หลีกทางเซียน : นัด ( แลก ) พระเครื่อง

เรื่องโดย ทแกล้ว ภูกล้า
ในช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่า หายนะทางเศรษฐกิจ เงินลดค่า ทั้งเป็นของหายาก ผลกระทบตลาดพระเครื่อง จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สภาพคล่อง ที่เคยมีในช่วง ฟองสบู่ หายไป กลายเป็น สภาพฝืด
คนที่อยู่ในธุรกิจพระ ส่ายหน้าสารภาพว่า ไม่ไหว ขนาดลดแลกแจกแถม เหลือแค่ทุนแล้ว กว่าจะขายได้แต่ละองค์หืดขึ้นคอ
ตัวอย่างจากคนใกล้ตัว พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ แตกสามชิ้น เนื้อไม่หาย คราบไคลแม้จะน้อยสักหน่อย แต่สำหรับผู้รู้ผู้ชำนาญ ก็จะตัดสินได้ทันทีว่าเป็น พระแท้
พระสภาพนี้ ในยุคฟองสบู่ ประมาณราคาได้ว่า ถ้าเจ้าของเปิดราคาสักห้าหรือหกแสน ลูกค้าที่ใจกล้า และมีความไวสูงกว่า ก็จะได้ไปครอบครอง 

ในยุคนี้ พระสภาพที่ว่านี้ เปิด ราคาไม่ถึงสองแสน ผมได้ข่าวว่า หลายคนทำท่าอยากได้ แต่ก็ได้แต่ จดๆ จ้องๆ ก็รู้เท่ากันทั้งนั้นแหละครับว่า นี่เป็นยุคที่ พระราคาถูก ใครมีเงินเหลือไว้ ก็จะได้ พระราคาถูก แต่กระนั้น ถึงวันนี้ พระสมเด็จ องค์นี้ก็ยังอยู่กับเจ้าของ
ปัญหาของพระองค์นี้ เป็นเช่นเดียวกับพระอีกหลายองค์ คือ ขายไม่ได้ สาเหตุก็เพราะกำลังซื้อพระไม่มี
เหมือนราคาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ โดยเฉพาะ ที่ดิน เศรษฐีที่ดินที่เคยยิ้มย่องผ่องใส หลายคน กลายเป็นไอ้เสือยิ้มยาก
เจอหน้าก็ปรับทุกข์ว่า ขายที่ดินไม่ออก ติดค่าดอกเบี้ยแบงก์มากขึ้นทุกวัน การเปลี่ยนมือซื้อขายที่ดิน เป็น เรื่องใหญ่ ทำกันได้ยาก แตกต่างจากการเปลี่ยนมือซื้อขายพระเครื่อง บางองค์เล็กนิดเดียว แต่ราคาสูงกว่าที่ดินผืนโต ติดขัดที่ว่าขณะนี้ ไม่มีเงินซื้อกันเท่านั้น
แวะไปตลาดหนังสือสนามหลวง เวียนไปตลาดพระท่าพระจันทร์ ถามพ่อค้าหนังสือแผงใหญ่ ได้ความว่า ลูกค้าหนังสือลดไปประมาณร้อยละ 30
ถ้าตัวเลขนี้เชื่อถือได้ แสดงว่า ลูกค้าหนังสือยังลดน้อยกว่า ลูกค้าพระเครื่อง ลูกค้าร้านอาหาร
สินค้าในซีกที่ถูกมองว่าฟุ่มเฟือย พ่อค้าเคยยอมรับว่า ลดมากกว่าร้อยละ 50 บางรายบอกว่า ลดมากกว่าร้อยละ 70
ร้านอาหารชื่อดังๆ แถวเซ็นทรัล ที่ต้องเข้าคิวรอโต๊ะ เมื่อปีสองปีที่แล้ว ตอนนี้ผ่านไปเมื่อใด ก็เห็นแต่โต๊ะว่างๆ มีสตางค์อยากกินเมื่อไร ก็เดินเข้าไปเลือกโต๊ะได้ตามสบาย ไม่มีใครทักท้วง แต่กระนั้น ร้านอาหาร ร้านค้าเหล่านั้น ก็ยังมีลูกค้า ใช่ว่า กิจการจะล้มเลิกไปในทันที คนกินยังมี คนซื้อยังมีอยู่ 
ตลาดหนังสือพระเครื่อง ลดไปไม่ถึงครึ่ง อย่างน้อยก็แสดงว่า เมื่อไม่มีเงินซื้อพระ ผู้คนก็ยังไม่เลิกละ ซื้อหนังสือพระอ่าน
ธรรมดาของมนุษย์นั้น นอกจากงานอาชีพที่หน้าดำคร่ำเครียดทุกวันแล้ว ว่างก็หันไปพักผ่อนหย่อนใจกับงานอดิเรก
เคยเรียน เคยรู้ เคยมีประสบการณ์ สั่งสมมายาวนาน จะให้เลิกเสียทันทีก็คงยาก
เมื่อเลิกไม่ได้ แต่ไม่มีเงินซื้อพระ หรือไม่ได้เงินจากการขายพระ เราน่าจะพิจารณาหาช่องทาง สนองสัญชาตญาณนักนิยมพระ ที่คุ้นเคยกับการส่องพระ โดยเฉพาะพระองค์ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าเข้ามาใหม่
ย้อนหลังไปเมื่อสามหรือสี่สิบปีที่แล้ว แวดวงนักเลงพระ จับกลุ่มกันด้วยการนัดตีพระ เมื่อเรียกตัวเองว่า นักเลงพระ การใช้คำว่า ไปตีพระ ดูจะคล้องจองสอดคล้องกันดี ทั้งที่เป็น การนัดแลกเปลี่ยนพระเครื่องกันเท่านั้น
ธรรมดาของ การแลกพระ องค์ต่อองค์ไม่เป็นที่พอใจ ก็มีการ จับพ่วง อีกองค์สององค์
แถมพระยังไม่พอใจ แถมเงินอีกนิดหน่อย พอเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือค่ารถ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ
เป็นรสชาติอีกแบบหนึ่ง ที่นักเลงรุ่นเก่าฝังใจ แต่เด็กรุ่นใหม่ คงจะยังไม่เคยสัมผัส
เมื่อเงินซึ่งเป็นสื่อการแลกเปลี่ยน หดหาย ต้องไม่ลืมว่า หลายคนยังมีพระเป็นต้นทุน และทำไม เราจะไม่กลับมาใช้ต้นทุนพระ แลกเปลี่ยนพระ มาสนองสัญชาตญาณการเล่นพระต่อไปไม่ได้อีก
ปัญหา ก็คือ ใครจะเป็นผู้ริเริ่ม นัดแลกพระเครื่อง ให้เป็นที่ยอมรับ แทนคำที่เริ่มคุ้นว่า ตลาดพระเครื่อง ไม่รู้นะครับ สำหรับผม ยังชื่นชมกับบรรยากาศ นัดแลกเปลี่ยนมากกว่าตลาดซึ่งมีการซื้อขาย ใจมันตะขิดตะขวงทุกครั้ง ยิ่งไม่สบายใจ เมื่อได้ยินคำว่า พุทธพาณิชย์
เล่นกันแบบนี้ สักพัก จนกว่า โน่นแหละ เศรษฐกิจจะดีขึ้น
ถึงวันนั้น จะหันมาเปิดตลาดใหม่ จะให้เล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็คงไม่มีใครว่า.
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 749 ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม 2540 : หลีกทางเซียน : นัด ( แลก ) พระเครื่อง : โดย ทแกล้ว ภูกล้า )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010. 
วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore      OokBee Buffet