พระราชพุทธิมงคล ( พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ) วัดโรงธรรมสามัคคี เลขที่ 56 บ้านตลาดสันกำแพง ถนนคชสาร หมู่ที่ 7 ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ.2517
เนื้อทองคำ หมายเลข 1 (เอื้อเฟื้อภาพโดย
คุณกิตินิวัต ซอยรวมพร 100/6 ม.9
สันกำแพง เชียงใหม่)
ภาพและเรื่องโดย…นายแพทย์จรัญ ชัยศิริ

  • เล่าเรื่องราวท่านอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ธุดงค์ขึ้นเหนือและได้มาถึงอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ราวปี พ.ศ.2481 พำนักที่วัดโรงธรรมสามัคคี
  • พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล (พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร) เป็นศิษย์สายตรงของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อ 60 ปีมาแล้ว
  • นับเป็น 1 ใน 108 พระคณาจารย์แห่งกองทัพธรรม ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือเรืองวิทยาคุณเชี่ยวชาญทางฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน
  • ท่านเจ้าคุณพระราชพุทธิมงคล
    (พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร)
    ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2517 อายุ 54 ปี
    (ถ่ายภาพโดย นายแพทย์จรัญ ชัยศิริ)
  • พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร มีเมตตาจิตนั่งปรกและปลุกเสกเดี่ยว เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ.2517 ซึ่งมีพุทธคุณดีเด่นทางโชคลาภมหาศาลได้อย่างไม่คาดฝัน

วันเวลาผันแปรผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ดุจดังติดปีกบิน ผู้เขียนยังคงจดจำได้ดีว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2517 เช้าวันนั้นผู้เขียนได้เดินทางจากกรุงเทพมหานครดิ่งตรงไป วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เข้านมัสการเจ้าอาวาสวัดโรงธรรมสามัคคี คือ ท่านพระครูวิมลคณาภรณ์ ( พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ) ขณะนั้นท่านมีอายุราว 54 พรรษา 34 นมัสการกราบเรียนท่านว่า ผู้เขียนและคณะกรรมการผู้จัดสร้าง เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ.2517 ขออนุญาตสร้างเหรียญดังกล่าว และกราบเรียนท่านเมตตา นั่งปรกบริกรรมปลุกเสก เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก นี้ ณ วัดโรงธรรมสามัคคี เลขที่ 56 บ้านตลาดสันกำแพง ถนนคชสาร หมู่ที่ 7 ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังพิธีพุทธาภิเษกเหรียญดังกล่าวเสร็จแล้วท่านก็ได้แจกจ่าย เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ และท่านสาธุชนทั่วไปในช่วงปี พ.ศ.2518 จนหมดสิ้น

นับจากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้ เป็นเวลานาน 31 ปี ท่านได้รับตำแหน่งหน้าที่สำคัญ คือ เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน ครั้นต่อมาเนื่องในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระวิมลธรรมญาณเถร ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2547 ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราช มีราชทินนามว่า พระราชพุทธิมงคล

อันข่าวนี้ย่อมนำความปีติ ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งยวดมาสู่บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งปวงรวมทั้งผู้เขียนด้วย ฉะนั้น จึงใคร่ขอเรียนเสนอเรื่องราว และประวัติของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล ( พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ) เจ้าอาวาส วัดโรงธรรมสามัคคี ดังต่อไปนี้


ประวัติวัด

เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ.2517
(เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณกิตินิวัต ซอยรวมพร
100/6 ม.9 สันกำแพง เชียงใหม่)
วัดโรงธรรมสามัคคี ตั้งอยู่เลขที่ 56 บ้านตลาดสันกำแพง ถนนคชสาร หมู่ที่ 7 ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา ตามที่แจ้งในแบบกรอกประวัติวัด อาณาเขตทิศเหนือประมาณ 4 เส้น 11 วา จดที่ดินของเอกชน ทิศใต้ประมาณ 3 เส้น 19 วา ติดถนนทิศตะวันออกประมาณ 3 เส้น 11 วา จดถนนทิศตะวันตกประมาณ 2 เส้น 8 วา จดที่ดินของเอกชน วัดโรงธรรมสามัคคี สร้างปี พ.ศ.2481 เป็นเวลานาน 67 ปีมาแล้ว


เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ.2517
(เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณกิตินิวัต ซอยรวมพร
100/6 ม.9 สันกำแพง เชียงใหม่)
ที่ดินวัดเดิมทีเป็นสวนลำไย เนื้อที่ราว 1 ไร่ ของ นาย ส่างก่อ น้องชายชื่อ ส่างกี เป็นคนเชื้อสายเงี้ยว ครั้นต่อมาชาวคณะศรัทธาตลาด สันกำแพง ได้ขอซื้อที่ดินมาสร้าง วัดโรงธรรมสามัคคี เมื่อปี พ.ศ.2481 สมัยก่อนชาวบ้านเรียกกันว่า วัดโรงธรรม เดิมมีที่ดิน 4 ไร่เศษ ต่อมา นายเชียง ชินวัตร กับ คุณแม่ แสง ชินวัตร และ นายยืน ธีระสวัสดิ์ และภรรยาชื่อ สมณา ธีระสวัสดิ์ ได้ยกที่ดินถวาย 3 ไร่เศษ ในปี พ.ศ.2492 ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.2497 นายเลิศ ชินวัตร ได้ยกที่ดินถวาย 1 ไร่เศษ และปี พ.ศ.2521 นางเข็มทอง โอสถาพันธ์ ได้ยกที่ดินถวายวัดอีก 2 ไร่เศษ จึงรวมเป็นเนื้อที่ตั้งวัด 10 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา

นับจาก พ.ศ.2481 ซึ่งท่านอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ได้เคยมาบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานที่สวนลำไยแห่งนี้ หลังจากนั้นก็มีพระกัมมัฏฐานสัญจรมาพักอบรมธรรมเป็นลำดับมาเรื่อย จวบจนเมื่อปี พ.ศ.2500 พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร (พระครูวิมลคณาภรณ์) รักษาการเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น พร้อมด้วยชาวคณะศรัทธา ตลาดสันกำแพง ได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนขึ้นเป็นสำนักสงฆ์แล้วก็ได้รับการจดทะเบียนเป็นสำนักสงฆ์โดยถูกต้องและสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2501 เป็นต้นมา อนึ่ง ปี พ.ศ.2500 พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ก็ได้รับการแต่งตั้งจากท่านเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดเชียงใหม่ ตามตราตั้งที่ 2/2500 ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2500 เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก สืบต่อมาในปี พ.ศ.2501 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “ พระครูวิมลคณาภรณ์ ” ( แปลว่า ผู้ประดับหมู่ให้งามปราศจากสิ่งมัวหมอง ) ท่านได้พัฒนา วัดโรงธรรมสามัคคี จนเจริญรุ่งเรืองขึ้น อนึ่ง วัดโรงธรรมสามัคคี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2506 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร วัดนี้ได้รับการพัฒนาจนรุ่งเรือง

พระเจดีย์โพธิปักขิยธรรม
และพญานาค เฝ้ารักษา
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยพระอุโบสถ กว้าง 7 เมตร ยาว 24 เมตร เริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 เมื่อสำเร็จแล้วได้ทำการฉลอง เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2510 สิ่งก่อสร้างก็มีกุฏิเจ้าอาวาส ( ห้องสมุดปทุมานุสรณ์ ) ซึ่งผู้เขียนเคยมากราบนมัสการพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล ณ ที่แห่งนี้วัดนี้ยังมี พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐยีมหาเถระ) หนึ่งหลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นแข็งแรง  และยังมีศาลาการเปรียญทรงไทยชื่อ วิมลคณานุสรณ์ ซึ่งใช้เป็นหอฉัน นอกจากนี้ยังมีศาลาอื่นๆ เช่น ศาลาอเนกประสงค์ ศาลาบำเพ็ญกุศล อาคารเรียนพระปริยัติธรรม-ศาลาธรรมสามัคคี, หอระฆังก่ออิฐถือปูน, กุฏิพระภิกษุ-สามเณร เรียงรายอยู่เป็นระเบียบเรียบร้อย

ปูชนียวัตถุ มี พระพุทธรูป และ พระเจดีย์โพธิปักธิยะธรรม สูง 7 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องสมุด ชั้น 2-3-4 บรรจุวัตถุโบราณต่างๆ ชั้น 5-6-7 บรรจุพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างๆ ชั้นบนคอระฆังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระอุโบสถวัดโรงธรรมสามัคคี
ปัจจุบันนี้ วัดโรงธรรมสามัคคี ตั้งอยู่ท้ายบ้าน ตลาดสันกำแพง ถ้ามาจากสี่แยก สันกำแพง ผ่านถนนคชสารเลี้ยวขวาเข้าสู่วัดได้สะดวกสบาย หรืออาจมาทาง สันใต้ ถนนแม่ออน เลี้ยวเข้าถนนเทพบุตร ผ่านหลังบ้านของผู้เขียน เลขที่ 50 สันใต้ แล้วเข้าทางหมู่บ้านจัดสรรที่ดิน ซึ่งมีถนนคอนกรีต ตัดตรงสู่ วัดโรงธรรมสามัคคี ได้โดยสะดวกเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากวัดอยู่ห่างจากบ้านของผู้เขียนเพียงระยะทางครึ่งกิโลเมตรเท่านั้น จึงสามารถมองเห็น พระเจดีย์โพธิปักธิยะธรรม และหลังคาพระอุโบสถ วัดโรงธรรมสามัคคี ได้ชัดเจน


เล่าเหตุการณ์พระอาจารย์มั่นไปสันกำแพง

ในระหว่างช่วงปี พ.ศ.2471 ถึง 2481 ท่านอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ปรมาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานเดินทางขึ้นไปภาคเหนือ จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนถ้ำเชียงดาวและสวนลำไยใน อำเภอสันกำแพง ( ซึ่งต่อมาก็คือ วัดโรงธรรมสามัคคี ที่ สันกำแพง ) รวมทั้งสิ้นเป็นเวลานานถึง 10 ปี เรียงลำดับดังหลักฐานที่ระบุไว้ต่อไปนี้

เมื่อ พ.ศ.2471 พระอาจารย์มั่นมีอายุ 58 ปี
พรรษาที่ 39 พ.ศ.2471 พระอาจารย์มั่นเดินทางจากวัดสระปทุม กรุงเทพมหานคร ไป จังหวัดเชียงใหม่
พรรษาที่ 40 พ.ศ.2472 จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พรรษาที่ 41 พ.ศ.2473 จำพรรษาที่ดอยเขาจอมแตง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พรรษาที่ 42 พ.ศ.2474 จำพรรษาที่วัดบ้านปง ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง
พรรษาที่ 43 พ.ศ.2475 จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง ในเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พรรษาที่ 44 พ.ศ.2476 จำพรรษาที่อรัญญบัพพตา ป่าเมี่ยง แม่ปั๋ง อำเภอพร้าว และห้วยทราย เวียงป่าเป้า
พรรษาที่ 45 พ.ศ.2477 จำพรรษาที่ป่าเมี่ยง แม่ปั๋ง อำเภอพร้าว
พรรษาที่ 46 พ.ศ.2478 จำพรรษาที่ทุ่งหมากเข้า อำเภอพร้าว
พรรษาที่ 47 พ.ศ.2479 จำพรรษาที่เขามูเซอร์ อำเภอแม่สรวย
พรรษาที่ 48 พ.ศ.2480 จำพรรษาที่ดอยธาตุจอมแจ้ง อำเภอแม่สรวย
พรรษาที่ 49 พ.ศ.2481 จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และธุดงค์มาปักกลดที่สวนลำไย ท้าย บ้านตลาดสันกำแพง ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นที่ตั้ง วัดโรงธรรมสามัคคี ในปัจจุบันนี้นั่นเอง


พระอุโบสถวัดโรงธรรมสามัคคี
ศาลาการเปรียญชื่อ “วิมลคณานุสรณ์”
กาลครั้งนั้น สวนลำไยนี้เป็นของ นายส่างก่อ และ ส่างกี สองพี่น้องผู้มีเชื้อสายเงี้ยว ขณะนั้นกำลังปลูกลำไยนานาพันธุ์ เป็นสถานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การนั่งบำเพ็ญเพียรฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างยิ่ง ครั้งนั้นท่านอาจารย์มั่นปักกลดอยู่หลายวัน ณ ที่แห่งนี้

อนึ่ง ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน มีข่าวลือเข้าหูชาวบ้านสันใต้ ซึ่งอยู่ใกล้ ตลาดสันกำแพง ว่า เสือเย็น ออกมาอาละวาดหนักตามท้องที่ต่างๆ หลายอำเภอใน จังหวัดเชียงใหม่ นายซาว แก้วญานะ เป็นบุตรชาย นายจอง เป็นคนพม่า เชื้อสายต่องสู้มีมารดาชื่อ แม่หลวงเอ้ย เป็นชาวล้านนา เชียงใหม่ เมื่อครั้งหนุ่มแน่น นายซาว แก้วญานะ ชักชวน นายเมืองใจ ( พ่อน้อยหมูดำ ) นำผ้าแพรและผ้าไหมลายงามมีราคาแพงบรรทุกโคต่าง เดินทางไปค้าขายที่กรุงมัณฑะเลย์และเมืองหงสาเสมอ


ครั้งหนึ่งนายซาวเคยเดินทางไปเที่ยวที่ตำบล แม่อาย อำเภอฝาง ก็ได้ข่าว เสือเย็น อาละวาดหนักที่แม่อาย มันเป็นเสือลายพาดกลอนมีขนาดลำตัวยาวเกือบ 3 เมตร มักออกมาตอนดึกลักกินไก่ในเล้า และกำเริบหนักถึงกับคร่าชีวิตพ่อค้าที่สัญจรผ่านละแวกนี้ จนได้รับบาดแผลเหวอะหวะ เสียชีวิตไปนับสิบๆ คนแล้ว อนึ่ง ผู้คนที่รอบรู้ไสยศาสตร์มีวิชาดีก็เล่าขานว่า ในตอนกลางวัน เสือเย็น จะกลายสภาพเป็นคนธรรมดา เหมือนปุถุชนทั่วไป แต่เนื่องจากเรียนวิชาเดียรัจฉานจนสำเร็จและเชี่ยวชาญแปลงร่าง แต่เผอิญร้อนวิชา เพราะเป็นอวิชาทำให้รุ่มร้อนใจเกิดจิตวิปลาส ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ พอตกดึกร่างกายก็แปรสภาพเป็นเสือลายพาดกลอนตระเวนออกหาเหยื่อ ทำให้ชาวบ้านแม่อายเดือดร้อนหนัก จึงป่าวประกาศหาพระคณาจารย์กัมมัฏฐานให้มาช่วยเหลือคุ้มครองชาวบ้าน และช่วยปัดเป่าเคราะห์ที่มารังควานชาวแม่อายในขณะนั้น

ครั้งนั้นชาวบ้าน ตลาดสันกำแพง-สันใต้ ผู้มีใจโอบอ้อมอารี ไม่มีใครเชื่อเรื่อง เสือเย็น ที่กล่าวขวัญกันในอำเภอ แม่อาย ซึ่งอยู่ไกลจาก สันกำแพง มาก ดังนั้น ชาวบ้าน ตลาดสันกำแพง จึงร่วมมือร่วมใจกันนำภัตตาหารไปถวาย พระอาจารย์มั่น ทุกเช้า บ้างก็นำจอบเสียมไปถากถางป่ารกชัฏในบริเวณสวนลำไยของ ส่างก่อ-ส่างกี บ้างก็ไปหาเสาไม้ ฝาบ้าน และใบตองตึง ( ใบตองเมืองเหนือ ) ซึ่งมีขนาดใหญ่ พอที่จะมุงกันฝนและน้ำค้างตอนดึกได้สร้างกุฏิถวายพระอาจารย์มั่นด้วยแรงใจศรัทธา


คุณยายสมณา อายุ 85 ปี กำลังกราบนมัสการ
ท่านเจ้าคุณพระราชพุทธิมงคล (ทองบัว ตนฺติกโร)
อนึ่ง ผู้ที่เป็นตัวหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างกุฏิหลังน้อย ถวายท่านอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ได้แก่ ครอบครัวตระกูล จันต๊ะ ซึ่งมี พ่อจอง จันต๊ะ ( ชื่อเต็มจริงๆ ว่า พ่อจองนันตา นามสกุล จันต๊ะ ) อาชีพพ่อค้า มีเชื้อสายเป็นชาวเงี้ยว เผ่าต่องสู้ ซึ่งอยู่เหนือแว่นแคว้นเชียงใหม่ขึ้นไปอีก พ่อจอง จันต๊ะ เคยเป็นพ่อค้าผ้าค้าผ้าไหม นำวัวต่างเดินทางบกขึ้นล่องระหว่างเชียงใหม่กับเมืองต่างๆ ในพม่า ต่อมาพ่อจอง จันต๊ะ ได้แต่งงานกับ แม่จา จันต๊ะ ชาวล้านนาเชียงใหม่ มีลูกหลานสืบตระกูล สร้างบ้านแปลงเรือน มีนิวาสถานอยู่ที่ ตลาดสันกำแพง ถนนคชสาร หมู่ที่ 7 อยู่ใกล้สวนลำไยส่างก่อ-ส่างกี สองพี่น้อง ( ซึ่งต่อมาก็คือ วัดโรงธรรมสามัคคี นั่นเอง )

อนึ่ง พ่อจอง จันต๊ะ กับ แม่จา จันต๊ะ มีบุตรชายและบุตรหญิงรวมกัน 3 คน ดังนี้
ที่กุฏิของท่านเจ้าอาวาส
วัดโรงธรรมสามัคคี
เจดีย์ อยู่คู่อุโบสถ วัดโรงธรรมสามัคคี
1. พ่อน้อยหมูดำ หรือ นายเมืองใจ ( หมู ) จันต๊ะ แต่งงานกับ นางมูล แล้วตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านสันใต้ ถนนแม่ออน อำเภอสันกำแพง อยู่ใกล้บ้านเลขที่ 50 สันใต้ ซึ่งเป็นบ้านของ นายซาว แก้วญานะ เป็นบุตรชายพ่อจอง ชาวต่องสู้ กับนางเอ้ย ( แม่หลวงเอ้ย ) นายซาวผู้นี้มีอายุ 73 ปี ผู้เขียนคุ้นเคยสนิทสนมเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่ออดีตครั้งหนุ่มแน่นเคยเป็นพ่อค้าผ้า นำผ้าแพร ต่างโค เดินเท้าไปกรุงมัณฑะเลย์-มะละแหม่ง โดยจัดเป็นกองคาราวาน ย่ำเท้าไปเยือนพม่า พร้อมกับ นายเมืองใจ ( พ่อน้อยหมูดำ ) เดินทางหลายครั้งหลายคราว ดังนั้น คนทั้งสองจึงสนิทสนมกันมาก ครั้งหนึ่งเคยชวนกันไปสร้างกุฏิหลังเล็กๆ ถวายท่านอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่สวนลำไยนายส่างก่อ-ส่างกี สองพี่น้อง ดังที่กล่าวมาแล้ว

2. นายจันทร์ตา จันต๊ะ เป็นบุตรีของพ่อจอง จันต๊ะ เมื่อมีอายุพอสมควร นายจันทร์ตา ก็ได้แต่งงานกับ  ส่างมาตร สุมลมาตร นายส่างมาตรเป็นผู้มีจิตกุศลสูงส่ง ก็ได้ร่วมมือแข็งขันสร้างกุฏิถวายแด่พระอาจารย์มั่นในกาลครั้งนั้นด้วย

3. นางสมณา จันต๊ะ เป็นบุตรีของพ่อจอง จันต๊ะ กับ แม่จา จันต๊ะ สำหรับแม่จานั้น พอคลอดนางสมณาได้ 2 ปี ก็เสียชีวิตลง ครั้นนางสมณามีอายุครองเรือนได้แล้วก็ได้สมรสกับ นายยืน ธีระสวัสดิ์ ในหนังสืออนุสรณ์ “ คิดถึงแม่สมณา ” เขียนไว้ว่า ท่านเป็นผู้บุกเบิก ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานเอาเองว่าด้วยเหตุนี้กระมังท่านจึงกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ยึดถือความถูกต้องเป็นที่ตั้ง มีน้ำใจโอบอ้อมอารีและชอบช่วยเหลืออุปการะผู้อื่นเสมอ เฉกเช่นเดียวกันกับ นางสมณา ธีระสวัสดิ์ ผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ผู้เขียนสนิทสนมคุ้นเคยกับท่านมาร่วม 50 ปีแล้ว เคยเรียกท่านอย่างเคยชินว่า “ น้าสมณา ” ผู้มีวาจาไพเราะเสนาะโสต ท่านมีนิวาสถานอยู่บ้านตลาดสันกำแพง ใกล้ทางเข้าประตูวัดโรงธรรมสามัคคี


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ผู้เขียนขอย้อนอดีตเล่าเหตุการณ์ ปี พ.ศ.2481 ครั้งผู้ริเริ่มชาวคณะศรัทธาบ้าน ตลาดสันกำแพง ได้ทราบว่าท่านอาจารย์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ มาเยือน อำเภอสันกำแพง ปักกลดบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่สวนลำไย นายส่างก่อ-ส่างกี สองพี่น้องเชื้อสายเงี้ยว บรรดาผู้ใจบุญก็รีบกุลีกุจอปลูกกุฏิถวายหนึ่งหลัง มีลักษณะเป็นกุฏิเล็กๆ ยกพื้นไม้ กั้นฝาขัดแตะ ใช้ตองตึงมุงหลังคา ในบรรดานี้ประกอบด้วยตระกูลชินวัตร และครอบครัวพ่อจอง นันต๊ะ ( จองนันตา ) นายยืน ธีระสวัสดิ์ นายส่างมาตร สุมลมาตร นายเมืองใจ ( พ่อน้อยหมูดำ ) กับเพื่อนสนิท นายซาว แก้วญานะ นายจองจินะ ผู้ใหญ่คง ไชยทา และหนานคำ เป็นต้น ล้วนมีส่วนร่วมในการกุศลเมื่อร่วม 70 ปีก่อนทั้งนั้น


ประวัติพระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร

ท่านเจ้าคุณพระราชพุทธิมงคล
พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร)
ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2517 ขณะมีอายุ 54 ปี
พรรษา 34 (ถ่ายภาพโดย
นายแพทย์จรัญ ชัยศิริ)
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธมงคล (ทองบัว ตนฺติกโร) มีนามเดิมว่า ทองบัว พุทธสี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2464 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา สกุล พุทธสี หมายถึง เป็นศรีหรือเป็นมิ่งขวัญแก่พระบวรพุทธศาสนา สมกับปฏิปทาของท่านที่ได้ตั้งใจปฏิบัติอยู่ โยมบิดาชื่อ ปราโมทย์ พุทธสี โยมมารดาชื่อ สีดา พุทธสี โยมบิดาเป็นคนลพบุรี บ้านหนองผักแว่น ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ดังนั้น ท่าน ทองบัว จึงเกิดที่จังหวัดลพบุรีดังกล่าว ส่วนโยมมารดาเป็นคนอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านมีพี่น้องท้องเดียวกัน 12 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 6 คน ท่านเป็นบุตรชายคนที่ 9

เมื่อมีอายุ 8 ขวบ คุณโยมมารดาก็เสียชีวิตลง โยมบิดาจึงได้อพยพครอบครัวจากภูมิลำเนาเดิมที่ลพบุรี ขึ้นไปอยู่บ้านยางคำ ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าเรียนหนังสือที่จังหวัดนี้ราวปี พ.ศ.2470 และจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาบริบูรณ์ จากโรงเรียนยางคำวิทยาคาร วัดสวรรค์คงคา จังหวัดขอนแก่น เมื่อราวปี พ.ศ.2476 เมื่อจบการศึกษาเล่าเรียนพอสมควรแล้ว เนื่องจากท่านมีนิสัยอ่อนโยน เยือกเย็น และเมตตาอารี มีจิตใจโน้มน้าวคล้อยไปตามรสพระธรรมทางพุทธศาสนาอย่างซาบซึ้ง จึงไม่ขอเรียนทางกระทรวงธรรมการจัดตั้ง ได้ตัดสินใจนุ่งขาว ห่มขาว รักษาศีล 8 อย่างเคร่งครัด เมื่อมีอายุ 16 ปี ท่านท่องบ่นสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน เป็นเวลา 2 ปีเต็ม

ครั้นมีอายุ 18 ปี โยมบิดาบรรพชาให้เป็น สามเณรทองบัว โดยมี พระครูพิศาลคณานุกิจ ( ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระพิศาลคณานุกิจ ) วัดมหาชัย อ.หนองบัวลำภู เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านเจ้าคุณองค์นี้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปรมาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในภาคอีสานขณะนั้น

ภายหลังบรรพชาเป็น สามเณรทองบัว แล้วก็ได้ฝึกเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์สาทวิชาให้ ท่านยังธุดงค์จากตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ตามพี่ชายท่านที่บวชเป็นพระภิกษุ อยู่ก่อนหน้านั้นก็ได้ธุดงค์ไปแสวงหาวิเวกเป็นเวลา 2 ปี จนเดินทางถึง บ้านหนองโก อยู่ข้างสนามบินจังหวัดอุดรธานี และท้องที่ใกล้เคียง

พออายุใกล้จะครบบวช พระภิกษุพี่ชายได้นำ สามเณรทองบัว ไปวัดมหาชัย ฝากฝังไว้กับ ท่านเจ้าคุณพิศาลคณานุกิจ ที่หนองบัวลำภู และยังได้ติดตามท่านเจ้าคุณออกธุดงค์ไปอีก จนปี พ.ศ.2485 จึงกลับวัดมหาชัย อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี


(ซ้าย) เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์
จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพระอุปัชฌายะของพระอาจารย์ต่างๆ ที่มารับการญัตติใหม่
ปี 2485 เมื่ออายุได้ 21 ปี ท่านพระอาจารย์จูม โฆสโก ได้จัดการให้ท่านอุปสมบท โดยมี ท่านเจ้าคุณพระพิศาลคณานุกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ตามเดิม มี พระอาจารย์ตาล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบท ณ วัดมหาชัย อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ได้รับฉายาว่า ตนฺติกโร ต่อมาได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านหนองแวง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และได้ศึกษาอบรมวิธีทำวิปัสสนากัมมัฏฐาน กับ พระอาจารย์มั่น ซึ่งระยะเวลานั้นพระอาจารย์มั่นเพิ่งเดินทางกลับจากการจาริกธุดงค์ทางภาคเหนือ ในปี พ.ศ.2482 รวมเวลาที่ท่านพำนักหาความสงบสุขอยู่นานถึง 10 ปี ( ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472-2482 ) พระอาจารย์ทองบัว ก็ได้มีโอกาสฟังเทศน์-อบรม ฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานจากท่านพระอาจารย์ใหญ่ที่บ้านหนองผือ ตำบลนาไน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในปีนั้นมีผู้เข้ามารับการอบรมศึกษามากมาย ทั้งเก่าและใหม่มากมาย นับเป็นช่วงพรรษาที่ 55 พ.ศ.2488 ของพระอาจารย์มั่น

หลังจากฟังธรรมะจากพระอาจารย์ใหญ่จนสมควรแก่เวลาแล้ว พระอาจารย์ทองบัว ก็ได้ออกเดินธุดงค์ต่อไป และฝึกท่องปาติโมกข์จนคล่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เวลาประชุมสงฆ์ ก็จะได้สวดให้ชุมนุมสงฆ์ฟัง ดังที่ พระอาจารย์ทองบัว บันทึกในสมุดไทยเล่มใหญ่ขนาด 14 นิ้ว หนา 100 หน้าเศษ ปกแข็งหุ้มปกสีน้ำเงินเข้ม เล่าไว้ว่า “ วันหนึ่งเป็นวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 พ.ศ.2489 ข้าพเจ้า ( พระอาจารย์ทองบัว ) พร้อมด้วยเพื่อนพระภิกษุอีก 2 รูป ไปร่วมอุโบสถปาติโมกข์กับท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ วัดป่าบ้านโคกกลาง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่า บ้านห้วยหืด ประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ เมื่อไปถึงสำนักของท่านอาจารย์กงมาแล้ว ท่านอาจารย์กงมาขอร้องให้ข้าพเจ้า ( พระอาจารย์ทองบัว ) สวดพระปาติโมกข์ ข้าพเจ้า ( พระอาจารย์ทองบัว ) ก็รับสวดทันที ”

อนึ่ง พระอาจารย์ทองบัว เคยสอบได้นักธรรมเอก เล่าขานกันว่า ท่านเทศน์ได้ไพเราะมีผู้ฟังและสาธุชนติดอกติดใจมาก ปรากฏดังข้อความที่ท่านเคยบันทึกไว้ในสมุดสีน้ำเงินเข้มว่า กาลครั้งนั้นท่านได้เทศน์ธรรมอบรมสั่งสอนชาวบ้านเสมอ ทางด้านทายก ทายิกา ก็ได้พากันมาสดับฟังเป็นอันมาก และได้ปฏิบัติฝึกหัดจิตเป็นจำนวนหลายคน จึงเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง

ครั้นพอสมควรแก่เวลาแล้ว พระอาจารย์ทองบัว ก็ลากลับที่พักที่วัดป่าหนองเต่า ในคืนวันนั้นเอง เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษล่วงไปแล้ว ในขณะที่ท่านกำลังทำสมาธิภาวนาอยู่นั้นบัดดลปรากฏมีเสียงประหลาด ดังแว่วๆ จากเบื้องบนมาเข้าที่หู พระอาจารย์ทองบัว ว่า

“ รูปร่างเด่นเป็นมนุษย์สูงสุดสม
ไม่อบรมสร้างผลกุศลขันธ์
ก็เหมือนหมูชูแก้วที่แพรวพรรณ
เพียงคาบมันเที่ยวไป มิได้คุณ ”

เมื่อเสียงนี้เงียบไปสักครู่หนึ่ง แค่อึดใจเดียวบัดดลก็กลับดังแว่วมาอีก ครั้งจากเบื้องบนนภากาศ เป็นวาระที่สอง กึกก้องว่า

“ อย่าสำคัญมั่นหมายว่า กายเที่ยง
แล้วเปล่งเสียงร่าเริงบรรเทองเหวย
อนิจจังทั้งนั้น โอ้ท่านเอย
อย่าเฉยเมย ทำดี มีประจำ ”


พ่อจอง นันตา
พ่อน้อยหมู จันต๊ะ (น้อยหมูดำ)
พอเสียงประหลาดเงียบหายไป ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบสงัดลง มองไปรอบกาย มีแต่ความมืดมนอนธการ คงเหลืออยู่แต่ ปัญหาปริศนาธรรม ให้ขบคิดต่อไปสักพักใหญ่ พอดีจวนสว่าง แสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณเริ่มพวยพุ่งสาดแสงเรืองรองขึ้นมาทางด้านบูรพาทิศ เป็นอันว่า คืนนั้น พระอาจารย์ทองบัว ไม่ได้จำวัดเลย วันรุ่งขึ้น พระอาจารย์ทองบัว จึงออกธุดงค์ต่อไปเพียงลำพังแต่ผู้เดียวเบิ่งตามองดู หนทางเบื้องหน้าเป็นทิวเขายาวสุดลูกหูลูกตา ส่วนที่ตีนเขาลูกนั้นมีหนทางคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามหุบเขาเหวลึกชั้นมีบึงใหญ่อยู่ริมหนทางเปลี่ยวป่ารกชัฏ ขณะนั้นในบึงเต็มไปด้วยน้ำเจิ่งนองขอบบึงมีพืชพรรณนานาชนิด ดังเช่น ผักตบชวา ชูดอกเหลืองอร่ามสลับสีม่วง ระคนกับจอกแหนแลดูเขียวขจี บริเวณริมบึงมีกอไผ่ ทั้งไผ่หน่อไผ่ตง สลับกับทิวสน ทึบไปหมด ดูร่มรื่นสงบดีพอ พ้นจากนั้นไปก็เป็นป่าทึบ มีทั้งไม้ยาง ไม้ประดู่ ไม้พยอม ดอกเป็นพวงมีกลิ่นหอม กำลังตกดอกออกช่อบานสะพรั่งทั่วทั้งป่าใหญ่ แมลงผึ้งหมู่ภมรบินตอมเกสรดอกไม้อยู่เป็นฝูง อากาศรอบๆ ละแวกแถบนั้นเย็นสบายดี น่าชื่นใจ เพราะกลิ่นหอมของมวลดอกไม้นานาพันธุ์สุดที่จะพรรณนาได้สิ้นสุด


แม่จั๋นตา สุมลมาตร (แม่จันทร์ตา)
แม่สมณา ธีระสวัสดิ์
ณ เสี้ยววินาทีนั้นฉับพลันตกใจ ตื่นจากภวังค์ฝันตั้งมั่นสติ นึกขึ้นมาได้ว่า อันคนเราในโลกนี้ ถ้ากระทำตนให้หอมเหมือนดอกไม้ได้ ก็คงจะไม่เบื่อหน่ายเกลียดชังกันเลย อันคำว่า กระทำตนให้หอมนั้น คงหมายถึง หอมกรุ่นไปด้วยศีลธรรม รักสันติความสงบสุข ไม่เป็นอริศัตรูคู่อาฆาตมาดร้ายซึ่งกันและกัน ต่างคนให้ตั้งตนอยู่ในคุณงามความดี มีศีลาจารวัตรอันงดงาม ตามหลักความประพฤติทั่วไป อันจะต้องรักษาเสมอกัน ไม่เหยียดหยามดูหมิ่นซึ่งกันและกัน ให้ตรึกตรองมองเห็นความทุกข์ความสุขของกันและกัน เพราะความปรารถนาของคนเรานั้นสิ่งสุดยอดก็คือ ความสุข นั่นเอง ชั่วนิจนิรันดร

ขณะที่เดินธุดงค์จวนเจียน จะพ้นป่าเปลี่ยวอยู่แล้ว ฉับพลันจมูกก็ได้กลิ่นเหม็นคล้ายสัตว์เน่าตายในบริเวณใกล้เคียงนั้น โชยกลิ่นมาแตะนาสิกสัมผัส พอเดินตรงไปเพียงชั่วเคี้ยวหมากแหลก พลันสายตาก็เหลือบเห็นซากม้าตายมาหลายวันแล้วจนร่างกายเน่าเปื่อย คงเหลืออยู่แต่โครงกระดูกกองอยู่ริมทางน่าอนาถใจ ข้าพเจ้า ( พระอาจารย์ทองบัว ตันติกโร ) ครุ่นคิดว่า อันม้าตัวนี้ไซร้มันอาจตายเพราะความชรา หรือไม่ก็คงจะตายเพราะโรคร้ายบางอย่าง ได้มาฉุดคร่าปลิดชีวิตมันไป โอ้! อนิจจังไม่เที่ยงหนอ เกิดๆ ตายๆ ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร คงเวียนว่ายตายเกิดดุจดังวงจร อันม้าตายมันก็ไม่แตกต่างกับคนเราตายไปสักเท่าใดนัก เมื่อมีเกิดมาแล้วก็ต้องมีตายเป็นสิ่งคู่กัน จะตายดีหรือตายชั่ว ก็ย่อมสุดแท้แต่กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน แต่เมื่อทำกรรมไปแล้วย่อมได้รับผลของกรรม เป็นเครื่องที่จะติดตามสนองวิญญาณจิตสืบต่อไป ใครมีกิเลสเกิดขึ้นมากได้ทำกรรมไว้มาก ใครมีกิเลสเกิดขึ้นน้อย ก็ย่อมทำกรรมไว้น้อย ถ้าไม่มีกิเลสก็หมดกรรมเหลือแต่กิริยา อันเป็นอัพโพหาริกจิต หรืออสัญญเจตนา เท่านั้น
ทั้งหมดที่ผู้เขียนเล่ามานี้ เป็นเพียงเสี้ยวชีวิต หรือหนึ่งในร้อยซึ่งมีมากมาย สุดที่จะนำเรื่องราวละเอียดทั้งหมดมาเรียนเสนอให้หมดสิ้นได้

อนึ่ง หลังจากที่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้มรณภาพไปในคืนวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2492 และได้ทำพิธีฌาปนกิจศพ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 อันเป็นวันที่ตรงกับวันที่ 31 มกราคม 2493 พระอาจารย์ทองบัวก็ได้มีโอกาสครั้ังสุดท้ายที่ได้ไปร่วมถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร งานคราวนั้นมีกำหนด 3 คืน 4 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3

ภายหลังเมื่องานถวายเพลิงศพสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พนฺธุลเถร ( จูม จันทรวงศ์ ) ได้มอบหมายให้ 108 พระอาจารย์กองทัพธรรม ได้แยกย้ายกันไปตามหัวเมืองต่างๆ แม้กระทั่งบ้านเล็กบ้านน้อย ตามป่า ตามเขา เพื่ออบรมสั่งสอนวิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลก่อให้เกิดความสงบสุขแก่สาธุชนโดยทั่วไป ท่านพระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ก็ได้ถูกสั่งไปทางอุตรดิตถ์และท่าเสา ในราวปี พ.ศ.2493-2494 จำพรรษาที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ปีเศษ

ครั้งนั้นพอดี วัดโรงธรรมสามัคคี ขาดเจ้าอาวาส ชาวคณะศรัทธาบ้าน ตลาดสันกำแพง ประกอบด้วยคุณแม่แสง ชินวัตร, นายยืน ธีระสวัสดิ์ และนางสมณา ธีระสวัสดิ์ เป็นต้น ก็ได้ร่วมใจกันไปอาราธนา พระอาจารย์ทองบัว ที่อุตรดิตถ์ ให้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดโรงธรรมสามัคคี เพื่อเป็นเสาหลักและเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร อบรมสั่งสอนแก่ชาว สันกำแพง และชาว เชียงใหม่ ตลอดจนศิษยานุศิษย์และสาธุชนผู้เลื่อมใสสืบต่อไป จวบจนบัดนี้นานนับ 54 ปีแล้ว พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณก็ยังเป็นมิ่งขวัญทางพุทธศาสนา และเป็นมิ่งขวัญชาว ตลาดสันกำแพง ตลอดไป


เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก

เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ.2517
เนื้อทองคำ หมายเลข 1 (เอื้อเฟื้อภาพโดย
คุณกิตินิวัต ซอยรวมพร 100/6 ม.9
สันกำแพง เชียงใหม่)
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล ( ทองบัว ตนฺติกโร ) นับว่าเป็นพระเถระคณาจารย์ผู้เรืองวิทยาคุณสูง ทรงศีลาจารวัตรเคยปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิ วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเวลาช้านานมากว่า 70 ปี อีกทั้งมีจิตบริสุทธิ์ทรงพลังแข็งแกร่ง ดังนั้น เหรียญและมงคลวัตถุที่ท่านนั่งปรกบริกรรมปลุกเสกอธิษฐานจิตแผ่พลังเมตตาลงไปในเหรียญนั้นจึงดีเด่น มีพุทธคุณสูงทางด้านมหานิยม เหรียญนำโชคลาภมหาศาลอาจดลบันดาลให้มีโชคดีราวปาฏิหาริย์ เหรียญดังกล่าวนั่นก็คือ “ เหรียญสรรพสิทธิโชค ” ของ พระอาจารย์ทองบัว วัดโรงธรรมสามัคคี ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนจึงขออนุญาตเล่ากำเนิดความเป็นมาของ เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก พ.ศ.2517 ดังต่อไปนี้

เมื่อครั้งวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2517 ผู้เขียนกับภรรยา คุณนวลอนงค์ ชัยศิริ ท่านพลตรี เอนก สืบวงศ์แพทย์ แห่งกรมสรรพาวุธ บางซื่อ คุณนายอุบลวรรณ พรหมชนะ ได้ปรึกษากับ พ.ต.อ.ภมร ชัยศิริ รองผู้กำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเวทวี กรุงเทพมหานคร พันเอก นิวัต สุนทรภู่ แห่งกองแพทย์ทหารบก คลองหลอด ถนนพระอาทิตย์ เดินทางขึ้น เชียงใหม่ ได้ปรึกษาหารือการสร้าง เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก โดยจะขออนุญาตสร้างเหรียญแล้วกราบนมัสการ นิมนต์ท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล ( ทองบัว ตนฺติกโร ) นั่งบริกรรมปรกและปลุกเสกเดี่ยว ลงคาถาอาคมทาง โชคลาภ-มหาลาภ เท่านั้น

ช่วงขณะนั้นท่านยังคงมีราชทินนามเป็น พระครูวิมลคณาภรณ์ ( ทองบัว ตนฺติกโร ) ด้วยความเมตตาที่พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณราชพุทธิมงคล มีต่อผู้เขียนมาช้านานแล้ว ท่านยินยอมอนุญาตให้ผู้เขียนและ รองศาสตราจารย์ถาวร แก้วญานะ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ผู้ควบคุมการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายบางซื่อ-หัวลำโพง สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ.2542 บิดา อาจารย์ถาวร แก้วญานะ ผู้นี้ก็คือ นายซาว-นางชั่ง แก้วญานะ ผู้บุกเบิกคนหนึ่ง แต่ครั้งถวายตนเป็นศิษย์รุ่นแรก ช่วยกันสร้างกุฏิถวาย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่ครั้งธุดงค์มา สันกำแพง พำนักที่สวนลำไยส่างก่อ ในปี พ.ศ.2481


(ซ้าย) อีกรูปหนึ่งของพระอาจารย์มั่น (ขวา) ใบตราตั้งอุปัชฌายะของ
พระอาจารย์มั่น มีหน้าที่บรรพชา อุปสมบท แก่กุลบุตรทั้งหลาย
ในคณะธรรมยุตินิกาย จว.เชียงใหม่ ภาคพายัพ
หลังจากปรึกษา อาจารย์ไชยยงค์ ตามเสรี อาจารย์สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์ อาจารย์ปรเมศ พรเลิศ พร้อมทั้ง พระสมุห์อินทร ณ เชียงใหม่ วัดหนองราชวัตร จ.สุพรรณบุรี ก็ได้มอบหมายให้ นายช่างเกษม มงคลเจริญ เลขที่ 543/15 ซอยไปรษณีย์สำเหร่ ถนนตากสิน ตำบลบุคคโล จ.ธนบุรี ซึ่งมีฝีมือแกะเหรียญได้งามเลิศเป็นอันดับหนึ่งในขณะนั้น ใช้เวลาบรรจงแกะ และปั๊มเหรียญนาน 4 เดือนเศษ ตามรายการ ดังนี้คือ

1. เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก เนื้อทองคำแท้ หนักราว 27 กรัม จำนวน 9 เหรียญ ตอกพิเศษเลข ๑ ถึง ๙ เป็นตัวเลขไทย และทำตามจำนวนที่สั่งจองเท่านั้นเอง
2. เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่น 1 เนื้อเงิน จำนวน 299 เหรียญ ราคาเหรียญละ 109 บาท
3. เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่น1 เนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 9,999 เหรียญ ราคาเหรียญละ 25 บาท
4. เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่น1 เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง จำนวน 1,999 เหรียญ ราคาเหรียญละ 40 บาท
5. เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่น1 เนื้อนวโลหะ จำนวน 699 เหรียญ ราคาเหรียญละ 75 บาท

ภายหลัง นายช่างเกษม มงคลเจริญ ส่งบล็อกที่แกะนำไปปั๊ม เสร็จเป็นเหรียญทองแดงกะไหล่ทอง เหรียญรมดำ เหรียญเนื้อนวโลหะ เนื้อเงิน และเนื้อทองคำ ตามลำดับ แล้วบรรจุหีบไม้ขนาดกว้าง 6 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว สูงราว 8 นิ้ว ทั้งหมดมีจำนวนร่วม 20 หีบ แต่ละหีบมีขนาดหนักมากยกคนเดียวแทบไม่ไหว เผอิญโชคดีมีผู้ใจบุญขันอาสานำ 20 หีบนี้ บรรทุกรถยนต์ออกจากกรุงเทพมหานคร นำไปส่งให้ถึงกุฏิเจ้าอาวาส วัดโรงธรรมสามัคคี ผู้นี้คือ คุณอนงค์นุช ภูยานนท์ ภริยา พลอากาศตรี พีระพงษ์ ภูยานนท์ แห่งกองทัพอากาศ ซึ่งสมัยปี พ.ศ.2517 คุณอนงค์นุชเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินธนาคารอเมริกา แต่ขณะนี้เป็นพนักงานบริษัทการบินไทย ( มหาชน ) จำกัด จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ จึงใคร่ขอขอบคุณยิ่ง พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานขอให้อานิสงส์

ลักษณะเหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก พ.ศ.2517
เป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว หูเป็นรูปกลีบดอกบัว มี 8 กลีบ เหรียญมีขนาดกว้าง 2.5 ซม. สูง 4 ซม. ( วัดรวมทั้งหูเหรียญ ) หนา 1 มิลลิเมตรเศษ มีเนื้อทองแดงรมดำ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อนวโลหะ และเนื้อเงิน ส่วนเนื้อทองคำซึ่งสร้างเป็นพิเศษเฉพาะลูกค้าผู้สั่งจองเหรียญทองคำ จึงสร้างและปลุกเสกเพียง 9 เหรียญเท่านั้น ปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยากมาก เพราะเจ้าของหวงแหน ส่วนภาพถ่าย เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก เนื้อทองคำ ที่มีหมายเลข ๑ เป็นตัวเลขไทย มีเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น ซึ่งคุณกิตินิวัต เลขที่ 100/6 ม.9 ซอยรวมพร สันกำแพง เชียงใหม่ เป็นผู้เอื้อเฟื้อภาพ

อนึ่ง ลักษณะด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หน้าตรงของท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล ( ทองบัว ตนฺติกโร ) ที่ถ่ายภาพไว้ในปี พ.ศ.2517 ขณะท่านมีอายุ 54 ปี ห่มลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างของรูปท่าน แกะลวดลายกนกเป็นรูปดอกบัวบาน สยายกลีบบัวแผ่ซ่านเป็นลายกนกเปลวพลิ้วชูไปด้านซ้าย-ขวา ด้วยฝีมืองดงามประณีต ไม่มีที่ติของ นายช่างเกษม มงคลเจริญ ช่างเอกแห่งยุคสมัยเมื่อ 40 ปี มาแล้ว


ล็อกเกตรูปถ่ายสีพระอาจารย์ทองบัว
ตนฺติกโร สร้างเมื่อ พ.ศ.2517
(เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณกิตินิวัต
ซอยรวมพร 100/6 ม.9
สันกำแพง เชียงใหม่)
ด้านหลังเหรียญเรียบ ยกขอบนูนสูง ตรงกึ่งกลางมียันต์เฑาะขัดตะหมาด วนสามรอบ ชูยอด 5 ชั้น เป็นขยักสลับกันไปมา ส่วนสองข้างยันต์เฑาะว์ ขนาบด้วยตัวขอมเป็นคาถาสุดยอดของท่านอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ปรมาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน (อ่านว่า นโม วิมุตตานัง นโมวิมุตติยา ) ถัดลงมา ระหว่างยอดพระคาถา มีคำว่า “ สรรพสิทธิโชค ” ซึ่งพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล (ทองบัว ตนฺติกโร) เป็นผู้ตั้งฉายานาม เหรียญนี้ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2517 เพื่อประสิทธิ์พรโชคลาภมหาศาลแก่ผู้ที่บูชาเหรียญนี้ติดตัว สมดังที่ผู้เขียนได้เรียนท่านว่า เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก นี้ ขอตั้งปณิธานปรารถนา ให้มีพุทธคุณดีเด่นทางโชคลาภ มหาลาโภ แต่เพียงอย่างเดียว เท่านั้น ขออานิสงส์ให้ประสบโชคเป็นเศรษฐีได้ ดุจดังปาฏิหาริย์บุญหล่นทับนั่นเทียว

อนึ่ง สำหรับเหรียญรุ่นแรกนี้ ที่ด้านริมขอบเหรียญมีตัวหนังสือไทยเขียนไว้ว่า “ พระครูวิมลคณาภรณ์ ( พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ) วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ” ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพุทธิมงคล นั่นเอง


พุทธคุณดีเด่นของเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2517

ผ้ายันต์ขวัญถุง รุ่นแรก พ.ศ.2517
เหรียญนี้มีพุทธคุณดีเด่นทางโชคลาภ ทำให้ฐานะการเงินกระเตื้องขึ้นได้แทบไม่น่าเชื่อ เคยเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามามากราย ว่าดลบันดาลให้บังเกิดโชคดีมหาศาล ดุจดังบุญหล่นทับนั่นเทียว
ผู้ใดมีเหรียญรุ่นแรกนี้ จงรีบเก็บบูชาไว้ใช้เถอะ จักบังเกิดโชคลาภให้เห็นผลประจักษ์ได้แน่นอน สมกับคำอวยพรว่า สรรพสิทธิโชค ของพระเดชพระคุณท่านเจ้า คุณพระราชพุทธิมงคล (พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร)

ล็อกเกตรูปถ่ายสีฟ้าอ่อน พ.ศ.2517

เป็นล็อกเกต มีขนาดกว้าง 2.4 ซม. สูง 2.7 ซม. หนา 3 มิลลิเมตร พื้นหลังมีสีฟ้าอ่อน ตรงกลางเป็นรูปท่านเจ้าคุณท่านั่งเต็มองค์ วางมือทั้งสองไว้เหนือเข่าทั้งสอง มือทั้งสองคว่ำเห็นครบทั้งสิบนิ้ว ห่มลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ผ้าสีฝาดย้อมเข้ม

ล็อกเกตนี้มีพุทธคุณดีเด่น ทางเมตตามหานิยม มีโชคลาภ และแคล้วคลาดภยันอันตรายทั้งปวง เป็นที่นิยมสำหรับท่านสุภาพสตรี อนึ่ง ล็อกเกตรูปถ่ายนี้ สั่งทำจากนางเลิ้งอาร์ต ปี พ.ศ.2517 จึงมีจำนวนจำกัด


กระเป๋าเหรียญชุดสรรพสิทธิโชค
ของพระอาจารย์ทองบัว

ผ้ายันต์ขวัญถุง รุ่นแรก พ.ศ.2517

ลักษณะเป็นผ้ายันต์สีขาว เนื้อผ้าละเอียด เป็นผ้าบาง มีขนาดกว้าง 7 นิ้ว ยาว 10.5 นิ้ว ชายผ้าทั้ง 4 ด้าน มิได้เย็บกุ๊นชาย คงปล่อยชายผ้าไว้พร้อมกับรอยตัด ผ้ายันต์นี้มีพุทธคุณดีเด่นทางคุ้มกันภัยอันตราย และป้องกันอุบัติเหตุทางรถยนต์ และคุ้มภัยการเดินทางไกล นอกจากนี้ พ่อค้า แม่ค้า นิยมใช้ผ้ายันต์ขวัญถุง นัยว่าค้าขายดี


กระเป๋าถุงเงิน สำหรับบรรจุเหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก พ.ศ.2518

เป็นกระเป๋าพลาสติกสีน้ำเงิน ส่วนภายในบุด้วยสีแดง กระเป๋านี้มีขนาดกว้าง 7 ซม. ยาว 10 ซม. หนา 1 ซม. เปิดมาภายในมี 3 ช่อง ช่องแรกมีเหรียญทองแดงกะไหล่ทอง มียันต์ขวัญถุง 1 ผืน ช่องที่ 2 บรรจุ เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก เนื้อนวโลหะ 1 เหรียญ ส่วนช่องที่ 3 บรรจุ เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก เนื้อเงิน 1 เหรียญ บนกระเป๋าพลาสติกนี้ เขียนว่า “ เหรียญชุดสรรพสิทธิโชค ” ด้านหลังปั๊มตัวหนังสือทอง เป็นลายเซ็นของ พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร พร้อมกับคำอวยพรว่า “ ขอให้กระเป๋านี้ เต็มด้วยเงินเสมอ ”


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  920 พระราชพุทธิมงคล ( พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ) วัดโรงธรรมสามัคคี เลขที่ 56 บ้านตลาดสันกำแพง ถนนคชสาร หมู่ที่ 7 ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่  ปักษ์แรก เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548ราคาปก 50 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 





Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #พระอาจารย์ทองบัว #วัดโรงธรรมสามัคคี #จ.เชียงใหม่