน
เป็นอักขระคาถาหัวใจ พญาไก่เถื่อน “ มิทิสินิ ” สร้าง 1,000 องค์ ปั๊มเลขตามลำดับองค์ ให้ทำบุญองค์ละ 1,000 บาท

2. พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน พิมพ์ธรรมดา ด้านหลังปั๊มอักขระยันต์จม มีรูป พญาไก่เถื่อน อยู่สองข้าง ด้านบนเป็นอักขระคาถาหัวใจ พญาไก่เถื่อน “ มิทิสินิ ” สร้าง 20,000 องค์ ให้ทำบุญองค์ละ 300 บาท ปั๊มหมายเลขตามลำดับองค์ทุกองค์

3. พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน พิมพ์ปรกโพธิ์ ด้านหน้าเป็นพิมพ์ปรกโพธิ์ ด้านหลังปั๊มจมเป็นรูป พญาไก่เถื่อน ตรงกลางด้านบนเป็นอักขระคาถา พญาไก่เถื่อน “ มิทิสินิ ” สร้างจำนวน 35,000 องค์ จะแจกในโอกาสเหมาะสมต่อไป

หลังจากพิมพ์จากแม่พิมพ์แล้ว
หลวงพี่กุ้งต้องมาตัดขอบทีละองค์
ตามแบบการทำพระแบบโบราณ
“ พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน ” วัดไก่จ้น ของ หลวงพ่อประยูร รุ่นนี้ถือว่าเป็นรุ่นแรกของท่าน ทุกพิมพ์ ทุกแบบ มวลสารในเนื้อเหมือนกันหมด คือใช้ ผงเก่าจากกรุบางขุนพรหม ผสมกับ ผงเก่าของหลวงพ่อลำภู และมวลสารศักดิ์สิทธิ์อีกหลายชนิด ตลอดจนผงที่ หลวงพ่อประยูร ได้รวบรวมเอาไว้ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของท่าน นำมาสร้าง “ พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน ” รุ่นนี้ โดยใช้วิธีสร้าง แบบโบราณ คือผสมเนื้อหาแล้วตำด้วยมือในโบสถ์ กดพิมพ์ด้วยมือแบบโบราณในโบสถ์ เรียกว่า ทำด้วยมือทีละองค์ หรือ “ HAND MADE ” จนครบจำนวนภายในโบสถ์วัดไก่จ้น จากนั้นท่านจะปลุกเสกตลอดไตรมาสปีนี้ จึงนับว่า “ พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน ” รุ่นแรกของ หลวงพ่อประยูร น่าเก็บไว้บูชา น่าสะสมเอาไว้ อนาคตข้างหน้า คือ ดีทั้งเนื้อหา ดีทั้งเจตนาในการสร้าง ดีทั้งบุญกุศลที่ท่านจะร่วมสร้างศาลาปฏิบัติธรรมวัดไก่จ้น และดีที่ท่านจะมีเนื้อนาบุญในแดนดินถิ่นกำเนิดของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ซึ่งมี “ หลวงพ่อประยูร ” พระดีที่มีศีลาจารวัตรงดงามน่านับถือ เป็นสื่อแห่งศรัทธาสืบไป

ใครอยากได้ อยากร่วมทำบุญ ก็ติดต่อขอจองเอาไว้ตั้งแต่วันนี้เรื่อยไปจนถึงออกพรรษา ใครจองช้าอาจหมดก่อนออกพรรษาก็อย่าว่ากัน จองได้ที่ หลวงพี่กุ้ง วัดไก่จ้น โทร.08-6560-8473 หรือกรรมการวัดชื่อ “ เก่ง รางน้ำ ” 08-6754-2238 หรือจะเดินทางไปไหว้รูปหล่ออันศักดิ์สิทธิ์ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ณ วัดไก่จ้น แล้วจองที่วัดเลยก็ได้

“ พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน วัดไก่จ้น พระสมเด็จในแดนดินถิ่นกำเนิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) มีคุณค่าควรบูชาสักการะยิ่ง ”

( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1091 พระสมเด็จพญาไก่เถื่อน รุ่นแรก หลวงพ่อประยูร วัดไก่จ้น อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา  “ ผู้สืบสายพุทธาคมหลวงปู่ลำภู ณ ถิ่นกำเนิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ” ปักษ์หลัง เดือน เมษายน พ.ศ. 2555 ราคาปก 99 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 






Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #พระสมเด็จ #พญาไก่เถื่อน #หลวงพ่อประยูร #วัดไก่จ้น #จ.อยุธยา