โดย..แสน วิชาชาญ
![]() |
พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ |
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ |
" ทางวัดให้เซียนพระมี คุณชลอ รับทอง เป็นประธาน คัดแยกพิมพ์ทรงออกจากกัน ไปจนถึงการกำหนดราคาเช่า พิมพ์ที่มีราคาแพงที่สุดเป็น พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ ที่ราคาถูกที่สุดคือพิมพ์อกครุฑ... "
เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี สร้างพระผงด้วยผงวิเศษ อาทิเช่น ปถมัง ตรีนิสิงเห พระ พุทธคุณ อิทธิเจ ผสมด้วยปูนหอย เกสรดอกไม้ น้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว ฯลฯ ตั้งแต่ยังเป็น พระธรรมกิตติ เชื่อกันว่าท่านตั้งใจไว้ว่าจะสร้างจำนวนเท่ากับพระธรรมขันธ์คือ 84,000 องค์ ท่านสร้างลงมือกดพิมพ์ด้วยมือของท่าน ทีละองค์สององค์ตามแต่จะมีเวลาว่าง ทว่าจะครบ 84,000 หรือไม่อย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ เพราะประวัติชีวิตของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังสี เขียนขึ้นหลังจากเจ้าพระคุณสมเด็จมรณภาพไปแล้วหลายปี![]() |
พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม |
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ |
โดย นายกนก สัชฌุกร เป็นผู้ออกเดินทางไปสอบถามและบันทึกถ้อยคำจากผู้ที่ใกล้ชิดกับเจ้าประคุณสมเด็จมากที่สุด ได้แก่ ท่านเจ้าคุณธรรมถาวร ( ช่วง ) อดีตเจ้าอาวาส วัดระฆัง ที่บวชตั้งแต่เป็นเณรคอยอุปัฏฐากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ รู้เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าประคุณสมเด็จดีที่สุด รูปของเจ้าคุณธรรมถาวรสมัยที่เป็นเณรปรากฏอยู่ในรูปถ่ายของเจ้าพระคุณสมเด็จ ที่เรียกว่า “ โต๊ะหมู่บูชา ” เป็นสามเณรถือพัดยศของเจ้าประคุณสมเด็จอยู่ด้านหลัง
ท่านเจ้าคุณธรรมถาวรเล่าว่า เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพายเรือออกบิณฑบาต ท่านนำพระผงที่ท่านสร้างและปลุกเสกติดตัวไปด้วย เห็นผู้ที่สมควรจะได้ท่านก็จะหยิบมาส่งให้ถึงมือถ้าเป็นบุรุษ ถ้าเป็นสตรีให้แบมือสองข้างเข้าหากัน ในลักษณะการรับ เจ้าประคุณสมเด็จจะทิ้งพระลงบนฝ่ามือ ก่อนกำชับว่า
“ พระของขรัวโตสร้างเก็บไว้ให้ดี ต่อไปจะหาได้ยาก”
แสดงให้เห็นว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯมิได้ให้ชื่อพระไว้ ส่วนคำว่า พระสมเด็จ นั้น คนรุ่นหลังจะเป็นใครไม่รู้ได้ เห็นว่าผู้สร้างคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังสี เลยเรียกพระที่ท่านสร้างว่า “ พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังสี ” ต่อมาได้ค่อยๆ เพี้ยนจนกลายเป็น “ พระสมเด็จ ”
ท่านเจ้าคุณธรรมถาวรยังได้เน้นว่า เจ้าประคุณสมเด็จสร้างพระไว้หลายคราวด้วยกัน เก็บรวบรวมไว้แต่ไม่ค่อยได้แจก จนสุดท้ายหลังจากเจ้าประคุณสมเด็จสิ้นชีพตักษัย ไปแล้ว พระสมเด็จ ที่ท่านสร้างไว้ยังเหลืออยู่ 1 หีบไม้จีน ( สำหรับใส่เครื่องงิ้ว ) วางทิ้งไว้บนศาลาการเปรียญ กระทั่งเกิดอหิวาตกโรคระบาด ที่เรียกกันว่า “ ปีระกาห่าใหญ่ ”
เจ้าประคุณสมเด็จฯไปเข้าฝันชาวบ้านบางช้าง สมุทรสาคร คืนเดียวหลายบ้านด้วยกัน ในฝันท่านบอกตรงกันว่า
“ ฉันชื่อขรัวโต อยู่วัดระฆัง บางกอก น้อย ฉันสร้างพระไว้ที่นั่น โยมทั้งหลายไปนำมาแช่น้ำ ทำน้ำมนต์แจกกันให้ทั่วป้องกันโรคห่าได้จ้ะ ”
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ |
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย |
จากนั้น นายกนก สัชฌุกร ได้ไปขอความรู้จากทายาทของท่านเสมียนตราด้วง ถึงเรื่องการสร้าง พระสมเด็จ ที่ วัดบางขุนพรหม ได้ข้อมูลว่า ท่านเสมียนตราด้วงบูรณะ วัดบางขุนพรหมใน (ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดใหม่อมตรส) อยู่ใกล้กับ วัดบางขุนพรหมนอก (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอินทรวิหาร) ได้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นเป็นเจดีย์ประธาน 1 องค์ พร้อมเจดีย์เล็ก 4 องค์ เป็นเจดีย์ประจำทิศทั้งสี่
ตามคติโบราณนั้นเชื่อกันว่าเมื่อสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นมาแล้ว หากสร้างพระบรรจุไว้ภายในเพื่อสืบอายุพระศาสนาเป็นมหากุศล จึงแจวเรือมาที่ วัดระฆัง เพื่อนมัสการเจ้าประคุณสมเด็จฯ นิมนต์ให้เป็นประธานในการสร้างพระผงเพื่อสืบอายุพระศาสนา เจ้าประคุณสมเด็จรับนิมนต์
ณ เวลานั้น เจ้าประคุณสมเด็จ ได้มาควบคุมการก่อสร้าง พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร (ปางโปรดสัตว์) เป็นที่ระลึกว่าท่านได้บวชเป็นสามเณรและออกบิณฑบาตเป็นครั้งแรก สะดวกต่อการควบคุมการสร้าง ปีนั้นเป็นปีพุทธศักราช 2413 ก่อนที่เจ้าประคุณสมเด็จจะมรณภาพในปีพุทธศักราช 2415
การสร้างคราวนั้นเจ้าประคุณสมเด็จมาเป็นประธาน คอยดูแลการสร้าง ท่านเสมียนตราด้วงป่าวประกาศให้ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมในเจ้าประคุณสมเด็จมาช่วยกันตำผสมเนื้อพระ โดยเจ้าประคุณสมเด็จจะนำผงวิเศษของท่าน เดินไปโรยลงในครกที่ตำผสมเนื้อพระ โดยมีการแกะแม่พิมพ์เพิ่มจาก 4 พิมพ์ทรง ที่ หลวงวิจารณ์เจียรนัย แกะถวายให้เจ้าประคุณสมเด็จฯได้แก่
1. พิมพ์พระประธาน ( พิมพ์ใหญ่ )
2. พิมพ์เจดีย์
3. พิมพ์เกศบัวตูม
4. พิมพ์ฐานแซม
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม ปี 2509 พิมพ์ฐานแซม |
พิมพ์ที่แกะเพิ่มเติมขึ้นมา มีอยู่ด้วยกัน 5 พิมพ์ทรง ผู้แกะแม่พิมพ์จะเป็นหลวงวิจารณ์เจียรนัยหรือไม่นั้น ไม่มีหลักฐานกล่าวถึง
1. พิมพ์ฐานคู่
2. พิมพ์สังฆาฏิ ( มีพระกรรณ )
3. พิมพ์อกครุฑ
4. พิมพ์เส้นด้าย
5. พิมพ์สังฆาฏิ ( ไม่มีพระกรรณ )
การสร้างในครั้งนั้นเชื่อได้ว่าครบ 84,000 องค์ เพราะเป็นงานใหญ่มีผู้มาร่วมตำผสมผง ไปจนถึงการกดพิมพ์พระ ไม่มีบันทึกรายละเอียดว่า ใช้เวลากี่วัน กี่เดือน เพียงแต่ว่าพระทั้งหมดได้ถูกขนเข้าไปบรรจุไว้ภายในเจดีย์ใหญ่ทั้งหมด
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม ปี 2509 พิมพ์เกศจรดซุ้ม |
“ เจ้าประคุณสมเด็จที่เดินนำหน้าร้องว่า ฮึ หลวงปู่ภูท่านจึงกวักมือเรียกช่างโบกปูนมาหา บอกกับช่างว่า โยมไปช่วยกันไล่คางคกที่อยู่ภายในออกมาให้หมด ก่อนที่พวกมันจะตายอยู่ภายใน ”
ครั้นถึงปีพุทธศักราช 2436 หรือ ร.ศ.112 ฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดอ่าวไทย เกิดกรณีพิพาทที่เรียกกันว่า “ ยุทธนาวีที่ปากน้ำ ” เหตุการณ์ตึงเครียด ทำให้ผู้คนเกรงว่าอาจลุกลามเกิดเป็นสงครามใหญ่ เพราะฝรั่งเศสนำเรือปืนมาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสเดิม ( ที่บ้านญวนสามเสน ) ต่างพากันเสาะแสวงหาพระเครื่อง เครื่องรางของขลังมาป้องกันตัว หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พระสมเด็จวัดระฆัง
สมเด็จวัดระฆัง กระจายไปสู่ชาวบ้านหมดแล้ว เริ่มมีการเล่าลือว่า เจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหมนอก หรือวัดใหม่อมตรส มีพระสมเด็จบรรจุอยู่ภายใน ทว่าการทุบเจดีย์เพื่อเปิดกรุถือว่าเป็นบาป จึงมีความคิดเกิดขึ้นว่า ช่องลมระบายอากาศด้านบนของพระเจดีย์ เป็นทางเดียวที่จะได้ พระสมเด็จ ภายในออกมา
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม ปี 2509 พิมพ์ฐานคู่ |
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม ปี 2509 พิมพ์ใหญ่ |
“ การตกเบ็ด ”
พระที่ติดก้อนดินเหนียวหรือก้อนข้าวเหนียวเป็นพระที่อยู่ตอนบนของกรุ มีคราบกรุน้อย พิมพ์พระสวยงาม จากการตกเบ็ดเพื่อนำ พระสมเด็จ มาป้องกันตัว กลายเป็นการตกขึ้นมาให้ผู้ต้องการเช่า ในราคาองค์ละ 1 บาท พระเริ่มตกยากเพราะอยู่ลึก ตลอดจนเหตุการณ์คลี่คลายเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง บรมมหาราชา ทรงเสด็จประพาสยุโรป เพื่อดำเนินวิเทโศบายด้านต่างประเทศ เพื่อให้สยามรัฐเสมารอดพ้นจากการเป็นอาณา นิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษ การตก พระสมเด็จ จึงยุติลง
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ที่ถูกตกขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2436 ( ร.ศ.112 ) ต่อมาเมื่อมีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการในปีพุทธ ศักราช 2500 จึงถูกเรียกว่า “ พระสมเด็จบางขุนพรหม กรุเก่า ” ส่วนที่เปิดอย่างเป็นทางการเรียกว่า “ กรุใหม่ ” ที่มีคราบกรุหนาปกคลุมผิวอยู่ ทำให้ด้อยความงามด้านพิมพ์ทรงของ พระสมเด็จ
ในปีพุทธศักราช 2500 มีนักขุดกรุจากอยุธยาอาศัยความมืดและฝนที่ตกหนักในฤดูฝน ลักลอบเจาะพระเจดีย์ใหญ่นำ พระสมเด็จ ส่วนหนึ่งออกมาได้ ก่อนปิดอำพรางช่องไว้ ภายหลังทางวัดไปพบเข้า ท่านเจ้าอาวาสจึงดำริว่า หากปล่อยไว้อย่างนี้เจดีย์คงพัง จึงทำการเปิดกรุ มีพิธีพราหมณ์บวงสรวงก่อน
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม ปี 2509 พิมพ์ปรกโพธิ์ |
พระที่นำออกมาจากกรุส่วนใหญ่มีคราบกรุหนา หย่อนความงามในด้านพิมพ์ทรงเรียกกันว่า “ พระสมเด็จกรุใหม่ ” ทางวัดให้เซียนพระมี คุณชลอ รับทอง เป็นประธาน คัดแยกพิมพ์ทรงออกจากกัน ไปจนถึงการกำหนดราคาเช่า โดยพิมพ์ที่มีราคาแพงที่สุดเป็น พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ที่ราคาถูกที่สุดคือ พิมพ์อกครุฑ เพียงไม่กี่เดือนพระที่เปิดกรุออกมาถูกเช่าบูชาไปจนหมด
ทางวัดได้บูรณะเจดีย์ใหญ่เพื่อปรับภูมิทัศน์ มีการทุบเจดีย์ทิศทั้งสี่รอบเจดีย์ใหญ่ คุณชลอ รับทอง เล่าให้ฟังว่า คนงานทุบเจดีย์เล็กด้านนอกออก พบว่าเป็นที่บรรจุอัฐิจึงนำออกมาใส่ผ้าขาวห่อไว้ ทุบเจดีย์เล็กที่อยู่ถัดเข้าไปพบพระอยู่ภายในมีคราบกรุใกล้เคียงกับเจดีย์ใหญ่ แต่เป็นพิมพ์ที่แตกต่างกันออกไป เป็นที่รู้จักกันในนาม “ พระสมเด็จกรุเจดีย์เล็ก ”
การบูรณปฏิสังขรณ์ดำเนินไปจนถึงปี พ.ศ.2509 ทางวัดใหม่อมตรสมีความเห็นว่า พระสมเด็จ กรุเก่าที่ติดอยู่กับดินก้นกรุมีจำนวนมาก หากทิ้งไปเป็นเรื่องน่าเสียดาย จึงให้นำมาแช่น้ำดินยุ่ย เก็บเศษ พระสมเด็จ ที่แตกหักไว้เป็นจำนวนมาก ทางวัดได้ให้ พันจ่าเอก มานิตย์ ปถพี ดำเนินการสร้าง พระสมเด็จ ขึ้นใหม่ โดยใช้เศษ พระสมเด็จ ที่ทางวัดเก็บไว้ ตำผสมลงไปในเนื้อพระ แกะพิมพ์ขึ้นมา 9 พิมพ์ทรง เปิดให้บูชาองค์ละ 10 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 วัตถุประสงค์
1. ให้บูชาสำหรับผู้มีจิตศรัทธาเช่าแล้วนำกลับเข้าไปบรรจุไว้ภายในเจดีย์ใหญ่
2. ให้บูชาเพื่อให้นำไปใส่กรอบติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคล
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑ |
พระสมเด็จ ปี 2509 เมื่อส่องดูจะเห็นก้อนผง สมเด็จ กรุเก่าแทรกอยู่ในเนื้อ นั่นเท่ากับว่ามีหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ได้แก่ผงวิเศษที่อยู่ในเศษ พระสมเด็จ กรุเก่าอยู่มากพอสมควร ทำให้เกิดมีพระพุทธคุณเป็นที่เล่าลือ ทำให้เกิดมีการทำ พระสมเด็จ ปีพุทธศักราช 2509 ปลอมกันหลายฝีมือ จนทำให้ความนิยมของ พระสมเด็จปีพุทธศักราช 2509 ตกลงไปบ้าง หากอยากได้พึงหาจากผู้ที่มีความชำนาญ
และจริงใจกับลูกค้าเป็นดีที่สุด
![]() |
พระสมเด็จ บางขุนพรหม ปี 2509 พิมพ์สังฆาฏิ |
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังสี ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2415 บนศาลาหลังน้อยที่ท่านปลูกไว้เพื่อควบคุมการสร้างหลวงพ่อโตวัดอินทรวิหาร ณ เวลานั้นสร้างขึ้นมาได้เพียงแค่พระนาภี (หน้าท้อง)
สมเด็จกรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวร บันทึกการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จไว้ในหมายเหตุบัญชีน้ำฝนมีข้อความว่า
“สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังสี สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2425 คำว่าสิ้นชีพิตักษัยใช้กับเชื้อพระวงศ์ระดับพระองค์เจ้า ( เป็นการบอกใบ้ฐานะของเจ้าประคุณสมเด็จฯหรือไม่ ) ”
อีกอย่างหนึ่งที่ นายกนก สัชฌุกร แม้แต่นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายไม่อาจค้นพบว่า การพระราชทานเพลิงศพเจ้าประคุณสมเด็จทำกันที่ใด และที่ยังลึกลับดำมืดจนทุกวันนี้คือ อัฐิและอังคารของเจ้าประคุณสมเด็จ ประดิษฐานอยู่ที่ใดกันแน่ ใครรู้หรือค้นพบหลักฐาน ช่วยออกมาแถลงให้แจ้งประจักษ์ด้วยเถิดเจ้าข้า
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1221 จาก วัดระฆัง ถึงบางขุนพรหม 2509 เดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ราคาปก 70 บาท )