ปกหน้า ลานโพธิ์ ฉบับที่ 981 พระพิมพ์ พระพุทธสิหิงค์ เนื้อก้นครกสองสี รุ่นแรก พ.ศ.2530 วางแผง เดือนสิงหาคม 2550 ราคาปก 50 บาท

ปกหน้า ลานโพธิ์ ฉบับที่ 981 พระพิมพ์ พระพุทธสิหิงค์ เนื้อก้นครกสองสี รุ่นแรก พ.ศ.2530 [ สมชาย ทิพย์มงคล เอื้อเฟื้อภาพ ] วางแผง เดือนสิงหาคม 2550 ราคาปก 50 บาท แจกฟรี โปสเตอร์ชุดที่ 2 รวมมงคลวัตถุ พระผงว่านอุดมโชค ปฐมอรหันต์สุวรรณภูมิ

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง อีกองค์หนึ่งของชาวไทย ปัจจุบัน พระพุทธสิหิงค์ ปรากฏอยู่ 3 องค์ องค์หนึ่งคือ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ พระพุทธสิหิงค์ องค์นี้มี พุทธศิลปะสกุลช่างแบบสุโขทัย ผสานศิลปะลังกาวงศ์ให้เห็นบ้างเล็กน้อย
อีกองค์หนึ่งอยู่ที่ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ มีพุทธศิลปะแบบเชียงแสนยุคต้น และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ณ หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระพุทธสิหิงค์ องค์นี้มีพุทธศิลปะแบบศิลปะพื้นบ้านของ เมืองนครศรีธรรมราช ที่เรียกกันว่า แบบขนมต้ม พระพักตร์กลม พระอุระอวบอ้วน หล่อด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 16.8 นิ้ว ถือว่าเป็น พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
แม้จะมีพุทธศิลปะแบบชาวบ้านนครศรีธรรมราช ที่เรียกว่า ขนมต้ม ก็ตาม แต่ก็มีตำนานกล่าวกันว่า พระพุทธสิหิงค์ องค์นี้ได้จำลองขึ้นใน สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยกล่าวกันว่า พระพุทธสิหิงค์ องค์แรกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 ล่วงแล้วในลังกา ร่ำลือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากและมีพุทธลักษณะงดงาม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงโปรดให้ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จัดส่งราชทูตไปลังกา เพื่อขอพระพุทธรูปองค์นั้นมาสักการบูชา ก็ได้มาตามปรารถนา เมื่อ พระพุทธสิหิงค์ มาถึงเมืองนครศรีธรรมราชทรงโปรดให้จัดงานสมโภช 7 วัน ก่อนส่งไปกรุงสุโขทัย และได้ให้ช่างนครศรีธรรมราชจำลองแบบเอาไว้บูชาคู่เมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวนครศรีธรรมราชมีความเคารพนับถือ พระพุทธสิหิงค์ องค์นี้มาก เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จะมีพิธีอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ ออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับ พระพุทธสิหิงค์ ที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ 

พระพุทธสิหิงค์ พระพิมพ์ เนื้อก้นครกสองสี องค์ปก ลานโพธิ์ ฉบับนี้ สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้าง จตุคามรามเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ.2530 เข้าใจว่าคงเป็น พระพิมพ์ นำฤกษ์ ของ จตุคามรามเทพ ตามคติการสร้างมงคลวัตถุตามแบบฉบับของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช จำได้ว่าเมื่อปี พ.ศ.2520 ผู้เขียนได้รับมอบจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ให้สร้างรูปเหมือนเท่าองค์จริงของ พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา พัทลุง จึงได้ปรึกษากับ คุณ วรศักดิ์ อดิเทพวรพันธ์ - โกหว่า และ คุณ ประกอบ กำเนิดพลอย ซึ่งได้รับมอบมาร่วมกัน ไปเชิญ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช มาเป็นเจ้าพิธี ที่วัดดอนศาลา 
อาจารย์ขุนพันธ์ ท่านบอกว่า ต้องสร้าง พระพุทธรูปหล่อนำฤกษ์ ก่อนหล่อรูปเหมือนอาจารย์นำ จึงจะถูกต้องตามพิธีกรรม ผู้เขียนจึงได้ขอถอดแบบ พระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย องค์งามของเสด็จพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ มาเททองนำฤกษ์ก่อน 5 องค์ ความจริงข้อนี้ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า พิธีสร้าง จตุคามรามเทพ ในปี พ.ศ.2530 อาจารย์ขุนพันธ์ น่าจะกดพิมพ์ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนำฤกษ์ก่อนแน่นอน ข้อนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง และน่าจะเรียกว่า พระนำฤกษ์ จตุคามรามเทพ ปี พ.ศ.2550 เสียมากกว่า พระพุทธสิหิงค์ เนื้อก้นครกสองสี องค์งามองค์นี้ ได้ฉายาว่า ราหูแดง เป็นของ คุณ สมชาย ทิพย์มงคล แห่ง คชสารพระเครื่อง นครศรีธรรมราช นิตยสาร ลานโพธิ์ ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
( ที่มา : บทบรรณาธิการ ลานโพธิ์ ฉบับที่ 981 พระพิมพ์ พระพุทธสิหิงค์ เนื้อก้นครกสองสี รุ่นแรก พ.ศ.2530 [ สมชาย ทิพย์มงคล เอื้อเฟื้อภาพ ] วางแผง เดือนสิงหาคม 2550 โดย สุธน ศรีหิรัญ )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010.