เหรียญพระพุทธอังคีรส “ ที่ระลึกสถาปนาสมเด็จมหาวีรวงศ์ ( สุชิน อคฺคชิโน ) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ”

เหรียญพระพุทธอังคีรส
เนื้อทองคำ ลงยา
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์( สุชิน อคฺคชิโน )
ในมหามงคลวโรกาสที่ พระพรหมมุนี ( สุชิน อคฺคชิโน ) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น “ สมเด็จมหาวีรวงศ์ ” คณะศิษย์โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ( สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ) ได้สร้าง เหรียญพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขึ้นน้อมถวาย เพื่อเป็นที่ระลึกในการได้รับสถาปนาครั้งนี้เป็นเหรียญทรงพัดยศ งดงามด้วยศิลปะและสมบูรณ์ด้วยพิธีพุทธาภิเษก ณ อุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

“ สมเด็จมหาวีรวงศ์ ” เกิดขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงถวายสมณุตมาภิเษกตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 นับแต่นั้นก็ยังไม่มีพระเถระรูปใดในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ

เหรียญพระพุทธอังคีรส
เนื้อทองคำ
เหรียญพระพุทธอังคีรส
เนื้อเงิน ลงยา
เนื่องจากสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตอยู่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริจะตั้ง พระพิมลธรรม ( ยัง เขมาภิรโต ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะใหญ่ผู้ช่วยคณะธรรมยุติกนิกาย สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงนิพนธ์ราชทินนามถวายว่า สมเด็จพระธรรมวีรวงศ์ แต่พระพิมลธรรมกลับไม่ค่อยชอบ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงทรงแก้ไขใหม่เป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และเป็นธรรมเนียมสืบมาให้ถวายเฉพาะแก่สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุตที่ชำนาญด้านการเทศนา พระเถระผู้ได้รับสมณศักดิ์ ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ รวมทั้งสิ้น 8 รูป ดังนี้


เหรียญพระพุทธอังคีรส
เนื้ออัลปาก้า
เหรียญพระพุทธอังคีรส
เนื้อเงิน
1. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( ยัง เขมาภิรโต ) วัดโสมนัสราชวรวิหาร พ.ศ.2453–2474
2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( อ้วน ติสฺโส ) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร พ.ศ.2482–2499
3. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( จวน อุฏฺฐายี ) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร พ.ศ.2499–2508
เหรียญพระพุทธอังคีรส
เนื้อทองทิพย์
4. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร ) วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร พ.ศ.2508–2517
5. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( วิน ธมฺมสาโร ) วัดราชผาติการามวรวิหาร พ.ศ.2518–2536
6. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( ทิม อุฑาฒิโม ) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พ.ศ.2536–2543
7. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( มานิต ถาวโร ) วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร พ.ศ.2544–2561
8. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( สุชิน อคฺคชิโน ) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พ.ศ.2562–ปัจจุบัน

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ องค์ปัจจุบัน นามเดิม สุชิน มงคลแถลง ฉายา อคฺคชิโน เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 14-15 ( ธรรมยุต ) รักษาการเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 ( ธรรมยุต ) แม่กองธรรมสนามหลวง รองแม่กองงานพระธรรมทูต หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 7 ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์( สุชิน อคฺคชิโน )
ชาติภูมิ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิมว่า สุชิน มงคลแถลง เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2493 ณ ตำบลปลายกลัด อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บรรพชาและอุปสมบท สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2505 โดยมี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( วาสน์ วาสโน ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสิริวัฒนเมธี ( ทองคำ กมพุวณโณ ) และ พระราชภัทราจาร ( เปล่ง กุวโม ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวิจิตรธรรมคุณ ( เจียร เขมาจาโร ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ อคฺคชิโน ”


สมณศักดิ์

พ.ศ.2516 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) ที่ พระครูเมธังกร

พ.ศ.2518 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ที่ พระครูโฆษิตสุทธสร

พ.ศ.2519 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ที่ พระครูวิจารณ์ภารกิจ

พ.ศ.2523 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ที่ พระครูสุตตาภิรมย์

พ.ศ.2528 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชินวงศเวที

พ.ศ.2535 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปฏิภาณโกศล วิมลกิจจาทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ.2540 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวรเมธี ศรีปฏิภาณโกศล สุวิมลคณาทรยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ.2544 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวรเมธี ศรีปริยัตินายก ดิลกศาสนกิจ วิจิตรธรรมคุณาภรณ์ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ.2553 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพรหมมุนี ศรีวาสนวรางกูร วิบูลสีลาจารโสภณ โกศลปริยัติวิธาน บริหารศาสนกิจ ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ.2562 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต ชินวรุตมธรรมวาทปวิธ วิจิตรวาสนวรางกูร วิบูลสีลาจารวัตรราชานุวัตวิธาน ปริยัตยาธิการบริหารศาสนกิจ ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี








พิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2562

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( สุชิน อคฺคชิโน ) นับเป็นพระเถระผู้ดำรงในสมณคุณมีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนาอย่างเหลือล้น เป็นผู้มีเมตตาธรรมเป็นที่ประจักษ์แก่คณะศิษย์ทั้งปวง ทั้งเป็นพระเถระผู้มากภูมิธรรมความรู้ ดำเนินงานสร้างคุณาประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์สืบมาช้านาน จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสในหมู่มหาประชาชนโดยทั่วไป ในมงคลวโรกาสที่ท่านได้รับการสถาปนาครั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งที่ศรัทธาเลื่อมใสติดต่อมายาวนาน จึงได้สร้าง เหรียญพระพุทธอังคีรส ในรูปทรงพัดยศ ด้านหลังเป็นอักขระยันต์มงคลเก้า และ “ ทุ สะ นิ มะ ” หัวใจพระพุทธศาสนาและอักษรไทย ขยายความว่า “ ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น ” และมีภาษาไทยใต้ยันต์ “ ดอกไม้หมดทุกข์ ” ว่าศิษย์สร้้างถวาย พ.ศ.2562 เหรียญที่สร้างขึ้นทั้งหมด มีดังนี้


1. เนื้อทองคำ ลงยา 11 เหรียญ
2. เนื้อทองคำ ไม่ลงยา 11 เหรียญ
3. เนื้อเงิน ลงยา 222 เหรียญ
4. เนื้อเงิน ไม่ลงยา 222 เหรียญ
5. เนื้อทองทิพย์ 350 เหรียญ
6. เนื้ออัลปาก้า 5,800 เหรียญ

เหรียญนี้ ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้นำเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดสันติวิหาร อ.หนองแค จ.สระบุรี เมื่อเวลา 12.55 น. วันที่ 19 ตุลาคม 2562 และทำพิธีพุทธาภิเษกเป็นการเฉพาะ ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยมี สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานจุดเทียนชัย และมีเกจิอาจารย์ทำพิธีพุทธาภิเษกคือ หลวงพ่อสมชาย วัดปริวาส หลวงพ่อเจริญ วัดโนนสว่าง อุดรธานี หลวงพ่อชำนาญ วัดชินวราราม และ หลวงพ่อสะอาด วัดเขาแก้ว นครสวรรค์

อนึ่ง เหรียญทั้งหมดท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้เป็นผู้ออกทุนพร้อมดำเนินการสร้างทั้งหมด และถวายเหรียญทั้งหมดแก่ สมเด็จมหาวีรวงศ์ ( สุชิน อคฺคชิโน ) แม้กระทั่งท่านอธิบดีเองก็ต้องขอรับการแจกจาก สมเด็จมหาวีรวงศ์ ซึ่งท่านได้รับแจกให้หลังจากพิธีพุทธาภิเษกเสร็จแล้ว ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธ ในวันนั้น เหรียญนี้จึงมีเฉพาะท่านที่ได้แจกโดยตรงจาก สมเด็จมหาวีรวงศ์ เท่านั้น

“ เหรียญนี้จึงเป็นเหรียญแจกจากมือของ สมเด็จมหาวีรวงศ์ ( สุชิน อคฺคชิโน ) เท่านั้น ”

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1242 ปักษ์หลัง เดือน มกราคม พ.ศ. 2563 : เหรียญพระพุทธอังคีรส “ ที่ระลึกสถาปนาสมเด็จมหาวีรวงศ์ ( สุชิน อคฺคชิโน ) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ” ราคาปก 70 บาท )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 







Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop      

#ลานโพธิ์ #เหรียญพระพุทธอังคีรส #สมเด็จมหาวีรวงศ์ #วัดราชบพิธฯ