พระกรุวัดบางบำหรุ “ ของดีมีให้ทำบุญ ” จาก “ หลวงพ่อแขก ” ถึง “ หลวงพ่อฉาย ”

ภาพและเรื่องโดย..ทวน ทวาราวดี


พระพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก เนื้อสีแดง
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
พระสมเด็จ หลวงพ่อฉาย
 เนื้อสีขาว
เมื่อปี พ.ศ.2528 ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “ หลวงพ่อฉาย วัดบางบำหรุ ” ลงในนิตยสารพระเครื่องฉบับหนึ่ง ครั้งนั้นเป็นการพบพระกรุของ “ หลวงพ่อฉาย ” ที่ วัดบางบำหรุ ทางวัดได้นำออกให้ทำบุญ จวบจนถึงวันนี้ พระครูสิริจันทนิวิฐ ( บุญจันทร์ เขมกาโม ) เจ้าอาวาส วัดบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ได้พบพระเครื่อง หลวงพ่อฉาย ตกค้างอยู่ในกุฏิจำนวนเกือบ 200 องค์ นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 ทางวัดได้ปรับพื้นที่จัดงานเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ขณะปรับพื้นที่ได้รื้อฐานเจดีย์เก่าแก่ที่หักมานานแล้วออก จึงพบพระเครื่องเนื้อดินเผาอีกส่วนหนึ่งประมาณพันกว่าองค์

หลวงปู่แขก
ตามหลักฐานของเจดีย์ปรากฏว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นสมัย “ หลวงปู่แขก ” อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน หลวงพ่อฉาย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นอาจารย์ของ หลวงพ่อฉาย หลวงปู่แขก องค์นี้เป็นเกจิอาจารย์รุ่นเก่าร่วมสมัยกับ หลวงปู่รอด วัดนายโรง ซึ่งมีอาณาเขตวัดติดกันกับ วัดบางบำหรุ ได้สร้างเบี้ยแก้ได้ขลังไม่แพ้กัน พระเครื่องเนื้อดินเผาองค์ขนาดเล็กที่พบในเจดีย์นี้เป็นพระเครื่องที่ หลวงปู่แขก สร้างบรรจุเอาไว้ ก่อนปี พ.ศ.2466 ทางวัดได้นำออกให้ทำบุญในเวลาต่อมา


ก่อนอื่นผู้เขียนขอนำเอาเรื่อง หลวงพ่อฉาย ที่เคยเขียนไว้นานกว่า 20 ปีมาแล้ว มาเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบความขลังของ หลวงพ่อฉาย ไว้เป็นเบื้องต้นก่อน ดังนี้


หลวงพ่อฉาย
วัดบางบำหรุ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ที่ ต. บางบำหรุ อ.บางกอกน้อย กรุงเทพฯ ด้านฝั่งธนบุรีในกลางสวนใกล้คลองบางกอกน้อย วัดนี้เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เคยมีการขุดพบพระเครื่องจากเจดีย์ใกล้วิหารเก่าเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น บริเวณวัดอยู่ติดกับวัดสุวรรณคีรี ( วัดขี้เหล็ก ) และใกล้กับวัดนายโรง เจ้าอาวาสองค์อดีตเท่าที่สอบสวนทวนความขึ้นไปถึงที่สุดได้แก่ “ หลวงปู่แขก ” ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ร่วมสมัยกับ หลวงปู่รอด วัดนายโรง แต่ดูเหมือนจะมีอาวุโสสูงกว่า บางท่านว่า หลวงปู่แขก เป็นอาจารย์สอนวิชาเบี้ยแก้ให้แก่หลวงปู่รอด วัดนายโรง

ดังนั้น หลวงปู่แขก องค์นี้คงจะมีอายุมากกว่าหลวงปู่รอดมากนัก หลังจาก หลวงปู่แขก มรณภาพลงแล้ว ก็มีเจ้าอาวาสองค์ต่อมาชื่อว่า “ หลวงพ่อฉาย ” ซึ่งอยู่ในอายุรุ่นราวคราวเดียวใกล้เคียงกับหลวงปู่รอด วัดนายโรง ปรมาจารย์ทางเบี้ยแก้ที่โด่งดัง และ หลวงพ่อฉาย องค์นี้ก็สร้างเครื่องรางของขลังเป็น “ เบี้ยแก้ ” เช่นเดียวกัน ดังนั้นระหว่างหลวงปู่รอดกับ หลวงพ่อฉาย อาจมีความสัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้


พระพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เนื้อสีดำ
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ

พระพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เนื้อสีดำ
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
“ หลวงพ่อฉาย วิสุทธิสาโร ” มิใช่เป็นคน บางบำหรุ แต่ท่านเป็นชาวจังหวัดลพบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2422 และเจริญเติบโตที่ลพบุรี อุปสมบทมาจากจังหวัดลพบุรี  ใครจะเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ยากแก่การสืบค้น เมื่ออุปสมบทแล้วหลายพรรษาจึงออกธุดงค์รุกขมูลไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อแสวงหาความวิเวกในการปฏิบัติภาวนาหลายปี จนกระทั่งได้ธุดงค์มาอยู่ที่ตำบล บางบำหรุ มีคนศรัทธาเลื่อมใสมากเนื่องจากท่านเป็นผู้มีวิชากล้าทางอาคม ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็บำบัดรักษาให้ด้วยสมุนไพรใบยาและเวทวิทยามนต์ให้คลายหายทุกข์ได้ชะงัดเห็นผลทันตา

ระหว่างธุดงค์มาอยู่ บางบำหรุ นั้นเอง หลวงปู่แขก ได้มรณภาพแล้วเกิดว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านซึ่งศรัทธาเลื่อมใสท่านมากจึงได้นิมนต์ท่านให้จำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาส วัดบางบำหรุ สืบต่อมา


พระพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เนื้อสีดำ
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
พระพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
นายบุญช่วย เกิดผลเสริฐ ผู้เฒ่าย่าน บางบำหรุ ผู้เคยเป็นศิษย์ หลวงพ่อฉาย ตั้งแต่เยาว์วัยเล่าว่า เคยติดตาม หลวงพ่อฉาย ไปลพบุรี เพื่อเยี่ยมญาติพี่น้องของท่าน พบว่าฐานะทางครอบครัวของท่านที่ลพบุรี และญาติพี่น้องของท่านเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยกันทุกคน ทุกครั้งที่ท่านธุดงค์ไปเยี่ยมบ้านที่ลพบุรี เมื่อมีคนพบท่านจะเอาเสลี่ยงมาแบกหามท่านไปด้วยความเคารพ และทุกครั้งที่ปักกลดในเขตลพบุรี จะมีคนมาขอของขลัง ตะกรุด ผ้าประเจียด และน้ำมนต์ กันมิได้ขาด แสดงว่าท่านมีอาคมขลังกิตติคุณโด่งดังตั้งแต่วัยหนุ่มสมัยอยู่ลพบุรีมาแล้ว

ระหว่างธุดงค์อยู่ในเขตลพบุรีนั้นนายบุญช่วยเล่าว่า ได้ติดตามไปด้วยเสมอ เพราะเมื่อออกพรรษาไม่นานท่านก็จะออกธุดงค์เป็นนิสัย พอใกล้เข้าพรรษาจึงธุดงค์กลับมา วัดบางบำหรุ ระหว่างทางธุดงค์ท่านมักจะชี้ไปบนพื้นดินว่าใต้พื้นดินตรงนี้มีพระพุทธจารอยู่ให้นายบุญช่วยขุดขึ้นมาทุกครั้งที่ท่านบอก และขุดลงไปก็พบพระพุทธรูปทุกครั้ง บางครั้งมีแต่เศียร เสร็จแล้วก็นำเอาไปไว้วัดใกล้ๆ บริเวณนั้น


หลายต่อหลายครั้งที่ท่านพาญาติพี่น้องของท่านที่ลพบุรีเดินไปบริเวณเมืองเก่าแล้วชี้จุดให้ขุดเอาพระพุทธรูปจมดินขึ้นมา บางคนไม่ยอมเชื่อแต่พอขุดไปแล้วก็พบทุกครั้ง ปรากฏว่าท่านชี้ให้ขุดได้พระพุทธรูปหักบ้าง ชำรุดบ้าง สมบูรณ์บ้างได้มากมาย แล้วให้ญาติพี่น้องของท่านที่ขุดได้นำเอาไปไว้ที่วัด ท่านบอกว่านี่แหละเป็นการทำบุญอันประเสริฐยิ่งนัก ได้นำพระพุทธรูปจมดินจมทรายเอาขึ้นมาสืบอายุพระศาสนาต่อไป


พระพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก เนื้อสีแดง
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
พระพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก เนื้อสีดำ
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
พระพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก เนื้อสีดำ
หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
นายบุญช่วยเล่าว่า หลวงพ่อฉาย นั้นเหมือนกับว่าท่านมีตาทิพย์มองทะลุลงไปใต้ดินทะลุปรุโปร่ง เพราะท่านชี้ให้ขุดพระไม่เคยพลาดสักครั้งเดียว แม้กระทั่งคนซึ่งมาหาท่าน ทำผิดอะไรมาท่านบอกเสียก่อน โดยเจ้าตัวไม่ต้องเล่าให้ฟัง ไม่มีใครโกหกท่านได้ ลูกศิษย์วัดทำไม่ดีอะไรที่ไหนท่านบอกได้หมด โดยเหตุนี้เองชาวบ้านและลูกศิษย์จึงเกรงกลัวท่านมาก

รูปร่างของท่านสูงใหญ่ ผิวเนื้อสองสี สายตาเป็นประกายกล้าแข็ง มีตบะแรงกล้า ไม่มีใครกล้าสบสายตากับท่าน น้ำเสียงก้องกังวานมีอำนาจ เวลาท่านขึ้นเทศน์โปรดญาติโยมบนศาลาไม่มีใครกล้ากระแอมกระไอทำลายความเงียบหรือรบกวน


วัดบางบำหรุ

ในด้านเครื่องรางของขลังท่านสร้าง ตะกรุด ผ้าประเจียด และเบี้ยแก้ แจกจ่ายลูกศิษย์ ซึ่งมีความเคารพเลื่อมใสท่านทุกครั้งที่มีคนไปขอของจากท่าน ท่านจะสำทับว่ารักษาเอาไว้ให้ดีพร้อมกับศีลห้าต้องปฏิบัติจึงจะขลังคุ้มครองป้องกันได้ อย่าเอาไปทำชั่วปล้นเขากิน บางรายมาขอหลายสิบครั้งท่านก็ไม่ยอมให้ เพราะท่านบอกว่ารายนี้เอาไปต้องเอาไปทำชั่ว ดูเหมือนท่านจะเห็นอนาคตกาลได้แจ่มชัดนั่นเอง


หลวงพ่อฉายถ่ายรูปกับพระภิกษุ
หน้าโบสถ์วัดบางบำหรุ เมื่อเดือนสิงหาคม 2471
นายบุญช่วย เกิดผลเสริฐ เล่าว่า ท่านสร้างพระเครื่องครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งรวบรวมผงต่างๆ ที่ท่านลงเอาไว้มากมาย อันได้แก่ ผงวิเศษ 5 ประการ และมงคลวัตถุชนิดต่างๆ อันได้แก่ แร่ธาตุดินโป่ง ดินป่า ที่ได้มาจากการธุดงค์ และเกสรดอกไม้มาประสมประสานกันสร้างเป็นพระพิมพ์ขึ้นทั้งหมด 3 พิมพ์ ด้วยกัน คือ


พระพิมพ์กลีบบัว
หลวงพ่อฉาย เนื้อสีดำ
1. พิมพ์กลีบบัว พุทธลักษณะเป็นรูปพระปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวเจ็ดกลีบ องค์พระลอยเด่น ช่องแขนลึก เศียรค่อนข้างใหญ่ไม่ปรากฏรายละเอียดบนพระพักตร์ แบบพิมพ์รอบนอกเป็นแบบกลีบบัวมีเส้นขีดลางๆ โดยรอบพิมพ์ ด้านหลังเรียบ องค์พระค่อนข้างหนา


พระสมเด็จ หลวงพ่อฉาย เนื้อสีดำ
2. พิมพ์สมเด็จ พุทธลักษณะสมาธิราบประทับบนจารนะ ฐานขีดเป็นเส้นสามชั้น เศียรค่อนข้างใหญ่คล้ายพิมพ์อกครุฑเศียรบาตรของกรุบางขุนพรหม เส้นซุ้มหนาใหญ่ ลักษณะการแกะพิมพ์ลึกมากองค์พระและเส้นต่างๆ จึงชัดเจน ด้านหลังเรียบ องค์พระหนาเหมือนพิมพ์กลีบบัว


พระปิดตา หลวงพ่อฉาย
3. พิมพ์ปิดตา ลักษณะเป็นพิมพ์ปิดตาขนาดเล็กติดพิมพ์ชิดองค์พระรูปทรงสามเหลี่ยมตัดปลายแต่ไม่เรียบร้อย บางองค์ก็มนมุม มีมือสองข้างปิดเฉพาะ ส่วนหน้าช่องแขนห่างระหว่างช่องแขนมีรูปพระพุทธองค์เล็กๆ ประทับอยู่ระหว่างช่องแขนทั้งสองแต่ไม่ค่อยชัดเจนรางเลือนมาก พระพิมพ์ที่ส่วนใหญ่ไม่ชัดเจน บางองค์หากไม่พิจารณาดีๆ จะไม่ทราบว่าเป็นพระปิดตา องค์พระหนามาก

เฉพาะพิมพ์กลีบบัวและพิมพ์สมเด็จเท่าที่พบมีเนื้อพระสามสีด้วยกันคือ สีดำ สีเหลืองเข้ม และสีค่อนข้างขาว คงเป็นด้วยการผสมผงสัดส่วนแตกต่างๆ กันไปแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน


ส่วนพิมพ์ปิดตานั้น กำนันเลื่อน  กำนันตำบลวัดขี้เหล็ก ซึ่งเป็นศิษย์ช่วยทำพระเครื่องชุดนี้เล่าว่าได้ ผสมเปลือกมังคุด ลงไปด้วยพิเศษกว่าพิมพ์อื่นๆ เนื้อพระจึงเป็นสีดำอมม่วงเข้มทั้งหมด


เจดีย์องค์กลาง สถานที่พบพระ
หลวงพ่อฉายคราวบูรณะเจดีย์ ปี 2528
พระทั้งสามพิมพ์นี้ หลวงพ่อฉาย ได้สร้างและปลุกเสกอยู่นานมาก จึงได้แจกจ่ายให้ผู้เคารพนับถือท่าน และนำส่วนหนึ่งเอาไปแจกที่จังหวัดลพบุรี ปรากฏว่ามีชาวลพบุรีได้พระเครื่องของ หลวงพ่อฉาย เอาไว้มาก ต่างมีประสบการณ์มหัศจรรย์อยู่เสมอ เมื่อไม่นานมานี้มีทหารจากลพบุรีที่มีพระเครื่องของ หลวงพ่อฉาย เดินทางมาแถว วัดบางบำหรุ แสวงหาพระเครื่องของท่าน ราคาเท่าใดก็สู้ เพราะไปได้รับประสบการณ์โดนคนลอบทำร้ายโดย ล็อกคอเอาปืนจ่อยิงหลายนัดไม่ออกมาแล้ว ชาว บางบำหรุ ทราบข่าวจึงเกิดความเคลื่อนไหวฮือฮากัน ถึงกับของใครของมันเก็บเอาไว้ไม่ยอมให้ใคร


ฐานเจดีย์ที่พบพระเครื่อง หลวงปู่แขก
พระเครื่องอีกส่วนหนึ่งท่านใส่บาตรพระเอาไว้ 2 บาตร บรรจุใส่เจดีย์ใกล้วิหารเก่า และอีกส่วนหนึ่งส่วนมากเป็นพิมพ์ปิดตาท่านเก็บไว้ในกุฏิ จวบจนกระทั่งท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2481

ส่วนที่ท่านเก็บไว้ซึ่งเป็นพิมพ์ปิดตานั้น ทางวัดได้นำมาแจกตอนงานฌาปนกิจศพท่านในปี พ.ศ.2481 นั่นเอง แจกไปจนหมด

เมื่อปี พ.ศ.2525 ทางวัดได้รื้อเจดีย์เก่าเพื่อปรับพื้นที่บริเวณวิหารเก่า ได้พบพระเครื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็น พิมพ์กลีบบัว และ พิมพ์สมเด็จ มี พิมพ์ปิดตา เป็นส่วนน้อย บรรจุอยู่ในบาตรสองบาตรในเจดีย์ บาตรบรรจุนั้นผุกร่อนไปบ้างแล้ว หลวงพ่อฉาย คงบรรจุเอาไว้ตอนสร้างเสร็จ ก่อนปี พ.ศ.2481 กี่ปีไม่ทราบได้ เมื่อพบพระเครื่องนั้นท่าน พระครูรัตนฯ ได้นำมาเก็บไว้กุฏิของท่านแจกจ่ายคนที่ต้องการไปจนหมดสิ้นไม่มีเหลือ พระส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวบ้านย่าน วัดบางบำหรุ


พระครูสิริจันทนิวิฐ (บุญจันทร์ เขมกาโม)

พรรคพวกของผู้เขียนคนหนึ่งบ้านอยู่แถวนั้นได้กว้านเก็บเอาไว้จนเพียบ แถมยังหวงชะมัดยาด ไปหลายต่อหลายเที่ยวได้มาเพียงองค์เดียว ขอแบ่งเอามาใช้ไม่ยอมให้ ต้องขอซื้อจึงยอมขาย พระเครื่อง หลวงพ่อฉาย ที่กระจายไปในย่าน บางบำหรุ นั้น ต่างก็เก็บกันไว้ไม่มีใครสนใจมากนัก แต่มาฮือฮากันตอนมีทหารจากลพบุรี มากว้านซื้อ กว่าจะรู้ความจริงว่าเขามากว้านซื้อเพราะอะไร บางคนก็ขายไปจนหมด เมื่อซักไซ้ได้ความจริง บางคนต้องไปอ้อนเพื่อขอซื้อเอามาเก็บด้วยราคาสูงกว่าที่ขายให้พวกทหารลพบุรีไปเสียอีก แบบนี้ก็มีมาก

จากเสียงเล่าลือกันว่า ทหารจากลพบุรีมากว้านซื้อ เพราะปืนยิงไม่ออกนี่เอง

ข่าวแว่วไปเข้าหูกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเข้า ผู้เขียนได้ตามกลุ่มวัยรุ่นนี้ได้จนครบ กว่าจะครบก็หมดน้ำมันไปอักโข เพื่อสัมภาษณ์จะถ่ายรูปกันมาเป็นหลักฐานให้ท่านผู้อ่านชม

กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มนี้ได้ข่าวพระ หลวงพ่อฉาย ปืนยิงไม่ออก ก็เกิดคึกคะนองอยากจะลองของด้วยความไม่เชื่อถือ ทั้งกลุ่มนี้มีรายชื่อต่อไปนี้ คือ

1. นายสุวิทย์ เอมประสิทธิ์
2. นายเรียง เอี่ยมใบวงค์
3. นายอาคม ฤทธิ์เจริญ
4. นายสุทิน เกิดผลเสริฐ
5. นายใหญ่


เจ้าอาวาสและพระภิกษุในวัดบางบำหรุ
ปรับพื้นที่บริเวณเจดีย์เก่า
พบช่องสี่เหลี่ยมสี่ช่องที่ฐานเจดีย์



พบพระเครื่องคลุกอยู่กับดินในช่องสี่เหลี่ยม
นำพระเครื่องขึ้นจากกรุที่บรรจุ


เหตุแห่งการทดลองก็เพราะ นายสุทิน เกิดผลเสริฐ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของ นายบุญช่วย เกิดผลเสริฐ ศิษย์ของ หลวงพ่อฉาย ได้ พระพิมพ์กลีบบัว หลวงพ่อฉาย เนื้อสีดำ มาองค์หนึ่ง นำเอามาอวดพรรคพวกในกลุ่มเกิดการท้าทายกัน เพราะไม่เชื่อว่าปืนจะยิงไม่ออกจริง จึงชวนกันไปที่สวนของนายใหญ่ที่ใกล้วัดบางบำหรุนั่นเอง โดยนายสุทิน เกิดผลเสริฐ เป็นผู้อาราธนาพระนำไปวางไว้ข้างท้องร่องสวน เด็ดใบโกศลมารองพระเอาไว้ แล้ว นายอาคม ฤทธิ์เจริญ ผู้ที่คึกที่สุดในกลุ่มก็เอาปืนมาจ่อยิงห่างจากองค์พระเพียงคืบเดียว พลางกล่าวว่า 

“ เดี๋ยวพัดจะยิงให้กระจายกลายเป็นฝุ่น ”


เจ้าอาวาสพิจารณาพระที่คลุกอยู่กับดิน
นำพระออกจากกรุทั้งหมด
ได้พระจำนวนมาก ส่วนใหญ่ชำรุดแตกหัก
คัดพระจากเศษอิฐปูน

สร้างเสียงเฮฮาให้กับพรรคพวก แต่บางคนก็ไม่ค่อยแน่ใจกลัวปืนแตก นายสุทิน เกิดผลเสริฐ เจ้าของพระไปแอบในกอไม้ เพราะกลัวว่าปืนจะแตก นายอาคมก็จ่อยิงทันที ทุกคนเล่ายืนยันว่าเสียงนกสับปืนดัง

“ แชะ ”

ทุกคนเห็นนายอาคมยืนถือปืนมือสั่นเทา ร่างกายสั่นสะเทิ้นไปเหมือนผีเข้า จนต้องช่วยกันประคองลงนั่ง เพื่อนอีกคนคือ นายสุวิทย์ เอมประสิทธิ์ ไม่แน่ใจ เอาปืนมาจากมือนายอาคมแล้วเลื่อนลูกกลับที่เก่าสับนกยิงขึ้นฟ้าเสียงปืนลั่นสนั่นหวั่นไหวไปทั่วสวน

เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้นจึงพานายอาคมกลับไปบ้าน ปรากฏว่านายอาคมนั่งซึมตลอดทั้งวันต้องอธิษฐานขอขมากับ หลวงพ่อฉาย อาการจึงดีขึ้นและเป็นปกติในที่สุด


พระเครื่องที่คลุกอยู่กับดินในกรุ
พระเครื่องที่ออกจากกรุใหม่ๆ
นายสุทิน เกิดผลเสริฐ เล่าว่า ได้นำเรื่องเล่าให้ พ.ต.ธำรงศักดิ์ ปุตภรักษ์ ฟังถึงการทดลองยิงพระ พ.ต.ธำรงศักดิ์ ปุตภรักษ์ จึงได้ขอดูพระพิมพ์กลีบบัวองค์ที่ทดลองแล้วขอพระองค์นั้นไป เขาจึงได้มอบให้ไป เพราะมีความเคารพนับถือ พ.ต.ธำรงศักดิ์มาก

เหตุการณ์ทดลองยิงพระ หลวงพ่อฉาย ของกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มนี้แพร่สะพัดไปในย่าน บางบำหรุ ทำให้พระ หลวงพ่อฉาย เป็นที่เสาะแสวงหากันมากขึ้น คนที่มีอยู่แล้วต่างก็หวงแหน ผู้เขียนเดินตระเวนขอดูจากชาวบ้านต่างก็หวงกันเป็นพิเศษ เรื่องขอซื้อเป็นเรื่องยากเสียแล้ว

เนื้อหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2528 เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้เดินทางไปพบกับเจ้าอาวาส วัดบางบำหรุ เมื่อทราบข่าวว่ามีคนพบพระกรุของ “ หลวงปู่แขก ” ก็ได้รายละเอียดการพบพระถูกตามที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นนั้น พระกรุของ หลวงปู่แขก เท่าที่สังเกตดูเป็นพิมพ์แบบง่ายๆ ดูเหมือนท่านอาจจะแกะพิมพ์เอง เพราะไม่มีรูปร่างรายละเอียดมากนัก แต่ก็แลดูงดงามเป็นธรรมชาติ ลักษณะคล้ายพระวัดพลับ จำแนกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ เล็ก กลาง ใหญ่ แต่พิมพ์กลางมีน้อยมาก ส่วนเนื้อที่พบมีเนื้อออกสีแดงจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เนื้อจะออกสีดำ ทางวัดจึงนำออกให้ทำบุญเฉพาะเนื้อสีดำ พิมพ์ใหญ่ จำนวนประมาณ 800 องค์ องค์ละ 999 บาท ส่วนพิมพ์เล็กมีประมาณ 800 องค์เช่นกัน ให้ทำบุญองค์ละ 599 บาท ส่วนพระพิมพ์สมเด็จของ หลวงพ่อฉาย มีเนื้อสีดำ 60 องค์ เนื้อสีขาว 60 องค์ ให้ทำบุญองค์ละ 1,999 บาท


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  984 ปักษ์แรก เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2550 :  พระกรุวัดบางบำหรุ “ ของดีมีให้ทำบุญ ” จาก “ หลวงพ่อแขก ” ถึง “ หลวงพ่อฉาย ” ภาพและเรื่องโดย..ทวน ทวาราวดี )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 







Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์  #พระกรุวัดบางบำหรุ #หลวงพ่อแขก #หลวงพ่อฉาย