หลีกทางเซียน : ปรกโพธิ์ พิมพ์ปัญหา

เรื่องโดย ทแกล้ว ภูกล้า

พี่ใหญ่ใน  “ ลานโพธิ์ ”  เปรยๆ ว่า  ยังเชื่อมั่นว่า  ไม่มี สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ เหมือนเดิม
เหตุที่ยังมั่นใจ  เพราะยังไม่เคยเห็น  “ ปรกโพธิ์ ”  องค์ไหน  ถึงวัดระฆังสักองค์เดียว

ทฤษฎีไม่มี ปรกโพธิ์ วัดระฆัง  ต้องถือว่าเป็นทฤษฎีมาตรฐานของตลาด  คุณดอกรัก  ตันอู๋พงษ์  ยืนยันไว้ใน  “คเณศร์พร”  ว่า  ไม่มีหรอกน้องเอ๋ย

คุณประจำ  อู่อรุณ  ไม่มี ปรกโพธิ์ วัดระฆัง  ไว้ในหนังสือภาพพระเล่มแรก  ที่ยังขายได้ขายดีถึงวันนี้ แต่เขียนออกตัวไว้ว่า  มีแต่เป็นพระหายาก  ยากขนาดหาภาพไม่ได้

แต่หนังสือขนาดเดียวกัน  ที่ออกไล่หลังของ คุณวรเทพ  รัตนอุดมศิลป์  มีภาพ ปรกโพธิ์ วัดระฆัง  ทั้งพิมพ์ปรกโพธิ์ เกศบัวตูม  ที่ถือว่าเป็นพิมพ์ที่มีบางคน กล้าเล่นมากกว่า ปรกโพธิ์ พิมพ์อื่น และอีกพิมพ์ เนื้อหานุ่มนวลชวนมอง  เปลี่ยนมือซื้อขายกันในบางกลุ่ม  เรียกตามตำหนิเดือยแหลมในซุ้มด้านซ้ายองค์พระว่า  พิมพ์มีเดือย 

ส่วน  “ ปรกโพธิ์ บางขุนพรหม ”  นั้น  เนื่องจากมีประจักษ์หลักฐานมั่นคง  ว่าขึ้นจากกรุวัดใหม่อมตรส อาจจะถูกแรงฉุดจากคติ  “ ไม่มี ปรกโพธิ์ วัดระฆัง ”  ถึงจะมีเปลี่ยนมือซื้อขาย  แต่ราคากลับไม่แพง

ผมมีข้อเสนอให้คิดเล่นๆ เป็นการบ้าน  อย่าถือสากันนะครับ  ก็เมื่อยอมรับกันว่า สมเด็จวัดระฆัง  เป็นแม่แบบการสร้าง สมเด็จบางขุนพรหม  แล้วก็เมื่อมี ปรกโพธิ์ บางขุนพรหม  ทำไม…วัดระฆัง  จึงไม่มีเสียเล่า

เอาท่านไปทิ้งไว้ซะที่ไหน

ก็ใน  ลานโพธิ์  นี่แหละ  “ ยี่  พระยา ”  เขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว  นอกจากเสนอ  “ ปรกโพธิ์ วัดระฆัง ” องค์ที่แห่ทั้งสนาม มีแต่คนส่ายหน้า  ว่าน่าจะใช่หรือไม่ใช่  ก็ยังนำภาพปรกโพธิ์หลังติดกระดาน  องค์สำคัญ  ที่พิมพ์ในหนังสือ  “ ตรียัมปวาย ”  มาเปรียบเทียบด้วย

ปรกโพธิ์ วัดระฆัง  องค์หลังกระดาน  เป็นไปตามทฤษฎี  “ ตรียัมปวาย ”  คือ  “ ลงทองล่องชาด ” ส่วนด้านหลังลงรักเพื่อแปะติดไว้กับไม้กระดาน  ตามประวัติว่า  ได้จากบ้านเจ้าสัวสอน  ย่านวัดจักรวรรดิ์

ว่ากันว่า  มี พระสมเด็จ ติดอยู่กับไม้กระดานกว่า 20 องค์  พยายามเอาออกหลายวิธี  พระหักไปหลายองค์  องค์ที่เหลือสมบูรณ์  คือองค์ที่คนใจเย็น  ใช้วิธีฝนไม้กระดานให้บางจนแนบเนื้อ

คุณสุธน  ศรีหิรัญ  เคยอยู่วังอัศวิน  เห็นภาพพระแล้วบอกว่า  จำได้ว่าเป็นของ  พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ุยุคล  ตกทอดอยู่กับท่านกบ

คุณสุธน รู้ด้วยว่า  แม้จะเป็นพระมีประวัติจากในรั้วในวัง  แต่เซียนใหญ่น้อยก็ไม่ยอมรับ  ปรกโพธิ์ วัดระฆัง องค์นั้น  จึงต้องระหกระเหิน หาวัดจำวัดเป็นหลักแหล่งไม่ได้สักที จนถึงวันนี้

ใครเคยอ่านตำรา  “ ตรียัมปวาย ”  คงพอจำได้ว่า  นอกจากมี ปรกโพธิ์ ฐานแซม  องค์ของพระองค์เจ้าภาณุฯ แล้ว  ก็ยังมี ปรกโพธิ์ เกศบัวตูม  ปรกโพธิ์ สังฆาฏิ

ทฤษฎีแม่พิมพ์  “ ตรียัมปวาย ”  แม้จะยังไม่ถือเป็นมาตรฐาน  แต่การแยกแยะไว้หลายพิมพ์  ทั้งยังมีภาพพระให้ดูหลายองค์  ไม่เพียงยืนยันมั่นคง ความมีหรือไม่มี  “ ตรียัมปวาย ”  ยังชี้หลักว่า  ถ้าลงทองล่องชาด  ต้อง ปรกโพธิ์ วัดระฆัง เท่านั้น

สำหรับพิมพ์อื่น  ถ้า  “ ล่องชาด ”  ละก็  ถือว่า เก๊ ได้ทันที  ไม่ต้องไปดูอย่างอื่น

ความเชื่อมั่นข้อนี้  มีเรื่อยมา  แต่ก็ยอมรับว่า  เริ่มสับสน  ตอนที่เซียนใหญ่หลายคน  ในวันนี้ปฏิเสธ
และเมื่อเซียนใหญ่ปฏิเสธ  ก็เป็นอันว่า  ตลาดสำหรับ ปรกโพธิ์ วัดระฆัง  ต้องถูกปิดตาย  ซื้อขายไม่ได้ หากจะซื้อขาย ก็ต้องอยู่ในแวดวงคนที่พอใจกันเอง

สองวันก่อน  คนที่ชอบ ปรกโพธิ์  โทร.คุยกันถึง พิมพ์มีเดือย  แล้วก็บ่นกันว่า  น่าฉงน  บางองค์ถึงสมเด็จ  แต่บางองค์ถึงแค่ หลวงปู่

แม่พิมพ์ ปรกโพธิ์  ที่ยอมรับว่าเป็นของ หลวงปู่ภู นั้น  ผมเคยเห็นขึ้นปกนิตยสารชื่อดังๆ  เนื้อหาก็จัด ติดขัดที่ตำหนิแม่พิมพ์  ที่แอบจำว่า  เป็นของหลวงปู่แน่ๆ

แล้วถ้าเป็น ปรกโพธิ์ ของหลวงปู่  ที่เนื้อหาจัดจ้าน  เหมือนหลวงปู่รุ่นแรกๆ  เช่น  สามชั้นหูติ่ง  หรือพิมพ์สามชั้นก้างปลาล่ะ  ถ้าแม่พิมพ์เดียวกัน  เนื้อหาแยกกันแทบไม่ได้  จะมีหลักแยกยังไงเล่า

ปัญหามาถึงจุดนี้  ผมก็นึกถึงทฤษฎี  แม่พิมพ์ขอบบังคับ  ของหลวงปู่ภู  หลวงปู่ปั้น  หลวงปู่อ้น ปิลันธน์  ฯลฯ  ขึ้นมาทันที  ถ้าทฤษฎีนี้  น่าเชื่อ  ก็น่าจะนำมาแยก ปรกโพธิ์สมเด็จ ออกจาก ปรกโพธิ์หลวงปู่ได้

ลองหาพระแม่พิมพ์เดียวกัน  มาดูอย่างน้อยสององค์  ถ้าขอบข้างเท่ากันเหมือนกัน  ก็ตัดสินได้ว่าเป็นหลวงปู่  แต่ถ้าขอบข้างไม่เท่ากัน  กระบวนการตัดข้างเหมือนสมเด็จ  ก็เทใจให้เป็นสมเด็จ

มั่นใจก็เข้าตลับทองขึ้นคอ ใช้เหมือนปีนบันไดสองขั้น  พลาดจากขั้น พระสมเด็จ ก็ยังอุ่นใจ  มีขั้นหลวงปู่ไว้สำรอง

ข้อสำคัญ  อย่าเผลอไปหยิบ ปรกโพธิ์เก๊ มาเชียว  ก็เหมือนพิมพ์นิยมทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ  ของปลอมฝีมือร้ายกาจขึ้นทุกวัน

รุ่นล่า  พัฒนาจาก  “ เกี้ยร้านเดิมเจ้าเก่า ”  ดูแล้วเสียวสันหลัง  ระวังกันไว้.

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 758 ปักษ์แรก เดือนพฤษภาคม 2541 : หลีกทางเซียน : ปรกโพธิ์ พิมพ์ปัญหา โดย ทแกล้ว ภูกล้า )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์นสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010. 

วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore    

#สมเด็จ #ปรกโพธิ์ #วัดระฆัง