ภาพและเรื่องโดย แฉ่ง บางกระเบา
![]() |
เบี้ยแก้ หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว |
![]() |
หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว อ.นครชัยศรี |
ผ่านการพิสูจน์กลั่นกรองด้วยสายตาของชาวบ้าน ที่มองดูทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ตั้งแต่หลายปีมาแล้วจนถึงปีนี้ เขาก็ยังเคารพนับถือกราบไหว้กันอยู่ จึงเชื่อได้ว่าพระรูปนั้นทำบุญได้สนิทใจ ให้เป็นเนื้อนาบุญที่หว่านลงไปแล้วงอกเงย งอกงามได้ผลบุญเป็นอานิสงส์อันประเสริฐ ชาติหน้าไปเกิดในสวรรค์นั่นแล
![]() |
อุโบสถวัดบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม |
หลวงปู่ศุข หลวงปู่กลิ่น หลวงพ่อพัฒน์ หลวงพ่อจอน หลวงพ่อจันทร์ และหลวงพ่อเก่า หลวงพ่อปุ่น แล้วก็มาถึง หลวงพ่อพร
ในอดีตมีเกจิขลังอยู่สองรูปคือ หลวงปู่กลิ่น และ หลวงพ่อพัฒน์ เล่ากันว่ามีวิชาอาคมขลัง ชาวบ้านเคารพนับถือมาก หารูปไม่ได้ เห็นมีแต่ รูปหล่อหลวงพ่อพัฒน์ ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้เพียงองค์เดียว ก่อนจะถึง หลวงพ่อพร นั้นคือ หลวงพ่อปุ่น หรือท่านพระครูศีลกัณตาภรณ์ (ปุ่น กันตสีโร) หลวงพ่อรูปนี้ก็เป็นพระนักพัฒนาจน วัดบางแก้ว เจริญรุ่งเรือง
สมัยเด็กผู้เขียนทันเห็นหลวงพ่อรูปก่อนหลวงพ่อปุ่นชื่อ หลวงพ่อเก่า เป็นพระที่ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว ขณะท่านเป็นเจ้าคณะ อ.นครชัยศรี เห็นว่า วัดบางแก้ว ทรุดโทรมมากและขาดเจ้าอาวาส จึงได้ส่งพระในวัดชื่อ หลวงพ่อเก่า ไปเป็นเจ้าอาวาส วัดบางแก้ว แต่เดิม หลวงพ่อเก่า อยู่วัดกลางบางแก้ว เมื่อมาอยู่ วัดบางแก้ว คำว่า กลาง หายไป ท่านก็ไม่ว่าอะไรตั้งใจพัฒนาวัด
![]() |
เบี้ยแก้ หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว |
องค์ต่อมาคือ หลวงพ่อปุ่น หรือพระครูศีลกัณตาภรณ์ รูปนี้ขยันต่อพัฒนาวัดวาอารามได้สะอาดร่มรื่น ชาวบ้านใกล้และไกลเลื่อมใส โดยเฉพาะคนบ้านไกลนับถือมาก อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านไกล ที่เคารพนับถือท่านมากอยู่ถึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดินทางมาพบท่าน แล้ว มอบของสำคัญศักดิ์สิทธิ์มาก ให้ท่านไว้ เป็น งาช้างดำ งาช้างคู่นี้สวยงามมาก ยาวข้างละร่วมครึ่งวา สีดำสนิทเหมือนนิล มีคนไปพิสูจน์กันหลายคน ทั้งผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ล้วนลงความเห็นว่าเป็น งาช้างแท้ดำสนิท จนหลวงพ่อปุ่น เดือดร้อน ใครๆ ก็อยากดู ใครๆ ก็อยากได้ ทั้งผู้เล็ก ผู้ใหญ่ ทำให้ท่านกลุ้มใจจนต้องเอาไปแอบไว้ จนต่อมาท่านก็มรณภาพจากไป
เมื่อ หลวงพ่อปุ่น มรณภาพจากไปเมื่อปี พ.ศ.2546 ก็ทิ้ง งาช้างดำ เอาไว้เป็นสมบัติ วัดบางแก้ว ร้อนถึง พระครูพิทักษ์วีรธรรม (สืบ ปริมุตโต) เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส วัดสิงห์ ต้องจัดหาพระไปเป็น เจ้าอาวาสวัดบางแก้ว แทนหลวงพ่อปุ่น สำคัญต้องไปดูแล งาช้างดำ สมบัติมีค่าของวัดสืบแทนด้วย จึงมองหาพระใน วัดกลางบางแก้ว ที่มีหน่วยก้านดี ศีลาจารวัตรใช้ได้ ที่สำคัญต้องสัตย์ซื่อ ไม่มีกิเลสตัณหาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะนอกจากจะต้องไปปกครองคณะสงฆ์ดูแล วัดบางแก้ว แล้ว ต้องไปดูแลรักษา งาช้างดำ ของศักดิ์สิทธิ์มีค่าอีกด้วย ถ้าเอาพระไม่ดี ไม่เข้าท่าส่งไป ชาวบ้านจะว่าเอาได้ แถมจะเอา งาช้างดำ ไปขายให้เสียหายทั้งวัด
และผู้ส่งไปคือท่านพระครูพิทักษ์วีรธรรม (สืบ) เองอีกด้วย มองหาอยู่นาน สังเกตดูถี่ถ้วนรอบคอบ เพราะพระครูพิทักษ์วีรธรรมรูปนี้ท่านมีนิสัยละเอียดรอบคอบ ท่านพิจารณาอยู่นานจึงเห็นว่า พระพร ปภากโร จาก วัดกลางบางแก้ว เป็นพระที่พรรษาสูง มีหน่วยก้านดี มีวินัย และศีลาจารวัตรเคร่งครัด จึงตัดสินใจส่งไปรักษาการเจ้าอาวาส วัดบางแก้ว เมื่อปี พ.ศ.2546 หลวงพ่อพร ก็ทำให้ไม่ผิดหวัง จึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา
![]() |
หลวงพ่อพร ปภากโร |
หลวงพ่อพร ปภากโร หรือ พระครูพิจิตรสรคุณ กำเนิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2506 ที่ตำบลสระกระเทียม อำเภอเมือง จ.นครปฐม บิดาชื่อ นายหลำ มารดาชื่อ สอิ้ง นามสกุล บัวคำ เมื่อเด็กได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนมีชื่อเสียงใกล้บ้านเกิดคือ โรงเรียนสระกระเทียมวิทยาคม อาจารย์ใหญ่เป็นญาติกับผู้เขียนชื่อ อาจารย์ชัยวัฒน์ จนจบชั้นมัธยมปีที่สาม จึงออกมาหางานทำเพื่อช่วยภาระครอบครัว โดยเดินทางไปพักกับญาติที่ ตำบลขุนแก้ว อ.นครชัยศรี ทำงานในโรงงานอยู่ได้ปีกว่า บิดา-มารดาอยากให้บวช โดยเฉพาะมารดามีความสนิทใกล้ชิดกับ พระปลัดใบ คุณวีโร วัดกลางบางแก้ว จึงได้พาไปฝากกับ พระปลัดใบ ให้อุปสมบทในบวรพุทธศาสนา
![]() |
เบี้ยแก้ หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว |
เมื่อบวชแล้วก็อยู่รับใช้ใกล้ชิดกับ พระปลัดใบ คุณวีโร ช่วยงานตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยบดยาทำยาจินดามณี เรียนรู้คาถาอาคมจากพระปลัดใบ คุณวีโร ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาพุทธาคมกับ หลวงปู่เพิ่ม ไว้มาก หลวงพ่อพร เล่าว่า เสียใจที่ไม่ได้บวชกับ หลวงปู่เพิ่ม แต่ก็ดีใจที่ได้รับใช้ พระปลัดใบ และได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ ที่พระอาจารย์ใบได้รับถ่ายทอดมาจาก หลวงปู่เพิ่ม จำนวนมาก วิชาทำ เบี้ยแก้ นั้น พระปลัดใบ ถ่ายทอดมาโดยตรงกับมือ หลวงปู่เพิ่ม สมัยหลวงปู่เพิ่มช่วงปลายอายุ คนไปให้ หลวงปู่เพิ่มทำ เบี้ยแก้ ท่านมักจะบอกว่า "ให้ ใบ กรอกให้ก็ได้ ฉันสอนไว้หมดแล้ว" บางคนก็ให้ พระปลัดใบ กรอกเบี้ย แล้วเอาไปให้หลวงปู่เพิ่มเสกช่วงปลายอายุของท่านซึ่งชรามากแล้ว
![]() |
เหรียญรุ่นแรก เนื้อทองคำ หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว จ.นครปฐม พ.ศ.2553 |
![]() |
เหรียญรุ่นแรก เนื้อทองคำ หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว จ.นครปฐม พ.ศ.2553 |
ขณะเดียวกันก็ไปรับใช้ใกล้ชิด หลวงปู่เจือ อยู่เสมอ สังเกตได้ว่าแม้แต่งานศพหลวงปู่เจือ หลวงพ่อพร เป็นผู้จูงศพลงจากศาลา แสดงว่าใกล้ชิดเป็นพิเศษ ครั้นพอ วัดกลางบางแก้ว สร้าง พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก เสร็จแล้ว ท่านพระครูสิริชัยคณารักษ์ (สนั่น) เจ้าอาวาส ได้มอบให้ หลวงพ่อพร ไปอยู่ดูแลพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะห้องนอนของท่านอยู่ติดกับ ห้องคัมภีร์โบราณ ตำรับตำราของ วัดกลางบางแก้ว ที่สืบมาแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึง หลวงปู่บุญ - หลวงปู่เพิ่ม มีเวลาว่างท่านก็อดไม่ได้ที่จะค้นคว้าหาดูเป็นแนวทาง ทำให้มีความเข้าใจวิชาการต่างๆ ได้พอสมควร
เมื่อปี พ.ศ.2552 หลวงปู่เจือ องค์อาจารย์ของท่านก็เมตตา เห็นว่าท่านไปเป็นเจ้าอาวาส วัดบางแก้ว แล้วต้องใช้ปัจจัยบูรณะดูแลวัดมาก จึงอนุญาตให้ท่านสร้าง เหรียญหล่อระฆัง โดยเอาระฆังโบราณของวัดที่ชำรุดมาทำพิธีหล่อ โดยหลวงปู่เจือท่านไปเททองให้ด้วยตัวเองที่ วัดบางแก้ว แล้วไปปลุกเสกให้เต็มที่ในเวลาถัดมา เหรียญระฆัง หลวงปู่เจือ รุ่นนี้ได้รับความนิยมมาก มีคนบูชาไปแล้วมีประสบการณ์สูง ขณะนี้มีเหลืออยู่เล็กน้อยที่ วัดบางแก้ว ใครรู้แล้วก็ลองไปขอทำบุญได้ นอกจากนั้นหลวงปู่เจือยังเมตตามอบวิชาทำ เบี้ยแก้ ไว้ให้ เพราะเห็นว่าท่านเป็นพระดีมีศีลาจารวัตรเหมาะสม ให้ไว้ใช้เป็นกำลังสำคัญหาปัจจัยสร้างสรรค์พัฒนา วัดกลางบางแก้ว สืบต่อไป
![]() |
เหรียญรุ่นแรก เนื้อทองคำลงยา หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว จ.นครปฐม พ.ศ.2553 |
![]() |
เหรียญรุ่นแรก เนื้อทองคำลงยา หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว จ.นครปฐม พ.ศ.2553 |
คลื่นลูกเก่า ซัดหาย ที่ชายหาด
คลื่นลูกใหม่ ใสสะอาด ซัดสาดเสริม
ใหม่แทนเก่าเข้าแทนออก เหมือนกรอกเติม
จาก ปู่เพิ่มสู่ ปู่เจือเหลือ พ่อพร
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1047 ปักษ์หลัง เดือนพฤษภาคม 2553 : เบี้ยแก้ หลวงพ่อพร วัดบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ภาพและเรื่องโดย แฉ่ง บางกระเบา )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด. Copyright Bangkoksarn Publishing 2010.
วันนี้! อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้