หลีกทางเซียน : แม่พิมพ์นั้น สำคัญฉะนี้ (ตอนที่ 3)

เรื่องโดย ทแกล้ว ภูกล้า

ผมได้ทิ้งท้ายไว้เมื่อฉบับที่แล้วว่า  ขออนุญาตตั้งสมมุติฐานใหม่  พระผง พระพิมพ์ ในตระกูล พระสมเด็จ เกือบทุกวัด  สร้างขึ้นหลัง พระสมเด็จ วัดระฆัง

โดยยึดหลักเลข .. หลัง พระวัดท้ายตลาด  จากการสันนิษฐานของศาสตราจารย์ไสว  วงศ์เก่า  เทียบ ..แล้ว  หลัง สมเด็จพุฒาจารย์โต ถึงชีพิตักษัย  ..2415  ไปแล้วหลายปี

นอกจาก พระกรุวัดท้ายตลาด  พระกรุวัดอัมพวา  กรุวัดสามปลื้ม  กรุวัดเงินคลองเตย  ที่อาจารย์รุ่นเก่า  อนุมานเหมือนๆ กันทำนองว่า  ควรจะเป็นสร้างอย่างน้อยก็ในรัชกาลที่ 3

ค่านิยม .3  โปรดสร้างวัด  แพร่กระจายในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชบริพาร  จึงมีการสร้างวัดกันยกใหญ่

เมื่อสร้างวัดทั้งวัด  สวยงามใหญ่โตโอฬารได้  อาจารย์เขียนตำราพระท่านก็เลยเหมาไปว่า  สมภารในช่วงเวลานั้น  น่าจะสร้างพระเครื่องเอาไว้ด้วย
พยายามพิจารณา  หาประจักษ์หลักฐาน  จากหนังสือหลายเล่มหลายสำนวน  พอจะสรุปได้ว่า  ที่ว่าสร้างสมัย .3  หรือสร้างก่อน สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง นั้น  เป็นแค่ความเชื่อ

และเมื่ออาจารย์คนเขียนตำราเชื่อ  เซียนน้อยเซียนใหญ่ก็เชื่อ  ความเชื่อนี้ก็เลยแพร่กระจายกลายเป็นหลักฐาน  โดยไม่มีการสืบค้น

ผมได้นำเสนอที่มาของสมมุติฐานว่า  หลังปีระกาป่วงใหญ่ สมเด็จฯถึงชีพิตักษัยไปปีเดียว  พระสมเด็จ กลายเป็นยารักษาโรคป่วง  ร่ำลือกันตั้งแต่บางช้าง  ส่วนนอกที่อัมพวา  มาถึงบางกอก  ส่วนใน  ว่ามีคนมากมายรอดชีวิตได้เพราะมี พระสมเด็จ แช่ทำน้ำมนต์

ตามประวัติที่เขียนโดย ท่านเจ้าคุณสมภาร วัดระฆัง  ท่านบอกว่า  พระสมเด็จ หมดจาก วัดระฆัง แล้ว  ตั้งแต่ช่วงเวลานั้น  ความต้องการของชาวบ้านยังมีอยู่  เลยเป็นภาระให้ศิษย์ก้นกุฏิสืบสานปณิธานสร้างพระผงต่อ

หม่อมเจ้าพุทธบาทปิลันธน์  เจ้าของ พระปิลันธน์ อันเลื่องชื่อ  นอกจากได้สมณศักดิ์ที่  สมเด็จพระพุฒาจารย์  เหมือนสมเด็จอาจารย์แล้ว  ก็ยังได้ตำแหน่งสมภารครอง วัดระฆัง องค์ต่อมาด้วย มีความเชื่อว่า  พระปิลันธน์  สร้างทันสมัย สมเด็จพุฒาจารย์โต  

เอาล่ะขอเพิ่มสมมุติฐานข้อสอง  พระปิลันธน์  เป็นตระกูล พระสมเด็จ ต้นแบบ หลวงปู่ภู  วัดอินทร์  หลวงปู่ปั้น  วัดสะพานสูง  หรือ หลวงปู่อ้น  วัดบางจาก  สมมุติฐานต่อไป  ให้เป็น ตระกูลสมเด็จระดับรอง ลงไป

พระเครื่อง สี่ศิษย์สมเด็จโต เหล่านี้  ดูให้ดีๆ  ก็จะพบว่า  แม้แม่พิมพ์จะไม่เหมือนกัน  แต่สิ่งที่เหมือนกัน  ก็คือ การสร้างพระผง  ที่ไม่ต้องเผาไฟ

และสิ่งที่ สี่ศิษย์สมเด็จโต เหมือนกันอีก  ก็คือ  วิวัฒนาการของแม่พิมพ์  จากเดิมที่แกะแม่พิมพ์องค์พระ  ลงไปบนแผ่นไม้กระดาน  (นี่ก็เป็นสมมุติฐานใหม่ทำให้เกิดปัญหาตอนตัดขอบพระไม่เท่ากัน  บางองค์ชิดกรอบ  บางองค์ห่างกรอบ

เพื่อแก้ปัญหานี้  ช่างแกะแม่พิมพ์ก็เลยแกะขอบบังคับให้ลึกลงไป  กำหนดขนาดพระไว้ก่อนแล้วจึงแกะองค์พระตามมา

เราต้องไม่ลืมว่า  แม่พิมพ์พระแต่โบราณ  ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยศรีวิชัย  ทวาราวดี  หริภุญชัย  สุโขทัย  กำแพงเพชร  อู่ทอง  หรืออยุธยา  ต้นแบบของศิลปะรัตนโกสินทร์นั้น  ใช้แม่พิมพ์ที่แกะเฉพาะองค์พระ  ปล่อยภาระการจัดแจงตกแต่งขอบข้างเอาไว้  ให้คนพิมพ์พระจัดการกันเอง

สมเด็จโต ท่านเดินตามกระบวนการพิมพ์พระโบราณ  เมื่อเกิดปัญหาองค์พระไม่เท่ากัน  ลูกศิษย์ท่านก็แก้ไขให้พิมพ์เท่ากัน  ด้วยการแกะแม่พิมพ์แบบมีขอบบังคับ

เพราะวิวัฒนาการ  ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างอาจารย์มาถึงศิษย์  ตรงนี้แหละ  พระปิลันธน์  หลวงปู่ภู  หลวงปู่ปั้น  หลวงปู่อ้น  หรือตระกูลสมเด็จอีกหลายๆ วัด  ทุกวัดใช้แม่พิมพ์แบบมีขอบบังคับทั้งสิ้น

หากพิจารณาด้วยเหตุและผลนี้  จึงน่าจะสรุปได้ว่า  พระเครื่องที่ใช้แม่พิมพ์แบบมีขอบบังคับทุกวัด  สร้างหลัง พระสมเด็จ วัดระฆัง

สรุปด้วยหลักนี้แล้ว  ปัญหามีว่า  ผลที่ตามมาจะเป็นประการใด

สี่สมเด็จหลักอย่าง  ปิลันธน์  หลวงปู่ภู  หลวงปู่ปั้น  หลวงปู่อ้น  คงไม่เป็นปัญหา  เพราะราคาค่านิยม  เป็นไปตามเหตุปัจจัย

จะข้องขัดก็แต่  สมเด็จอรหัง  ที่ว่ากันว่า สมเด็จสังฆราชสุก  ไก่เถื่อน  สร้างสมัยอยู่ วัดมหาธาตุ  ไม่ใช่พระผงที่ หลวงตากุย  วัดสร้อยทอง  สร้าง

เซียนใหญ่ เซียนน้อย ที่ดูพระเป็น  และมีประสบการณ์ผ่านพระมาพอสมควร  ต่างก็พบว่า  กระบวนการสร้าง สมเด็จอรหัง  ไม่ว่าจะแม่พิมพ์แบบขอบบังคับแล้ว  ศิลปะฝีมือช่างบางแม่พิมพ์  ยังกะคนเดียวที่แกะแม่พิมพ์หลวงปู่อ้น

ไม่เชื่อลองไปถามเซียนใหญ่อย่าง คุณวิวัฒน์  เรืองพรสวัสดิ์  ดูก็ได้ว่า  ทั้งเนื้อหา  และศิลปะพิมพ์ทรงของ หลวงปู่อ้น  พิมพ์ประคำรอบนั้น  เหมือน สมเด็จอรหัง  พิมพ์เล็ก  มากน้อยแค่ไหน

ไม่ว่าความจริงจะยุติในจุดใด  สมเด็จอรหัง  พิมพ์เล็ก  ราคาขณะนี้อยู่หลักแสน  ขณะที่หลวงปู่อ้นอยู่ที่หลักพัน


ก็ถ้าเป็นหลวงปู่กับหลวงตา  ราคาก็ไม่ควรทิ้งกันนัก 

ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  755 ปักษ์หลัง เดือนมีนาคม 2541 : หลีกทางเซียน : แม่พิมพ์นั้น สำคัญฉะนี้ ( ตอนที่ 3 ) โดย ทแกล้ว ภูกล้า )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010.  

วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore