ส่องกล้อง มองทะลุเลนส์ “ พระวัดพลับ ”

A. เป็นพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก 1 ใน 10 พิมพ์ที่กล่าว
B. ด้านหน้ามักจะแตกลายงา ด้านหลังไม่แตก
D. ผิวพระจะแลดูแกร่ง  ขาวสนิท มีทั้งบรรจุกรุและไม่บรรจุกรุ มีความมันวาวอันเป็นเอกลักษณ์ซ่อนไว้ในตัวของท่านเอง ถ้าใช้แล้วสึกกร่อน จะทำให้เนื้อในหนึกนุ่ม
E. มีขนาดโตเท่าเบี้ยจั่น หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย ( นอกจากพิมพ์ยืนหรือพิมพ์นอน )
C. ด้านหลังกลมๆ มนๆ คล้ายไข่ผ่า ด้านหน้าจะบอกลักษณะของพิมพ์ทรงได้เป็นอย่างดี
F. เนื้อหาสาระเหมือนสมเด็จวัดระฆัง ถ้าใช้ช้ำแล้วเนื้อจะเป็นจ้ำๆ สวยงามมาก ( เนื้อเป็นลูกๆ หรือย้อยๆ )

วัดพลับ  เดิมเป็นวัดโบราณ  ตั้งอยู่ใกล้คลองบางกอกใหญ่  จังหวัดธนบุรี  ปัจจุบันเป็นจังหวัดนนทบุรี  รวมเขตกับ กทม.  เป็นวัดที่มีมานานแล้ว  แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  อยู่ต่อหรือถัดจากวัดราชสิทธารามเดี๋ยวนี้ขึ้นไปทางทิศตะวันตก

สมัยเมื่อรัชกาลที่ 1  ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว  ได้นิมนต์  “ พระอาจารย์สุก ” ซึ่งเป็นพระอาจารย์จากอยุธยา  ให้ลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ  พระอาจารย์สุก  ขออยู่วัดฝ่ายอรัญวาสี  ที่สงบเงียบเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ  ไม่ชอบอยู่วัดในเมือง  รัชกาลที่ 1  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตามอัธยาศัย  และให้สร้าง วัดราชสิทธาราม ขึ้น  เพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์  ถวายให้จำพรรษากับแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่  “ พระญาณสังวร ”  เมื่อ พ.ศ.2325  ปีเดียวกับที่สร้างกรุงเทพมหานคร  นั่นเอง


เมื่อสร้างวัดราชสิทธารามแล้วเสร็จโปรดเกล้าฯให้รวม วัดพลับ เข้าไปอยู่ในเขต  วัดราชสิทธาราม ด้วยกัน ราษฎรและชาวบ้านแถบนั้น  คงยังเรียกชื่อวัดราชสิทธารามว่า  “ วัดพลับ ”  สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้

ต่อมา รัชกาลที่ 2  โปรดเกล้าฯให้สถาปนาพระอาจารย์สุกขึ้นเป็น  “ สมเด็จพระสังฆราช ”  โปรดฯให้แห่จาก วัดพลับ มาอยู่วัดมหาธาตุ  ท่าพระจันทร์ปัจจุบันนี้  อยู่ได้ปีเดียวก็สิ้นพระชนม์


ใครกันแน่…ผู้สร้างพระวัดพลับ?!?

ทุกท่านคงสงสัยว่าท่านสร้างไว้จริงหรือ?  เป็นเรื่องที่เราท่านทั้งหลายไม่สามารถจะหาข้ออ้างใดมายืนยันได้  เพราะมีนักเล่น  นักสะสมหลายกลุ่ม  มีความคิดเห็นไม่ตรงกันเลยสักคนเดียว  แม้แต่ผู้เขียนเองก็มีความคิดเห็นเป็นอิสระ ( ส่วนตัว )  ไม่เหมือนใครอื่น  และเพราะเหตุนี้เองจึงทำให้คนหลายกลุ่มกล่าวกันเป็นทำนองว่า  ความคิดเห็นว่า  สมเด็จพระสังฆราชสุก  เป็นผู้สร้างนั้น  เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็บรรจุไว้ที่พระเจดีย์บ้างอะไรทำนองนี้  และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือจากการบรรจุในเจดีย์  ก็นำไปบรรจุไว้ที่ วัดโค่ง  จังหวัดอุทัยฯ  อะไรโน่น

กลุ่มที่สองมีความเห็นว่า  สมเด็จพระสังฆราชสุกไก่เถื่อน  เมื่อจำพรรษาอยู่ใน วัดพลับ  ท่านได้สร้าง พระสมเด็จอรหัง ไว้แจกชาวบ้านอีก  ขรัวตาจัน ภิกษุชาวเขมร  เป็นลูกมือช่วยเหลือ  เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์แล้ว  ขรัวตาจัน  พระภิกษุชาวเขมรผู้เรืองวิทยาคม  จึงเริ่มสร้าง พระวัดพลับ ส่วนหนึ่ง ( ที่ยังไม่รู้ว่าใครกันแน่สร้าง พระวัดพลับ )

กลุ่มที่สาม  ชาวอุทัยธานีมีความเห็นว่า  มีภิกษุชาวพม่า ชื่อ  หลวงตาจัน จำพรรษาอยู่ที่ วัดโค่ง  อุทัยธานี  เป็นผู้สร้าง พระวัดพลับ  ชาวบ้านเรียกชื่อพระที่ว่า  หลวงตาจัน  สมัยนั้นว่า  “ พระวัดโค่ง ”

ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกแยกกันนี้  จึงไม่ได้เป็นข้อยุติของเรื่องได้

ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนใครจะว่าผมไม่โกรธ  เพราะเป็นความนึกคิดเท่านั้น  ความคิด  ความเชื่อของผมอาจจะไม่เหมือนกับใครสักคนก็ได้  ความคิดนี้คือ  “ พระร้อย ”  จากนักสร้างพระ  ซึ่งเหมือนพระสมัยนี้นั่นเอง  ทำเป็นหลายแบบหลายทรง  เนื้อหาสาระดีมาก  เปรียบเทียบได้เท่ากับเนื้อของสมเด็จเมื่อใช้ถูกเหงื่อ  จะมีความหนึกนุ่มเกิดขึ้น  ผิวคล้ายเปลือกไข่  มีความวาวเป็นมันในตัวเอง  เพราะมีส่วนผสมของเปลือกหอยเผาไฟ  กล้วย  ปูนขาว  น้ำมันตังอิ้ว  กระดาษฟาง  หมักเป็นเวลานานๆ  แล้วนำมาบดตำให้ละเอียด  แล้วผสมด้วยน้ำตาลอ้อย  จึงเกิดความละเอียดในตัวของมันเอง  จึงทำให้เนื้อ พระวัดพลับ มีความใกล้เคียงกับเนื้อพระสมเด็จ  ถ้าเนื้อพระสมเด็จไม่ใกล้เคียงกับ พระวัดพลับ  ผมไม่เล่น  ผมไม่นิยม

ท่านที่เคารพทั้งหลาย  ท่านที่ได้ชื่อว่าเป็นกรรมการตัดสิน  ลองพิจารณาดูซิครับว่า  ใครสร้าง พระวัดพลับ  กันแน่  หาข้อยุติกันได้ไหม  ความคิดของผมผิดแผกแปลกประหลาดกับคนทั้งหลาย  เพราะเป็นความคิดอิสระของผมเท่านั้น

พระนี้เป็นพระดี  เป็นพระที่มีผู้สร้างแน่นอน  ( แต่ไม่รู้ใครสร้างเท่านั้น )  โปรดอย่าคิดว่าความคิดของผมไร้สาระ  เพราะเสรีภาพในทางความคิดเขาเปิดช่องไว้ให้คิด…คิด…คิด


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  843 ส่องกล้อง มองทะลุเลนส์ “ พระวัดพลับ ” ปักษ์หลัง  เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ราคาปก 40 บาท )





วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 




สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #ส่องกล้อง #มองทะลุเลนส์ #พระวัดพลับ