พุทธศิลป์เลิศล้ำ พิธีกรรมยอดเยี่ยม พระพุทธรูปนาคปรกดำรงราชานุภาพ, พระกริ่งดำรง (บาเก็ง)

พระพุทธรูปนาคปรกบูชา
อลังการแห่งพุทธศิลป์ศรีวิชัยอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นพุทธศิลป์ที่บริสุทธิ์ด้วยจิตวิญญาณของผู้สร้างสรรค์ โดยเฉพาะ พระพุทธรูปนาคปรก เนื้อสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบ ณ วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพระประจำวันเกิดวันเสาร์ อันเป็นวันที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระประสูติกาล พระพุทธรูปนาคปรก ปางมารวิชัย องค์นี้ ยังแสดงถึงการบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

พุทธศิลป์อันงดงามและมีคุณค่าดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดจำลองออกมาได้งดงามประดุจเดียวกัน พร้อมด้วย “ พระกริ่งบาเก็ง ” ซึ่งสร้างในนครวัดสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับมาเมื่อปี พ.ศ.2458 ก็ได้นำมาถอดแบบจากองค์จริง ซึ่งทรงบูชาประจำพระองค์มายาวนาน

พระพุทธรูปนาคปรกดำรงราชานุภาพ
เนื้อทองคำ
พุทธศิลป์ทั้งสองนี้สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2523 พิธีเททองจากชนวนโลหะมงคลมากมายหลายประการ ได้กระทำไปแล้ว ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นประธาน และจะทำพิธีพุทธาภิเษกครั้งยิ่งใหญ่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 22 เมษายน 2548 มงคลวัตถุทั้งสองประการนี้ สร้างขึ้นอย่างยอดเยี่ยมด้วยพิธีกรรมตามมงคลสูตร และการถ่ายทอดพุทธศิลป์เพื่อการอนุรักษ์พุทธศิลป์อันงดงามในพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้คงอยู่สืบไป

พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “บุคคลสำคัญของโลก ผู้ทรงงานตลอดพระชนม์ชีพ”


พระพุทธรูปนาคปรกดำรงราชานุภาพ
เนื้อนวะ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ( ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ ) ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2405 และได้รับพระราชทานนามว่า “ ดิศวรกุมาร ” และทรงเป็นต้นราชสกุล “ ดิศกุล ”

ปี พ.ศ.2420 ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี และต่อมาเป็นนายทหารราชองครักษ์ ในปี พ.ศ.2430 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนแรกของกองทัพไทย

พระกรณียกิจด้านการปกครอง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ระหว่างปี พ.ศ.2435 ถึง พ.ศ.2458 ทรงมีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครอง และการบริหารราชการของกระทรวงมหาดไทย
พระพุทธรูปนาคปรกดำรงราชานุภาพ
เนื้อสัมฤทธิ์
ในด้านการศึกษา เมื่อทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการ ทรงปฏิรูปด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทรงจัดวางระเบียบการบริหารราชการของกรมและโรงเรียน ทรงริเริ่มจัดให้มีการตรวจสอบตำราเรียน และออกประกาศรับรอง ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัยวัดให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้และอบรมศีลธรรม

นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงรับพระภารกิจในการปรับปรุงกิจการด้านต่างๆ อาทิ การป่าไม้ การสาธารณสุข งานด้านสรรพากร และงานอุตสาหกรรมโลหกิจ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

ทางด้านศิลปกรรม ทรงริเริ่มและวางรากฐานการดำเนินงานของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทรงพระนิพนธ์หนังสือตำราต่างๆ ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลก จนได้รับพระสมัญญานามเป็น “ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ” และทรงได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ ( UNESCO ) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2505

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่างๆ อันเป็นคุณูปการในการบริหารบ้านเมือง ผลงานของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ต่อมหาชนทุกยุคสมัย ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสยกย่องว่าทรงเป็นประดุจ “ เพชรประดับมหามงกุฎ ”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์ ณ วังวรดิศ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2486 รวมพระชนมายุ 81 พรรษา


ความเป็นมาในการจัดสร้าง

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
การที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ทรงดูแลกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมดูแลมณฑลเทศาภิบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ทรงมีโอกาสได้สัมผัส พบเห็นวัตถุโบราณอันเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศเป็นจำนวนมาก และในบรรดาของดีของวิเศษนั้นก็คือ พระกริ่งบาเก็ง และ พระพุทธรูปนาคปรก ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงมีมติให้จัดสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้มีโอกาสสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล

1. พระนาคปรกดำรงราชานุภาพ (ศิลปะศรีวิชัย)
คณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้จัดสร้าง พระนาคปรก ปางมารวิชัย โดยจำลองจากพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นาคปรก ปางมารวิชัย สมัยศรีวิชัย ซึ่ง “ กรมพระยาดำรงฯ ” ได้พบที่ วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวจัดว่าเป็น พระพุทธรูปนาคปรก ที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้นอกจากพระนาคปรกจะเป็นพระประจำวันเสาร์ อันเป็นวันที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระประสูติกาลแล้ว พระพุทธรูปนาคปรก ปางมารวิชัย ยังแสดงถึงการบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

ประวัติพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นาคปรก ปางมารวิชัย สมัยศรีวิชัย องค์นี้ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้บันทึกไว้ว่า

ทางฝ่ายไทยซึ่งปกตินับถือพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท มักเชื่อกันว่า พระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันเสาร์นั้น หมายถึงว่าในสัปดาห์ที่เจ็ด หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปประทับบำเพ็ญสมาธิใต้ต้นจิก ขณะนั้นเกิดพายุใหญ่ พระยานาคมุจลินท์ซึ่งอาศัยอยู่ในสระใหญ่ข้างเคียง จึงขึ้นมาปกป้องพระพุทธองค์โดยใช้ขนดนาครองรับพระพุทธองค์และแผ่พังพานขึ้นเหนือพระเศียร


พระกริ่งดำรง (บาเก็ง) เนื้อทองคำ
พระกริ่งดำรง (บาเก็ง) เนื้อนวะ
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์นาคปรก ปางมารวิชัย สมัยศรีวิชัย จาก วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และเป็น พระพุทธรูปนาคปรก ที่งามที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย จึงไม่ใช่พระพุทธรูปที่สร้างผิดแบบจากปางสมาธิเป็นปางมารวิชัย แต่เนื่องจากในสมัยศรีวิชัยนั้น พุทธศาสนาลัทธิมหายานกำลังแพร่หลายอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ช่างจึงประดิษฐ์สร้างพระพุทธรูปนาคปรก ปางมารวิชัย ขึ้น เพื่อแสดงถึงความหมายของบรรดาสัปดาห์ต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญสมาธิ ภายหลังการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทรงผ่านจากการตรัสรู้ไปยังการทรงเผยแพร่พระธรรม สัปดาห์สุดท้ายนี้เป็นสัปดาห์ที่ยากที่สุด เพราะเหตุว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์สูงสุดและจำเป็น ด้วยเหตุนั้นช่างจึงแสดงรูปพระพุทธองค์ ทรงแสดงปางมารวิชัยแทนที่จะเป็นปางทรงแสดงสมาธิตามปกติ


พระกริ่งดำรง (บาเก็ง) เนื้อสัมฤทธิ์
2. พระกริ่งบาเก็ง กับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

จากบันทึกในนิราศนครวัด ซึ่งกล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงการพบพระกริ่งปทุมสุริยวงศ์นั้น เป็นพระกริ่งอย่างเดียวกันกับที่เราเรียกว่า พระกริ่งบาเกง บาเก้ง บาเค็ง หรือ บาเคง ก็สุดแต่ใครจะออกเสียง แต่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ออกเป็นว่า ( บาเกง ) ในบันทึกวันที่ 30 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2467 เวลาเช้า ความตอนหนึ่งว่า

“ อนึ่ง เรามาเที่ยวนี้ ได้ตั้งใจสืบสวนกาลเรื่องหนึ่งคือ เรื่องพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ซึ่งเรียกกันว่า พระกริ่ง  เป็นของที่นับถือ และขวนขวายหากันในเมืองเรามาแต่ก่อน กล่าวกันว่าเป็นของพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ สร้างไว้เพราะได้ไปจากเมืองเขมรทั้งสิ้น

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 พระอมรโมลี ( นพ ) วัดบุปผาราม สั่งมหาปาน ราชาคณะธรรมยุทธในกรุงกัมพูชาองค์แรก ซึ่งต่อมาได้เป็น สมเด็จพระสุคนธ์ นั้นมาได้ พระกริ่ง ขึ้นไปให้คุณตา ( พระยาอัพภันตริกามาตย์ ) ท่านให้แก่เราแต่ยังเป็นเด็กองค์หนึ่ง เมื่อเราบวชเป็นสามเณร นำไปถวายเสด็จพระอุปัชฌาย์ ( สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ) ทอดพระเนตร ท่านตรัสว่าเป็นกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แท้ และทรงอธิบายต่อไปว่า พระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ นั้นมี 2 อย่าง เป็น สีดำ อย่างหนึ่ง เป็น สีเหลือง องค์ย่อมลงมากว่าเป็นสีดำอย่างหนึ่ง แต่อย่างสีเหลืองนั้นเราไม่เคยเห็น ได้เห็นของคนอื่นก็เป็นสีดำทั้งนั้น

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
ในพิธีมังคลาภิเษกชนวนโลหะแผ่นพระยันต์
และเททองหล่อพระกริ่งดำรง (พิมพ์บาเก็ง)
และพระนาคปรกดำรงราชานุภาพ
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในพระบรมมหาราชวัง
คณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ
และสมาชิกราชสกุล “ดิศกุล” ประกอบพิธีบูชาฤกษ์และบวงสรวงเทพยดา
พระเกจิอาจารย์ 8 รูป นั่งปรกภายในราชวัติฉัตรธง
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาเมื่อเราอยู่กระทรวงมหาดไทย ( พ.ศ.2435-245 ) พระครูเมืองสุรินทร์เข้ามากรุงเทพฯ เอา พระกริ่ง มาให้อีกองค์หนึ่ง ก็เป็นอย่างสีดำ ได้พิจารณาเทียบเคียงกันดูกับองค์ที่คุณตาให้เห็นเหมือนกันไม่ผิดเลย จึงเข้าใจว่าพระกริ่งนั้นเดิมเห็นจะตีพิมพ์ทีละมากๆ รูปสัณฐานเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปอย่างจีน มาได้หลักฐานเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยราชทูตต่างประเทศคนหนึ่งเคยไปอยู่ปักกิ่ง ได้พระกริ่งของจีนมาองค์หนึ่งขนาดเท่ากัน แต่พระพักตร์มิใช่พิมพ์เดียวกับพระกริ่งเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ถึงกระนั้นก็เป็นหลักฐานว่า พระกริ่ง เป็นของจีน คิดแบบอย่างตามตำราในฝ่ายมหายานเรียกว่า “ ไภษัชยคุรุ ” เป็นพระพุทธรูปทรงถือเครื่องบำบัดโรคคือบาตรขีดน้ำมนต์ หรือผลสมอ เป็นต้น สำหรับบูชาเพื่อป้องกันสรรพโรคาภาธ และอัปมงคลต่างๆ เพราะฉะนั้น พระกริ่ง จึงเป็นพระสำหรับทำน้ำมนต์ เรามาเที่ยวนี้จึงตั้งใจจะสืบหาหลักฐานว่า พระกริ่ง นั้น หากันได้ที่ไหนในเมืองเขมร ครั้นมาถึงเมืองพนมเปญ พบพระสงฆ์ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ลองไต่ถามก็ไม่มีใครรู้เรื่อง หรือเคยเห็น พระกริ่ง ( เรื่องพระเจ้าปทุมนั้นรู้กันแต่ในคำให้การของชาวกรุงเก่า ชาวเขมรอาจจะไม่รู้เรื่อง ) มีออกญาจักรีบอกว่า สักยี่สิบปีมาแล้วได้เคยเห็นองค์หนึ่งเป็นของชาวบ้านนอก แต่ก็หาได้เอาใจใส่ไม่ ครั้นมาถึงพระนครวัด จึงมาได้ความจากเมอซิเออร์ เออมาเชล ผู้จัดการรักษาโบราณสถานว่า เมื่อสัก 2-3 เดือนมาแล้ว เขาขุดซ่อมเทวสถาน ซึ่งแปลงเป็นวัดพระพุทธศาสนาบนยอดเขาบาแค็ง พบพระพุทธรูปเล็กๆ อยู่ในหม้อใบหนึ่งมีหลายองค์ เอามาให้เราดู เห็นเป็นพระกริ่งพระเจ้าสุริยวงศ์ ทั้งนั้น มีอย่างดำและอย่างเหลือง ตรงกับที่สมเด็จพระอุปัชฌาย์ทรงอธิบาย จึงเป็นอันได้ความแน่ว่า พระกริ่ง ที่ได้ไปยังประเทศเราแต่ก่อนนั้นเป็นของหาได้ในกรุงกัมพูชาแน่ แต่จะทำมาจำหน่ายจากเมืองจีน หรือพวกขอมจะเอาแบบพระจีนมาคิดหล่อขึ้นในประเทศขอม ข้อนี้ทราบไม่ได้ ”
“กรมพระยาดำรงฯ” เสด็จที่พนมบาเก็ง ประเทศเขมร

จากการที่ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีนี่เอง ที่บรรดาวัตถุโบราณของดีมีค่ามักจะผ่านสายพระเนตรของพระองค์ท่านตลอดเวลา และหนึ่งในบรรดาของดีของวิเศษนั่นก็คือ พระกริ่ง ธิเบตและ พระกริ่งบาเก็ง ซึ่งได้นำมาถอดแบบจากองค์ที่ใช้ประจำมาเป็นต้นแบบในการสร้างครั้งนี้

วัตถุประสงค์
ด้วย มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2523 เพื่อสืบสานพระปณิธานในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจในด้านต่างๆ อันเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติทั้งด้านการปกครอง การทหาร การศึกษา ตลอดจนด้านวิชาการทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

เนื่องจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสนพระทัยและมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงศึกษาค้นคว้าและรวบรวมโบราณวัตถุซึ่งมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมไว้เป็นอันมาก มูลนิธิฯจึงเห็นควรจัดสร้างวัตถุมงคลในพระนามคือ พระกริ่งดำรง ( พิมพ์บาเก็ง ) และ พระนาคปรกดำรงราชานุภาพ (ศิลปะศรีวิชัย) ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และรำลึกในพระกรุณาธิคุณ โดยเงินที่ได้รับจากการบริจาคบูชาในครั้งนี้จะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าทุกสาขาวิชาในทุกระดับ และการให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
2. เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการทำนุบำรุงศาสนสถาน และภัตตาหารแก่พระภิกษุและสามเณร วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่หอสมุดแห่งชาติ สมุดดำรงราชานุภาพ และพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ
4. เพื่อประกอบกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกับองค์กรการกุศลต่างๆ


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  917 พุทธศิลป์เลิศล้ำ พิธีกรรมยอดเยี่ยม พระพุทธรูปนาคปรกดำรงราชานุภาพ, พระกริ่งดำรง (บาเก็ง) ปักษ์หลัง เดือน ธันวาคม 2547ราคาปก 50 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 




Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #พุทธศิลป์เลิศล้ำ #พิธีกรรมยอดเยี่ยม #พระนาคปรก #ดำรงราชานุภาพ