
ก่อนอื่นผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าเรื่องราวของ “ อาจารย์ฟ้อน ” หรือ “ ครูฟ้อน ” ท่านนี้มีเรื่องราวที่พิลึกพิลั่นอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น อาจารย์ฟ้อน สามารถดักไซบนต้นไม้ติดปลา, เสกผ้าขาวม้าเป็นกระต่าย, เสกใบไม้เป็นต่อแตนและปลากัด, เสกน้ำมนต์หยดเทียนในขันสาครเป็นปลานานาชนิด, เสกครกหินเป็นเต่าเดินได้ และเสกอะไรมิต่ออะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างล้วนเป็นเรื่องแปลกแหวกแนวเอาการอยู่
ความพิสดารดังกล่าวนี้ ฟังจากท่านผู้แก่ผู้เฒ่าท่านเล่ามา รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริงๆ ดังนั้นเมื่อท่านผู้อ่านทั้งหลายได้มาเห็นไตเติ้ลของผู้เขียนเข้าแล้ว คงจะนึกว่าหมอคนนี้คงจะมาโกหกยกเมฆเสียละมั้ง
![]() |
เหรียญอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง |
เป็นต้นว่า ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครราชสีมา จ.นครนายก จ.ลพบุรี และในกรุงเทพฯ ทั้ง 5 แห่งแหล่งที่ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้จารึกพลิกฟื้นมาแล้วทั้งสิ้น
อย่างเช่นที่ จ.ลพบุรี ได้มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับประวัติของ อาจารย์ฟ้อน อยู่มาก อาจจะกล่าวได้ว่าแม่น้ำลพบุรีทั้งสาย คือตั้งแต่ท่าขุนนาง ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ล้วนเคยเป็นแหล่งกำเนิดเกิดประวัติของท่าน อาจารย์ฟ้อน มาเก่าก่อน
และที่ จ.นครนายก ผู้เขียนมีโอกาสได้พบศิษย์ของ อาจารย์ฟ้อน ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านอยู่ในเพศสมณะ คือ ท่านพระครูเมธีธรรมสาร ( หลวงพ่อหนู ) เจ้าอาวาสวัดบึงพระอาจารย์
แต่พระคุณเจ้ารูปนี้ท่านไม่ให้ความสว่างเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ท่านก็ทราบเรื่องราวของ อาจารย์ฟ้อน อยู่เต็มอก
![]() |
พระอุโบสถ วัดพระยาโศก |
“ อิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน อาจารย์ฟ้อน เป็นสิ่งที่มีความเร้นลับซับซ้อน ยากที่คนทั้งหลายในปัจจุบันนี้จะเชื่อถือได้ อาตมาเป็นบรรพชิต เป็นการไม่ดี ถ้าคนเขาเชื่อก็คงไม่เป็นไร ถ้าเขาไม่เชื่อ ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นกับอาตมาได้ทุกเวลา ”
ผู้เขียนก็ยังไม่หมดความพยายาม เพราะว่าได้บุกบั่นมาไกลโขอยู่ จึงกราบเรียนท่านต่อไปว่า
“ หลวงพ่อครับมันถึงยุคถึงเวลาแล้วครับ ที่จะต้องนำเอาเกียรติคุณของท่านบูรพาจารย์ออกมาเผยแพร่แผ่ขยายเพื่อเป็นวิทยาทานกันเสียที ”
แต่พระคุณท่านก็ยังไม่ยอมเปิดเผยอยู่ดี ทำเป็นนั่งเข้าสมถะเสียงั้นแหละ ผู้เขียนก็ใช้ลูกตื๊ออยู่เช่นเดิม จึงได้กราบเรียนถามท่านอีกครั้งหนึ่งว่า
พระเดชพระคุณครับ มีคนเขาเลื่องลือกันว่า อาจารย์ฟ้อน คนนี้เป็นขุนแผนคนที่สอง เท็จจริงประการใดครับ
ลูกตื๊อของผู้เขียนได้ผล ท่านพลั้งปากออกมาว่า “ เก่งยิ่งกว่าขุนแผนเสียอีก ”
เมื่อท่านรู้ว่าเผลอพูดออกมาโดยไม่ตั้งใจ ท่านก็ไม่พูดอะไรอีกเลย ท่านยื่นคำขาดอยู่คำเดียวว่า “ ให้ไปถาม อาจารย์ประยูร จิตโสภี ที่ จ.นครราชสีมา ” คราวนี้เล่นเอาผู้เขียนจนแต้มเอาง่ายๆ เมื่อเห็นว่าไม่ได้เรื่องแน่แล้ว ผู้เขียนก็รีบกราบลาท่านทันที
พอกลับมาถึงบ้าน หยุดพักเหนื่อยได้สองวันก็รีบไป จ.นครราชสีมา อีก เคว้งคว้างอยู่ในตัวเมืองโคราชนานพอสมควร จึงได้พบบ้าน ท่านอาจารย์ประยูร จิตโสภี
เมื่ออาจารย์ประยูรท่านทราบความประสงค์ของผู้เขียน ท่านก็หาได้รีรอท้อความแต่อย่างใด ท่านรีบจาระไนไขเรื่องราวของ ท่านบูรพาจารย์ฟ้อน ในตอนบั้นปลายให้ผู้เขียนฟังอย่างละเอียดถี่ถ้วน
![]() |
หอสวดมนต์วัดไก่ฟ้า |
แม้ว่าประวัติของ อาจารย์ฟ้อน ในตอนต้นๆ ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควรก็ตาม แต่ก็ยังพอมีแววเป็นแนวทางให้ผู้เขียนคลำไปถึงเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
ครับ ก็นับว่าผู้เขียนยังโชคดีอยู่บ้าง ที่ได้มาพบผู้ที่น่าศรัทธาปสาทะ ไม่เช่นนั้นแล้วผู้เขียนก็คงต้องงมเข็มในมหาสมุทรต่อไป
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในการพลิกปฐพีค้นคว้าหาประวัติของ ท่านบูรพาจารย์ฟ้อน ครั้งนี้ ผู้เขียนได้รับความลำบากยากยุ่งที่สุด แต่ทว่าความสว่างที่ได้รับก็เป็นที่น่าพอใจ หายเหนื่อยได้อย่างปลิดทิ้ง
ดังนั้น เรื่องราวของท่าน อาจารย์ฟ้อน แม้จะมีความพิลึกพิลั่นอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ารู้น่าฟังอย่างยิ่ง และถ้าจะพูดกันถึงเรื่องเวทมนต์คาถาหรือในทางเมตตามหานิยม ก็นับว่า อาจารย์ฟ้อน คนนี้เขาเป็นหนึ่งจริงๆ หรือจะหนึ่งยิ่งกว่าขุนแผนในวรรณคดีไทยเสียอีกก็อาจเป็นได้
ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างสักเล็กน้อย เช่น เมื่อครั้งที่ขุนแผนพบนางลาวทอง ที่เมืองลานช้าง ขุนแผนต้องเสกหมากเสกพลูให้นางลาวทองกินเสียก่อน จากนั้นนางลาวทองถึงได้เกิดความรัก
แต่ว่า อาจารย์ฟ้อน คนนี้เพียงใช้สายตาสบสายตาเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องพูดจาโลมเล้าเอาใจแต่อย่างใด ก็สามารถทำให้เพศตรงข้ามเกิดความรักขึ้นได้ ณ บัดนั้น
ก็ในเมื่อ อาจารย์ฟ้อน ท่านเป็นผู้ปราดเปรื่องเรืองวิชาถึงขนาดนี้ แล้วท่านผู้อ่านจะว่าใครเก่งกว่ากัน และการที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ อาจทำให้ท่านผู้อ่านบางท่านเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า ผู้เขียนใกล้จะเพี้ยนๆ เข้าไปแล้วก็ได้
ครับ ถ้าท่านมีความเข้าใจเช่นนี้ ผู้เขียนก็ขอยอมรับ แต่ผู้เขียนใคร่ขอเรียนซ้ำย้ำท่านอีกสักนิดว่า ด้วยใจจริงแล้วผู้เขียนไม่เคยคิดที่จะนำเรื่องที่ไร้สาระมาเสนอแนะต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายแต่อย่างใดเลย มีแต่จะยิ่งเพิ่มการค้นคว้าหาเรื่องราวที่มีความเข้มข้นของเรื่องแต่ละเรื่อง และต้องเป็นเรื่องที่มีสาระประโยชน์มาเสนอแนะต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ก็เพื่อจักหวังให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้สัมผัสกับเรื่องรสที่มีความแปลกแหวกแนวยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น แม้ว่าคำเขียนจะผิดแผกแหวกแนวไปกว่าชาวบ้านท่านอื่น หรือจะเป็นคำที่เชยๆ ไม่ทันยุคไม่ทันสมัยอยู่บ้างก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ยังยึดถือหลักความจริงเป็นสำคัญ
เพราะผู้เขียนถือคติว่า การที่ผู้เขียนจะยืนยงคงชีพอยู่ในสายงานแขนงนี้ได้ ก็ต้องอาศัยท่านผู้อ่านทั้งหลายช่วยอุปการะ ช่วยเป็นแรงใจมาลัยสวม หากวันใดภายหน้าท่านผู้อ่านได้สิ้นศรัทธาในตัวผู้เขียนเสียแล้ว ผู้เขียนก็คงหมดโอกาสที่จะอยู่รับใช้ท่านผู้อ่านทั้งหลายต่อไปได้ และก็คงต้องเลิกลาในงานประเภทขีดๆ เขียนๆ เช่นนี้ไปโดยปริยาย
ดังนั้น เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านปรมาจารย์ทุกรูปทุกนาม ที่ผู้เขียนได้นำมาเสนอแนะต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายแต่ละเรื่องแต่ละครั้ง ผู้เขียนย่อมมีความสำนึกในหน้าที่อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก และจะพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับที่ท่านผู้อ่านทั้งหลายให้ความไว้วางใจให้ดีที่สุด เท่าที่จะดีได้
ถิ่นกำเนิดคนดีมีวิชา อาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง

อันแดนดินถิ่นนี้เมื่อสมัยก่อนโน้น ได้เป็นป่าดงพงไพร ซึ่งหนาแน่นไปด้วยมวลหมู่ไม้ใหญ่น้อย อีกทั้งฝูงสรรพสัตว์ป่านานาชนิดก็มีอยู่ดาษดื่น เช่น ฝูงช้าง ฝูงเสือ ฝูงลิง ค่าง บ่าง ชะนี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีบึงบางทางลำธารไหลผ่านป่าอยู่เนืองนิจ ใสสนิทสำหรับฝูงสัตว์ป่าทั้งหลายได้ดื่มกินอยู่ทุกวี่วัน มหาชนทั้งหลายได้เรียกลำน้ำแห่งนี้ว่า “ ลำบึงบ้านชุ้ง ” มาแต่โบราณกาล
( คำว่า “ ชุ้ง ” มีท่านผู้รู้แปลความออกมาว่า แม่น้ำที่คดเคี้ยวเลี้ยวไปมา หรือชุ้งไปชุ้งมา จึงเรียกลำน้ำสายนี้ว่า “ บึงบ้านชุ้ง ” แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า น่าจะเป็น “ บึงบ้านช้าง ” เสียมากกว่า เพราะสถานที่แห่งนี้ในสมัยก่อนโน้นได้มีโขลงช้างป่าอยู่มากมาย และอีกประการหนึ่งหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ก็ยังพอปรากฏให้เห็นเป็นข้อเค้าอยู่ อาทิเช่น เนินโคกช้าง และลำรางทางเดินของช้างป่าที่ลงมากินน้ำในบึง เหล่านี้เป็นต้น
อันคำว่า “ ช้าง ” หรือ “ ชุ้ง ” ทั้งสองคำนี้เป็นคำเรียกที่ใกล้เคียงกันมาก และได้เรียกกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ดังนั้น คำว่า “ ช้าง ” อาจจะเพี้ยนมาเป็น “ ชุ้ง ” ได้ง่ายๆ เหมือนกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในละแวกนี้มีความเห็นตรงกันกับผู้เขียน )
![]() |
สำนักวัดกลาง ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษา ของอาจารย์ฟ้อนเบื้องต้น |
จำเนียรกาลผ่านมาในราวศตวรรษที่ 18 ณ ที่แดนดินถิ่นแห่งนี้ได้มีเรื่องราวเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้วว่า ยังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ครองกรุงอโยธยา ณ ราตรีหนึ่ง พระองค์ได้ทรงนิมิตไปว่า ได้เห็นท้าวสักกะเทวราชทรงพญาคชสารหาญกล้าเหาะมาจากเบื้องทิศอุดร แล้วทะยานลงตรงมายังหน้าปราสาทราชมณเฑียรของพระองค์ จากนั้นช้างทรงของท้าวโกสีย์ ก็ใช้งวงงาเข้าทำลายบานประตูปราสาทราชมณเฑียรพังลงจนหมดสิ้น
พระองค์รู้สึกเสียดายประตูปราสาทราชมณเฑียรของพระองค์อย่างยิ่ง ทำให้พระองค์สะดุ้งตื่นจากบรรทมทันที
พระองค์เฝ้าครุ่นคิดในนิมิตเป็นอัศจรรย์ และไม่สามารถที่จะบรรทมต่อไปอีกได้ในราตรีนั้น
ครั้นอโนทัยไขแสงจึงสั่งให้หาโหรหลวงเข้าเฝ้าแต่เพลาเช้า พระองค์ได้ทรงเล่าความในนิมิตให้โหรหลวงฟังเป็นถ้วนถี่
เมื่อโหรหลวงได้ทราบความตามที่พระองค์ได้ทรงนิมิตไปเช่นนั้น จึงประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาญาณ จึงได้ถวายคำทำนายทายทักไปว่า ขณะนี้ได้มีพญาคชสารคู่บ้านคู่เมืองอุบัติขึ้นในแว่นแคว้นของพระองค์แล้ว ซึ่งอยู่ทางทิศอุดร เมื่อพระองค์ได้ทราบความตามที่โหรหลวงกราบบังคมทูล จึงมีความปลื้มปีติในพระหฤทัยยิ่งนัก
พระองค์ไม่ปล่อยให้เวลาอันมีค่าต้องสูญเสียไปแม้แต่นาทีเดียว จึงรีบมีใบบอกออกไปยังเหล่าอำมาตย์ราชมนตรีมาเข้าเฝ้าโดยด่วน
เมื่ออำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้าอยู่พร้อมหน้ากันแล้ว พระองค์จึงปรึกษาให้ราชกิจทันทีและพร้อมกับมีพระบัญชาให้ท้าวพระยาจ่าเมือง เร่งรัดจัดกองคาราวานควาญเกล้าเพื่อค้นหาพญาคชสารแต่ในเพลาสายของวันนั้นเลย โดยมีควาญช้างฝีมือดีคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกองช้างแห่งกรุงอโยธยาเป็นหัวหน้านำทีมกองคาราวาน และนายกองช้างคนนี้เองที่มีความชำนิชำนาญในการคล้องช้างเป็นพิเศษ และนอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่เรืองพระเวทวิเศษสุดไร้ผู้เทียมทานได้
![]() |
อาจารย์ประยูร ศิษย์อาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง |
ครั้นถึงเพลาสายฤกษ์งายแก่ เหล่าควาญชาญศักดาก็เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากกรุงอโยธยาแต่เพลานั้น ล่วงถึงเวลาบ่าย 3 นาฬิกา คณะของนายควาญกล้าก็มาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไปทางทิศเหนือกรุงอโยธยาประมาณ 10 กิโลเมตร ( บ้านพะเนียดปัจจุบันนี้ ) ก็เห็นช้างป่าโขลงหนึ่งมีอยู่มากมายหลายสิบเชือก แต่ไม่เห็นมีพญาคชสาร
ถึงกระนั้นนายกองช้างและคณะก็ยังไม่หมดความพยายาม จึงช่วยกันสร้างค่ายรายล้อมเพื่อพักแรมอยู่ในป่าแห่งนี้ดูลาดเลาไปก่อน และสิ้นเวลาแรมรอนอยู่ในป่าแห่งนี้นานถึงค่อนเดือน แต่ก็ยังหาได้มีวี่แววว่าจะพบพญาคชสารแต่อย่างใด เห็นมีแต่ช้างพังช้างพลายอยู่ก่ายกอง
ดังนั้น วันรุ่งขึ้น นายกองช้างจึงสั่งให้ย้ายสำนักยักโยธามุ่งหน้าเข้าสู่ป่าใหญ่ไกลหนทางกันต่อไป จนล่วงบ่ายนาฬิกา 5 โมงเย็นของวันนั้น คณะนายกองช้างก็มาถึงแดนดงพงป่าใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบึงบางทางลำธารไหลผ่านเป็นที่น่าสราญใจยิ่งนัก ( บึงบ้านชุ้งปัจจุบันนี้ ) จึงได้ลงหลักปักค่ายอยู่ ณ ริมบึงแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง
ในขณะที่นายกองช้างกำลังบัญชาสั่งให้ลูกน้องช่วยกันสร้างค่ายพักแรมอยู่นั้น พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นช้างป่าโขลงหนึ่ง กำลังเดินออกมาจากป่าใหญ่อย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเดินกันเป็นวงทักษิณา ประหนึ่งว่ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่กลางฝูง
เมื่อนายกองกล้าหัวหน้าควาญเห็นเช่นนั้น จึงสั่งให้ลูกน้องหยุดสร้างค่ายพักเสียชั่วคราวก่อน เพราะกลัวว่าเสียงครึกโครมจะดังไปถึงโขลงช้างเหล่านั้น
เมื่อโขลงช้างเดินเข้ามาใกล้จวนถึงเขตค่ายพักก็เลี้ยววกหกตรงลงกินน้ำในบึงบาง ขณะนั้นก็เป็นเวลารัตติกาลเข้าเคลือบคลุม จึงทำให้นายกองช้างไม่สามารถจะพินิจพิจารณา หรือตรวจตราให้ละเอียดถี่ถ้วนได้ จึงจำเป็นต้องปล่อยให้โอกาสครั้งนี้ผ่านไปโดยปริยาย
ดังนั้น เวลาเดียวกันของวันรุ่งขึ้น นายกองช้างก็ร่ายพระเวทกำบังกายปีนป่ายขึ้นไปอยู่บนคบไม้ใหญ่ ใกล้ริมรางทางเดินของช้างป่าที่จะลงมากินน้ำในบึง
ทั้งนี้ก็เพื่อจักหวังได้เห็นโขลงช้างอย่างใกล้ชิด ครั้นเมื่อใกล้อัสดงตรงเวลาโขลงช้างป่าก็พากันมากินน้ำในลำบึงอีกเช่นเคย
ในขณะที่โขลงช้างกำลังสู่ลำรางทางเดิน นายกองช้างที่แฝงกายอยู่บนคบไม้ก็ถึงกับสะดุ้ง เพราะได้เห็นพญาคชสารน้อยเชือกหนึ่งซึ่งมีแม่พังเดินขนาบข้างอยู่กลางฝูง มีวรรณะเผือกผุดผ่องทั่วกายา
ทำเอานายกองกล้าแลตะลึงซึ้งอยู่นาน และคิดอยู่ในใจว่า วันพรุ่งนี้จะยื้อยักหักด่านเข้าไปคล้องบ่วงบาศให้จงได้ รอจนฝูงช้างกลับลับเข้าป่าไปแล้ว ผู้เรืองเวทก็รีบลงมาจากคบไม้ใหญ่ทันที
มาถึงค่ายพักก็เรียกประชุมเหล่าควาญทั้งหลาย เพื่อวางแผนคล้องบ่วงบาศให้รัดกุม เมื่อซักซ้อมกันจนเป็นที่เข้าใจแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าก็มอบตำแหน่งแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบให้แก่เหล่าควาญทั้งหลายจนถ้วนทั่วทุกตัวคน
![]() |
พระอุโบสถ วัดไก่ฟ้า ซึ่งเป็นสถานที่ ที่อาจาารย์ฟ้อนได้พบคัมภีร์พระเวทวิเศษสุด |
เสร็จพิธีบอกเล่ากล่าวพระเวทแล้ว ต่างก็พากันพักผ่อนหลับนอนเพื่อเอาแรงไว้ผจญต่อเหตุการณ์ในวันรุ่งขึ้น
แต่ทว่า นายกองกล้าหัวหน้าใหญ่เฝ้าถอนใจมิหลับนอนลงได้เลยแม้แต่งีบเดียว ให้นึกหวาดหวั่นพลันสังหรณ์ใจยังไงพิกล จนไก่ป่าพญานกเจื้อยแจ้วแว่วเสียงอันเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ใกล้จะรุ่งอโนทัยแล้ว
นายกองกล้าจึงรีบปลุกเพื่อนร่วมงาน เพื่อจักให้หุงหาอาหารกินกันแต่เพลาเช้า เมื่อจัดการกับเรื่องปากเรื่องท้องแล้ว นายกองก็สั่งให้ทำลายสัมภาระที่ไม่จำเป็นทิ้งเสียสิ้น แม้แต่ที่พักแรมทั้งนี้ก็เพราะว่า ไม่ต้องการจะพักอยู่ในพงไพรแห่งนี้อีกต่อไป
ครั้นเมื่อดวงพระสุริยนต์พ้นยอดไม้ ทั้งตัวนายตัวบ่าวก็มุ่งหน้าเข้าสู่ป่าลึก เมื่อฝ่าดงพงพีมาได้สักพักใหญ่ๆ ก็เห็นโขลงช้างยืนพักกายอยู่ใต้ร่มไม้ในกลางป่า แต่ก็ยังหาได้เห็นพญาคชสารไม่ เพราะพังพลายแห่ห้อมล้อมกันอยู่ ดังนั้นนายควาญผู้ชาญมนต์ก็ผนึกลมปราณอ่านพระเวท แล้วเป่าไปทางโขลงช้างเหล่านั้น
ด้วยพระเวทวิเศษสุด ทำให้โขลงช้างเหล่านั้นเกิดความร้อนรนร่นถอย และพากันย้ายแยกแหวกทางเปิดเป็นช่องว่างลงทันใด นายควาญทั้งหลายจึงได้เห็นพญาคชสารน้อยยืนเคียงคู่อยู่กับแม่พังอย่างเต็มตา
โดยไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไป ผู้ชาญเวทอันเกรียงไกรก็รีบเข้าไปคล้องบ่วงบาศลงทันที
![]() |
หมู่กุฏิวัดพระยาโศก ซึ่งเป็นวัดถิ่นกำเนิด ของอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง |
พญาคชสารน้อยรู้ตัวว่า ถูกพันธนาการกายาทั่วขาแข้ง ก็ตกใจสุดขีด และถึงกับโกญจนาทขึ้นสุดเสียง ทำให้แม่พังตกใจ วิ่งเตลิดเปิดเปิงไปอีกเชือกหนึ่ง
เมื่อพังพลายใหญ่น้อยได้ยินเสียงพญาช้างร้องขึ้นด้วยความตกใจเช่นนั้น ก็พากันวิ่งเข้ามาด้วยความดุร้ายหมายชีวิต
เหล่าควาญทั้งหลายเห็นมหันตภัยใกล้ถึงตัวจึงกวัดแกว่งยอดไม้ร่ายพระเวทซ้ำลงไปอีก ทำให้พังพลายทั้งหลายแหล่ส่งเสียงร้องขึ้นด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวเพราะฤทธิ์มนต์ และไม่สามารถจะเข้ามาใกล้เหล่าควาญทั้งหลายได้ จึงเป็นโอกาสให้เหล่าควาญชาญศักดา เข้ายื้อยุดฉุดดึงเอาพญาคชสารน้อยมาอย่างง่ายดาย
ขณะที่นำพญาช้างมาในระหว่างทาง แม่พังได้เปล่งเสียงโกญจนาทประหนึ่งว่าแทบจะขาดใจ เพราะด้วยอาลัยในลูกน้อย เฝ้ากลิ้งเกลือกเสือกไสไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด แม้จะร้อนฤทธิ์ด้วยมนตราก็อุตส่าห์ทน
เมื่อนายกองกล้าหัวหน้าควาญเห็นเช่นนั้น ให้รู้สึกนึกสงสารแม่พังอย่างยิ่ง จึงกล่าวขึ้นว่า
แม่พังเอ๋ย เราเห็นใจเจ้า หากมิใช่ราชกิจของเหนือหัวกรุงอโยธยาแล้ว เราจะคืนพญาคชสารน้อยให้เจ้าทันที แต่ครั้งนี้เราจนใจยิ่งนัก ที่มิอาจขัดคำพระบัญชาของพระองค์ได้ ขอเจ้าจงคืนสู่โขลงแต่โดยดีเถิด
กล่าวจบ นายกองกล้าก็สั่งให้เคลื่อนโยธาต่อไป แต่ทว่าแม่พังก็ยังติดตามมาอย่างไม่ลดละ จนมาถึงเนินดินแห่งหนึ่งที่ริมบาง แม่พังก็อ่อนแรงล้มลง และในที่สุดก็ถึงกับมรณังสังขารลง ณ ที่เนินดินแห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกเนินแห่งนี้ว่า “ เนินยายนาค ”
-อ่านต่อฉบับหน้า-
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1203 อภินิหาร อาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม พ.ศ.2559 ราคาปก 60 บาท )