“ ศิษย์สายพุทธาคม หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ” หลวงพ่อสืบ วัดสิงห์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ภาพและเรื่องโดย..สุธน ศรีหิรัญ

หลวงพ่อสืบ วัดสิงห์
พระครูพิทักษ์วีรธรรม(สืบ ปริมุตโต)
วัดสิงห์ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาแต่สมัยอู่ทอง หรืออยุธยาตอนต้น โดยสังเกตได้จากเจดีย์ของวัด ซึ่งภายหลังได้สถาปนาชื่อว่า พระเจดีย์อิศวรนวโกฏิ และพระประธานของวัดซึ่งมีนามว่า “ พระพุทธสีหโรจนชัย ” เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดงแกะสลักต่อกันเป็นท่อนๆ แล้วสอปูนลงรักปิดทอง มีพุทธศิลปะอู่ทองค่อนข้างชัดเจน ใบเสมาเก่าของวัดเป็นหินทองแดงตามคำบอกเล่าน่าจะยืนยันว่าวัดนี้น่าจะสร้างมาแต่สมัยอู่ทอง เพราะเป็นย่านความเจริญเก่าตั้งแต่อาณาจักรทวาราวดี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมคลองบางแก้วซึ่งเชื่อมต่อจากแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณปากคลองนี้คือ วัดกลางบางแก้ว คลองนี้ผ่าน วัดสิงห์ ไปองค์พระปฐมเจดีย์ แม้แต่สุนทรภู่ก็เคยกล่าวถึงไว้ในนิราศพระประฐมตอนหนึ่งว่า

พระประธานในโบสถ์ วัดสิงห์
“ถึงวัดสิงห์สิงสู่อยู่ที่นี่
แต่ใจพี่ไปสิงมิ่งสมร
ถึงตัวจากพรากพลัดกำจัดจร
ยังอาวรณ์หวังเสน่ห์ทุกเวลา”

ใบเสมาเก่าของวัดสิงห์
วัดสิงห์ น่าจะเคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต และเริ่มรกร้างลงไปเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วกลับมามีพระจำพรรษาอีกครั้งในระยะปลายรัชกาลที่ 5 เพราะในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งตามประวัติคำบอกเล่าว่า ได้มีพระเกจิอาจารย์ผู้แก่กล้าท่านหนึ่งคือ “ หลวงพ่อจ้อย วัดบางช้างเหนือ ” สามพราน ในฤดูแล้งชอบมาพักปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดแห่งนี้ ซึ่งครั้งนั้นเป็นวัดร้าง เหตุที่ หลวงพ่อจ้อย วัดบางช้างเหนือ ชอบมาพักปฏิบัติธรรม ณ สถานที่นี้ก็เนื่องจากเป็นที่สงบวิเวกและมีดงต้นตาลอยู่มาก ชาวบ้านทำน้ำตาลจากต้นตาลโตนด บางส่วนก็เอามาทำ “ น้ำตาลเมา ” หรือที่ชาวบ้านย่านนี้เรียกว่า “ กระแช่ ” ส่วน “ หลวงพ่อจ้อย ” ผู้แก่กล้าองค์นี้มีคำเล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านชอบดื่มกระแช่เป็นประจำ เมื่อพักปฏิบัติอยู่ที่แห่งนี้ชาวบ้านที่รู้ใจท่านก็มักจะเอากระแช่มาถวาย เมื่อท่านมาทุกปีท่านก็จะขุดบ่อน้ำเอาไว้ จากบ่อเล็กๆ เมื่อหลายปีเข้าบ่อน้ำก็โตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นบ่อน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ในเวลาต่อมา


รูปปั้นหลวงพ่อจ้อย
วัดบางช้างเหนือ
รูปปั้นหลวงพ่อจ้อย
วัดบางช้างเหนือ
ย้อนกลับไปถึงเรื่อง “ หลวงพ่อจ้อย วัดบางช้างเหนือ ” บางท่านอาจสงสัยว่า “ ดื่มกระแช่ ” ไม่ผิดศีลหรือ ข้อนี้น่าจะเว้นได้สำหรับผู้ที่ล่วงพ้นไปแล้ว โดยฉพาะหลวงพ่อจ้อย เพราะท่านมีวิชาอาคมแก่กล้ามาก สามารถ “ อาพัด ” เหล้าให้เป็นน้ำได้ ในทำนองเดียวกันก็สามารถเสกน้ำให้เป็นเหล้าได้ เคยมีตัวอย่างให้เห็นเมื่องานทำบุญอายุหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว หลวงพ่อจ้อยมักจะไปร่วมงานทุกปี มีอยู่ปีหนึ่งผู้เฒ่าที่วัดกลางบางแก้วเล่าว่า ท่านมางานหลวงปู่บุญเห็นคนทำครัวนั่งดื่มเหล้ากัน ท่านก็เข้าไปขอดื่มบ้าง บรรดาพ่อครัวของวัดก็แบ่งให้ท่านเล็กน้อย แต่ท่านไม่พอขอดื่มอีก พวกพ่อครัวก็บอกท่านว่า อย่าดื่มมาก เดี๋ยวพวกเขาจะไม่พอดื่ม หลังจากท่านดื่มแล้วได้เดินไปที่ถังน้ำ เอามือจุ่มลงไปบริกรรมคาถาแล้วหมุนมือเวียนน้ำสามครั้ง ก่อนจะบอกว่า

“ เอ้า! กินกันซะให้พอ ”

ผู้เฒ่าแห่งวัดกลางบางแก้วเล่าว่า เพียงเท่านั้นน้ำในถังใบนั้นก็กลายเป็นเหล้าทั้งหมด เล่นเอาเมากันไปทั้งครัว

จตุคามรามเทพ รุ่นเศรษฐีนวโกฏิ
เนื้อผงมหาว่าน (สีเหลือง)
จตุคามรามเทพ รุ่นเศรษฐีนวโกฏิ
เนื้อผงมหาว่าน (สีเหลือง) ปัดทอง
จตุคามรามเทพ รุ่นเศรษฐีนวโกฏิ
เนื้อผงพุทธคุณ (สีขาว)









หลังจากช่วงนั้นมาก็ปรากฏว่ามีพระมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสิงห์เป็นต้นมา มีเจ้าอาวาสองค์ต่อมาและได้สร้างรูปปั้นของ “หลวงพ่อจ้อย วัดบางช้างเหนือ” เอาไว้ที่วัดสิงห์ มีชาวบ้านมาจุดธูปบนบานขอบารมีมักจะประสบผลดีอยู่เสมอ เจ้าอาวาสที่มาครองวัดสิงห์ช่วงหลังๆ มีเหตุอัศจรรย์ต้องสิกขาลาเพศไปมีครอบครัวเกือบทั้งหมด โดยเหตุอัศจรรย์เนื่องจากมีคนกล่าวกันว่า เพราะที่วัดสิงห์มีต้นตะเคียนใหญ่ มีนางตะเคียนสิงสู่อยู่ ต่อมามีต้นโพธิ์มาขึ้นทับต้นตะเคียนงอกงามคลุมต้นตะเคียน เป็นไปตามคำของโบราณที่ว่า
“ โพธิ์ปาราชิก ”

จตุคามรามเทพ รุ่นเศรษฐีนวโกฏิ
เนื้อไม้มงคลเทพทาโร
จตุคามรามเทพ รุ่นเศรษฐีนวโกฏิ
เนื้อไม้มงคลเทพทาโร ปัดทอง
น่าจะหมายถึง “ ต้นโพธิ์ ” คือ “ พระภิกษุ ” ส่วน ต้นตะเคียน หมายถึง “ ผู้หญิง ” หรือนางตะเคียน เมื่อต้นโพธิ์ไปขึ้นคล่อมต้นตะเคียน จึงเรียกว่า “ โพธิ์ปาราชิก ” ถ้าเป็นพระภิกษุก็ขาดจากศีล โดยเหตุนี้จึงเล่าลือกันมาว่า เป็นเหตุ “ อาเพศ ” ทำให้เจ้าอาวาสวัดสิงห์อยู่ได้ไม่นานก็สึกออกไปมีครอบครัวกันหมด จนต่อมาถึงปี พ.ศ.2527 เจ้าอาวาส วัดสิงห์ ก็ลาสิกขาไปมีครอบครัว พระครูอินทสิริชัย ( ม้วน ) วัดไทร เจ้าคณะตำบล จึงส่งศิษย์เอกของท่านคือ “ พระอาจารย์สืบ ” มาเป็นเจ้าอาวาส วัดสิงห์ ด้วยความหวังว่าจะไม่ลาสิกขาไปมีครอบครัวเหมือนองค์อื่นๆ

“โพธิ์ปาราชิก”
ต้นโพธิ์ขี่ต้นตะเคียน
“โพธิ์ปาราชิก”
ต้นโพธิ์ขี่ต้นตะเคียน
เหตุอัศจรรย์ เมื่อ “ หลวงพ่อสืบ ” มาครองเจ้าอาวาส วัดสิงห์ อยู่ไม่นาน “ ต้นโพธิ์ขี่ต้นตะเคียน ” หรือ “ โพธิ์ปาราชิก ” ก็ค่อยเหี่ยวเฉาลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เหี่ยวแห้งตายไปที่สุด คงเหลืออนุสรณ์ให้เห็นแห้งตายอยู่จนทุกวันนี้ ชาวบ้านก็เป็นอันโล่งอกว่าเจ้าอาวาสองค์นี้จะสร้างความเจริญเป็นปึกแผ่นให้แก่ วัดสิงห์ ได้เสียที เหตุการณ์ก็เป็นไปตามคาด “ หลวงพ่อสืบ ” ได้มุ่งมั่นพัฒนา วัดสิงห์ จนเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ ตัวท่านเองก็ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้เป็น “ เจ้าคณะตำบล ” และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “ พระครูพิทักษ์วีรธรรม ” คือผู้ปกปักรักษาความเป็นเลิศแห่งธรรมของพระพุทธองค์ให้มั่นคงยั่งยืนตลอดไปชั่วกาลนาน

หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน
อาจารย์หลวงพ่อสืบ
เจดีย์อิศวรนวโกฏิ
“ หลวงพ่อสืบ ” เกิดที่บ้านตลาดบน ต.ท่ากระจับ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2475 ในครอบครัวเกษตรกรรม บิดาชื่อ นายชาญ มารดาชื่อ นางเพียร สกุล “ ยอดยง ” เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดไทร จนจบชั้นประถมจึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพิ่มวิทยา วัดกลางบางแก้ว เมื่อปี พ.ศ.2492 จบชั้นมัธยมแล้วจึงสอบเข้าโรงเรียนพลตำรวจ จบการศึกษาจากโรงเรียนพลตำรวจได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ณ สถานีตำรวจลุมพินี กรุงเทพฯ รับราชการตำรวจอยู่ได้ 3 ปี เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส จึงตัดสินใจลาออกเพื่ออุปสมบท เมื่อปี พ.ศ.2497 ณ วัดท่าใน ต.ท่าพญา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมี พระครูสิริวุฒาจารย์ (ห่วง สุวัณโณ) วัดท่าใน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปิ่น วัดศีรษะทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการม้วน วัดไทร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ ทานรโต ” หลังจากอุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าใน ศึกษาธรรมและปฏิบัติรับใช้ “ หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน ”

หลวงพ่อห่วงองค์นี้เป็นเกจิอาจารย์ที่มีวิชาแก่กล้ามากเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้าน เป็นสหธรรมกับ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม และ หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา แม้แต่หลวงพ่อเงินเองก็ยังกล่าวยกย่องในความสามารถของหลวงพ่อห่วง ชาวบ้านแถวๆ ตำบลท่าพญา นครชัยศรี เมื่อเดินทางไปขอวัตถุมงคลกับหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อเงินมักจะออกปากว่า

“ คุณเลยของดีมาเสียแล้ว หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน นั่นแหละของดี ของจริง ไปเอาที่นั่นเถอะโยม ”
ปิดตาพังพกาฬ เนื้อผงมหาว่าน (สีเหลือง)
ปิดตาพังพกาฬ เนื้อผงมหาว่าน (สีขาว)

ปิดตาพังพกาฬ เนื้อก้นครก
ปิดตาพังพกาฬ เนื้อผงมหาโชค (สีแดง ปัดทอง)
หลวงพ่อสืบ ปฏิบัติรับใช้หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน ได้ 1 ปี ได้เรียนวิชาก้าวหน้าพอสมควร จิตใจเกิดรุ่มร้อน อยากจะลองวิชาที่เรียนมาว่าเป็นอย่างไรกันแน่ อยู่ไม่ได้ตัดสินใจลาสิกขา นึกถึงคำพูดของเพื่อนว่า

“ เป็นลูกผู้ชายต้องเป็นทหารกล้า ”

ปิดตาพังพกาฬ เนื้อผงใบลาน
(สีดำ ปัดทอง)
ปิดตาพังพกาฬ เนื้อผงมหาลาภ (สีเขียว ปัดทอง)
จากนั้นบ่ายหน้าไปสอบเข้าเรียนโรงเรียนนายสิบทหารม้ายานเกราะ รุ่น 5 รุ่นเดียวกับ พ.ท.ทองสุข เก่งศิริ, พ.อ.นคร ธีระเนตร, พ.อ.ประสาน รักปทุม จบจากโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ได้รับยศสิบโท “ หน่อปั้ง ” หรือ “ สองแง่ง ” ไปสังกัดกองพันทหารม้ายานเกราะสระบุรี ใช้ชีวิตลูกผู้ชายคุ้มค่าโลดโผนโจนทะยาน เข้า-ออกคุกทหารเป็นประจำจนเบื่อหน่ายเต็มที่ หันหน้ากลับท้องทุ่งท่าพญา นครชัยศรี ไปพบหลวงพ่อม้วนซึ่งสมัยบวชครั้งแรกเป็นคู่สวด ขณะนั้นเป็น “ พระครูอินทสิริชัย ” ระบายความในใจว่าชีวิตฆราวาสมีแต่ทุกข์สับสนวุ่นวายกิเลสตัณหามากมาย แก่งแย่งชิงดีมีแต่อิจฉาริษยา ได้ไปทดลองท่องดินแดนฆราวาสมานานหลายปี รับรู้รสชาติหมดทุกอย่างมิใช่หนทางแห่งการสิ้นทุกข์ มีแต่ทุกข์เพิ่มขึ้นเหมือนอยู่ในวังวนแห่งกิเลส ปรึกษากับ “ หลวงพ่อม้วน ” แล้วจึงตัดสินใจบวชอีกครั้ง ครั้งนี้จะใช้ชีวิตบรรพชิตจนชีวิตจะหาไม่

หลวงพ่อม้วน วัดไทร
อาจารย์หลวงพ่อสืบ
ตะกรุดนวหรคุณ เกื้อหนุนชีวิต
เนื้อทองแดง ร้อยไหมเบญจพรรณ
จึงอุปสมบทในปี พ.ศ.2514 โดยมี พระครูอินทสิริชัย (ม้วน อินทสุวัณโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการง้อ ปัญญาธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “ ปริมุตโต ” จำพรรษาอยู่วัดไทร ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมจนแตกฉาน สามารถสอบนักธรรมตรี-โท-เอก ได้โดยลำดับในปี พ.ศ.2518 แล้วหันมาสนใจเวทวิทยาคมระลึกถึงภูมิเก่าวิชาที่ได้รับมาจากหลวงพ่อห่วง วัดท่าใน ทบทวนจนแม่นยำและศึกษาเพิ่มเติมจาก “ หลวงพ่อม้วน ”

ตะกรุดนวหรคุณ เกื้อหนุนชีวิต
เนื้อทองแดง ร้อยไหมเบญจพรรณ
“ หลวงพ่อม้วน ” วัดไทร องค์นี้เป็นศิษย์พุทธาคมของพระครูอุตรการบดีหรือหลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชามาจาก “ หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ” ผู้สร้างพระปิดตา เนื้อเมฆพัด ได้ขลังโด่งดัง เป็นพระปิดตาอันดับหนึ่งของเมืองไทย หลวงพ่อม้วนเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อสุข หนึ่งในสาม อีกสององค์คือ หลวงพ่อเต้า วัดเกาะวังไทร และ หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม หลวงพ่อม้วน วัดไทร องค์นี้ขลัง ดังเงียบ วัตถุมงคลของท่านสร้างน้อย แจกยาก เลือกคนแจกไม่ได้ให้ง่ายๆ จึงไม่แพร่หลาย แต่เหนียวเหลือเกิน

“ หลวงพ่อสืบ ” ได้ศึกษาวิชามาจากหลวงพ่อม้วนอีกทางหนึ่ง เมื่อมารวมกับหลวงพ่อห่วง วัดท่าใน แล้วก็มีวิชามามากพอตัว จัดว่าท่านเป็นศิษย์สืบสายวิชามาจาก “ หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ” สหธรรมกับ “ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ” อัธยาศัยของ หลวงพ่อสืบ เป็นคนมีจิตใจนักเลงติดตัวมาตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาส จึงมีจิตใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ผู้ที่มีจิตใจเช่นนี้ จึงทำของได้ขลัง เพราะมีจิตกล้าแข็งเป็นหนึ่งเดียว ทำให้มีพลังเกิดขึ้นได้ แต่ก็ซ่อนเร้นเหมือน “ เสือซ่อนเล็บ ” หรือ “ สิงห์สิงถ้ำ ” ไม่เคยทำวัตถุมงคลใดๆ ให้ใครทั้งสิ้น

ปิดตาพังพกาฬ เนื้อผงมหาลาภ (สีเขียว)
ปิดตาพังพกาฬ เนื้อผงใบลาน (สีดำ)
พรรษานี้ “ หลวงพ่อสืบ ” ท่านนึกขลังขึ้นมาอยากให้ชาวบ้านมาร่วมทำบุญพัฒนาวัดท่านจึงตัดสินใจสร้าง “ ตะกรุดนวหรคุณ เกื้อหนุนชีวิต ” ร้อยด้วยไหม “ เบญจพรรณ ” จารด้วยมือ ซุ่มสร้างซุ่มทำอยู่ตลอดพรรษาได้ตะกรุดชั้นเยี่ยมมากมายหลายดอก จะออกให้ทำบุญในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2550 ใครอยากได้ต้องรีบไปรับกับมือที่ วัดสิงห์

พระพุทธสีหโรจนชัยเนื้อผงใบลาน (สีดำ)
พระพุทธสีหโรจนชัย
เนื้อผงมหาโชค (สีแดง)
พระพุทธสีหโรจนชัย เนื้อผงพุทธคุณ (สีขาว)
พระพุทธสีหโรจนชัย เนื้อก้นครก
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 นี้ “ หลวงพ่อสืบ ” จะทำพิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ โดยได้รวบรวมผงและมวลสารศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านได้สะสมมาตลอดชีวิตที่ผ่านมา สร้างเป็น พระพิมพ์สมเด็จ พระปิดตา และจตุคามรามเทพ ขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อให้ชาวบ้านทำบุญในการพัฒนาวัดสิงห์ให้มั่นคงสืบไป ส่วน “ ตะกรุดนวหรคุณ เกื้อหนุนชีวิต ” นั้น ท่านจะนำเข้าพิธีครั้งนี้ด้วย ท่านผู้อ่านที่มีความประสงค์จะร่วมสร้างบุญกุศลกับ หลวงพ่อสืบ วัดสิงห์ ก็เดินทางไปได้ โดยวัตถุมงคลชุดนี้จะให้ทำบุญ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นวันที่มีพิธีทอดกฐินประจำปีของ วัดสิงห์

สมเด็จผงพุทธคุณ หลังสิงห์
“ หลวงพ่อสืบ วัดสิงห์ ” วันนี้อายุ 75 ปี เป็นพระเถระอีกองค์หนึ่งของ อำเภอนครชัยศรี ที่มีวัตรปฏิบัติน่าศรัทธาเลื่อมใส ท่านมีโอกาสควรเดินทางไปกราบไหว้หรือทำบุญกับท่าน ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ เดินทางไปง่ายสะดวก จากกรุงเทพฯตามถนนเพชรเกษม กม. ที่ 43 ถึงวัดท่าตำหนัก ฝั่งซ้ายมือมีทางแยกเข้าวัดบางแก้ว ผ่านวัดบางแก้ว ( วัดบางแก้ว วัดนี้มิใช่วัดกลางบางแก้ว ) ก็ถึง วัดสิงห์
หลวงพ่อสืบ วัดสิงห์ มีของดีคอยท่านอยู่นั่นแล้ว ”

ชนวนและมวลสารที่ใช้สร้าง “ พระพุทธสีหโรจนชัย ” “ ท้าวจตุคามรามเทพ ” “ พระปิดตาพังพกาฬ ” “ พระเจดีย์อิศวรนวโกฏิ ” “ รุ่นเศรษฐีนวโกฏิ” และ “ตะกรุดนวหรคุณเกื้อหนุนชีวิต มงคล 9 ร้อยไหมเบญจพรรณ ” วัดสิงห์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐมหลวงพ่อห่วง วัดท่าใน อาจารย์หลวงพ่อสืบ

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  1986 ปักษ์แรก เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 :  “ ศิษย์สายพุทธาคม หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ” หลวงพ่อสืบ วัดสิงห์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ภาพและเรื่องโดย สุธน ศรีหิรัญ )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 






Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์  #หลวงพ่อสืบ #วัดสิงห์ #อ.นครชัยศรี #นครปฐม