หลีกทางเซียน : ดูพระเครื่อง แบบ ด๊อกเตอร์

เรื่องโดย ทแกล้ว ภูกล้า

ผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นคนหนึ่ง เคยปรารภว่า วิชาอะไรๆ ก็เรียนจบได้ง่าย แต่วิชาการ ดูพระเครื่อง เรียนเท่าไหร่ก็ไม่ยอมจบ

ปัญหาของท่าน ดูเหมือนว่า จะอยู่กับ พระสมเด็จศาสดา วัดบวรฯ ตรงหน้า ตามสายตาท่านดูว่าไม่ใช่ แต่เจ้าสำนักพระเครื่องใหญ่ ยืนยันว่าไม่ผิด

ด๊อกเตอร์ มีชั่วโมงการดูพระมายาวนาน จนพอจะรู้ว่า พระศาสดาองค์ตรงหน้า เป็นพระเครื่องที่พิมพ์จากแม่พิมพ์สมัยใหม่ คือใช้เครื่องปั๊ม

เมื่อใช้วิธีปั๊ม สภาพของเนื้อปูนอ่อนละเอียด ก็เก็บรายละเอียดพิมพ์ทรงไว้ไม่แตกต่างกัน กรอบก็เท่ากัน ด้านหลังก็ไม่แตกต่างกัน

นี่เป็นทฤษฎีพื้นฐาน การสร้างพระทฤษฎีเดียวกับการปั๊มเหรียญ 

เมื่อสมมติฐานแม่พิมพ์ปั๊มเดียวกัน ด๊อกเตอร์ จึงทำใจยอมรับการชี้ขาดผู้เชี่ยวชาญด้านพระเครื่องกว่าไม่ได้ เมื่อเห็นกับตาว่า ซุ้มพระผงศาสดาองค์ที่ถือ ตีวงโค้งไม่เหมือนกับหลายๆ องค์มาตรฐาน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพระเครื่อง

ผมนั่งอยู่ข้างๆ วงถกปัญหานี้ และได้ความรู้พื้นฐาน ด้านเนื้อพระผงจิตรลดามาด้วยว่า องค์พระผู้สร้าง ทรงผสมผงวิเศษไว้กับเรซิน

เรซิน เป็นวัสดุสมัยใหม่ คุณสมบัติคือ แห้งเร็วมาก พอๆ กับมีความแข็งคงทนมาก
ผงวิเศษ เป็นวัสดุคนละอย่าง ไม่ยอมผสมกลมกลืนเป็นเนื้อแผ่นเดียวกับเรซิน บางองค์จึงเห็นผงวิเศษโผล่ออกมาบ้าง โดยเฉพาะทางขอบข้าง

ส่วนแม่พิมพ์พระจิตรลดานั้น จะเป็นเช่นใด ผมไม่มีประสบการณ์ ทั้งสถานการณ์ก็ไม่เอื้อให้ถามหาวิชา จึงเพียงรับข้อมูลนี้ไว้ศึกษาเทียบเคียง ประกอบการพิจารณาในการดูพระครั้งใหม่

คนที่มีระดับสติปัญญาอย่าง ด๊อกเตอร์ พยายามหาทฤษฎีพื้นฐานการสร้างพระเพื่อประกอบการพิจารณา ยังมีปัญหากับพระยุคใหม่

เมื่อย้อนไปถึงการพิจารณาพระเก่า ด๊อกเตอร์ ทำท่าเหมือนว่า จะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน เพื่อการเรียนรู้
ในขั้นที่ตัดสินใจเองไม่ได้นี้ ก็อาศัยวิธีได้พระมาแล้ว เจ้าสำนักนี้การันตีมาแล้ว ก็แวะเวียนไปให้อีกหลายๆ สำนัก ช่วยให้ความเห็น

องค์ไหนมีปัญหา ด๊อกเตอร์ ก็คืน องค์ใดไฟเขียวผ่านตลอด ด๊อกเตอร์ ก็เก็บไว้ ตามธรรมดาของคนมีสติปัญญาสูง เมื่อมาเล่นพระ ก็มักอาศัยตำราและหนังสือพระ เป็นด่านแรก

ด่านต่อมา ก็อาศัยดูพระที่อยู่ระหว่างเวลาตัดสินใจซื้อ หรือไม่ก็ตามไปดูพระของคนอื่น เก็บสะสมประสบการณ์ต่อไป จนกว่าจะปีกกล้าขาแข็ง

ปัญหาของ ด๊อกเตอร์ ก็คือ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลพื้นฐาน ประวัติของผู้สร้างพระ กระบวนการสร้างพระ หลายเรื่องพระนิยม ที่เขียนกันขณะนี้ มักจะมีออกมาในทำนองว่า คนเก่าเล่าว่าอย่างนั้น คนที่อยู่ในเหตุการณ์ฟังมา แล้วเชื่ออย่างนั้น

ความเชื่อ ในหลักตรรกะ มักตรงข้ามกับประจักษ์หลักฐาน และข้อเท็จจริง

ตัวอย่างจากพระผงหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นวัดเงินคลองเตย วัดสามปลื้ม วัดพลับ สมเด็จอรหัง ส่วนใหญ่ยังมีข้อสงสัย ไม่มีข้อสรุป

วัดเงินบ้างก็ว่า สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 โดยยึดปีที่สร้างวัดเป็นหลัก วัดสามปลื้ม ก็เหมือนกัน ยกให้เป็นของเจ้านายระดับพระยา

ใครสักคน พยายามไขว่คว้าหาข้อมูลจากพยานบุคคล ที่ยังพอหลงเหลือให้เชื่อถือได้ มาแจกแจงกันใหม่ว่า ความจริง พระวัดเงิน สร้างเมื่อสักห้าหกสิบปี วัดสามปลื้ม แค่ระดับหลวงตา ในคณะพระวิปัสสนา ช่วยกันสร้าง

พระวัดพลับ มิไยที่มีคนเชื่อได้ ยังมีอายุเห็นกระบวนการสร้าง เห็นหลวงตาจัน ผู้สร้าง เห็นพิมพ์พระ กระทั่งเคยพิมพ์พระ ระหว่างก่อนปี ..2460 ไม่นานนัก ถึงวันนี้ก็ยังมีคนเชื่อน้อยกว่า ความเชื่อที่ว่า พระวัดพลับ เป็นของ สมเด็จสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ อนุสาวนาจารย์ สมเด็จพุฒาจารย์โต

กระทั่ง สมเด็จอรหัง ผมเพิ่งเจอข้อมูลพื้นฐาน ระดับความน่าเชื่อถือหนักแน่น สรุปความได้ว่า เปิดกรุในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และคนมีอายุยังยืนยันได้ว่า อาจารย์กุย สมภารองค์แรก วัดสร้อยทอง สร้างเอาไว้ 

วัดสามปลื้ม วัดเงินคลองเตย วัดพลับ สมเด็จอรหัง แต่เดิมเชื่อกันว่า สร้างก่อน สมเด็จวัดระฆัง เอาเป็นว่า ก่อน สมเด็จโต ถึงชีพิตักษัย ในปี 2415

ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ ไสว วงศ์เก่า ท่านชี้ขาด ..113 ที่ปั๊มหลังพระวัดท้ายตลาด และยืนยันว่า นั่นหมายถึงปี ..2430 ที่สร้างพระ หลังสมเด็จโต 15 ปี เกิดทฤษฎีความเชื่อใหม่ที่ว่า บรรดาพระผง พระดิน ที่สร้างกันไว้ ล้วนแล้วแต่สร้างตามกระแสความต้องการพระที่สมเด็จโตท่านจุดประกายไว้ทั้งสิ้น

ความเชื่อแค่นี้น่าจะยังไม่พอ ยังมีเรื่องของฝีมือช่าง เรื่องของกระบวนการสร้าง ที่พอจะโยงเกี่ยวว่าเป็นพระรุ่นเดียวกัน

ผมขอเสนอความเชื่อใหม่ ที่จริงผู้ชำนาญการหลายคนชี้ไว้แล้วว่า พระสมเด็จอรหัง กับ พระผงหลวงปู่อ้น วัดบางจาก สกุลช่างเดียวกัน อายุการสร้างไล่เลี่ยกัน

ฉบับหน้า ลองมาไล่เลียงกันอีกที มีความเป็นไปได้แค่ไหน หรือไม่ ?


( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 751 ปักษ์หลัง เดือนมกราคม 2541 : หลีกทางเซียน : ดูพระเครื่อง แบบ ด๊อกเตอร์ โดย ทแกล้ว ภูกล้า )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์นสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010.


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore      OokBee Buffet