พระบรมสารีริกธาตุ และพระพิมพ์เมืองนครจำปาศรี กรุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม


ภาพและเรื่องโดย ช. โมไนยพงศ์
พระกรุนาดูน
จ.มหาสารคาม
พิมพ์ยืน

เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2522 นายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรหมู่ที่ 1 ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ได้ไปขุดพบพระพุทธรูปบูชาเนื้อสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง บนเนินดินขนาดใหญ่ซึ่งอยู่บริเวณนาของตนเอง เขาได้นำไปขายในตัวจังหวัด ได้เงินมาหลายพันบาท จึงกลับมาขุดอีก

เนื่องจากสังคมชนบทนั้นแคบ ใครมีอะไรหรือใครได้อะไรมาก็ทราบกันหมด เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องก็พากันไปช่วยขุดกันอย่างโกลาหล พระส่วนใหญ่ที่ได้ขึ้นมาเป็น พระพิมพ์เนื้อดินเผา ขนาดเขื่องจำนวนมาก ประมาณกันไม่ได้ว่า ขุดขึ้นมาทั้งหมดเท่าใด

ความจริงนั้นพระมีมากมหาศาล แต่เนื่องจากมีการแย่งกันขุดแย่งกันขน พระที่ได้ขึ้นจากกรุใหม่ๆ ซึ่งมีสภาพอ่อนตัวมากจึงชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ ที่จะมีสภาพสมบูรณ์นั้นหาได้ยาก

พระนาคปรก กรุนาดูน
จ.มหาสารคาม
พระนาคปรก กรุนาดูน
จ.มหาสารคาม
บางคนนำขึ้นมาแล้วก็นำไปล้างขี้กรุออก จึงทำให้เนื้อพระซึ่งโดยทั่วไปเป็นเนื้อดินเผาแกร่งมากสึกกร่อนหมด ไม่งดงามเท่าที่ควร หากทิ้งไว้ให้ถูกอากาศนานกว่านี้ พระที่ได้จะมีสภาพสมบูรณ์มากทีเดียว

จากภาพ จะเห็นหลุมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นบริเวณที่ขุดพบพระพิมพ์ต่างๆ และ พระบรมสารีริกธาตุ ทางกรมศิลปากรได้ประมาณไว้ว่ามีอยู่รวม 39 พิมพ์ เท่าที่พบแต่ละพิมพ์ต่างก็มีลวดลายอลังการงดงามทั้งนั้น สำหรับพระพิมพ์ต่างๆ นี้ ข้าพเจ้าจะได้นำมากล่าวต่อไป

พระนาคปรก
กรุนาดูน
จ.มหาสารคาม
พระนาคปรก เมืองไพร
 ขนาดของพื้นที่ พระกรุนาดูน บริเวณที่มี พระบรมสารีริกธาตุ ฝังอยู่นี้ มีเนื้อที่ขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้คงจะเป็นพระสถูปขนาดใหญ่ในอดีตอย่างแน่นอน

ดังที่ได้กล่าวแล้วคือ ประชาชนเข้าไปแย่งขุดพระแข่งกับกรมศิลปากร ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็คุมไม่อยู่ ฝูงชนหลายๆ ร้อยฮือกันเข้าไป ใครจะกันได้ ก็เลยต้องปล่อยกันเลยตามเลย

พระสถูป ซึ่งสามารถถอดได้เป็นส่วนๆ จึงถูกยื้อแย่งกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง แต่ด้วยบุญญานุภาพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ของพระสถูปกลับเข้ามารวมอยู่ด้วยกันอีก อภินิหารต่างๆ นี้ ท่านผู้อ่านจะได้ทราบในตอนต่อไป

ขนาดและลักษณะของพระสถูป
ที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ

ก. ยอดพระสถูป สร้างด้วยสัมฤทธิ์ตันทั้งแท่ง ศิลปะทวาราวดี กรมศิลปากรเป็นผู้ขุดพบ

ข. ตัวพระสถูป เป็นเนื้อสัมฤทธิ์เช่นกัน ด้านในกลวง มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในผอบ 3 ชั้น คือ ผอบสัมฤทธิ์ ผอบเงิน และผอบทองคำ เท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีเพียง 1 เม็ด ขนาดใหญ่เท่าหัวไม้ขีดไฟ คล้ายผลึกแก้วใส ดูแวววาวดุจเพชร

จากคำเล่าลือของชาวบ้านนั้น เชื่อว่ามีอยู่หลายองค์ แต่มีผู้รู้มากแบ่งเอาไปเก็บไว้ บางกระแสก็บอกว่า ถูกแบ่งจำหน่ายไปตอนที่มีการซื้อขายกันในตอนแรก

สถูปสำริด
บรรจุพระธาตุ
สถูปสัมฤทธิ์บรรจุพระธาตุ
บางคนก็ว่า ผู้ได้พระสถูปไว้ครอบครองในตอนแรกแบ่งยักยอกเก็บไว้บ้างเป็นบางส่วน มิได้มอบให้ทางการเสียทั้งหมด ตัวพระสถูปนี้ นายบุญจันทร์ เกตุแสนศรี ภารโรงสำนักงานที่ดิน อำเภอนาดูน เป็นผู้ขุดได้เป็นคนแรก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2522 ต่อมาได้มีการซื้อขายกันต่อๆ ไปอีกหลายทอด

ค. ฐานพระสถูป เป็นแผ่นสัมฤทธิ์กลม กว้างประมาณ 18 ซม. มีลักษณะเป็นฐานลายดอกบัว ชำรุดบ้าง
เล็กน้อยเพราะความเก่า ผู้ขุดพบเป็นนักศึกษาชาย ( ไม่ทราบนาม ) อยู่ที่อำเภอนาเชือก เขาได้ขุดพบฐานสัมฤทธิ์ เข้าใจว่าบริเวณ พระบรมสารีริกธาตุ คงจะมีต้นไม้เงินต้นไม้ทองประดับอยู่ หากไม่มีการยื้อแย่งกันคงจะได้ของดั้งเดิมทั้งชุด

เมื่อประกอบองค์พระสถูปเข้าด้วยกันแล้ว พระสถูปมีความสูงทั้งสิ้นรวมได้ 24.4 ซม. ถูกบรรจุอยู่ลึกจากระดับผิวดินประมา 0.5 เมตร สภาพตัวพระสถูปแม้จะหล่อด้วยสัมฤทธิ์ แต่ด้วยอายุความเก่าถึงพันกว่าปี เนื้อสัมฤทธิ์ถึงกับผุกร่อนลอกเป็นชิ้นๆ
แผ่นดินเผารูปสถูป
ลักษณะคล้ายคลึง
กับสถูปจำลอง
สัมฤทธิ์บรรจุพระธาตุ
ได้จากการขุดค้นใน
กรุกลางโบราณสถาน
พระกรุนาดูน
พิมพ์ลีลา
( พระโพธิสัตว์ )

นับว่าเป็นความฉลาดของคนโบราณ ที่มิได้บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในที่สูงๆ ขององค์สถูปใหญ่ เพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่า ต่อไปภายหน้าองค์พระสถูปใหญ่อาจจะชำรุดหักโค่นลงมา พระบรมสารีริกธาตุ อาจจะถูกทำลาย จึงบรรจุไว้ใต้ดิน อย่างไรก็ไม่มีการเสียหาย เช่นเดียวกับ พระบรมสารีริกธาตุ ที่พระธาตุพนม ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในผอบหลายๆ ชั้นภายในผอบหินทรงเจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนระดับผิวดิน เมื่อพระธาตุองค์ใหญ่ชำรุดทลายลงมาตัวพระธาตุจึงไม่ได้รับความกระทบกระเทือนแต่ประการใดทั้งสิ้น

นอกจาก พระสถูปตัวจริง ซึ่งทำด้วยสัมฤทธิ์แล้ว กรมศิลปากรยังได้ขุดพบ แผ่นดินเผามีรูปพระสถูปขนาดย่อ ปรากฏอยู่ รูปทรงเหมือนกับของจริงทุกประการ แต่ย่อให้เล็กลงเล็กน้อย อาจจะถือเป็นภาพจำลองต้นแบบของพระสถูปก็ได้

ของชิ้นนี้มีความสมบูรณ์ทุกอย่าง ชี้ให้เห็นว่า พระสถูปทั้งชุดมีชิ้นส่วนอะไรบ้าง ได้เก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น

สิ่งมหัศจรรย์ของ พระบรมสารีริกธาตุ

จากการยื้อแย่งกันขุดของประชาชน ทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ขององค์พระสถูปตกอยู่ในมือบุคคลหลายฝ่าย กระจัดกระจายกันไป บางส่วนได้ถูกจำหน่ายเปลี่ยนมือไปแล้ว บางส่วนน่าจะถูกทำลายหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยบุญญานุภาพขององค์พระธาตุฯ ชิ้นส่วนขององค์พระสถูปทุกชิ้นได้รอดพ้นอันตรายกลับมาอยู่รวมกันโดยสมบูรณ์อีก

เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอภินิหารและความมหัศจรรย์สรุปได้ดังนี้
เมื่อ นายบุญจันทร์ เกตุแสนศรี ขุดได้ตัวพระสถูป ก็ได้นำกลับไปเก็บไว้ที่บ้านพัก อาจจะเป็นเพราะบุญของตนเองไม่ถึง หรืออาจจะเป็นเพราะเอาของสูงมาเก็บไว้ในที่ไม่เหมาะสมก็เป็นได้ ฟ้าได้ผ่าบ้านนายบุญจันทร์ ในเวลากลางวันแสกๆ ด้วยความกลัว จึงนำไปขายต่อให้ ผู้ใหญ่บาง

ผู้ใหญ่บางเมื่อได้ของชิ้นนี้ก็ฝาก นายเชวง โสภางค์ พ่อค้าของเก่าจากกรุงเทพฯ ซึ่งมาปักหลักรับซื้อของเก่าอยู่ที่ตัว อำเภอนาดูน ให้นำไปขายต่อในกรุงเทพฯ โดยแบ่งกำไรกัน

นายเชวงได้นำพระสถูปพร้อมพระธาตุฯไปใส่ไว้ในชั้นเก็บของหน้ารถยนต์ พร้อมทั้งบรรทุกของเก่าอื่นๆ เข้ากรุงเทพฯ เมื่อถึงก็ได้จำหน่ายของเก่าต่างๆ ที่รับซื้อมาไปจนหมดแล้วก็เดินทางกลับไปที่ อำเภอนาดูน อีก โดยลืมจำหน่าย พระบรมสารีริกธาตุ เสียสนิท

เมื่อขับรถกลับไป อำเภอนาดูน อีกครั้ง ผู้ใหญ่บางก็ถามถึง พระบรมสารีริกธาตุ ว่าขายไปได้เงินเท่าใด ปรากฏว่านายเชวงเพิ่งนึกออก และยอมรับว่าลืมเสียสนิท จึงนำของคืนให้ผู้ใหญ่บางไปก่อน

ต่อมาทางราชการได้มาขอคืน โดยจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ถ้าผู้ครอบครองไม่ยอมให้คืน ในที่สุดทางราชการจึงได้ตัวพระสถูปพร้อม พระบรมสารีริกธาตุ คืน

เมื่อนำมาประกอบกับส่วนยอด พระสถูปที่กรมศิลปากรขุดพบ ปรากฏว่าสวมเข้ากันได้พอดี เป็นองค์พระสถูปโดยสมบูรณ์

นอกจากนี้ทางราชการยังได้สืบทราบว่า นักศึกษาชายผู้หนึ่งเป็นผู้ได้ ฐานลายดอกบัว เนื้อสัมฤทธิ์ ไป จึงได้ติดตามไปขอคืน ซึ่งก็ได้คืนมาโดยง่าย พร้อมทั้ง ใบไม้ทองคำ 1 ใบ

จากคำบอกเล่าของนักศึกษาผู้นั้น เขาตั้งใจจะเอาใบไม้ทองคำและฐานสัมฤทธิ์ลายดอกบัวนี้ไปให้ช่างทองในตัวจังหวัดตัดเป็นชิ้นๆ ใช้ทำเป็นตะกรุด แต่พอมีโอกาสเดินทางเข้าไปจังหวัด ก็มีเหตุเป็นไป คือลืมเอาไปเสียทุกครั้ง เป็นเช่นนี้อยู่ถึง 3 ครั้ง 3 หน จนในที่สุดทางราชการได้ไปติดต่อขอคืน เขาจึงมอบของทั้งหมดให้มา

เรื่องต่างๆ ยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น ปัญหาก็คือ พระบรมสารีริกธาตุ มีเพียงเม็ดเดียวจริงหรือ? ใครเก็บยักยอกไว้อีกบ้างหรือเปล่า?
หลุมขนาดใหญ่ที่เป็นบริเวณขุดพบ
พระบรมสารีริกธาตุ และพระพิมพ์ต่างๆ

ปัญหาการยื้อแย่ง พระบรมสารีริกธาตุ องค์ที่เหลืออยู่ก็เกิดขึ้นมาอีก โดยทางจังหวัดจะนำไปประดิษฐานไว้ที่ตัวจังหวัด  แต่ประชาชน อำเภอนาดูน ไม่ยอม ถึงกับเดินขบวนคัดค้านเป็นเรื่องใหญ่โต ในที่สุดก็ลงมติ ให้เก็บ พระบรมสารีริกธาตุ ไว้ที่ อำเภอนาดูน ต่อไป โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้จัดของบประมาณจากรัฐบาลมาดำเนินการก่อสร้างสถานที่เก็บรักษา ณ แหล่งเดิมที่ขุดพบ
ภาพเหตุการณ์ขณะที่ประชาชน
กำลังแย่งกันขุดพระนาดูน

ฉะนั้น ที่ดินบริเวณดังกล่าวจะถูกทางราชการขอซื้อคืน เพื่อจัดสร้างพระธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ต่อไป งบประมาณก่อสร้างคงไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท ขณะนี้องค์พระธาตุได้เสร็จแล้ว

พระสถูป และ พระบรมสารีริกธาตุ ถูกเก็บรักษาไว้ที่ สถานีตำรวจ อำเภอนาดูน โดยจัดห้องพิเศษเป็นที่เก็บรักษาโดยเฉพาะ สิ่งมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นอีกหลายๆ ครั้งก็คือ นับตั้งแต่วันที่นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานบนสถานีตำรวจ ในวันเดียวกันนั้นมี งูขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 2.5 เมตร เลื้อยขึ้นมาบนสถานีตำรวจ แต่ไม่ทำอันตรายใคร เมื่อถูกไล่ก็เลื้อยลงบันไดเข้าป่าไป เหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง ตำรวจทุกคนที่นั่นยืนยันได้ว่า มีงูเลื้อยขึ้นมาบนสถานีตำรวจบ่อยครั้งที่สุด

ผู้เขียนคาดเอาว่า เดิมพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในป่าดง พอถูกนำมาเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ บรรดาสัตว์ต่างๆ คงจะตามมานมัสการก็ย่อมเป็นไปได้ ทุกคนก็คิดกันเช่นนี้ ผิดถูกอย่างไรท่านผู้อ่านลองวินิจฉัยกันดูเถิด บรรดาตำรวจที่นั่นเขาก็งงเหมือนกัน

เคยมีผู้แปลกหน้ามาเยือนบ่อยที่สุด ก็คือ งู การมาก็มิได้เร้นลับ เลื้อยขึ้นบันไดมาตรงๆ ให้เห็นกันชัดๆ อย่างนั้นแหละ ก่อนหน้าที่จะเอา พระบรมสารีริกธาตุ มาเก็บไว้นั้น เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน
พระกรุนาดูน แผงใหญ่
จ.มหาสารคาม

ความศักดิ์สิทธิ์อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านกล่าวขวัญกันก็คือ บุคคลใดที่ลบหลู่ดูหมิ่นองค์ พระบรมสารีริกธาตุ นำท่านไปเร่ขายเหมือนสินค้า ต่อมาได้ถูกฆาตกรรมหมดสิ้น ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

จะเห็นได้ว่า บุคคลใดที่การกระทำไปในทางไม่เคารพยอมมีโทษมีภัยมหาศาล มีกรรมทันตาเห็น ประชาชนชาวมหาสารคามทุกคนทราบเรื่องนี้ดี

สำหรับผู้เขียนเอง ครั้งแรกไม่ค่อยถือเรื่องอภินิหารเท่าใดนัก เคยทราบว่า มีคนเคยไปถ่ายรูปถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ติด คือแฟลชไม่ทำงาน พอถ่ายไปทางอื่นแฟลชก็ทำงานเป็นปกติ พอหันกลับมาถ่ายองค์ พระบรมสารีริกธาตุ ใหม่ก็ไม่ติดอีก พอเปลี่ยนไปถ่ายอย่างอื่นก็ติดอีกตามปกติ เป็นเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง

ผู้เขียนเองได้มีโอกาสนำกล้องไปถ่าย พระบรมสารีริกธาตุ เช่นกัน จะเป็นด้วยอภินิหารหรือไม่ผู้เขียนไม่ทราบ รูปก่อนหน้านั้นผู้เขียนถ่ายติดชัดเจนดีทั้งหมด พอถ่ายองค์ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งต้องใช้แฟลชช่วย เพราะอยู่ในห้องแสงสว่างไม่พอ แฟลชทำงานทุกครั้ง แต่เมื่อล้างฟิล์มออกมาปรากฏว่า ส่วนที่ถ่ายองค์ พระบรมสารีริกธาตุ ใช้ไม่ได้เลย เหมือนกับแฟลชไม่ทำงาน

และบนสถานีตำรวจนั่นแหละ ผู้เขียนถ่ายภาพพระบูชาให้ คุณไพบูลย์ ตรีไพศาลภักดี ซึ่งนำติดตัวไปด้วยโดยกล้องอันเดียวกัน แฟลชอันเดียวกัน ปรากฏติดภาพชัดเจนทุกรูป มีช่วงที่ถ่าย พระบรมสารีริกธาตุ ในห้องเท่านั้นที่ฟิล์มไม่ดี อัดออกมาก็ได้แต่ภาพเลือนราง
พระกรุนาดูน พิมพ์ประทานพร

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนเอง

พ.ต.ต.ชูศักดิ์ บูรณะธนิต รองผู้กำกับจังหวัดมหาสารคาม ได้เตือนผู้เขียนก่อนถ่ายว่าต้องขออนุญาตก่อน เคยมีคนถ่ายรูปไม่ติดมาแล้ว ผู้เขียนไม่เชื่อ เพราะขณะนั้นตั้งโฟกัสพร้อมแล้วเลยกดชัตเตอร์ฉับๆ ลงไปหลายต่อหลายรูป ภาพออกมาเหมือนถ่ายโดยไม่มีแฟลช ทั้งที่แฟลชก็ทำงานโดยสมบูรณ์ทุกครั้ง นี่คือเรื่องจริงที่ผู้เขียนได้ประสบมาเอง

อายุของพระสถูปเมืองนาดูน

หากจะถามว่า พระบรมสารีริกธาตุ เมืองนาดูนนี้ถูกนำมาบรรจุไว้ตั้งแต่เมื่อใด? คงไม่มีใครตอบได้ถูก นอกจากจะพิจารณาศิลปะพระพิมพ์ที่ขุดขึ้นได้เท่านั้น เพราะเป็นถาวรวัตถุที่ได้ถูกจัดสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการบรรจุองค์ พระบรมสารีริกธาตุ จากการพิจารณาดูศิลปะพระพิมพ์ต่างๆ นั้น ผู้รู้บางท่านได้เขียนบทความกล่าวไว้ว่า เป็นพระที่มีศิลปะการสร้าง แบบคุปตะ ซึ่งมีกำเนิดระหว่างพุทธศตวรรษที่ 9-10

ถ้าพระกรุนี้มีอายุถึงขนาดนั้นจริง ก็ต้องมีอายุถึง 1,500-1,600 ปี ซึ่งหมายถึงว่า พระบรมสารีริกธาตุ ได้ถูกนำมาประดิษฐาน ณ เมืองนาดูนในระยะเดียวกันนั้น ( อายุของศิลปะคุปตะรุ่งโรจน์อยู่ระหว่าง พ.ศ.813-1190 )
สภาพเหตุการณ์เมื่อวันที่ทางจังหวัดจะเคลื่อนย้าย
พระบรมสารีริกธาตุ ไปไว้ที่ตัวจังหวัดมหาสารคาม
โดยมีประชาชนและพระภิกษุชาวนาดูนพากันคัดค้าน

แต่ผู้เขียนกลับมีความเห็นขัดแย้งกัน แม้ว่าผู้เขียนจะมิได้ศึกษาประวัติด้านศิลปะของพระพุทธรูปมาโดยตรง แต่จากการศึกษาด้วยตนเอง เปรียบเทียบจากเอกสารของทางกรมศิลปากรที่เคยจัดพิมพ์ไว้ และจากการพบเห็นพระพิมพ์บางพิมพ์ ทำให้ผู้เขียนกำหนดอายุพระกรุนี้ไว้แค่ 1,200 ปี เท่านั้น คือเป็นพระที่สร้างตาม พุทธศิลปะปาละเสนา ซึ่งรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ 14

ที่ผู้เขียนกล้ายืนยันเช่นนี้ เพราะผู้เขียนได้เคยเห็นพระพิมพ์บางองค์ขนาดเล็ก ซึ่งผู้นิยมสะสมพระเครื่องนิยม และใฝ่หากันมากที่สุด นั่นคือ พระพิมพ์รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งถูกสร้างปะปนอยู่กับพระพิมพ์ปางประทานพรขนาดย่อมอื่นๆ เมื่อพระพิมพ์นี้ปรากฏให้เห็นก็ดี หรือพระพิมพ์ยืนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีรูปพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง พระโพธิสัตว์ประทับยืนอยู่ทั้ง 2 ข้างก็ดี พระพิมพ์เหล่านี้ได้มีการสร้างขึ้นในระยะประมาณ 1,200 ปีเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าคงจะมีอายุไม่เก่าเกินไปมากกว่านี้

ทำไมจึงเรียก “ นครจำปาศรี

จากการที่ผู้เขียนได้ไปสอบถามผู้รู้หลายท่าน ก็ไม่ได้ความกระจ่างในเรื่องนี้ แต่ก็สามารถสรุปได้ประการหนึ่งว่า นครจำปาศรี นี้มิใช่ชื่อดั้งเดิมของเมืองนาดูน มาถูกเรียกตอน เขมรเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้

เมืองนาดูนอาจถูกรุกรานโดยเขมร แล้วถูกเขมรครอบครองอยู่นาน เพราะปรากฏมีเทวาลัยและปรางค์กู่ต่างๆ ปรากฏอยู่ทั่วไป สิ่งเหล่านี้จัดอยู่ในศิลปะลพบุรี หรือมีอายุประมาณ 900 ปีเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อเขมรเข้ามาปกครองดินแดนแห่งนี้ จึงตั้งชื่อ นครจำปาศรี ขึ้นก็ย่อมได้

ปรางค์กู่ที่สำคัญในบริเวณนี้คือ กู่สันตรัตน์ ซึ่งก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ทั้งสิ้น พระเครื่องและพระพิมพ์ต่างๆ ที่ได้ขุดขึ้นจากบริเวณกู่นี้มีบ้างเหมือนกัน แต่สภาพของเนื้อพระค่อนข้างละเอียดและยุ่ยไม่แกร่งเหมือนพระพิมพ์เมืองนาดูน พระพิมพ์และพระเครื่องของปรางค์กู่สันตรัตน์นี้ ผู้เขียนจะหานำมาเสนอในโอกาสต่อไป

พระกรุนาดูน จ.มหาสาารคาม
ประวัติ พระบรมสารีริกธาตุ และ พระบรมสารีริกธาตุ องค์ที่บรรจุไว้ที่เมืองนาดูน

เนื่องจาก อาจารย์สมชาย ลำดวน ได้เรียบเรียงประวัติ พระบรมสารีริกธาตุ ไว้โดยย่อๆ อ่านเข้าใจง่าย ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาเสนอต่อท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้วนั้น พวกมัลลกษัตริย์ผู้ครองกรุงกุสินารา ก็ช่วยกันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ แล้วคิดจะสร้างสถูปเพื่อประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ ไว้ ณ เมืองกุสินารานั้น เมื่อข่าวนี้ทราบถึงเมืองอื่นๆ ซึ่งต่างก็มุ่งหวังที่จะอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐานไว้ให้ประชาชนได้สักการบูชา จนเกือบจะเกิดสงครามแย่งชิงพระธาตุกัน ผลที่สุดโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย จึงตกลงแบ่งพระธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน แล้วแจกไปยังที่ต่างๆ 8 แห่ง คือ
1. แคว้นมคธ ของพระเจ้าอชาติศัตรู
2. กรุงกบิลพัสดุ์ แห่งสักยราช
3. เมืองเวสาลี ของกษัตริย์ลิจฉวี
4. เมืองอัลกัปปะ ของกษัตริย์คุลิยะ
5. เมืองเวฐฐทีปกะ
6. เมืองรามคาม ขององค์โกลิยะ
7. เมืองปาวก ของมัลลกษัตริย์
8. เมืองกุสินารา ของมัลลกษัตริย์

เมื่อได้รับพระบรมธาตุไปแล้ว ต่างเมืองต่างก็สร้างเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ จึงเกิดมีพระธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย 8 แห่งดังกล่าว นี่คือเหตุการณ์ในพุทธศตวรรษที่ 1 หรือปี พ.ศ.1 ( หนึ่ง )

พระกรุนาดูน จ.มหาสาารคาม
พระบรมสารีริกธาตุ
เข้าสู่ประเทศไทย

1 ใน 8 แคว้น ที่นำ พระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐานไว้คือ แคว้นมคธ แคว้นนี้เองเมื่อประมาณปี พ.ศ.270 เกิดมีมหาราชองค์สำคัญขึ้นมาคือ พระเจ้าอโศกมหาราช เบื้องต้นทรงตั้งพระทัยจะขยายอาณาเขตให้กว้างขวาง จึงทรงกรีธาทัพออกไปรบพุ่งกับแคว้นต่างๆ จนสามารถขยายอาณาเขตออกไปได้ดังพระประสงค์ เมื่อทรงขยายเขตลงสู่ตอนใต้ก็มีชัยชนะ ได้แคว้นกลิงคราฐไว้ในอำนาจ แต่สงครามครั้งนี้ทำให้คนตายนับจำนวนแสนคน จึงทำให้เกิดความสังเวชสลดใจหันมาสนพระทัยทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา แทนการทำสงคราม ผลงานการทะนุบำรุงพุทธศาสนาของพระองค์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. สร้างพุทธเจดีย์สถาน ( สถูป )
2. การสังคายนาพระธรรมวินัย
3. การจัดส่งพระเถระออกไปเผยแพร่พุทธศาสนายังนานาประเทศ
พระกรุนาดูน จ.มหาสาารคาม
พระกรุนาดูน
จ.มหาสารคาม

ผลแห่งการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาของมหาราชองค์นี้เอง ได้แผ่ขยายเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งที่เป็น วัตถุธรรม และ นามธรรม

นามธรรมก็ได้แก่ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนวัตถุธรรมนั้นได้แก่ พระสถูปเจดีย์ และ พระบรมสารีริกธาตุ

ในด้านพระสถูปเจดีย์ ต้นแบบที่เป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบันคือ สถูปที่สาญจิ ที่สร้างไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 5 โดยตัวสถูปทำเป็นรูปทรงกลม ลักษณะคล้ายขันน้ำหรือโอคว่ำ สถูปแบบนี้เองได้เข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งมีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ เช่น สถูปศิลาที่วัดไชยบาดาล จ.ลพบุรี สถูปศิลาที่จังหวัดนครปฐม

สถูปดังกล่าวนี้ นักโบราณคดีไทยเรียกกันว่าเป็น ศิลาแบบทวาราวดี

พระสถูปสัมฤทธิ์ซึ่งพบที่ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ก็มีลักษณะรูปทรงร่วมสมัยกันกับสถูปทั้ง 2 แห่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ข้อมูลและหลักฐานดังกล่าวยืนยันได้ว่า พระสถูปสัมฤทธิ์ที่ อำเภอนาดูน เป็นสถูปที่สืบเนื่องมาจากสถูปเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นศิลปะร่วมสมัยกับสถูปของทวาราวดี ซึ่งถือว่าเป็นสถูปที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ด้าน พระบรมสารีริกธาตุ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงดำริที่จะเผยแพร่พุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลออกไป จึงโปรดให้รวบรวม พระบรมสารีริกธาตุ ที่เคยแจกกันไปใน 8 แคว้น สมัยเมื่อ 300 ปี ก่อนนั้นมาจัดสรรเป็นส่วนเสียใหม่ โดยแบ่งให้เป็นส่วนละน้อยๆ แล้วประทานให้ไปสร้างสถูปประดิษฐานไว้ตามบรรดาเมืองต่างๆ ที่มีคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

ตามคัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า
“ ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ( คือแหลมทอง หรือประเทศไทย ) นั้น พระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งพระธรรมทูตเข้ามาเผยแพร่ พระพุทธศาสนา 2 องค์ คือ พระโสณะ กับ พระอุตระ 
พระสถูปและพระบรมสารีริกธาตุ
เก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจอำเภอนาดูน

หลังจากพระเถระเจ้าทั้ง 2 ได้เผยแพร่พระพุทธสาสนาให้ชนชาวสุวรรณภูมิเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ก็คงจะอัญเชิญเอาพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาประดิษฐานไว้ ตามที่ต่างๆ ในดินแดนนี้

ฉะนั้น พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในสถูปสัมฤทธิ์ซึ่งพบที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วน ที่ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในสมัยนั้น

นี่คือ เรื่องราวความเป็นมาของ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ อำเภอนาดูน ที่ผู้เขียนจะเน้นก็คือองค์พระสถูปเนื้อสัมฤทธิ์ที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ นั้น โดยสภาพผุกร่อนไปมาก เนื้อลอกออกเป็นชิ้นๆ แต่ก็ยังคงสภาพเดิมไว้ได้ หากไม่ได้สร้างไว้ให้แข็งแรงเนื้อหนาๆ แล้ว ป่านนี้คงจะชำรุดหมดสิ้นแล้ว ดูแต่ฐานสัมฤทธิ์ที่เป็นแผ่นลายรูปดอกบัวก็ยังชำรุดไปมาก และที่สำคัญก็คือ พระสถูปเป็นศิลปะทวาราวดียุคต้น ซึ่งหากจะนับอายุกันจนถึงปัจจุบันนี้แล้ว การบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ  ที่ อำเภอนาดูน ได้เริ่มมาไม่ต่ำกว่า 1,200 ปีแล้ว และคงจะเป็น พระบรมสารีริกธาตุ  ที่ได้นำเข้าสู่ประเทศไทย ในยุคเดียวกับ พระบรมสารีริกธาตุ ที่อำเภอธาตุพนมเป็นแน่แท้ ( ตามประวัติข้างต้นอาจจะมีการนำ พระบรมสารีริกธาตุ เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 2,200 ปีล่วงมาแล้ว ที่กล่าวว่า บรรจุไว้ที่เมืองนาดูน ไม่ต่ำกว่า 1,200 ปีนั้น ก็โดยพิจารณาจาศิลปะของพระพิมพ์ที่ขุดพบเป็นหลักในการพิจารณา )

พระธาตุพนมนั้นได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ อำเภอนาดูน เพิ่งขุดพบ พระพิมพ์และพระเครื่องต่างๆ ได้ปรากฏอยู่มากพอสมควร และมีอายุเก่าถึง 1,200 ปี อีกทั้งกษัตริย์ในสมัยโบราณเป็นผู้สร้างพระพิมพ์ต่างๆ เหล่านี้ขึ้น


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่  1209 พระกรุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม เดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ราคาปก 60 บาท ภาพและเรื่อง โดย ช. โมไนยพงศ์ )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #1209 #พระกรุนาดูน #จังหวัดมหาสารคาม