หลวงพ่อพร้อม ( เล็ก ) - หลวงพ่อจั่น วัดปุรณาวาส กรุงเทพมหานคร

ภาพและเรื่องโดย วินัย ฉายาลักษ์
พระครูจั่น คุณธมฺโม
พระอธิการเล็ก บัวรุ่ง
(พร้อม ฐานิสโร)

“ เปิดปูมประวัติพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งท้องทุ่งตลิ่งชัน เป็นที่นับถือของประชาชนในเขตรอยต่อสามจังหวัด กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ผู้เป็นศิษย์หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง อันโด่งดังก้องฟ้าเมืองไทย เจ้าของเหรียญนั่งยกมือหยุดอาวุธทุกชนิด ”


วัดปุรณาวาส ตั้งอยู่เลขที่ 21 หมู่ที่ 3 ริมคลองมหาสวัสดิ์ แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา ( เดิมอยู่ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ) กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัด โฉนดเลขที่ 4804 จำนวนที่ดิน 12 ไร่ 34 ตารางวา ทิศเหนือติดคลองมหาสวัสดิ์ ทิศใต้ติดกับที่ดินทางรถไฟสายใต้ ทิศตะวันออกติดกับที่ดินของเอกชน ทิศตะวันตกติดกับที่ดินของเอกชน

พระพิมพ์สมเด็จ 5 ชั้น เนื้อผงขาว หลวงพ่อพร้อม
พ.ศ.2497 หลังมีขีด 3 ขีด (ครก 3)
พระสมเด็จ พิมพ์นิยม เนื้อดิน 7 ท่า หลวงพ่อพร้อม
ด้านหลังปั๊ม พ.ศ.2497 (โต๊ะกัง)
ถาวรวัตถุมีพระอุโบสถหลังเก่า สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 ต่อมาเมื่อพระอุโบสถหลังแรกซึ่งมีขนาดเล็กได้ชำรุดทรุดโทรมลงยากแก่การบูรณะซ่อมแซม หลวงพ่อพร้อม ( เล็ก ) ฐานิสโร และ พระครูจั่น คุณธมฺโม เจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นประธานและ ท่านขุนธรรมศาสตร์ สดับ กำนันตำบลศาลาธรรมสพน์ นายมงคล ฉายาลักษณ์ อาจารย์ฟู ลบล้ำเลิศ อาจารย์ฉลอง ปั้นดี นายพัด ฟักภู่ นายโปร่ง ลบล้ำเลิศ นายยนต์ ลบล้ำเลิศ และคณะกรรมการวัดอีกหลายท่านได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือในการที่จะจัดสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ที่ประชุมได้ตกลงดำเนินการว่าจ้าง นายช่างฟัก ได้ดำเนินการจัดสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในที่เดิม โดยสร้างคร่อมพระอุโบสถหลังเก่า เริ่มก่อสร้าง ปี พ.ศ.2490 และได้ก่อสร้างสำเร็จในปลายปี พ.ศ.2497 และได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานวิสุงคามสีมาจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2497 ต่อมาทางเจ้าอาวาส พระครูจั่น คุณธมฺโม และคณะกรรมการวัดได้ดำเนินการจัดงานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 และทางคณะกรรมการ วัดปุรณาวาส ได้กราบเรียนเชิญ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานจัดงานฝังลูกนิมิต และเป็นประธานในพิธีตัดหวายลูกนิมิตในพระอุโบสถหลังใหม่ วัดปุรณาวาส

ในพระอุโบสถ วัดปุรณาวาส มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นนิิมิตมหามงคลอุดมโภคทรัพย์อยู่ 3 องค์ ได้แก่ หลวงพ่อแก้ว เป็นองค์พระประธานใหญ่ และ หลวงพ่ออินทร์ หลวงพ่อจันทร์ เป็นองค์ประธานซ้าย-ขวา เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่ วัดปุรณาวาส มาตั้งแต่สร้างพระอุโบสถหลังแรก หลวงพ่อเป็นที่เคารพนับถือของพี่น้องชาว วัดปุรณาวาส ทวีวัฒนา นนทบุรี ศาลายา นครปฐม เป็นอย่างมาก
ภายในวัดปุรณาวาส มีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์ นามว่า
หลวงพ่ออินทร์ และ หลวงพ่อจันทร์
รายนามเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน มีจำนวน 8 รูป
1. พระอธิการเอี่ย
2. พระอธิการช้อย
3. เจ้าอธิการแสง เจ้าคณะหมวดบางระมาด
4. พระอธิการชั่น
5. พระอธิการเตี้ย
6. พระอธิการเล็ก บัวรุ่ง ( หลวงพ่อพร้อม ฐานิสโร ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ.2470-พ.ศ.2491 ( ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส )
7. หลวงพ่อพระครูจั่น คุณธมฺโม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ.2491-วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2515
8. พระครูธรรมานุศาสก์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ต่อจากนี้จะนำท่านผู้อ่านไปพบกับพระคณาจารย์ผู้สืบทอดสรรพวิชา ในพระเวทวิชามนต์จาก
1. ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ม.ร.ว.เจริญ ) วัดระฆังโฆสิตาราม อ.บางกอกน้อย กรุงเทพฯ
2. สมเด็จพุฒาจารย์นวม วัดอนงคาราม กรุงเทพฯ
โบสถ์วัดปุรณาวาส
3. เจ้าคุณพระพุทธวิถีนายก หลวงปู่บุญ ขันธโชติ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
4. หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เมืองนครปฐม 2 อาจารย์ผู้โด่งดังเมืองนครปฐม ได้มีสานุศิษย์เป็นเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส ( ใกล้ศาลายา ) แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ จำนวน 2 องค์ ได้แก่ หลวงพ่อพร้อม ฐานิสโร เจ้าอาวาสรูปที่ 6 และ หลวงพ่อพระครูจั่น คุณธมฺโม เจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส รูปที่ 7 ทั้ง 2 ท่านเป็นพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษประจำ วัดปุรณาวาส ในยุคอดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ในลำดับแรกจะขอกล่าวถึง หลวงพ่อพร้อม และวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และหายากมากที่นิยมพระเครื่อง คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก และถูกมองข้ามอย่างน่าเสียดาย

 หลวงพ่อพร้อม ฐานิสโร ( เล็ก ) เกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2439 ณ ที่บ้านตำบลบ้านหนองอ้อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี บิดาชื่อ นายนิ่ม บัวรุ่ง มารดาไม่ทราบนาม มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกันรวม 4 คน
1. นางเผือก บัวรุ่ง
2. พระอธิการเล็ก บัวรุ่ง ( หลวงพ่อพร้อม ฐานิสโร )
3. นางเทียบ บัวรุ่ง ( ต่อมาได้สมรสกับนายพลอย กันหุ่น )
4. นายลอ บัวรุ่ง
พระพิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น
หลวงพ่อพร้อม พ.ศ.2497
พระพิมพ์สมเด็จ 7 ชั้น
หลวงพ่อพร้อม พ.ศ.2497
โดย นายนิ่ม บิดาของ หลวงพ่อพร้อม มีอาชีพทำนาแถวบ้านหนองอ้อ ต่อมาเมื่อ หลวงพ่อพร้อม ได้เจริญวัยได้ประมาณอายุ 15 ปี นายนิ่มได้ย้ายครอบครัวมาประกอบอาชีพในการทำนาในตำบลศาลากลาง อ.บางใหญ่ ต่อมาได้แยกเป็นอำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี ในการทำนาในที่แห่งใหม่นี้อยู่ใกล้ วัดปุรณาวาส โดยมีคลองมหาสวัสดิ์เป็นลำน้ำที่เป็นสายเลือดเส้นใหญ่ในการนำน้ำมาทำนา และมี วัดปุรณาวาส ตั้งอยู่ริมคลอง

ต่อมา หลวงพ่อพร้อม มีอายุเจริญวัยครบ 21 ปี นายนิ่ม บัวรุ่ง ได้ดำเนินการจัดพิธีอุปสมบท พ่อนาคเล็ก บัวรุ่ง เป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดปุรณาวาส  ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2460 สำเร็จญัตติเป็นพระภิกษุสงฆ์ เมื่อเวลา 15.25 น. โดยมีพระเดชพระคุณ เจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ ( พระมหาอยู่ อุตฺตรภทฺโท ปธ.9 ) วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปหังษนาจารย์ ( หลวงพ่อเชื้อ จนทโชติ ) วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูสุตวัฒน์ วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยพระอุปัชฌาย์ให้นามฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “ ฐานิสโร ”

หลังจากอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาเพื่อศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคัมภีร์เวทมนต์คาถาและการฝึกสมาธิ ณ วัดปุรณาวาส ในสมัยที่ พระอธิการเตี้ย เป็นเจ้าอาวาส และได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระคณาจารย์ชื่อดังในสมัยนั้น ได้แก่
1. ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ม.ร.ว.เจริญ ) วัดระฆังโฆสิตาราม ปรมาจารย์ผู้สร้างพระวัดระฆังหลังค้อน อันโด่งดังแห่งบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
2. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (หลวงปู่นวม) วัดอนงคาราม กรุงเทพฯ
3.ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิถีนายก ( หลวงปู่บุญ ขันธโชติ ) วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
4. หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม
 เหรียญหลวงพ่อจั่น รุ่นแรก
เนื้อทองผสมชุบนิกเกิล พ.ศ.2513
เหรียญหลวงพ่อจั่น รุ่นแรก
เนื้อทองแดง พ.ศ.2513
ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชามหาพุทธมนต์ในด้านต่างๆ แก่หลวงพ่อพร้อมหลังจากศึกษาวิชาการด้านต่างๆ จนสำเร็จมาแล้ว ก็ไม่เคยละทิ้งครูบาอาจารย์ โดยได้นำพระภิกษุ-สามเณรในปกครองไปทำวัตรต่อพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่กล่าวชื่อมาแล้วเป็นประจำไม่เคยขาด

เหรียญหลวงพ่อจั่น รุ่น 2 เนื้อทองแดง
 พ.ศ.2524 (หลวงพ่อสุด วัดกาหลง
 ประธานปลุกเสก)
ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2471 พระอธิการเตี้ย เจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส ได้ลาสิกขาบท ทำให้ วัดปุรณาวาส ขาดเจ้าอาวาส ท่านขุนนิคม กำนันฮวด เทียมปฐม กำนันคนแรกของตำบลศาลาธรรมสพน์ และ ท่านขุนธรรมศาสตร์ สดับ กำนันพร้อม ลบล้ำเลิศ กำนันคนที่ 2 ของศาลาธรรมสพน์เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดและทายก-ทายิกา ได้พร้อมใจกันอาราธนานิมนต์ให้หลวงพ่อพร้อมดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส มีนามว่า พระอธิการเล็ก บัวรุ่ง ( พร้อม ฐานิสโร ) จึงได้ปกครองดูแลพระภิกษุ-สามเณรใน วัดปุรณาวาส เป็นอย่างดี และจัดให้มีการปฏิบัติพระธรรมวินัย มีการอบรมสั่งสอน การทำสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ ตามประเพณีแบบอย่างในสมัยโบราณ และให้การสั่งสอนพระภิกษุ-สามเณรในการก่อสร้างถาวรวัตถุ และซ่อมสร้างตะเกียงแสงจันทร์ และตะเกียงลานเป็นอย่างดี

ต่อมาระหว่างปี พ.ศ.2478-2479 ท่านเจ้าคุณพุทธวิถีนายก ( หลวงปู่บุญ ขันธโชติ ) วัดกลางบางแก้ว พระอาจารย์สำคัญผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงพ่อพร้อม ได้ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรม และร่วมการจัดงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ดังปรากฏหลักฐานมีภาพถ่ายพิธีและหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อยู่จำนวน 2 เล่ม โดยอยู่ในการครอบครองของ พระอาจารย์ลออ ธิติโก ( มาเจริญ ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส ( มรณภาพแล้ว ) จำนวน 1 เล่ม และอยู่ในความครอบครอง นายเพ็ชร กันหุ่น จำนวน 1 เล่ม
หลวงพ่อพร้อม ฐานิสโร ได้เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระอาจารย์คู่สวดนาคในการให้บรรพชาอุปสมบทพระภิกษุในวัดปุรณาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2479 หลวงพ่อได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ในการอุปสมบทลูกศิษย์ใน วัดปุรณาวาส ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลและตรวจสอบศึกษาค้นคว้าได้พบว่า หลวงพ่อได้ดำเนินการสวดกรรมวาจาจารย์พระภิกษุได้จำนวน 2 รูป โดยมิได้ลาสิกขาบทตลอดชีวิต ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสและมีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาได้แก่

รูปเหมือนขนาดบูชา หน้าตัก 5 นิ้ว
หลวงพ่อจั่น เนื้อทองผสม พ.ศ.2524
รูปปั้นหลวงพ่อจั่น
วัดปุรณาวาส
1. พระครูสุทธศีลาจารย์ ( หลวงพ่อนวม สุทธสีโล ) พระอุปัชฌาย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสมอระบัง อดีตเจ้าคณะตำบลหนองปลาไหล อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ( เจ้าของเหรียญดังสุดยอดคงกระพันชาตรีแห่งหนองปลาไหล โอกาสหน้าจะได้นำเสนอประวัติของหลวงพ่อโดยละเอียดต่อไป )
2. หลวงพ่อพระครูจั่น คุณธมฺโม อดีตเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส หลวงพ่อพร้อม ได้บริหารกิจการพระพุทธศาสนาในวัดปุรณาวาสเป็นที่เรียบร้อยตลอดมา ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2490 ได้เกิดการอิจฉาริษยาจากการทำความดีของหลวงพ่อ เกิดมีปัญหาขัดแย้งจากการจ้องฮุบตำแหน่งเจ้าอาวาสกับพระอาจารย์ ( ขอสงวนชื่อ ) อดีตรองเจ้าอาวาส และมีนาย ( ขอสงวนชื่อ-สกุล ) ซึ่งเป็นมัคทายกใหญ่ และเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นสมัยนั้น

มีความพยายามที่จะปลด หลวงพ่อพร้อม ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส ได้มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังสมเด็จพุฒาจารย์ วัดอนงคาราม เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้มีพระบัญชาแต่งตั้งให้ ท่านเจ้าคุณสาลี อินทรโชโต และ พระครูทิวากรคุณ ( หลวงปู่กลีบ ) วัดตลิ่งชัน เจ้าคณะหมวด เดินทางมาไต่สวน หลวงพ่อพร้อม จากการไต่สวนตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ ปรากฏว่า หลวงพ่อพร้อม ไม่มีความผิดแต่อย่างใดตามที่ร้องเรียนไป แต่บุคคลกลุ่มนั้นยังไม่ละความพยายาม จึงได้ลอบวางแผนหวังที่จะสังหาร โดยใช้มีดดาบแทงให้ตรงกับทวารหนัก เนื่องจากทราบว่า หลวงพ่อพร้อม มีวิชาคงกระพันชาตรี โดยร่ำเรียนมาจากสำนักวัดระฆังฯ วัดกลางบางแก้ว วัดประยุรวงศาวาส แต่การกระทำผู้มีจิตใจโหดร้ายครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากปลายมีดดาบ พุ่งผิดเป้าหมายไม่โดนจุดสำคัญ ไปถูกที่โคนขาขวา ผลปรากฏว่าไม่ระคายเคืองผิวหนังหลวงพ่อแต่อย่างใด

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มกรรมการวัดบางส่วนที่มีอิทธิพลสมัยนั้นมีความต้องการให้พระมหา ( สงวนชื่อ ) เปรียญระดับสูงผู้หนึ่ง จากวัดดังใจกลาง กรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส
ศาลาริมน้ำคลองมหาสวัสดิ์

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ หลวงพ่อพร้อม ปลงตกในสัจธรรมของความอิจฉา จึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อรักษาชื่อเสียง วัดปุรณาวาส และต้องการแสดงออกไม่ยึดติดตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส ในต้นปี พ.ศ.2491 และ หลวงพ่อพร้อม ให้การสนับสนุน พระภิกษุจั่น คุณธมฺโม ลูกศิษย์เอกขึ้นเป็นเจ้าอาวาส

โดย พระครูทิวากรคุณ ( หลวงปู่กลีบ ) วัดตลิ่งชัน เจ้าคณะหมวด เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ท่านขุนธรรมศาสตร์ สดับ ประธานกรรมการวัด ได้เรียกประชุมพระภิกษุ สามเณร และทายกทายิกา ได้มีมติเห็นชอบเลือก พระภิกษุจั่น เป็นเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส รูปที่ 7
ในระหว่าง หลวงพ่อพร้อม เป็นเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส หลวงพ่อเป็นพระอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคม ได้เคยสร้าง ตะกรุดเนื้อทองแดงขนาดเล็ก เป็นเมตตามหานิยม และมีความเชี่ยวชาญ หุงสีผึ้งเทพรำจวน เป็นที่โด่งดังมาก โดยหลวงพ่อได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาบางอย่างมาจากเพื่อนพระสหธรรมิกที่สนิทสนมกัน เท่าที่สืบทราบได้แน่ชัดมีอยู่ 2 รูป คือ
1. พระครูนันทธีราจารย์ ( หลวงพ่อเหลือ ) วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทา
2. พระอธิการเที่ยง วัดส้มเกลี้ยง ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อพร้อม ฐานนิสโร

มูลเหตุการณ์จักทำภาพถ่ายขนาดบูชาใส่กรอบไม้ เพื่อแจกจ่ายให้กับบรรดาสานุศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือ สืบเนื่องมาจากในระหว่างนั้น ทาง วัดปุรณาวาส กำลังก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ หลวงพ่อพร้อม ได้เจริญพรบอกบุญไปยัง ท่านพลตรี เจ้ากรมการทหารสื่อสาร สะพานแดงบางซื่อ ได้รับเป็นประธานทอดกฐินสามัคคี ในปี พ.ศ.2494 ในระหว่างนั้นท่านเจ้ากรมการทหารสื่อสารได้จัดช่างภาพมาถ่าย รูป หลวงพ่อพร้อม ฐานนิสโร ขนาด 3x5 นิ้ว ใส่กรอบไม้ขนาด 8x10 นิ้ว จำนวน 300 ภาพ พร้อมกันนั้นหลวงพ่อพร้อม ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้านล่างของภาพถ่ายทุกใบ โดยเขียนว่า พระอาจารย์พร้อม ให้ไว้เป็นที่ระลึกต่อไป วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 ” โดยหลวงพ่อพร้อม เพื่อคุ้มครองป้องกันอัคคีภัย โจรภัย และอุบัติภัยต่างๆ เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์และมหัศจรรย์อย่างยิ่งกับผู้ที่มีภาพถ่าย หลวงพ่อพร้อม ฐานนิสโร

อาพาธและมรณภาพ

พระสมเด็จ พิมพ์คะแนน 3 ชั้น
สภาพชำรุดเผยให้เห็นตะกรุดสาลิกา
หลวงพ่อพร้อม พ.ศ.2497
ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2460 หลวงพ่อพร้อม ได้เกิดอาการอาพาธที่บริเวณลำคอ เกิดอาการเสียงแห้งแหบพร่า ฉันภัตตาหารไม่สะดวก เกิดมีเม็ดฝีขึ้นในลำคอ ( โบราณเรียกโรคฝีในคอ ) จากอาการอาพาธดังกล่าว ต่อมาทำให้ไม่มีเสียงพูด หลวงพ่อพร้อม ในระหว่างอาพาธเมื่อต้องการเรียกใช้พระภิกษุ-สามเณรจะใช้วิธีการสั่นกระดิ่ง อาการอาพาธดังกล่าวได้มีอาการทรงกับทรุดตลอดมาเป็นระยะเวลา 3 ปี และเมื่ออาการอาพาธกำเริบหนักขึ้น ทำให้ หลวงพ่อพร้อม ถึงแก่กรรมในอาการสงบ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2499 เวลา 8 นาฬิกา ณ วัดปุรณาวาส มีอายุครบ 60 ปี พรรษาที่ 39
พระสมเด็จ 3 ชั้น พิมพ์คะแนน
ฝังตะกรุดสาลิกา
หลวงพ่อพร้อม พ.ศ.2497
ด้านบนพระสมเด็จ 3 ชั้น
พิมพ์คะแนน ฝังตะกรุดสาลิกา
หลวงพ่อพร้อม พ.ศ.2497

วัตถุมงคลรุ่นแรก วัดปุรณาวาส

สืบเนื่องจากทาง วัดปุรณาวาส ได้จัดสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.2490 จนถึงปี พ.ศ.2497 และมีโครงการที่จะผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 คณะกรรมการวัด นายเพ็ชร กันหุ่น ( หลานชายหลวงพ่อพร้อม ) นายเฉย เลี่ยมดวงแข และ นายฟัก ในระหว่างปี พ.ศ.2497 ทั้งสามท่านที่ได้กล่าวมานี้ได้อุปสมบทอยู่ ณ วัดปุรณาวาส ได้รับแนวความคิดริเริ่มมาจาก หลวงพ่อพร้อม ที่จะจัดสร้างพระเครื่องที่จะสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาและถวายเป็นพุทธบูชาบรรจุกรุในพระอุโบสถ และมีความประสงค์นำพระเครื่องบางส่วนออกแจกจ่ายเป็นที่ระลึกและสมนาคุณท่านพี่น้องประชาชนพุทธบริษัท ที่ได้เดินทางร่วมงานฝังลูกนิมิตพระอุโบสถ วัดปุรณาวาส ในปี พ.ศ.2499 จึงได้เป็นหัวหน้าคณะแสวงหามงคลวัตถุต่างๆ มาจัดสร้างเป็น พระพิมพ์สมเด็จ โดยได้นำปูนเปลือกหอย ปูนขาว มาผสมตำให้เป็นผงละเอียด เสร็จแล้วปั้นเป็นแท่งยาวประมาณ 5 นิ้ว เมื่อตากแห้งดีแล้วได้นำไปถวาย หลวงพ่อพร้อม เพื่อนำไปเขียนอักขระเลขยันต์บนกระดานชนวน เพื่อลบเป็นผงพุทธคุณผงอิทธิเจ ผงมหาราช ผงตรีนิสิงเห ผงเมตตามหานิยม ฯลฯ ในระหว่างนี้คณะผู้จัดสร้างได้เดินทางจัดหา พระเนื้อผงต่างๆ ที่ชำรุด พระสมเด็จหักฯ ผงพิเศษจาก หลวงปู่กลีบ วัดตลิ่งชัน และผงดินจากท่าน้ำที่มีชื่อในแม่นํ้าเจ้าพระยา จำนวน 7 ท่า ได้แก่
ซุุ้มประตูและหอระฆัง วัดปุรณาวาส

1. ท่าพระจันทร์
2. ท่าช้าง
3. ท่าราชวรดิฐ
4. ท่าวัดระฆัง
5. ท่าสถานีรถไฟธนบุรี
6. ท่าวัดปุรณาวาส
7. ท่าวัดศรีประวัติ

ในระหว่างนี้ นายเพ็ชร กันหุ่น ได้นำหินลับมีดโกนมาแกะเป็น พิมพ์สมเด็จ พิมพ์พระนางพญา พิมพ์พระโมคคัลลาน์สารีบุตร รวม 7 พิมพ์ ต่อมาได้รวบรวมผงพระพุทธคุณที่ หลวงพ่อพร้อม ได้ลบผงจากกระดานชนวน พร้อมด้วยปูนขาว ดินสอพอง พระสมเด็จหักๆ หลายคณาจารย์ และพระเนื้อผงที่ชำรุดต่างๆ นำมาผสมรวมกัน พร้อมลงตำในครกหินจำนวน 3 ครก เมื่อตำผงพระได้ละเอียดดีแล้ว ก็นำตะแกรงมาร่อนผงที่ยังเป็นเม็ดอยู่ แล้วนำมาตำใหม่ และต่อมาได้ผสมน้ำมันตังอิ๊ว น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำพุทธมนต์ กล้วยน้ำว้า นำลงโขลกผสมกัน ผู้ที่มีส่วนร่วมในการตำผงพระพุทธคุณ ได้แก่ นายเพ็ชร กันหุ่น หัวหน้า นายเฉย เลี่ยมดวงแข นายฟัก เด็กชายยิ่ง ภิรมย์จันทร์ เด็กชายพยุง เกตุแก้ว เด็กชายจำลอง บัวรุ่ง เมื่อตำเนื้อพระเหนียวได้ที่แล้ว ก็นำเนื้อผงที่ตำเสร็จแล้ว ลงกดในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้แล้ว และได้นำมีดมาตัดขอบข้างองค์พระ แล้วได้นำพระไปผึ่งไว้ที่ข้างพระอุโบสถในระหว่างที่พิมพ์พระสมเด็จ พระองค์ไหนที่ทำเนื้อผงครกแรก ผู้จัดสร้างก็จะนำดินสอดำ หรือชาดสีส้มขีดไว้ที่ด้านหลัง 1 ขีด ครกที่ 2 ก็ขีด 2 ขีด ครกที่ 3 ก็ขีด 3 ขีด

ส่วนการจัดสร้างพระพิมพ์ แบบสมเด็จพิมพ์นิยมวัดระฆัง ด้านหลังประทับตราโต๊ะกัง แบบร้านทอง แกะแบบเป็นรูป พ.ศ.2497 จัดสร้างด้วยเนื้อดินผสมผง โดยใช้ดินจากท่าน้ำจำนวน 1 ท่า เป็นส่วนผสมหลัก ทำให้เวลาเผาสุมองค์พระด้วยขี้เถ้าแกลบทำให้องค์พระ พ.ศ.2497 มีแม่พิมพ์ทั้งหมดรวม 7 พิมพ์

จำนวนพระพิมพ์สมเด็จที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 มีแม่พิมพ์ทั้งหมดรวม 7 พิมพ์
1. พระพิมพ์สมเด็จแบบพิมพ์นิยม เนื้อดินเผาสีแดง ด้านหลังประทับตรา พ.ศ.2497
2. พระสมเด็จพิมพ์ 3 ชั้น เนื้อผงสีขาว
3. พระสมเด็จพิมพ์ 5 ชั้น เนื้อผงสีขาว
4. พระสมเด็จพิมพ์ 7 ชั้น เนื้อผงสีขาว
5. พระสมเด็จพิมพ์คะแนนเล็ก เนื้อผงสีขาว บรรจุตะกรุดสาลิกาขนาดเล็กเนื้อตะกั่วเป็นกรณีพิเศษ
6. พระพิมพ์นางพญาสามเหลี่ยม เนื้อดินเผาสีแดง
7. พระพิมพ์หลวงพ่อแก้ว หลวงพ่ออินทร์ หลวงพ่อจันทร์ โมคคัลลาน์สารีบุตร เนื้อผงสีขาว

จากการที่ได้สอบถามคณะผู้จัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จ ได้จัดทำไว้จำนวน 12 บาตร โดยเฉพาะพระพิมพ์สมเด็จคะแนนขนาดเล็ก ด้านในองค์พระได้บรรจุตะกรุดสาลิกาเนื้อตะกั่วดอกเล็กๆ ไว้ในองค์พระทุกองค์ นายเพ็ชร กันหุ่น ได้ตัดแผ่นตะกั่วเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วได้นำไปให้หลวงพ่อพร้อมจารอักขระเลขยันต์เป็นรูปตัว นะ
เป็นยันต์ประจำตัว หลวงพ่อพร้อม ที่ใช้สำหรับลงตะกรุดเป็นประจำหลังจากจัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จได้ครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว จึงได้รวบรวมใส่บาตรพระนำไปให้ หลวงพ่อพร้อม นั่งบริกรรมปลุกเสกบรรจุพุทธคุณที่กุฏิสงฆ์เป็นระยะเวลานาน 5 เดือน ต่อจากนั้นได้นำไปถวายให้ หลวงปู่กลีบ วัดตลิ่งชัน นั่งบริกรรมปลุกเสกภาวนาบรรจุพุทธมนต์ระยะเวลา 3 เดือน 1 ไตรมาส ในปี พ.ศ.2498 เมื่อออกพรรษาแล้วได้ไปรับพระพิมพ์สมเด็จกลับมาไว้ วัดปุรณาวาส เพื่อจัดเตรียมที่จะนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อม แหวนขาว 9 ยอด ทำจากเงินแท้ จำนวนประมาณ 1,000 วง

เมื่อทางวัดได้จัดเตรียมการต่างๆ ได้พร้อมสรรพแล้ว ในวันงานเปิดพิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2499

พระพิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น อกนูน
 หลวงพ่อจั่น พ.ศ.2507
คณะกรรมการ วัดปุรณาวาส ได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณ หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก ต.หน้าไม้ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเจ้าคุณพระธรรมนาจารย์ ( หลวงพ่ออิ่ม ) วัดชัยพฤษมาลา อ.ตลิ่งชัน พระครูทิวากรคุณ ( หลวงปู่กลีบ ) วัดตลิ่งชัน กรุงเทพฯ หลวงพ่อหวล-หลวงพ่อนวล วัดโพธิ์ บางระมาด อ.ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ พระครูวิสุทธิศีลาจารย์ ( หลวงพ่อวงศ์ ) วัดมะกอก อ.ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ และ พระอาจารย์สมควร วิชชาวิสาโล วัดสาลวัน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม


โดย หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นประธานประกอบพิธีปลุกเสก พระพิมพ์สมเด็จ แหวนขาว 9 ยอดเนื้อเงิน และวัตถุมงคลต่างๆ ที่จะแจกจ่ายกับพี่น้องบรรดาสาธุชนทั้งหลายที่เดินทางมาร่วมในงานปิดทองฝังลูกนิมิต วัดปุรณาวาส โดยมิได้ตั้งราคาค่างวดแต่อย่างใด โดยคณะกรรมการ วัดปุรณาวาส ได้นำวัตถุมงคลที่ผ่านทางพุทธาภิเษกแล้ว ใส่พานทองเหลืองนำไปตั้งไว้ในบริเวณปะรำพิธีที่ทำให้ญาติโยมที่มาร่วมงานทำบุญปิดทองฝังลูกนิมิต ได้ทำบุญบูชาธูปเทียนทอง และรับแจกวัตถุมงคลตลอดงานพิธีปิดทองผูกพัทธสีมา เมื่อเสร็จงานพิธีปิดทองฝังลูกนิมิตแล้ว ได้มีพระเครื่องเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง นายเพ็ชร กันหุ่น ได้นำขึ้นไปบรรจุกรุไว้ ณ บริเวณอกไก่บนเพดานพระอุโบสถหลังใหม่ เพื่อฝากไว้เป็นสมบัติของ วัดปุรณาวาส

ต่อมากาลเวลาล่วงเลยไป 21 ปี ได้มีกลุ่มบุคคลคณะหนึ่งเปิดกรุนำพระเครื่องออกมา เนื่องจากประมาณปี พ.ศ.2523 ทางวัดได้ว่าจ้้างช่างก่อสร้าง ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ได้แก่ นายประชุม มาน้อย ( วิไลพร นครปฐม ) นายผูก มาน้อย นายสว่าง มณีจินดา นายสมใจ มาน้อย โดยมี นายผ่อง สุกงาม เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมงาน โดยทางวัดมีวัตถุประสงค์ให้ช่างดำเนินการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถที่ชำรุด ทาสีให้สวยงามและซ่อมแซมหลังคากระเบื้องโบสถ์ คณะนายช่างจึงได้ทำบันไดปีนขึ้นไปบนหลังคาโบสถ์เพื่อสำรวจหลังคากระเบื้องที่แตกชำรุด แต่ในระหว่างนั้นนายสว่าง มณีจินดา ได้ชี้ให้นายประชุม มาน้อย ดูว่าที่ตรงอกไก่ใต้หลังคาโบสถ์ มีพระเครื่องพิมพ์สมเด็จบรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก

 เหรียญหลวงพ่อจั่น รุ่นแรก คู่กับอัฐิของหลวงพ่อ
เรื่องกรุพระนั้นเป็นที่เล่าขานมานานแล้ว เพื่อเป็นการพิสูจน์ดูว่าจะมีพระเครื่องบรรจุอยู่จริงหรือไม่ นายประชุมจึงได้หยิบเอาค้อนไปเคาะดูตรงอกไก่ ปรากฏว่ามีเสียงดังกังวานแบบโปร่งคล้ายมีโพรงข้างในอกไก่ จึงคาดว่าจะมีพระเครื่องบรรจุอยู่จริง ตามที่นายสว่างแจ้งให้ทราบ นายประชุม มาน้อย จึงได้ใช้ค้อนค่อยๆ ทุบและเจาะดู จึงได้พบ พิมพ์สมเด็จเนื้อผงสีขาวทุกพิมพ์ และพระสมเด็จพิมพ์นิยม เนื้อผสมผงสีแดงแบบดินเผา ด้านหลังประทับตราโต๊ะกัง มีอักษรตัวเลขไทย ปี พ.ศ.๒๔๙๗ บรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก จึงใช้มือล้วงหยิบพระพิมพ์สมเด็จใส่กระป๋องลงมาด้านล่าง แต่ได้มีพระพิมพ์สมเด็จบางส่วนที่เหลืออยู่แตกหักชำรุด นายประชุม มาน้อย ไม่ได้เอามาทั้งหมด คณะช่างจึงได้เอาปูนซีเมนต์ไปอุดทับและทาสีไว้อย่างเดิมเป็นปกติ

ปัจจุบันพระพิมพ์สมเด็จรุ่นแรกของวัดปุรณาวาสเป็นที่นิยมและแสวงหาของผู้ซึ่งทราบพิธีการเป็นอย่างมาก หลังจากบทความเผยแพร่ออกไปแล้ว ท่านผู้อ่านนิตยสารพระเครื่องอาจจะได้พบเห็นตามแผงพระเครื่องขาจรทั่วไป และอาจจะเช่าบูชาในหลักร้อยเท่านั้น เนื่องจากกาลเวลาที่ผ่านไปกว่า 60 ปี ทำให้พระพิมพ์สมเด็จมีเนื้อแห้งแกร่ง และหนึกนุ่มเป็นอย่างมาก บางองค์ที่ผ่านมาใช้มาแล้ว จะมีเนื้อฉ่ำสวยงามมาก หากนำแว่นขยายมาส่องดูแล้วจะมีความงามซึ้งตามาก ปัจจุบันเป็นที่ต้องการแสวงหาของผู้ที่ทราบในพุทธานุภาพในพระสมเด็จเป็นอย่างยิ่ง

หลวงพ่อจั่น คุณธมฺโม

นามเดิม นายจั่น ภู่สะอาด เกิดวันจันทร์ ตรงกับแรม 2 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม พ.ศ.2438 เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ นายจุ่น และ นางบุญ ภู่สะอาด เกิด ณ ที่บ้านตาลเดี่ยว หมู่ที่ 4 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร หลวงพ่อจั่น มีพี่น้องบิดา-มารดาเดียวกันรวม 7 คน
1. นางพร
วัดปุรณาวาสตั้งอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์
สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ.2397
2. หลวงพ่อจั่น คุณธมฺโม
3. นายลี ภู่สะอาด
4. นายจ้อย ภู่สะอาด
5. นางจิ้ว
6. นางแป๋น เขียวเรียง
7. นางเติม

ต่อมา ด.ช.จั่น ภู่สะอาด ได้เจริญวัยอายุได้ประมาณ 10 ขวบ พ.ศ.2448 นายจุ่น บิดาได้นำ ด.ช.จั่น มาฝากให้อยู่ในความดูแลของ พระอธิการเตี้ย เจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส เพื่อศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านภาษาไทยและอักขระภาษาขอมจนมีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน วัดปุรณาวาส พี่น้องประชาชนตามหัวเมืองบ้านนอก นิยมนำบุตรหลานมาฝากพระภิกษุในวัดที่ตนเองเคารพนับถือ ให้อบรมสั่งสอนและเรียนเขียนอ่านหนังสือไทย หลังจาก ด.ช.จั่นได้รับการศึกษาแล้ว ต่อมาได้มีอายุประมาณ 17 ปี ได้กราบลาเจ้าอาวาส วัดปุรณาวาส เพื่อกลับไปช่วย นางพร ผู้เป็นพี่สาวคนโตประกอบอาชีพทำนา ณ ต.ศาลากลาง อ.บางใหญ่ ( ต่อมาได้แยกเป็น อำเภอบางกรวย ) นนทบุรี นายจั่นได้มีความขยันขันแข็ง หลังสู้ฟ้าหน้าสู่ดิน เป็นที่ไว้วางใจบิดา-มารดาอย่าง จนเวลาลุล่วงถึง พ.ศ.2458 นายจุ่นและนางบุญ ภู่สะอาด ได้จัดงานอุปสมบทพ่อนาคจั่น ซึ่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ณ พัทธสีมา วัดปุรณาวาส โดยมี ท่านเจ้าคุณพระนันทวิริยะ ( เจ้าคุณโพธิ์ ) วัดชัยพฤกษมาลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเตี้ย วัดปุรณาวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูอิ่ม วัดชัยพฤกษมาลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจาก หลวงพ่อจั่น ได้อุปสมบท ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาการเล่าเรียนพระอภิธรรม เพื่ออุปสมบทครบพรรษา และรับกฐินทานแล้วได้ลาสิกขาบท และมีอายุครบ 21 ปี ในปี พ.ศ.2459 ได้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้ชาติไทย ได้รับคำสั่งให้เข้าประจำการ  ที่กรมทหารบกรักษาพระองค์กองร้อยที่ 2 กองพันที่ 1 ( ราบ 11 ) ได้รับการสักหมายเลข น.58 ท.น.ด. ตำแหน่งพลรบ ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเข้าประจำการทหารบก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459 สถานที่ประการจำ ตำบลท้องสนามหลวง เมืองกรุงเทพฯ ในระหว่างรับราชการ พลทหาร จั่น ภู่สะอาด ได้รับคำชมเชยในการปฏิบัติสมุดระดมพลประจำตัวทหาร กองหนุน หลังปลดประจำการแล้วมีข้อความดังนี้ ความรู้ใช้ได้ดี หน้าที่พลรบ นิสัย สุจริต กล้าหาญมั่นคง อุตสาหะ มีความเพียร อดทน ความประพฤติเรียบร้อย หนังสือไทย ฯลฯ ( ลงนามผู้จด ร้อยโทชื่น )

เหรียญหลวงพ่อจั่น พ.ศ.2513
 (เหรียญประสบการณ์รถซิ่งชนมหาวินาศ)
เหรียญหลวงพ่อแก้ว หลวงพ่ออินทร์
 หลวงพ่อจันทร์ รุ่นพิเศษ พ.ศ.2533
หลังจากปลดประจำการทหารกองหนุนแล้ว พลทหาร จั่น ก็ได้ไปสมัครรับราชการเป็น พนักงานบำรุงทางของกรมรถไฟหลวง มีหน้าที่รับผิดชอบเส้นทางรถไฟสายใต้ ระหว่างสถานีตลิ่งชัน-ศาลายา ได้ปฏิบัติหน้าที่ของกรมรถไฟหลวงได้ประมาณ 5 ปี พลทหาร จั่น ก็ได้ขอลาออกจากราชการเพื่อมาประกอบอาชีพทำนา ณ ที่บ้านหมู่ 4 ใกล้กับแพนายเช้ ในระหว่างนาย จั่น ประกอบอาชีพทำนานั้น ได้พบรักกับหญิงสาวไม่ทราบชื่อ ( เนื่องจากสืบค้นไม่พบทะเบียนประวัติ ) จึงได้แต่งงานกับสาวคนรักครองเรือนอย่างมีความสุขสดชื่นสมหวัง จนภรรยาอันเป็นที่รักได้ตั้งครรภ์เจริญวัยครบ 9 เดือน จึงได้คลอดบุตรออกมาเป็นบุตรชาย แต่อนิจจาเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาแต่ชาติปางก่อน ภรรยาของนาย จั่น ได้ตกเลือดจนถึงแก่ความตายในระหว่างคลอดบุตร ต่อมาอีก 3 เดือนให้หลัง เคราะห์กรรมก็ยังไม่หมดสิ้น บุตรชายของนาย จั่น ก็ได้ถึงแก่ความตายตามมารดาไป ทำให้นาย จั่น โศกเศร้าอาดูรเจ็บช้ำในดวงใจปานใจจะขาด และวิตกกังวลในการดำรงชีพและประกอบการงาน ทำให้ปลงไม่ตกในวัฏจักรสงสาร ไม่มีอะไรเป็นแก่นแท้แน่นอนในชีวิตและยั่งยืน นอกจากร่มกาสาวพัสตร์เท่านั้นที่จะให้ความสุขและความเจริญในธรรม เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้ภรรยาและบุตรที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ประกอบกับนาย จั่น ได้รับการชักชวนจาก นายอินทร์ รัศมีมา ซึ่งกำลังจะจัดงานอุปสมบทบุตรชาย พ่อนาคนวม รัศมีมา ( ต่อมาได้เป็นเกจิอาจารย์ดังเมืองเพชรบุรี ) ซึ่งในขณะนั้นนาย จั่น ได้มีอายุ 36 ปีแล้ว จึงได้น้อมถวายตัวในพระพุทธศาสนาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดปุรณาวาส เป็นครั้งที่ 2 พร้อมกับพ่อนาคนวม รัศมีมา ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2474 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม สำหรับญัตติเป็นพระภิกษุเมื่อเวลา 15.45 น. โดยมี พระครูศิลาภินันท์ ( หลวงพ่อพิน ) วัดศรีประวัติ เจ้าคณะอำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อพร้อม วัดปุรณาวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาเที่ยง วัดศรีประวัติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ผ้ายันต์สีเหลือง หลวงพ่อจั่น พ.ศ.2513

แหนบ หลวงพ่อจั่น
พ.ศ.2514
หลังจาก หลวงพ่อจั่น คุณธมฺโม ได้อุปสมบทแล้วก็ได้รับการอบรมให้สวดพระพุทธมนต์ในคัมภีร์ทั้ง 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน จนมีความเจนจบทุกบท และได้เรียนรู้การเขียนอ่าน อักษรขอมมีต้นแบบโบราณ รวมทั้งชำนาญลงเลขยันต์เป็นอย่างมาก เนื่องจากตอนเป็นทหารอยู่ที่กองพันที่ 1 ต.ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญพระเวทอาคมของ พระครูธรรมานุกูล ( หลวงปู่ภู ) วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม จึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ภู โดยหลวงปู่ภูได้แนะนำบทพระเวทและพระคาถาในการทำสมาธิ และหลวงปู่ภูได้เมตตาทำไม้ครูประจำตัวให้ หลวงพ่อจั่น ต่อมาไม้ครูอันนั้นได้ตกทอดไปยังหลานคนสนิท

ภาพถ่ายขนาดเล็ก 2 นิ้ว หลวงพ่อจั่น
 วัดปุรณาวาส คู่กับ หลวงพ่อดี
 วัดสุวรรณาราม นครปฐม พ.ศ.2514
เมื่อ หลวงพ่อจั่น อุปสมบทได้ครบ 5 พรรษาแล้ว พ้นจากเป็นพระนวกะภูมิแล้ว หลวงพ่อจั่น ได้รับการชักชวนจากหลวงพ่อนวมให้เตรียมตัวเดินทางถือธุดงควัตรรอนแรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทพระแท่นดงรัง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หลังจากนมัสการพระแท่นดงรังแล้ว ได้เดินทางลัดเลาะป่าเขาลำเนาไพรผ่านสันเขาช้างและเส้นเขาแบ่งแยกชายแดนประเทศไทย เพื่อมุ่งหน้าไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ระหว่างที่เดินทางอยู่ในป่าอันรกทึบ ได้ผจญกับสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น เสือ ช้าง หมูป่า และหมีควายตัวใหญ่มากในป่าลึก แถบชายแดนและในยามค่ำคืนได้ปรากฏภูตผีปีศาจร้ายแผดเสียงร้องโหยหวนอย่างน่าวังเวงใจยิ่ง เพื่อทดสอบสมาธิการภาวนาในระหว่างที่เดินธุดงค์ในป่าลึกก็ได้พบกับพระอาจารย์ผู้เก่งกล้าในวิชาอาคมทีี่ได้ปักกลดอยู่โคนมะม่วงป่าหน้าถ้ำแห่งในในป่าลึก หลวงพ่อจั่น และหลวงพ่อนวมได้เข้าไปกราบนมัสการและสนทนาธรรมจากการพูดคุย ทำให้ทราบว่าพระภิกษุที่ปักกลดอยู่นั้นเป็นผู้เรืองวิทยาคมอย่างแท้จริง จึงได้เข้าฝากตัวขอเป็นศิษย์เพื่อเรียนเวทมนต์คาถาต่างๆ ที่สมควรที่จะได้เรียนรู้ไว้ เพื่อต่อไปในโอกาสข้างหน้า ที่จะได้ใช้วิชาให้เป็นประโยชน์ต่อไป หลังจากได้นมัสการพระเจดีย์ชเวดากองเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางกลับและลัดเลาะมุ่งตรงไปนมัสการพระพุทธบาท-พระพุทธฉาย สระบุรี และได้อยู่นมัสการในงานพระพุทธบาทเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางกลับ วัดปุรณาวาส


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1220 หลวงพ่อพร้อม ( เล็ก ) - หลวงพ่อจั่น วัดปุรณาวาส กรุงเทพมหานคร เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 ราคาปก 70 บาท )





วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อพร้อม ( เล็ก ) #หลวงพ่อจั่น #วัดปุรณาวาส #กทม.