“ สุดยอดเกจิอาจารย์แห่งเมืองปทุมธานี ” พระครูบวรธรรมกิจ ( เทียน ) วัดโบสถ์ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

ภาพและเรื่องโดย..มนตรี โทณะวณิก


หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์
“ ถ้าเอ็งเป็นคนดีมีศีลธรรมต่อให้มีแค่เพียงชิ้นส่วนที่แตกหักของพระเครื่องที่ข้าปลุกเสกเอาไว้ขนาดเพียงเสี้ยวเม็ดงา พระเครื่องของข้าก็จักคุ้มครองเอ็งมิให้มีชีวิตที่ตกต่ำ แต่ถ้าเอ็งเป็นคนชั่วสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ต่อให้มีพระเครื่องของข้าแขวนอยู่เต็มคอมันก็ไม่ช่วยให้เอ็งรอดพ้นจากวิบากกรรมที่ก่อเอาไว้ได้ ไม่ต่างอะไรกับเศษอิฐเศษปูน ต่อเมื่อเปลี่ยนมือไปอยู่กับคนดีพุทธคุณในพระเครื่องของข้าจะกลับคืนมาเหมือนเดิม ”

ย้อนหลังไปเมื่อสัก ๖๐ ปีก่อน เมื่อเอ่ยชื่อของ พระครูบวรธรรมกิจ หรือ หลวงปู่เทียน แห่ง วัดโบสถ์ขึ้นมา ในหมู่ผู้ที่นิยมสะสมพระเครื่องหรือแม้แต่ชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่มีใครไม่รู้จักท่าน ถ้าจะเทียบเคียงกับเกจิที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ก็คงระดับเดียวกับ หลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่นั่นเอง พระเครื่องของท่านมีคนต้องการเช่าบูชากันมาก เพราะเชื่อกันว่าใครก็ตามที่ได้บูชาพระเครื่องของท่านจะพลิกชีวิตได้ จากคนธรรมดาก็จะมั่งมีเงินทอง จากคนใกล้ล้มละลายก็จะพลิกฟื้นกลับมา ส่วน ตะกรุดโทนมหารูด ของท่านนั้นก็นิยมในหมู่ทหาร ตำรวจ ที่ใช้ชีวิตแบบเสี่ยงภัย รวมไปถึงพวกที่ชอบใช้ชีวิตแบบนักเลงในยุคนั้นด้วย

เชื่อกันว่าใครมีตะกรุดโทนท่านคาดเอว อาวุธปืนก็เหมือนท่อนไม้ เพราะไม่สามารถยิงคนที่คาดตะกรุดของท่านได้ ช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๖ ทองคำหนัก ๑ บาท ราคาอยู่ที่ ๔๐๐ บาท พระสมเด็จ ที่ทางวัดโบสถ์ ตั้งราคาให้เช่าบูชานั้นสูงถึง องค์ละ ๕๐ บาท แต่ก็มีคนเช่าบูชาไปจนหมด ภายในปีนั้นจากราคา ๕๐ บาท กลายเป็น ๕๐๐ บาทและไปถึง ๑,๕๐๐ บาทในช่วงปลายปี ซึ่งราคาแพงกว่าพระนางพญากรุเมืองพิษณุโลกที่เป็น ๑ ใน ๕ ของพระเบญจภาคีเสียอีก ยุคนั้นพระนางพญาสวยๆ ราคาเพียง ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท พระสมเด็จของท่านจะเป็นรองก็แค่สมเด็จวัดระฆังและสมเด็จกรุบางขุนพรหมเท่านั้น ส่วน ตะกรุดโทนมหารูด ๑๐๘ นั้นราคาเช่าบูชาอยู่ที่ ๑๕๐ บาท แพงกว่าสมเด็จถึงสามเท่าตัว


เหรียญรุ่นแรก พระธรรมธราจารย์
(อ่อน ปุญณุตฺตโม)
เมื่อพระเครื่องของท่านมีราคาแพงจึงมีพระปลอมออกมาสนองความต้องการของผู้ที่ยากจะได้กันมาก จะเรียกว่าพระเก๊นั้นมีมากกว่าพระแท้เสียด้วยซ้ำ หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้วมีเรื่องเล่ากันว่า มีชายผู้หนึ่งเก็บเงินสะสมมาจนมากพอจากนั้นไปเช่าบูชาพระเครื่องของท่านในสนามพระแห่งหนึ่งมาบูชา ต่อมาภายหลังจึงรู้ว่าพระที่ตนเช่ามานั้นไม่แท้จะเอาไปคืนที่สนามพระ แต่คนขายก็เหมือนนกรู้ไม่อยู่เสียแล้ว ตนเองนั้นรู้สึกเสียใจมากจึงเดินทางมาที่ วัดโบสถ์ เข้าไปที่มณฑปที่มีรูปเหมือนของ หลวงปู่เทียน อยู่ จากนั้นจึงตัดพ้อต่อหน้ารูปหล่อท่านว่า ตัวเองนั้นเก็บเงินมาตั้งนานเพราะศรัทธาอยากเช่าพระเครื่องของหลวงปู่มาบูชาติดตัว ทำไมหลวงปู่ถึงไม่ช่วยให้ตนเองได้ครอบครองพระแท้ๆ แต่กลับให้คนมาหลอกเอาพระเก๊มาขาย ถ้าหลวงปู่ไม่เห็นใจในศรัทธาของตนเองก็จะเลิกนับถือหลวงปู่ จากนั้นจึงเอาเหรียญเก๊ที่เช่ามาวางที่พื้น แล้วควักปืนสั้นที่พกติดตัวขึ้นมาจ่อไปที่เหรียญเก๊เหรียญนั้นแล้วจึงลั่นไกออกมา ปรากฏว่ามีแต่เสียงดัง แชะๆ ปืนด้านยิงไม่ออก เจ้าตัวถึงกับชะงักก่อนเก็บปืน และขอขมาต่อหน้ารูปหล่อของ หลวงปู่เทียน แล้วนำเหรียญเก๊ที่ว่าเลี่ยมห้อยคอมาตลอดนับจากนั้น 


พระสมเด็จพิมพ์วัดเกศ 9 ชั้น พิมพ์ใหญ่
พระเก๊ของท่านนั้นมีมานานมาก สมัยนั้นเล่นหากันสับสนจนทำให้ความนิยมในพระเครื่องของท่านเริ่มเสื่อมถอยลง แม้แต่ตัวผู้เขียนเองเมื่อเรียนจบมาใหม่ๆ  มีเงินเดือนแล้วไม่ต้องขอทางบ้าน อยากสะสมพระเครื่องของท่านจึงเช่าหาเอาไว้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๔ จากเซียนท้องถิ่น เรียกว่ามีเต็มกล่อง แต่ปรากฏว่ามารู้ทีหลังว่าเป็นพระเก๊ทั้งหมด จากนั้นจึงพยายามเสาะหาจากคนรุ่นเก่าแทน พร้อมทั้งสอบถามประวัติความเป็นมาบันทึกเก็บเอาไว้ หนึ่งในนั้นก็คือ ลุงธนิศร์ ธีระพงษ์ อดีตข้าราชการไฟฟ้าเก่าที่สมัยเป็นเด็กวัยรุ่นยังทันหลวงปู่และรับรู้เรื่องราวของท่านจากญาติพี่น้อง ที่หลายคนก็มีศักดิ์เป็นหลานของ หลวงปู่เทียน อีกที ช่วงสิบปีหลังมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสค้นคว้าเอกสารสำคัญหลายอย่าง จึงทำให้เข้าใจในความเป็นมาของสายวิชาท่านมากขึ้น เมื่อทาง นิตยสารลานโพธิ์ ติดต่อมา ผู้เขียนจึงอยากจะเรียบเรียงข้อมูลขึ้นใหม่ให้ละเอียดกว่าครั้งที่ทำ หนังสือสุดยอดพระเครื่องเมืองปทุม ฉบับ พระครูบวรธรรมกิจ ( เทียน ) วัดโบสถ์ โดยจะเรียบเรียงให้เห็นความเป็นมาของสายวิชาของท่านว่ามาจากทางไหน บุคคลที่เกี่ยวข้องและมีสายสัมพันธ์กับท่าน และจะใช้ข้อมูลทางเอกสารเป็นหลักผสมกับคำบอกเล่าและข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ โดยจะเริ่มจากการศึกษาในวัยเด็กของท่านที่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ท่านเชี่ยวชาญโหราศาสตร์กับบุคคลที่มาเกี่ยวข้องกับท่านในสายวิชานี้ ต่อด้วยข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับผู้เป็นอาจารย์ของท่านคือ เจ้าคุณรามัญมหาเถร ว่าเป็นศิษย์สายใด การสร้างพระสมเด็จ จากคำบอกเล่าของ ขุนวิเศษภักดี การอุปถัมภ์โรงเรียนและวัดต่างๆ รวมไปถึงบรรดาลูกศิษย์ของท่าน

พระสมเด็จพิมพ์วัดเกศ 9 ชั้น พิมพ์ใหญ่
จากหนังสือ “ มอญที่เกี่ยวกับไทย ” พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูบวรธรรมกิจ (เทียน) ณ เมรุ วัดโบสถ์ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ ระบุประวัติท่านคร่าวๆ เอาไว้ว่า หลวงปู่เทียน นามเดิมชื่อ นายเทียน นามสกุลว่า ดุลยกนิษฐ์ เป็นบุตร นายน้อย และ นางเล็ก ดุลยกนิษฐ์ เกิดที่บ้านปากคลอง ตำบลกระแชงมอญ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๙ ตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด ซึ่งอยู่ในช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด ๘ คน คือ

๑. นางจีบ
๒. นางกลีบ
๓. พระครูบวรธรรมกิจ ( เทียน ดุลยกนิษฐ์ )
๔. นายธูป ดุลยกนิษฐ์ ( มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ) 
๕. นางคืบ
๖. นางคำ สมนวน
๗. ร้อยเอก เทียบ ดุลยกนิษฐ์ ( มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง )
๘. นางเขียน ปรักมสิทธิ์



เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ ๑๑ ปี จึงได้เริ่มเรียนหนังสือภาษามอญกับ พระอธิการมะ ( สว่าง ) วัดชัยสิทธาวาส ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ศึกษาอยู่ไม่นานก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ วัดโบสถ์ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ได้เรียนหนังสือต่อกับท่าน อาจารย์นวน จนอ่านออกเขียนได้ และมีความรู้แตกฉานในด้านการคิดเลข ทั้งบวก ลบ คูณ หาร จนอายุท่านได้ ๑๔  ปี จึงย้ายลงไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้เข้าเรียนหนังสือไทยต่อที่โรงเรียนวัดมหาพฤฒารามฯ จนสอบไล่ได้จบหลักสูตรของโรงเรียน ผู้เขียนเคยสอบถามคนรุ่นเก่า บางคนระบุว่าต้นตระกูลท่านเป็นชนชั้นสูงเป็นขุนนางเก่าเชื้อสายมอญ และสันนิษฐานว่า วิชาลบผงสิบสองนักษัตร นั้น น่าจะเป็นวิชาเก่าแก่ของตระกูลท่านด้วย และเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาโหราศาสตร์ คล้ายกับ เจ้าอธิการบุญนาค ( ปทุโม ) เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ของ วัดศาลาแดงเหนือ เป็นบุตรของ สมิงปราบณรงค์ ( บันฮะ ) ที่ถูกนำไปฝากเป็นศิษย์ของเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือเพื่อเรียนภาษามอญเป็นพื้นฐาน กับเรียนโหราศาสตร์จนแตกฉานตั้งแต่เด็ก ซึ่งคนที่เรียนโหราศาสตร์นี้ก็จะเก่งคณิตศาสตร์ด้วยแบบเดียวกับ หลวงปู่เทียน เพราะเป็นวิชาที่ต้องใช้การคำนวณเป็นหลัก เมื่อ หลวงปู่เทียน ถูกส่งตัวเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯท่านจึงมีพื้นฐานความรู้ทั้งทางคณิตศาสตร์และโหราศาสตร์เป็นทุนเดิม สามารถต่อวิชาจากหลวงลุงของท่านที่อยู่วัดมหาพฤฒารามฯได้ทันที


วัดมหาพฤฒาราม วรวิหาร แต่เดิมชื่อว่า “ วัดท่าเกวียน ” เรียกตามที่เห็นกองเกวียนจำนวนมากที่มาจอดพักอยู่ภายในวัด ในสมัยก่อนกองเกวียนเหล่านี้ได้มาขอพื้นที่วัดเพื่อจอดพักแรมในระหว่างที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แต่ต่อมาชาวบ้านก็พากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า “ วัดตะเคียน ” แทน สันนิษฐานว่าเรียกชื่อวัดตามต้นตะเคียนที่ขึ้นหนาแน่นอยู่รอบบริเวณวัด วัดแห่งนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีเจ้าอาวาสที่ชื่อ พระอธิการแก้ว หรือ หลวงตาแก้ว เป็นผู้ที่ชำนาญในวิชาโหราศาสตร์มาก พระวชิรญาณเถระ หรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๔ ) ในเพศบรรพชิต ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์ และเคยได้ใช้วิชานี้ในการคำนวณว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำกว่าการคำนวณของต่างชาติ ทำให้ต่างชาติไม่อาจใช้ข้ออ้างว่าสยามนั้นด้อยกว่าในเรื่องของความรู้ เมื่อพระองค์ทรงทราบในคุณวิเศษของพระอธิการแก้วนี้ จึงได้เสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ในคราวนั้น พระอธิการแก้ว ได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า “ จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆ นี้ ” พระวชิรญาณเถระจึงมีรับสั่งว่า “ ถ้าได้ครองแผ่นดินจริง จะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่ ” หลังจากนั้นไม่นานเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๓ ) เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔ พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระวชิรญาณเถระ


พระสมเด็จพิมพ์วัดเกศ 9 ชั้น พิมพ์ใหญ่
พระสมเด็จพิมพ์วัดเกศ 9 ชั้น พิมพ์เล็ก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๔ ) เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดท่าเกวียนขึ้นใหม่ และในเวลาต่อมาจึงโปรดฯให้พระราชทานสมณศักดิ์ พระอธิการแก้ว เป็น “ พระมหาพฤฒาจารย์ ” ดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาคณะ และโปรดฯให้สร้างพระอารามใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๗ จนถึง พ.ศ.๒๔๐๙ โดยโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ( ทัต บุนนาค ) เป็นแม่กองในการสถาปนา ต่อมาเมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงโปรดฯให้สถาปนาขึ้นในพระอารามหลวง และโปรดฯพระราชทานพระอารามนี้ให้มีความหมายเป็นการเทิดเกียรติคุณและอนุสรณ์แก่พระมหาพฤฒาจารย์ คือ “ วัดมหาพฤฒาราม ” พระอธิการแก้วท่านมีชีวิตยืนยาวจนถึง ๑๐๗ ปี เรื่องนี้ในทางโหราศาสตร์นั้นถือว่าสำคัญมาก เพราะผู้ที่เรียนทางโหราศาสตร์นั้นจะมีกฎให้ทราบก่อนเข้ามาเรียนก็คือ ถ้าเรียนแล้วเมื่อจำเป็นต้องวางฤกษ์หรือดูชะตาผู้ใดผิดพลาดจนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในทางที่ไม่ดี จะส่งผลต่อตัวผู้ทำนายเอง ๓ ประการ เริ่มจากเบาสุดก็จะขาดผู้สืบสกุล หนักขึ้นมาหน่อยจะทำให้ตาบอด เพื่อตัดไม่ให้ผู้นั้นได้ทำนายใครอีก และหนักสุดคืออายุจะสั้น จึงเป็นวิชาที่บั่นทอนชีวิตได้ ถ้าผู้ใช้นั้นไม่ชำนาญพอแล้วยังกล้าไปใช้วิชานี้ทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบ แต่พระอธิการแก้วนั้นท่านชำนาญในโหราศาสตร์มากสามารถใช้วิชานี้ในการช่วยคน ชีวิตท่านจึงยืนยาวมาจนถึง ๑๐๗ ปี พระมหาพฤฒาจารย์ แปลได้สองทางคือ อาจารย์ผู้เฒ่าที่สูงอายุ ก็ได้ หรือ พราหมณ์ผู้เฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ ก็ได้ เพราะสมัยโบราณผู้ชำนาญโหราศาสตร์นั้นมักเป็นพราหมณ์ เช่น พระโหราธิบดี ตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือโหรหลวงประจำราชสำนักในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับถือกันว่าทำนายแม่นยำนัก


พระธรรมธราจารย์ (อ่อน ปุญณุตฺตโม)
ในสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ( พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์ ) วันหนึ่งขณะประทับในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทกับเหล่าข้าราชการทั้งหลาย ได้มี มุสิก ( หนู ) ตกลงมาแล้ววิ่งเข้าหาที่ประทับ พระองค์ทรงใช้ขันทองครอบไว้แล้วให้มหาดเล็กไปตามพระโหราธิบดีมาทายว่าสิ่งใดอยู่ในขันทองนี้ พระโหราธิบดีมาตามรับสั่ง เมื่อคำนวณดูแล้ว จึงกราบบังคมทูล ว่า “ เป็นสัตว์สี่เท้า ” พระเจ้าปราสาททองตรัสว่า “ ชนิดใด ” พระโหรากราบบังคมทูลว่า “ มุสิก ” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสต่อว่าแล้วมีกี่ตัว พระโหราคำนวณแล้วกราบบังคมทูลว่า “ มี ๔ ตัว พระเจ้าข้า ” พระเจ้าปราสาททองทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า “ มุสิกนั้นถูกต้องแล้ว แต่มีแค่ตัวเดียว มิใช่ ๔ ตัว คราวนี้เห็นทีท่านจะผิดกระมังท่านโหรา ” เมื่อทรงเปิดขันทองที่ครอบหนูไว้ ก็ปรากฏว่ามีหนูอยู่ ๔ ตัวจริง เพราะหนูที่ตกลงมานั้นเป็นหนูตัวเมียท้องแก่ เมื่อตกลงมาก็ตกลูก ๓ ตัวในขันทองพอดี นอกจากนั้นยังเคยทายว่า ไฟจะไหม้ในพระราชวังในสามวัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อจึงเสด็จไปอยู่นอกวัง และปรากฏเป็นจริงดังทำนาย เกิดฟ้าผ่าต้องหลังคาพระมหาปราสาททำให้ไฟไหม้ลาม  โหรหลวงจะเรียกอีกอย่างว่า พฤฒาจารย์ ก็ได้ เช่น เมื่อพระมเหสีประสูติพระราชกุมารออกมา พฤฒาจารย์ทั้งหลายก็ลงมือตรวจดวงชะตา อีกนัยยะชื่อของท่านจึงแปลว่าโหรผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้

รูปถ่ายต้นฉับบหลวงปู่เทียน
กับ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่)
วัดมหาพฤฒาราม วรวิหาร เมื่อสิ้นพระอธิการแก้วแล้วก็มีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมาอีกหลายองค์ หลวงปู่เทียน ในวัย ๑๔ ปี ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๓๓ ท่านได้เข้ามาอยู่ที่วัดมหาพฤฒารามฯจนท่านอายุครบบวชในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ถึงกลับไปบวชที่บ้านเกิด ดังนั้นท่านจึงเข้ามาอยู่ในสมัย พระศาสนานุรักษ์ ( ปาน ) ที่เป็นเจ้าอาวาสในช่วง พ.ศ.๒๔๓๐ ถึง พ.ศ.๒๔๓๖ และในสมัยของ พระธรรมเจดีย์ ( อุ่ม ธมฺมธโร ป.๔ ) ซึ่งทั้งสองนั้นเป็นพระเชื้อสายมอญทั้งคู่ และมีอยู่องค์หนึ่งมีศักดิ์เป็นหลวงลุงของท่าน พระธรรมเจดีย์ ( อุ่ม ธมฺมธโร ป.๔ ) เป็นเจ้าอาวาสในช่วงปี พ.ศ.๒๔๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ( เมื่อครั้งสมณศักดิ์ที่ พระเทพสุธี ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรมหาวิหาร ) การที่ท่านได้เข้ามาอยู่ในวัดที่มีประวัติความเป็นมาทางโหราศาสตร์ขนาดนี้ จึงเชื่อได้ว่าท่านคงได้รับการสอนวิชาทางด้านโหราศาสตร์จนชำนาญ นอกจากนั้นจากคำบอกเล่าของ พระปลัดบุญปลูก เจ้าอาวาส วัดมะขาม องค์ปัจจุบันระบุว่า สหธรรมิกที่สนิทกับ หลวงปู่เทียน มากก็คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ( อยู่ ญาโณทโย ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๕ ท่านทั้งสองรู้จักกันตั้งแต่ก่อนที่ หลวงปู่เทียน จะบวช จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ท่านทั้งสองจะรู้จักกันที่วัดมหาพฤฒารามฯ และหลังจากนั้นมา หลวงปู่เทียน ก็แวะเวียนมาที่วัดสระเกศอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระสังฆราช ( อยู่ ) ยังเป็น “ มหาอยู่ ” เพราะต้องนำเอาพระ เณร มาฝากเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดสระเกศนี้ จากบทความของ “ ครูจีรพันธ์ สมประสงค์ ” ในวารสารสุทธาสิโนบล ของโรงเรียนคณะราษฎร์ ได้บันทึกคำบอกเล่าของ หลวงปู่เทียน นเอาไว้ว่า

รูปถ่ายสมเด็จพระสังฆราชอยู่
ขณะดำรงตำแหน่ง
พระปิฎกโกศล พ.ศ.2451
เมื่อครั้งปี พ.ศ.๒๔๔๓ ขณะที่ท่านนำพระและเณรมาที่วัดสระเกศนั้นได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในกรุงเทพฯ มีผู้คนล้มตายไปมากมายหลายพันคน จนในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนั้นเต็มไปด้วยซากศพ มีคนตายลอยน้ำเต็มไปหมด หลวงปู่ยังเล่าต่อไปอีกว่า เห็นแร้งที่วัดสระเกศเกาะกันอยู่เป็นฝูงๆ และมีบินอยู่บนท้องฟ้าเต็มไปหมด มันจะพากันลงกินซากศพอย่างเอร็ดอร่อย ทางวัดต้องทิ้งศพให้แร้งกิน โดยต้องตัดศพออกเป็นชิ้นๆ โยนให้แร้งกินจนเหลือแต่กระดูกเหล่านี้ไปเผา หรือฝังอีกที แต่กว่าสัปเหร่อจะมาเอากระดูกไปเผาหรือฝังก็หลายวัน เศษเนื้อที่ติดๆ กระดูกอยู่จะส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปหมดทั่วบริเวณวัดสระเกศ ส่วนแร้งที่กินอิ่มแล้ว ก็จะบินไปจับอยู่บนต้นไม้ใกล้ๆ กับที่ทิ้งซากศพนั่นเอง แร้งก็จะพากันปล่อยมูลลงมาบนพื้นขาวโพลนไปทั่วโคนต้นไม้นั้น

พระสมเด็จพิมพ์วัดเกศ 9 ชั้น พิมพ์เล็ก
สมเด็จพระสังฆราช ( อยู่ ) นั้นท่านสนใจในวิชาโหราศาสตร์มาก จนได้ชื่อว่าชำนาญในวิชาโหราศาสตร์มากที่สุดคนหนึ่ง สมัย สมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) เวลาจะสร้างพระกริ่งครั้งใดก็มักให้ท่านเป็นผู้ตรวจหาดูฤกษ์โดยตลอด ท่านได้ชื่อว่าเป็นโหรเอกแห่งกรุงสยาม โดยเฉพาะเรื่อง ทักษา และ คัมภีร์อุทาสิน เพราะท่านชำนาญมาก จนบรรดาโหรทั้งหลายยกย่องว่า หากกล่าวถึงทักษาวัดสระเกศก็ย่อมหมายถึงทักษาของสมเด็จพระสังฆราช ( อยู่ ) นั่นเอง ในสำนักวัดสระเกศแห่งนี้ได้ใช้วิชาทักษาผสมกับวิชาอุทาสินทำนายดวงชาตาได้แม่นฉมัง เคยมีเรื่องเล่ากันว่ามีผู้ที่ไม่เชื่อความแม่นยำในการดูฤกษ์ของท่าน ได้นำวันเวลาตกฟากของลูกสุนัขไปให้ท่านดู เมื่อท่านคำนวณตัวเลขเสร็จท่านได้บอกคนที่นำดวงชาตานั้นมาว่า นี่เป็นฤกษ์เกิดของสัตว์เดรัจฉานมิใช่ฤกษ์เกิดของมนุษย์แต่อย่างใด ทำให้ผู้ที่ไม่เชื่อนั้นนับถือในวิชาโหราศาสตร์ของท่านมาก ลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชาโหราศาสตร์จากท่านนั้นมีพระเกจิอาจารย์อยู่องค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากคือ หลวงปู่เริ่ม แห่งวัดจุกเฌอ จังหวัดชลบุรี ที่หลังจากสำเร็จวิชาโหราศาสตร์จากท่านแล้ว ท่านได้แนะนำให้มาเรียนต่อจาก หลวงปู่เทียน อีกที และได้รับการถ่ายทอด วิชาการลบผงสิบสองนักษัตร ไป ซึ่งวิชาลบผงสิบสองนักษัตรนั้นผู้ที่มาเรียนจะต้องชำนาญวิชาโหราศาสตร์เป็นพื้นฐาน ซึ่งผู้ที่สำเร็จวิชานี้ไปจาก หลวงปู่เทียน มีเพียง หลวงปู่เริ่ม แห่งวัดจุกเฌอ กับ หลวงปู่เอี่ยม แห่งวัดหงษ์ปทุมาวาสเท่านั้น

พระสมเด็จพิมพ์วัดเกศ 9 ชั้น พิมพ์เล็ก
ที่วัดมหาพฤฒารามฯนี้ยังมีโหรอีกคนหนึ่งที่เป็นฆราวาสได้แวะเวียนเข้ามาที่วัดอยู่บ่อยครั้ง เพื่อค้นคว้าวิชาโหราศาสตร์เพิ่มเติม ท่านชื่อ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร สันนิษฐานว่าท่านได้พบกับตำราที่ระบุฤกษ์ที่พระนเรศวรใช้ในการออกศึกที่วัดแห่งนี้ จึงได้มีการสร้าง พระกริ่งฤกษ์พระนเรศวรออกศึก ที่นี้คนทั่วไปรู้จักพระกริ่งรุ่นนี้ในนาม กริ่งวัดตะเคียน มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตรได้รู้จักกับ หลวงปู่เทียน ในคราวที่ลูกศิษย์ของ หลวงปู่เทียน ได้นำตำราที่อาจารย์เทพย์เพิ่งตีพิมพ์ออกมาให้ หลวงปู่เทียน ดู หลวงปู่เทียน เมื่อเปิดอ่านดูแล้วพบว่ามีเรื่องที่ผิดอยู่หลายประการ รุ่งขึ้นท่านจึงให้ลูกศิษย์พาท่านไปหาอาจารย์เทพย์โดยด่วน เพราะอยากรู้ว่าผู้ที่เขียนตำรานี้นั้นรู้จริงแต่เขียนซ่อนกลเอาไว้ หรือคัดลอกมาโดยที่ขาดความรู้ เพราะถ้าคนที่ไม่รู้เอาไปใช้กันโดยไม่มาต่อวิชากับผู้ที่เขียนตำรานี้ก็จะเกิดอันตรายได้ เล่ากันว่าเมื่อท่านทั้งสองได้พบปะคุยกันแล้วต่างก็นับถือในกันและกัน โดยเฉพาะท่านอาจารย์เทพย์นั้นจะนิมนต์ท่านมาที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง แม้ในวาระที่ต้องปลุกเสกพระเครื่องที่ท่านสร้างขึ้นก็จะนิมนต์ หลวงปู่เทียน มาด้วยทุกครั้ง

พระสมเด็จ พิมพ์ก้างปลา
หลังประทุนยุคต้น
ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร นั้นท่านมีความรู้ทั้งทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องโหราศาสตร์นั้นท่านเชี่ยวชาญมาก ท่านรู้ว่าในแต่ละวันนั้นจะมีความคลาดเคลื่อนของเวลา แม้ว่าจะมีการแก้ไขโดยมีปี อธิกสุรทิน ( อะ-ทิก-กะ-สุ-ระ-ทิน ) ขึ้นมา คือปีที่มีการเพิ่มหนึ่งวันในเดือนกุมภาพันธ์ ( หรือหนึ่งเดือนในกรณีของปฏิทินสุริยจันทรคติ ) เพื่อให้ปีปฏิทินสอดคล้องกับปีดาราศาสตร์แล้วก็ตามแต่ยังคงคลาดเคลื่อนอยู่ ท่านจึงมีปฏิทินที่ทำขึ้นมาเองสำหรับใช้ในการคำนวณ ลูกศิษย์สายอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร จึงต้องใช้ปฏิทินแบบนี้เท่านั้นในการคำนวณฤกษ์ยาม เรื่องการทำปฏิทินใช้เอง วัดที่เคร่งครัดในเรื่องนี้อย่างวัดเทพศิรินทร์ก็มีปฏิทินเป็นของตนเอง เรื่องโหราศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการคำนวณ และเป็นวิชาที่พระพุทธเจ้าโปรดอนุญาตให้บรรดาพระสงฆ์นั้นศึกษาได้มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แต่ก็ไม่ได้สนับสนุน เพราะถ้าหลงยึดติดจะกลายเป็นการไปขวางทางสงบ เป็นเครื่องถ่วงมิให้ก้าวหน้าอันจะนำไปสู่พระนิพพาน

ช่วงที่ หลวงปู่เทียน เข้ามาเรียนหนังสืออยู่ที่ วัดมหาพฤฒารามฯ นี้ ท่านได้เรียนภาษาบาลีหรือภาษามคธไปด้วย เพราะที่วัดจะมีพระภิกษุสงฆ์ชาวลังกาสิงหลมาพักอยู่ที่วัดอยู่เสมอ สมัยนั้นจะมี พระสมุห์อ่อน ที่เป็นฐานานุกรมของ พระครูธรรมจริยาภิรัต ( ปาน ) หรือต่อมาได้เลื่อนเป็น พระศาสนานุรักษ์ ( ปาน ) เป็นผู้สอน พระสมุห์อ่อนนั้นท่านเป็นพระมอญ แต่เดิมอยู่ที่ตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาย้ายเข้ามาเรียนหนังสือที่วัดจักรวรรดิราชาวาส จนอายุครบ ๒๑ ปี จึงได้ถูกนำมาฝากไว้ในสำนักท่าน พระครูธรรมจริยาภิรมย์ ( สอน ) เจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒารามฯ องค์ที่ ๒ ( พ.ศ.๒๓๙๙-๒๔๒๓ ) ถัดจาก พระมหาพฤฒาจารย์ ( แก้ว ) ในสมัยนั้น เข้าใจว่าแต่เดิมนั้นชุมชนแถวนี้น่าจะเป็นชุมชนชาวมอญเก่าเจ้าอาวาสรุ่นต่อๆ มาจึงเป็นคนไทยเชื้อสายมอญมาตลอด ต่อมา พระธรรมเจดีย์ ( อุ่ม ธมฺมธโร ป.๔ ) ที่ครองวัดต่อจาก พระศาสนานุรักษ์  (ปาน ) ได้ถูกย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามฯ ท่านอาจารย์อ่อนจึงรักษาการเจ้าอาวาสแทน ก่อนจะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ที่ พระครูสังวรยุตินทรีย์ ตำแหน่งพระครูเจ้าอาวาสชั้นโท ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระธรรมธราจารย์ ( อ่อน ปุญณุตฺตโม ) แต่คนทั่วไปเรียกท่าน หลวงปู่อ่อน


พระธรรมธราจารย์ ( อ่อน ปุญณุตฺตโม ) ท่านเป็นอาจารย์อีกองค์หนึ่งของ หลวงปู่เทียน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งธรรมวินัย โหราศาสตร์และคาถาอาคม แต่ท่านไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก เพราะท่านเป็นพระที่ชอบความสงบเน้นเรื่องกรรมฐานและสอนหนังสือลูกศิษย์ของท่าน อีกองค์หนึ่งก็คือ พระเทพสาครมุนี ( หลวงปู่แก้ว วัดช่องลม ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้มีการจัดงานฉลองอายุครบ ๗ รอบของท่าน คณะศิษย์ได้ขออนุญาตท่านสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นแจก ประกอบกับเป็นช่วงสงคราม ชาวบ้านต้องการวัตถุมงคลที่ใช้คุ้มครองตัว ท่านจึงอนุญาตและเขียนยันต์ที่จะประทับลงบนหลังเหรียญให้เป็น ยันต์ไตรสรณคมน์

เคยมีคนถาม อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เกี่ยวกับยันต์ต่างๆ ว่าท่านคิดว่า “ ยันต์อันไหนคือที่สุดของยันต์ ” ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ได้ตอบว่า “ ต้องเป็นยันต์ไตรสรณคมน์สิ ” เพราะยันต์ถูกผูกมาจากบท พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณังคัจฉามิ ความหมายคือ ขอนอบน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ซึ่งพระไตรสรณคมน์ในทางไสยศาสตร์ถือว่าเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์และมีอานุภาพสูงสุด กันได้ทั้งผี กั้นได้ทั้งอันตรายที่จะเกิดต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง “ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นี่แหละ แม้แต่เทพเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายยังต้องให้ความเคารพยำเกรง ไม่มีสิ่งใดที่จะก้าวล้ำผู้ที่มีจิตมั่นคงในพระไตรสรณคมน์ได้ ” เกจิอาจารย์ที่ใช้ยันต์นี้บรรจุลงในวัตถุมงคลล้วนแต่เป็นเกจิชั้นแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็น หลวงปู่เอี่ยม แห่งวัดสะพานสูง ที่สร้างตะกรุด โดยเขียนยันต์โสฬสไว้ข้างในแล้วลง ยันต์ไตรสรณคมน์ ไว้ด้านนอก หรือ หลวงพ่อกวย แห่งวัดโฆสิตารามที่ เหรียญรุ่น ๓ หรือเรียก เหรียญโล่ ของท่านก็บรรจุด้วย ยันต์ไตรสรณคมน์ ยันต์นี้เปรียบได้ดั่งดวงแก้ว ๓ ประการ นอกจากพุทธคุณที่กล่าวมายังใช้อธิษฐานของพรในเรื่องงาน เรื่องเงินได้ด้วย เหรียญนี้จึงเป็นเหรียญดี เหรียญขลัง ที่ควรหามาติดกายอีกเหรียญหนึ่ง


หนังสือแจกงานศพหลวงปู่เทียน
หลวงปู่เทียน เมื่ออายุได้ ๑๘ ปีท่านได้เข้ารับราชการโดยได้เป็นมหาดเล็กในสมัยพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๕ ) โดยมี นายพันโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ( รัชกาลที่ ๖ ) เป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ สมัยนั้นมหาดเล็กส่วนใหญ่จะเป็นบุตรในราชตระกูลและบุตรข้าราชการชั้นสูง เพราะต้องทำงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ มีแต่ท่านเป็นลูกของคนธรรมดาแถมเป็นเด็กวัดอีกต่างหาก อาจเป็นด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านรู้สึกไม่ชอบชีวิตในรั้วในวัง ทำได้แค่ปีเดียวก็ขอลาออกแล้วมารับราชการเป็นเสมียนให้กับอธิบดีศาลอุธรณ์ แต่ก็ไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานเมื่อเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน เพราะยุคนั้นส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามารับราชการล้วนแต่เป็นลูกหลานที่มีเส้นสายกัน อาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ต่อมาภายหลังเมื่อท่านสร้างพระเครื่องแจก พระเครื่องของท่านจึงมีพุทธคุณในเรื่องการส่งเสริมความก้าวหน้าในเรื่องงาน เรื่องเงิน เพราะท่านเข้าใจคนดี คนเก่ง คนขยัน แต่ทำอะไรก็ไม่ขึ้นนั่นเอง

ตอนที่ท่านอายุครบ ๒๑ ปี จึงได้ขอลาออกเพื่อไปอุปสมบทที่วัดบางนา โดยมีท่านเจ้าคุณรามัญมหาเถร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ วันที่ท่านตัดสินใจบวชนั้นทีแรกก็แค่ทำตามประเพณีเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ท่านก็ไม่หวลคืนสู่เพศฆราวาสอีกเลย

( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1227 “ สุดยอดเกจิอาจารย์แห่งเมืองปทุมธานี ” พระครูบวรธรรมกิจ ( เทียน ) วัดโบสถ์ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ปักษ์หลัง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ราคาปก 70 บาท )





วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 




สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #หลวงปู่เทียน #วัดโบสถ์ #จ.ปทุมธานี