“ เพชรพัทลุง ” หลวงพ่อเอียด ครุธมฺโม วัดโคกแย้ม ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง

ภาพและเรื่องโดย..ฐสิทธิ์ สุทธิญาโณ


เนื้อทองคำ

พ่อท่านเอียด วัดโคกแย้ม















พระ ผู้มีฤทธิเดชและเมตตา         เรื่องคาถาเพียบพร้อมจอมขมัง
ครู เรืองเวชสิริเกจิดัง                   ลือไปทั้งสิบทิศศิษย์ซึ้งใจ
สังฆรักษ์ รักษาสงฆ์ดำรงศาสน์ ใจสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องใส
เอียด โคกแย้มแจ่มจ้าอ่าอำไพ ทั้งที่ใกล้ที่ไกลได้รู้กัน
ครุ จิตหนักแน่นดั่งแผ่นผา           พระพายโบกพัดมามิไหวหวั่น
ธมฺโม หรือคือธรรมะเลิศอนันต์ ท่านถือมั่นบริสุทธิ์พุทธองค์

จังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดที่มีการตั้งเมืองมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ สังเกตได้จากมีเทือกเขานครศรีธรรมราช ( เขาบรรทัด ) วางขวางกั้น เป็นเขตแดนธรรมชาติที่อยู่ระหว่างเขต จังหวัดพัทลุง กับจังหวัดตรัง เป็นต้นน้ำลำธารสายต่างๆ ที่ไหลสู่ทะเลสาบสงขลา อีกทั้งเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่ทางด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต และที่สำคัญเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านสายพระเวทย์อันโด่งดังนั้นก็คือ สำนักตักศิลา สำนักสายเขาอ้อ

พ่อท่านเอียดเมื่อแรกบวช
พระครูพิสิฐธรรมคุณ พ่อท่านเอียด ครุธมฺโม
วัดโคกแย้ม พัทลุง
หลวงพ่อพระครูสังฆรักษ์ เอียด ครุธมฺโม แห่งวัดโคกแย้ม ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง เกจิอาจารย์ขลังผู้สืบสานพุทธาคมสายเขาอ้อ นับเป็นเกจิอาจารย์ที่มีความขลังองค์หนึ่งของเมือง พัทลุง ในปัจจุบันความโดดเด่นของท่านอาจกล่าวได้ว่า ท่านดุจดั่งเป็น “ เพชรพัทลุง ” ทีเดียว หลวงพ่อพระครูสังฆรักษ์เอียด แห่งวัดโคกแย้ม เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่มีศีลาจารวัตรที่งดงาม เป็นพระที่มีความสมถะและถือสันโดษ จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของบรรดาพระสงฆ์ ตลอดพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไป ท่านก็มีลูกศิษย์ลูกหาที่ต่างๆ มากมาย ที่สำคัญท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในสำนักสายเขาอ้อและสายใต้ ซึ่งผมเองมีโอกาสหลายครั้งด้วยกันที่ได้เดินทางไปทำบุญถวายสังฆทานกับท่าน นำรถไปเจิมบ้าง ไปประพรมน้ำพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วแต่จะมีความปรารถนา หลวงพ่อก็มีเมตตาทำให้ทุกครั้งไป และท่านก็ได้ให้ข้อคิดแก่ผมในเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมว่า ควรทำตัวอย่างไรในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยที่ไม่มีความเดือดร้อน เรียนหนังสืออย่างไรให้เข้าใจเรื่องที่เรียนได้ง่ายขึ้น อาศัยหลักธรรมข้อไหนบ้าง และเรื่องต่างๆ อีกมากมายเป็นประจำอยู่เสมอที่ได้มีโอกาสไปหาท่าน

สำหรับประวัติของ หลวงพ่อพระครูสังฆรักษ์ เอียด นั้นมีนามเดิมว่า เอียด นามสกุล ทองพุฒ ซึ่งถือกำเนิดที่บ้านหนองปราง ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง ในวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 ตรงกับขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน มีโยมบิดาชื่อ นายเผือก ทองพุฒ โยมมารดาชื่อ นางหมุน ทองพุฒ (นามสกุลเดิม ชูปาน) มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน 6 คน

เมื่อวัยเยาว์ก็ได้ช่วยบิดา-มารดาประกอบอาชีพทำนาทำสวนที่บ้านหนองปราง ต.นาท่อม อ.เมือง จนกระทั่งมีอายุครบ 21 ปี ก็ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ พัทธสีมา วัดนาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2499 ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก สำเร็จญัติจตุถกรรม เวลา 16.10 น. โดยมีฉายาว่า “ ครุธมฺโม ” ซึ่งแปลว่า “ ผู้มีความหนักแน่นในธรรม ” โดยมี หลวงพ่อพระวีรนาทมุนี (เพียร อุตฺตโม) เจ้าคณะจังหวัดพัทลุงในขณะนั้น (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระธรรมปัญญาบดี อดีตเจ้าคณะภาค 18 สถิต ณ วัดคูหาสวรรค์ พระอารามหลวง) เป็นพระอุปัชฌาย์ มี หลวงพ่อพระมหาพริก รกฺขิตฺธมฺโม วัดคูหาสวรรค์ (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระประศาธน์โศภณ) เป็นพระกรรมวาจารย์ มี หลวงพ่อพระมหาพร้อม อุตฺตโม วัดนาท่อม เป็นพระศีลาจารย์ ซึ่งในขณะนั้นมี หลวงพ่อพระครูพิศาลศีลาจาร (หมุน) เป็นเจ้าอาวาส


สหธรรมิก-พ่อท่านเอียดมุทิตาจิต
เมื่ออุปสมบทแล้ว ในตอนแรกนั้นตั้งใจว่าจะอยู่บวชเรียน เพื่อทดแทนพระคุณของโยมบิดาและมารดาเพียงแค่ 15 วัน เมื่ออยู่แล้วท่านก็พิจารณาเห็นว่า การอยู่ในเพศบรรพชิตนั้นมีความสงบเยือกเย็น และท่านก็ได้มีมานะตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนแตกฉาน หลังจากนั้นก็ได้เที่ยวแสวงหาความรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากรรมฐาน ได้ไปสมัครเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อขาว วัดห้วยหลาด อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งมีชืื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้น และได้จาริกไปกับหลวงพ่อขาว เพื่อโปรดสรรพสัตว์ไปในที่ต่างๆ เช่น เขต อ.ปะทิว จ.ชุมพร เขต อ.ห้วยยอด และ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง บ้าง ซึ่งมีสหธรรมิกที่ติดตามหลวงพ่อขาว เช่น หลวงพ่อพระครูบวรศีลคุณ (มงคล) เจ้าคณะตำบลพังยาง วัดพังยาง (ปัจจุบันถึงแก่มรณภาพแล้ว), หลวงพ่อพระครูทักษิณันตบริหาร (คล้าย สุชาโต) เจ้าอาวาสวัดจันทร์ธาดาประชาราม (กม.7) อ.เบตง จ.ยะลา, หลวงพ่อพระครูโกวิทธรรมสาร (กลาย) เจ้าคณะอำเภอรัตภูมิ วัดห้วยหลาด และ หลวงพ่อพระครูจิรธรรมทร (เจียร ชาคโร) เจ้าอาวาสวัดควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา (ซึ่งปัจจุบันท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว)


หลังจากนั้นก็ได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดนาท่อมตามเดิม ก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตตลอดความรู้ทางไสยศาสตร์ และตำราวิชาการต่างๆ จากผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบนั้นบ้าง และจากที่อื่นๆ บ้าง จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีคนมาขอร้องให้ท่านทำน้ำมันต่อกระดูก ต่อเอ็น (น้ำมันเอ็นทำมาจากน้ำมันมะพร้าวแล้วเสกด้วยคาถา) เมื่อท่านเสกคาถาแล้วเป่าลงไปในขวดน้ำมัน ขวดก็แตกเป็นสองส่วนทำให้ผู้ที่มารักษานั้นตะลึงไปตามๆ กัน และได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้ หลวงพ่อพระครูปลัดจิ้ว กิตฺติสทฺโท อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกแย้มฟัง แล้วท่านก็ได้ไปเล่าให้ หลวงพ่อหมุน ยสโร วัดเขาแดงตะวันออก (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูถาวรชัยคุณ) ซึ่งท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ที่มีชื่อเสียงในการปลุกเสกวัตถุมงคลพระเครื่องสายใต้ โดยเฉพาะ หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ รุ่นแรกๆ ของจังหวัดปัตตานี จึงได้บอกให้ หลวงพ่อพระครูปลัดจิ้ว ไปตามมาพบ และได้รับมาเป็นลูกศิษย์ของท่าน ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ด้านต่างๆ ให้ โดยเฉพาะด้านการปลุกเสกวัตถุมงคลต่างๆ จึงถือได้ว่าเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อหมุน วัดเขาแดงตะวันออก ก็ว่าได้ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เกิดขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ.2500 กว่าๆ


“ โกหว่า ทุ่งสง ” รับมอบแผ่นยันต์จากพ่อท่านเอียด
แผ่นโลหะจารอักขระเลขยันต์ต่างๆ
ที่พ่อท่านเอียดจารเป็นชนวนส่วนผสม
“ เหรียญเพชรพัทลุง ”

พ่อท่านเอียดกับ “ โกหว่า ทุ่งสง ”
บ.ก.ลานโพธิ์ กับ พ่อท่านเอียด

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2518 ตรงกับวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 (เดือน 8 หลัง) ปีเถาะ ท่านก็ได้รับการอาราธนานิมนต์ไปปลุกเสกวัตถุมงคลที่ วัดเลา เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปด้วยเครื่องบิน ถือว่าเป็นอุดมมงคลฤกษ์อันดียิ่ง พระเกจิอาจารย์ที่ได้รับอาราธนานิมนต์ไปครั้งนั้น เท่าที่จำได้ จังหวัดพัทลุง ก็มี หลวงพ่อท่านเจ้าคุณ พระราชปฏิภาณมุนี (สงฆ์) อดีตเจ้าคณะ จังหวัดพัทลุง วัดคูหาสวรรค์, หลวงพ่อท่านเจ้าคุณ พระภัทรกิจโกศล (รุ่ง) วัดโคกคีรี, หลวงพ่อพระครูถาวรชัยคุณ (หมุน) วัดเขาแดงตะวันออก, หลวงพ่อพระครูปลัดจิ้ว กิตฺติสทฺโท วัดโคกแย้ม, หลวงพ่อพระอาจารย์นำ ชินวโร (แก้วจันทร์) วัดดอนศาลา, ในจังหวัดสงขลา อำเภอรัตภูมิ มี หลวงพ่อพระอธิการเล็ก วัดเจริญภูผา (จุ้มปะ), หลวงพ่อพระอธิการชื่น ติสฺสจฺโจ วัดควนหวาด และที่สำคัญคือ พระอาจารย์เอียด ครุธมฺโม แห่งวัดนาท่อม ในขณะนั้น หลังจากนั้นท่านก็ได้นิมนต์ไปปลุกเสกในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ มาโดยตลอด และท่านก็ได้นำเงินทุกบาทที่ได้มาจากการปลุกเสก มาทำคุณประโยชน์ให้กับวัดวาอาราม เช่น การสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดถึงการอุปการะให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่มีผลการเรียนดีและขาดแคลนทุนทรัพย์


โบสถ์ วัดโคกแย้ม
เมื่อตอนที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนาท่อมนั้น ท่านได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำประชาชน ร่วมกันสร้างเสนาสนะที่มีปรากฏเด่นชัด คือ อุโบสถหลังปัจจุบัน ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นความชำนาญการพิเศษของท่านอยู่แล้ว และที่สำคัญคือท่านมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องยาสมุนไพรเป็นอย่างดี ซึ่งก็ได้ช่วยเหลือผู้คนมาเป็นจำนวนมาก โดยมิได้หวังผลจากลาภสักการะใดๆ ทั้งสิ้น


หอระฆัง วัดโคกแย้ม
ต่อมาเมื่อ หลวงพ่อพระครูปลัดจิ้ว กิตฺติสทฺโท ได้อาพาธ และถึงแก่มรณภาพลง เลยทำให้วัดโคกแย้มเว้นว่างจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ชาวบ้านได้ไปบอกกับ หลวงพ่อพระครูนิติธรรมประยุต (ยิ้ม สุหชฺโช) เจ้าอาวาสวัดควนอินทร์นิมิต เจ้าคณะตำบลท่ามิหรำในขณะนั้น เสนอแต่งตั้งให้ พระอาจารย์เอียด ครุธมฺโม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2530 เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูฐานานุกรม ใน หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิเมธี หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมมังคลาจารย์ สถิต ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี ) ที่ “ พระครูสังฆรักษ์ เอียด ครุธมฺโม ”


หน้าวัดโคกแย้ม
ด้านการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งในยุคแรกๆ นั้น ได้มีคนมาขอร้องให้ท่านได้ช่วยทำตะกรุด ด้วยการจารอักขระเลขยันต์ลงในแผ่นตะกั่ว บ้างก็ทำเป็นผ้ายันต์ ประเจียดมงคล ก็ล้วนแต่มีประสบการณ์ทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย โชคลาภ ทำมาค้าขึ้นจึงเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว และในปี พ.ศ.2538 ท่านก็ได้เหรียญรุ่นแรกขึ้นเพื่อแจกในงานทำบุญฉลองอายุครบ 60 ปี เป็นเหรียญทองแดงรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปครึ่งองค์ มีข้อความว่า “ พระครูสังฆรักษ์ เอียด ครุธมฺโม ” ด้านหลังมี ยันต์นะร้อยแปด และข้อความว่า “ ครบ 5 รอบ วัดโคกแย้ม จ.พัทลุง 3 ก.พ. 2538 ” รุ่นที่สองได้สร้้างเป็นเหรียญเงิน ด้านหน้าใช้บล็อกเดิม ด้านหลังเปลี่ยนข้อความว่า งานยกช่อฟ้า 10 มิ.ย. 38 และในปี พ.ศ.2539 มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างรูปหล่อลอยองค์มาถวายไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2549 ท่านก็ได้สร้าง  พระสิวลีมหาลาภ ของ วัดโคกแย้ม เพื่อหาปัจจัยมาบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัด

บริเวณวัดโคกแย้ม
ปัจจุบัน หลวงพ่อพระครูสังฆรักษ์ เอียด ครุธมฺโม มีอายุ 83 ปี มีพรรษายุการ 62 พรรษา ซึ่งตลอดเวลาที่ท่านนั้นได้ครองสมณเพศ เป็นเวลามา 50 กว่าปีนั้น ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด และทำหน้าที่ของความเป็นพระสงฆ์ด้วยดีตลอดมา ด้วยอาศัยหลักพรหมวิหาร คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ในการพัฒนาวัด พัฒนาคน สังเกตเห็นได้จากสภาพบรรยากาศภายในวัด ที่มีความร่มรื่นเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ส่งเสริมให้มีสถานศึกษาภายในบริเวณวัด คือ โรงเรียน วัดโคกแย้ม ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ได้ให้บริการบุตรหลานของประชาชนในหมู่บ้านให้ได้มีความรู้ความฉลาด จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของบรรดาพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนที่มาขอพึ่งบารมีธรรมของท่าน ด้วยเชื่อว่าท่านเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมที่สูง และมี วาจาสิทธิ์ พูดสิ่งเป็นสิ่งนั้น ซึ่งเห็นได้จากภาพถ่ายของท่านที่มีผู้คนมาบนบานศาลกล่าวแล้วประสบความสำเร็จ จึงมาปิดทองคำเปลวเต็มไปหมด เหลือไว้แต่เพียงใบหน้าของท่าน และผมเองก็นับว่าโชคดีที่มีโอกาสได้มาทำบุญที่วัดอยู่บ่อยครั้ง


ภายในกุฏิพ่อท่านเอียด
ศาลาการเปรียญ วัดโคกแย้ม
 คุณวรศักดิ์ อดิเทพวรพันธ์ หรือ “ โกหว่า ทุ่งสง ” ศิษย์เอกอาจารย์นำแห่งเขาอ้อ เป็นผู้ที่มีจิตเป็นกุศลชอบทำบุญเป็นประจำ เมื่อคราวที่ “ พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ” วัดดอนศาลา มีชีวิตอยู่ก็ได้ร่วมสร้างเหรียญพระอาจารย์นำจนโด่งดังมาแล้ว ต่อมาก็ได้สร้างเหรียญ “ พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ” จนเป็นที่นิยมเล่นหากันราคาสูง  เรียกว่า “ รุ่นนายเหมือง ” หรือ “ รุ่นโกหว่า ” หลังจากนั้นก็ไปสร้างเหรียญ “ หลวงพ่อจันทร์ วัดทุ่งเฟื้อ ” จนเหรียญรุ่นนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพราะว่า “ โกหว่า ” ท่านจะเคารพนับถือเกจิองค์ไหนท่านก็ต้องพิจารณาว่าเก่งจริงหรือไม่ และเมื่อเคารพนับถือแล้วก็สร้างเหรียญถวาย ตอนนี้ท่านมาเลื่อมใส  “ พ่อท่านเอียด วัดโคกแย้ม ” เกจิอาจารย์สายเขาอ้อ ท่านจึงดำเนินการสร้างเหรียญ พ่อท่านเอียด วัดโคกแย้ม รุ่น “ เพชรพัทลุง ” ขึ้นมา เพื่อนำรายได้สมทบทุนถวาย พ่อท่านเอียด สร้างถาวรวัตถุใน วัดโคกแย้ม ต่อไป


เนื้อเงิน
เนื้อนวโลหะ
เนื้ออัลปาก้า
เนื้อทองแดงรมน้ำตาล

เหรียญรุ่นนี้ พ่อท่านเอียด ครุธมฺโม ได้ลงจารแผ่นยันต์จำนวนมาก เพื่อเป็นชนวนหล่อหลอมเป็นเนื้อเหรียญที่จะสร้างเพื่อให้มีความขลังสมกับชื่อ “ เพชรพัทลุง ” ที่แท้จริง โดยจะเปิดให้ท่านที่สนใจจะร่วมทำบุญกับ “ โกหว่า ” สั่งจองได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ในรายการดังนี้

1. เหรียญทองคำ (หนักประมาณ 26 กรัม) สร้างเท่าจำนวนสั่งจอง เหรียญละ 55,000 บาท
2. เหรียญเงิน สร้างเท่าจำนวนสั่งจอง เหรียญละ 2,000 บาท
3. เหรียญเนื้อนวโลหะ สร้างเท่าจำนวนสั่งจอง เหรียญละ 1,200 บาท
4. เหรียญเนื้ออัลปาก้า ทำบุญเหรียญละ 200 บาท
5. เหรียญเนื้อทองแดงรมน้ำตาล ทำบุญเหรียญละ 150 บาท

ท่านที่สนใจจะร่วมทำบุญบูชาเหรียญติดต่อสั่งจองได้โดยตรงที่ คุณวรศักดิ์ อดิเทพวรพันธ์ “ โกหว่าทุ่งสง ” หรือที่ นิตยสารลานโพธิ์ 966/10, 912/2 ซอยพระรามหกที่ 21 ถนนพระรามหก แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร.0-2613-7140-4 ทางไปรษณีย์ระบุชื่อผู้รับเงิน นิตยสารลานโพธิ์ ธนาณัติสั่งจ่าย ไปรษณีย์อุรุพงษ์ 10405 (ช่วยค่าส่ง 100 บาท)


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1223 “ เพชรพัทลุง ” หลวงพ่อเอียด ครุธมฺโม วัดโคกแย้ม ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ราคาปก 70 บาท )




วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #เพชรพัทลุง #พ่อท่านเอียด #วัดโคกแย้ม #จ.พัทลุง