พระครูประสาธน์วิทยาคม ( หลวงพ่อนอ ) วัดกลางท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา

พระครูประสาธน์วิทยาคม (หลวงพ่อนอ)
วัดกลางท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา
เหรียญรุ่นแรก (ยันต์ใหญ่)
พ.ศ.2496 เนื้อเงิน

ณ ท้องทุ่งราบในที่ลุ่มฝั่งซ้ายแม่น้ำแควป่าสัก ในเขตแขวงเมืองนครน้อย เมื่อถอยหลังไปสัก 80 ปีเศษ เป็นที่เต็มไปด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงามเขียวขจีจรดขอบฟ้า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สงบสุขทุกทิวา ชาวประชาสมณชีพราหมณ์ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม ประกอบสัมมาอาชีพถือการกสิกรรมทำนาเป็นพื้น เยาวชนของชาติลูกเล็กเด็กแดง กุลบุตรกุลธิดาก็อยู่ในโอวาทของบิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีกันทั่วหน้า ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บำเพ็ญทานการกุศล ถือศีลฟังธรรมรักษาอุโบสถ ตามแบบฉบับประเพณีของไทยลูกพุทธ กระทำจิตใจและกายบริสุทธิ์อยู่ในศีลธรรม พระภิกษุสงฆ์-สามเณรผู้บำเพ็ญศีลภาวนาปฏิบัติหลักธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเคร่งครัด อำนวยประโยชน์เป็นแหล่งเพราะศิลปะวิชาการด้านต่างๆ เป็นอย่างดียิ่ง สมัยกระโน้นโรงเรียนหามีไม่ การรอบรู้วิชาการต่างๆ จนได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำตนอันเป็นประโยชน์อย่างใหญ่ยิ่ง มีความเจริญตลอดทั้งประเทศชาติ ก็ล้วนแล้วแต่มาจากศิษย์วัด กินข้าวก้นบาตรกันมาทั้งนั้น สิ่งนี้จึงสมควรจะได้เทิดทูนบรรพบุรุษไว้เหนือหัว

เหรียญรุ่นแรก ( ยันต์ใหญ่ ) พ.ศ.2496
เนื้อทองแดง
ด้านการปกครองข้าราชการงานเมือง ก็ดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุข เข้ากับประชาชนเสมือนบิดา-มารดาญาติพี่น้อง มีความปรองดองรักใคร่นับถือเป็นที่กลมเกลียวซาบซึ้งเป็นที่ชื่นชมยิ่งนัก โจรผู้ร้าย และคำว่า “ คอรัปชั่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง ” ไม่รู้จักกันเชียวละ สิ่งแวดล้อมเป็นที่อบอุ่นร่มเย็นเป็นสุขกัน
พระประธานในโบสถ์ วัดกลางท่าเรือ
อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา
ทั่วหน้า เป็นเหตุให้เกิดความสามัคคีธรรม มีความพร้อมเพรียง ประกอบกรณียกิจทุกๆ ด้านก็สำเร็จลุล่วงไปได้เป็นอย่างดียิ่ง

พื้นที่หมู่บ้านศาลาลอย เป็นหมู่บ้านอยู่ในเขตแขวงเมืองนครน้อย ( คืออำเภอท่าเรือปัจจุบัน ) มีครอบครัว ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติครอบครัวหนึ่ง ถือประกอบสัมมาอาชีพด้วยการทำนา หัวหน้าครอบครัวชื่อ นายสวน อำแดงพุฒ เป็นต้นตระกูล “ งามวาจา ” เป็นครอบครัวที่ขยันขันแข็ง เมื่อว่างจากการเก็บเกี่ยวแล้วก็หาเวลาว่างไปเที่ยวทำงาน การค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ให้เป็นการเพิ่มพูนช่วยรายได้ในครอบครัว จนทำให้ครอบครัวของ นายสวน-อำแดงพุฒ “ งามวาจา ” มีหลักฐานมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยความขยันหมั่นเพียร ประกอบทั้งสองผัวเมียเป็นผู้โอบอ้อมอารี มีนิสัยช่วยเหลือเกื้อกูลต่อญาติมิตร เพื่อนบ้านเรือน เคียง จนเป็นที่รักใคร่นับถือของคนทั่วๆ ไป
รูปปั้นหลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา
เหรียญรุ่นแรก ( ยันต์ใหญ่ ) พ.ศ.2496
เนื้ออัลปาก้า

ปฏิสนธิ

การปกครองประเทศบ้านเมืองสมัยนั้น ปกครองโดย พระมหากษัตริย์ หรือเรียกว่า ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือพระบรมราชโองการเป็นกฎหมาย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “ พระปิยมหาราช ” หรือ ร.5 ก็นิยมเรียกกัน ( การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดย รัฐธรรมนูญ เพิ่งมีขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 )
โบสถ์วัดกลางท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา

ณ วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง จาตุศก 1254 เวลาบ่ายประมาณ 3 โมงเย็น ตรงกับ 31 มกราคม 2435 “ อำแดงพุฒ ” ก็ถือกำเนิดทารกเพศชายเพิ่มขึ้นภายในครอบครัวอีกคนหนึ่ง ยังความชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดาปราโมทย์ เป็นที่เอ็นดูรักใคร่ของ “ นายสวน ” “ อำแดงพุฒ ” ผู้เป็นบิดา-มารดายิ่งนัก ได้ประคบประหงมทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูชนิดมดมิให้ไต่ไรมิให้ตอม สู้อุตส่าห์อดตาหลับขับตานอน นับได้เป็นบุตรชายคนที่ 3 ( ทารกผู้นี้คือ พระครูประสาธน์วิทยาคม หลวงพ่อนอ นั่นเอง )

มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา รวม 8 คน  คือ
1. นายชม งามวาจา ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 80 ปี
2. พระภิกษุคลี่ บวชอยู่ในความอุปการะของหลวงพ่อที่วัดกลาง ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2515 อายุได้ 85 ปี
3. พระครูประสาธน์วิทยาคม ( หลวงพ่อนอ ขณะนี้อายุได้ 80 ปี 4 เดือน 14 วัน คำนวณอายุเมื่อ 18 มิถุนายน 2516 )
4. นางห่อ จำพรต ใช้นามสกุลเพื่อนเกลอของโยมบิดา ที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรม
5. นางสุก ได้สามีชื่อโล่ อยู่บ้านน้ำเต้า อ.มหาราช จ.อยุธยา
6. นางเปลื้อง ได้สามีชื่ออยู่ อยู่บ้านพระโขนง กรุงเทพมหานคร
7. นางนี ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 19 ปี
8. นายแก้ว งามวาจา ข้าราชการบำนาญกรมรถไฟ


มณฑปหลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ
อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา
โยมบิดาได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 67 ปี โยมมารดาถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 97 ปี ในตระกูลนี้เป็นผู้ที่มีอายุยืนนานทั้งนั้น ขณะนี้ หลวงพ่อนอ ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง คงจะยังอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวประชาไปได้อีกนาน

เมื่อเยาว์วัยรูปร่างลักษณะหน้าตาอ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่ขี้โรค เลี้ยงง่าย ไม่อ้อนโยเย การประจบประแจงอ้อแอ้เก่งตามประสาเด็ก จึงเป็นที่รักใคร่ ได้รับการทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูกันเป็นอย่างดีเชียวละ เป็นที่มีเสน่ห์ ใครพบเห็นก็อดที่จะเว้นการโอบอุ้มชมเชยกอดจูบจนเนื้อช้ำเสียมิได้
เหรียญหน้ายักษ์ พ.ศ.2513 เนื้อนวโลหะ
เหรียญหน้ายักษ์ พ.ศ.2513 เนื้อทองแดงรมดำ

เมื่อเจริญวัยอายุย่างเข้าพอที่จะรับการศึกษาเล่าเรียนหนังสือได้ บิดา-มารดาจึง นำพาไปฝากกับ พระหลวงลุงสวย ( ซึ่งเป็นพระพี่ชายของโยมบิดา ) ที่วัดศาลาลอยข้างๆ บ้านนั่นเอง เมื่ออยู่วัดกับหลวงลุงสวย ก็ได้ตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนอ่านหนังสืออักขรวิธี เป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของหลวงลุงมาก ได้พยายามพร่ำสอนให้เป็นอย่างดียิ่ง ด้วยความขยันหมั่นเพียร จนอ่านออกเขียนได้ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม ( ขณะนั้นการศึกษาหนังสือถือกันว่า หนังสือขอมเป็นวิชาหลัก หรือภาษาหลัก ) ถ้าผู้ใดเก่งทางหนังสือขอมแล้วถือกันว่าเลิศ นับได้ว่าเป็นผู้มีความรู้สูง จะหางานการทำที่ใดก็ได้ง่าย ถ้าจะเปรียบก็เห็นพอจะได้กับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสมัยนี้ก็คงจะพอๆ เทียบกัน เพราะสมัยนั้นภาษาอังกฤษยังไม่ใคร่จะคืบมาถึง ใครรู้ภาษาอังกฤษได้ดีในสมัยนั้นก็นับว่าเลิศคนไปเลยทีเดียว เพราะภาษาอังกฤษขณะนั้นจะมีผู้รู้อยู่บ้าง ก็เห็นมีอยู่แต่ในหมู่เจ้านายและบุคคลระดับสูงศักดิ์เท่านั้น
เหรียญหน้ายักษ์ พ.ศ.2513 เนื้อเงิน
เหรียญหน้ายักษ์ พ.ศ.2513 เนื้อทองแดง

สำหรับชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน กรรมกร พวกไกลปืนเที่ยง โดยมาก ก. ข. ไม่ใคร่จะกระดิกหู คืออ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เสียส่วนมาก บางทีอ่านออกเขียนไม่ได้ก็มี ก็ยังดีกว่าอ่านไม่ออกเสียเลย เพราะผู้อ่านหนังสือออกก็ยังดี พอมีอาชีพรับจ้างอ่านหนังสือประโลมโลกเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ให้คุณน้า คุณป้า คุณตา คุณยาย ฟัง พอได้เงินค่าขนมบ้าง สำหรับผู้หญิงด้วยแล้วเขาไม่ใคร่จะให้เรียนหนังสือกัน กลัวจะเขียนสารหรือแต่งเพลงยาวถึงผู้ชาย สมัยนั้นหวงลูกสาวหลานสาวนัก ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนไปไหนไม่ได้เลย การแต่งงานก็ต้องผู้ใหญ่หาให้แทบทั้งนั้น แปลว่าหนุ่มสาวหาเมียผัวกันไม่เป็น ตกเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่หาให้กันทั้งนั้น บางคู่ชายหญิงไม่เคยพบหน้าพบตากันเลย ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายว่าดีก็ต้องยอมโอเค. เอ...ชักจะฟุ้งไปหน่อย ขอประทานโทษที่บันทึกไว้ก็เพื่อให้หนุ่มสาวสมัยนี้ทราบไว้เท่านั้น แต่ก็เห็นเขาอยู่กันยืดเพราะผู้ใหญ่หาให้ทั้งนั้น เรื่องมีชู้สู่สาวกันนะเรอะเย็นใจ หายากยังกับงมเข็มในมหาสมุทร คือผัวเดียวเมียเดียวทั้งนั้น ถ้าใครขืนมีชู้สู่สาวขึ้นคราวใด ก็สะเทือนสะท้านเลื่อนลั่นไปทั่วสารทิศนั่นเชียว ก็เป็นของประหลาดอยู่ บางทีถูกคว่ำบาตรเลย คือไม่มีคนเขาคบหาสมาคมด้วย จนได้คำพังเพยกันว่า หญิง 3 ผัว ชาย 3 โบสถ์ เป็นไงครับเดี๋ยวนี้ยิ่งมากผัวมากเมีย มากโบสถ์เท่าใดก็ยังพอไหว เอ..ว่าจะหยุดไหงเลยมาได้ขอโทษด้วย ให้ทราบไว้เท่านั้น ไม่เป็นพิษเป็นภัยดอก นึกว่าเป็นของแถมความรู้รอบตัวก็แล้วกันนะขอรับ
โบสถ์วัดกลางท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา

หน้าบันโบสถ์วัดกลางท่าเรือ

ครั้นได้รับการศึกษาความรู้ ซึ่งอยู่กับพระหลวงลุงสวยพอสมควรแล้ว บิดา-มารดาอันเป็นที่รักบุตร หวังจะให้บุตรได้ดีมีวิชายิ่งๆ ขึ้น ด้วยมองเห็นการณ์ไกล หากจะให้อยู่กับหลวงลุงสวยก็คงจะไม่เจริญขึ้นเท่าใดนัก เพราะสมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลยังไม่มีการศึกษา ประชาบาลยังไม่ได้เปิดบังคับภาคการศึกษา เพิ่งมีโรงเรียนประชาบาลในอำเภอท่าเรือเมื่อปี พ.ศ.2467 หรือ พ.ศ.2468 นี่เอง คงมีแต่ โรงเรียนรัตนาธร เป็นโรงเรียนประจำอำเภอเพียงโรงเรียนเดียว ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดหนองแห้ว บัดนี้กลายสภาพเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนนิตยานุกูล ย้ายไปอยู่ข้างวัดนั่นแหละ สอนถึงชั้นมัธยมปีที่ 1 มี ราษบุรุษไข่ เป็นศึกษาธิการอำเภอ ครูช่วง เป็นครูใหญ่ มี ครูล่ำ ประมูลศิลป กับ ครูคร้าม สร้อยทอง เป็นครูประจำชั้น กับมีโรงเรียนราษฎร ตั้งอยู่ในตลาดข้างวัดหนองแห้ว ชื่อว่า โรงเรียนครูกลิ่น เดี๋ยวนี้สลายตัวไป เพราะถูกไฟไหม้ตลาดท่าเรือ เมื่อปี พ.ศ.2473 หรืออย่างไรไม่ปรากฏ แต่ไม่เห็นมีแล้ว

เมื่อทั้งฝ่ายบิดา-มารดาพร้อมด้วยหลวงลุงสวย เห็นว่ามีพระที่เป็นพวกกันเป็นท่านมหาชื่อ วงษ์ อยู่วัดกษัตราธิราช จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้พร้อมกันนำไปฝากถวายมหาวงษ์ไว้เป็นบุตรบุญธรรม ( มหาวงษ์ต่อมาได้ลาสิกขาบทออกรับราชการ ภายหลังได้เป็นผู้พิพากษา และได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น พระเทพปรีชา ในรัชกาลที่ 5 นั่นเอง )

เหรียญดอกจิก พ.ศ.2506 เนื้ออัลปาก้า
เหรียญดอกจิก หลังเรียบ จารอักขระ เนื้อทองแดง
เหรียญดอกจิก หลังยันต์ เนื้อทองแดง
ตอนที่อยู่วัดกษัตราธิราชกับมหาวงษ์ ก็ได้ตั้งหน้าเล่าเรียนเขียนอ่านด้วยความขยันหมั่นเพียร เป็นการสนองความตั้งใจของบิดา-มารดาให้สมหวัง ได้เรียนทั้งหนังสือไทย และหนังสือขอม ทั้งธรรมบาลี และมูลกัจจายน์ อย่างแตกฉานดียิ่ง เพื่อให้มีความตั้งใจเพิ่มศรัทธาบารมียิ่งขึ้น ทั้งถือกันว่าเป็นการตอบ แทนคุณบิดา-มารดาอีกโสตหนึ่งด้วย บรรพชาเป็นสามเณรขณะนั้นอายุได้ 17 ปี เป็นเณรอยู่ 3 พรรษา ก็ต้องสึกเมื่ออายุ 20 ปี เมื่อเมษายน 2456 ก็ถูกเรียกเกณฑ์เป็นทหารกองประจำการ จึงต้องสึกลาสิกขาบทออกรับราชการทหาร รับใช้ประเทศชาติในกรมทหาร ราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.พระนคร เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ( แต่ก่อนนั้นการเป็นทหารต้องเป็นอยู่ตลอด 2 ปีเต็ม ไม่มีผลัด ไม่มี
การลาพักเหมือนเดี๋ยวนี้ )
หอประชุมพิบูลสงคราม อุปถัมภ์ พ.ศ.2496

เมื่อปลดจากทหารกองประจำการแล้ว ปี พ.ศ.2458 บิดา-มารดาจึงได้นำไปฝากไว้กับท่าน พระครูรัตนาภิรมย์ ( ฮิม ) เจ้าอาวาสวัดศาลาลอย เจ้าคณะอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ครั้งกระนั้นก่อนที่จะบวชจะต้องอยู่วัดให้เคยชินกันนานๆ จนรู้ขนบธรรมเนียมของสงฆ์และว่าขานนาคได้คล่อง สวดมนต์ที่เป็นบทกิจวัตรประจำได้หมดแล้วจึงจะบวชกัน สำหรับ หลวงพ่อนอ บอกว่า อยู่นานสัก 2-3 เดือน จึงได้ทำการอุปสมบท และในระหว่างอยู่วัดก็ต้องนอนวัดไปไหนมาไหนต้องลาอาจารย์เหมือนเด็กวัดนั่นเชียว

พระครูรัตนาภิรมย์ ( ฮิม ) เจ้าคณะอำเภอท่าเรือ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระปลัดวงษ์ วัดศาลาลอย เจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลศาลาลอย เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นโท เป็นที่ “ พระครูพรหมสิริคุณ ” อายุได้ 87 พรรษาแล้วเป็นพระกรรมวาจาจารย์
ซุ้มประตูวัดกลางท่าเรือ
อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา
พระอาจารย์นาค เจ้าอาวาสวัดสัก อ.ท่าเรือ เป็นพระอนุศาสนาจารย์


เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนา หวังในความสงบสุขในด้านทางธรรม มีมติในใจว่า อะไรจะมีความสุขยิ่งกว่าการปฏิบัติธรรมไม่มีแล้ว ไหนๆ บวชทั้งทีต้องเอาดีให้ได้ ตั้งจิตมุ่งหน้าพยายามบากบั่นในการศึกษา  แว่วข่าวว่ามีพระอาจารย์ดีที่ไหนก็เข้ามอบกายถวายเป็นลูกศิษย์ ทั้งใกล้และไกล ทั้งด้านพระปริติธรรม ด้านวิปัสสนากรรมฐาน จากพระอาจารย์อยู่หลายปี จนเห็นว่าพอจะโปรดญาติโยมได้บ้างแล้ว จึงได้ออกแสดงธรรมแก่ญาติโยม จนญาติโยมเห็นความสามารถก็ถูกอาราธนาให้เทศน์โปรดโดยทั่วๆ ไป

ครั้นอยู่ต่อมามีญาติโยมและประชาชนได้มาหาท่าน พระครูรัตนาภิรมย์ ขอตัวไปเป็นเจ้าอาวาสวัดตากแดด ( วัดหนองกลาง ) ท่านพระครูเห็นว่า ท่านมีความรู้ความสามารถดีพอที่จะไปทำการปกครองคณะสงฆ์และญาติโยมได้ ก็อนุญาตให้ไป เป็นผู้รั้งเจ้าอาวาสวัดตากแดด ต.สามไถ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รั้งอยู่ 2 ปีจึงได้รับตราตั้ง และก็ได้เป็นหน้าที่ พระคู่สวด ในปีนั้นเอง ได้ช่วยบริหารการศาสนา การก่อสร้าง การศึกษา ทั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานแก่ภิกษุ-สามเณร ตลอดทั้งประชาชนทั่วๆ ไป

ล็อกเกตหลวงพ่อนอ
เหรียญรุ่นแรก ( ยันต์เล็ก ) พ.ศ.2496
เมื่อปี พ.ศ.2465 ชีพจรก็ลงเท้าอีก ด้วยว่าการอยู่วัดบ้านนอกเรานั้นยังหามีความรู้พอเพียงไม่ ด้วยความทะเยอทะยานที่ว่าบวชทั้งทีต้องเอาดีให้ได้ของท่านนี้แหละ จึงประชุมญาติโยมของวัดตากแดด แจ้งว่าจะไปร่ำเรียนวิชาต่อยังเมืองหลวงกรุงเทพฯ จึงได้ตั้ง พระภิกษุไสว เป็นผู้รั้งเจ้าอาวาสไว้แทน ตัวท่านก็อำลาญาติโยมด้วยความอาลัยอาวรณ์เป็นธรรมดา ไปศึกษาธรรมวินัยบาลีต่อที่ วัดบพิตรภิมุข ปากคลองตลาด จ.พระนคร จำพรรษาอยู่กับกุฏิ ท่านเจ้าแจะ ท่านเจ้าแจะเป็นพระราชาคณะชั้นราช มีนามว่ากระไรจำไม่ได้เสียแล้ว ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานนัก บังเอิญท่าน พระครูวินัยธรสุนทร กับ พระอาจารย์ใย เจ้าอาวาสวัดโขด ไปพบเข้า ก็พูดจาชักชวนขอร้องให้ไปช่วยบริหารการก่อสร้างศาลาของวัด เพื่อสนองการเจตนาดีก็เลยไปช่วยสร้างจนเสร็จ และก็เลยอยู่จำพรรษา เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน อยู่ถึง 5 พรรษา

เมื่อ พ.ศ.2470 พระภิกษุคลี่ ซึ่งเป็นพระพี่ชาย เป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดสามเรือน ( ภูมิกำเนิดของท่านนั่นแหละ ) ไปหาที่วัดโขดแบบไปเยี่ยม เพราะทราบกิตติศัพท์ว่าท่านก่อสร้างเก่ง พูดจาขอร้องให้ไปช่วยสร้างวัดโขดของเราบ้าง เพื่อเป็นการกตัญญูกตเวทิคุณต่อวัดบ้านเกิดเมืองนอน ท่านก็ไปช่วย ได้ปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ สร้างอุโบสถ 1 หลัง สร้างโรงเรียนอีก 1 หลัง
พระครูประสาธน์วิทยาคม ( หลวงพ่อนอ )
วัดกลางท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา

อิทธิปาฏิหาริย์ตอนอยู่วัดสามเรือน

ท่านบอกว่าเป็นที่มหัศจรรย์อยู่บ้างเหมือนกัน พูดไปแล้วก็ไม่น่าเชื่อ จึงไม่อยากพูดเพราะเหตุที่ว่าสิ่งที่ไม่ควรเป็นก็เป็นไปได้นี่แหละ จะเรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์หรือความมหัศจรรย์ก็แล้วแต่จะพูดกันเถอะ ด้วยใจรักในด้านการวิปัสสนากรรมฐาน ได้ศึกษาเล่าเรียนด้านไสยศาสตร์เวทมนต์ท่องบ่นคาถาตามแบบฉบับ ใครว่าอาจารย์ที่ไหนดีมีวิชาแล้ว ก็ยอมตนเป็นศิษย์เสมอมา ท่องเที่ยวอยู่กับวิชาประเภทนี้อย่างโชกโชน ได้เพียรพยายามเป็นเวลาสิบปีเศษก็ยังไม่เห็นเกิดอะไรขึ้น ครั้นต่อมาเขาลือกันว่ามี  อาจารย์เพิ่ม อายุสัก 80 ปีแล้ว นิวาสสถานอยู่แถวย่านบ้านเดียวใกล้ๆ กันนั่นแหละ เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านคาถาอาคมเป่าปลุกเสกเครื่องรางของขลังดีนัก ด้วยความพึงพอใจในวิชานี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงได้ยอมกายถวายตัวเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาการกับอาจารย์เพิ่มผู้นี้ต่อไป ( อ้อ ลืมบอกไปว่าอาจารย์เพิ่มผู้นี้เป็นฆราวาส ) วิชาการอย่างนี้มิใช่ว่าทุกคนจะเรียนได้สำเร็จทั่วๆ ไปก็หาไม่ ท่านก็ได้พยายามฝึกฝนเล่าเรียนอยู่อีกหลายปีก็ไม่สำเร็จอะไรดีขึ้น บางครั้งก็รู้สึกเบื่อหน่าย ระทดใจ ท้อแท้ใจ จะละทิ้งความพยายามเสียให้ได้

( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1213 พระครูประสาธน์วิทยาคม ( หลวงพ่อนอ ) วัดกลางท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ราคาปก 60 บาท )




วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #หลวงพ่อนอ #วัดกลางท่าเรือ #จ.อยุธยา