ภาพและเรื่องโดย ชายนำ ภาววิมล
ปี ๒๕๓๒ ผู้เรียบเรียงขอโอนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ป.ป.ส. ) ไปรับราชการที่กองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน ( ขณะนั้น กรมแรงงานเป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ) การโอนมารับราชการที่กรมแรงงานเป็นช่วงจังหวะที่ทำให้มีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับนักนิยมพระเครื่องอาวุโสหลายท่าน อาทิ คุณจุฑาธวัช อินทรสุขศรี อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน, คุณสุธน ศรีหิรัญ บรรณาธิการนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าไปสัมผัสรับรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อนอกเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุงรูปหนึ่ง พระเกจิอาจารย์ที่ไม่เป็นสองรองใครในหมู่เหล่าของพระเกจิ อาจารย์สายเขาอ้อหลังยุค พระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา, พระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม วัดเขาอ้อ, หลวงพ่อหมุน ยสโร วัดเขาแดงตะวันตก, หลวงพ่อคง สิริมโต วัดบ้านสวน ทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างพระเครื่องชุด หลวงพ่อแดง พุทโธ ปี ๒๕๑๑ คู่กับ อาจารย์ชุม ไชยคีรี พระเกจิอาจารย์รูปนี้คือ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม พระเกจิอาจารย์ เมืองหลังสวน ที่เชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคมหลากหลายแขนง อาทิ การเป่าทองเข้าตัว น้ำมนต์ดอกบัวทอง การลบผงทำผงพุทธคุณต่างๆ เช่น ผงทะลุกระดาน ผงนอโมเข้าห้อง เมื่อละสังขารไปแล้ว สังขารของท่านก็ไม่เน่าไม่เปื่อย
 |
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อคล้อย ฐานธมฺโม |
๗ ปีกว่า ( ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓-๒๕๓๙ ) ที่มีโอกาสใกล้ชิดและแบ่งเบาภาระ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในการเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต พระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน การจัดสร้างครั้งนี้เป็นแนวความคิด คุณสุธน ศรีหิรัญ ที่ได้เคยตกลงกับพ่อท่านเอาไว้ สมัยเมื่อเดินทางไปพบท่านครั้งแรก กับ คุณประกอบ กำเนิดพลอย ว่าจะพยายามหาทุนสร้างโบสถ์ให้ จนต่อมา คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ ได้เข้ามาร่วมสมทบ โดยคุณสุธน ศรีหิรัญ ได้นำเอารูปแบบ “ พระกริ่งทักษิณชินวโร ” ที่เคยร่วมสร้างกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระ องค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และ คุณประกอบ กำเนิดพลอย ถวายพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ที่วัดดอนศาลา พัทลุง โดยเอาเค้าต้นแบบมาจากพระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย ที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้มาจากภาคใต้ในอดีต โดยได้ดัดแปลงจากปางมารวิชัยมาเป็นปางประทานพร ส่วนชื่อนั้น คุณสุธน ศรีหิรัญ ได้นำเอาฉายาของ หลวงพ่อคล้อย คือ “ ฐานธัมโม ” มาผนวกกับชื่อ วัดถ้ำเขาเงิน เป็น “ พระพุทธฐานธัมโมหิรัญบรรพต ” อันมีความหมายว่า “ ธรรมของพระ พุทธองค์ได้หลักปักฐาน ณ ภูเขาเงินแล้ว ” นอกจากนั้นยังได้เชิญ พล.ต.อ.มนัส ครุฑธไชยันต์ มาเป็นประธานหล่อ ณ วัดถ้ำเขาเงิน โดยมีบรรดาลูกศิษย์และประชาชนมาร่วมพิธีจำนวนมาก
 |
โบสถ์วัดถ้ำเขาเงิน ผลงานของหลวงพ่อคล้อย |
นอกจากนั้นได้สร้าง “ พระพุทธฐานธัมโมหิรัญบรรพต ” ขนาดบูชา 9 นิ้ว และ เหรียญธัมโมหิรัญบรรพต ไว้ด้วย โดยทำพิธีพุทธาภิเษกในโบสถ์หลังเก่า มีคณาจารย์เขาอ้อมาจากพัทลุงร่วมพิธีในงานนั้น หลวงพ่อคล้อย วัดถ้ำเขาเงิน ได้ร่วมกับ พระครูกาชาด ( บุญทอง ) วัดดอนศาลา ทำพิธีหุงข้าวเหนียวดำ แจกผู้เดินทางไปร่วมงานพุทธาภิเษกด้วย และเคยร่วมสร้างวัตถุมงคลและพระเครื่องรุ่นต่างๆ กว่าสิบพิมพ์ ตลอดทั้งการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในนิตยสารพระเครื่องหลายต่อหลายฉบับ หนังสือ “ ชีวประวัติและภาพพระเครื่องหลวงพ่อคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ” ( เล่มหน้าปกสีแดง ) โดยใช้นามปากกาว่า “ ศิษย์พ่อหลวง ” ล่าสุดเปิดกลุ่มสาธารณะในเฟสบุ๊ค “ เกียรติคุณ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน ” สิ่งที่ทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ มาถึงทุกวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติ ปฏิปทาวัตรปฏิบัติและข้อมูลเชิงลึก ที่เป็นเบื้องหลังการจัดสร้างวัตถุมงคล/พระเครื่องรุ่นสำคัญๆ ของ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ยอดพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำ หลังสวน ข้อมูลดังกล่าวมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและพยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ วัตถุมงคล/พระเครื่องและรับรู้เรื่องการจัดสร้างวัตถุมงคล/พระเครื่องของศิษย์สายต่างๆ การนำเสนอชีวประวัติของ ท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในนิตยสารพระเครื่อง ลานโพธิ์ ฉบับนี้ แม้มิใช่บทความที่สามารถนำเสนอรายละเอียดและข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในโลกอุดมคติได้ แต่อย่างน้อยที่สุด บทความที่ สุธน ศรีหิรัญ บรรณาธิการ นิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ มอบหมายให้ผู้เรียบเรียงรวบรวมและนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องฉบับนี้ คงเป็นแนวทางการศึกษาค้นคว้า เล่นหาสะสมวัตถุมงคล/พระเครื่องที่ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จัดสร้างได้อย่างถูกต้อง
หลังสวน : จากชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็ก และท่าเรือข้ามคาบสมุทร สู่เมืองผลไม้ที่หลากหลาย
 |
พระปิดตามหาลาภ |
เมืองหลังสวน เมืองต้นกำเนิดของตำนานการสร้างยอดพระเครื่องสายเขาอ้ออันเกรียงไกรที่อยู่นอกเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน ทราบแต่ว่าลุ่มน้ำ หลังสวน เป็นแหล่งที่มนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยข้อจำกัดที่เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ และมีพื้นที่ราบลุ่มน้อย เป็นเหตุให้ชุมชนในอาณาบริเวณนี้ไม่สามารถขยายตัวเป็นชุมชนเกษตรขนาดใหญ่เฉกเช่น เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง หลังสวน ในอดีต จึงมีฐานะเป็นเพียงชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กและชุมชนท่าเรือข้ามคาบสมุทร ที่มีพัฒนาการของความเป็นเมืองควบคู่มากับเมืองชุมพร ทั้งมีฐานะเป็นเพียงเมืองบริวารของเมืองชุมพร ประเด็นที่ว่า “ เป็นชุมชนท่าเรือข้ามคาบสมุทร ” เป็นประเด็นคำถามทางภูมิประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษามาก พิจารณาจากแผนที่ภาคใต้ของราชอาณาจักรไทย เขตพื้นที่ชุมพร–ระนอง แถบลุ่มน้ำ หลังสวน เขตพื้นที่ที่แคบที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน รายละเอียดที่แท้จริงเป็นอย่างไรคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักภูมิศาสตร์นักประวัติศาสตร์ว่ากันไปตามวิชาชีพของเขา แต่มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่สันนิษฐานได้ว่า เมืองหลังสวน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ก่อรากสร้างฐานมานาน แต่ไม่ค่อยมีบทบาทและความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากนัก เพิ่งมาเป็นเมืองในเส้นทาง ยุทธศาสตร์การรบระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเริ่มปรากฏชัดว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 |
เจดีย์วัดถํ้าเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร |
ชื่อเมือง “ หลังสวน ” มีที่มาที่ไปอย่างไร ยังไม่สามารถสืบค้นพยานหลักฐานใดมายืนยันหรือตอบคำถามได้อย่างชัดเจน เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่เชื่อสืบต่อกันมา ข้อสันนิษฐานแรก “ หลังสวน ” มาจากคำว่า “ รังสวน ” หรือ “ คลังสวน ” ทั้งสองคำมีความหมายคล้ายคลึงกัน นัยคือเป็นที่รวมของผลไม้นานาชนิด มิใช่ว่ามีเพียงผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะ เมืองหลังสวน มีผลไม้แทบทุกชนิดที่ภาคใต้มีและมีตลอดทั้งปี ต่างจากเมืองอื่นๆ ที่มีผลไม้เพียงไม่กี่ชนิด บางเมืองมีเพียงชนิดเดียว ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของ หลังสวน มีดังนี้ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลางสาด ละมุด ลูกจัน กล้วย เป็นต้น ข้อสันนิษฐานนัยนี้ วิกิพีเดีย นำเสนอไว้ว่า “ ...กระทรวงคมนาคมจึงได้สันนิษฐาน ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ว่า หลังสวน น่าจะเพี้ยนมาคำว่า รังสวน หรือ คลังสวน ซึ่งหมายถึง แหล่งหรือที่รวมของผลไม้ทุกชนิดนั่นเอง ” ข้อสันนิษฐานที่สอง มีนัยไปในทิศทางเดียวกันคือเป็นชื่อที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลไม้ นัยนี้มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อเมืองมาจากคำว่า “ บ้านหลังสวน ” มีที่มา ๓ ประการ คือ
๑) ทุกบ้านใน เมืองหลังสวน ปลูกต้นไม้ไว้จนไม่สามารถมองเห็นบ้านเรือน จึงมีผู้สงสัยว่าบ้านเมืองนี้หายไปไหน จึงมองไม่เห็น คำตอบคือ “ บ้านอยู่หลังสวน ” ความหมายคือหน้าบ้านเป็นสวน ต่อมากร่อนเหลือแค่ “ หลังสวน ”
๒) มาจากคำว่า “ หลังบ้านมีสวน ” เป็นความหมายที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคน หลังสวน ในสมัยก่อนว่า ทุกบ้านมีสวนของตนเอง แม้บ้านเจ้านายในสมัยก่อนก็มีสวนผักสวนผลไม้เช่นเดียวกัน
๓) เป็นอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่วิกิพีเดียนำเสนอว่า “ เมื่อครั้งที่พระยาอุปกิตศิลปสารเดินทางไปตรวจราชการที่ เมืองหลังสวน ก็ได้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า “ หลังสวน ” ดังนี้
 |
พระสมเด็จผงใต้ดาน ขมิ้นเสกสีชมพู |
....คำว่า หลังสวน จะผิดหรือถูก ขอฝากไว้ที่นี้ด้วย คือ ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ไม่เห็นมีบ้านเรือนเหมือนอย่างแม่น้ำเรา มีแต่สวนครึ้มทั้งสองฟาก มีแต่ทางขึ้นลงจากแม่น้ำเท่านั้น ถามผู้แจวเรือว่าแถวนี้ไม่มีบ้านดอกหรือ เขาตอบว่ามีแต่อยู่หลังสวนขึ้นไป ภายหลังข้าพเจ้าไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น ก็ได้เห็นจริงตามที่เขาพูด จึงสันนิษฐานว่า เมืองหลังสวน คงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป...
นอกจากข้อสันนิษฐานที่มาจากลักษณะทางภูมิสังคมของ เมืองหลังสวน ดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งที่ผู้เรียบเรียงพบเห็นจากกระดาษอัดสำเนาที่ “ เมือง เมืองชุมพร ” เป็นผู้มอบให้เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ข้อสันนิษฐานนี้มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า “ หลังสวน ” มาจากคำว่า “ ล้างสวด ” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของแม่น้ำ หลังสวน (คลองล้างสวด) เหตุที่ใช้ชื่อนี้มีผู้สันนิษฐานว่า
 |
ป้ายจารึกที่ฐานเจดีย์ วัดถํ้าเขาเงิน |
“ เมื่อปี ๒๔๕๒ พม่ายกทัพมาตีเมืองชุมพร แม่ทัพพม่าชื่อว่า ดุเรียงสาระกะยอ เมื่อตีเมืองชุมพรได้แล้ว ยกทัพเลยไปตี หลังสวน ตั้งทัพที่ริมน้ำบริเวณแหลมทราย ปัจจุบันมีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า “ บ้านทัพยอ ” เข้าใจว่าตัดมาจากคำว่า “ ดุเรียงสาระกะยอ ” คงเหลือเป็นบ้านทัพยอ คือ หมู่บ้านที่ดุเรียงสาระกอตั้งทัพนั่นเอง เมื่อกองทัพของดุเรียงสาระกะยอพักไพร่พลรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ได้นำสวดสำหรับนึ่งข้าวในสมัยนั้นลงไปล้างในคลอง ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกคลองนั้นว่า “ คลองล้างสวด ” เมื่อนานเข้าจึงเพี้ยนเป็น “ คลองหลังสวน ” ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อ เมืองหลังสวน ที่เพี้ยนมาจากคำว่า คลองล้างสวด เป็นข้อสันนิษฐานที่มีลักษณะแปลกแยกไปจากข้อสันนิษฐานอื่นๆ เท็จจริงเป็นประการใด คงไม่ใช่สาระสำคัญที่ต้องหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเวทีนี้ แต่ก็ต้องแสดงความเห็นประกอบเรื่องที่เรียบเรียงเช่นกัน ในทัศนะส่วนตัวแล้ว ผู้เรียบเรียงให้ความสำคัญหรือน้ำหนักกับข้อสันนิษฐานนี้น้อยมาก เพราะการกล่าวอ้างปีที่เกิดเหตุมีการพิมพ์ผิดพลาด จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ประวัติศาสตร์ที่อ้างเป็นการรบระหว่างไทยกับพม่าครั้งที่ ๔๒ เหตุเกิดในปี ๒๓๕๒ การรบครั้งนี้ ดุเรียงสาระกะยอ ยกมาตีเมืองมะลิวัน (เกาะสองหรือวิกตอเรียพ้อยท์) ระนอง และกระบี่ ก่อนมาตีเมืองชุมพร ยังไม่ทันได้ตีทัพไทยก็ยกลงมาถึงและตีทัพดุเรียงสาระกะยอแตกในวันเดียว ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ความเชื่อถือส่วนบุคคลที่มีต่อข้อสันนิษฐานนี้ลดลงไปมาก”
ความสำคัญและการเจริญเติบโตของ เมืองหลังสวน ชุมชนเก่าของ เมืองหลังสวน กระจายอยู่ในเขตพื้นที่ ๓ ตำบล ประกอบด้วย แหลมทราย ท่ามะพลา พ้อแดง ดังสังเกตได้จากบ้านเรือนในชุมชนดังกล่าวซึ่งเป็นแบบเค้าเดิมของสถาปัตยกรรมพื้นเมือง เดิมคน หลังสวน ปลูกพืชผลไม้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบ้างแต่ไม่ได้เป็นเรื่องของการค้าขายเชิงพาณิชย์ นอกจากการปลูกพืชผลไม้พื้นบ้าน ก็มีการทำประมง ไสกุ้ง ( ทำกะปิ ) ทำน้ำตาลโตนด เจาะน้ำตาลทำไต้จุดไฟ ตัดไม้ไผ่ตัดหวาย ทอผ้า ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสันโดษ มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจน้อยมาก ต่อเมื่อคนจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ใน เมืองหลังสวน จึงมีการค้าขายโดยการนำสินค้าต่างๆ อาทิ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ผ้า ด้าย เกลือ ข้าว สินค้าพื้นเมือง ( หมากแห้ง หวาย ) บรรทุกเรือสำเภาไปขายที่ภาคกลาง เกิดชุมชนค้าขาย ๓ แห่ง คือ บ้านปากน้ำหลังสวน บางยี่โร และ วังตะกอ วังตะกอเป็นชุมชนค้าขายที่อยู่ลึกเข้าไปทางต้นน้ำ หลังสวน สมัยก่อนแม่น้ำ หลังสวน มีร่องน้ำลึก เรือสินค้าสามารถแล่นเข้าไปถึงวังตะกอได้ ต่อมามีการขุดแร่ดีบุกทางต้นน้ำ หลังสวน เป็นเหตุให้แม่น้ำ หลังสวน ตื้นเขิน
 |
อาศรมหลวงพ่อแดง พุทโธ วัดถํ้าเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร |
 |
รูปปั้นหลวงพ่อแดง พุทโธ วัดถํ้าเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร |
 |
ลายแกะสลัก พระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” |
เมืองหลังสวน เริ่มมีการพัฒนาและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี ๒๓๙๙ พระยารัตนเศรษฐี ( บรรดาศักดิ์ของ คอซู้เจียง ณ ระนอง ในขณะนั้น ) ขยายการจัดเก็บภาษีดีบุกแบบผูกขาดเหมาเมือง เข้าไปในเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับเมืองชุมพร ประกอบด้วย เมืองท่าแซะ เมืองตะโก และ เมืองหลังสวน จากแหล่งชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กพัฒนาไปเป็นเมืองเกษตรพาณิชยกรรมที่มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจสูงมาก จนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อราชสำนักในพระนคร ต่อมาในปี ๒๔๒๐ กรมการเมืองต้มน้ำกระแช่กินกันเองและตั้งตนเป็นโจรอั้งยี่ทำการปล้นสะดม เรียกว่า “ ยี่หินหัวควาย ” ทางราชสำนักจึงแต่งตั้ง พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) จางวางเมืองระนองเป็นผู้จัดการ เมืองหลังสวน เมื่อเหตุการณ์สงบลงทางราชสำนักจึงมอบกิจการของตระกูล ณ ระนอง ใน เมืองหลังสวน ให้ พระยาจรูญโภคากร ( คอซิมเต็ก ณ ระนอง ) เป็นผู้ดูแลและจัดการโดยตรง
 |
หลวงพ่อคล้อย ฐานธมฺโม |
ในสมัยที่ พระยาจรูญราชโภคา ( คอซิมเต็ก ณ ระนอง ) เป็นเจ้า เมืองหลังสวน มีการดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการต่างๆ ในเมือง อาทิ การปฏิรูปภาษีแบบผูกขาดเหมาเมือง การปักปันเขตแดนระหว่าง เมืองหลังสวน แขวงเมืองที่ขึ้นตรงต่อ เมืองหลังสวน เมืองชุมพร และเมืองระนอง การส่งเสริมการค้า การทำเหมืองแร่ ด้วยการจัดตั้งโรงภาษีและการชักชวนคนจีนให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินใน เมืองหลังสวน ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของ เมืองหลังสวน เจริญเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผลประโยชน์จากการพัฒนาและเจริญเติบโตของ เมืองหลังสวน การจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ อาทิ ส่วยแร่ดีบุก เงินอากรค่านา ภาษีอากรดีบุก ภาษีฝิ่น อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย และเงินค่าน้ำ ที่ เมืองหลังสวน จัดส่งให้กับพระคลังในช่วงระหว่างปี ๒๔๒๑-๒๔๓๐ เพิ่มขึ้นจากเดิม ๑๐๘ ชั่ง เป็น ๒๒๙ ชั่ง และในปี ๒๔๒๙ เมืองหลังสวน นเริ่มต้นจัดเก็บภาษีชนิดอื่นเพิ่มขึ้น อาทิ ภาษีศุลกากร ภาษีสุกรตาย เงินผูกปี้จีน ผลพวงจากการพัฒนาที่เกิดขึ้น นอกจากราชสำนักได้รับประโยชน์โดยตรงจากภาษีอากรดังกล่าวแล้ว ชาว เมืองหลังสวน เองก็ได้รับประโยชน์โดยตรงเช่นกัน ดังคำกล่าวของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ครั้นเสด็จประพาส เมืองหลังสวน ในปี ๒๔๒๗ ว่า
“ ตั้งแต่พระยารัตนเศรษฐี จางวางเมืองระนองมาจัดการครั้งก่อน บ้านเมืองเรือกสวน ไร่นา การค้าขายเจริญขึ้นมาก ราษฎรตั้งหน้าทำมาค้าขาย เพราะเป็นเมืองที่เพิ่งจะรื้อบำรุงใหม่ พระยารัตนเศรษฐีและพระ หลังสวน ก็ตั้งหน้าแต่จะบำรุงบ้านเมืองและราษฎรให้มีความสุขความเจริญขึ้นอย่างเดียว ให้ออกทุนสร้างถนน สร้างสวน สร้างตึก/โรงเรือนตลาดใน เมืองหลังสวน ”
 |
บริเวณหน้าถํ้าเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ภายในถํ้าเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ |
เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครอง ทรงจัดตั้งมณฑลชุมพรขึ้นในปี ๒๔๓๙ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นมณฑลทำนุบำรุงการค้า โดยรวมเมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา และเมืองกาญจนดิษฐ์ เป็นมณฑลชุมพร ในช่วงนี้เป็นช่วงที่การค้าใน เมืองหลังสวน มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ปริมาณการส่งสินค้าเข้าและออกสูงเป็นอันดับสองรองจากเมืองกาญจนดิษฐ์ ทั้งเป็นเมืองเดียวในมณฑลชุมพรที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของเมือง เป็นยุคสมัยที่มีการสำรวจ ให้สัมปทานแต่ชาวตะวันตกและชาวจีนเป็นจำนวนมาก
ที่สาธยายมาตั้งแต่ต้น อาจมีผู้ตั้งคำถามว่า “ แล้วไหง... ” ไม่เห็นมีอะไรหรือส่วนใดเกี่ยวข้องกับตำนานยอดพระเครื่อง เมืองหลังสวน แต่ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นกันอย่างลึกซึ้ง คงปฏิเสธมิได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ เมืองหลังสวน น่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาส เมืองหลังสวน ในปี ๒๔๓๒ หรือ ร.ศ.๑๐๘ ทรงจารึกพระนามภิไธยย่อ “ จปร. ” ที่ผนังถ้ำเขาเอน ทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์บนชะง่อนหินข้างทางเข้าถ้ำเขาเอน และทรงเปลี่ยนชื่อ “ ถ้ำเขาเอน ” เป็น “ ถ้ำเขาเงิน ”
นี่คือความเป็นมาที่สำคัญยิ่งของ วัดถ้ำเขาเงิน ซึ่งเป็นที่จุดกำเนิดของตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1172 พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถํ้าเขาเงิน ตำนานยอดพระเครื่อง เมืองหลังสวน ปักษ์แรก เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ราคาปก 60 บาท )
วันนี้! อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้
สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า..
Available Now! You can read whenever, wherever with any device.
#ลานโพธิ์ #พ่อท่านคล้อย #วัดถ้ำเขาเงิน #เมืองหลังสวน