พระแก้วประจำรัชกาลที่ ๑ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ( พระแก้วมรกต )

ภาพและเรื่องโดย...อภิวัฒน์ โควินทรานนท์

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ( พระแก้วมรกต )  เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย ความสำคัญของพระแก้วมรกตนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ได้พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับ พระแก้วมรกต ว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ซึ่งแปลอย่างรวบรัดได้ว่า “ เมืองเทวดาที่มีพระแก้วมรกตเป็นหลักชัย ” และเราเรียกกรุงเทพฯนี้ว่าเป็นยุครัตนโกสินทร์ คำว่า รัตนโกสินทร์ มาจาก รัตน์+โกสินทร์ รัตนะ คือ แก้ว โกสินทร์ แปลว่า สีเขียว กรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรุงแก้วสีเขียว ก็คือ เมืองพระแก้วมรกต ในประเทศลาว มีพระพุทธรูปสำคัญที่สุดคู่บ้านคู่เมืองคือ พระบาง เมืองหลวงที่เป็นสถิตของพระบาง จึงชื่อ เมืองหลวงพระบาง กรุงรัตนโกสินทร์ หากเรียกด้วยภาษาไทยแท้ ก็คงต้องเรียกว่า เมืองหลวงพระแก้ว

พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่โบราณ ดังนั้นจึงมีเอกสารโบราณหลายฉบับที่พูดถึง พระแก้วมรกต แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คัมภีร์รัตนพิมพ์วงศ์ เป็นตำนาน พระแก้วมรกต พระภิกษุชื่อ พระพรหมราชปัญญา แต่งเป็นภาษาบาลีที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2272

คัมภีร์รัตนพิมพ์วงศ์ ได้มีการแปลเป็นภาษาไทย 3 ครั้ง ครั้งแรก พระยาธรรมปโรหิต ( แก้ว ) แปลในสมัย รัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2331 ต่อมา พระยาปริยัติธรรมธาดา ( แพ ตาละลักษมณี ) แปลในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2449 และในรัชกาลที่ 9 ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ได้แปลใหม่เมื่อ พ.ศ.2505 สรุปคือแปลในรัชกาลที่ 1, 5, 9

ตำนานพระแก้วมรกต อ้างว่า พระอรหันต์ชื่อ พระนาคเสน ได้สร้าง พระแก้วมรกต ที่เมืองปาตลีบุตร ( ประเทศอินเดีย ) เมื่อ พ.ศ.500 ต่อมาได้อัญเชิญ พระแก้วมรกต ไปลังกาทวีป แล้วตกไปอยู่ประเทศกัมโพช ม่าน และสยาม แต่ พระแก้วมรกต ตามพงศาวดารที่เชื่อถือได้ เริ่มเมื่อ พ.ศ.1977 ฟ้าผ่าเจดีย์องค์หนึ่งที่เมืองเชียงราย ( ปัจจุบันคือ วัดพระแก้ว เชียงราย ) พบพระพุทธรูปปิดทองสำคัญว่าเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทองธรรมดา จึงเชิญไปไว้ในวิหาร ต่อมาอีก 2-3 เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มองค์พระนั้นกะเทาะออกที่ปลายนาสิก เห็นเป็นแก้วสีเขียวงาม จึงแกะปูนออกทั้งองค์ เป็นพระพุทธรูปแก้วทึบทั้งองค์ บริสุทธิ์ดีไม่บุบสลาย ชาวเมืองเชียงรายและเมืองอื่นๆ ก็พากันมาบูชานมัสการมาก ผู้รักษาเมืองเชียงรายจึงมีใบบอกไปแจ้งพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่เกณฑ์ขบวนไปรับเสด็จ พระแก้วมรกต ขึ้นหลังช้างแห่ไปเชียงใหม่ ครั้นถึงทางแยกซึ่งจะไปเมืองนครลำปาง ช้างเชิญ พระแก้วมรกต ก็วิ่งตื่นไปทางนครลำปาง เมื่อหมอควาญเล้าโลมให้ช้างสงบแล้วพามาถึงทางที่จะไปเมืองเชียงใหม่ ช้างก็ตื่นไปทางเมืองนครลำปางอีก จนภายหลังเมื่อเอาช้างเชื่องมาเปลี่ยนเชิญใหม่ ช้างนั้นมาถึงทางแยกอย่างเดิมก็ตื่นคืนไปทางเมืองนครลำปางอีก ท้าวพระยาผู้ไปรับเห็นประหลาดจึงมีใบบอกไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่นับถือผีสางมากนักจึงวิตกว่า ชะรอยผีที่รักษาองค์พระจะไม่ยอมไปเมืองเชียงใหม่ ก็ยอมให้เชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานไว้ในเมืองนครลำปาง คนทั้งปวงจึงได้เชิญไปไว้ในวัดที่คนเป็นอันมากมีศรัทธาสร้างถวาย วัดนั้นคือ วัดพระแก้วดอนเต้า ในปัจจุบัน

พระแก้วมรกต อยู่ลำปางได้ 32 ปี ครั้น พ.ศ.2011 พระเจ้าติโลกราชได้ครองเมืองเชียงใหม่ดำริว่า พระเจ้าเชียงใหม่องค์ที่ล่วงแล้ว ยอมให้ พระแก้วมรกต ไปประดิษฐานอยู่เมืองนครลำปางนั้นไม่ควรเลย ควรจะอาราธนามาไว้ในเมืองเชียงใหม่ จึงได้เชิญ พระแก้วมรกต ไปเชียงใหม่แล้วสร้างพระอารามราชกุฎเจดีย์ถวาย พระเจ้าเชียงใหม่ได้พยายามจะทำวิหารมียอดปราสาทเพื่อประดิษฐาน พระแก้วมรกต  แต่หาสมประสงค์ไม่ อสุนีบาตตกลงต้องทำลายยอดที่ตั้งสร้างขึ้นหลายครั้ง จึงได้เชิญ พระแก้วมรกต ไปประดิษฐานในซุ้มจรนำทิศตะวันออกของพระเจดีย์หลวง ณ วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่

พระแก้วมรกต อยู่เชียงใหม่ได้ 84 ปี ครั้น พ.ศ.2094 พระเจ้าไชยเชษฐาซึ่งครองเชียงใหม่อยู่ก่อน ได้รับเชิญให้ไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุต ณ เมืองหลวงพระบาง พระเจ้าไชยเชษฐาจึงเชิญ พระแก้วมรกต ไปด้วย อ้างว่าจะเชิญ พระแก้วมรกต ไปให้พระญาติวงศ์เมืองหลวงพระบางได้สักการบูชา ต่อมาเมืองเชียงใหม่ได้รบกับเมืองศรีสัตนาคนหุต พระเจ้าไชยเชษฐาจึงไม่ได้เสด็จกลับเมืองเชียงใหม่อีกรวมทั้ง พระแก้วมรกต คงรักษา พระแก้วมรกต ไว้ที่เมืองหลวงพระบางร่วม 12 ปี

ถึง พ.ศ.2107 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงมีอำนาจขึ้น พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นว่าเมืองหลวงพระบางจะสู้ศึกพม่ามอญไม่ได้ จึงย้ายราชธานีลงไปตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ โดยเชิญ พระแก้วมรกต ลงไปด้วย พระแก้วมรกต จึงประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์แต่นั้นมาอีก 214 ปี

ครั้นถึง พ.ศ.2321 เมื่อรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จดำรงพระยศเป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพตีได้เมืองเวียงจันทน์ ได้เชิญพระแก้วมรกต กับพระบาง ลงมายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโสมนัสยิ่งนักเมื่อได้ข่าว พระแก้วมรกต โปรดฯให้สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวงขึ้นไปรับ พระแก้วมรกต ถึงเมืองสระบุรี ครั้นขบวนเชิญ พระแก้วมรกต ล่องแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงตำบลบางธรณี พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคขึ้นไปรับ พระแก้วมรกต แล้วอัญเชิญ พระแก้วมรกต ประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม และมีพิธีสมโภช 3 วัน

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองพิภพเสวยราชสมบัติ ในวันที่ 6 เมษายน 2325 นั้น ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายนมัสการ พระแก้วมรกต เป็นปฐม แล้วได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ( วัดพระแก้ว ) เพื่อประดิษฐาน พระแก้วมรกต โดยใช้เวลาสร้าง 2 ปี ครั้นพระอุโบสถสร้างสำเร็จ ได้โปรดฯให้เชิญ พระแก้วมรกต จากวัดอรุณมาวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2327 พระแก้วมรกต สถิตอยู่ในกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 224 ปี

สรุปเมืองต่างๆ ที่ พระแก้วมรกต เคยประดิษฐาน

( 1 ) เชียงราย ( 2 ) ลำปาง 32 ปี ( 3 ) เชียงใหม่ 84 ปี ( 4 ) หลวงพระบาง 12 ปี ( 5 ) เวียงจันทน์ 214 ปี รวมอยู่ในประเทศลาว 226 ปี ( 6 ) ธนบุรี 7 ปี ( 7 ) กรุงเทพฯ 224 ปี ( 230 )


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
(แก้วมรกต) ทรงเครื่องฤดูร้อน
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระแก้วมรกต ตามตำนานว่าสร้างในประเทศอินเดีย ( เมืองปาตลีบุตร ) มีอายุ 2,000 ปี ( สร้าง พ.ศ.500 ) นั้น ไม่จริงแน่นอน จากพุทธลักษณะขององค์ พระแก้วมรกต สรุปได้ว่า พระแก้วมรกต สร้างในประเทศไทย เป็นศิลปะเชียงแสนรุ่นหลัง พุทธศตวรรษที่ 20 ตอนต้น มีอายุกว่า 600 ปี พระแก้วมรกต นั้นความจริงเป็นพระหยก หาใช่มรกตไม่ แต่ด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด คนไทยจึงยกย่องท่านเป็น พระแก้วมรกต ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับฝรั่งต่างชาติมาก ที่เรียก The Emerald Buddha

พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ แบบขัดสมาธิ ขนาดหน้าตัก 48 ซม. ( 19 นิ้ว ) สูงจากทับเกษตรถึงพระเมาฬี 55 ซม. และเนื่องจากช่างไทยมีความชำนาญงานปั้น หล่อ แต่ไม่ถนัดงานแกะหยก ดังนั้น พระแก้วมรกต จึงแกะเป็นพระปางสมาธิ และไม่มีเม็ดพระศก เพราะปางมารวิชัยพระหัตถ์ขวาจะต้องยื่นออกมาทอดไว้เหนือพระชงฆ์ ซึ่งแกะยากกว่าและเสี่ยงกับการแตกหักง่ายกว่าปางสมาธิ ส่วนการแกะเม็ดพระศกก็เสี่ยงกับที่พระพักตร์จะร้าวรานได้ จึงงดไม่แกะเม็ดพระศก พระพุทธรูปที่แกะด้วยหยกหรือหินรัตนชาติโบราณ จะเป็นเช่น พระแก้วมรกต เช่นนี้ทุกองค์


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
(แก้วมรกต) ทรงเครื่องฤดูฝน
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ด้วยเหตุที่ พระแก้วมรกต ไม่มีเม็ดพระศก ซึ่งดูไม่งามในสายตาของคนไทย ประกอบกับต้องการทำบุญกับ พระแก้วมรกต ยิ่งๆ ขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดฯให้สร้าง เครื่องทรงประจำฤดูร้อน และฤดูฝน ถวาย พระแก้วมรกต ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯให้สร้าง เครื่องทรงฤดูหนาว ถวายอีกสำรับหนึ่ง และมี พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง พระแก้วมรกต ปีละ 3 ครั้ง ดังนี้คือ

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นเครื่องทรงฤดูร้อน เป็นการเริ่มต้นคิมหันตฤดู ( ฤดูร้อน ) เป็นเวลา 4 เดือน

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นเครื่องทรงฤดูฝน เป็นการเริ่มต้นวสันตฤดู ( ฤดูฝน ) เป็นเวลา 4 เดือน

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นเหมันตฤดู  ฤดูหนาว ) เป็นเวลา 4 เดือน

พระแก้วมรกต จึงเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนเครื่องทรง 3 ฤดู


ความลับของ พระแก้วมรกต

พระแก้วมรกต มีความลับ 3 ประการ ที่ไม่เคยเปิดเผย
1. องค์ พระแก้วมรกต นั้นยังมีเนื้อหยกเหลืออยู่ใต้ฐานอีก 28 ซม. ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดเนื้อหยกใต้ฐานออกมาเพื่อแกะ พระแก้วมรกต อีกองค์หนึ่ง ซึ่งก็จะได้ พระแก้วมรกต องค์น้อยที่มีความศักดิ์สิทธิ์สุดยอดอีกองค์หนึ่ง แต่ช่างไม่กล้าตัด เพราะกลัวว่าหากตัดแล้วเกิดองค์พระร้าวขึ้นมา ก็คงยิ่งกว่าวินาศ พระราชดำริจึงระงับไป


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
(แก้วมรกต) ทรงเครื่องฤดูหนาว
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
2. ในรัชกาลที่ 5 เกิดเพลิงไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระแก้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปบัญชาการดับเพลิง ทรงพระวิตกว่าไฟไหม้ใกล้พระอุโบสถ จึงโปรดฯให้เชิญ พระแก้วมรกต ไปประดิษฐานในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อดับเพลิงได้แล้วจึงโปรดฯให้เชิญกลับมาประดิษฐานในพระบุษบกทองคำในพระอุโบสถตามเดิม พร้อมกับจัดสร้างพิธีสมโภช ในการเชิญ พระแก้วมรกต ลงมาจากพระบุษบกนั้น มีความขลุกขลักยากลำบากมาก จึงได้มีความคิดที่จะสร้าง “ ระบบหนีไฟ ” ให้กับ พระแก้วมรกต โดยทำสาแหรกผูกโยงไว้กับเพดานพระอุโบสถเหนือพระบุษบก แล้วรวบไว้ที่ฝาผนัง เมื่อมีเหตุต้องหนีไฟอีก ก็เพียงแต่ขึ้นไปเชิญองค์พระแก้วไว้ในสาแหรก แล้วค่อยๆ ชักรอกสาแหรกลงมา ก็จะเชิญ พระแก้วมรกต ลงมาจากพระบุษบกได้โดยง่าย ด้วยความรวดเร็วและปลอดภัย โชคดีที่ยังไม่เคยต้องใช้แบบหนีไฟนี้เลยตั้งแต่ติดตั้งมา

3. ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ และเจ้ากรรมที่วัดพระแก้วอยู่ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งอย่างไรเสียก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร ไม่เป็นการปลอดภัยหาก พระแก้วมรกต ยังคงประทับอยู่ในวัดพระแก้ว จำเป็นที่ พระแก้วมรกต ต้องเสด็จลี้ภัยทางอากาศ จึงได้อัญเชิญ พระแก้วมรกต ไปสถิตในถ้ำในสวนซ้ายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอยู่ไกลออกไป และสร้าง พระแก้วมรกต จำลองหล่อด้วยแก้วสีเขียวมาประดิษฐานในพระอุโบสถแทน จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจึงได้จัดพิธีอัญเชิญ พระแก้วมรกต เสด็จกลับมาประทับในพระอุโบสถตามเดิม ส่วน พระแก้วมรกต จำลองเชิญไปสถิตในถ้ำพร้อมปิดถ้ำเก็บความลับนี้ไว้ตลอดไป

( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1230 พระแก้วประจำรัชกาลที่ ๑ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ( พระแก้วมรกต ) เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ราคาปก 70 บาท )




วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 







สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #พระแก้วประจำรัชกาลที่ 1 #พระแก้วมรกต