หลีกทางเซียน : แม่พิมพ์ นั้น สำคัญฉะนี้

เรื่องโดย ทแกล้ว ภูกล้า

ภาพคุ้นตาสมัยยังเป็นเด็กวัด คือ แม่พิมพ์ ที่แกะจากหินลับมีดโกน แล้วก็ยังเข้าใจว่า แม่พิมพ์ พระสมเด็จวัดระฆัง วัดบางขุนพรหม และ ฯลฯ สารพัดพระ จะใช้แบบนั้น

ตรียัมปวาย บันทึกจากคำบอกเล่าของ ลูกหลาน ลูกศิษย์ สมเด็จพุฒาจารย์คนหนึ่ง ว่า แม่พิมพ์พระ แกะจากหินลับมีดโกน แต่ไม่ยืนยัน พยายามค้นหา จากปริอรรถาธิบาย  ตรียัมปวาย เขียนไว้เพียงว่า พิมพ์พระเป็นอย่างไร แต่ไม่เคยเอ่ยถึงสภาพของ แม่พิมพ์ พระสมเด็จ ในเชิงวิชาการแม้แต่ครั้งเดียว

ในระยะหลังๆ เมื่อมีการถ่ายภาพ พระสมเด็จ มากขึ้น คนที่ได้ผ่านพระแท้มากๆ หรือคนที่ได้เปรียบเทียบจากภาพพระแท้จำนวนมากๆ ก็จะพบความจริงว่า แท้จริงแล้ว พระสมเด็จฯ ทุกพิมพ์ มีกรอบกระจก เหมือนสมเด็จเกศไชโย ไม่มีผิด

เส้นกรอบกระจกนั้น เข้าใจกันว่า แกะเป็นเส้นตรงไว้เป็นแนวรอบองค์พระ เพื่อไว้เป็นบรรทัดฐานในการตัดขอบ

ต้องทำความเข้าใจ และพยายามสร้างมโนภาพไว้ในชั้นนี้ว่า คนพิมพ์พระ จะเริ่มต้นจากการปั้นก้อนเนื้อพระ แล้วกดลงที่ แม่พิมพ์ 



ผู้เชี่ยวชาญ พระสมเด็จ ระดับปรมาจารย์ แยกทฤษฎีการตัดขอบพระไว้เป็นสองทฤษฎี ทฤษฎีแรก ตัดจากหลังไปหน้า กรณีของ สมเด็จวัดระฆัง จากข้อสังเกต สมเด็จวัดระฆังทุกพิมพ์ ไม่มีครีบหรือเนื้อเกินตามขอบพระด้านหน้า

สร้างมโนภาพ การตัดพระจากหลังไปหน้า ต่อไป ไม่ว่าจะใช้ของมีคมแบบไหน มีด หรือเส้นตอก ทันทีที่ของมีคมนั้นจรดลงตรงเนื้อพระ และกดน้ำหนักมือเพื่อตัดตามธรรมชาติในเนื้อพระ อาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ บอกว่า จะเกิดอาการลั่นร้าวปรากฏชัดเจน ต่อไปภายหลัง


รอยลั่นร้าว ตามขอบหลังพระ บ้างก็เรียกว่า รอยรังปลวก

สังเกตดูให้ดีๆ ก็จะพบว่า รอยลั่นร้าว นั้น คนละอย่างกับ รอยรังปลวก ซึ่งเกิดจากการยุบ หรือการแยกของเนื้อพระ และถ้าพินิจพิเคราะห์อีกต่อไป ผมก็ยังเห็นว่า นอกจาก รอยลั่นร้าว รอยรังปลวก จะแตกต่างกันแล้ว รอยปูไต่ หรือ รอยหนอนด้น ก็แตกต่างกันด้วย

ตัดประเด็นความแตกต่างของ รอยหลังพระ ออกไป กลับไปคุยกันเรื่อง ตัดจากหลังไปหน้า กรณีของสมเด็จวัดระฆัง เก็บไว้เป็นข้อสังเกต อีกข้อหนึ่ง

คำถามกรณี ตัดจากหลังไปหน้า น่าจะมีว่า แล้วคนตัดข้างพระ จะใช้แนวเส้นอะไรเป็นจุดสังเกต คำตอบก็คงมีว่า แม่พิมพ์ 


พระพิมพ์นั้น น่าจะเหลือพื้นราบส่วนที่เกินจาก เส้นกรอบกระจก ไปไม่มาก เอาเป็นว่า เราเชื่อทฤษฎีตัดหลังไปหน้า ว่าน่าจะตัดพระกันแบบนี้ จึงปรากฏรูปรอยในองค์พระเป็นอย่างนี้

ทฤษฎีต่อมา ตัดจากหน้าไปหลัง กรณีของบาง แม่พิมพ์ ของ สมเด็จวัดบางขุนพรหม โดยเฉพาะพิมพ์ที่แกะเพิ่มจาก วัดระฆัง เช่น พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์ฐานคู่ เห็นครีบส่วนเกิน ที่ขอบพระด้านหน้าชัดเจน

หลับตาสร้างมโนภาพ การพิมพ์พระกันต่อไป สมมุติให้ แม่พิมพ์พระ มีกรอบกระจกทุกองค์ ปั้นเนื้อกดลง แม่พิมพ์ แล้ว ดึงองค์พระออกมา นอกจากพิมพ์พระจะติดแล้ว เส้นกรอบกระจก ที่ช่างแกะ แม่พิมพ์ ตั้งใจ แกะไว้เป็นแนวทางตัดพระ ก็จะติดด้วย

หงายพระลงกับพื้น แล้วก็ใช้ของมีคม ตัดตรงตามเส้นกรอบ ถ้าตัดพอดีๆ รอยพิมพ์ของเส้นกรอบก็จะเหลือนูนออกมาเป็นครีบขอบพระ

แต่ก็นั่นแหละ ครีบขอบพระด้านหน้า ตามทฤษฎี ตัดจากหน้าไปหลัง ก็มีข้อโต้แย้งจากผู้ที่เห็นว่า สมเด็จวัดบางขุนพรหม อีกหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์เศียรบาตรอกครุฑ ไม่มีครีบขอบด้านหน้า อาจจะเป็นการตัดแบบวัดระฆัง คือ ตัดจากหลังมาหน้า ก็ได้

ก็เป็นอันว่า ทฤษฎี ตัดหน้าไปหลัง หรือ หลังไปหน้า ยังหาข้อยุติเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ ต้องใช้พิจารณาแต่ละกรณีๆ ไป

พระสมเด็จ ขณะนี้ แม้จะอยู่ในยุคไอเอ็มเอฟ ราคาจะลดหย่อนลงบ้าง แต่ก็ยังขึ้นหลักล้าน ในกรณีองค์ที่สมบูรณ์ การจะชี้ขาดเก๊แท้ได้ สมัยนี้ ไม่มีเซียนคนไหน ใช้หลักเดียว หรือดูจุดเดียว

นอกจากต้องดูทุกจุดสังเกต อย่างรอบคอบแล้ว ก็ต้องโยงความสัมพันธ์ของทุกจุดให้สอดคล้องกันได้ ไม่สะดุดนั่นแหละ เขาถือว่า ดูพระขาด

คราวนี้น่าจะมาถึงสภาพของ แม่พิมพ์พระ แกะจากอะไร พระกรุลำพูน มีการพบ แม่พิมพ์ พระสัมฤทธิ์ กรุกำแพงเพชร พบ แม่พิมพ์ ทำจากดิน

กรณีของ แม่พิมพ์ดิน ช่างคงแกะพระเหมือนจริงองค์เดียว แล้วก็ใช้ดินเหนียวกดเป็น แม่พิมพ์ หลายๆ แม่พิมพ์ แล้วจึงเอาไปเผา

ถ้า แม่พิมพ์ เป็นโลหะ เป็นดิน หรือเป็นหิน ถึงวันนี้ เราก็น่าจะมี แม่พิมพ์ พระสมเด็จ มาให้ดูเพื่อศึกษากันบ้าง แต่ทำไมจึงไม่เคยบันทึกว่า แม่พิมพ์ พระสมเด็จ อยู่ที่ไหน

วัดใหม่อมตรส สร้างพระรุ่นปี 09 ก็ใช้ แม่พิมพ์ แกะใหม่ โดยอาศัยเค้าโครงจากพิมพ์พระสมเด็จเดิมๆ มองปราดเดียวก็รู้ สมเด็จวัดไชโย รุ่นสร้างเขื่อน ก็ใช้ แม่พิมพ์ใหม่ เพียงเหมือน แต่ไม่ใช่พิมพ์เดียวกันแน่นอน กระทั่งพิมพ์แข้งหมอน ที่มองผาดๆ ก็คงคิดว่าเหมือนมากที่สุด

บังเอิญอ่าน การค้นพบ พระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก ผู้รู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากยืนยันว่า หลวงตาจัน ลูกวัดสมัยเจ้าคุณสังฆวรา (ชุ่ม) เป็นสมภาร เป็นผู้สร้าง ไม่ใช่สมเด็จสังฆราชสุก วัดมหาธาตุ แล้วยังยืนยันว่า แม่พิมพ์ พระวัดพลับ ที่แกะจากไม้ ก็ไหลออกจากกรุมาพร้อมกับพระด้วย

ข้อสรุปที่ได้จากการอนุมาน ก็คงเป็นว่า สาเหตุที่หา แม่พิมพ์ พระสมเด็จเดิมๆ ไม่ได้ หรืออาจได้บางพิมพ์แต่ชำรุดผุพัง ก็เพราะ แม่พิมพ์พระ แกะจากไม้นี่เอง 

ไม้หมดอายุแล้ว ความคมของเส้นสายก็หมดไป พิมพ์ออกมาก็ได้พระที่มีตำหนินี่เอง จึงเป็นสาเหตุให้ต้องแกะ แม่พิมพ์ ขึ้นใหม่ ในกรณีที่มีการพิมพ์พระครั้งใหม่

นี่เป็นเพียงสมมุติฐาน ที่ไม่มีพยานทางวัตถุนะครับ หากใครมี และแน่ใจว่า แม่พิมพ์ พระสมเด็จ ทำจากอะไร ก็น่าจะขยายออกมาให้เป็นวิทยาทาน สำหรับนักศึกษารุ่นหลังๆ บ้าง


เห็นสภาพ แม่พิมพ์ ผมเชื่อว่าจะช่วยให้การพิจารณา พระสมเด็จ ง่ายขึ้น 

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 753 ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ 2541 : หลีกทางเซียน : แม่พิมพ์ นั้น สำคัญฉะนี้ โดย ทแกล้ว ภูกล้า
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010.  

วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore      OokBee Buffet