วัดจันทราวาสกับวัตถุมงคล ( เรียบเรียงจากหนังสือที่ระลึกงานผูกพัทธสีมาวัดจันทราวาส 13-21 ก.พ. 2553 )

ภาพและเรื่องโดย...ปรักกะโม


โบสถ์หลังใหม่ของวัดจันทราวาส
พระสมเด็จเนื้อผง วัดจันทราวาส สร้างเป็นที่ระลึก
ในการวางศิลาฤกษ์อุโบสถหลังใหม่ จัดสร้างโดย
พระครูวินัยธรชุ่ม พุทฺธญาโณ เจ้าอาวาส
วัดจันทราวาส เมื่อปี พ.ศ.2533
ผู้ที่รับซื้อขันสาครจากนักโจรกรรมไปไว้ในครอบครอง ถือว่าบุญไม่ถึงที่จะได้ใช้ได้ครอบครองของสูง การโจรกรรมของวัดไปขายก็ถือว่าเป็นบาป ผู้ซื้อต่อไว้ก็มีบาปด้วย จึงไม่อาจครอบครองของดังกล่าวไว้ได้จนต้องนำกลับมาคืนไว้ที่เดิม...


ความเป็นมาของ วัดจันทราวาส

ประวัติวัดจันทราวาส จากการรวบรวมของ นายประหยัด จันทรสุขโข ระบุที่ตั้งของ วัดจันทราวาส เอาไว้ดังนี้

วัดจันทราวาส ตั้งอยู่ที่ถนนบริพัตร ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เนื้อที่ 19 ไร่ 12 ตารางวา ด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำเพชรบุรี ”

พระปฏิมาประธาน เป็นศิลปะสมัย
รัตนโกสินทร์ยุคต้น
สันนิษฐานจากหลักฐานที่เกี่ยวข้องประมาณว่า วัดจันทราวาส ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2202 หลักฐานที่พอจะค้นคว้าได้นั้น วัดจันทราวาส มีสมภารปกครองวัดสืบต่อกันมาจนถึงท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันจำนวน 11 องค์ ด้วยกันได้แก่

1. พระอธิการเสือ
2. พระอธิการกรุด
3. พระอธิการยา
4. พระอธิการพ่วง
5. พระอธิการวัด
6. พระอธิการอ่วม
7. พระอธิการคง
8. พระอธิการเพชร
9. พระครูชุ่ม พุทธสโร
10. พระครูปัญญาวัชรคุณ ปัญญาเตโช
11. พระครูวินัยธร ( ชุ่ม ) พุทธญาโณ

โบสถ์หลังเก่าที่ถูกถอน
พัทธสีมาเพื่อสร้างใหม่

ลวดลายปูนปั้นหน้าบันด้านหน้า
และซุ้มหน้าต่างของโบสถ์หลังเก่า

ประวัติท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน


หลวงพ่อพระครูวินัยธร ( ชุ่ม ) พุทฺธญาโณ
เดิมชื่อ ชุ่ม ทองเงิน เป็นบุตรของ คุณแม่เชย กับ คุณพ่อออด ทองเงิน ชาตะ ณ บ้านเลขที่ 58 บ้านสมอลก ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2494 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านดอกยี่กรอก



ท่านพระครูวินัยธรชุ่มกับขันสาคร
ที่หายไปจากวัดถึง 16 ปี
จู่ๆ ก็มีผู้นำมาคืนถึงที่วัด
อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดจันทราวาส เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2514 พระราชวชิราภรณ์ ( หลวงปู่อินทร์ อินทโชโต ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการทองย้อย ปัญญาเตโช วัดจันทราวาส เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอธิการแก้ว ฐิตรติ วัดลุ่มโพธิ์ทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ พุทธญาโณ ” จบนักธรรมเอกสนามสอบวัดคงคาราม

ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดจันทราวาส  เมื่อปี พ.ศ.2528 เจ้าคณะตำบลท่าราบ พ.ศ.2530 รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ.2536 ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระใบฎีกาชุ่ม, พระครูใบฎีกาชุ่ม, พระครูธรรมธรชุ่ม, พระครูวินัยธรชุ่ม ทั้งหมดอยู่ในฐานานุกรมของ ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศนเทพวราราม

ผลงานดีเด่นของท่านพระครูวินัยทองชุ่ม ได้แก่ การสร้างอุโบสถหลังใหม่ให้กับ วัดจันทราวาส แล้วเสร็จ จนผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ.2553 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อปี พ.ศ.2534 เลื่อนเป็นวัดพัฒนาดีเด่นเมื่อปี พ.ศ.2554


ล็อกเกตสมเด็จโต พรหมรังสี พ.ศ.2533
เหรียญเสมาหลวงพ่อทวด พ.ศ.2549

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุโบสถ วัดจันทราวาส หลังเก่า

ท่านอาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับอุโบสถหลังเก่าเอาไว้ด้วยคำว่า

“ โบสถ์ วัดจันทราวาส หลังนี้อาจไม่ใช่หลังที่สอง ”

ท่านได้อนุมานลายปูนปั้นและลักษณะศิลปกรรมของโบสถ์เก่า จนสามารถสรุปได้ตามที่ท่านได้เขียนไว้ว่า

หลวงพ่อทวด หลังจตุคามรามเทพ
เนื้อผง รุ่นงานยกช่อฟ้าอุโบสถ พ.ศ.2550
จตุคามรามเทพ หลังรัชกาลที่ 5
รุ่นงานยกช่อฟ้าอุโบสถ พ.ศ.2550
“ เมื่อพิจารณาจากศิลปะที่ปรากฏเราอาจอนุมานเอาได้ว่า โบสถ์หลังเก่าของ วัดจันทราวาส สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงระยะเวลาระหว่างสมัยรัชกาลที่ 3-5 ที่เห็นได้ชัดเจนคือ หน้าบันด้านหลังโบสถ์ที่มีปูนปั้นเป็นรูปลายดอกพุดตานประดับด้วยถ้วยลายคราม เป็นศิลปะที่นิยมกันมากนับแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลต่อมา สอดคล้องกับพระพุทธรูปประธานในโบสถ์ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


เหรียญรูปไข่หลวงพ่อชุ่ม พุทฺธสโร  พ.ศ.2512
(มี 2 เนื้อ คือ เนื้อทองแดง, เนื้ออัลปาก้า)
เหรียญพระครูธรรมธร ทองย้อย (ปญฺญาเตโช)
ล็อกเกตหลวงปู่ทวด พ.ศ.2533















เบี้ยแก้ เก็บมาจากอุโบสถหลังเก่า
ครั้งที่มีการรื้อโบสถ์หลังเก่าออกนั้นได้มีพิธีถอนพัทธสีมาด้วย เมื่อถอนสีมาแล้วทางวัดได้ขุดลงไปใต้ฐานเสมา ได้พบลูกนิมิตที่ทำจากหินขนาดไล่เลี่ยกัน แต่ไม่ได้เป็นก้อนกลมอย่างลูกนิมิตในปัจจุบัน นอกจากลูกนิมิตแล้วภายในหลุมยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปและชิ้นส่วนใบเสมาขนาดใหญ่ทำจากหินทรายแดง ซึ่งมีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้นหรืออู่ทองเลยทีเดียว

จริงอยู่ว่าพระพุทธรูปและใบเสมาเป็นของเคลื่อนที่ได้ อาจมีการโยกย้ายมาจากวัดร้างสักแห่งหนึ่งเพื่อนำมาใช้ แต่คงไม่มีใครไปขนพระพุทธรูปและใบเสมาที่ปรักหักพังแล้วจากที่อื่น มาฝังรวมกับลูกนิมิตของโบสถ์ที่สร้างขึ้นใหม่เป็นแน่ ของนี้ต้องมีคู่กันมากับวัดมาแต่เดิม อาจเป็นพระพุทธรูปและใบเสมาของโบสถ์หลังที่มีมาก่อนโบสถ์ที่สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3-5
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโบสถ์หลังที่มีการปิดทองฝังลูกนิมิตกันในคราวนี้ อาจไม่ใช่โบสถ์หลังที่สองของ วัดจันทราวาส ก็เป็นได้


อภินิหารขันสาคร วัดจันทราวาส

อักษรภาษาจีนลายมืออากงแสง
ลัภยานุกูล เขียนถอดจากที่สลักไว้
บนขอบขันสาคร
 ตราสุริยะประจำตัวท่านเจ้าพระยา
บรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่ขอบขันสาคร
จากหนังสือที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดจันทราวาส มีเรื่อง “ ปรากฏการณ์ขันสาคร ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค ) ที่เพชรบุรี ทำน้ำมนต์ประจำวัดอยู่ใบหนึ่ง เขียนโดย ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตร ” เป็นเรื่องที่น่าสนใจผู้เขียนจะนำมาเรียบเรียงให้ย่นย่อดังต่อไปนี้


ขันสาครที่เป็นขันอาบน้ำของ
ท่านเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ขันสาคร เป็นของที่ทางวัดใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีต่างๆ มาโดยตลอด ได้ถูกโจรกรรมหายไปจากวัดในปี พ.ศ.2512 ขณะที่ท่าน พระครูปัญญาวัชรคุณ ( หลวงพ่อทองย้อย วงศ์พราหมณ์ ) เป็นเจ้าอาวาส แม้จะมีการแจ้งความให้ตำรวจออกสืบหา รวมทั้งให้ผู้พบเห็นว่าอยู่ที่ใดให้แจ้งเบาะแสแต่ไร้ร่องรอย จนกระทั่งท่าน พระครูปัญญาวัชรคุณ ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ.2528 เป็นปีที่ 16 ที่ขันสาครหายไปจากวัดจันทราวาส

คืนวันที่ 7 หลังจากการสวดพระอภิธรรมศพของท่านพระครูปัญญาวัชรคุณผ่านไปแล้ว วัดจันทราวาสตกอยู่ในความเงียบ พลันพระทั้งวัดก็ต้องสะดุ้ง เมื่อมีเสียงตะโกนดังมาจากบันไดกุฏิท่านเจ้าอาวาสผู้ล่วงลับว่า
พระอุดม อุตตโม วัดเกาะ ผู้เก็บรักษาขันสาคร
แบบเดียวกับที่วัดจันทราวาส

“ ไม่เอาแล้ว เอามาคืนแล้วนะ ” 

พอพระ-เณรและศิษย์วัดตรูกันออกมาก็พบแต่ขันสาครวางอยู่พร้อมพานโตกสองใบ ในขันสาครมีเงินอยู่ที่ก้นขัน 7,000 บาท เจ้าของเสียงเผ่นแนบไปแล้ว เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่า ขันสาครหายจากวัดถึง 16 ปี แต่กลับคืนกลับมาที่วัดเองโดยไม่ต้องไปติดตามหา มีเรื่องเล่าลือกันว่า

“ ขันสาครที่ถูกขโมยไปถูกขายต่อไปให้กับนักสะสมของเก่า ก่อนเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ขันไปอยู่ในครอบครองของผู้ใด ผู้นั้นจะมีแต่เรื่องเดือดร้อน จนต้องขายต่อออกไปเป็นทอดๆ มีร้านค้าร้านหนึ่งในอำเภอท่ายาง ได้ครอบครองขันสาครดังกล่าว เกิดเหตุไฟไหม้ร้านวอดวาย กลืนชีวิตคู่ชีวิตของเจ้าของร้านไปในเปลวเพลิง... ”


ใบเสมาโบสถ์หลังเก่าเป็นหินทราย ที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5
จากการพิจารณาขันสาครอย่างละเอียดพบว่าทำจากโลหะทองเหลือง รูปทรงคล้ายถ้วยชาก้นสอบเล็กน้อย มีหูสองข้าง ขนาดความสูงจากก้นถึงปากขัน 17 นิ้ว เส้นรอบวงก้นขัน 42 นิ้ว เส้นรอบวงปากขัน 70 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง 22 นิ้ว ขนาดความจุน้ำของขันสาครประมาณ 2 ปีบ รอบขอบมีดวงตราสุริยะสลักภาษาอังกฤษว่า “ CHOW PHYA SRI SURY WONGE และ RECENT OF SIAM ” 30 ดวง กับอักษรภาษาจีน 4 ตัว


ชิ้นส่วนพระพุทธรูปและชิ้นส่วนใบเสมา
ขนาดใหญ่ ทำจากหินทรายแดง
 ซึ่งมีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้น
หรืออู่ทอง ที่ขุดพบก้นหลุมใบเสมา
คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตร ผู้เขียนเรื่องนี้ได้ถ่ายภาพไว้นำไปให้ อากงซุนเส็ง ( อากงแสง ลัภยานุกูล ) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาจีนโบราณอ่านว่า “ ลิ้ม กวง ไท เจ๋า ” แปลความหมายรวมว่า ขันใบนี้สั่งทำมาจากเมืองจีนโดยช่างตระกูลลิ้ม “ ภายใต้เครื่องหมายการค้า กวงไท ”

จึงอนุมานได้ว่า ขันสาคร ใบนี้เป็นขันสาครที่ ท่านเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ณ เวลานั้นดำรงตำแหน่งพระสมุหกลาโหมคุมกำลังทหารทั้งหมด ) ก่อนจะเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฝากฝังให้คอยถวายการอารักขาความปลอดภัยให้กับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุวกษัตริย์ที่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการแล้ว ท่านเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงพ้นจากตำแหน่งไป ถือได้ว่าท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้ายในยุครัตนโกสินทร์

ขันสาคร แบบเดียวกับที่อยู่ใน วัดจันทราวาส ศาสตราภิชาน ( ล้อม เพ็งแก้ว ) เคยพบอยู่ที่วัดเกาะ อ.เมือง จ. เพชรบุรี จึงเป็นไปได้ว่าท่านเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านได้สั่งทำมาหลายใบ แต่ตกอยู่ใน จ.เพชรบุรี 2 ใบ ท่านศาสตราพิชาน ( ล้อม เพ็งแก้ว ) ให้คำอธิบายว่า


อากงแสง ลัภยานุกูล ปราชญ์เมืองเพชร
“ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค ) ขณะดำรงฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สั่งทำขันสาครไว้ใช้เองเวลาอาบน้ำ บ่าวจะปรุงน้ำหอมด้วยแล้วตักอาบ เมื่อท่านถึงแก่พิราลัย บุตรหลานจึงจัดถวายพระเป็นเครื่องสังเค็ด ไม่กล้านำเอามาใช้ เพราะท่านผู้เป็นเจ้าของมียศเป็นถึงเจ้าพระยา และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เจ้าอาวาสวัดจันทราวาสและวัดเกาะในสมัยนั้นอาจได้รับนิมนต์มาในงาน และได้รับถวายขันสาครนี้มา... ”

ครับท่านผู้อ่าน ด้วยเหตุว่าผู้ที่รับซื้อขันสาครจากนักโจรกรรมไปไว้ในครอบครอง ถือว่าบุญไม่ถึงที่จะได้ใช้ได้ครอบครองของสูง และอีกอย่างหนึ่งก็เป็นของวัด การโจรกรรมของวัดไปขายก็ถือว่าเป็นบาป ผู้ซื้อต่อไว้ก็มีบาปด้วย จึงไม่อาจครอบครองของดังกล่าวไว้ได้จนต้องนำกลับมาคืนไว้ที่เดิม

ทุกวันนี้ขันสาครได้กลับมาอยู่ที่ วัดจันทราวาส อีกครั้ง ที่ทางวัดได้ใช้ในการทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสำคัญๆ ถือเป็นขันสาครที่มีอานุภาพดียิ่งในการทำน้ำมนต์ หากท่านมีโอกาสผ่านไปเพชรบุรีแวะเข้าไปเยือน วัดจันทราวาส ชมความงดงามของเสนาสนะที่อยู่ในวัด และชมขันสาครที่มีอภินิหารดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และแวะชมวัตถุมงคลที่ทางวัดมีไว้ให้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวท่านและครอบครัว


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1233 วัดจันทราวาสกับวัตถุมงคล ( เรียบเรียงจากหนังสือที่ระลึกงานผูกพัทธสีมาวัดจันทราวาส 13-21 ก.พ. 2553 ) เดือน เมษายนพ.ศ. 2562 ราคาปก 70 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 




Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #วัดจันทราวาส #กับวัตถุมงคล #จ.เพชรบุรี