หลีกทางเซียน : แม่พิมพ์นั้น สำคัญฉะนี้ (ตอนที่ 4)

เรื่องโดย ทแกล้ว ภูกล้า

ในช่วงที่กระแสพุทธพาณิชย์กำลังแรงจัด  ราคาพระชุดเบญจภาคีหนีไปอยู่ที่หลักล้าน  และหลักหลายๆ ล้าน  จึงมีความพยายามจากบางฝ่าย  ยก พระสมเด็จอรหัง ขึ้นไปอยู่ชุดเบญจภาคีด้วย

ข้ออ้าง  ก็คงเป็นไปทำนองว่า  เนื้อหา  ความเก่า  ศิลปะ  ก็ถึงกัน  ก็เมื่อเชื่อว่าเป็นพระของอาจารย์สมเด็จโตแล้ว  ไม่น่าที่จะยอมให้พระเครื่องของอาจารย์อยู่ระดับต่ำกว่าศิษย์

ดูเหมือนว่า  ประวัติช่วงที่สามเณรโตอุปสมบทเป็นพระ  ในฐานะเป็นพระในอุปถัมภ์ของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์  ไม่มีใครปฏิเสธว่า  ถูกส่งให้ไปร่ำเรียนอยู่ใน สำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก)  วัดมหาธาต ร่ำเรียนวิชาจาก วัดมหาธาตุ  เป็นศิษย์สมเด็จสังฆราช  องค์ที่ร่ำลือกฤติยาคมแก่กล้า  ถึงขั้นเลี้ยงไก่ป่าจนเชื่อง

ก็เมื่อเรียนจาก สำนักมหาธาตุ  คนรุ่นหลังก็โมเมเอาว่า  คงจะได้แบบอย่างการสร้างพระผงปูนขาว  พิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก  จากสมเด็จสังฆราช  วัดมหาธาตุ

ที่จริงก็สอดคล้องต้องกันดี  เพียงแต่ไม่มีหลักฐาน  ประจักษ์พยานแม้จะจากการบันทึก  จากเจ้านาย ครูบาอาจารย์  หรือคนที่พอจะเชื่อถือได้  แม้แต่บรรทัดเดียว

ประวัติของ สมเด็จสังฆราชสุก  พระองค์นี้มีบันทึกไว้สั้นๆ  เพียงว่า  เป็นพระผู้ใหญ่  อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย  ท่านก็หลีกลี้หนีภัยพม่า  ไปจำพรรษาถึงเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อรัชกาลที่ 1  เสวยราชย์  ก็นิมนต์มาอยู่ วัดราชสิทธาราม  โปรดเกล้าฯให้เป็น สมเด็จพระญาณสังวร ต่อมาก็เป็น สมเด็จพระสังฆราช  องค์ที่ 4  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

มีการเขียนถึงว่า  ท่านแก่กล้าวิปัสสนา  และเป็นผู้วางรากฐานให้ วัดพลับ  หรือวัดราชสิทธิราม  เป็นสำนักวิปัสสนาชั้นแนวหน้าเรื่อยมา  จนถึงยุคท่านเจ้าคุณพระสังฆวรา (ชุ่ม)  ช่วงก่อนเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ปี 2475  ไม่มากนัก

พระวัดพลับ  ที่ยกไปยัดใส่มือ  สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน  มีผู้สืบค้นไปจนพบคนมีอายุทันเห็นการสร้าง ระหว่างปี 2460  ก่อนหรือหลังกว่าไม่มาก

หลวงตาจัน  พระเขมร  องค์ที่สร้าง  ใช้ผงอย่างไร  แม่พิมพ์แบบไหน  ยังยืนยันกันได้

อย่าวิตกกังวลไปว่า  เมื่อพระวัดพลับ  ไม่ใช่พระที่สมเด็จสังฆราชไก่เถื่อนสร้าง  เป็นแค่หลวงตา  พระลูกวัดในชั้นหลังสร้าง  แล้วจะไม่ขลัง  ขลังครับ  ขลังมากด้วย

ก็บอกแล้วไง…ว่าสำนักวัดพลับ  เป็นสำนักวิปัสสนาชั้นแนวหน้า  ศิษย์พระสังฆวราชุ่ม  ที่สร้างพระโด่งดังคับบ้านเมืองก็ยังมี  เช่น หลวงพ่อสด  วัดปากน้ำ  หลวงพ่อผึ่ง  วัดสว่างอารมณ์  ฯลฯ

กลับไปหาประวัติการสร้าง พระสมเด็จอรหัง  ของสมเด็จสังฆราชสุก  อีกที  ไม่มีสักบรรทัดเดียว  และไม่มีหลักฐานทางด้านสภาพแวดล้อม แม้แต่จุดเดียวในวัดมหาธาตุ  ที่จะชี้ให้เห็นว่า  พระสมเด็จอรหัง  เคยบรรจุอยู่

เซียนรุ่นใหญ่สมัยนั้น  คงรู้ทัน  เซียนเสือโหยที่อยากขายพระได้ราคา  ซื้อขายพระกันที่หน้าศาลอาญา หันซ้ายหันขวา  ก็เลยยกพระผงสี่เหลี่ยม  ที่จารอรหังข้างหลังให้ไว้ที่วัดมหาธาตุ

แต่เมื่อมีนักเลงดี  จำได้และพยายามยืนยันว่า  จะเป็นวัดมหาธาตุได้ยังไง  ก็ในเมื่อได้จากกรุวัดสร้อยทอง  ตอนที่ระเบิดลงโครมๆ  ช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา  เซียนก็เลยเฉไฉไปว่า  กรุวัดสร้อยทองก็มี  องค์ที่เนื้อแดงๆ  หรือเนื้อหยาบขาว  และมียันต์ปั๊มอรหังนูนข้างหลัง  นั่นปะไร

แยกเนื้อผงละเอียดขาวไว้วัดมหาธาตุ  แยกเนื้อหยาบขาว  เนื้อแดงไว้วัดสร้อยทอง  แล้วก็ต้องลดระดับว่าเป็นพระสร้างยุคหลัง

แล้วก็ยอมให้เป็นพระที่หลวงตากุย  วัดสร้อยทองสร้าง อีหรอบเดียวกับพระที่หลวงตาจันสร้างพระผงไว้ที่วัดพลับ

ประเด็นของ พระสมเด็จอรหัง  ไม่ว่าเนื้อละเอียดขาว  เนื้อหยาบขาว  หรือเนื้อแดง  ไม่ว่าจะหลังจาร  หรือปั๊ม  พิสูจน์ได้ง่ายนิดเดียว  คือแม่พิมพ์  พิมพ์เดียวกัน  ใช้ขอบบังคับเหมือนกัน

ข้อสำคัญ  ฝีมือช่างแกะคนเดียวกัน  ตำหนิพิมพ์ที่ฐานพระ  สะบัดเป็นชายธงลงล่างตรงกัน

ตำหนิฐานสะบัดเป็นชายธงลงล่าง  ช่างไปตรงกับตำหนิฐาน หลวงพ่ออ้น  วัดบางจาก  จะเรียกว่า  ช่างฝีมือเดียวกัน  และเมื่อเป็นช่างฝีมือเดียวกัน  ก็น่าจะแกะพิมพ์พระในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน

ถ้าเชื่อตามหลักสังเกตนี้  ก็อยากจะชี้ชัดไปเลยว่า  สมเด็จอรหัง นั้น  โดยระดับชั้น  แค่หลวงปู่  หรือหลวงตา  เท่านั้นแหละ

นี่ว่ากันตามเหตุปัจจัย  เท่าที่สืบค้นได้  และเทียบเคียงด้วยสายตา  ไม่เกี่ยวกับสนนราคา  ซึ่งเซียนซื้อ เซียนขายนะครับ

เพราะถ้าพูดถึงราคาและตลาด  สมเด็จอรหัง นั้นพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่เลยแสนไปนาน  อย่าเอาไปเปรียบกับ หลวงปู่อ้น  วัดบางจาก  ที่อยู่หลักหมื่นต้น

ส่วนพิมพ์เล็กนั้น  ซื้อขายกันไม่กี่พันเท่านั้นแหละ

ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  756 ปักษ์แรก เดือนเมษายน 2541 : หลีกทางเซียน : แม่พิมพ์นั้น สำคัญฉะนี้ ( ตอนที่ 4 ) โดย ทแกล้ว ภูกล้า )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์นสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010.  

วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore