พระครูอุปการโกศล ( อุป อิสฺสโร ) วัดเทพอุปการาม ( วัดตานิม ) ตำบลตานิม อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภาพและเรื่องโดย เอกลักษณ์ เพริศพริ้ง

ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยาของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แถบอำเภอบางไทรตอนเหนือติดต่ออำเภอเสนาตอนใต้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีพระอาจารย์ผู้ทรงเวทวิทยาคม ๓ ท่านที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ( วัดอยู่ไม่ไกลกัน ) นั่นก็คือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ด ชาวบ้านต่างก็ทราบกันดีว่า “ ทั้งสามท่านเก่งพอๆ กัน แบบกินกันไม่ลง ” จึงพากันขนานนามเรียกทั้งสามท่านว่า “ ๓ เสือ ” ( แต่พระอาจารย์ที่ว่ามา ต่างก็บอกว่าอีกสองท่านเก่งกว่าตน )

ส่วนดินแดนทางตอนเหนือของจังหวัดอันได้แก่ “ อำเภอบางปะหัน ” ยุคหลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ ก็มี “ ๓ เสือ ” เช่นเดียวกันนั่นคือ หลวงพ่อฟอง วัดเขาดิน, หลวงพ่ออุป วัดตานิม และ หลวงพ่อมาก วัดโตนด “ เสือ ” ในที่นี้หมายถึง พระอาจารย์ผู้ทรงเวทวิทยาคมที่อยู่ในย่านเดียวกัน เก่งทางคาถาอาคมพอๆ กัน แต่หลวงพ่อฟองท่านจะมีอายุน้อยกว่า ) 


เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่ออุป ปี 2490 เนื้อทองแดง
“ หลวงพ่อฟอง ” ท่านเป็นลูกศิษย์ของ “ หลวงพ่อกัณหา วัดตาลเอน ” อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ( เรื่องหลวงพ่อกัณหา ผู้เขียนจะเขียนรับใช้ในโอกาสต่อไป ) ส่วน “ หลวงพ่ออุป ” กับ “ หลวงพ่อมาก ” ท่านเป็นลูกศิษย์ของ “ หลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ ” อัน “ หลวงพ่อแป้น ” นี้ ท่านเป็นบรมครูทางไสยศาสตร์ที่เก่งที่สุดอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย จะเห็นได้จากลูกศิษย์ลูกหาที่สืบทอดวิชาต่อมาจากท่านอย่าง หลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว ( ชาวบ้านเรียก เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์บุรี ), หลวงพ่ออุป วัดตานิม และ หลวงพ่อมาก วัดโตนด ล้วนแล้วแต่เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีอาคมเข้มขลังแห่งยุคทั้งสิ้น ( นี่ก็เรียก ๓ เสือ อีกเช่นกัน ) ส่วนลูกศิษย์หลวงพ่อแป้นที่เป็นฆราวาสอย่าง “ อาจารย์ลอย  โพธิ์เงิน ” ก็เก่งไม่ใช่เล่น หาอาจารย์ฆราวาสจอมอาคมท่านอื่นเสมอเหมือนเทียบเท่าท่านได้ยากเต็มที


เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่ออุป ปี 2490 เนื้อทองแดง
และวันนี้ผู้เขียนมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้นำเสนอชีวประวัติของพระเกจิอาจารย์ผู้มากด้วยตบะมหาอำนาจ ผู้ซึ่งมีอาคมแกร่งกล้ามากด้วยอิทธิปาฏิหาริย์จนได้สมญานามว่า  “เสือ ” ท่านเป็น ๑ ใน ๓ เสือ ลูกศิษย์คู่บารมีของหลวงพ่อแป้นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์แห่งวัดเสาธงใหม่ ใช่แล้วครับ! พระอาจารย์ที่ว่าก็คือ หลวงพ่ออุป วัดตานิม ( วัดเทพอุปการาม ) นั่นเอง...

วัดเทพอุปการาม ( วัดตานิม )

“ วัดเทพอุปการาม ” เดิมชื่อ “ วัดตานิ่ม ” ต่อมาเรียก “ วัดตานิม ” ซึ่งเรียกตามนามผู้สร้าง จากหลักฐานที่ปรากฏ “ วัดตานิ่ม ” หรือ “ วัดตานิม ” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๒ โดยมี “ ตานิ่ม ” เป็นผู้นำในการสร้าง ในสมัยนั้นย่านบ้านตานิ่มมีผู้อาศัยปลูกบ้านอยู่ประมาณ ๔-๕ ครัวเรือน

ส่วน “ ตานิ่ม ” เองก็เป็นชายสูงอายุฐานะดี โอบอ้อมอารี ใจบุญสุนทาน จึงเป็นที่เคารพรักของชาวบ้าน ที่สำคัญตานิ่มเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก แต่ก่อนเวลาตานิ่มกับชาวบ้านจะทำบุญทำกุศลในแต่ละที จะต้องเดินทางไปทำที่วัดอื่นซึ่งก็อยู่ห่างไกลเสียเหลือเกิน คนเฒ่าคนแก่เดินทางลำบาก ตานิ่มจึงชักชวนชาวบ้านสร้างวัดขึ้น โดยชาวบ้านเรียกชื่อวัดว่า “ วัดตานิ่ม ” ก่อนจะเพี้ยนเป็น “ วัดตานิม ” มาจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่ออุป ปี 2490
เนื้อทองแดง

รายนามสมภารปกครอง วัดเทพอุปการาม ( วัดตานิม )
๑. หลวงพ่อบุญ เมื่อตานิ่มสร้างวัดเสร็จเรียบร้อย ก็จะต้องมีพระอยู่จำพรรษา ชาวบ้านจึงนิมนต์ “ พระบุญ ” มาเป็นสมภาร ท่านได้สร้างอุโบสถ และกุฏิสงฆ์ หลวงพ่อบุญปกครอง วัดตานิม อยู่ ๒๒ ปี ท่านจึงลาสิกขา

๒. หลวงพ่อเฒ่า พ.ศ.๒๓๔๕-พ.ศ.๒๓๖๑ เมื่อหลวงพ่อบุญลาสิกขาไปแล้ว “ หลวงพ่อเฒ่า ” จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมภารรูปต่อมา ท่านได้สร้างเสนาสนะภายในวัดจนเจริญก้าวหน้า หลวงพ่อเฒ่าปกครองวัดอยู่ ๑๖ ปี จึงมรณภาพ

๓. หลวงพ่อขาว พ.ศ.๒๓๖๑-พ.ศ.๒๓๗๙ หลวงพ่อขาวท่านเป็นใครจากไหนไม่มีใครทราบ ถามชาวบ้านเก่าๆ ก็ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าท่านมาอาศัยอยู่ที่วัดกับ “ หลวงพ่อเฒ่า ” แต่ก่อนท่านเป็นฆราวาสนุ่งขาวห่มขาวไว้ผมยาวเหมือนพราหมณ์ ชอบนั่งกรรมฐาน สวดมนต์ตลอดเวลา หลวงพ่อเฒ่าจึงชักชวนให้บวชเป็นพระ เมื่อท่านบวชแล้วท่านก็กลายเป็นพระผู้ทรงเวทวิทยาคม ท่านเก่งด้านมนต์คาถามหาเวทย์ ท่านจึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในย่านนั้นและใกล้เคียง เมื่อหลวงพ่อเฒ่ามรณภาพแล้ว หลวงพ่อขาวจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภารสืบต่อมา ท่านครองวัดได้ ๑๘ ปี ก่อนจะมรณภาพลง
เหรียญรุ่น 2 ปี 2500 เนื้อทองแดง

๔. หลวงพ่อคล้าย พ.ศ.๒๓๗๙-พ.ศ.๒๓๙๙ เมื่อหลวงพ่อขาวมรณภาพแล้ว “ หลวงพ่อคล้าย ” จึงได้รับตำแหน่งสมภารสืบต่อมา ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญด้วยไม้เนื้อแข็งอย่างดี ทั้งยังสร้างกุฏิไม้สักเพิ่มอีก ๒ หลัง ท่านปกครองวัดตานิมได้ ๑๐ ปี จึงได้ลาสิกขา

๕. หลวงพ่อสุ่ม พ.ศ.๒๓๙๙-พ.ศ.๒๔๔๘ หลวงพ่อสุ่มได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภารต่อจากหลวงพ่อคล้ายที่ลาสิกขา ท่านเป็นหมอยาสมุนไพรรักษาโรคให้กับชาวบ้าน ทั้งยังใช้เวทมนต์ถอนคุณไสยนานาชนิด ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและผู้คนทั่วไป ในสมัยของท่านนั้น “ วัดตานิม ” เจริญรุ่งเรืองมากกว่าสมัยใดๆ ที่ผ่านมา โดยท่านได้สร้างถาวรวัตถุ ดังนี้ สร้างอุโบสถก่ออิฐฉาบปูน, กุฏิทรงไทย ๒ หลัง, หอสวดมนต์ไม้เนื้อแข็ง ๑ หลัง สร้างหอระฆัง ทั้งยังบูรณะศาลาการเปรียญ

เมื่อหลวงพ่อสุ่มสร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อย “ พระครูวินัยธร ( เฟื่อง ) วัดเลียบ ” ( วัดราษฎร์บูรณะ ) กรุงเทพมหานคร ได้สร้าง พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว สูง ๑ ศอก ๒๐ นิ้ว มาเป็นพระประธาน ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ ” หลวงพ่อสุ่มได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูแขวงนครในเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ท่านปกครองวัดอยู่ ๔๙ ปี จึงได้มรณภาพลง

เหรียญรุ่น 2 ปี 2500 เนื้อทองแดง
๖. หลวงพ่อโต พ.ศ.๒๔๔๘-พ.ศ.๒๔๗๑ หลวงพ่อโตได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภารต่อจากหลวงพ่อสุ่มที่มรณภาพ ท่านครองวัดอยู่ ๒๐ ปี จึงมรณภาพ

๗. พระครูอุปการโกศล ( หลวงพ่ออุป อิสฺสโร ) พ.ศ.๒๔๗๑-พ.ศ.๒๕๑๓ หลังหลวงพ่อโตมรณภาพ “ หลวงพ่ออุป ” ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดตานิม สืบมา และเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗ ท่านได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก “ วัดตานิม ” เป็น “ วัดเทพอุปการาม ” ทั้งท่านยังพัฒนาวัดได้สวยงามเจริญก้าวหน้าไม่แพ้วัดใดในยุคสมัยเดียวกัน ท่านปกครองวัดอยู่ ๔๒ ปี  จึงได้มรณภาพลง


พระพุทธชยันตีเมตตาทันใจโลกนาถ
๘. พระครูสิทธิพงษ์คณาทร ( หลวงพ่ออุ่น อภิวํโส ) พ.ศ.๒๕๑๓-พ.ศ.๒๕๕๕ เรียกได้ว่า “ หลวงพ่ออุ่น ” เป็นศิษย์เอกของ “ หลวงพ่ออุป ” ก็ว่าได้ เมื่อ หลวงพ่ออุป มรณภาพลงหลวงพ่ออุ่นก็ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา ทั้งท่านยังซ่อมสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดตามประสงค์ของหลวงพ่ออุปผู้เป็นอาจารย์ เช่น ท่านได้สร้างกำแพงรอบวัดพร้อมซุ้มประตู, สร้างหอสวดมนต์คอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น, สร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ๖๐ พรรษา ในหลวงรัชกาลที่ ๙, สร้างอาคารทรงไทยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ( หอสวดมนต์ ), สร้างกุฏิทรงไทยไม้สัก, สร้างหอระฆัง, สร้างศาลาการเปรียญทรงไทยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น, บูรณะกุฏิทรงไทยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น, สร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมทรงไทย, สร้างศาลาธรรมสังเวชทรงไทยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น และอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็กตามที่ หลวงพ่ออุป ผู้เป็นพระอาจารย์ได้สั่งเสียไว้   หลวงพ่ออุ่นปกครองวัดอยู่ ๔๒ ปี เท่ากับพระอาจารย์ จึงมรณภาพลง

๙. พระครูสิริมงคลนิวิฐ พ.ศ.๒๕๕๕-ปัจจุบัน หลังจากที่พระครูสิทธิพงษ์คณาทร ( หลวงพ่ออุ่น ) มรณภาพลง ท่าน “ พระครูสิริมงคลนิวิฐ ” ก็ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ท่านได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ “ หลวงพ่ออุป ” กับ “ หลวงพ่ออุ่น ” ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทั้งท่านยังได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดตานิมเรื่อยมา จนมีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับวัดอื่นๆ ในจังหวัด

อภินิหาร หลวงพ่ออุป

 ๑. นักเลงยิงพระยังต้องสยบให้
เหรียญหลวงพ่ออุป รุ่นสร้างศาลา
ปี 2536 เนื้อเงิน ( เหรียญย้อนยุค )
“ คุณตาบุญลืม วงเดือน ” ผู้เขียนขอเรียกท่านว่า “ ตาลืม ” ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี อยู่ บ้านตานิม ตำบลตานิม อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตาลืม กรุณาเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่แกอายุได้ ๒๑ ปี แกโดนเกณฑ์ไปเป็นทหารที่ค่ายธนะรัชต์ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนที่แกจะเดินทางเข้ากรมฯ พ่อได้มอบ “ รูปถ่ายรุ่นแรกของ หลวงพ่ออุป พร้อมสายสร้อยแบบเชือกร่มให้ ๑ เส้น ” พอแกได้มาแกก็เอาสวมคอทันที

และเมื่อมาถึงศูนย์ฝึกทหารใหม่ แกก็เจอ “ ครูฝึกปากดีจอมวางฟอร์มเข้าให้ ” ( จำชื่อครูฝึกไม่ได้แล้ว ) พอครูฝึกเห็น “ ตาลืม ” แขวนรูปพระมันก็วางฟอร์มน้าผู้ใหญ่แล้วพูดเสียงดังว่า “ มึงเอารูปตัวเมียที่ไหนมาแขวน ” ( ตาลืมแกเล่าให้ฟังแบบนี้จริงๆ ส่วนครูฝึกปากดีคนนี้นั้นเป็น “ นักเลงยิงพระ ” แกยิงพระมาเยอะ เยอะจนแกเลิกนับถือ เพราะไม่เคยมีพระเครื่ององค์ไหนที่ยิงไม่ออก แกว่า “ นับถือปืนดีกว่า ” 


สิ้นเสียงครูฝึก “ ตาลืม ” แห่งบ้าน ตานิม ก็ถึงกับโมโหจนเลือดขึ้นหน้า ในใจคิดว่า ‘ ถ้าอยู่ข้างนอกแล้วพูดจาแมวๆ แบบนี้ มีอันต้องโดนบาทาของแกเป็นแน่แท้ แต่ในเมื่อตนต้องมาอยู่ในที่ของเขาก็ต้องยอมเขาไปก่อนเพื่อความปลอดภัย หากแกเถียงออกไปคนที่โดนบาทาก็จะกลายเป็นตัวแกเอง ’ ตาลืมจึงก้มหน้าก้มตาแล้วพูดกับครูฝึกไปว่า

เหรียญหลวงพ่ออุป-หลวงพ่ออุ่น
ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ
3 มี.ค. 2556 เนื้อเงิน
“ นี่คือรูป หลวงพ่ออุป วัดตานิม ท่านเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ”

ครูฝึกว่า “ ถ้าศักดิ์สิทธิ์อย่างที่มึงว่า กูจะขอเอาไปลองยิงดูสักหน่อย ”

ตาลืมไม่อยากให้ไป แต่ก็ไม่อาจฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาได้  แกจึงถอดพระออกแล้วส่งให้แต่โดยดี

ครูฝึกปากดีกำพระเครื่องไว้แน่น แล้วตะโกนเรียกเพื่อนครูฝึกอีก ๒-๓ คน ให้ไปดูตนลองยิงพระที่สนามฝึกยิงปืนในค่าย ( อยากโชว์พาว ) เมื่อได้ที่เหมาะๆ มันก็กดพระลงบนคันดินด้านหลังแนวเป้า โดยยืนห่างออกมาไม่เกิน ๓ เมตร ก่อนจะชัก “ ปืนพกยี่ห้อโคลท์ ขนาด .๔๕ นิ้ว ” หรือบางคนถนัดเรียกว่า “ ปืนขนาด ๑๑ มม. ” ออกมากระชากสไลด์ขึ้นลำ จากนั้นก็เล็งไปที่เป้าหมายแล้วก็ยิงทันที


ปรากฏว่ามีแต่เสียงเหล็กกระแทกเหล็กดัง “ เชียะ ”  ปืนยี่ห้อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกายิงไม่ออก!!!
ปืนที่ใช้ยิงเป็น “ โมเดล 1911 ” อันเลื่องลือ ซึ่งเป็นระบบซิงเกิ้ลแอ๊คชั่น แม็กกาซีนหรือซองกระสุนปืนเรียงเดี่ยวบรรจุ ๗ นัด ส่วนระบบการยิงก็คือ เมื่อยิงนัดแรกแรงรีคอยล์ก็จะดันสไลด์ถอยหลัง แล้วเกี่ยวปลอกกระสุนที่ใช้ยิงไปแล้วมากระแทกเข้ากับตัวเตะปลอก เมื่อปลอกโดนเตะ กระสุนเปล่าก็จะกระเด็นออกมา เสร็จแล้วท้ายสไลด์จะเดินหน้ากลับไป พร้อมกันนั้นได้ดันกระสุนนัดใหม่จากแม็กกาซีนเข้าไปในรังเพลิง ซึ่งในขณะที่สไลด์ถอยหลังนั้น ยังได้ดันนกให้ง้างค้างเอาไว้ในตำแหน่งพร้อมยิงนัดต่อไป “ แต่ถ้ากระสุนด้านปืนยิงไม่ออก ก็จะเหนี่ยวไกยิงเป็นครั้งที่ ๒ หรือเหนี่ยวไกยิงทันทีแบบปืนดับเบิ้ลแอ๊คชั่น หรือแบบปืนลูกโม่ไม่ได้ ”

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่ออุ่น ปี 2515
เมื่อยิงนัดแรกไม่ออก ด้วยระบบซิงเกิ้ลอย่างที่กล่าวกันไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถเหนี่ยวไกสับกระสุนได้อีก ครูฝึกจึงต้องง้างนกจนสุดให้นกค้างเอาไว้ในตำแหน่งพร้อมยิง จากนั้นแกก็เหนี่ยวไกยิงซ้ำเข้าไปอีกที ( แบบนี้เรียกว่ายิงแบบซิงเกิ้ล ) ปรากฏว่า “ ก็ยังสับไม่แตกเหมือนเดิม ” พอกระสุนนัดนี้ไม่ลั่น เพื่อนๆ ครูฝึกจึงพูดขึ้นว่า “ ลูกคงชื้น มึงลองยิงนัดใหม่ดู ” คนยิงจึงกระชากสไลด์คัดลูกเก่าออก แล้วท้ายสไลด์ก็ดันกระสุนปืนนัดต่อไปเข้าในรังเพลิง จากนั้นแกก็ยิงอีก ก็ปรากฏว่า “ ครั้งนี้ก็ยังยิงไม่ออกเหมือนเดิม ” และนี่เป็นการเหนี่ยวไกครั้งที่ ๓ ยิงกระสุนเป็นนัดที่ ๒

ครูฝึกกระชากสไลด์คัดลูกเก่าออกแล้วเหนี่ยวไกยิงอีก แกทำแบบนี้จนกระสุนหมดแม็กก็ยังยิงไม่ได้ แกแปลกใจมากเพราะแกเป็นคนเล่นปืน ลูกปืนหรือก็เป็นลูกใหม่แบบแกะกล่อง แกอยากจะรู้ให้แน่แก่ใจว่า ‘ อะไรกันแน่ที่ทำให้ปืนขนาด ๑๑ มม. ยี่ห้อโคลท์ กับกระสุนแบบแกะกล่อง “ ด้าน ” จนยิงไม่ออก ’ ในใจของครูฝึกเริ่มคิดว่า ‘ นี่อาจเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่นำมาลองยิงตามที่พลทหารบุญลืมบอก ’ แต่แกก็ไม่ได้กระโตกกระตากอะไรออกไป เพราะกลัวว่าจะเสียฟอร์ม ส่วนอีกใจหนึ่งแกก็อยากจะพิสูจน์ให้รู้กันไปเลยว่า ‘ จะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องจริงหรือไม่ จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราวไม่ค้างคาใจกันอีกต่อไป ’

ครูฝึกจึงแคะพระออกมาจากเนินดินแล้วส่งคืนให้ “ ตาลืม ” จากนั้นแกก็เอา “ ลูกปืน ” ที่คัดออกทั้ง ๗ นัดมาบรรจุในแม็กกาซีนแล้วเสียบเข้าไปในด้ามปืนจนเข้าที่ ก่อนจะกระชากสไลด์แล้วยิงใหม่ไปที่เนินดินว่างเปล่าตรงที่เคยวางพระเอาไว้ และคราวนี้กระสุนก็ลั่นทุกนัด พอยิงเสร็จ “ ครูฝึกปากดี ” ได้หันหน้ามายิ้มแล้วพูดกับ “ ตาลืม ” ด้วยน้ำเสียงที่มีความกระด้างน้อยลงกว่าเก่าว่า “ วันหยุด มึงช่วยพาพวกกูไปกราบขอขมาลาโทษท่านที ”

๒. ตีกระเด้งๆ
รูปหล่อหลวงพ่ออุ่น กะไหล่ทอง ปี 2556
“ คุณจตุรงค์ ” ( ขอสงวนนามสกุล ) ปัจจุบันอายุ ๕๖ ปี แกเป็นคนบ้านตานิ่ม อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แกเล่าอภินิหารที่เกิดจากวัตถุมงคลของหลวงพ่ออุปให้ฟัง ดังนี้...
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ “ คุณจตุรงค์ ” ทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในตำแหน่งหัวหน้าแผนก ด้วยการที่แกเป็นคนตรงไปตรงมา พูดจาเสียงดังไม่กลัวใคร ซึ่งถ้าหากลูกน้องคนใดทำผิดแกจะด่าแบบไม่ไว้หน้าใครหน้าไหนทั้งสิ้น นั่นจึงทำให้มีลูกน้องหลายคนไม่พอใจ และหนึ่งในนั้นคือ “ นักเลงโตเจ้าถิ่น ” ( ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม )

“ เจ้านักเลงโต ” มันทุจริตต่อหน้าที่การงานมันจึงโดน “ คุณจตุรงค์ ” ต่อว่าเข้าให้ ที่สำคัญตอนที่มันโดนด่า พวกลูกน้องของมันก็อยู่ด้วย ทำให้มันอับอายขายขี้หน้าผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับลูกน้องของตนเอง มันจึงผูกใจเจ็บแค้นคุณจตุรงค์เรื่อยมา

และแล้วโอกาสของนักเลงโตเจ้าถิ่นที่จะแก้แค้นเอาคืนก็มาถึง เมื่อทางบริษัทจัดงานเลี้ยงฉลองใหญ่ขึ้น ในงานวันนั้นมีการแสดงดนตรีบนเวที โดยด้านล่างส่วนที่ติดกับเวทีจัดเป็นที่โล่งไว้สำหรับขาร็อกทั้งหลายได้เต้นกัน ถัดจากนั้นมาก็เป็นโต๊ะ ( จีน ) ของผู้บริหารแล้วไล่อันดับกันลงไปเรื่อยๆ จนถึงโต๊ะของคนงานระดับล่างสุด โต๊ะของคุณจตุรงค์อยู่อันดับถัดจากโต๊ะผู้บริหารลงมา ๒ แถว ส่วนโต๊ะของนักเลงเจ้าถิ่นกับลูกน้องถัดจากคุณจตุรงค์ลงไปอีก ๒ แถว

เมื่อเมากันได้ที่ คนงานทั้งหญิงชายได้ทยอยเดินออกไปเต้นกันที่หน้าเวทีอย่างสนุกสนาน ส่วนการจะออกไปยังหน้าเวทีได้นั้น จะต้องเดินผ่านโต๊ะของคุณจตุรงค์ ( โต๊ะคุณจตุรงค์อยู่ติดกับช่องทางเดินที่เว้นไว้ ) ไอ้นักเลงโตเจ้าถิ่นก็เห็นโอกาส โอกาสที่จะได้แก้แค้น และโอกาสที่จะได้สร้างชื่อชั้นบารมีนักเลงของตนเอง มันจึงคว้าขวดโค้ก ( ขวดแก้ว ) ขนาด ๑ ลิตร ติดมือออกมาด้วย จากนั้นมันก็บิดข้อมือยกขวดขึ้นซ่อนที่หลังแขน แล้วทำท่าจะเดินออกไปเต้นที่หน้าเวที


รูปหล่อหลวงพ่ออุป กะไหล่ทอง ปี 2556
เมื่อมันเดินมาถึงด้านหลังคุณจตุรงค์ มันก็เงื้อขวดไปจนสุดแขน จากนั้นมันก็หวดเข้าที่ศีรษะของคุณจตุรงค์เต็มแรง นั่นทำให้คุณจตุรงค์ถึงกับหัวคะมำไปข้างหน้า ตัวกระแทกเข้ากับโต๊ะจีนจนอาหารบนโต๊ะหกกลาดเกลื่อน

เสียงขวดโค้กขนาด ๑ ลิตร กระทบเข้ากับศีรษะด้านหลังของคุณจตุรงค์ดัง “ ผัวะ ” สนั่นหวั่นไหว ดังถึงขนาดวงดนตรีที่กำลังเล่นเพลงมันๆ ยังต้องหยุดการแสดง ส่วนคนที่เต้นกันอยู่หน้าเวทีก็ถึงกับต้องหยุดเต้นแล้วมองไปยังต้นเสียง

นักเลงเจ้าถิ่นไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น มันได้หวดขวดไปยังคุณจตุรงค์อีกครั้งหนึ่ง และนั่นก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่คุณจตุรงค์หันหน้ามามอง แล้วขวดโค้กก็ลงตรงแสกหน้าพอดิบพอดี ทีนี้คุณจตุรงค์ก็ถึงกลับหงายหลังผึ่งลงไปนอนกองอยู่กับพื้น แต่ยังไม่หมดสติ ส่วนโต๊ะจีนที่แกนั่งอยู่บัดนี้ได้คว่ำลงไปแล้ว ( แกเล่าให้ฟังว่าไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย ตอนนั้นแกรู้สึกงงมากกว่า ) ไอ้นักเลงเจ้าถิ่นได้ทีรีบกระโดดขึ้นคร่อมแล้วกระหน่ำตีเสียยกใหญ่ ส่วนคุณจตุรงค์ได้ใช้มือปัดป้องเอาไว้ ปัดได้บ้างไม่ได้บ้าง

“ นักเลงเจ้าถิ่นกระหน่ำตีทั้งหัว ทั้งแสกหน้า ตีทั้งใบหน้าของคุณจตุรงค์อย่างจังตั้งหลายที แต่คุณจตุรงค์กลับไม่เป็นอะไรเลย ใบหน้าก็ไม่มีร่องรอยใดๆ ให้เห็น มันจึงแปลกใจเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ทำให้มันถึงกับประหลาดใจอย่างหนักก็คือ เวลาที่มันตีขวดลงไป ขวดกลับกระเด้งๆ คล้ายกับว่า เอาขวดน้ำดื่มพลาสติกแบบไม่บรรจุน้ำมาตี ทั้งยังได้ยินเสียงดังป๊อกๆๆ ” ( เนื้อหาจากย่อหน้านี้มาจากปากคำของนักเลงเจ้าถิ่น )


วัดเทพอุปการาม หรือวัดตานิม ตั้งอยู่หมู่ที่ 2
ต.ตานิม อ.บางปะหัน จ.อยุธยา สร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.2322 โดย ตานิ่ม ศรีวิลัยลักษณ์ จึงเรียกชื่อ
วัดว่า วัดตานิ่ม ต่อมาเพี้ยนเป็น วัดตานิม
ครั้นสมัยพระครูอุปการโกศลได้เป็นเจ้าอาวาส
ในปี พ.ศ.2487 ได้ขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อ
วัดเป็น "วัดเทพอุปการาม"
เมื่อคุณจตุรงค์ตั้งตัวได้ แกก็ใช้มือซ้ายปัดขวดที่ตีลงมา จากนั้นก็กำหมัดขวาจนแน่นแล้วชกสวนขึ้นไป เข้าไปที่ปลายคางของไอ้นักเลงเจ้าถิ่น พอมันโดนหมัดมันก็ถึงกับหยุดชะงัก จากนั้นคุณจตุรงค์ก็ยันร่างไอ้นักเลงเจ้าถิ่นที่คร่อมแกอยู่จนกระเด็นถอยหลังลงไปนั่งอยู่กับพื้นด้านข้าง แล้วคุณจตุรงค์จึงรีบลุกขึ้นยืน จากนั้นแกได้ง้างเท้าหมายจะเตะไอ้นักเลงเจ้าถิ่นที่นั่งงงอยู่กับพื้นเพื่อเป็นการตอบโต้ แต่ก็ไม่ได้เตะเพราะมีเพื่อนๆ ของทั้งสองฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันแยกย้ายทั้งคู่ออกจากกัน พอนักเลงเจ้าถิ่นตั้งสติได้มันก็ใช้โอกาสนี้วิ่งหนีออกมาจากงาน

อนึ่ง หลายวันต่อมาได้มี “ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ” ซึ่งท่านเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในอำเภอวังน้อย ได้พา “ นักเลงเจ้าถิ่น ” คนก่อเรื่องมากราบขอขมาลาโทษ “ คุณจตุรงค์ ” เรื่องก็เลยจบ โดยในระหว่างที่คุยกัน “ นักเลงเจ้าถิ่นได้เล่าเหตุการณ์ตอนที่ใช้ขวดโค้กตีแล้วกระเด้งๆ ให้คุณจตุรงค์ฟัง คุณจตุรงค์เลยนำมาเล่าต่ออีกที ” เรื่องก็เป็นเช่นนี้แล

หลังจากที่นักเลงเจ้าถิ่นวิ่งหนีไปแล้ว ได้มีการสำรวจเนื้อตัวของคุณจตุรงค์ก็ไม่พบอาการบาดเจ็บใดๆ รอยปูดบวมทั้งที่หัวและที่ใบหน้าก็ไม่มีให้เห็น สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณจตุรงค์มีเพียงอย่างเดียว! อย่างเดียวจริงๆ ที่ว่านั่นก็คือ “ เสื้อแสงของแกที่ขาดหลุดลุ่ย ”

ส่วนผู้คนที่เห็นอภินิหารคาตาได้ถามคุณจตุรงค์ว่า “ มีอะไรดี ”
คุณจตุรงค์ตอบว่า “ มีพระปิดตารุ่นแรกของ หลวงพ่ออุป วัดตานิม อยู่เพียงองค์เดียว ”
หลวงพ่ออุป ท่านเป็นพระผู้ทรงคุณวิเศษชำนาญเวทวิทยาคมอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย หากมีการนำพระเกจิอาจารย์รุ่นราวคราวเดียวกัน หรือยุคสมัยเดียวกันกับท่านมาแข่งขันทางพุทธาคม เชื่อแน่ว่า “ ท่านต้องติดอันดับ ๑ ใน ๓ อย่างแน่นอน ”

หลวงพ่อท่านยังเป็น “ พระหมอ ” ท่านจะใช้วิชาไสยศาสตร์ช่วยเหลือผู้คนที่ถูกคุณไสย ลมเพลมพัด และของอาถรรพ์ต่างๆ ที่เข้าตัวจนหายกลายเป็นปกติ ส่วนพวก “ โรคเวรโรคกรรม ” ท่านก็จะดูชะตาราศีให้เสียก่อน แล้วค่อยใช้ยาสมุนไพรรักษาให้ตามอาการ หนักหน่อยก็ใช้อาคมเข้าช่วย ก็เป็นอันว่า “ หายขาดมานักต่อนัก ” ถึงขนาดชาวบ้านต่างกล่าวขานเล่าลือกันว่า “ หากถึงมือ หลวงพ่ออุป แล้ว รับรองไม่มีวันตายโหงอย่างเด็ดขาด ”

ทั้งท่านยังเป็น “ พระนักพัฒนา ” ท่านบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายใน วัดตานิม จนเจริญรุ่งเรืองสวยงามสมศักดิ์ศรี “ เสือจอมอาคมแห่งบางปะหัน ” แต่มิใช่ว่าท่านจะสร้างแค่ วัดตานิม เท่านั้น วัดอื่นๆ ที่มาขอบารมีท่าน ท่านก็รับเป็นเจ้าภาพช่วยสร้างให้เต็มกำลังความสามารถ หลวงพ่ออุป ไม่เคยปฏิเสธผู้ใด ใครมาขออะไรท่านๆ ให้หมด ท่านจึงเป็นที่เคารพรักและเทิดทูน ทั้งท่านยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาญาติโยมในอำเภอบางปะหัน


ศาลาวัดเทพอุุปการาม ( วัดตานิม )
นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาติ โดยสร้าง โรงเรียนวัดเทพอุปการาม ( อุปอุ่นพัฒนาประชาสรรค์ ) ขึ้นมา เพื่อให้กุลบุตรกุลธิดาได้มีความรู้สามารถเลี้ยงตัวได้ในอนาคต ในช่วงปลายชีวิตของท่าน ท่านได้สร้างอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็กเพิ่มขึ้นอีกหลัง แต่ยังไม่ทันเสร็จ หลวงพ่ออุป ก็มามรณภาพจากไปเสียก่อน ซึ่งก่อนหน้านั้น หลวงพ่ออุป ได้สั่งเสีย “ พระครูสิทธิพงษ์คณาทร ” ( หลวงพ่ออุ่น ) เจ้าอาวาสรูปต่อมาซึ่งเป็นศิษย์รักของท่านเอาไว้ว่า “ สร้างให้เสร็จ ” แล้วหลวงพ่ออุ่นก็ตอบแทนคุณพระอาจารย์โดยการสร้างอาคารเรียนที่ท่านสั่งไว้จนสำเร็จเสร็จสิ้น

และเมื่อ หลวงพ่ออุป มรณภาพไปแล้ว “ พระครูสิทธิพงษ์คณาทร ” หรือ “ หลวงพ่ออุ่น ” ก็ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ใกล้ชิดเอาไว้ว่า “ หากจะเผา หลวงพ่ออุป ก็ให้เผาไปพร้อมกับตัวท่าน ”

๔๒ ปีต่อมา “ หลวงพ่ออุ่น ” ก็ได้มรณภาพลง มีการเก็บร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านเอาไว้ ๑ ปี และเก็บร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของ “ หลวงพ่ออุป ” เอาไว้ ๔๓ ปี จากนั้นจึงมีพิธีพระราชทานเพลิงศพทั้งสองท่านในวาระเดียวกัน โดยท่านหนึ่งคือ “ พระอาจารย์ผู้เกรียงไกรที่มีอิทธิฤทธิ์เป็นที่เลื่องลือขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ” ส่วนอีกหนึ่งก็คือ “ ลูกศิษย์ผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า สมกับที่เป็นศิษย์รักของพระอาจารย์ผู้ทรงเวท ทั้งท่านยังมีความกตัญญูอย่างเอกอุหาผู้หนึ่งผู้ใดเสมอเหมือนเทียบเท่าได้ยากเต็มที ” โดยพระราชทานเพลิงศพไปพร้อมกันเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ก็เป็นอันว่า “ ตำนานความขลัง และตำนานแห่งความกตัญญูรู้คุณอย่างหาที่สุดมิได้แห่ง วัดตานิม  ได้จบลงแล้วอย่างสมบูรณ์ ”

อนึ่ง วัดเทพอุปการาม ( วัดตานิม ) กำลังบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัด หากท่านผู้อ่านผู้เจริญอยากทำบุญใหญ่กุศลผลบุญแผ่ไพศาล ก็ขอเชิญเช่าวัตถุมงคลได้ที่ วัดตานิม ตำบลตานิม อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๖-๘๐๕๓๔๐๔ พระสังเวียน ปญฺญาวุฑฺโฒ...สวัสดีครับ
( ขอขอบคุณ คุณฉัตรเพชร เดชรัตน์ ผู้ให้ข้อมูล )

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1212 พระครูอุปการโกศล ( อุป อิสฺสโร ) วัดเทพอุปการาม ( วัดตานิม ) ตำบลตานิม อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560 ราคาปก 60 บาท ภาพและเรื่องโดย เอกลักษณ์ เพริศพริ้ง )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #1212 #หลวงพ่ออุป #วัดตานิม #จังหวัดอยุธยา