ยันต์ ศาสตร์แห่งมหาพุทธาคม

ภาพและเรื่องโดย สีหวัชร สุทัศนาคม
อาจารย์หนู หรือ อาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร
ข้าพเจ้าเป็นคนที่ลืมความแก่ และพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ยอมแก่ สาเหตุนั้นคงมาจากการที่ข้าพเจ้ารู้จักคนแก่เป็นจำนวนมาก ตัวเองเลยกลายเป็นเด็กทุกที คนแก่หรือเรียกให้ไพเราะขึ้นมาว่า ผู้ชรา ที่ข้าพเจ้ารู้จักนี้แทบทั้งหมด เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรอบรู้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อเทียบอายุของท่านผู้ชราเหล่านั้นกับตัวข้าพเจ้าเองแล้ว ข้าพเจ้ากลายเป็นเด็กหนุ่มไปได้เสมอ และจะต้องกลายไปเป็นเด็กประถมเ มื่อเทียบภูมิปัญญาความสามารถกับท่านทั้งหลายเหล่านั้น 
เมื่อปี พ.ศ.2517 ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.1 (สมัยนั้นเรียกอย่างนี้) ปิดเทอมใหญ่เพื่อนรักได้ไปบวชเณรที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก ได้ชวนข้าพเจ้าไปอยู่เป็นเพื่อน และที่วัดแห่งนี้นี่เองที่ข้าพเจ้าในวัยรุ่น ได้พบเห็นได้รู้จักกับท่านผู้ชราท่านหนึ่ง ซึ่งท่านมางานทำบุญที่วัดนี้เสมอ วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ท่านอุปถัมภ์มาจนตลอดชีวิตของท่าน ข้าพเจ้าได้ทราบว่าพื้นเพเดิมของท่านอยู่ที่นี่เอง ท่านเป็นคุณตาของเพื่อนข้าพเจ้า ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงพลอยรู้จักและเรียกท่านว่า คุณตา หรือ คุณตาหนู เหมือนกับที่ครอบครัวเพื่อนเรียก ต่อมาภายหลังข้าพเจ้าได้กลายเป็นคนเสิร์ฟน้ำและ อาหารนิรนามในงานที่คุณตาจัดอยู่เนืองๆ คุณตาหนู นี้ผู้อื่นเรียกกันว่า อาจารย์หนู หรือ อาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร ผู้เป็นอดีตพระเลขาของ สมเด็จพระสังฆราชแพ ติสสฺเทวะ มหาเถระ นั่นเอง

สมเด็จพระสังฆราชแพ ติสสฺเทวะ มหาเถระ
คุณตาหนู เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือมาก ท่านเป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีความรอบรู้มากมายเหลือเกิน มากจนน่าพิศวงว่า ท่านรู้และจดจำเรื่องราวตั้งมากมายขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้งคุณตาหนูยังเป็นผู้ซ่อนคม เรื่องภูมิความรู้ของท่านไว้อย่างมิดชิด คนส่วนใหญ่จะมาหาคุณตาหนูด้วยเรื่อง พระกริ่ง วัดสุทัศน์ เพราะคุณตาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง พระกริ่ง จนคนทั้งหลายเรียกท่านว่า ปรมาจารย์ พระกริ่ง คุณตาหนู ได้เคยรับใช้ใกล้ชิดกับ สมเด็จพระสังฆราชแพ มาก่อน ได้รู้ได้เห็นตลอดจนร่วมในพิธีมากที่สุด
คนทั้งหลายมักทราบเพียงว่าคุณตาหนูชำนาญเรื่อง พระกริ่ง วัดสุทัศน์ และเป็นผู้ที่แต่งพระกริ่งสวยงามมาก ความเข้าใจเช่นนี้ต้องเรียกว่าทั้งถูกและผิด แน่นอนว่าคุณตาหนูเป็น ปรมาจารย์ พระกริ่ง แต่ถ้าคิดเพียงแค่นี้นับว่าผิด ความจริงที่คนส่วนมากไม่ทราบก็คือ คุณตาหนู หรือ อาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร เป็นผู้รอบรู้เรื่องกรรมฐาน ตลอดจนเรื่องของ อักขระเลขยันต์มาก มากจนเหลือเชื่อว่าคุณตาหนูซ่อนภูมิเรื่องนี้เอาไว้ได้อย่างไร
ข้าพเจ้าพลอยได้รับรู้เรื่อง การสร้างเหรียญรุ่นแรกของ พระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเป็นพระสงฆ์จริงแท้รูปหนึ่งของไทย ท่านเป็นพระที่มีภูมิธรรมสูงไม่ธรรมดา มีความสนิทสนมกันกับคุณตาหนูมาก คือว่าขณะที่ดำเนินการสร้างเหรียญอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้รู้จัก คุณตาหนู หรือ อาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร แล้ว ได้ยินได้ฟังถึงสาเหตุของการสร้างเหรียญรุ่นนี้อยู่พอดี และอยากได้มากด้วย เลยมีความสนใจสอบถามไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่เหรียญรุ่นนี้ออกให้ทำบุญ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวและกินนอนอาศัยอยู่ที่วัดนี้เอง เหรียญที่ว่านี้เป็น เหรียญรุ่นแรก ฉลองตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ของท่านเจ้าอาวาส
เหรียญรุ่นแรกนี้ ทั้งคุณตาหนูและหลวงพ่อเจ้าอาวาส เห็นพ้องต้องกันว่า ควรสร้างเป็น รูปพระพุทธ เสียก่อนจึงจะดี หากจะสร้างเป็นเหรียญรูปเหมือนของท่านเจ้าอาวาสนั้น ค่อยสร้างในโอกาสต่อไป และในครั้งนี้ยังมีการสร้าง เหรียญรูปเหมือนของ หลวงพ่อเกิด วัดสะพาน ซึ่ง หลวงพ่อเกิด วัดสะพาน อ.บ้านนา จ.นครนายก นี้ ท่านเป็น พระอุปัชฌาย์ ของท่านเจ้าอาวาสนั่นเอง
ที่ด้านหลัง เหรียญพระพุทธนี้เป็น ยันต์ ที่มีอักขระไม่ซับซ้อนมากนัก มองดูแล้วมันไม่โอ่อ่าอลังการอะไรเลย ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ข้าพเจ้าจึงเรียนสอบถามคุณตาหนูว่า นี่คือ ยันต์ อะไร คุณตาหนูท่านใจดีมากได้อธิบายว่า ยันต์ นี้เรียกว่า ยันต์พระรัตนตรัย เป็น ยันต์ สำคัญ ยันต์ หนึ่งที่อยู่ใน ยันต์ 108 นะ 14 ที่ สมเด็จพระสังฆราชแพ ทรงใช้หล่อ พระกริ่ง วัดสุทัศน์
ในงานฉลองตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ของหลวงพ่อเจ้าอาวาสนี้เอง คุณตาหนูยังได้แจก พระกริ่ง ขนาดย่อมๆ ให้แก่ผู้ช่วยงานหลายท่าน เป็น พระกริ่ง ท่านเจ้าคุณศรีฯ ประหยัด ข้าพเจ้ารู้สึกชอบใจในพุทธลักษณะของพระกริ่ง มาก ทั้งแปลกใจว่า พระอะไรเขย่าแล้วมีเสียงกรุ๊กกริ๊กด้วย พระกริ่ง รุ่นนี้ต่อมาคุณตาหนูได้เมตตามอบให้ข้าพเจ้า 1 องค์ นับเป็น พระกริ่ง วัดสุทัศน์ องค์แรกในชีวิต
ข้าพเจ้าเริ่มสนใจใน ตำรับอักขระ เลขยันต์ ชุด ยันต์ 108 นะ 14 ได้มีโอกาสได้ดู คัมภีร์ ยันต์ 108 นะ 14 ที่เป็นคัมภีร์สีดำๆ มีตัวอักษรเป็นสีขาว ลายมือที่เขียนสวยงามมาก สวยทั้ง อักษรไทย - อักษรขอม ต้องเป็นระดับลายมือของอาลักษณ์ หรือท่านผู้มีความรู้สูงอย่างแน่นอน และในคัมภีร์สีดำๆ นี่เอง ข้าพเจ้าได้เห็น ยันต์ ที่ลงไว้ที่หลังเหรียญของ หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ท่านดังที่กล่าวมาแล้ว เรียกว่า ยันต์พระรัตนตรัย จริงๆ
ยันต์พระรัตนตรัย เป็น ยันต์ ที่เห็นแล้วต้องรู้สึกว่าเป็น ยันต์ เล็กๆ แบบหนึ่ง ไม่น่าที่จะมีความสำคัญอะไรนักหนา ไม่หรูหราอลังการเอาเสียเลย ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง ยันต์พระรัตนตรัย นี้ต้องนับว่าเป็น ยันต์ สำคัญ ในระดับต้นๆ ของ ยันต์ 108 นะ 14 ที่ต่อมาภายหลังมักจะเรียกกันว่า ตำรา ยันต์ หล่อพระกริ่ง แต่ในตำราจริงๆ มิได้บอกไว้ว่าเป็น ยันต์ หล่อพระกริ่ง เลย ในคัมภีร์ระบุไว้ว่า เปนการลงหล่อพระไชย ฉลองพระเดชพระคุณในรัชกาลปัตยุบันนี้ (เขียนตามต้นฉบับคัมภีร์)
ทำไม ยันต์พระรัตนตรัย ซึ่งดูเป็น ยันต์ เล็กๆ นี้ ข้าพเจ้าถึงว่าเป็น ยันต์ สำคัญ เรื่องนี้มีเหตุผลที่พิจารณาได้ง่ายๆ คือ ใน ยันต์ 108 จะมียันต์ที่ถูกกำหนดให้เป็น ยันต์ บังคับ สำหรับลงบรรจุใต้ฐาน พระสมภาร เราเรียกพระแบบนี้กันว่า พระบรรจุดวงชะตา บางตำราท่านเรียก พระพิชัยสงคราม เช่น พระปางห้ามสมุทร บรรจุดวงชะตา นั่นเอง พระบรรจุดวงชะตา นี้ถือว่าเป็นของสูงสร้างยากมาก ยันต์ ชุดที่ใช้ลงแล้วบรรจุไว้ในองค์พระนั้น โบราณจารย์ได้คัดแยกออกมาจาก ยันต์ 108 เรียก ยันต์ ชุดนี้ว่า ชุดยันต์ นพเคราะห์ ยันต์พระรัตนตรัย ก็เป็น ยันต์ หนึ่งในจำนวนนั้น โดยเป็น ยันต์ ประจำวันอังคาร หรือ ยันต์ เทพยดาพระอังคาร
ยันต์พระรัตนตรัย นี้ต้นฉบับเขียนเป็น ยันต์พระรัตนไตรย์ เป็น ยันต์ ในลำดับที่ 21 ของ ยันต์ 108 นะ 14 เมื่อถอดออกมาแล้วจะเป็น ยันต์ประจำพระอังคาร ใช้ลงในผ้าสีชมพู บรรจุเข้าไว้ในองค์พระพร้อมกันกับ ยันต์นพเคราะห์ อื่นๆ และ ยันต์ดวงพิชัยสงคราม อันลือลั่นนั่นเอง
ยันต์พระรัตนตรัย ประกอบด้วย อักขระหัวใจ 3 ชุด คือ หัวใจแก้วสามดวง หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ หัวใจพระไตรปิฎก พร้อมทั้งมีตัว อุ ตัวเดียวโดดๆ ที่เรียกว่า อุองการ มี จันทร์ สูรย์ อุณาโลม ทั้งหมดมีดังนี้
หัวใจแก้วสามดวง อิสวาสุ ( อิ สวา สุ ) 
หมายถึง พระพุทธคุณ (อิติปิโสฯ) พระธรรมคุณ (สวากขาโตฯ) พระสังฆคุณ (สุปะฏิบันโนฯ) อักขระอิสวาสุนี้ได้มาจากตัวต้นของบทสรรเสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ นั่นเอง นับถือกันว่ามีคุณวิเศษทางคุ้มครองป้องกันภัยเป็นสิริมงคลยิ่ง
หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ นะโมพุทธายะ 
หมายถึง พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ในกัปนี้ มีตำนานโบราณอยู่ว่า ครั้งที่ท่านท้าวสหบดีพรหมาสร้างโลกนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นมี ดอกบัวผุดขึ้นมา 5 ดอก แต่ละดอกมีอักขระหนึ่งตัว ทรงเห็นอักขระ นะ ขึ้นมาก่อน แล้วจึงเห็นอักขระขึ้นมาครบ 5 ตัว เป็น นะ โม พุท ธา ยะ
ท่านท้าวสหบดีพรหมา (โบราณเรียกท้าวสหัมบดี อ่าน สะหัมบอดี) ทรงพยากรณ์ว่า โลกยุคนี้เรียกว่า ภัทรกัป แปลว่า ยุคอันดียิ่งประเสริฐยิ่ง เพราะมี พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มากถึง 5 พระองค์
เมื่ออักขระตัวแรกที่ปรากฏคือ อักขระ นะ ดังนั้นอักขระ นะ คือปฐมอักขระแรก และอักขระชุดแรกที่ปรากฏขึ้นมาพร้อมคราวเดียวกันคือ อักขระ นะ โม พุท ธา ยะ ดังนั้น นะ โม พุท ธา ยะ คือ ชุดปฐมอักขระชุดแรก
นะ คือ พระกุกกุสันโธพุทธเจ้า เป็นอาโปธาตุ (น้ำ) มีกำลัง 12
โม คือ พระโกนาคมพุทธเจ้า เป็นปถวีธาตุ (ดิน) มีกำลัง 21
พุท คือ พระกัสสปพุทธเจ้า เป็นเตโชธาตุ (ไฟ) มีกำลัง 6
ธา คือ พระโคดมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) เป็นวาโยธาตุ (ลม) มีกำลัง 7
ยะ คือ พระอริยเมตไตรยพุทธเจ้า เป็นอากาศธาตุ มีกำลัง 10
กำลังธาตุ ทั้งหมดรวมกันได้ 56 เท่ากับเป็น กำลังพระพุทธคุณ เลขจำนวนนี้ไทยสยามโบราณเอามาใช้เป็นตัวตั้งคำนวณเลขหลายชุด โบราณเรียกว่า เยียดเบงคงเบง เป็นการฝึกหัดคณิตศาสตร์ ที่ใช้ตำนานต่างๆ เข้ามาผสมผสานได้อย่างลงตัว เช่น หัดทำบวกลบคูณหาร แต่แทรกการสอนตำนานพระพุทธศาสนาลงไปด้วย เช่น นะโมพุทธายะ ซึ่งแทรก ตำนานพระพุทธเจ้า ในกัปปัจจุบันที่มีกำลังธาตุต่างๆ คิดไปคิดมาแล้วได้เป็น กำลังพระพุทธคุณ 56 กำลังพระธรรมคุณ 38 กำลังพระสังฆคุณ 14
ในทางวิทยาคมนับถือว่า อักขระหัวใจห้าพระองค์ มีคุณวิเศษครอบคลุมครบทุกด้าน
หัวใจพระไตรปิฎก มะ อะ อุ 
ครั้งที่มีการทำปฐมสังคายนาพระไตรปิฎกนั้น ได้มีพระอรหันต์ 3 รูป เป็นผู้นำในการรวบรวมหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระศาสดา ปรากฏว่ามีมากมายรวมไว้ได้ถึง 3 (ไตร) ตะกร้า (ปิฏะกะ) เป็นตะกร้าแบบแขกอินเดียที่ตะกร้าใหญ่มากๆ จึงเรียกว่า พระไตรปิฎก
พระมหาเถระอรหันต์ 3 รูป ผู้เป็นผู้นำในการทำปฐมสังคายนานี้คือ พระมหากัสสปอรหันต์ มะ พระอานนท์อรหันต์ อะ และ พระอุบาลีอรหันต์ อุ ในทางวิทยาคมใช้ในทางคุ้มครองป้องกันได้สารพัดภัย
เมื่อจะทำ ยันต์พระรัตนตรัย นี้ ท่านให้ลงอักขระ หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ ก่อน แล้วจึงลงอักขระ หัวใจแก้วสามดวง หัวใจพระไตรปิฎก อุองการ (คืออักขระ อุ ตัวเดียว ที่ด้านบนมี จันทร์ สูรย์ และ อุณาโลม) ในการลงอักขระให้ตั้งสมาธิ กำหนดลมหายใจภาวนาสูตรไปด้วย มิใช่ลงอักขระแบบลอกๆ กันไป
สูตรที่ใช้ลงอักขระมีหลายสูตร เช่น เมื่อลง อักขระ นะ ให้ภาวนาสูตร นะกาโรโหติสัมภะโว จงมาบังเกิดเป็น นะ ดังนี้ อักขระยันตังอุปปัชชะติ อักขระยันตังสันตังวิกรึงคะเร แบบนี้คือ สูตรลงและกรึงอักขระด้วย ลงอักขระอะไรก็ออกชื่ออักขระตัวนั้น
ยันต์พระรัตนตรัย นี้จะเห็นว่ามี เส้นลากระหว่าง ตัวอักขระด้วย จะใช้สูตรนี้ ยันตายันติอัฏฐิยันตา
อุองการ มีสูตรดังนี้ อุองการะเสวะราชิโน อุกาโรโหติสัมภะโว อุองการ มีที่มาที่ไปอยู่ใน ตำราลบผงวิทยาคม ที่เรียกกันว่า ผงวิเศษ อันนี้ไม่ใช่ ผงวิเศษ ตราร่มชูชีพ นะท่านผู้อ่าน เป็นผงวิเศษที่เกิดจากการนั่งหลังขดหลังแข็งเรียกสูตรเขียนไปตามตำรา ซึ่งเป็นการบังคับศิษย์ให้พากเพียรทำวิชาอย่างทรหดอดทนยิ่ง เขียนๆ ลบๆ จนจบได้ผงวิเศษมานิดเดียว
อุองการ มีอยู่ใน คัมภีร์ลบผงวิเศษ หลายคัมภีร์ แต่ผู้ชอบวิทยาคมแทบทั้งหมดนึกว่า อุองการ มีอยู่แค่ใน คัมภีร์มหาราช เท่านั้น เรื่องนี้ก็คงต้องไปพากเพียรหัดทำและพิจารณาถึงการลบผงวิเศษกันใหม่ เดี๋ยวก็จะนึกออกกันเอง อุองการ มีแทรกไว้ในการลบผงวิทยาคมตำราอื่นด้วย สุดแต่ลีลาของ อุองการ ว่าโบราณจารย์ท่านแทรกเข้าไปตรงไหน อุองการ ที่เห็นชัดเจนกว่าใครเขานั้นอยู่ใน ตำรามหาราช ก็เลยนึกว่า อุองการ มีแต่ในตำรามหาราชเท่านั้น
สำหรับ สูตรลง จันทร์เสี้ยว ใช้สูตรว่า จันทะองการะวิชายะเต สูตรลง สูรย์ว่า สุริยะองการะวิชายะเต สูตรอุณาโลมว่า อุณาโลมาองการะวิชายะเต
จันทร์ หมายถึงกลางคืน สูรย์ หมายถึงกลางวัน รวมความว่าคุ้มครองทั้ง กลางคืนกลางวัน ส่วน อุณาโลม คือปัญญาความรู้แจ้งเป็นที่สุดของพระพุทธองค์ ที่แทนด้วยสัญลักษณ์ของ พระเกตุเปลวเพลิง นั้น
เมื่อลง ยันต์ เสร็จก็เรียกนาม ยันต์ ว่า นามะนังสะมาโส ยุตตะโถยุตตะถะ แห่งนามะอักขระ เลขยันต์ ทั้งหลาย ด้วยเดชเดชะ พระอาจาริยะ พึงหมายให้ชื่อว่า ยันต์พระรัตนตรัย คุ้มครอง อะนุปปะทิฏฐานัง วุตตะโยคะ โต อุทาหรณ์อันใดเป็นไปบ่มิได้สำเร็จ ด้วยเดชเดชะพระอาจาริยะ พึงสำเร็จให้แล้วด้วยสูตรนี้
ได้รูป ยันต์ แล้วจึงเสกด้วยคาถาที่ลงไว้ ถ้าเป็นหัวใจก็เสกด้วยคาถาบทเต็ม หรือใช้เสกแบบอนุโลมปฏิโลม เสกต่อไปด้วยการเสกธาตุ ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งต้องแยกฝึกอีกต่างหาก ให้เสกเป็นคาถาธาตุแทนไปก่อน สุดท้ายจบด้วยการปลุกฤทธิ์ของ ยันต์
ยันต์พระรัตนตรัย เห็นเป็น ยันต์ เล็กๆ ไม่ซับซ้อน ไม่อลังการ แต่ต้นสายปลายเหตุของ ยันต์ นั้นไม่ธรรมดาเลย ขนาดคุณตาหนู หรือ อาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร ผู้เป็นอดีตพระเลขาของ สมเด็จพระสังฆราชแพ ตลอดจนถึง หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ ผู้สร้างเหรียญรุ่นแรกดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ต่างเห็นพ้องกำหนดให้เป็น ยันต์ ประทับหลัง เหรียญรุ่นแรก กันเลย
ข้าพเจ้ามานึกๆ แล้วอดดีใจไม่ได้ว่า การรู้จักเคารพนับถือท่านผู้ชรานี้ดีจริงๆ ข้อหนึ่ง เราได้รับความรู้จากท่านนับว่าเป็นมงคลทรัพย์ยิ่ง ข้อสอง นับเป็นมงคลแก่ชีวิตที่ได้รู้จัก ท่านผู้ชราที่ผ่านวันเวลาอันยาวไกลเป็น รัตตัญญู ข้อสาม ทำให้เราไม่มีวันแก่เมื่อเทียบอายุกับท่าน รู้จักเคารพนับถือท่านผู้ชราแล้วดีจริงๆ
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1108 ปักษ์แรก เดือนมกราคม 2556 : ยันต์ ศาสตร์แห่งมหาพุทธาคม ภาพและเรื่องโดย สีหวัชร สุทัศนาคม )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์นสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010. 
วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore   

#ยันต์ #อาจารย์หนู #นิรันดร์ #แดงวิจิตร #พระกริ่ง #วัดสุทัศน์ #สมเด็จพระสังฆราชแพ