สารพัด พระพิมพ์ กรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภาพและเรื่องโดย “เทพทอง”


พระกรุวัดราชบูรณะ ในหมวดศิลปะจีน
ถ้าจะมีผู้ถามว่า พระพิมพ์กรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่กรมศิลปากรขุดเมื่อ พ.ศ.2501 มีกี่พิมพ์ ผู้เขียนเชื่อว่าคงจะไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ เพราะพระพิมพ์ที่ได้เป็นเรือนแสน สุดปัญญาที่จะบอกได้

อย่างไรก็ตามในหนังสือ “ พระพุทธรูปและ พระพิมพ์วัดราชบูรณะ  ได้แยกสมัยและประเภทของพระพิมพ์ที่ขุดได้จากในพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ไว้ดังนี้

ศิลปะแบบทวาราวดี มีประเภทซุ้มเรือนแก้ว

ศิลปะแบบลพบุรี มีประเภทซุ้มเรือนแก้ว ประเภทซุ้มปราสาทหรือซุ้มจรนำ และประเภทลอยตัว

พระปรกโพธิ์ พิมพ์จิ๋ว
กรุวัดราชบูรณะ
พระพิมพ์โมคคัลลาน์ สารีบุตรกรุวัดราชบูรณะ
ศิลปะแบบอยุธยา ประเภทซุ้มเรือนแก้ว ประเภทโพธิบัลลังก์ ประเภทซุ้มเรือนแก้วโพธิพฤกษ์ ประเภทซุ้มปราสาทโพธิพฤกษ์ ประเภทแผง ประเภทลอยตัว ประเภทซุ้มปราสาทหรือจรนำ ประเภทบรรณศาลา (เรือนหน้าจั่ว) และประเภทซุ้มเสมาทิศ

พระพิมพ์เหล่านี้แต่ละประเภท ปรากฏว่ายังมีพิมพ์แตกต่างกันออกไปอีกมากมาย ซึ่งไม่สามารถที่จะมาเสนอให้หมดทุกพิมพ์ได้


พระปรกโพธิ์บัลลังก์
พิมพ์ใหญ่ กรุวัดราชบูรณะ
อย่างไรก็ตาม พระพิมพ์ที่สำคัญๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักของพวกนักเลงพระโดยทั่วๆ ไป ก็มีอยู่ในกรุนี้แทบทั้งนั้น อาทิ

พระพิมพ์พุทธคยา พระซุ้มปรางค์ (กรมศิลปากรจัดอยู่ในประเภทซุ้มปราสาท แต่ความจริงควรจะเป็นซุ้มปรางค์ เพราะเป็นรูปปรางค์หรือพระปรางค์ ส่วนที่ไม่มีลักษณะเป็นพระปรางค์จึงควรเรียกซุ้มปราสาท)

พระตรีกาย หรือ พระสาม พระนาคปรก พระกำแพงศอก พระกำแพงคืบ พระกำแพงน้ำ พระแผงต่างๆ เช่น พระใบขนุน ฯลฯ

พระหูยาน พระอู่ทอง พระขุนแผน พระซุ้มนครโกษา พระสุพรรณ พระปรกโพธิ์ พระงบน้ำอ้อย พระสังกัจจายน์ เป็นต้น

สำหรับพระพิมพ์กรุนี้ ที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดก็ได้แก่ พระใบขนุน ซึ่งเป็นพระแผงขนาดใหญ่ที่สุดในกรุนี้ พระโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง ซึ่งเป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก


พระแผงพิมพ์นาคปรก
กรุวัดราชบูรณะ
พระซุ้มเสมาทิศ หรือที่ชาวบ้านเรียก พระซุ้มอรัญญิก ซึ่งมีมากพิมพ์ที่สุดในกรุนี้

พระใบขนุน มีขนาดกว้าง 12.5 ซม. สูง 25.8 ซม. ทำเป็น 2 หน้าคล้ายๆ กัน ตรงกลางมีพระพุทธรูปปางลีลา ยกพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในเรือนแก้ว ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก 50 องค์
ได้ความว่า พระใบขนุน นี้เพิ่งพบในกรุนี้เป็นครั้งแรก และพระองค์หนึ่งของพิมพ์นี้ ปรากฏว่ามีอักษรไทยคำว่า “ แม่จัน ” จารไว้ที่ริมเรือนแก้วด้านขวาขององค์พระ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงลักษณะตัวอักษรไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
พระลีลา ดอกไม้ไหว
กรุวัดราชบูรณะ

พระใบขนุน ดังกล่าว ได้มีส่วนช่วยในการสร้างพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเงินหลายแสน

พระซุ้มเสมาทิศ เป็นพระที่มีจำนวนพิมพ์มีลักษณะต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือถ้าไม่สังเกตก็ดูว่าเหมือนๆ กัน

ส่วนพิมพ์ที่แปลกๆ ของกรุนี้ก็มีอยู่หลายพิมพ์ แต่ที่น่าสนใจก็ได้แก่ พระพิมพ์ประเภทซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งทำเป็นพระพุทธรูปปางประทานธรรม ประทับนั่งอยู่ในเรือนแก้ว

พระพิมพ์นี้พระหัตถ์ขวาขององค์พระถือตาลปัตร แต่ตาลปัตรเล็กเหมือนพัด นักเลงพระจึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “ หลวงพ่อพัด ” กับ พระพิมพ์ประเภทบรรณศาลา (เรือนหน้าจั่ว) ซึ่งทำเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยชนิดเขาใน ประทับนั่งบนอาสนะหรือฐานบัวคว่ำบัวหงาย อยู่ภายในบ้านไทยทรงหน้าจั่ว ซึ่งก็นับว่าค่อนข้างแปลกมาก และไม่เคยเห็นที่กรุไหนมาก่อน

ท่านมีพระพิมพ์กรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้างหรือยัง ถ้ายังไม่มีก็พยายามหาเอาไว้บูชาเสีย

ถ้ามีแล้วก็โปรดบูชาไว้ให้ดีๆ เพราะพระพิมพ์กรุนี้ เป็นยอดพระพิมพ์เนื้อชินกรุหนึ่งของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระหูยาน พิมพ์ใหญ่
กรุวัดราชบูรณะ
พระลีลาใบขนุน
กรุวัดราชบูรณะ

 พระโพธิ์เงิน - โพธิ์ทอง หรือ พระโพธิ์เล็ก

ท่านรู้จัก พระโพธิ์เงิน - โพธิ์ทอง หรือพระโพธิ์เล็กไหม?

ผู้เขียนเชื่อว่าส่วนมากคงไม่รู้จัก เพราะ พระโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง เป็นพระเครื่องที่ไม่แพร่หลายเหมือนพระอื่นๆ ทั้งนี้ก็เนื่องจากกรมศิลปากรเป็นผู้ขุด และขุดได้จากในพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพียงแห่งเดียวเท่านั้น


พระพิมพ์หลวงพ่อโ
 ศิลปะจากช่างจีน กรุวัดราชบูรณะ
และประกอบกับพระในกรุนี้มีมากมายหลายร้อยแบบ ดังนั้น พระโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง ซึ่งเป็นพระขนาดเล็กมาก อีกทั้งพิมพ์ก็ไม่ค่อยจะงดงามเท่าใดนัก จึงไม่ดึงดูดความสนใจเหมือนพระอื่นๆ

พระโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง เป็นพระสมัยอยุธยา กรมศิลปากรจัดอยู่ในประเภทซุ้มเรือนแก้วโพธิพฤกษ์ พระพุทธรูปเป็นปางมารวิชัย ประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์

พระประเภทนี้มีอยู่ด้วยกันในกรุ 4-5 พิมพ์ ซึ่งบางพิมพ์ก็มีลวดลายและองค์พระละเอียดชัดเจนพอสมควร บางพิมพ์ก็มีลักษณะอย่างหยาบๆ คือมีใบโพธิ์ที่ประกอบกันเป็นพุ่มพฤกษ์เป็นจุดๆ มีเรือนแก้วเป็นเส้นเดี่ยวๆ และองค์พระไม่มีรายละเอียด ไม่เห็นตาเห็นหู


พระพิมพ์ซุ้มเสมาทิศ ยอดอุณาโลม
ด้านหลังจารึกอักษรจีน กรุวัดราชบูรณะ
แต่ที่น่าเอ็นดูก็เห็นจะได้แก่ขนาด ซึ่งค่อนข้างเล็กนั่นเอง คือ บางพิมพ์มีขนาดกว้างที่ฐานเพียง 1 ซม. และมีขนาดกว้างที่ฐาน 1.5 ซม. สูง 2.5 ซม. ก็มี

เนื่องจาก พระโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง มีขนาดเล็กดังกล่าว จึงเป็นพระที่เหมาะสำหรับสุภาพสตรีอาราธนาขึ้นแขวนกับสร้อยคอมาก และด้วยเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าผู้ที่มีไว้บูชาเกิดร่ำรวยขึ้น

พระดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า พระโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง ตามสัญลักษณ์ที่มีพุ่มโพธิพฤกษ์ในองค์พระประกอบเป็นชื่อด้วย

ปัจจุบัน พระโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง หายากเสียแล้ว เช่นเดียวกับพระอื่นๆ ของกรุเดียวกัน เพราะ กรุวัดราชบูรณะ ได้แตกออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2501 คือเมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว และพระต่างๆ ที่ขุดได้ส่วนใหญ่ทางกรมศิลปากรได้จัดให้เช่าไปในระยะแรกๆ ที่ขุดได้จนหมดสิ้นแล้ว

ส่วนการที่ทางกรมศิลปากรขุดพบ กรุวัดราชบูรณะ ก็สืบเนื่องมาจากเหตุโดยบังเอิญ คือเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2500 ได้มีการค้นพบสมบัติโบราณซึ่งหาค่ามิได้ อาทิ เครื่องทองราชูปโภค ตลอดจนพระพุทธรูป พระสถูปทองคำ และพระพิมพ์จำนวนมาก ภายในคูหาองค์พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระปรางค์ใหญ่ที่สุดในวัดนี้

และที่คูหาในองค์พระปรางค์ ยังพบว่ามีการเขียนสีโบราณแบบปูนเปียก งดงามอยู่เต็มทุกๆ ด้านของคูหา


พระลีลา ดอกไม้ไหว
กรุวัดราชบูรณะ
พิมพ์พระร่วงยืน
ซุ้มร่มโพธิ์
กรุวัดราชบูรณะ
 กรมศิลปากรจึงได้เสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาล ซึ่งมี จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อครั้งยังมียศเป็นพลเอก เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อของบประมาณสร้างอุโมงค์ และทำบันไดลงไปสู่คูหาภาพเขียน เพื่อเปิดให้นักศึกษาประชาชนเข้าชมศึกษาหาความรู้ ซึ่งรัฐบาลก็อนุมัติให้ดำเนินการได้ตามที่เสนอ

การดำเนินงานสร้างอุโมงค์ดังกล่าว กรมศิลปากรได้จัดทำเอง ทั้งนี้ก็เพราะจากการสำรวจในตอนแรกมีลักษณะบางอย่างบ่งว่า จะต้องมีกรุเก็บของและพระอยู่รอบๆ คูหาภาพเขียนสีนี้อีก

ดังนั้น ถ้าหากเปิดประมูลให้ผู้รับเหมาจัดสร้าง ประเทศชาติจะต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติอันมีค่าอย่างแน่นอน ซึ่งการคาดหมายว่าจะต้องมีกรุนี้ ก็ได้เป็นความจริง

ปรากฏว่ากรมศิลปากรและทางจังหวัดซึ่งร่วมกันเป็นคณะกรรมการขุดกรุ ได้ทำการขุดกรุพบกรุอีกถึง 7 กรุ ได้พระพุทธรูปและพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก คือ รวมสิ่งของเพียง 5 กรุ ได้พระพุทธรูปซึ่งมีปนอยู่จำนวนหนึ่ง รวม 618 องค์ และได้พระพิมพ์เป็นแสนๆ องค์

ส่วนอีก 2 กรุ โดยเฉพาะกรุที่ 7 ขุดพบพระใบขนุนล้วนๆ ทั้งกรุ ซึ่งพระใบขนุนนี้นี่แหละ ที่ทางกรมศิลปากรนำออกไปให้ประชาชนเช่า นำเงินมาสร้างพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เงินหลายแสนบาท

สำหรับประวัติ วัดราชบูรณะ ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวว่า “ศักราช (พ.ศ.1967) มะโรงศก สมเด็จพระอินทราชาเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน ครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระญาแลเจ้าญี่พระญา พระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สะพานป่าถ่านเถิงพิราไลย ทั้ง 2 พระองค์ที่นั้น จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระยา ได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลท่านจึงก่อพระเจดีย์สองพระองค์สวมที่เจ้าพระญาอ้ายแลเจ้าพระยาญี่ชนช้างด้วยกันเถิงอนิจภาพ ตำบลป่าถ่านนั้นในศักราชนั้นสถาปนาวัดราชบุณ”


พระกำแพงพัน
กรุวัดราชบูรณะ
พระพิมพ์ยอดขุนพล
กรุวัดราชบูรณะ
ส่วนข้อความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า “เจ้าอ้ายพระยามาตั้งตำบลป่ามะพร้าวที่วัดพลับพลาไชย เจ้ายี่พระยามาตั้ง ณ วัดไชยภูมิ จะเข้าทางตลาดเจ้าพรหม ช้างต้นมาปะทะกันเข้าที่เชิงสะพานป่าถ่าน

ทั้งสองพระองค์ทรงพระแสงของ้าว ต้องพระศอขาดพร้อมกันทั้งสองพระองค์

มุขมนตรีออกไปเฝ้าเจ้าสามพระยา ทูลการซึ่งพระเชษฐาธิราชขาดคอช้างทั้งสองพระองค์ แล้วเชิญเสด็จเข้ามาในพระนครเสวยราชสมบัติ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า

ท่านจึงให้ขุดเอาพระศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา ไปถวายพระเพลิง ที่ถวายพระเพลิงนั้นให้สถาปนาพระมหาธาตุ และพระวิหารเป็นพระอาราม แล้วให้นามชื่อว่า วัดราชบูรณะ ที่เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา ชนช้างกันถึงพิราลัย ให้ก่อพระเจดีย์สององค์ไว้ที่เชิงสะพานป่าถ่าน”

จากข้อความในพระราชพงศาวดารทั้งสองฉบับทำให้ทราบว่า วัดราชบูรณะ เป็นวัดที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เป็นผู้ทรงสร้างในที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐา เมื่อ พ.ศ.1967

ดังนั้น ของและพระที่พบในกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดฯให้สร้างขึ้น ถ้านับอายุถึง พ.ศ.2560 ก็จะเป็นเวลาถึง 593 ปี เป็นอย่างต่ำ


พระปางไสยาสน์ (ปรินิพพาน)
กรุวัดราชบูรณะ
แต่พระพุทธรูปและพระพิมพ์ที่ขุดได้ มีทั้งศิลปะแบบทวาราวดี ศิลปะแบบลพบุรี ศิลปะแบบสุโขทัย ศิลปะแบบอู่ทอง

ดังนั้น พระพุทธรูปและพระพิมพ์บางองค์ จึงมีอายุเป็นร้อยๆ ปีขึ้นไป

วัดราชบูรณะ เป็นวัดร้างมาตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2310 ปัจจุบันก็ยังเป็นวัดร้างอยู่ เมื่อสมัยก่อนบริเวณวัดรกเรื้อปกคลุมไปด้วยวัชพืชและต้นไม้ใหญ่เล็ก แต่เดี๋ยวนี้นับตั้งแต่สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการบูรณะก่อน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา

บัดนี้ก็ได้อยู่ในสภาพที่น่าเข้าไปเที่ยวชม ศึกษาหาความรู้ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยิ่ง

(ขอขอบคุณภาพประกอบเรื่องจาก คุณมโนมัย อัศวธีระนันท์ หนังสือ “ ศรีอยุธยา ”)


( ที่มา : ลานโพธิ์  ฉบับที่  1215 สารพัดพระพิมพ์ กรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ราคาปก 70 บาท ภาพและเรื่องโดย เทพทอง )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #สารพัด #พระพิมพ์ #กรุวัดราชบูรณะ #อยุธยา