ปกหน้า ลานโพธิ์ ฉบับที่ 848 พระร่วง หลังรางปืน กรุวัดพระศรีมหาธาตุ สวรรคโลก สุโขทัย องค์ที่สวยที่สุดในชีวิตของ ประจำ อู่อรุณ วางแผง เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ราคาปก 40 บาท

ปกหน้า ลานโพธิ์ ฉบับที่ 848 พระร่วง หลังรางปืน กรุวัดพระศรีมหาธาตุ สวรรคโลก สุโขทัย [ ประจำ อู่อรุณ เอื้อเฟื้อภาพ] วางแผง เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ราคาปก 40 บาท แจกฟรี โปสเตอร์ชุดที่ 1 รวมมงคลวัตถุ พระร่วง พระรุ่ง พระที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เนรมิตวาจา ได้ดังใจหมาย


วาจาศักดิ์สิทธ์ดั่ง พระร่วง เป็นคำกล่าวขวัญถึงอานุภาพของ พระร่วง ที่ทรงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ทางคำพูดหรืออาจกล่าวว่า เป็นคำสาปก็ได้ ตามตำนานเรื่อง พระร่วง กับ ขอมดำดิน จาก เมืองเขมร ที่ดำดินเข้ามาสืบเรื่องใน กรุง สุโขทัย พบ พระร่วง กำลังกวาดลานวัดอยู่ ขอมโผล่จากดินขึ้นมาถามหา พระร่วง 
พระร่วง รู้ทันจึงพูดว่า ให้คอยอยู่ที่นี่แหละ ขอมผู้นั้นก็แข็งเป็นหิน คอย พระร่วง อยู่ที่นั่นชั่วกัปชั่วกัลป์ อันนี้เป็นเรื่องเล่าที่พอจำความได้ จึงเขียนมาเล่าต่อกันฟัง ความละเอียดอย่างไร คงไปหาอ่านกันใน พงศาวดารเหนือ ฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ที่ได้เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าถวาย กรมพระราชวังบวร เมื่อปี พ.ศ.2350 ซึ่งบรรยายเรื่อง ขอมดำดิน อยู่ในเรื่องของ พระร่วง เมือง สุโขทัย ขอมดำดินผู้นั้นมีชื่อว่า พญาเดโช เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในเอกสารของเขมรเช่นเดียวกัน เนื้อหาแตกต่างกันไปบ้าง เอกสารของเขมรนั้นปรากฏใน พงศาวดารเขมร ฉบับวัดโกกกาก พงศาวดารเล่มนี้ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ โปรดให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2412 ก็มีความน่าสนใจอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน ต่อมาใน พ.ศ.2420 นักองค์นพรัตน์ ได้อาศัยข้อมูลเก่าจากตำนาน และพงศาวดารเขมร เรียบเรียงเรื่อง พญาเดโชดำดิน ปรากฏในตอน พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งเรียก ขอมดำดินว่า ออกญาเดโช เมื่อปี พ.ศ.2541 ประเทศกัมพูชาได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง เดโชดำดิน ขึ้นเรื่องราวเป็นอย่างไรคงต้องคอยดู เดโชดำดิน ในเวอร์ชั่นของกัมพูชากันเอาเอง


สำหรับ พระร่วง ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยไม่เกี่ยวกับตำนานนั้น เป็นนามที่เรียกกันในสมัย สุโขทัย ในฐานะของพระเจ้าแผ่นดิน พระยาอนุมานราชธน สันนิษฐานว่า ร่วง ในครั้งนั้นน่าจะหมายถึง รุ่งเรือง ตามชินกาลมาลินี ผูกศัพท์เรียก พระเจ้ารามคำแหง ว่า โรจราช คือพระราชาผู้รุ่งเรือง และผู้ที่ถือว่าเป็น พระร่วง องค์แรกก็คือ ขุนศรีอินทราทิตย์ ที่ปรากฏนามใน ศิลาจารึกใน กรุง สุโขทัย องค์ที่สองคือ ขุนบาลเมือง และองค์ที่สามก็คือ ขุนรามคำแหงมหาราช เขียนเรื่อง พระร่วง ไปเสียยาวไกลก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า พระร่วง ในแง่มุมต่างๆ เพราะใน วงการพระเครื่อง ผู้ไม่รู้เคยพูดไว้ว่า แขวน พระร่วง มีแต่จะ ร่วง นั้น เป็นความเข้าใจผิดจากความจริงไปมาก พระร่วง มีแต่จะ รุ่ง ต่างหาก
ปก ลานโพธิ์ ฉบับนี้ เป็น พระร่วง หลังรางปืน สนิมแดง งดงามเกินพรรณนานำมาให้ท่านผู้อ่านได้ชมกัน เพื่อความรุ่งโรจน์ในชีวิต
( ที่มา : บทบรรณาธิการ ลานโพธิ์ ฉบับที่ 848 พระร่วง หลังรางปืน กรุวัดพระศรีมหาธาตุ สวรรคโลก สุโขทัย [ ประจำ อู่อรุณ เอื้อเฟื้อภาพ] วางแผง เดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดย สุธน ศรีหิรัญ )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010.