หลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน ย่นย่อแผ่นดิน ได้อย่างน่า อัศจรรย์

ภาพและเรื่องโดย แฉ่ง บางกระเบา


เรื่องราวอภินิหารของ หลวงปู่สรวง มีมากมาย แต่ท่านหนึ่งซึ่งได้พบเห็นและสัมผัสมากับตัวเองคือ อาจารย์ จำเริญ ดวงใจ อดีตข้าราชการครู ผู้เดินตาม หลวงปู่สรวง มานานหลายปี ได้พบเห็นเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ของหลวงปู่มากมาย และบางส่วนได้บันทึกไว้ใน หนังสือ หลวงปู่สรวง ฉบับรวมเล่ม ครั้งที่ 1 จนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว อีกหลายเรื่องได้เขียนขึ้นหลังจาก รวมเล่ม ครั้งที่ 1 ออกไปแล้ว จึงได้นำมารวมไว้ใน ฉบับรวมเล่ม ครั้งที่ 2 อีกมากมายหลายเรื่อง เรื่อง หลวงปู่สรวง ย่นย่อแผ่นดิน เป็นหนึ่งในหลายเรื่อง ที่เพิ่มไว้ใน ฉบับรวมเล่ม ครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนี้วางตลาดแล้ว จึงนำมาเสนอเป็นตัวอย่างไว้ ณ โอกาสนี้ 


ย่นระยะทาง หรือ ย่นย่อแผ่นดิน
การทำมาหากินของชาวบ้านในสมัยก่อนนั้น อาชีพหลักคือ ทำนา ส่วนทำไร่ก็จะเป็นไร่ข้าว การทำนาก็ทำกันเพียงแค่ใช้บริโภคกันในครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อขายเหมือนในปัจจุบัน ที่ทำกินก็มีน้อย ที่นาก็เฉพาะที่ลุ่มรอบหมู่บ้าน ถึงแม้จะมีที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ ก็ไม่ค่อยมีใครไปถากถางเป็นเจ้าของกัน เพราะเห็นว่าที่ดินตรงนั้นมันสูงไป ไม่เหมาะในการทำนาปลูกข้าว ที่ไปถางปลูกข้าวก็เพื่อช่วยให้มีข้าวกินในช่วงก่อนที่ข้าวนาปีจะออกรวงเท่านั้น 


บริเวณที่ถางทำไร่ก็ไม่ได้ถากถางมีขนาดกว้างขวางหรือใหญ่โตอะไรกันมากนัก ส่วนมากแล้วก็พอใช้ข้าวพันธุ์ปลูกหมดประมาณ 1 กะเพาะ (1/2 กะเฌอ) ถ้าปลูกข้าวพันธุ์หมด 1 กะเฌอ ถือว่าเป็นไร่ที่ใหญ่ได้ข้าวมาก การปลูกข้าวไร่นี่ ชาวบ้านจะปลูกข้าวโพดและแตงโมพันธุ์พื้นเมืองสลับ กลางไร่ก็จะปลูกกระท่อมไว้เป็นที่พักหุงหาอาหารกินกันในตอนกลางวัน พอตกเย็นก็จะเก็บผักหักฟืนแบกกลับบ้าน เป็นอยู่อย่างนี้ชั่วนาตาปี
ชาวบ้านโคกสูง ตำบลกันทรารมย์ ก็เหมือนกัน ที่ทำนาก็เป็นที่ลุ่มข้างหมู่บ้านติดกับห้วยสำราญ การทำนาต้องอาศัยธรรมชาติ ปีไหนฝนตกดี มีฝนตกตลอดฤดูกาลก็จะได้ผลผลิตดี ถ้าฝนตกน้อยก็ถือเป็นกรรมของชาวบ้าน เพราะไม่มีที่กักกันน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกได้เลย น้ำที่ไหลบ่ามาจากภูเขาท่วมทุ่งนาอยู่ 2-3 วัน ก็ไหลผ่านเลยไปทางทิศเหนือลงห้วยสำราญ ผ่านจังหวัดศรีสะเกษลงแม่น้ำมูล พัดไปทางด้านทิศตะวันออกเชื่อมแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วก็ไหลผ่านประเทศลาว ประเทศเขมร ลงสู่ทะเลไป
พระสงฆ์ตามวัดในชนบทเป็นที่เคารพนับถือพึ่งพาของชาวบ้านในด้าน ศาสนา การศึกษา ความรู้เรื่องยา ประเพณีและวัฒนธรรม เจ้าอาวาสจะเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือยำเกรง เป็นผู้เก่งกล้าในการปฏิบัติธรรม รวมทั้งโหราศาสตร์และวิชาอาคม ใครเดือดร้อนอะไรก็จะวิ่งไปหาท่าน ให้ช่วยบำบัดปัดเป่าให้ ต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พระภิกษุเป็นผู้สละความสุขทางโลกไปศึกษาพระธรรมวินัยและสืบทอดศาสนาอยู่ที่วัด ไม่ได้ทำไร่ไถนา ชาวบ้านก็ตอบแทนพระคุณท่านโดยการถวายข้าวปลาอาหาร และบริจาคปัจจัยบำรุงพระพุทธศาสนา เมื่อชาวบ้านเดือดร้อน ฝนไม่ตกข้าวปลาอาหารไม่บริบูรณ์ การขบฉันของพระสงฆ์ในวัดก็พลอยฝืดเคืองตามไปด้วย
ปีนั้นฝนตกน้อย ชาวบ้านไม่มีน้ำทำนา จึงได้ไปปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาสวัดโคกสูง เล่าถึงความเดือดร้อน จากการที่ไม่มีน้ำทำนา คงจะเดือดร้อนกันแน่ๆ เพราะฝนไม่ตกติดต่อกันมาหลายปี ท่านเจ้าอาวาสวัดโคกสูงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ ช่วยกันกั้นทำนบดิน ในห้วยสำราญ แต่เนื่องจากน้ำลึกและกว้างคงต้องใช้แรงงานมาก และจะต้องเร่งเวลาให้เสร็จก่อนที่จะมีน้ำหลากมา ลำพังใช้แรงงานบ้านโคกสูงคงไม่ทันแน่นอน จะต้องหาแรงงานข้างนอกมาช่วย ท่านเจ้าอาวาสเห็นว่ามีทางหนึ่งที่จะช่วยตอบแทนข้าวปลาอาหารชาวบ้านได้คือ ใช้แรงงานของพระสงฆ์ในวัด แต่ลำพังวัดโคกสูงก็มีพระไม่กี่รูป จึงได้ขอไปทางเจ้าคณะอำเภอขุขันธ์ ขอแรงพระจากวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงไปช่วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากวัดต่างๆ เป็นอย่างดี
เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการกั้นทำนบหรือเขื่อนดินนี้ ก็ใช้จอบและปุ้งกี๋ ปุ้งกี๋นี้สานด้วยไม้ไผ่ใช้หิ้วหรือหาบด้วยไม้คาน ขุดดินใส่แล้วถ้าจุดที่ขุดดินอยู่ไกลก็ใช้วิธีหาบเอา ผลัดกันขุดและผลัดกันหาบ เอาดินไปเทลงตรงที่กั้นเขื่อน จุดที่กั้นเขื่อนก็เลือกเอาตรงที่เมื่อกั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นที่ที่กระจายน้ำออกไปใช้ประโยชน์ทั้งสองฟากห้วยได้เป็นอย่างดี ตัวเขื่อนหรือตัวทำนบนี้ ก็จะหาไม้แก่นขนาดยาวใหญ่พอสมควร ประมาณเท่าเสาบ้าน ความยาวมากกว่าความลึกของห้วย เมื่อฝังปักแน่นลงไปในห้วยแล้วสูงเกินกว่าฝั่งห้วยนิดหน่อย โดยปักเป็นแนวเส้นตรงทั้งสองด้านสองแถว เมื่อเทดินลงตรงกลางไปแล้วสามารถกั้นดินอยู่ได้ด้วย การเทดินก็จะเริ่มต้นจากฝั่ง เทติดต่อกันไปเรื่อยๆ เมื่อเทดินลงแต่ละครั้งก็จะหยียบดินอัดแน่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จ
ในการกั้นทำนบหรือเขื่อนดินขนาดเล็กของบ้านโคกสูงในครั้งนี้ วัดตะเคียนราม ก็ได้รับการขอกำลังพระ-เณรให้มาช่วยด้วย หลวงพ่อสาย ตอนนั้นยังเป็นเณรก็ได้มาช่วยกับเขาด้วย ในครั้งนั้นมีพระและสามเณรรวมทั้งชาวบ้านได้มาช่วยกันเป็นจำนวนมาก ระดมกำลังกันทำงานทั้งกลางวัน-กลางคืน หยุดพักบ้างเฉพาะเวลานอนเท่านั้น นอกจากพระภิกษุ-สามเณรแล้ว ผู้ใหญ่บ้านใกล้เคียงก็ได้ส่งลูกบ้านเข้ามาช่วยด้วย โดยการจัดหาอุปกรณ์และอาหารการกินมาพร้อม พระ-เณร ส่วนหนึ่งมีหน้าที่หาบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งตามหมู่บ้านต่างๆ มาเป็นเสบียง พอสายหน่อยใกล้จะเที่ยงชาวบ้านที่ทำงานแบ่งกำลังออกทอดแหหาปลาในห้วยมาประกอบอาหารกลางวัน เป็นงานที่ชาวบ้านมีความสามัคคีทำงานกันด้วยความสนุกสนาน ไม่ต้องมีค่าแรงงาน แต่ก็เต็มใจมาทำงานกันอย่างเต็มที่โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย กำลังหลักในการควบคุมงานในครั้งนี้ได้แก่ เจ้าอาวาสจากวัดต่างๆ และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านด้วย
อาหารการขบฉันของพระภิกษุ-สามเณรในครั้งนี้ได้จากชาวบ้านและจากการไปบิณฑบาต แต่เนื่องจากมีพระมาจากหลายวัด จึงต้องหาอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติในทุ่งนาและป่าข้างหมู่บ้าน เช่น ผักติ้ว ผักสะเดา ผักกระโดน ผักแว่น ผักกระเฉด ผักอีฮิน ผักกะแยง ผักเม็ก แพงพวยน้ำ รวมทั้งที่ใช้ใบแกงได้ เช่น ขี้เหล็ก เพื่อนำมาทำอาหารเสริมให้ได้ฉันเพียงพอกับจำนวนพระ-เณรที่มาช่วยกั้นทำนบ
แกงขี้เหล็ก เป็นอาหารที่จัดทำเป็นประจำ เพราะหาง่าย ใบขี้เหล็กอ่อนเก็บเอาจากต้นข้างๆ ห้วย เอามาต้มรินเอาน้ำออก 2-3 ครั้งให้หมดรสขม โขลกในครกให้ละเอียด แช่ข้าวสารตำใส่ใบย่านาง หัวกระชาย ใส่ปลาจ่อม (เตร็ยปรัย ปลาคลุกเกลือ หมักใส่ข้าวคั่วเก็บใส่ไหไว้รับประทานได้นาน) ปลาร้า (ประฮก) แกงใส่กะทิมะพร้าว ปรุงรสด้วยเกลือและพริกแกง ผู้รับภาระในการแกงนี้ส่วนมากเป็นหน้าที่ของพระ-เณรและคนแก่ ที่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงพอจะช่วยงานหนักได้ เมื่อปรุงอาหารสุกเรียบร้อยแล้วก็จะจัดอาหารออกเป็นสองกลุ่ม จัดถวายพระภิกษุกลุ่มหนึ่งและสามเณรกลุ่มหนึ่ง เมื่อพระฉันเสร็จแล้วอาหารที่เหลือก็เป็นชาวบ้านและศิษย์วัดมาล้อมวงรับประทานกัน
วันหนึ่งในขณะที่บรรดาชาวบ้านและสามเณรที่มีหน้าที่ปรุงอาหาร กำลังสาละวนอยู่กับการแกงขี้เหล็กอยู่ ตั้งหม้อแกงแล้วก็จัดการหาเครื่องปรุงใส่ แต่วันนี้เครื่องปรุงไม่ครบ ขาดปลาร้าที่จะช่วยชูรส มีแต่เกลือและปลาจ่อมใส่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น

" ได้อะไรแกง พระคุณเจ้า " เสียง หลวงปู่สรวง ถามมาจากข้างหลัง ท่านเดินเข้ามาเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ เพราะมัวแต่สาละวนกับการแกงขี้เหล็กอยู่
" แกงขี้เหล็ก หลวงปู่ " (สะลอ อังกัญ ลูกตา คำว่า ลูกตา ใช้เรียกยกย่องพระอาวุโส มีความหมายเท่ากับ หลวงปู่ หรือ หลวงตา ในภาษาไทย)
" มีอะไรใส่ด้วยล่ะ " หลวงปู่สรวง ท่านถามอีก

" ไม่มีอะไรใส่หรอกหลวงปู่ วันนี้แกงใส่เกลือเฉยๆ " เสียงตอบจากพระ-เณรที่ยืนอยู่รอบหม้อแกง คอยกวนหม้อแกงขี้เหล็ก กลัวจะติดหม้อและมีกลิ่นไหม้ รับประทานไม่อร่อย
" จำ บานเต็ก เยิงนึง เต็อวยัว ประฮก เตร็ยกรีม มัวออยดัก " หลวงปู่สรวง บอกให้คอยเดี๋ยวจะไปเอา ปลาร้า ปลาย่าง มาให้ใส่
หลวงปู่สรวง เดินออกไป พอเดินเลยจอมปลวกที่มีต้นสาบเสือบัง พวกที่มองตามไปนิดหนึ่ง ท่านก็หายไป พวกที่ยืนอยู่ชะเง้อมองตามหาหลวงปู่ หายไปไหนรวดเร็วแท้ สักครู่หนึ่ง หลวงปู่สรวง ท่านก็กลับมา พร้อมกับหาบสัมภาระบนบ่ามาด้วยพะรุงพะรัง เอามาวางต่อหน้าพระ-เณรที่อยู่ข้างหม้อแกง ในตะกร้าที่หาบมานั้นเป็นปลาร้าและปลาแห้งบรรจุอยู่เต็ม ทำให้ผู้อยู่ในที่นั้นซึ่งมี หลวงพ่อสาย รวมอยู่ด้วยแปลกอัศจรรย์ใจไปตามๆ กัน
" เอานี่! ปลาร้ากับปลาเค็ม เอาใส่แกงซะ จะได้มีรสชาติดีขึ้น " เสียง หลวงปู่สรวง ดังขึ้น ทำให้ผู้คนพระ-เณร หายจากอาการตกตะลึง และถามหลวงปู่ว่าเอาของเหล่านี้มาจากไหน ได้ความว่าท่านเอามาจากประเทศเขมร เอามาจากทะเลสาบ (ทะเลสาบ ในประเทศเขมร มีปลาชุกชุมมาก ชาวประมงเขมร นิยมทำประฮกและปลากรอบ ไว้รับประทานได้นาน) ปลาร้าและปลาแห้งที่ หลวงปู่สรวง เอามาครั้งนี้ใช้รับประทานได้ถึงเกือบหนึ่งเดือน
เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้ที่ไปร่วมทำงานกันนานทีเดียว อัศจรรย์ ในคุณวิเศษว่า หลวงปู่สรวง ไปประเทศเขมรและกลับมาได้อย่างไร ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
เกี่ยวกับ การย่นระยะทาง หรือ ย่นย่อแผ่นดิน นี้ หลวงปู่สรวง เคยทำให้ดูหลายครั้ง ถ้าเดินตามหลวงปู่แล้วจะหยุดปัสสาวะหรือบังต้นไม้ไม่ได้ หลวงปู่ จะทิ้งไปไกล หรือไม่ก็หายไปเลย
หลวงปู่สรวง ได้แสดงปรากฏให้เห็นอีกในราวปี พ.ศ.2518-2519 เป็นปีที่พบ รอยพระบาท ภูสิงห์ ที่ตั้งอยู่บนภูเขาติดกับบ้านศาลา ใกล้กับเขื่อนห้วยศาลา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านทั่วทุกสารทิศได้แตกตื่นเดินทางมาชมกราบไหว้ รอยพระบาททุกวัน รอยพระบาท นี้ช่วงค้นพบใหม่ๆ จะมีรูปกงจักรอยู่ตรงกลาง ลักษณะรอยเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ เหมือนมีคนเหยียบตรงดินที่เป็นโคลน มองดูชัดเจนเหมือนรอยเท้าธรรมดาที่คนเดินทั่วไป แต่รอยนี้อยู่บนก้อนหินบนภูเขาสูง จึงเป็นที่ อัศจรรย์ แก่คนทั่วไป
มีคนมาชม รอยพระบาท นี้วันหนึ่งหลายคันรถทีเดียว จนแทบจะไม่มีที่จอดรถ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านและพระภิกษุ-สามเณร ในจำนวนนี้ก็มีพระภิกษุจากประเทศเขมรที่ได้มาจำพรรษาอยู่ในวัดไทยที่อำเภอสังขะรูปหนึ่ง ได้มาชมพร้อมกับพระในวัดและชาวบ้านกับเขาด้วย มาพบ หลวงปู่สรวง กับ หลวงพ่อสาย ที่มาดู รอยพระบาท ด้วยความศรัทธาจึงได้นิมนต์หลวงปู่ไปที่วัดในอำเภอสังขะ ที่วัดนี้ได้มีผู้คนเข้ามากราบหลวงปู่เป็นจำนวนมาก
จากเสียงที่ร่ำลือว่า หลวงปู่สรวง เป็นผู้มีฤทธิ์อภิญญาเหนือกว่าผู้ใด จึงมีคนมาเฝ้าขอของดีกัน แต่หลวงปู่ก็ไม่ได้ให้อะไรแก่ใคร พระรูปนั้นจึงขอชานหมากที่ หลวงปู่สรวง กำลังเคี้ยวอยู่ในปาก พอได้ชานหมากจากหลวงปู่ ก็ได้เดินออกไปข้างนอกกุฏิ นำไปทดลองให้ลูกศิษย์ยิงดู ปรากฏว่ายิงเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ออก จึงได้กลับมาในกุฏิที่หลวงปู่นั่งอยู่ ตอนที่นำชานหมากออกไปยิง คนที่นั่งอยู่ในที่นั่นก็ออกไปดูด้วย เมื่อทั้งหมดเข้ามาปรากฏว่าไม่พบ หลวงปู่สรวง ไม่รู้ว่าท่านไปไหน ได้เดินหาดูจนทั่ว ถามผู้คนที่อยู่รอบๆ บริเวณนั้นก็ไม่มีใครพบเห็น จนปัญญาไม่รู้จะไปตามหาที่ไหน ก็ได้ให้ศิษย์วัดรีบขับรถพามาหา หลวงพ่อสาย ที่ วัดตะเคียนราม ทันที 

ระหว่างที่นั่งรถมาก็สอดส่ายสายตามองหา หลวงปู่สรวง ดูตลอดข้างทาง โดยคิดว่าถ้าหลวงปู่กลับก็คงเดินเก้ๆ กังๆ อยู่ข้างทาง คงไปไม่ถึงไหนเพราะแก่แล้ว พอมาถึง วัดตะเคียนราม ก็ได้เล่ารายละเอียดให้ หลวงพ่อสาย ฟังบอกว่า ได้หาท่านจนทั่วแล้วไม่พบ เป็นห่วงท่านที่แก่แล้วกลัวจะเดินงกๆ เงิ่นๆ ถูกรถยนต์ชนเอา ไม่รู้ว่าท่านหลงทางเดินไปที่ใด ไม่รู้จะกลับมาถูกหรือเปล่า หลวงพ่อสาย บอกให้ไปหาท่านดูที่ กระท่อมต้นโพธิ์ บ้านขยอง ถ้าท่านกลับมาก็คงจะเห็น พอไปดูที่บ้านขยองก็เห็น หลวงปู่สรวง นั่งอยู่ในกระท่อมจริงๆ ถามชาวบ้านแถบนั้นเขาบอกว่า หลวงปู่ มาอยู่ที่นั่นนานแล้ว และไม่มีรถใครที่ไหนขับมาแถวนี้หลายวันแล้ว
พระเขมร รูปนั้นได้กลับมาหา หลวงปู่สรวง อีกครั้งบอกว่า เห็นหลวงปู่แล้ว และย้ำว่าพอหา หลวงปู่สรวง ไม่เห็นเท่านั้นก็รีบขับตามมาทันที ทำไมท่านถึงเดินมาถึงกระท่อมเร็วนัก ทั้งๆ ที่ไม่มีใครขับรถมาส่งเลย
อยากอ่านเต็มอิ่ม ก็ต้องซื้อ ฉบับรวมเล่ม หนังสือ หลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1125 เดือนกันยายน 2556 หลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน ย่นย่อแผ่นดิน ได้อย่างน่า อัศจรรย์ ภาพและเรื่องโดย แฉ่ง บางกระเบา )

ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์นสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010. 

วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore   
#หลวงปู่สรวง #เทวดาเล่นดิน