พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ( รัชกาลที่ ๙ ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยันต์ประทับหลัง ”

ภาพและเรื่องโดย สุธน ศรีหิรัญ


พระขุนแผนเคลือบ รักษาแผ่นดิน
พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2531 โดยท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย พิศาล มูลศาสตรสาทร ท่านได้รับพระราชทานยันต์ประทับหลังมาจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในช่วงที่มีการสู้รบกันในพื้นที่ยุคนั้น ยันต์นั้นได้พระราชทานมาในแผ่นโล่โลหะ ในครั้งนั้น ท่านณัฏฐ์ ศรีวิหค เป็นผู้อำนวยการกองอัตรากำลังกรมการปกครอง ได้รับมอบจาก ท่านพิศาล มูลศาสตรสาทร ให้เป็นผู้ดำเนินการสร้าง พระขุนแผนเคลือบ แล้วนำยันต์ที่ได้รับพระราชทานมาประทับไว้ที่หลังองค์พระขุนแผนเคลือบ ท่านณัฏฐ์ ศรีวิหค จึงได้ดำเนินการสร้าง โดยติดต่อหาช่างและหามวลสารต่างๆ จากนั้นได้นำพระขุนแผนที่สร้างไปเคลือบที่โรงงานย่านพระประแดง ด้วยความร่วมมือจาก ท่านขวัญชัย วสวงค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอพระประแดง

 พระขุนแผนเคลือบ
รักษาแผ่นดิน สีน้ำตาล
( เผาสองครั้ง )
พระขุนแผน ที่สร้างนั้นมีเคลือบสองแบบคือ เผาครั้งเดียว องค์พระค่อนข้างใหญ่ และ เผาสองครั้ง องค์พระจะเล็กลงเล็กน้อย น้ำเคลือบมีสีน้ำตาลเป็นส่วนมาก โทนสีจะมีอ่อนบ้างแก่บ้าง และสีเขียวหยก ซึ่งหลายเฉดสี และสีครามซึ่งมีเป็นส่วนน้อย หลังจากสร้างเสร็จแล้ว ท่านพงศธร สัจจชลพันธ์ ( ภายหลังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ) เมื่อครั้งเป็นนายอำเภอได้ดำเนินการไปให้เกจิอาจารย์ปลุกเสกเดี่ยวหลายรูป ส่วนพิธีการและรายละเอียดการสร้างนั้น ขอนำเอาเนื้อความที่ปรากฏในแผ่นพับที่พิมพ์ในครั้งนั้นมานำเสนอดังนี้

ประวัติการสร้าง พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ทรงเป็นยอดนักรบที่เก่งกล้าสามารถมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ได้ทรงกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย พระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่คือทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา ท่ามกลางวงล้อมของข้าศึก ณ ยุทธภูมิหนองสาหร่ายสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ.2135 ทรงแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวงปานประหนึ่งเทพยดาปกป้องคุ้มครองปิดปัดกระสุนปืนไฟ หอก ดาบ แหลน หลาว ธนู หน้าไม้ของข้าศึกที่รุมล้อมพระวรกาย กฤษฎาภินิหารแห่งพระองค์เป็นที่เลื่องลือ ศัตรูครั่นคร้ามไม่กล้ารุกรานประเทศไทย นานถึง 150 ปี

ตามประวัติในรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้มีการสร้างวัตถุมงคลซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปในหมู่พุทธศาสนิกชน คือ พระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระเครื่องที่ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว พระอาจารย์ของพระองค์สร้างถวาย เพื่อพระราชทานแม่ทัพนายกองในการออกศึกสงคราม เพื่อให้แคล้วคลาด ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง และมีชัยชนะต่อข้าศึก ส่วนที่เหลือได้บรรจุในพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล อำเภอพระนครศรีอยุธยา ( กรุงเก่า ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสืบทอดพระศาสนาตามคตินิยมโบราณราชประเพณี องค์พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนั้น พระองค์ทรงสร้างเพื่ออุทิศแก่เหล่าทหารหาญที่สละชีพเพื่อชาติ และเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะต่อพระมหาอุปราชาในสงครามยุทธหัตถี

พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน เป็นพระเครื่องชั้นนำหายาก มีพุทธคุณทรงไว้ซึ่งอำนาจตบะเดชะ คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยมสูง เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ ความเจริญรุ่งโรจน์ นับเป็นราชันแห่งพระเครื่อง ประกอบด้วยศิลปะที่งดงาม เชื่อกันว่าด้วยพุทธานุภาพของพระขุนแผนเคลือบนี้เอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงในราชการสงครามตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
พระขุนแผนเคลือบ รักษาแผ่นดิน สีเขียว
( เผาครั้งเดียว )

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ยอดนักรบ และด้วยความเชื่อมั่นว่า ดวงพระวิญญาณของพระองค์ยังคงอยู่ปกป้องรักษาชาติไทย ให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวงตลอดจนถึงปัจจุบัน

นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีดำริให้จัดสร้าง พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน ขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเพื่อเป็นวัตถุมงคลคุ้มครองป้องกันภยันตราย ผู้ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ ตลอดจนเป็นสิริมงคลให้มีความเจริญก้าวหน้าในกิจการทั้งปวง
 พระขุนแผนเคลือบ รักษาแผ่นดิน สีคราม ( เผาสองครั้ง )

พุทธลักษณะ
ด้านหน้า องค์พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ฐานเขียงชั้นเดียว วงพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรโปน พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์รูปกระจับคมชัด รูปทรงเป็นพุทธศิลปะยุคอยุธยาตอนต้น รูปแบบคล้ายคลึงกับขุนแผนเคลือบโบราณ
ด้านหลัง ได้อัญเชิญยันต์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร เป็นยันต์ประทับหลังองค์พระ เป็นรูปยันต์สามเหลี่ยม รอบยันต์ทั้งสามด้านมีอักษรภาษาไทย เป็นข้อความว่า “ รักษาแผ่นดิน เหมือนดั่งผึ้งรักษารัง ” ภายในบรรจุรังผึ้งเก้าช่อง เหนือรังผึ้งเป็นอุณาโลม ยันต์และอักขระทั้งหมดเป็นร่องลึกลงในเนื้อพระ


สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้อธิษฐานจิตแผ่เมตตาปลุกเสกเดี่ยว ต่อหน้า
พระประธานในพระอุโบสถวัดใหญ่ชัยมงคล
พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 31
ขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน นำเข้าพิธี
พุทธาภิเษก 9 ครั้ง และนำไปให้เกจิอาจารย์
ขลัง เมตตาปลุกเสกเดี่ยวอีก 9 วาระ
ส่วนประกอบของเนื้อ
1. ผงวิเศษของเก่า และผงซึ่งขูดจากแผ่นอักขระของพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ 18 องค์ โดย สมเด็จพระญาณสังวร เจริญภาวนาแผ่เมตตาในอักขระทุกแผ่นและแม่พิมพ์ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 31

2. น้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประกอบพิธีตัก พิธีเสกจากทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย และประกอบพิธีที่วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 30


 ท่านพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ได้กระทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เทพยดาทั้งปวง โดยอัญเชิญมาร่วมพิธี
ปลุกเสกในครั้งนี้ด้วย
3. ดินผสมสำหรับทำเครื่องกระเบื้องเคลือบ ได้นำส่วนผสมทั้ง 3 ทำพิธีผสมเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 31 แล้วนำเนื้อดินผสมผงวิเศษ และน้ำศักดิ์สิทธิ์ กดพิมพ์ ผึ่ง แต่ง เผาอบ และเผาเคลือบสีหลายขั้นตอนจนเสร็จเป็นองค์พระ เนื้อในสีขาวแกร่ง สีเคลือบมันแกร่งอย่างผิวกระจก เคลือบเฉพาะด้านหน้า และข้าง มี 2 สี คือ สีน้ำตาล และ สีเขียวหยก ส่วนที่เป็นร่องลึกสีเข้ม ส่วนนูนสูงสีจาง
พระขุนแผนเคลือบ รักษาแผ่นดิน
สีน้ำตาล (เผาครั้งเดียว)

พิธีพุทธาภิเษก นำเข้าพิธีพุทธาภิเษก 9 ครั้ง คือ
1. พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธสีหภูมิบาล ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ 15 มิ.ย. 31
2. พิธีพุทธาภิเษกหลวงพ่อพระเสริมจำลอง ที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ เมื่อ 18 มิ.ย. 31
3. พิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องและพระบูชา ที่วัดร่มโพธิ์ทอง สุพรรณบุรี เมื่อ 2 ก.ค. 31
พระขุนแผนเคลือบ รักษาแผ่นดิน
สีเขียวหยก (เผาสองครั้ง)
4. พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน ณ พุทธศาสนสถานค่ายสุรนารี นครราชสีมา เมื่อ 25 ก.ค. 31
5. พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูป ที่วัดรวกสุทธาราม กรุงเทพฯ เมื่อ 26 ก.ค. 31
6. พิธีพุทธาภิเษกพระแก้วมรกต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ 29 ก.ค. 31
7. พิธีพุทธาภิเษกพระแก้วมรกต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ 12 ส.ค. 31
8. พิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งวิสุทธาธิบดี ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ เมื่อ 24 ส.ค. 31
9. พิธีพุทธาภิเษกพระแก้วมรกต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ 10 ก.ย. 31

ยันต์ประทับหลัง พระขุนแผนเคลือบรุ่น รักษาแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ต

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้
นายพิศาล มูลศาสตรสาทร
และได้นำไปให้พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านอิทธิฤทธิ์ในปัจจุบันทำการแผ่พลังเมตตาจิตปลุกเสกเดี่ยวอีก 9 รูป 8 วาระ ดังนี้
1. หลวงพ่ออุตตมะ ที่วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี เมื่อ 23 มิ.ย. 31
2. หลวงพ่อแช่ม ที่วัดดอนยายหอม นครปฐม เมื่อ 4 ก.ค. 31
3. หลวงพ่อพรหม ติสสเทโว ที่วัดขนอนเหนือ อยุธยา เมื่อ 6 ก.ค. 31
4. พระอาจารย์บัว ที่วัดหลักศิลามงคล นครพนม เมื่อ 9 ก.ค. 31
5. พระอาจารย์คำพัน ที่วัดพระธาตุมหาชัย นครพนม เมื่อ 10 ก.ค. 31
6. หลวงปู่หล้า ที่วัดป่าตึง เชียงใหม่ เมื่อ 16 ก.ค. 31
7. หลวงพ่อเกษม เขมโก ที่สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง เมื่อ 15 ก.ค. 31
8. หลวงปู่เครื่อง สุภัทโธ ที่วัดสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ เมื่อ 6 ส.ค. 31
ซองบรรจุ ขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน
9. สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ได้อธิษฐานจิตแผ่เมตตา ปลุกเสกเดี่ยว ต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 31 ในพิธีดังกล่าว ได้กระทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เทพยดาทั้งปวง โดยอัญเชิญมาร่วมพิธีปลุกเสกในครั้งนี้ด้วย

ยันต์ประทับหลัง พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน
แผ่นผงผสมซึ่งเกจิอาจารย์ลงยันต์แผ่เมตตาจิตให้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร มีความหมายที่อาจพิจารณาได้ 2 นัย

ประการที่ 1 รังผึ้งเก้าช่องคงจะหมายถึงแผ่นดินแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อุณาโลมเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสิริมงคล ส่วนอักษรภาษาไทย ความหมายชัดเจนว่าเป็นพระบรมราโชวาทมีพระราชประสงค์ให้ รัก สามัคคี และเสียสละ รักษาชาติบ้านเมือง เหมือนผึ้งรักษารัง

ประการที่ 2 ยันต์สามเหลี่ยม หมายถึง พระรัตนตรัยซึ่งมักจะใช้อักขระ มะ อะ อุ เป็นภาษาบาลีกำกับ ส่วนรังผึ้ง 9 ช่อง หมายถึงหัวใจนวหรคุณ ซึ่งมักจะใช้อักษร อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ เป็นภาษาบาลีกำกับ  อันเป็นคาถาแห่งอำนาจตบะ เดชะ คงกระพันชาตรีแคล้วคลาดเป็นมหาอุตม์ เป็นเมตตามหานิยม มีชัยชนะ และความเจริญรุ่งเรือง

แผ่นพับ ขุนแผนเคลือบ
รุ่นรักษาแผ่นดิน
ท่านณัฏฐ์ ศรีวิหค ผู้ให้ข้อมูล
พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน เป็นพระเครื่องที่มีมหามงคลสูงสุด เพราะ ยันต์ประทับหลัง นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งและสูงส่งยิ่ง ปัจจุบันยังมีคนรู้จักน้อย เพราะแจกไปเฉพาะในแวดวงข้าราชการสายปกครองในกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ.2531 แต่มีหลายคนเข้าใจผิดว่า พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน นี้ปลุกเสกโดย “ หลวงปู่ดูลย์ วัดบูรพาราม ” ก็เนื่องด้วยคงเป็นเพราะเข้าใจว่า ท่านพิศาล มูลศาสตรสาทร ผู้สร้างนั้นมีความสนิทใกล้ชิดกับหลวงปู่ดูลย์ก็เป็นได้ แต่ความจริงคือ พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน นี้ สร้างปี พ.ศ.2531 ภายหลังจาก หลวงปู่ดูลย์ มรณภาพไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2526 แต่ถึงกระนั้น พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน ก็ได้รับการปลุกเสกอย่างดีหลายครั้งจากเกจิอาจารย์ชั้นสุดยอดในยุคนั้น อีกทั้งมวลสารที่สร้างก็มาจากแผ่นผงจารยันต์อักขระจากเกจิอาจารย์มากมายหลายองค์ ตามรายละเอียดที่ได้เสนอไปแล้ว จำนวนการสร้าง 10,000 องค์เท่านั้น สร้างเพื่อแจกผู้รักษาแผ่นดินไทย จึงเป็นการสร้างที่มีเจตนาบริสุทธิ์ผุดผ่องและเป็นมงคลที่สุด จึงเป็นวัตถุมงคลอันควรค่าแก่การบูชาสักการะอย่างยิ่ง

ขอขอบพระคุณ ท่านณัฏฐ์ ศรีวิหค เอื้อเฟื้อข้อมูล

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1205 พระขุนแผนเคลือบ รุ่นรักษาแผ่นดิน พ.ศ.2531 ปักษ์หลัง เดือนมกราคม พ.ศ.2560 ราคาปก 60 บาท ภาพและเรื่องโดย สุธน ศรีหิรัญ )

วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #1210 #พระขุนแผนเคลือบ #รุ่นรักษาแผ่นดิน